คณะกรรมาธิการการปกครองวุฒิสภา ที่มี พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย เป็นประธาน นับเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการเข้าไปล้วงลึกความไม่ชอบมาพากลในการเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ ของคณะผู้บริหารแผนฯ จากตัวแทนของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นของทีพีไอทีได้รับความเสียหายจากการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมให้คณะกรรมาธิการการปกครองเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง!
โดยเฉพาะในประเด็นที่กระทรวงการคลังได้รับ “ใบสั่ง” จากระบอบทักษิณให้ “เข้ายึดกิจการทีพีไอ” ผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เห็นได้จากการเปิดทางให้พันธมิตรของกระทรวงการคลังเข้าฮุบกิจการทีพีไอไปอย่างมีวาระซ่อนเร้น ทั้งปตท. กองทุนวายภักษ์1 กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และธนาคารออมสิน ตลอดจนกลุ่มเจ้าหนี้ทีพีไอ โดยเสนอซื้อหุ้นทีพีไอในราคาถูกชนิดเหมาเข่งในราคา 3.30 บาทต่อหุ้น
ขณะที่กลุ่มถือหุ้นเดิมทีพีไอเสนอซื้อในราคา 5.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะสามารถระดมเม็ดเงินจากข้อเสนอของกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมได้กว่า 100,000 ล้านบาท หรือสามารถนำเงินไปโละหนี้จากเจ้าหนี้รายเดิมกว่า 100 รายได้ทั้งหมด แต่กระทรวงการคลังกลับแสดงจุดยืน โดยมีเจตนาซ่อนเร้นไม่โปร่งใสว่า “ไม่ขายผู้ถือหุ้นเดิม”
ในช่วงนั้นเป็นที่รู้กันดีว่า มีความเคลื่อนไหวผิดปกติทั้ง “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ขุนคลังในสมัยนั้นและ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีที่ถูกโค่นอำนาจลง ได้วิ่งล็อบบี้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลจีน เพื่อสกัดไม่ให้กลุ่มซิติก ซึ่งเป็นหน่วยงานทางด้านการลงทุนของรัฐบาลจีนและเป็นพันธมิตรของผู้ถือหุ้นเดิมทีพีไอ ไม่ให้การสนับสนุนเงินทุนกับ “ประชัย เลี่ยวไพรัตน์” หรือกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อนำไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่ทีพีไอในวงเงินกว่า 100,000 ล้านบาท
ทั้งนี้เป้าหมายที่เด่นชัดที่สุดของระบอบทักษิณที่เข้ายึดทีพีไอ ซึ่งเปรียบเสมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกตั้งหลายตัว โดยนัดแรกจะเป็นการยืมมือกระทรวงการคลังและพันธมิตรเข้ามาฮุบกิจการทีพีไอ หลังจากนั้นจะเตรียมผ่องถ่าย "หุ้นหรือกิจการทีพีไอ" ไปให้กับกลุ่มทุนของ "นายใหญ่" ที่ได้ขายทิ้งธุรกิจสื่อสารที่มีการแข่งกันและการลงทุนในอนาคตในวงเงินสูงลิ่ว และหุ้นส่วนหนึ่งของทีพีไอได้เตรียมใส่พานประเคนให้กับกลุ่ม “ทุนจากสิงคโปร์” เนื่องจากสิงคโปร์ไม่ต้องการให้อาณาจักรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแสนล้านอย่างทีพีไอ “ฟื้นตัว” เพื่อแข่งขันกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของสิงคโปร์ ส่วนนัดที่สอง ถือว่ามีเป้าหมายเด่นชัดในการขจัดหอกข้างแค่ทางการเมืองอย่าง "ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" ให้พ้นเส้นทางของผลประโยชน์แสนล้านของทีพีไอ!
ปตท.-พันธมิตรเข้ายึดทีพีไอ ฟันกำไร 100,000 ล้าน
สำหรับแนวทางการฟื้นฟูกิจการทีพีไอตามสูตรของกระทรวงการคลัง ได้ประกาศใช้แผนหักดิบกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมทีพีไอหรือกลุ่มของ “ประชัย เลี่ยวไพรัตน์” ทันที หลังจากสกัดไม่ให้กลุ่มซิติกทุ่มเม็ดเงินกว่า 100,000 ล้านบาท เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมได้อยู่หมัด โดยคลังเดินหน้าเปิดเกมหักดิบกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมทีพีไอด้วยการ “ลดทุน” พร้อม “ลดพาร์” จาก 10 บาท เหลือเพียง 1 บาท โดยอ้างว่าเพื่อล้างขาดทุนสะสม จากนั้นก็เพิ่มทุนเข้าไปใหม่ จากจำนวน 7,849 ล้านหุ้น เป็น 19,500 ล้านหุ้น
ซึ่งตามแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอฉบับแก้ไข ทีพีไอจะออกหุ้นใหม่ จำนวนกว่า 11,651 ล้านหุ้น เมื่อรวมกับหุ้นเดิมของเจ้าหนี้ (จากการแปลงหนี้เป็นทุนไปก่อนหน้านี้) ทั้งหมดที่ต้องโอนกลับมาให้คลังอีกกว่า 5,899 ล้านหุ้น จะมีการนำหุ้นไปกระจายให้กับพันธมิตรใหม่จำนวนรวม 17,550 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 90% ของทุนใหม่ 19,500 ล้านหุ้น ขณะเดียวกันหุ้นในส่วนของผู้ถือหุ้นเดิม จะเหลือเพียง 1,950 ล้านหุ้นหรือเท่ากับ 10% ของหุ้นทั้งหมด 19,500 ล้านหุ้น ซึ่งจากสูตรการฟื้นฟูกิจการทีพีไอของคลัง โดยการลดทุนในครั้งนี้ ทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมเสียหายอย่างยับเยิน!
หลังจากนั้นคลังได้ตัดแบ่งเค้กก้อนโตของทีพีไอ ด้วยการจัดสรรหุ้นให้กับพันธมิตรใหม่ โดยกระจายให้ลิ่วล้อ ไล่จาก ปตท.ในสัดส่วน 31.5 % กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในสัดส่วน 10% กองทุนวายุภักษ์1 ในสัดส่วน 10% ธนาคารออมสิน ในสัดส่วน 10% กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ในสัดส่วน 20% และกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ ในสัดส่วน 8.5%
จุดที่น่าสังเกตเมื่อรวมสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มทุนใหม่ของทีพีไอตามสูตรของกระทรวงการคลังแล้ว พบว่า พันธมิตรใหม่ของคลัง ทั้งปตท. กบข. กองทุนวายุภักษ์1 และธนาคารออมสิน ได้กลายเป็นถือหุ้นใหญ่ของทีพีไอในสัดส่วนรวมกันถึง 61.5% จึงเกิดคำถามตามมาว่า สถานะของทีพีไอภายใต้การเข้ายึดกิจการจากกระทรวงการคลังและพันธมิตรชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้ทีพีไอซึ่งเป็นกิจการของเอกชนถูกหน่วยงานรัฐเข้ายึดเรียบร้อยโรงเรียนคลังไปแล้ว
มิพักต้องพูดถึงสถานะของทีพีไอในปัจจุบันได้กลายเป็น “หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ” ไปโดยปริยาย ทั้ง ๆ เป็นการ “สวนทาง” กับนโยบายของระบอบทักษิณในช่วงนั้น ที่ได้เร่งคลอดนโยบายแปรสภาพหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งกฟผ. อสมท.และทอท. เป็นต้น ขณะที่กรณีทีพีไอกลับส่งลิ่วล้อที่เป็นหน่วยงานของรัฐเข้ามาถือหุ้นรวมกันในสัดส่วนถึง 61.5% จนทีพีไอกลายร่างจากกิจการ “เอกชนเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ” ไปแล้ว ซึ่งเปรียบเสมือนหน่วยงานของรัฐเข้ายึดครองกิจการของเอกชน ที่ไม่เคยมีที่ไหนเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศที่ปกครอบในระบอบประชาธิปไตยโลกกลม ๆ ใบนี้ ยกเว้นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เท่านั้น ที่หากต้องการยึดกิจการของเอชนก็ยึดได้เลย
ในที่สุดข้อเท็จจริงก็ถูกเปิดเผย โดยเฉพาะคำถามจากสังคมไปถึงกระทรวงการคลังที่ระบุว่า “เจตนาของคลังและพันธมิตรแสดงให้เห็นชัดว่า ต้องการเข้ายึดกิจการทีพีไอ” ชนิดโจ่งครึ่ม เพราะภายหลังจากที่กลุ่มพันธมิตรของกระทรวงการคลัง ทั้งปตท. กบข. กองทุนวายุภักษ์1ธนาคารออมสินและกลุ่มเจ้าหนี้ได้เข้ายึดกิจการทีพีไอจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมในราคา 3.30 บาทต่อหุ้น และกลุ่มพันธมิตรได้ชำระค่าหุ้นทีพีไอไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา
มีข้อเท็จจริงที่สังคมไทยต้องรู้ก็คือ พันธมิตรของกระทรวงการคลังสามารถบันทึกกำไรจากการเข้าลงทุนหรือเข้ายึดกิจการทีพีไอ ตามราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทันที โดยเฉพาะราคาหุ้นทีพีไอเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 หรือถัดจากวันที่กลุ่มพันธมิตรของคลังจ่ายเงินค่าหุ้นทีพีไอเพียง 1 วัน (ปัจจุบันราคาหุ้นทีพีไอเคลื่อนไหวอยู่ที่ 6-8 บาทต่อหุ้น) ซึ่งในวันนั้น (14 ธ.ค. 2548) ราคาหุ้นทีพีไอปิดที่ 7.15 บาทต่อหุ้น
เห็นได้ชัดว่า ปตท.ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของทีพีไอจำนวน 5,850 ล้านหุ้น ในราคา 3.30 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 31.5% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยปตท.ใช้วงเงินทั้งสิ้น 19,305 บาท แต่วันที่ 14 ธันวาคม 2548 ราคาหุ้นทีพีไออยู่ที่ 7.15 บาท ทำให้มูลค่าเงินลงทุนที่ปตท.ใส่ลงไปเพิ่มขึ้นเป็น 41,827.5 ล้านบาท ส่งผลให้ปตท.สามารถบันทึกกำไรตามราคาตลาดฯ ได้ทันทีถึง 22,522.5 ล้านบาท (อ่านว่า “สองหมื่นสองพันห้าร้อยยี่สิบสองจุดห้าล้านบาท)
ส่วนพันธมิตรรายอีก 3 รายของคลัง ทั้งกบข. กองทุนวายุภักษ์1 และธนาคารออมสิน ที่ซื้อหุ้นทีพีไอในสัดส่วนรายละ 10% หรือ 1,950 ล้านหุ้น โดยใช้เงินลงทุนรายละ 6,435 ล้านบาท แต่หากคิดมูลค่าหุ้นทีพีไอตามวันดังกล่าว จะอยู่ที่ตัวเลข 13,942.5 ล้านบาท หรือฟันกำไรทันทีรายละ 7,507 ล้านบาท (อ่านว่าเจ็ดพันห้าร้อยเจ็ดล้านบาท) สอดรับกับการให้สัมภาษณ์ของ “วิสิฐ ตันติสุนทร” เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. ที่ออกมาระบุอย่างลิ่งโลดใจว่า “กบข.ได้ใส่เงินซื้อหุ้นทีพีไอจำนวน 6,435 ล้านบาท ทำให้กบข.มีกำไรจากการบันทึกทางบัญชีทันทีกว่า 7,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100 %!!" โอ้พระเจ้า..การเข้ายึดกิจการทีพีไอของลิ่วล้อของระบอบทักษิณ ชั่งฟันกำไรได้ง่ายได้เสียจริง!
นอกจากนี้ พันธมิตรของกระทรวงการคลัง ยังฟันกำไรจากการเข้ายึดกิจการทีพีไออีกหลายเด้ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรือธุรกิจด้านพลังงาน กำลังอยู่ในยุคบูมสุดขีดและกลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรง ทำให้พันธมิตรของกระทรวงการคลัง และยังไม่นับรวมกับกลุ่มเจ้าหนี้ที่เข้ามารับจัดสรรแบ่งเค้กก้อนโตของทีพีไอในสัดส่วน 8.5% จึงฟันกำไรจากการเข้ายึดกิจการทีพีไอดันจนพุ่งปลิ้น
โดยเฉพาะการฟันกำไรจากโอกาสของธุรกิจทางด้านปิโตรเคมีและธุรกิจทางด้านพลังงานในอาณาจักรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทีพีไอ ที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาทที่สามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอื่น ๆ ทั้งท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ของทีพีไอ โรงกลั่นที่ครบวงจรและทันสมัยที่สุดในเอเซียอาคเนย์ นิคมอุตสาหกรรมทีพีไอกว่า 5,000 ไร่ และหุ้นที่ทีพีไอไปลงทุนไว้ในบริษัทที่ทำธุรกิจด้านปิโตรเคมีและด้านพลังงานต่าง ๆ เช่น หุ้นของบริษัททีโอซีฯ ที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาท เป็นต้น
จากการปฏิบัติการที่คลังและพันธมิตรเข้า “ปล้นกลางแดด” และชุบมือเปิบเข้ายึดกิจการทีพีไอในครั้งนี้ ถือว่าเป็นปฏิบัติการปิดประตูขาดทุน ตรงกันข้ามจะมีแต่กำไรมหาศาลอย่างเดียว เนื่องจากปัจจุบันหากคลังหรือพันธมิตรจะควักกระเป๋าลงทุนโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่เช่นเดียวกับอาณาจักรปิโตรเคมีแสนล้านอย่างทีพีไอ จะต้องใช้วงเงินลงทุนมหาศาล 200,000-300,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงปัญหาในการจัดหาพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ติดชายทะเลและปัญหาเรื่องการต่อต้านทางด้านสิ่งแวดล้อมอีกต่างหาก
แฉคลังจัดสรรหุ้นทีพีไอโดยไม่มีอำนาจ!
คณะกรรมาธิการการปกครองวุฒิสภา ยังได้ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของ “การใช้อำนาจของกระทรวงการคลัง” ในการนำพาพันธมิตรเข้ายึดกิจการทีพีไอนั้น “ไม่ชอบด้วยกฎหมายและที่สำคัญคลังไม่มีอำนาจในการจัดสรรหุ้นทีพีไอให้กับพันธมิตรใหม่” เนื่องจากมีคำถามชวนสงสัยว่า กระทรวงการคลังอาศัยอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติตามกฎหมายใดในการ “จัดสรรหุ้นให้พันธมิตรร่วมทุนใหม่” ทั้งนี้พิสูจน์ชัดว่า กระทรวงการคลังเป็นนิติบุคคลของรัฐ และปลัดกระทรวงการคลังอย่าง “ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล” ประธานคณะทำงานและเจ้าหน้าที่คณะทำงานเข้ายึดกิจการทีพีไอ ต่างก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งการดำเนินการใดๆ นั้น จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ จะทำการนอกเหนือจากอำนาจของกฎหมายที่ให้ไว้หรือคลังจะทำตามอำเภอใจไม่ได้
เพราะหากพิจารณาศาลล้มละลายกลาง มีอำนาจแต่งตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนได้หรือไม่ จะเห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ในส่วนฟื้นฟูกิจการ “ไม่มีบทบัญญัติใดๆ ห้ามไว้” แต่มีคำถามว่า กรณีเมื่อศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งแต่ตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนแล้ว คลังสามารถดำเนินการหรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้บริหารแผนได้หรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้มีข้อควรพิจารณาคือ คำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ผูกพันกระทรวงการคลังและต้องปฏิบัติตามหรือไม่ จะเห็นว่า ไม่ผูกพันกระทรวงการคลัง ดังนั้น กระทรวงการคลังจะไม่รับเป็นผู้บริหารแผนก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 ระบุชัดว่า คำสั่งศาลจะผูกพันเฉพาะคู่ความเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่า “กระทรวงการคลังไม่ใช่คู่ความในคดีฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ”
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังในฐานะนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการตามมาตรา10 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2545 มีได้ระบุ “ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของเอกชนในฐานะผู้บริหารแผน ซึ่งจะเนินการเป็นผู้บริหารแผนได้หรือไม่ โดยหลักแห่งกฎหมายดังกล่าว ฟันธงได้ว่า กระทรวงการคลังไม่สามารถเป็นผู้บริหารแผนได้ แต่หากคลังจะดันทุรังทำต่อไป จะต้องไปทำการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2545 ในมาตรา 10 ในส่วนของวัตถุประสงค์ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักที่ว่า นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ตามบทบัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง (ป.พ.พ.มาตรา66)
โดยสรุปแล้ว เห็นได้ชัดว่า กระทรวงการคลังภายใต้ระบอบทักษิณ ได้ฝ่าฝืนข้อบัญญัติทางกฎหมายหลายเรื่อง แต่ที่คลังยังดันทุรังตั้งผู้บริหารแผนฯและเข้ายึดกิจการทีพีไอดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นการลุแก่อำนาจและก้มหน้าก้มตารับใช้ระบอบทักษิณ จนกระทั่งละเลยความถูกต้องและความชอบธรรม ตลอดจนการบริหารงานที่คลังประกาศเป็นนโยบายมาตลอดว่า ให้หน่วยงานต่าง ๆ บริหารงานโดยการยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) แต่คลังกลับบริหารงานแบบมีวาระซ่อนเร้นในการเข้ายึดกิจการทีพีไอ และถึงนาทีนี้จะต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ชนิดถอดด้าม ที่มีภาพของเรื่องความ “ซื่อสัตย์และให้ความเป็นธรรมกับสังคม” เป็นเครื่องการรันตีว่า จะเข้ามาให้ความชอบธรรมกับทีพีไออย่างไร!
|