แบงก์แลนด์ฯขยับรุกเจาะลูกค้าโครงการจัดสรรนอกกลุ่ม ส่งฝ่ายขายรุกหนักจัดสรรขนาดกลางและล่าง ชูจุดขายอนุมัติเงินกู้สูง อัตราดอกเบี้ยจูงใจ ด้านแบงก์ไทยพาณิชย์ยอมรับพอร์ตสินเชื่อจากลุ่มแลนด์ฯหายวูบเกือบ 30,000 ล้านบาท จับตาแบงก์แลนด์ฯเพิ่มเงินกองทุนฯรับการแข่งขันทางด้านสินเชื่อ
แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย (LH Bank) ซึ่งเป็นฐานธุรกิจทางด้านการเงินของกลุ่มแลนด์ฯ ได้เปิดให้บริการสินเชื่อรายย่อยแก่ผู้ขอสินเชื่อบ้านเมื่อวันที่19 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนั้น ค่อนข้างมีผลต่อตลาดการปล่อยสินเชื่อเคหะของธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าของบริษัทแลนด์ฯและรวมถึงบริษัทในเครือแลนด์ฯอาทิ บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ AP และบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ต้องหันไปขอสินเชื่อเคหะจากแบงก์แลนด์ เนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า และมีระยะเวลาในการผ่อนส่งที่ยาว40ปี โดยสามารถโอนกรรมสิทธิ์ในการผ่อนชำระให้กับบุตรได้ รวมถึงให้วงเงินกู้ที่สูงกว่าจะราคาประเมินที่ธนาคารนำเสนอให้
โดยปริมาณสินเชื่อที่หายไปจากโครงการในกลุ่มแลนด์ฯประมาณ 200,000 -30,000 ล้านบาทต่อปี ล่าสุดหลังจากที่ปล่อยกู้ให้กลุ่มแลนด์ฯได้ระยะหนึ่ง แบงก์แลนด์ฯได้ขยายกลุ่มลูกค้าโดยเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ได้เริ่มปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการนอกเครือกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ฯ เพื่อเป็นการแสวงหาโอกาสให้แก่โครงการอื่นๆ ซึ่งคาดว่าสิ้นต.ค.ยอดการปล่อยสินเชื่อจะอยู่ที่ 500 ล้านบาท โดยกลยุทธ์ที่แบงก์แลนด์ฯนำเข้ามาใช้คือ เรื่องค่างวดในการผ่อนชำระมาเป็นเกณฑ์ในการทำตลาด และเน้นกลุ่มลูกค้าที่ซื้อบ้านและขอสินเชื่อตั้งแต่ 3-5 ล้านบาท ในกลุ่มโครงการขนาดเล็ก ซึ่งกลุ่มลูกค้าเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ไม่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยมากนัก
" ช่วงที่ผ่านมา โครงการอสังหาฯในเครือกลุ่มแลนด์ ได้มีการปรับกลยุทธ์ทางด้านการพัฒนาโครงการ อย่างเช่น บริษัทควอลิเตี้ เฮ้าส์ฯที่เปิดแบรนด์บริษัทอสังหาฯใหม่ภายใต้ชื่อบริษัท คาซ่า วิลล์ จำกัด มุ่งทำตลาดบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ระดับราคา 3-5 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่บริษัทป้อนให้แก่ธนาคารแลนด์ฯ เนื่องจากทางธนาคารมีการเสนอเงื่อนไขทางด้านอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจ"แหล่งกล่าว
สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่เสนอให้แก่ลูกค้าของธนาคารแลนด์ฯ คือ ดอกเบี้ยพิเศษปีที่ 1 MLR ลบ 1.50% ต่อปี ปีที่ 2 MLR ลบ0.75% ต่อปี และปีที่ 3 MLRลบ 0.50% ตลอดอายุสัญญา ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยMLR อยู่ที่ 7.75 % ขณะที่ธนาคารยังอนุมัติเงินกู้เต็มวงเงิน 100% ระยะเวลาชำระเงินกู้ได้มีการยืดหยุ่นมาเป็น 40 ปี ไม่มีการคิดค่าปรับในกรณีที่ลูกค้าชำระเงินกู้เต็มก่อนกำหนด ยกเว้นกรณีการปรับโครงสร้างเงินกู้(รีไฟแนนซ์)ปิดบัญชี ภายใน 5 ปีแรก จะถูกคิดอัตรา 2.0% ของวงเงินกู้ตามสัญญา โดยเฉลี่ยแล้วลูกค้าจะมีการผ่อนกับธนาคารประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งลูกค้าที่ซื้อโครงการส่วนใหญ่จะมีรายได้ต่อครอบครัวเกิน 80,000 บาท อนึ่ง ธนาคารพาณิชย์จะมีการคิดค่าธรรมเนียมชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนดภายใน 3 ปี ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีอัตราที่ต่างกัน
อย่างไรก็ตามแบงก์แลนด์มีแผนเรียกชำระทุนเพิ่มอีก 700 ล้านบาทในต้นปีหน้า ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีทุนที่เรียกชำระเต็ม 2,600 ล้านบาท มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอส) อยู่ที่ 2,300 ล้านบาท จากปัจจุบัน 1,600 ล้านบาท โดยในส่วนของยอดสินเชื่อ ณ ปัจจุบันสามารถปล่อยกู้ได้แล้ว 10,500 ล้านบาท เป็นสินเชื่อเคหะ 7,500 ล้านบาท ที่เหลือเป็นสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ซึ่งในสิ้นปีคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างจะอยู่ที่ 16,000 ล้านบาท เป็นสินเชื่อเคหะ 11,000 ล้านบาท สินเชื่อเอสเอ็มอี 5,000 ล้านบาท หรือ สินเชื่อเคหะ 70% สินเชื่อเอสเอ็มอี 30% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ในอัตรา60 ต่อ 40
" การขยายกลุ่มลูกค้าเพิ่มในส่วนของลูกค้ารายย่อยของ Bank Land ในช่วงที่ผ่านมานั้น คาดว่าจะเป็นการพยายยามขยายพอร์ตให้ใหญ่ขึ้น และเพื่อให้สามารถดำเนินการในเชิงธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นฝ่ายขายสินเชื่อของแบงก์แลนด์ ออกเสนอขายสินเชื่อในโครงการขนาดกลางและเล็กบ้างแล้ว ซึ่งนั้นหมายความว่าธนาคารเริ่มดำเนินการขยายกลุ่มลูกค้าเพื่อให้สามารถขยายการดำเนินการในเชิงธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ" แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาแบงก์แลนด์ฯยังคงเน้นปล่อยกู้สินเชื่อให้แก่โครงการในเครือกลุ่มแลนด์ฯเป็นหลัก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารยังไม่เพียงพอ ซึ่งหากธนาคาร ต้องการดำเนินการให้เต็มรูปแบบธนาคารพาณิชย์ ต้องมีการขยายเงินกองทุนฯให้สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าการเพิ่มทุนในส่วนนี้ จะต้องมีการหาผู้ร่วมทุนใหม่เข้ามาเสริม หรือ มีการเพิ่มทุนจากทางใดทางหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าความจำเป็นในการเพิ่มทุนนั้นต้องมีการดำเนินการอย่างแน่นอน เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดสินเชื่อ ทั้งนี้ กลุ่มทุนจากสิงคโปร์ถือเป็นพันธมิตรที่เหนี่ยวแน่นกับบริษัทแลนด์ฯมานาน
|