ธุรกิจสื่อ นอกจากเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดภาพความมั่นใจของมวลชน ที่มีต่อทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวม
จากสารที่ส่งผ่านออกมาแล้ว ความเคลื่อนไหวในตัวของธุรกิจเอง ก็เป็นเสมือนดัชนีบ่งชี้ความ
เชื่อมั่นที่ภาคธุรกิจกำลังเป็นอยู่ได้อย่างเด่นชัดตัวหนึ่ง
ช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ธุรกิจสื่อ เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่สุดธุรกิจหนึ่ง
แต่ไม่เป็นที่รับรู้กันมากนักของสังคมในวงกว้าง เพราะธุรกิจนี้มักไม่นิยมรายงานปัญหาของตัวเอง
ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสื่อทุกประเภทที่สามารถประคองตัวเองจนสามารถผ่านพ้นวิกฤติมาได้
จำเป็นต้องชะลอการลงทุนทุกประเภทลง การลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับธุรกิจนี้
เห็นจะเป็นการเข้าไปทำช่องข่าว 24 ชั่วโมง ในยูบีซี 8 และการออกหนังสือพิมพ์รายวันหัวสี
"คม ชัด ลึก" ของค่ายเนชั่น มัลติมีเดีย ในกลางปี 2543 และ 2544
แต่ปลายปี 2545 ความเคลื่อนไหวในธุรกิจสื่อ เริ่มปรากฏความคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
และแนวโน้มความคึกคักดังกล่าว ยังมีต่อเนื่องมาถึงในปีนี้
การปรับโฉมใหม่ของช่อง 9 อ.ส.ม.ท. เป็นโมเดิร์น ไนน์ ทีวี ภายหลังการเข้าไปเป็นผู้อำนวยการ
อ.ส.ม.ท. ของมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ และการประกาศปรับผังรายการใหม่ของไอทีวี
กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับสถานีโทรทัศน์ที่เหลืออยู่ทั้ง 3 ช่อง
โดยเฉพาะทางด้านงานข่าว
ชัดเจนที่สุด คือที่ช่อง 3 ซึ่งกำลังมีการปรับโครงสร้างสายงานข่าวครั้งใหญ่ในเดือนมกราคม
และคาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงปลายเดือน
ทางด้านสื่อวิทยุ มีการปรับเปลี่ยนตัวผู้เช่าคลื่นอย่างน้อย 2 ราย คือที่ช่องเวทีไทย
90.0 เปลี่ยนมือมาเป็นของค่าย ทราฟฟิค คอร์นเนอร์ และที่ช่อง 94.0 ถูกเปลี่ยนมือมาเป็นค่าย
จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ เมื่อวันที่ 15 มกราคม ทราฟฟิค คอร์นเนอร์ ก็ได้จับมือกับเผด็จ
ภูรีปติภาน นักหนังสือพิมพ์ และ คอลัมนิสต์ชื่อดัง ที่ใช้นามปากกาว่า "พญาไม้"
ประกาศเปิดตัวหนังสือพิมพ์รายวันขนาดแท็บลอยด์ฉบับใหม่ ที่ชื่อ "บางกอก ทูเดย์"
เน้นเนื้อหาข่าวแบบหนังสือพิมพ์หัวสี
และในต้นเดือนกุมภาพันธ์ หนังสือพิมพ์ภาษาไทย รายวัน ของค่ายบางกอกโพสต์
ที่ชื่อ "โพสต์ ทูเดย์" ก็กำหนดจะวางตลาดเป็นครั้งแรก หลังเตรียมทีมงานมาแล้วมากกว่า
6 เดือน โดยเน้นเนื้อหาข่าวเป็นแบบแมกกาซีน รายวัน
แต่ที่ดูคึกคักที่สุด น่าจะเป็นสื่อประเภทนิตยสาร หลังจากถูกจุดประกายขึ้นจากการเปิดตัวนิตยสาร
"MARS" นิตยสารที่เน้นกลุ่มเป้าหมายผู้ชาย เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ก็ได้มีนิตยสารที่ประกาศเปิดตัว
และวางแผนจะเปิดตัวออกมาใหม่ อีกหลายเล่ม
นิตยสาร "Seventeen" นิตยสารที่เจาะตลาดในกลุ่ม วัยรุ่น ซึ่งบริษัทมีเดีย
ทรานส์เอเซีย ไทยแลนด์ ได้ลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ เพิ่งเปิดตัวแพร กวิตานนท์
ลูกสาวคนเดียวของสถาพร กวิตานนท์ อดีตเลขาธิการ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน
ในตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร ไปเมื่อ เดือนธันวาคม
ค่ายจีเอ็ม ก็กำลังเจรจา เพื่อนำ หนังสือ "OPEN" ที่มีเนื้อหาเข้าถึงคนรุ่น
ใหม่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ มาดำเนินการต่อ
ค่ายอมรินทร์ พริ๊นติ้ง เจ้าของนิตยสาร "บ้านและสวน" ก็กำลังเตรียมการออกนิตยสารเล่มใหม่ที่มีชื่อว่า
"Room"
ค่ายแปซิฟิกฯ ของปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา นำนิตยสารต่างประเทศมาทำเวอร์ชั่น
ภาษาไทย "Popular Mechanics" วางแผงไป เมื่อก่อนสิ้น 2545
ระวิ โหลทอง เจ้าของสยามสปอร์ต พับลิชชิง ก็กำลังเตรียมการจะออกนิตยสาร
โดยนำนิตยสารจากอังกฤษมาทำใน Version ภาษาไทยที่ชื่อ "FRM" โดยให้ลูกสาวมาเป็นคนดูแล
ล่าสุด ค่ายเนชั่น มัลติมีเดีย ก็กำลังเตรียมวางแผนที่จะออกนิตยสารรายเดือนแนวธุรกิจ
เพิ่มขึ้นมาอีก 1 เล่ม ฯลฯ
ความเคลื่อนไหวของสื่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างคึกคักในช่วงนี้ น่าจะเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่น
และความกล้าที่จะลงทุน ที่กำลังมีมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยปีนี้จะมีสีสันมากขึ้น