|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2549
|
|
ธุรกิจมาตรฐานของไทยได้จัดตั้งหน่วยงาน Risk management ขึ้นมาอย่างเป็นระบบ หลังจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 แม้ว่าจะเริ่มต้นมาจากแรงกดดันว่าด้วยมาตรฐานธุรกิจของระบบทุนนิยมระดับโลก แต่ผมเชื่อว่า จากนี้ไปความหมายในเรื่อง Risk management เป็นความหมายที่มีนัยอย่างกว้างขวาง
ไม่เพียงประยุกต์ใช้กับธุรกิจเท่านั้น หากนำมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ได้ด้วย และอีกแกนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องการบริหารองค์กรเท่านั้น หากหมายถึงการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ การทำงาน และการใช้ชีวิตระดับปัจเจกด้วย
พิจารณาอย่างเผินๆ Risk management เป็นแนวคิดของตะวันตก ซึ่งมีรากความคิดตะวันออกที่ว่าด้วย "ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท" แต่วิธีนำมาประยุกต์ใช้ ดูเหมือนจะแตกต่างกันในระดับเชิงโครงสร้างความคิดอยู่บ้างเหมือนกัน
แนวคิดทางตะวันออก ให้ความหมายกว้างในเชิงนามธรรมระดับปัจเจก ขึ้นอยู่กับผู้นำมาใช้มีความเข้าใจ มีความรู้ และความสามารถในการนำไปใช้
ส่วนแนวคิดตะวันตก พยายามเชื่อมโยงแนวคิดกับสถานการณ์ สภาพแวดล้อม ให้ชัดเจนขึ้น และพยายามสร้างกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานเป็นการทั่วไป ให้ผู้คนเข้าถึงได้อย่างง่าย ที่สำคัญสร้างกระบวนการขึ้นในความพยายามนำไปประยุกต์กับระบบทุนนิยม
แม้ว่าในเชิงวิชาการ คำว่า Risk และ Uncertainty ใช้ในนิยามทั่วไป ส่วน Risk management ใช้กับธุรกิจ แต่ผมคิดว่าชีวิตปัจเจกสังคมยุคใหม่ ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนอย่างมาก ผู้คนต้องเรียนรู้และปรับตัวที่จะจัดการกับสิ่งต่างๆ ในเชิงโครงสร้าง และมีกระบวนการที่แน่นอนมากขึ้น และคิดว่าคำว่า Management คงไม่มีใครหวงไว้ใช้กับวงการธุรกิจเท่านั้น
สิ่งที่ผมเชื่อ และให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้มี 2 มิติ
ความเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์
แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว ก็น่าจะมีความหมายกว้างขวาง ปัจจัยความเสี่ยงในยุคปัจจุบันมีความหมายกว้างขวางมากขึ้น สังคมไทยได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างมากมายในช่วงหลายปีมานี้ หลายสิ่งเราเชื่อกันว่า มันไม่มีทางจะเกิดในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นสึนามิเมื่อ 2 ปีก่อน หรือการรัฐประหารที่ห่างหายไปในช่วงยาว นานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถึง 15 ปี
ทั้งนี้ยังไม่นับสถานการณ์ที่เชื่อมกันทั้งโลก กระทบกันทั้งโลกมากขึ้นกว่าเดิม ชนบทกับเมืองสัมพันธ์กันมากขึ้นจากสื่อที่เป็นใยแมงมุม ที่สร้างขึ้นเพื่อเป้าหมายหลักทางธุรกิจ ในแง่นี้ ปัจจัยความเสี่ยงที่ควรศึกษา มีความหมายกว้างขวางอย่างมาก ขณะเดียวก็มีสิ่งที่เรียกว่า "ความเป็นไปได้" มีมากขึ้นด้วย
การจัดการกับ 'ความเสี่ยง' และ 'ความไม่แน่นอน'
สังคมไทยและผู้คนในสังคม มีวัฒนธรรมในการระแวดระวังในการดำเนินชีวิตต่ำกว่ากว่าสังคมอื่น ที่อยู่ในสังคมสมัยใหม่เช่นเดียวกัน หรือว่าอีกนัยก็คือ สังคมไทยมีปัจจัยความเสี่ยงค่อนข้างมาก คนไทยตายกันมากในการเดินทางวันหยุดเทศกาล บุคคลทั่วไปมีหนี้ทั้งในและนอกระบบอย่างมาก การจัดการธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงใหญ่ มีมาตรฐานทางบัญชีที่ต่ำมากประเทศหนึ่ง วิถีชีวิตสังคมเมืองและหัวเมือง ผันแปรตามกระแสที่ถูกปลุกอย่างรวดเร็ว ตามการโฆษณาของสินค้าหรือสื่อ
รวมทั้งยอมรับอิทธิพลความเชื่อที่ว่าด้วยรสนิยมได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้รวมทั้งความคิดง่ายๆ ทางการเมืองด้วย ซึ่งสามารถบ่งบอกระดับวุฒิทางปัญญาของนักการเมือง ผู้แวดล้อม ซึ่งควรจะรวมทั้งนักข่าวการเมืองด้วย เช่นเดียวกัน หลายคนเชื่อว่า หลักคิดของนักวิชาการไทยจำนวนหนึ่ง มีสถานะคล้ายๆ สสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ของเหลว" (Liquid) เป็นต้น
ปรากฏการณ์ข้างต้น อาจมาจากสภาพสังคมไทยไม่มีวิกฤติการณ์ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง คาดกันว่า จากนี้ไปความเสี่ยงจากสภาพการณ์ภายนอกในเรื่องนี้ อาจจะมีมากขึ้น
การจัดการเรื่องต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเรื่องความเสี่ยง ในแง่นี้มีเป้าหมายอย่างกว้างก็เพื่อสร้างความสมดุล ความสมดุลนี้มาจากปรัชญาวิถีชีวิตที่สมดุล มีพื้นฐานจากความมีเหตุผล ที่สำคัญที่สุด หากพูดระดับปัจเจกก็คือ เป้าหมายและวิถีของการดำเนินชีวิต รวมถึงการประกอบอาชีพ มักจะเชื่อมโยงกับอุดมคติด้วยเสมอ
หรืออย่างน้อย ผู้คนในสังคมควรมีความคิดระดับ Conceptual กับสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยนั่นเอง
|
|
|
|
|