Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2549
JIMINTO : LDP             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 

 
Charts & Figures

นายกรัฐมนตรีญี่ปุนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง


   
search resources

Political and Government




ขณะที่สภาพอากาศของญี่ปุ่นในช่วงเดือนกันยายน 2006 กำลังแปรเปลี่ยนจากฤดูร้อนไปสู่ฤดูใบไม้ร่วง ท่ามกลางอิทธิพลของลมพายุไต้ฝุ่นที่โหมกระหน่ำเข้ามาเป็นระยะ พร้อมกับการระบัดใบเปลี่ยนสีของพรรณไม้ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของญี่ปุ่นในช่วงดังกล่าว ก็ดูจะมีสภาพไม่แตกต่างจากฤดูกาลเปลี่ยนแปลงนี้เท่าใดนัก

เนื่องเพราะคณะกรรมการบริหารภายในพรรคการเมืองต่างๆ ล้วนแต่อยู่ในช่วง ที่ครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งและเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งคณะผู้บริหาร ชุดใหม่กันแทบทุกพรรค ขณะที่นักการเมืองรุ่นอาวุโสจำนวนไม่น้อยประกาศท่าทีที่จะก้าว ลงจากตำแหน่ง หรือในบางกรณีก็ประกาศวางมือจากการเมืองเลยทีเดียว

คำมั่นสัญญาของ Junichiro Koizumi นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ที่ประกาศว่าจะก้าวลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย (LDP : Liberal Democratic Party-JIMINTO) เมื่อครบกำหนดสิ้นวาระในเดือนกันยายน 2006 โดยจะไม่เลือกผู้สืบทอด ตำแหน่งสำคัญตามที่อดีตผู้นำญี่ปุ่นได้ปฏิบัติ มา ทำให้สังคมญี่ปุ่นต่างคาดการณ์ถึงผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อม กับเรียกขานยุคสมัยจากนี้ว่า Post-Koizumi ที่แฝงนัยของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสำคัญด้วย

สร้างพรรค-สร้างชาติ

LDP ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1955 หลังจากที่พรรคเสรีนิยม (Liberal Party : Jiyu-to, 1950-1955) ภายใต้การนำของ Shigeru Yoshida และพรรคประชาธิปไตย (Japan Demo-cratic Party : Nihon Minshu-to, 1954-1955) ภายใต้การนำของ Ichiro Hatoyama ซึ่งต่างเป็นพรรคการเมืองแนวอนุรักษนิยมได้ผนวกรวมเข้าเป็นพันธมิตรกัน เพื่อสกัดกั้นการเติบโตของพรรคการเมืองแนวสังคมนิยม Japan Socialist Party ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ พร้อมๆ กับการเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ ของ Japanese Communist Party

LDP จำเริญเติบโตขึ้นท่ามกลางสถาน การณ์ที่ควันสงครามในคาบสมุทรเกาหลี (Korean War : June 1950-July 1953) ยังไม่จางหาย ขณะเดียวกันบรรยากาศของสงครามเย็นและยุทธศาสตร์ว่าด้วยการปิดล้อมการแพร่ระบาดของลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ดำเนินไปอย่างเอิกเกริก

ข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวได้รับการเน้นย้ำอย่างชัดเจน เมื่อข้อมูลเกี่ยวกับบทบาท สำนักข่าวกรองของสหรัฐฯ (Central Intelli-gence Agency : CIA) ที่พยายามจะหนุนส่งให้ LDP ได้ครอบครองอำนาจรัฐของญี่ปุ่น ตลอดช่วงทศวรรษ 1950s ถึง 1970s ได้รับการเปิดเผยออกสู่สาธารณะ ในช่วงกลางของทศวรรษ 1990s หรือภายหลังจากที่สงครามเย็นทางลัทธิอุดมการณ์ได้สิ้นสุดลงแล้ว

แม้ว่าประวัติและความเป็นไปของ LDP ในระยะเริ่มแรกจะดำเนินไปท่ามกลางรากฐานของความหวาดระแวงและแสวงหาอำนาจของนักการเมือง และปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ แต่นั่นย่อมไม่ใช่ข้อบ่งชี้ถึงเหตุที่ทำให้พรรค LDP สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องยาวนานมาจนขณะปัจจุบันได้ หากปราศจากความสามารถในการผลักดันแนวนโยบายที่นำไปสู่การผนึกผสานกลุ่มพลังทาง สังคมเข้าเป็นแนวร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปรากฏการณ์ในช่วงทศวรรษ 1960s ภายใต้การนำของ Eisaku Sato ซึ่งเป็นผู้ดำรง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ครองอำนาจยาวนานเกือบ 8 ปี (9 พฤศจิกายน 1964 ถึง 7 กรกฎาคม 1972) ดูจะเป็นข้อต่อทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญครั้งหนึ่งของญี่ปุ่น

การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ Eisaku Sato ดำเนินไปภายใต้สถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังเบ่งบาน จาก ผลของการเร่งสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง ซึ่งรวมถึงระบบทางด่วน เพื่อรองรับกับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 1964 (Tokyo Summer Olympic 1964) ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ได้รับการกล่าวถึงในฐานะ Miracle Economy ในระยะเวลาต่อมา

ความต่อเนื่องในแนวนโยบายและความคลี่คลายของสถานการณ์การเมืองโลกในระดับสากล ส่งผลให้ช่วงเวลา 8 ปีภายใต้ การนำของ Eisaku Sato ดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นสามารถฟื้นฟูและสั่งสมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องเท่านั้น หากในอีกด้านหนึ่งยังขยายโอกาสให้ LDP สามารถสร้างโครงข่ายของฐานคะแนนเสียงทั้งในเขตชนบทและเขตเมืองได้อย่างแน่นหนา ควบคู่กับการสานสัมพันธ์กับองค์กรธุรกิจระดับนำที่กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายของญี่ปุ่น

ขณะเดียวกัน นโยบายต่างประเทศในยุคของ Eisaku Sato ดำเนินไปด้วยความน่าสนใจไม่น้อย เมื่อ Eisaku Sato เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาส่งมอบคืน Okinawa สู่การปกครองของญี่ปุ่น พร้อมกับให้สหรัฐอเมริกาเคลื่อนย้ายอาวุธนิวเคลียร์ออกจากญี่ปุ่นทั้งหมด แม้ว่าต่อมาญี่ปุ่นจะอนุญาตให้สหรัฐ อเมริกาคงฐานทัพใน Okinawa ได้ก็ตาม

ท่วงทำนองของ Eisaku Sato ดังกล่าว ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (Nobel Peace Prize) ซึ่งนับเป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกและคนเดียวที่ได้รับเกียรตินี้ จากความ พยายามที่ได้นำพาญี่ปุ่นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ สนธิสัญญายุติการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty) ในปี 1974 ร่วมกับ Sean MacBride ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnestry Inter-national)

หลังจากที่ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบวาระรวม 3 สมัย เป็นเวลา 8 ปี Eisaku Sato ประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 โดยสมาชิกพรรค LDP ในสังกัดของ Eisaku Sato พยายามส่งมอบตำแหน่งดังกล่าวให้กับ Takeo Fukuda ในฐานะทายาททางการเมือง

แต่ผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP ไม่ได้เป็นไปดังที่กลุ่ม Eisaku Sato มุ่งหวัง เมื่อ Kakuei Tanaka รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MITI (Minister of International Trade and Industry) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในกระแส สูงจากผลพวงของเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต ผนึกกำลังเข้ากับแรงสนับสนุนจากกลุ่มของ Yasuhiro Nakasone และ Masayoshi Ohira เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรคด้วยคะแนน 282-190 และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด

พัฒนาการของ LDP ในช่วง 2 ทศวรรษ แรกที่ดำเนินมาตั้งแต่เมื่อเริ่มก่อตั้งพรรคในปี 1955 จนถึงการก้าวลงจากตำแหน่งของ Eisaku Sato ในปี 1972 เป็นประหนึ่งยุคสมัย แห่งการกระชับอำนาจ พร้อมกับการฟื้นฟูและสร้างชาติที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ก่อนที่ความเป็นไปของ LDP ในยุคต่อมาจะต้องเผชิญกับวิบากกรรมของเรื่องราวอื้อฉาวและการแย่งชิงอำนาจภายในพรรคอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่ความเสื่อมถอยอย่างช้าๆ ในเวลาต่อมา

อื้อฉาวและแตกแยก

Kakuei Tanaka (เกิด 4 พฤษภาคม 1918 ถึง 16 ธันวาคม 1993) ถือเป็นนักการเมืองที่อุดมด้วยสีสันมากที่สุดรายหนึ่งของญี่ปุ่น โดยชีวิตทางการเมืองของเขาแวดล้อมด้วยเรื่องอื้อฉาวมากมาย ขณะที่กลุ่ม Etsu-zankai หรือ Niigata Mountain Association ที่เขาเป็นหัวหน้า ได้ดำเนินบทบาทในการเสริม สร้างแรงสนับสนุนทางการเมืองในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมทางการเมืองของ Kakuei Tanaka ดำเนินไปในลักษณะที่อาศัยช่องโหว่ ของกฎหมาย รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า pork barrel politics ภายใต้การรวบรวมข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ ก่อนที่จะนำเสนอ เป็นโครงการพัฒนาหลากหลายที่ต้องอาศัยการสนับสนุนด้านงบประมาณการลงทุนจากรัฐบาลกลาง ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนทั้งประเทศ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงในพื้นที่ ควบคู่กับระบบหัวคะแนนส่งผลให้ภาพลักษณ์ของ Kakuei Tanaka ดำเนินไปไม่แตกต่างจากหัวหน้าขบวนการของผู้มีอิทธิพลด้วย

การแข่งขันช่วงชิงบทบาทการนำระหว่าง Kakuei Tanaka และ Takeo Fukuda ปรากฏขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งที่ Eisaku Sato ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรก โดยสื่อมวลชนญี่ปุ่นได้ขนานนามการช่วงชิงสถานะการเป็นทายาททางการเมือง ของบุคคลทั้งสองว่า Kaku-Fuku War ที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1964 ถึง 1972 เลยทีเดียว

แม้ว่า Kakuei Tanaka จะทรงอิทธิพลภายในพรรค LDP และสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่วาระของ Tanaka ไม่สามารถดำเนินยืนยาวได้มากนัก เมื่อคลื่นแห่งกรณีอื้อฉาวเริ่มทยอยถาโถมเข้าใส่ Kakuei Tanaka อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ อย่างยิ่งกรณีการใช้ชื่อของหญิง Geisha เข้า ซื้อและถือครองที่ดินหลายแห่งในกรุงโตเกียว และกรณีชู้สาวกับ Aki Sato เจ้าหน้าที่การเงินของกลุ่ม Etsuzankai ที่เขาเป็นหัวหน้ากลุ่ม ก่อนที่ Kakuei Tanaka จะลาออกจาก ตำแหน่งเพื่อหลีกเลี่ยงการให้ปากคำของ Aki Sato

กระนั้นก็ดี Kakuei Tanaka มิได้ด้อย บทบาทภายในพรรค LDP แต่อย่างใด หากยังมีอิทธิพลอย่างสูงในการกำหนดทิศทางของพรรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฐานะประธานกลุ่ม Etsuzankai ซึ่งเป็นกลุ่มการ เมืองกลุ่มใหญ่ภายในพรรค LDP เขาได้สนับสนุนให้ Takeo Miki อดีตรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการต่างประเทศ (1966-1968) ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ความพยายามของ Takeo Miki ที่จะสร้าง clean government เพื่อเรียกศรัทธาจากประชาชนให้กลับมาต้องประสบกับปัญหาอย่างหนักหน่วง พร้อมกับสร้างศัตรูทางการเมืองจำนวนมากไปในคราวเดียว กัน และเมื่อกรณีอื้อฉาว Lockheed ถูกเปิดเผยขึ้นในช่วงต้นปี 1976 โดยผู้บริหารของ Lockheed ระบุว่ามีการจ่ายสินบนจำนวนกว่า 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับ Kakuei Tanaka เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อแลกกับการสั่งซื้อเครื่องบิน Lockheed L-1011 และมีสมาชิกระดับนำของ LDP อีกหลายรายเกี่ยวข้อง ทำให้แรงสนับสนุนที่ Takeo Miki เคยได้รับจาก Kakuei Tanaka แปรเปลี่ยนไปสู่การเป็นปฏิปักษ์อย่างรวดเร็ว

การเลือกตั้งทั่วไปในปี 1976 ซึ่งได้รับการเรียกขานต่อมาว่า Lockheed Election ดำเนินไปท่ามกลางกระแสข่าวแห่งความอื้อฉาวและฉ้อฉลของนักการเมืองจากพรรค LDP ที่ครอบครองอำนาจรัฐมาอย่างยาวนาน ซึ่งสร้างความไม่พึงพอใจในหมู่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง แม้ว่าความนิยมต่อ Takeo Miki จะมีอยู่ในระดับสูง แต่นั่นก็ไม่เพียงพอให้ผู้สมัครของ LDP ชนะการเลือกตั้งในปริมาณที่มากพอสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวดังที่ผ่านมา และเป็นเหตุให้ Takeo Miki ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP และนายกรัฐมนตรีในที่สุด

Takeo Fukuda ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นแทน Takeo Miki หลังจากที่ต้องรอคอยมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 1972 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มของ Kakuei Tanaka ด้วย แต่พันธมิตรของ ปฏิปักษ์ทางการเมืองดังกล่าวก็ดำรงอยู่ได้ไม่นานนัก

แม้ Takeo Fukuda จะได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในฐานะนักวางแผนเศรษฐกิจชั้นเยี่ยม โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลัง 3 สมัย (1965-1966, 1968-1971 และ 1973-1974) และได้รับการกล่าวถึงในฐานะ "พ่อมดเศรษฐกิจ" ที่อยู่เบื้องหลังความจำเริญอย่างต่อเนื่องของญี่ปุ่น รวมถึงบทบาทในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (1971-1972)

แต่ภายใต้บริบทที่การเมืองภายในญี่ปุ่นประสบปัญหาวิกฤติศรัทธาครั้งใหม่จากเหตุอื้อฉาวหลากหลายกรณี ขณะที่ Miracle Economy ของญี่ปุ่นก็กำลังประสบปัญหาความตีบตันในการขยายตัวเพิ่มขึ้น ภาระหนักของ Takeo Fukuda จึงไม่ใช่งานที่ง่ายเลย

ยุทธศาสตร์และนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นในช่วงปลายของทศวรรษ 1970s กลายเป็นประจักษ์พยานถึงความสามารถของ Takeo Fukuda ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Takeo Fukuda พลิกสร้าง การดำเนินนโยบายรูปแบบใหม่ ด้วยการเดินทางเยือนพม่า และสมาชิกของอาเซียนทั้ง 5 ประเทศ (จำนวนสมาชิกขณะนั้น) เป็นเวลา 13 วัน (6-18 สิงหาคม 1977) พร้อมกับสุนทรพจน์ที่ได้รับการกล่าวถึงในฐานะ Fukuda Doctrine ในเวลาต่อมา

กรณีดังกล่าวนอกจากจะเป็นการปลด ปล่อยให้ Takeo Fukuda สามารถถอยห่างจากปัญหาเรื่องอื้อฉาวภายในประเทศแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในระดับสากลให้กับผู้นำญี่ปุ่นที่ขาดหายไปในยุคหลัง Eisaku Sato ให้กลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

เนื้อหาหลักของ Fukuda doctrine นอกจากจะเป็นการสร้างที่อยู่ที่ยืนของญี่ปุ่นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศด้วยการประกาศว่าญี่ปุ่นผูกพันอยู่กับสันติภาพแล้ว มิติทางเศรษฐกิจที่แฝงอยู่ในสุนทรพจน์ดังกล่าว ได้เปิดเผยให้เห็นถึงเป้าหมายการขยาย ความสัมพันธ์และบทบาททางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เข้าสู่แหล่งทรัพยากรและตลาดสินค้าของประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เพิ่มขึ้น และกลายเป็นเข็มทิศที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ได้ยึดถือดำเนินต่อเนื่องมากระทั่งห้วงเวลาปัจจุบัน

นอกเหนือจากกิจการด้านการระหว่าง ประเทศที่โดดเด่นแล้ว Takeo Fukuda พยายามที่จะปฏิรูปการบริหารงานภายในพรรคด้วยการนำเสนอระบบการเลือกตั้งแบบ primary election โดยหวังว่าด้วยกลไกดังกล่าวจะสามารถลดอิทธิพลและความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ภายในพรรคให้ลดลงได้

แต่ดาบที่ Takeo Fukuda หวังจะตัดทอนบทบาทของ faction ต่างๆ กลับบาดเฉือน Fukuda อย่างเจ็บปวด เมื่อการลงคะแนนเสียงเลือกหัวหน้าพรรค LDP ในปี 1978 ซึ่งใช้ระบบการเลือกตั้งแบบ primary เป็นครั้งแรกนั้น Fukuda กลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ต่อ Masayoshi Ohira ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่ม Etsuzankai ของ Kakuei Tanaka

ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกลุ่มการ เมืองต่างๆ ภายในพรรค LDP ยังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ท่ามกลางกระแสข่าวความอื้อฉาวของการฉ้อฉลผลประโยชน์ที่ไม่พึงได้ของนักการเมือง ทวีความหนักหน่วงขึ้นเป็นลำดับ และหลังจากที่ Masayoshi Ohira นำพารัฐนาวาของเขาผ่านการเลือกตั้งทั่วไป ในปี 1979 โดย LDP ไม่สามารถรักษาที่นั่งในรัฐสภาได้มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลอย่างมีเสถียรภาพ Ohira ต้องเผชิญกับการอภิปราย ไม่ไว้วางใจและพ่ายแพ้การลงมติไปอย่างบอบช้ำ เมื่อสมาชิกพรรค LDP ในกลุ่มของ Fukuda มีมติงดออกเสียงที่สะท้อนให้เห็นร่องรอยแห่งความปริแยกภายในพรรค LDP ได้เป็นอย่างดี

Ohira ต้องประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในปี 1980 และระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง Ohira เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งกรณีดังกล่าวกลายเป็นเหตุสะเทือนอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนอย่างกว้างขวาง และเป็นแรงจูงใจให้มีการลงคะแนนเสียงสนับสนุนผู้สมัครของ LDP ให้ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น เป็นประวัติการณ์

ภายหลังผลการเลือกตั้งที่ LDP สามารถครอบครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดดังกล่าว แต่การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ Zenko Suzuki ภายใต้การสนับสนุนของ Kakuei Tanaka มิได้ดำเนินไป ท่ามกลางเสถียรภาพทางการเมืองอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องเพราะรอยปริร้าวที่เกิดจากการขัดแย้งกันของกลุ่มการเมืองภายในพรรค ได้เขม็งเกลียวมากขึ้นเป็นลำดับ

กรณีดังกล่าวส่งผลให้ตลอดระยะเวลา เพียง 2 ปีที่ Zenko Suzuki ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาต้องปรับเปลี่ยนบุคคลในคณะรัฐมนตรีบ่อยครั้ง ขณะที่กลุ่มการเมืองภายในพรรคเริ่มประกาศขอแยกตัวเป็นอิสระ หรือจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาเป็นปฏิปักษ์อย่างเปิดเผย ก่อนที่ Zenko Suzuki จะก้าวลงจากตำแหน่งและเปิดโอกาสให้ Yasuhiro Nakasone ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

ท่ามกลางภาพลักษณ์ของการเป็นรัฐบาลสายเหยี่ยวที่มีแนวทางชาตินิยม แต่รัฐบาลของ Yasuhiro Nakasone ที่มี Shintaro Abe เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างโดดเด่นด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์กับทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหภาพโซเวียต ขณะเดียวกัน Yasuhiro Nakasone ยังมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ Ronald Reagan ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดย ความสัมพันธ์ดังกล่าวได้รับขนานนามว่า Ron-Yasu friendship อีกด้วย

นอกจากนี้การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ Yasuhiro Nakasone (27 พฤศจิกายน 1982 ถึง 6 พฤศจิกายน 1987) ยังร่วมสมัยกับผู้นำคนสำคัญของโลกตะวันตก หลายราย ไม่ว่าจะเป็น Ronald Reagan Margaret Thatcher นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ Helmut Kohl นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี รวมถึง Francois Mitterand ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์บนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติ ศาสตร์ร่วมสมัยนี้

ความโดดเด่นที่ได้รับการกล่าวถึงมาก อีกประการหนึ่งของ Yasuhiro Nakasone อยู่ที่แนวความคิดและความพยายามที่จะแปรรูปวิสาหกิจของรัฐ เพื่อลดทอนการพึ่งพิง ด้านงบประมาณจากภาครัฐ ทั้งในกรณีของ Japan Tobacco ที่แปรรูปเป็นบรรษัทเอกชน ในปี 1985 และติดตามมาด้วยกรณีของการแปรรูปกิจการรถไฟ Japan National Railways (JNR) ที่ประสบปัญหาการขาดทุนสะสมรวมกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ให้อยู่ในรูปของกลุ่มบรรษัทเอกชนภายใต้ชื่อ Japan Railway (JR) Group ในปี 1987 โดยการแยกกิจการของ JNR ออกเป็นบริษัทย่อย รวมมากกว่า 11 บริษัท

แม้ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ Yasuhiro Nakasone จะปรากฏภาพแห่งความสำเร็จในระดับสูง แต่กรณีอื้อฉาว Recruit scandal ว่าด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยการใช้ข้อมูลภายใน โดยบรรดานักการเมืองในพรรค LDP และผู้บริหารของบริษัท ที่สร้างผลตอบแทนให้กับผู้เกี่ยวข้องเฉลี่ยไม่ต่ำกว่ารายละ 66 ล้านเยน ส่งผลกระเทือนอย่างมากต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และเป็นเหตุให้ Yasuhiro Nakasone ต้องก้าวลงจากตำแหน่งในที่สุด

เค้าลางแห่งความเสื่อมถอยที่นำไปสู่ความตกต่ำของ LDP เริ่มก่อรูปขึ้นอย่างช้าๆ หลังจากที่กรณี Recruit scandal ซึ่งพัวพันกับนักการเมืองของพรรค LDP ถูกเปิดเผยออก สู่สาธารณชน และเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าวต้องก้าวลงจากอำนาจด้วย ข้อกล่าวหานี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ระบบการเมืองญี่ปุ่นถูกสั่นคลอน และท้าทายอย่างยิ่ง

Noburo Takeshita (เกิด 26 กุมภาพันธ์ 1924 ถึง 19 มิถุนายน 2000) ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก Yasuhiro Nakasone หลังจากที่สั่งสมบทบาทและอิทธิพลภายในพรรคอย่างต่อเนื่อง ในฐานะสมาชิกในสังกัดของ Kakuei Tanaka ก่อนที่ Takeshita จะสร้างกลุ่มการเมืองใหม่ซ้อนขึ้นมาและสามารถเบียดบังอิทธิพลของกลุ่ม Kakuei Tanaka จนก้าวขึ้นเป็นกลุ่มการเมืองใหญ่ที่สุดภายในพรรค LDP แทนในเวลาต่อมา

รูปแบบการเติบโตขึ้นของ Noburu Takeshita ไม่ได้แตกต่างจากจังหวะก้าวของ Tanaka เท่าใดนัก หากในความเป็นจริง Takeshita มีบทบาทในการเป็นกลไกหลักใน การแสวงหาทุนเพื่อหล่อเลี้ยงกลุ่มการเมืองของ Tanaka มาอย่างยาวนาน ซึ่งกรณีดังกล่าวส่งเสริมให้ Takeshita อุดมด้วยสายสัมพันธ์กับผู้คนในระดับต่างๆ ควบคู่กับการรักษาฐานคะแนนเสียงด้วยการผันโครงการขนาดใหญ่เข้าสู่เขตพื้นที่เลือกตั้งเช่นเดียวกันด้วย

ท่ามกลางข้อกล่าวหาเกี่ยวกับ Recruit scandal ที่โหมเข้าใส่นับตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่ง ในที่สุด Noboru Takeshita ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งในปี 1989 โดยยังคงบทบาทในการเลือกสนับสนุน Sosuke Uno และ Toshiki Kaifu ซึ่งต่างได้ก้าวขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นตามลำดับ

แม้จะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มของ Takeshita แต่รัฐบาลของ Sosuke Uno ต้อง จบสิ้นภายในระยะเวลาอันสั้นไม่ถึง 3 เดือน เมื่อปรากฏกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ Uno กับหญิง geisha ถูกเปิดเผย โดย Sosuke Uno มิได้ถูกตั้งคำถามว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมจากความสัมพันธ์ดังกล่าว หากอยู่ที่การขาดความรับผิดชอบที่จะเลี้ยงดู geisha รายนี้อย่างเหมาะสม จนเป็นเหตุ ให้เธอต้องออกมาเรียกร้อง ต่อสาธารณะ ซึ่งกรณีว่าด้วยความรับผิดชอบนี้ ดูจะส่งผลสะเทือนหนักหน่วงกว่า เพราะหลังจาก Uno ลาออกจากตำแหน่งสมาชิกในกลุ่มต่างทยอยย้ายสังกัด และทำให้บทบาท ภายในพรรค LDP ของ Sosuke Uno ลดลงอย่างรวดเร็ว

ขณะที่การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ Toshiki Kaifu ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มการเมืองขนาดเล็กภายในพรรค LDP ที่พยายามนำเสนอการปฏิรูปทางการเมืองภายใต้ความมุ่งหมายที่จะสร้าง clean leadership ต้องประสบกับวิบากกรรมในการแสวงหาแนวร่วมภายในพรรค ขณะเดียวกันยังเผชิญกับกรณีอื้อฉาว Sagawa scandal จนในที่สุด Toshiki Kaifu ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง และแยกตัวออกจากพรรค LDP เพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในชื่อ New Frontier Party (Shinshinto) ในปี 1994 อีกด้วย

Kiichi Miyazawa นักการเมืองอาวุโส ของ LDP ที่มีบทบาทในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในปี 1991 ท่ามกลางความเสื่อมศรัทธาของประชาชนและความไร้เสถียรภาพ ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังจากพ่ายแพ้ในการลงมติไม่ไว้วางใจในปี 1993 ซึ่งถือเป็นจุดพลิกผันทาง การเมืองครั้งสำคัญของญี่ปุ่น เพราะหลังจาก นั้น LDP ซึ่งผูกขาดอำนาจรัฐและตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาอย่างยาวนานต้องถูกผลักให้เป็นเพียงพรรคฝ่ายค้านในสภาเท่านั้น

ตกต่ำและปรับเปลี่ยน

รัฐบาลผสมของ Morihiko Hosokawa ในปี 1993 กลายเป็นคณะรัฐมนตรีชุดแรกที่ก่อตั้งขึ้นโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของ LDP แต่ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจจากกรณีดังกล่าวอยู่ที่ บรรดานักการเมืองที่มีบทบาทในการก่อตั้งรัฐบาลผสมดังกล่าว ล้วนแต่เป็นอดีตสมาชิกพรรค LDP ที่แยกตัวออกจากพรรคด้วยเหตุของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเป็นด้านหลัก รวมถึงการแยกตัวเพื่อประกาศความเป็นปฏิปักษ์กับนักการเมืองที่กำลังประสบกับข้อกล่าวหาว่าด้วยความฉ้อฉล เพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางการเมือง

ระยะเวลาระหว่างปี 1993-1996 กลายเป็นช่วงเวลาแห่งความยุ่งเหยิงและไร้เสถียร ภาพซึ่งเป็นธรรมชาติของรัฐบาลผสมหลายพรรค ขณะที่การสูญเสียบทบาทนำในการจัดตั้งรัฐบาลของ LDP ในช่วงดังกล่าว ส่งผล ให้สมาชิกระดับนำของ LDP ต่างพยายามเร่งหามาตรการเพื่อฟื้นฟูสถานะของพรรค และกอบกู้ความไว้วางใจจากประชาชน พร้อม กับการแสวงหาโอกาสในการกลับไปเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

การถอนตัวออกจากการร่วมเป็นรัฐบาลผสมในปี 1994 โดยพรรค Japan Socialist Party (JSP ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Social Democratic Party of Japan) ทำให้สมการทางการเมืองของญี่ปุ่นเปลี่ยนไปอีกครั้ง และทำให้รัฐบาล Non-LDP Government สิ้นสุดลงไปโดยปริยาย

Tomiichi Murayama (เกิด 3 มีนาคม 1924) กลายเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคสังคมนิยมรายแรก ในช่วงกว่า 5 ทศวรรษของ ประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่น โดยมี New Party Sakigake และ LDP เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งถือเป็น irony of life อย่างยิ่ง

ในปี 1995 รัฐบาลของ Tomiichi Murayama ต้องประสบกับเหตุร้ายแรงทั้งจากกรณีแผ่นดินไหวใหญ่ Great Hanshin Earthquake (17 มกราคม) และการปล่อยแก๊สซารินโจมตีระบบรถไฟใต้ดินในกรุงโตเกียว โดยผู้ฝักใฝ่ลัทธิ Aum Shinrikyo (10 มีนาคม) ซึ่งล้วนส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของประชาชนอย่างกว้างขวาง

ขณะที่แถลงการณ์ของ Tomiichi Murayama เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ระบุถึง "การขอโทษจากการกระทำที่ชั่วร้ายจากนโยบายที่ผิดพลาดของญี่ปุ่นในช่วงสงคราม โลก" ที่ต่อมาได้รับการกล่าวถึงในฐานะ "Murayama Danwa" ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมการเมืองระหว่างประเทศ แต่กรณีดังกล่าวดูจะเป็นสิ่งที่สังคมญี่ปุ่นโดยรวมยังยากที่จะยอมรับได้

พรรค JSP ต้องสูญเสียที่นั่งในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1996 อย่างมาก และเป็นเหตุให้ Tomiichi Murayama ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยมี Ryutaro Hashimoto จากพรรค LDP ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนและเป็น จุดเริ่มต้นของการกลับมาอีกครั้งของ LDP

Hashimoto พยายามที่จะกระตุ้นภาวะทางเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นของทศวรรษ 1990 ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการ ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยว ชาญจากภาคธุรกิจเอกชนในการวางแผนพัฒนาให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศได้ ก่อนที่นโยบายการเปิดตลาดเสรีอย่างเบ็ดเสร็จจะมีผลในทางปฏิบัติ

กรณีดังกล่าวส่งผลให้ "ทุนทางการเมือง" ของ Hashimoto ขยับตัวสูงขึ้นในระดับที่ทำให้เขาประกาศยุบสภาเพื่อการเลือก ตั้งครั้งใหม่ในปี 1996 ซึ่ง LDP สามารถกุมชัยชนะได้ไม่ยาก แต่แล้วในการเลือกตั้งวุฒิสภาในปี 1998 พรรค LDP ต้องประสบกับความพ่ายแพ้และสูญเสียสถานะของการเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ทำให้ Hashimoto ประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ แต่บทบาทและอิทธิพลของ Hashimoto ในฐานะผู้นำของกลุ่มการเมืองใหญ่ในพรรค LDP ยังปรากฏให้เห็นสืบเนื่องต่อมาอีกหลายปี

Keizo Obuchi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาล Hashi-moto ได้รับเลือกให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบแทน โดยมีภารกิจเร่งด่วน 2 ประการคือการเร่งลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกรณีพิพาทเหนือหมู่เกาะ Kuril กับรัสเซีย และการกระตุ้นภาวะทางเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้น

นโยบายหลักที่ Obuchi นำมาปฏิบัติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ที่การเพิ่มการลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งแม้จะชะลอภาวะเศรษฐกิจซบเซาได้บ้าง แต่นโยบายดังกล่าวยังห่างไกลจากผลสัมฤทธิ์ที่มุ่งหวัง ขณะที่นโยบายต่างประเทศกับรัสเซีย ยังไม่ทันได้เห็นผลในทางปฏิบัติ Obuchi ก็ประสบกับภาวะหัวใจล้มเหลวเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2000 และต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นเวลานานนับเดือน โดยอาการทรุดหนักลงเป็นลำดับก่อนจะเสียชีวิตลงในวันที่ 14 พฤษภาคมปีเดียวกัน

อาการป่วยของ Obuchi ในลักษณะที่ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ เป็นผลให้ Yoshiro Mori ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการพรรค LDP ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ตลอดระยะเวลาเพียง 1 ปีเศษในตำแหน่ง Yoshiro Mori ไม่สามารถสร้างความประทับใจ และการยอมรับจากประชาชนและในช่วงท้ายของการเป็นนายกรัฐมนตรี ความนิยมในตัวเขาตกต่ำเหลือเพียงเลขหลักเดียว และนำไปสู่ความพยายามที่จะหาบุคคลอื่นในพรรค ขึ้นมาสืบทอดตำแหน่งแทน

ฟื้นฟูพรรคและนโยบายปฏิรูป

การแข่งขันเพื่อช่วงชิงการนำภายในพรรค LDP ในปี 2001 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการฟื้นฟู เมื่อความพยายามของ Ryutaro Hashimoto ใน การกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งต้องประสบความล้มเหลว โดยสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงได้ตัดสินใจเลือก Junichiro Koizumi ให้เป็นผู้นำพรรค LDP และนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เหนือ Hashimoto ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 298 ต่อ 155 คะแนน

Junichiro Koizumi (เกิด 8 มกราคม 1942) สั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองมาอย่างยาวนานในฐานะสมาชิกในกลุ่มของ Takeo Fukuda ก่อนที่ในปี 1994 ท่ามกลาง บรรยากาศที่ LDP ถูกผลักให้เป็นฝ่ายค้าน Taku Yamasaki และ Koichi Kato ร่วมกับ Junichiro Koizumi จัดตั้งกลุ่ม Shinseiki ซึ่งมักได้รับการกล่าวถึงในฐานะ YKK ที่หวังจะรวบรวมนักการเมืองรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมกำหนดแนวทางในการพัฒนาพรรค LDP ขึ้นใหม่

ขณะเดียวกัน Junichiro Koizumi พยายามที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรค ด้วยการเสนอตัวลงแข่งขันในการเลือกตั้งภายในพรรค LDP ถึงสองครั้งในปี 1995 และปี 1999 ซึ่ง Koizumi ต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับทั้ง Ryutaro Hashimoto และ Keizo Obuchi ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในความพยายามครั้งที่ 3 เมื่อปี 2001 ซึ่งสอดคล้องกับวาทกรรม "Third time lucky" วลียอดนิยมของสังคมญี่ปุ่นด้วย

ความโดดเด่นในแนวนโยบายของ Koizumi อยู่ที่การปฏิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยเขาได้แต่งตั้ง Heizo Takenaka นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Keio ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ Financial Services Agency (FSA) เพื่อรับผิดชอบต่อกรณีการแก้ไขวิกฤติการณ์หนี้เสียของสถาบัน การเงิน ซึ่งบทบาทของ FSA สามารถลดทอน สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ของสถาบันการเงินหลักได้มากกว่าครึ่งหนึ่งจากยอดในปี 2001 และเป็นกลไกที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้เริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง ขณะที่ความเป็นไปในตลาดหลักทรัพย์กรุงโตเกียวเริ่มตอบสนองในทิศทางขาขึ้นเป็นลำดับ

Koizumi ดำเนินนโยบายเชิงรุกว่าด้วยการแปรรูปกิจการไปรษณีย์อย่างต่อเนื่อง และจริงจัง ก่อนที่จะต้องต่อสู้กับแรงเสียดทานและความท้าทายจากกลุ่มการเมืองใหญ่น้อยภายในพรรค แต่ Koizumi ยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องเผชิญหน้ากับช่วงเวลาในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอันเจ็บปวด เพื่อก้าวเดินไปสู่การพัฒนาในอนาคต พร้อมกันนี้ Koizumi ได้ปรับเปลี่ยนทิศทางของ LDP ที่เดิมผูกพันอยู่กับการสร้างฐานคะแนนเสียงในเขตพื้นที่ชนบทและกลุ่มเกษตรกร ให้หันมานำเสนอนโยบายที่กระตุ้นความสนใจของกลุ่มประชากรในเขตเมืองมากขึ้น

นอกเหนือจากนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจ Koizumi ยังดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกด้วยการอนุมัติการส่งกองกำลัง ป้องกันตัวเอง (Self-Defense Force : SDF) เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติภารกิจของ กองกำลังสหประชาชาติในอิรัก รวมถึงการเยือน Yasukuni Shrine อย่างต่อเนื่อง แม้ว่า Koizumi จะประกาศว่าการเยือนดังกล่าวเป็นไปเพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพ และญี่ปุ่นจะไม่มีวันก้าวเดินบนทางแห่งสงครามเช่นในอดีตอีกก็ตาม

ในช่วงเวลาที่ Koizumi กำลังจะพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP สถานีโทรทัศน์ Nippon Television (NTV) ได้ผลิตรายการพิเศษภายใต้ชื่อรายการ Antenna 22 Special เพื่อย้อนพินิจปรากฏการณ์ที่ผ่านมาตลอดช่วงเวลาเกือบ 2,000 วัน ที่ Junichiro Koizumi ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งช่วยขยายภาพและคลี่คลาย ข้อสงสัยเกี่ยวกับเหตุการณ์หลากหลายทาง การเมืองในช่วงดังกล่าวด้วย โดยสารคดีที่มีความยาวกว่า 2 ชั่วโมงนี้ได้นำเสนอออกอากาศในช่วง prime time (21.00-23.00 น.) เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2006 หรือก่อนที่จะมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP เพียงไม่กี่วัน

จุดสำคัญของสารคดีดังกล่าวนอกจาก จะเน้นอยู่ที่ Junichiro Koizumi แล้วยังได้เชิญ Shinzo Abe Taro Aso และ Sadakazu Tanigaki ผู้สมัครลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP มาร่วมแสดงความคิดเห็นในรายการ ซึ่งแม้ว่ารูปแบบการดำเนินรายการจะมิได้เป็นไปในลักษณะของการ debate ที่เผ็ดร้อน แต่ช่วงของการถามตอบคำถามและความคิดเห็นผู้สมัครทั้ง 3 ราย ได้เปิดเผยให้เห็นทัศนะและแนวโน้มของทิศทางทางการเมืองในช่วงนับจากนี้ได้ดี โดยเฉพาะกรณีความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ ซึ่งถือเป็น hot issue ที่มีการเน้นย้ำในรายการเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ช่วงปลายของรายการพิเศษ ดังกล่าวได้รวบรวมภาพเหตุการณ์สำคัญของ Koizumi บนเวทีการเมืองอย่างหลากหลาย โดยมีภาพของ Koizumi ในอิริยาบถกำลังยืนร่ำไห้ขณะชมนิทรรศการว่าด้วยภารกิจของนักบินในฝูงบิน Kamikaze ภายใน Yushukan ซึ่งเป็น war museum ภายในบริเวณของ Yasukuni เผยแพร่ออกอากาศด้วย

กรณีดังกล่าว นอกจากจะเปิดเผยให้เห็นความเป็นสามัญของ Koizumi ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งแล้ว ยังเป็นการทอดสะพานแห่งความชอบธรรมเพื่อเชื่อมไปสู่จุดยืนของ Shinzo Abe ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับการเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรค LDP เพื่อสืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีท่าทีสนับสนุนการเยือน Yasukuni มาอย่างต่อเนื่อง

Shinzo Abe เกิดที่เมือง Nagato จังหวัด Yamaguchi (21 กันยายน 1954) จัดเป็นนักการเมืองที่อุดมด้วยสายสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกับนักการเมืองระดับสูงของญี่ปุ่นและ LDP มากที่สุดรายหนึ่ง เพราะนอกจากเขาจะเป็นหลานของ Kan Abe และ เป็นบุตรชายคนที่ของ Shintaro Abe อดีตนักการเมืองระดับนำของพรรค LDP ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (1982-1986) ในรัฐบาลของ Yasuhiro Nakasone แล้ว Shintaro Abe ยังเคยเป็นผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค LDP ก่อนที่จะต้องประสบกับวิบากกรรมจากการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีอื้อฉาว Recruit scandal ก่อนที่จะเสียชีวิตด้วยอาการป่วยในปี 1991

ขณะเดียวกัน สายสัมพันธ์ในฟากฝั่งมารดาของ Shinzo Abe ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เมื่อ Yoko Kishi ผู้เป็นมารดาของเขา เป็นลูกสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี Nobusuke Kishi ซึ่งเป็นพี่ชายของอดีตนายกรัฐมนตรี Eisaku Sato จึงนับได้ว่า Shinzo Abe เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับสูงของ LDP จากทั้งฝั่งบิดาและมารดาอย่างเข้มข้น

Shinzo Abe สำเร็จการศึกษาด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Seikei ในปี 1977 ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อด้านเดียวกันจาก University of Southern California (USC) และเข้าทำงานในบริษัท Kobe Steel ในปี 1979 กระทั่งในปี 1982 จะผันตัวเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองทั้งในฐานะเลขานุการรัฐมนตรี และที่ปรึกษาของนักการเมืองภายใน พรรค LDP อย่างต่อเนื่อง

เขาก้าวเดินเข้าสู่ถนนการเมืองอย่างเต็มตัวภายหลังจากที่ Shintaro Abe ผู้เป็นบิดาเสียชีวิตลงในปี 1991 โดยในการเลือกตั้ง เมื่อปี 1993 Shinzo Abe ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาประจำเขตการเลือตั้งที่ 1 จังหวัด Yamaguchi ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เป็นประวัติการณ์ของจังหวัด และเติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะสมาชิกพรรค LDP รุ่นใหม่ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะก้าวสู่การเป็นผู้นำพรรคในอนาคต

สังคมญี่ปุ่นเริ่มให้ความสนใจและจับตามองบทบาทของ Shinzo Abe มากยิ่งขึ้นเมื่อเขาได้ร่วมคณะไปกับ Koizumi ในการเข้าร่วมประชุมสุดยอดกับ Kim Jong Il ผู้นำเกาหลีเหนือ ในปี 2002 พร้อมกับกดดัน ให้เกาหลีเหนือปล่อยและส่งมอบชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวให้กลับคืนสู่มาตุภูมิ ซึ่งทำให้ความนิยมของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นด้วย

Shinzo Abe ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเลขา ธิการพรรค LDP ในปี 2003 (21 กันยายน 2003) และลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการนำ LDP พ่ายแพ้การเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในปีต่อมา (27 กันยายน 2004) แต่ Koizumi มิได้ลดบทบาทของ Abe ลงมากนัก ในทางกลับกัน Koizumi แต่งตั้งให้ Abe ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (31 ตุลาคม 2005) ก่อนที่ Abe จะก้าวขึ้นสู่การเป็นประธานพรรคและนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

ผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2006 ซึ่งเป็นประหนึ่ง ของขวัญวันเกิดปีที่ 52 สำหรับ Shinzo Abe ด้วยชัยชนะที่ท่วมท้นมากถึง 464 เสียงจากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง 703 รายเหนือ Taro Aso และ Sadakazu Tanigaki ที่ได้คะแนน 136 และ 102 เสียงตามลำดับ อาจบ่งชี้ความ เป็นปึกแผ่นของกลุ่มผู้สนับสนุน Abe ในระยะต้น แต่นี่ย่อมมิใช่หลักประกันสำหรับเสถียรภาพของรัฐนาวา และบทบาทบนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ Abe จะต้องดำเนิน ในอนาคต

ภารกิจแรกของ Shinzo Abe บนตำแหน่งผู้นำทางการเมืองนอกจากจะอยู่ที่การแสวงหามาตรการเพื่อให้การปฏิรูปสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างไม่ติดขัดแล้ว การแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการ พรรค ประธานคณะกรรมาธิการทั่วไป และประธานคณะกรรมาธิการนโยบายของพรรค LDP ซึ่งถือเป็น 3 ตำแหน่งหลักที่มีความสำคัญไม่น้อย ภายใต้เงื่อนไขที่ Shinzo Abe ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองหลากหลายภายในพรรค

โฉมหน้าการเมืองญี่ปุ่น และความเป็น ไปของ LDP ที่ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นยุคสมัยแห่งการปฏิรูป และ Post-Koizumi จะมีทิศทางเป็นอย่างไร ดูเหมือน Shinzo Abe นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนแรกที่เกิดหลังสงคราม โลกครั้งที่ 2 พร้อมที่จะเริ่มนับหนึ่งและกำกับ การบรรเลงแล้ว

หมายเหตุ : อ่านเพิ่มเติมเรื่อง
Yasukuni & Koizumi นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2548,
Japan Post : แปรรูปเพื่อปฏิรูป นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2548
และ MINSHUTO : DPJ นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2549   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us