|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2549
|
|
กระแสธารแห่งโลกาภิวัตน์ได้พัดพาให้ natto เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปโดยเฉพาะที่ปรากฏอยู่ในเมนูตามร้านอาหารญี่ปุ่นซึ่งกำลังได้รับความนิยมอยู่ในมหานครหลายแห่งทั่วโลก
ยกตัวอย่างเช่น รายงานสกู๊ปพิเศษจากลอนดอนเมื่อเร็วๆ นี้กล่าวถึงปรากฏการณ์ Natto Boom ที่มาแรงแซงหน้าเมนูยอดนิยม เจ้าเก่าอย่าง Sushi ไปด้วยคอนเซ็ปต์ของอาหารญี่ปุ่นราคาถูกแต่มากด้วยคุณค่าทางโภชนาการ
ยิ่งไปกว่านั้นร้านอาหารหลายแห่งยังได้ดัดแปลง natto ให้เข้ากับ lifestyle เจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นอังกฤษ เป็นต้นว่าใช้ natto ทาขนมปังแทนแยม หรือเนย, natto ผสมโยเกิร์ตหรือ natto pizza
สารสำคัญในเส้นใยเหนียวบางสีเงินยวงของ natto ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการหมักถั่วก็คือ poly glutamic acid ซึ่งเป็นสารประกอบธรรมชาติชนิดเดียวกันกับที่พบในอายิโนะโมะโต๊ะทำให้หลายคนหลงใหลรสชาติและกลิ่นเฉพาะตัวของ natto aroma ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคน (แม้กระทั่งคนญี่ปุ่นเอง) ที่ไม่อาจทนกับรูปลักษณ์ที่เป็นเมือกเคลือบอยู่บนเม็ดถั่วและกลิ่นของ Pyrazine ที่มีใน natto ได้
ปัจจุบันมีโรงงานบางแห่งในจังหวัด Kumamoto ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ผลิต natto ที่ไม่มีกลิ่น (หรือมีแต่ไม่รุนแรง) เล็งเป้าหมาย ครอบคลุมไปถึงกลุ่มลูกค้าเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ไม่ชอบ natto
การบริโภค natto ในญี่ปุ่นส่วนมากจะรับประทานกับข้าวญี่ปุ่นเป็นอาหารเช้า นอกจากนี้ยังใช้ประกอบกับอาหารประเภทอื่น เช่น natto sushi, natto ในซุป miso, natto okonomiyaki, natto ผัด, natto สลัดผัก หรือนำไปผ่านขบวนการอบให้แห้งใช้ปรุงรสในขนมขบเคี้ยว แม้กระทั่งในไอศกรีม ซึ่งเมนูเหล่านี้เป็นที่นิยมในแถบคันโต (โตเกียว และปริมณฑล) แถบโทโฮคุ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ไล่ไปจนถึงฮอกไกโดมากกว่าในแถบคันไซ (โอซากาและเมืองโดยรอบ) ซึ่งมีปริมาณการบริโภค natto ทั่วญี่ปุ่นสูงถึง 50,000 ตันต่อปี
natto เป็นอาหารพื้นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน แม้จะไม่มีหลักฐานเป็น ลายลักษณ์อักษร แต่มีการค้นพบเครื่องใช้ในครัวเรือนที่จำเป็นในการผลิต natto ตั้งแต่สมัย Jomon (ประมาณ 3,000 ปีก่อนคริตส์ศักราช) มีหลายทฤษฎีใช้อ้างถึงต้นกำเนิด natto รวมถึงข้อมูลบางแหล่งที่สันนิษฐานว่า natto มาจากประเทศจีน แต่ที่น่าเชื่อถือมากที่สุดในปัจจุบันเห็นจะเป็นทฤษฎีจากบันทึกในสมัยเฮอัน (ค.ศ.794-1185) ที่ชื่อว่า Hachiman Taro Yoshiie Theory
Yoshiie Minamoto ได้นำทัพจากเกียวโตไปรบในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของ ญี่ปุ่น คืนหนึ่งในระหว่างสงคราม Gosannen ปี ค.ศ.1083 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเตรียมเสบียงอยู่นั้น ฝ่ายตรงข้ามได้บุกโจมตีกองทัพของ Yoshiie อย่างกะทันหัน ทหารคนหนึ่งใช้ฟางข้าวห่อถั่วที่จะใช้เป็นอาหารสำหรับม้า ซึ่งเพิ่งต้มสุกพอดีนำไปผูกไว้บนหลังม้าจนกระทั่งเหตุการณ์สงบลงในอีก 2 วันถัดมา เมื่อแกะห่อฟางข้าวออกจึงพบว่าถั่วต้มนั้นถูกหมักด้วยอุณหภูมิร่างกายของม้ากลายเป็น natto โดยบังเอิญ
เมื่อทหารคนนั้นได้ลิ้มลองและเกิดติดใจในรสชาติของ natto ขึ้นมาจึงได้เสนอต่อแม่ทัพ Yoshiie Minamoto ซึ่งก็ชื่นชอบและได้สอนวิธีการทำ natto ให้กับชาวบ้านทุกเมืองตลอดเส้นทางการยกทัพกลับทำให้ natto เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในแถบโทโฮคุและคันโตในเวลาต่อมาและเรียกเส้นทางสายนั้นว่า "Natto Road"
กระบวนการผลิต natto ในปัจจุบันใช้วัตถุดิบสำคัญคือถั่วเหลือง ซึ่งนำมาต้มประมาณ 6 ชั่วโมง หมักกับเชื้อ Bacillus natto (ที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า nattokin ซึ่ง เป็นแบคทีเรียที่เชื่อว่าอยู่ในฟางข้าวและมีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโบราณ) ด้วยอุณหภูมิประมาณ 40ํC นาน 1 วันจากนั้นสามารถแช่เย็นเก็บไว้ได้เป็นเวลาหลายเดือน
ผลวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์ของการบริโภค natto เริ่มปรากฏตั้งแต่ในทศวรรษ 1980 ซึ่งพบว่า natto อุดม ไปด้วยสารชีวภาพหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การหมักโดยใช้เชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ natto มีความแตกต่างจากอาหารถั่วเหลืองหมักชนิดอื่นๆ ซึ่งใช้เชื้อรา ตัวอย่างเช่น เต้าเจี้ยว เป็นต้น
ในกระบวนการหมักนั้น nattokin จะสร้าง Protease enzyme ที่มีชื่อว่า Nattokinase ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดอุบัติการของการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันโดยออกฤทธิ์สลายลิ่มเลือดที่เกาะตัวอยู่ภายในผนังของหลอดเลือด
หลังจากการดูดซึมผ่านกระเพาะอาหารเข้าสู่ร่างกายแล้ว Nattokinase มีความคงตัวอยู่ในกระแสเลือดและออกฤทธิ์ได้ราว 12 ชั่วโมงซึ่งนานพอที่จะป้องกันการเกิดลิ่มเลือดใหม่ภายในหลอดเลือดได้ ดังนั้น การบริโภค natto เป็นประจำเท่ากับเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงต่อการอุดตันของหลอดเลือดและภาวะหัวใจวายได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในปี 1996 มีรายงานข่าวการใช้ natto รักษาโรคท้องร่วงอย่างรุนแรงจากการระบาด ของเชื้อ E. coli สายพันธุ์ O-157 ซึ่งเป็นเชื้อที่ดื้อยาและยาปฏิชีวนะหลายตัวที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผล ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับหลังจากที่แผนกโภชนาการในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเปลี่ยนเมนูเป็นอาหาร natto ซึ่งนอกจากเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีแล้วยังออกฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะช่วยฆ่าเชื้อทำให้เกิดกระแส Natto Boom ขึ้นในญี่ปุ่นจนผลิต natto ไม่ทัน และขาดตลาดไปในระยะเวลาหนึ่ง
นอกจากนี้ natto เป็นแหล่งวิตามิน K ที่ดีซึ่งช่วยในการจับกับแคลเซียมเพื่อนำไปเสริมสร้างกระดูก ด้วยคุณสมบัติทางเภสัช วิทยาดังกล่าว natto จึงเป็นอาหารที่ได้รับการแนะนำสำหรับการป้องกันภาวะกระดูกพรุนโดยเฉพาะในสตรีวัยทอง
ทั้งนี้การบริโภค natto ให้ได้คุณค่าทางอาหารสูงสุดมีวิธีง่ายๆ คือหลังจากนำ natto ออกมาจากตู้เย็นแล้วให้ตอกไข่ดิบลงไปจากนั้นใช้ตะเกียบคนให้เข้ากัน (ในกรณีที่ไม่รับประทานไข่ดิบก็เพียงแค่คน natto เปล่าๆ) ประมาณ 100 ครั้ง แล้วตั้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง 15-20 นาที เพื่อให้ nattokin กลับคืนสู่สภาวะเดิมและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนโดยใช้โปรตีนจากไข่ วิธีนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณ Nattokinase และทำให้ natto มีรสชาติดีขึ้นด้วย
สุดท้ายจึงเติมซีอิ๊วญี่ปุ่นและหรือการาชิที่แถมมาด้วยสำหรับปรุงรสซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เนื่องจากหากลัดขั้นตอนนี้ไปปรุงรสตั้งแต่แรกแล้วความเข้มข้นของเครื่องปรุงดังกล่าวจะทำให้ nattokin บางส่วนตายไปเสียก่อน
จากแนวโน้มของ natto กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนี้ไม่แน่ว่า ในอนาคตอันใกล้อาจจะมี "Natto Bar" ธุรกิจอาหาร natto เพื่อสุขภาพรูปแบบใหม่เกิดขึ้นเหมือนอย่างที่ "Sushi Bar" เคยแจ้งเกิด มาแล้วก็เป็นได้
|
|
|
|
|