Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2549
ส่งลูกเรียนศิลปะกับศิลปินใหญ่ @ Ardel Workshop             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
search resources

Education
Arts and Graphic Design
Ardel Workshop
ถาวร โกอุดมวิทย์




ถ้าวันหยุดที่เป็นเหมือนวันแห่งความสุขของลูก กลายเป็นปัญหาหนักสมองของพ่อแม่หลายคน ด้วยเกรงว่าลูกจะใช้เวลาหมดไปกับเกมคอมพิวเตอร์ ละครโทรทัศน์ เดินเล่นในห้าง หรือสารพันกิจกรรมที่ไม่จรรโลงโลกในวัยเด็กของเขา...ศิลปะอาจเป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับลูกๆ ของคุณ

อาคารสี่หลี่ยมคล้ายกล่องดูเรียบง่ายสบายตา ภายในหมู่บ้านเบลล่าวิวล์ เป็นที่ตั้ง Ardel Workshop ห้องเรียนศิลปะสำหรับเด็กขนาด 80 ตร.ม. ที่มีผู้อำนวยการสร้างคนสำคัญคือ "ถาวร โกอุดมวิทย์" จิตรกรระดับปรมาจารย์ชั้นแนวหน้าของวงการศิลปะบ้านเรา

ทุกบ่าย 2 ของวันเสาร์และอาทิตย์ เสียงบรรเลงของเพลง Mozart แว่วมาจากเวิร์กชอปเป็นดังสัญญาณเข้าเรียน เปลี่ยนห้องทำงานของศิลปินใหญ่เป็นห้องเรียนของศิลปินรุ่นจิ๋วตั้งแต่ 4 ขวบ ถึง 12 ปี บ่อยครั้งที่ผลงานราคาเรือนแสนของ อ.ถาวร ถูกสร้างสรรค์พร้อมกับภาพวาดบูดเบี้ยวของศิลปินจอมยุ่งทั้งหลายภายในห้องนี้

อาจกล่าวได้ว่า ที่นี่เป็นโรงเรียนสอนศิลปะแห่งเดียวที่นำศิลปินเอกมาทำงานร่วมกับเด็ก เพราะนอกจาก อ.ถาวร ที่นี่ยังมี "อ.วิมลมาลย์ ขันธะชวะนะ" สุดยอดศิลปินทางด้านภาพพิมพ์ของเมืองไทยรับบทเป็นครูใหญ่ และอาจารย์และนักศึกษาศิลปะจากมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกหลายคนมาร่วมสอนเหล่าจอมแก่น

"ที่นี่ไม่ได้สอนวาดเขียน ไม่ได้ฝึกให้เขาเป็นช่างวาดรูป แต่เรากำลังสอนศิลปะ ฝึกให้เขาเป็นคนที่สนใจ เข้าใจ และกล้าแสดงออกทางศิลปะอย่างมีคุณค่า ฝึกให้เขาเป็นคนมีรสนิยม และมีสุนทรียภาพ ซึ่งไม่ว่าต่อไปเขาจะเป็นอะไร มันน่าจะเป็นสาระสำคัญสำหรับชีวิตเขา" อ.ถาวรเกริ่นถึงหลักการสอนของที่นี่

เมื่อพูดถึงศิลปะเด็ก หลายคนคงนึกถึงสีเทียน แต่เชื่อหรือไม่ ศิลปะเด็กที่นี่ประกอบด้วย เกรยอง สีน้ำ สีน้ำมัน สีอะคริลิก ประติมากรรม แสตมป์ วู้ดคัต การพิมพ์ภาพ การประดิษฐ์ ศิลปะบนพื้นที่สามมิติ และอีกสารพัดเทคนิคระดับเดียวกับนักศึกษามหาวิทยาลัย

ขณะที่อุปกรณ์อย่างดีก็เป็นอย่างเดียวกับที่ศิลปินมืออาชีพใช้กัน ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำมันยี่ห้อ "ศิลปากร" สีน้ำ "non-toxic" ดินสอ EE และแท่นพิมพ์เรือนแสนของ อ.ถาวร ฯลฯ

ทั้งนี้เพราะความหมายของการสอนศิลปะเด็กของที่นี่ หมายถึง ความพยายามทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และคุ้นเคยกับทักษะและเทคนิคต่างๆ ทางศิลปะ

"เราให้ใช้เกรยอง สอนวู้ดคัต สอนประดิษฐ์ ทำ "performance" เช่น เอาสีน้ำมันลอยน้ำเคาะให้เกิดการสั่นไหวของสีน้ำมันที่ลอยอยู่บนน้ำแล้วก็พิมพ์ ...เราสอนให้ทำทุกอย่างที่สามารถแสดงออกทางศิลปะได้ ผมว่าในประเทศนี้ไม่มีใครสอนศิลปะเด็กแบบเราอีกแล้ว"

คอนเซ็ปต์หลักในการสอนของที่นี่คือ การขจัดความกลัวและกระตุ้นความกล้าแสดงออกอย่างเต็มที่ บนพื้นฐานความจริงที่ว่า เด็กทุกคนล้วนมีความกล้าแสดงออกในการขีดเขียน แต่ระบบการเรียนการสอนศิลปะบ้านเราต่างหาก ที่สร้างความกลัว ความไม่มั่นใจให้กับเด็ก ด้วยการตีกรอบแล้วบอกให้เด็กอย่าระบายออกนอกกรอบ และยังบังคับให้วิ่งลู่เดียวกันหมด

"เคยเห็นไหม รูปภูเขาโค้งๆ แล้วมีพระอาทิตย์ตรงกลาง ต้นไม้เป็นแท่งแล้วมีกลมๆ ที่ปลายดอกไม้กลมๆ แล้วมีหยักๆ... เด็กเขียนรูปแนวเดียวกันหมด เพราะเราไปบอกว่ามันต้องเป็นอย่างนี้เป็นอย่างนั้น ไปตัดสินถูกผิด ไปปิดกั้นจินตนาการของเด็ก ซึ่งจริงๆ แล้วศิลปะไม่มีผิดถูก เราต้องให้อิสระเขาเต็มที่"

ขณะที่พ่อแม่บางคนอาจสงสัยกับความสวยงามของภาพ "ไดโนเสาร์หน้าเหลี่ยม" และ "ต้นไม้ทรงหนามทุเรียน" หรือภาพสีน้ำที่ถูกระบายออกนอกกรอบของลูกตัวเอง แต่คุณครูที่นี่ไม่ลังเลที่จะชื่นชมกับภาพเหล่านั้น หรือช่วยแนะให้เด็กแต่งแต้มเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ภาพที่ดีกว่า เพราะนี่คือวิถีทางกระตุ้นความมั่นใจในการแสดงออกซึ่งจินตนาการของเด็กๆ

ผลจากการสอนศิลปะเช่นนี้ไม่เพียงส่งผลต่อความมั่นใจในเส้นสายหรือสีสันที่ลงบนแผ่นกระดาษ แต่ยังนำไปสู่ความกล้าของเด็กในการนำเสนอผลงานหรือแรงบันดาลใจอีกด้วย

การแสดงออกทางศิลปะยังช่วยพัฒนาความมั่นใจ และเปลี่ยนแปลงบุคลิกของเด็กได้ด้วย เช่น จากเดิมที่เป็นเด็กขี้อาย ก็กลายเป็นเด็กที่พูดจาฉาดฉานและกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

"สิ่งที่เขาได้ก็คือเขากล้าแสดงออก ความคิดเขาก็เป็นอีกระดับหนึ่ง อย่างแต่ก่อน พอบอกอะไรแม้จะไม่เห็นด้วยแต่เขาก็จะรับฟัง แต่พอเรียนที่นี่สัก 2 คอร์ส บอกอะไรมีเถียงกลับตามเหตุผลของเขาเอง" คุณพ่อน้องพริม ศิลปินตัวน้อยหน้าตาจิ้มลิ้มในวัยเพียง 6 ขวบ ยืนยัน

ที่นี่การสอนทุกคลาสจะมีเป้าหมายระบุและแจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่า วันนั้นลูกจะได้เรียนรู้อะไร เช่น เรียนรู้แม่สีและการผสมสี ธรรมชาติของสีน้ำ ความแตกต่างระหว่างศิลปะ 2 มิติ และ 3 มิติ การใช้จินตนาการเมื่อมองเห็นวัตถุรอบตัว การใช้กิ่งไผ่สร้างเส้น รูปทรงและน้ำหนัก การออกแบบในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

ทั้งนี้ในห้องเรียนเดียวกัน หลายครั้งที่นักเรียนตัวน้อยได้เรียนเรื่องเดียวกันในรูปแบบที่แตกต่าง ขึ้นกับทักษะและสิ่งที่เด็กแต่ละคนเคยเรียนผ่านมาแล้ว นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทุกคลาสมีนักเรียนไม่เกิน 20 คน

"เวลาสอนศิลปะเด็ก มันเหมือนมีพลังงานบางอย่างตลอดเวลา พลังงานที่ว่าก็คือความสนใจ ความอยากรู้ ความกระตือรือร้น ที่เราไม่อาจละเลยต่อพลังงานที่ดีงามนี้ เพราะอาจทำให้ความสนใจของเขาตรงนี้ไม่มีวันกลับมาอีกเลยก็ได้ ผมว่า สอนเด็ก 10 คนในห้องเรียนนี้ อาจเหนื่อยกว่าพูดบรรยายให้เด็ก 200 คนฟัง" อ.ถาวรตอบคำถามที่ว่า สอนศิลปะเด็กยากหรือไม่?

คำตอบข้างต้นยังเป็นเหตุผลว่า ทำไม Ardel ไม่ใช้ชื่อ "ถาวร โกอุดมวิทย์" ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี เพื่อการประชาสัมพันธ์โรงเรียนอย่างกว้างขวาง นั่นก็เพราะเกรงว่า ถ้ามีเด็กสมัครเรียนเยอะอาจไม่สามารถคุมมาตรฐานการตอบสนองต่อ "พลังเด็ก" ได้ดีเท่าที่ควร

Art Camp ช่วงปิดเทอมเกิดขึ้นเพื่อขยายจำนวนคลาสเรียน อันเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กที่ไม่ได้เรียนคอร์สปกติ ซึ่งเปิดสอนในบ่ายวันเสาร์และอาทิตย์ได้มาเรียน ถึงวันนี้มีเด็กมาเรียนแล้วราว 70 คน และเด็กหลายคนยังเรียนต่อมาเรื่อยๆ ซึ่งคอร์สแรกเริ่มต้นเมื่อปลายเมษายนที่ผ่านมา

คล้ายพ่อแม่ส่วนใหญ่ที่ส่งลูกมาเรียนศิลปะก็เพื่อสนับสนุน ความชอบขีดเขียนของลูก คุณพ่อน้องพริมบอกถึงความคาดหวัง ที่ส่งน้องพริมมาเรียนศิลปะที่นี่ว่า "เพื่อเพิ่มอารมณ์สุนทรีย์ให้เขา อยากให้จิตใจเขางดงาม เวลามองอะไรจะได้เห็นความสวยงาม และอยากให้เขารู้ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินแล้วศิลปะจึงจะสวย"

ขณะที่พ่อแม่บางคนที่มีลูกไฮเปอร์ไม่ค่อยอยู่นิ่ง ก็หวังจะให้ศิลปะทำให้ลูกมีสมาธิมากขึ้น จากเดิมที่ขยับทุก 5 นาที ก็เพิ่มเป็นสัก 15-20 นาที ส่วนพ่อแม่บางคนที่มีลูกชายหัวดื้อก็หวังเพียงจะแยกลูกออกจากเกมคอมพิวเตอร์ ...แม้เหตุผลจะแตกต่าง แต่ทุกคนเชื่อมั่นว่าศิลปะจะช่วยเสริมพัฒนาการวัยเด็ก ของลูกได้

"เด็กที่ได้เรียนรู้ศิลปะจะละเมียดละไม เพราะศิลปะช่วยให้เด็กรู้จักคิดอย่างละเอียดอ่อน ยกตัวอย่าง ถ้ามองแก้ว เขาจะไม่ได้เห็นแค่น้ำหรือแก้ว แต่จะรู้สึกไปถึงความเย็นและความชุ่มฉ่ำด้วยมโนทัศน์... แต่ถ้าเด็กไม่เคยได้เรียนรู้ศิลปะ สุนทรียภาพที่จะเกิดขึ้นในทุกย่างก้าวของชีวิตก็จะไม่มี"

อีกสิ่งที่ อ.ถาวรย้ำกับผู้ปกครองเสมอ คือ การเรียนศิลปะควรปล่อยให้เป็นความสนใจของเด็กเอง และไม่ควรมุ่งเน้นให้เด็กต้องเป็นศิลปิน เพราะอาจทำให้เด็กเข้าไม่ถึงคุณค่าและสุนทรียภาพของศิลปะอย่างแท้จริง

"ผมสอนศิลปะในมหาวิทยาลัยกว่า 20 ปี รู้ว่าคุณค่าของศิลปะอยู่ตรงไหน มันไม่ได้อยู่ที่ผลงาน แต่อยู่ที่ข้างใน (เอานิ้วชี้ที่หัวใจ) การเรียนศิลปะเป็นทฤษฎีทางจิตนิยม ไม่ใช่วัตถุนิยม เราไม่ต้องการชิ้นงานที่เป็นศิลปะในขณะที่เด็กยังไม่มีความรู้สึกแต่สังคม สอนศิลปะบ้านเรามักมองแต่สสารที่ได้ และตัดสินว่ามันสวยหรือไม่ สำหรับเด็กศิลปะก็จบลงตรงนั้น"

นอกจาก Ardel Workshop พื้นที่ผืนเดียวกันนี้ยังมีอาคารหลังใหญ่อีกแห่งเป็นที่ตั้งของ Ardel Gallery of Modern Art หอศิลป์สมัยใหม่จัดแสดงผลงานของศิลปินทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ ในบรรยากาศสบายๆ ที่เปิดให้ชมฟรี โดยจัดแสดงงานของ อ.ถาวร เป็นการประเดิม

เงินลงทุนกว่า 10 ล้านบาท ถูกใช้เนรมิตพื้นที่กว่า 700 ตร.ม. ผืนนี้ให้กลายเป็น "พื้นที่อุดมคติเล็กๆ ในทางศิลปะ" ที่ที่คนทั่วไปจะมีโอกาสเข้าใกล้และเข้าถึงสุนทรียภาพทางศิลปะ

"อย่างคุณเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เขาอาจจะสร้างวัด (ร่องขุ่น) เป็นพื้นที่อุดมคติ ส่วนผมก็อยากทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นพื้นที่ที่เมื่อทุกคนเข้ามาจะมีความสุข ได้เห็นสิ่งสวยงาม ทุกอย่างในนี้ ผมจึงค่อนข้างเลือกสรรเพื่อจัดให้เป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์ด้วยสุนทรียภาพ"

แง่ธุรกิจ ถ้า อ.ถาวรเอาเวลาไปวาดภาพ เพียง 1 ภาพ ในเวลาไม่กี่วันก็จะได้เงินเฉลี่ย แสนห้าบาท ขณะที่ต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าที่โรงเรียนสอนศิลปะแห่งนี้จะได้กำไรสุทธิมากเท่านั้น

"สิ่งที่เราพยายามทำก็คือ ใช้ศักยภาพและความแข็งแรงของเราเพื่อให้พื้นที่ตรงนี้เติบโต อย่างน้อยมันจะกลายเป็นแบบอย่าง และเราก็อยากให้คนที่ทำโรงเรียนสอนศิลปะมาดูรูปแบบนี้ แล้วถ้าเชื่อมั่นก็เอาแนวคิดไปทำได้เลย เพื่อที่จะได้เกิดพื้นที่อย่างนี้มากๆ จนเป็นสังคมศิลปะในที่สุด"

ปัจจุบัน นอกจากห้องเรียนศิลปะสำหรับเด็ก ที่นี่ยังเปิดสอนศิลปะสำหรับผู้ใหญ่ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองของเด็กที่เรียนที่นี่ โดยหวังจะเห็น Ardel กลายเป็นสถานที่พักผ่อนในวันหยุดของหลายๆ ครอบครัว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us