|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2549
|
|
หากอยากเข้าใจถึงความยากลำบากของทีมผู้บริหาร เอเจเอฟ ซึ่งเข้ามารับช่วงงานแก้ปัญหาจากทีมก่อน น่าจะต้องฟังจากปาก 2 ผู้บริหารอย่างอาสา อินทรวิชัย ในฐานะคนเก่าที่เคยทำงานอยู่ที่เอเจเอฟ และฉัตรรพี ตันติเฉลิม อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กรุงศรีอยุธยา ที่ต้องย้ายค่ายเข้ามานั่งเป็นกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใน บลจ.เอเจเอฟ เมื่อปลายปีก่อน
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังอาสาเริ่มเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายการลงทุนตราสารหนี้ เขาได้เคยเปรยกับฉัตรรพี ตันติเฉลิม ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการฯ และประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุน ถึงความยากลำบากในการกลับเข้ามาแก้ของเสียให้กลับกลายมาเป็นของดี
"อย่างที่ผมบอกพี่ๆ ที่เข้ามาตอนแรก 2 คน และสุดท้ายก็ผมมาเป็นคนที่ 4 นี่ว่าจะเข้ามาปรับพอร์ตใหม่ในทุกกองหุ้น มันก็ไม่ได้ยากอะไรเลย เพราะหุ้นมันจะดีเลวชั่วร้ายยังไง เอาไปขายในตลาดหุ้นมันก็ยังขายได้จะ 1.50 บาทหรือ 25 สตางค์ก็มีคนเอา นึกออกไหม หรือในขณะที่หุ้นแย่อย่างตกลงจาก 40 บาท เหลือ 20 บาท สำหรับบางคน 20 บาท นี้หุ้นยังไงมันก็มีราคา คนก็คิดว่า 20 บาท มันก็ดีแล้ว เมื่อคิดถึงเงินปันผลที่เขาจะได้ในอนาคต
แต่ตราสารหนี้มันยากกว่าตั้งไม่รู้กี่เท่า เพราะอะไรรู้หรือเปล่า เพราะตราสารหนี้เวลามันไม่ดีมันจะไม่ดีสำหรับทุกคน มัน one-way เลย หุ้น concern คือไม่มีการเติบโตของรายได้ ตราสารหนี้ concern คือลูกหนี้ไม่สามารถใช้หนี้ได้ ถ้าข่าวมันออกมากับตราสารหนี้ว่ามันจะใช้หนี้ไม่ได้ จะ To SCBAM (บลจ.ไทยพาณิชย์) จะ To AJF หรือจะ to K Assets มันก็ใช้หนี้ไม่ได้ มันก็ไม่มีใครเอาหรอกครับ สิ่งที่ได้ประทานมาให้จากทีมที่แล้วน่ะ มันคือจุดด้อยของเราเลย หากให้ผมพูดตรงๆ นะ NAV จาก 80,000-90,000 ล้านบาท ลงมาเหลือ 30,000 ล้านบาท มันเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นที่มันตอบได้เลยนะ ผมก็ไม่รู้จะไปพูดยังไง เพราะก็ไม่อยากจะไปพาดพิงเยอะ มันไม่ได้เริ่มจากศูนย์แต่มันเริ่มจากติดลบนะทีมใหม่" อาสาระบาย
ด้านฉัตรรพี ซึ่งแม้จะสงวนทีท่าในการแสดงความรู้สึกแบบตรงๆ แต่ก็ยอมรับอย่างไม่อ้อมค้อมในทำนองที่ว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะดึงให้ลูกค้ากลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว แต่พวกเขาพยายามที่จะทำงานกันอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ผลงานของเอเจเอฟในระยะยาว รวมทั้งพยายามอธิบายและเปิดเผยข้อมูลแก่ลูกค้าให้ได้มากเท่าที่จะทำได้
"ยากฮะ มันไม่ง่ายเลย ซึ่งเราพยายามที่จะทำให้ลูกค้ากลับมาทุกวัน แต่ความคาดหวังว่าจะให้กลับมาเท่าไร มันขึ้นอยู่กับลูกค้า มีเหมือนกันที่ลูกค้าบางคนพอเห็นผลงานที่ดีขึ้นของเราก็ตัดสินใจกลับมาเลย แต่ที่ยังไม่แน่ใจว่าที่มันดีขึ้นตอนนี้ มันจะดีได้นานจริงๆ หรือเปล่านั้นก็มี บางคนก็บอกว่าจะขอรอดูอีก 3 เดือน บางคนก็ขอ 6 เดือน บางคนก็ขอ 1 ปี
เราเข้ามาเราก็รู้ว่าเรามีข้อด้อยในเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุน เราต้องทำให้ดี เราต้องอธิบายให้เขาฟังว่ารูปแบบของเราเปลี่ยนไปแล้วนะ เราพยายามจะเปิดข้อมูลซึ่งไม่เป็นความลับทางธุรกิจให้ลูกค้าเราดูได้มากเท่าที่เราจะทำได้
การเรียกความเชื่อมั่นผมคิดว่ามันยังต้องใช้เวลา ค่อยๆ ทำกันไป ซึ่งเราอาจต้องทำงานหนัก เพราะมีคนมาถามเราเยอะ และก็ต้องอธิบายเยอะเหมือนกัน เราคงต้องสื่อสารกับลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ให้มากขึ้น แต่เราก็ทำผลประกอบการของกองทุนที่เขาเคยทำกันไว้ในสมัยโน้นให้มันดีขึ้นมาได้แล้วในตอนนี้" ประธานกรรมการบริหาร เอเจเอฟกล่าว
สำหรับการมาแก้ไขปัญหาในกองทุนตราสารหนี้ภาคเอกชนของอาสานั้นพอจะกล่าวให้เห็นเป็นภาพได้ว่า หากเป็นการแก้ปัญหาตราสารหนี้ของบริษัทที่มีปัญหาเพียงเรื่องสภาพคล่องระยะสั้น เพิ่มเติมอีกเล็กน้อยเพื่อใช้ทำธุรกิจ แต่ไม่ได้มีปัญหาเครดิตความน่าเชื่อถือในตัวกิจการ และเอเจเอฟยังไม่มีความกังวลเรื่องการชำระหนี้แล้ว ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะเข้ามาช่วยอัดฉีดเสริมสภาพคล่องระยะสั้นเพื่อให้กลับไปธุรกิจที่จะมีรายได้เพียงพอมาชำระคืนหนี้ให้เอเจเอฟได้ในอนาคต
ขณะที่บางบริษัทอาจไม่ได้มีปัญหาสภาพคล่องหรือปัญหาในการหารายได้ และยังสามารถชำระหนี้ให้เอเจเอฟได้ตามปกติ แต่อาจติดปัญหาที่ว่าได้เอาสินทรัพย์ อย่างเช่น โรงพยาบาล มาวางค้ำประกันการออกหุ้นกู้กับเอเจเอฟ และหากมีปัญหาไม่ยอมชำระหนี้คืนแล้วเอเจเอฟจะเข้ายึดสินทรัพย์นั้นโดยทันที
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านมาได้พอสมควรและธุรกิจกลุ่มนี้ได้ชำระหนี้เรื่อยมา มูลหนี้จึงลดลงต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่เคยเอามาวางไว้เป็นหลักประกัน และกิจการก็เริ่มมีความจำเป็นที่จะต้องขยายงาน แต่ยังไม่อาจหาเงินทั้งก้อนเพื่อไถ่สินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันนี้ออกจากเอเจเอฟ เพื่อนำไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อในสถาบันการเงินแห่งอื่นๆ ได้ เอเจเอฟจะทำหน้าที่ตัวกลางประสานให้ผู้บริหารธุรกิจนั้นๆ ได้เข้าหารือกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา รวมถึงธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ และบริษัทหลักทรัพย์ที่เอเจเอฟสามารถจะขอความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างและให้เงินกู้เพิ่มเติมเพื่อให้บริษัทเหล่านี้มีเงินพอมาปลดหลักประกันนี้ออกจากเอเจเอฟ และยังมีสินเชื่อเหลือพอที่จะขยายกิจการต่อไปได้
"ตอนนั้นหากไม่ได้ความแข็งแกร่งจากแบงก์กรุงศรีฯ แล้วเอเจเอฟก็แย่เหมือนกัน ตอนนี้บริษัทไหนที่จ่ายหนี้ให้เราจนหมดแล้ว ผมก็ปลดชื่อเขาออกจากกิจการที่เอเจเอฟจะเข้าลงทุนทันที เพราะผมคงจะไม่เข้าไปอีก และพวกเราก็ไม่เอาแล้ว" อาสากล่าว
ทั้งนี้ในเดือนกันยายน 2548 กองทุนเปิดอยุธยาตราสารเงิน หรือ AJFCASH ของเอเจเอฟ เคยเป็นประหนึ่งหน้าตาของ บลจ. แห่งนี้ จากที่เป็นกองทุนภายในประเทศกองแรกที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเทศไทย ซึ่งให้เรตความน่าเชื่อถือไว้ที่ AA (tha) พร้อมกับจัดระดับความผันผวนของกองทุนไว้ที่ v1 (tha) เพื่อสะท้อนเกณฑ์คุณภาพที่ดีมาก เมื่อเทียบกับกองทุนอื่นๆ ในเรื่องทรัพย์สินที่ลงทุน การกระจายความเสี่ยงการจัดสรรการลงทุน รวมถึงการทำหน้าที่ดีในการดูแลภาพรวมการลงทุนของคณะกรรมการการลงทุน
จนมาถึงเดือนสิงหาคมของปีนี้ ฟิตช์ เรตติ้งฯ ได้ประกาศเพิ่มเรตติ้งความน่าเชื่อถือในกองทุนนี้ใหม่อีกครั้ง โดยปรับขึ้นไปอยู่ที่ AAA (tha) แต่ยังคงระดับความผันผวนไว้ที่ V1 (tha)
แม้กองทุนตราสารหนี้บางกองของเอเจเอฟ จะเริ่มปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่ด้วยเหตุที่ความนิยมของนักลงทุนโดยส่วนใหญ่ยังเน้นยังกองทุนปิดระยะสั้นมากกว่าที่จะเลือกลงทุนในกองทุนเปิดระยะยาว จากที่เป็นกองทุนที่ทำความเข้าใจได้ไม่ยากสำหรับตัวผู้ลงทุน แต่ในแง่ผู้บริหารจัดการกองทุนแล้วกองทุนปิดระยะสั้นนี้ ไม่อาจใช้พิสูจน์ฝีมือของผู้บริหารจัดการกองทุนได้อย่างแท้จริงเมื่อเทียบกองทุนเปิดระยะยาว ซึ่งวิธีการบริหารจัดการจะมีความคล่องตัวกว่าในภาวะที่คนกำลังเชื่อมั่นกันว่าอัตราดอกเบี้ยกำลังจะหักหัวลงในเร็ววันนี้แล้ว
"ตอนนี้คนหันมาเล่นตราสารกองเปิด 3 เดือน 6 เดือน แต่หากคิดว่าดอกเบี้ยมันจะลงอีก แต่มันเป็นกองทุนปิด 3 เดือนไปผมก็ไปทำอะไรกับมันไม่ได้ และมันก็ไม่ได้วัดความสามารถของผู้จัดการกองทุนว่าใครเก่งใครไม่เก่ง แต่กองเปิดมันวัดได้ เพราะหากเป็นกองทุนเปิดแล้วผมคิดว่าดอกเบี้ยมันจะลง ผมก็ต้องเลือกลงทุนใน bond ที่มีอายุยาวๆ ได้ พอลงไปจนถึงจุดที่เราคิดว่ามันลงมาแรงพอสมควรแล้ว เราก็ขายออกแล้วก็รอดู มันก็จะเป็นผลตอบแทนส่วนเกินให้กับกองทุนเปิด แต่กองทุนเปิดก็ต้องดูให้ชัดอีกว่าเป็นเปิดแบบ money market อายุสั้นๆ เหมือนเงินฝาก หรือเปิดแบบที่ให้ fund manager เลือกลงยาวได้ เพราะว่าหากไปเลือกลงเปิดแบบที่สามารถลงยาวได้ แต่เลือกลงผิดเวลาก็อาจทำให้กองทุนติดลบได้" อาสาทิ้งท้าย
|
|
|
|
|