Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2549
GPS in car             
โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

   
search resources

เจริญโภคภัณฑ์อาหาร, บมจ.
Pet & Animal
วิโรจน์ คัมภีระ




เมื่อเริ่มแรกที่เจริญโภคภัณฑ์อาหารเลือกใช้อุปกรณ์ระบุพิกัดหรือระบุตำแหน่งผ่านดาวเทียมในรถขนส่งอาหารสัตว์ที่ทำหน้าที่รับส่งอาหารสัตว์จากโรงงานผลิตไปยังฟาร์มในเครือนั้น เพียงเพราะว่าจะแก้ปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าอย่าง "อุบัติเหตุ" ที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละอาทิตย์เพียงเท่านั้น

สายเข้าโทรศัพท์มือถือของวิโรจน์ คัมภีระ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ซึ่งนอกจากจะดูแลโรงงานผลิตอาหารสัตว์บกแล้ว ยังต้องรับผิดชอบเรื่องการขนส่ง ซึ่งประกอบด้วยคาราวานรถไซโลเกือบ 100 คันด้วย มักไม่พ้นการรายงานข่าวการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และเสียชีวิตของทั้งพนักงานและคู่กรณี

"พี่ครับ งวดนี้มีตายอีกแล้วครับ พี่ครับ เที่ยวนี้มีบาดเจ็บสาหัส 3 คนเลยครับพี่ บางทีก็ 4-5 ทุ่มโทรฯ มาหาผมตลอด เราก็ได้แต่คิดว่าทำไมเรามาดูรถแล้วเหนื่อยและยุ่งยากกว่าการดูโรงงานเสียอีก" นี่คือคำพูดที่เปรยออกมาของวิโรจน์ เมื่อหลายปีที่แล้ว

รถขนส่งของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของ ซี.พี.ทั้งหมดทั่วประเทศ 11 โรงงาน ต้องเสียค่าเคลมประกันชีวิตกับคู่กรณีจากอุบัติเหตุถึงปีละกว่า 3 ล้านบาท ไม่นับรวมการหยุดทำงานของพนักงาน พักรถเพื่อซ่อมในอู่เฉลี่ยเดือนละหลายคัน

ยิ่งธรรมชาติของคนขับรถสิบล้อของไทย อย่างที่วิโรจน์บอกคือ มักแวะกลับบ้านหรือแวะกลางทางขากลับหลังจากส่งอาหารเสร็จ ซึ่งตีรถเปล่ากลับมาเสมอ ทำให้หลายครั้งคาดเดาไม่ได้ว่าเส้นทางไหนคือเส้นทางที่คนขับใช้ขับกลับมาโรงงาน

ปี 2546 วิโรจน์ตัดสินใจขอเข้ารับชมและดูงานในบริษัทที่มีลักษณะการขนส่งคล้ายคลึงกัน เพื่อหวังจะได้เป็นแนวทางในการดูแลระบบการขนส่งรถขนอาหารของตนต่อไป

"ผมให้พนักงานไปหาตัวอย่างจากบริษัทใหญ่ๆ ที่มีลักษณะการขนส่งคล้ายคลึงกัน ว่าเขาทำอย่างไรในการดูแลรถของเขา และพบว่ามีบริษัทน้ำมัน ที่บรรทุกน้ำมันไป และขากลับบรรทุกถังเปล่ากลับ เหมือนเราทุกประการที่ขาไปบรรทุกอาหารสัตว์ไป แต่ขากลับมีแต่ถังเปล่ากลับมา เราก็ไปดูว่าเขาบริหารจัดการคนขับและรถขนส่งน้ำมันของเขาอย่างไร จึงขอเข้าไปดูงานทั้ง เชลล์ เอสโซ่ ปตท. และคาลเท็กซ์ และก็พบว่าบริษัทน้ำมันเหล่านี้ใช้ระบบระบุตำแหน่งจากดาวเทียมหรืออุปกรณ์จีพีเอสในการติดตามรถยนต์ ตอนแรกเราก็คิดว่า มันจะช่วยได้หรือ แค่ติดกล่องสีดำเข้าไปในรถยนต์ จะเอาคนขับรถอยู่หรือ แต่เมื่อเห็นข้อมูลของบริษัทเหล่านั้นก็พบว่ามันใช้ได้จริงๆ" วิโรจน์กล่าว

ทุกวันนี้รถในระบบขนส่งของเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหารทั้งหมด ทั้งรถขนส่งอาหารสัตว์หรือไซโล รถช่างซ่อมบำรุง และรถประจำโรงงานล้วนแล้วแต่ได้รับการติดอุปกรณ์จีพีเอสเอาไว้ในรถแทบทั้งสิ้น เพื่อจุดประสงค์หลักอย่างการควบคุมการใช้รถ ป้องกันอุบัติเหตุ และผลพลอยได้อย่างการประหยัดค่าใช้จ่ายในหลายๆ ด้าน

รถหนึ่งคันจะติดอุปกรณ์สี่ชิ้นเอาไว้ ทำหน้าที่รับสัญญาณดาวเทียมเพื่อระบุตำแหน่งของรถ เก็บข้อมูลในกล่องดำ และตัวส่งสัญญาณข้อมูลให้กับโรงงาน และในเวลาเดียวกันอุปกรณ์เหล่านั้นยังพ่วงเอาเซ็นเซอร์วัดระดับการใช้งานรถแบบต่างๆ เอาไว้อีก 10 ตัวด้วยกัน ตั้งแต่ตรวจจับความเร็ว ควบคุมเส้นทาง ตั้งแต่เซ็นเซอร์ที่ติดอยู่ที่ไฟเลี้ยวซ้าย, ไฟเลี้ยวขวา, เบรก, ไฟหลัง, ที่ปัดน้ำฝน, ระดับน้ำมัน, เกียร์ไฮดรอลิก, ไฟฉุกเฉิน หรือไฟผ่าหมาก, สตาร์ตเครื่อง และไมล์วัดระยะการใช้งานรถ

รถไซโลที่ติดอุปกรณ์ดังกล่าวเอาไว้จะถูกควบคุมความเร็วเอาไว้ โดยสามารถวิ่งได้ที่ความเร็ว 80 กม.ต่อชั่วโมง เมื่อพนักงานขับรถขับเกิน 90 กม.ต่อชั่วโมง สัญญาณเตือนในรถจะดังขึ้นในห้องพนักงานขับรถตลอดเวลา เป็นการบังคับให้ต้องชะลอความเร็วไปในตัว ไม่นับรวมผลพลอยได้ที่ได้จากการควบคุมความเร็วดังกล่าวก็คือ การลดการใช้น้ำมันของรถในกลุ่มบริษัท วิโรจน์บอกว่า หากคนขับรถขับช้านั่นหมายถึงการประหยัดน้ำมันไปในตัว การไม่ออกนอกเส้นทางก็ประหยัดน้ำมันเช่นเดียวกัน ตัวอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ติดไว้จะบอกไว้แม้กระทั่งการสตาร์ตเครื่อง การดับเครื่อง การจอดนิ่ง การเลี้ยว การเบรก การเรียกใช้ที่ปัดน้ำฝน และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งใช้เป็นตัววัดพฤติกรรมการใช้งานรถของพนักงานขับรถได้ทั้งสิ้น

หลายครั้งบริษัทตรวจสอบได้ว่า น้ำมันหายไปได้อย่างไร อาหารสัตว์ที่บรรทุกไปน้ำหนักขาดหายไปหรือไม่ โดยเทียบจากข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์เหล่านั้น

"พนักงานขับรถ วันที่ ตำแหน่งสถานที่อยู่ เครื่องยนต์ ทั้งเร่งเครื่อง จอดเครื่อง อีกทั้งยังมีกราฟแสดงการใช้รถ เช่น การวิ่ง 80 กม.ต่อชั่วโมง ซึ่งบางครั้งโรงงานกำหนดให้วิ่งเกินได้ แต่ไม่เกิน 90 กม.ต่อชั่วโมง โดยเฉพาะกรณีของการแซงรถ แต่สามารถบันทึกได้ว่าวิ่งแซงใช้เวลานานเท่าใด และแซงช่วงระยะเวลาใด ไฟเลี้ยว ไฟหน้า หรือที่ปัดน้ำฝนใช้ได้ดีในกรณีของการเกิดอุบัติเหตุ เช่นเกิดอุบัติเหตุในช่วงฝนตกหรือไม่" วิโรจน์ให้ภาพของความสามารถในการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าว

ปีนี้บริษัทแห่งนี้เพิ่งจะจ่ายเงินค่าประกันจากเหตุการณ์อุบัติเหตุเพียง 3 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งลดลงเหลือเพียง 1 ใน 10 ของที่เคยจ่าย และอุบัติเหตุที่ประสบ ก็เป็นอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ เช่นมีการชนท้าย หรือรถประสบอุบัติเหตุเองในฟาร์มเนื่องจากถนนในฟาร์ม ขณะที่สภาพรถของโรงงานกลับดีขึ้น แผนที่ดิจิตอลของระบบจีพีเอสยังช่วยบอกได้ว่าเส้นทางไหนในการขับขนส่งลำเลียงอาหารสัตว์นั้นดีและเหมาะสมที่สุด เช่นขึ้นเขาน้อย ใช้น้ำมันน้อย รถน้อย ประหยัดมากที่สุด ทำให้การควบคุมค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันได้ดีขึ้น

สามปีให้หลัง ในวันนี้จีพีเอสของเจริญโภคภัณฑ์อาหารทำหน้าที่แตกต่างออกไป ไม่เพียงแต่แก้ปัญหาอุบัติเหตุเท่านั้น แต่เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรยิ่งขึ้น

บริษัทตัดสินใจพัฒนาระบบจีพีเอสที่มีอยู่ให้สามารถใช้งานหรือเรียกดูข้อมูลการเคลื่อนที่ของรถทั้งหมดในโรงงานแบบเรียลไทม์หรือออนไลน์ได้

อุปกรณ์ซึ่งใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มเข้าไปในระบบ จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลการใช้รถทั้งหมดมายังหน้าร้านของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เพื่อให้พนักงานหน้าร้าน โรงงานเรียกดูข้อมูลได้ว่า รถขนส่งหรือลำเลียงอยู่ตรงไหนของพื้นที่ และจะเข้ามาถึงโรงงานหรือยัง เพื่อแจ้งให้พนักงานห้องผลิตได้ทราบและจัดเตรียมอาหารสัตว์ไว้รอรถคันดังกล่าว เพื่อให้กระบวนการในการขนส่งรวดเร็วยิ่งขึ้น

แม้เพิ่งจะเริ่มทดสอบระบบการทำงานได้เพียง 1 เดือน โดยเริ่มทดลองที่โรงงานในโคกตูมเป็นที่แรก เป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 20 คัน ทั้งรถไซโล หรือพนักงานก่อสร้าง แต่ก็เป็นไปได้ว่าท้ายที่สุดรถทั้งหมดของบริษัทจะเข้าสู่ระบบออนไลน์ในไม่ช้านี้

เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหารทำให้เห็นว่าระบบจีพีเอสไม่ใช่แค่ติดตามรถว่าอยู่ที่ไหน แต่สิ่งนี้กลับเป็นทางออกที่จะช่วยตอบโจทย์ให้กับองค์กรที่ต้องมีการขนส่งสินค้าแบบนี้ได้ว่า คุณจะประหยัดและควบคุมค่าใช้จ่ายในองค์กร ลดปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานคุณได้อย่างไรต่างหาก   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us