|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2549
|
|
เคยคิดบ้างไหมว่า น้ำมันเหลือทิ้งจากการทอดไก่จะใช้เติมรถยนต์ได้? เคยคิดบ้างไหมว่า หากคุณเปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติจะช่วยให้คุณประหยัดได้ในระยะยาว? เคยคิดบ้างไหมว่าไฟฟ้าในตอนกลางคืนนั้น ถูกกว่ากลางวัน? คุณอาจจะคิดไม่ถึง แต่นี่คือสิ่งที่บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหารรู้และลงมือทำไปแล้ว
น้ำมันทอดไก่ใส่กรดกำมะถัน ผสมด้วยกรดไฮโดรคลอริกหรือกรดเกลือ เติมน้ำส้มสายชู นำไปผ่านกระบวนการแยกเอากลีเซอรีนออก จะได้ผลคงเหลือเป็นน้ำมัน หลังจากนั้นนำไปผ่านการล้างน้ำ ด้วยการใส่น้ำเข้าไป และแยกน้ำกับน้ำมันออกจากกัน สุดท้ายน้ำมันทอดไก่จะกลายเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งใช้ในการเติมกับรถยนต์เพื่อการขับเคลื่อนได้เช่นเดียวกันกับน้ำมันดีเซลปกติ
นี่คือไอเดียการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลที่กลุ่มอาหารสัตว์บก บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กำลังเริ่มนำมาใช้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของตนเองเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา และคาดว่าจะสามารถนำน้ำมันเหลือใช้จากการทอดไก่ของโรงงานในเครือทั้งหมด มาใช้ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้
เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว โรงงานอาหารสัตว์ในลำพูนของบริษัท ในเครือริเริ่มใช้น้ำมันทอดแคบหมูในท้องถิ่นมาทดลองผ่านกระบวนการดังกล่าว จนได้น้ำมันไบโอดีเซลและใช้กับรถยกรถตักในโรงงานทั้งหมด และเมื่อทดสอบว่าใช้งานได้ เครื่องยนต์ไม่สึกหรอหรือต้องบำรุงรักษาเครื่องกันมากมาย บริษัทก็ไม่รีรอที่จะเริ่มทำการผลิตแบบจริงจัง โดยเปลี่ยนมาใช้น้ำมันทอดไก่ที่เกิดจากโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ของบริษัทในเครือทั้งหมดแทนน้ำมันทอดแคบหมู โดยเริ่มใช้ในโรงงานในเขตพื้นที่บางนา กม.21 ก่อน
นอกจากนี้ ซี.พี.อาหารยังเตรียมทดลองใช้น้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันทอดไก่จากโรงงานโชคชัย มาทำไบโอดีเซลใช้กับรถไซโลขนส่งอาหารสัตว์ที่โรงงานในเขตอำเภอปักธงชัย ขณะที่น้ำมันทอดไก่จากโรงงานในแก่งคอยจะใช้ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลให้กับโรงงานในโคกตูม สระบุรี และน้ำมันทอดไก่จากโรงงานในมีนบุรีจะใช้ในการผลิตไบโอดีเซล เพื่อป้อนให้กับรถไซโลของโรงงานใน กม.7 และหวังจะใช้น้ำมันเหลือใช้จากการทอดไก่ทั้งหมด ซึ่งมีมากถึง 200 ตัน หรือประมาณ 200,000 ลิตรต่อเดือน มาผลิตเป็นไบโอดีเซล ทดแทนดีเซลปกติทั้งหมดภายในสิ้นปีอย่างที่ตั้งใจเอาไว้
วิโรจน์ คัมภีระ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) คำนวณต้นทุนในการทำไบโอดีเซลจากน้ำมันทอดไก่ให้ "ผู้จัดการ" ฟังคร่าวๆ ระหว่างการนัดพบกับเขา ณ โรงงานปักธงชัย โรงงานต้นแบบอีกแห่งหนึ่ง ที่กำลังจะเริ่มใช้น้ำมันทอดไก่เติมในรถขนส่งอาหารสัตว์ทั้งหมดกว่า 14 คันในเร็ววันนี้ว่า
"ต้นทุนการผลิตจริงๆ อยู่ที่ลิตรละ 20 บาท เราซื้อน้ำมันทอดไก่จากโรงงานของ ซี.พี.เองลิตรละ 14 บาท และเสียค่าใช้จ่ายในการผ่านกระบวนการจนมาเป็นไบโอดีเซลอีก 5 บาท ขณะที่น้ำมันดีเซลปัจจุบันราคาลิตรละประมาณ 27-28 บาท และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเร็ววันนี้ หากนับง่ายๆ เราใช้น้ำมันประมาณ 4,500 ลิตร เฉพาะโรงงานปักธงชัยอย่างเดียวที่มีรถไซโลถึง 14 คัน นั่นเท่ากับว่าเราใช้น้ำมันมากถึง 63,000 ลิตรต่อเดือน และจะประหยัดค่าน้ำมันได้เกือบครึ่งล้านบาทต่อเดือนเลยทีเดียว"
วิโรจน์เป็นหนึ่งในผู้บริหารของ ซี.พี.อาหารที่ต้องยอมรับว่าเป็นจักรกลสำคัญที่ผลักดันให้โครงการประหยัดน้ำมัน หรือประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหารนั้นเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เพียงแค่การทำเพื่อสนองนโยบายระยะสั้นและฉลองความสำเร็จแล้วหยุดไป อย่างที่เขาบอกว่าไม่มีให้เห็นในบริษัทแห่งนี้
นอกเหนือจากวิโรจน์และผู้บริหารสำคัญคนอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเต็มที่แล้ว เครือเจริญโภคภัณฑ์เองยังมี "ทีมงานพลังงาน" เป็นของตัวเอง
ทีมพลังงานที่ว่าจะใช้เวลาทำงานแทบทั้งหมดที่มีอยู่ในการคิดว่าจะประหยัดพลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน ในหน่วยงานทั้งหมดในเครือได้อย่างไรบ้าง ก่อนประเมินผลและทดลองใช้กับสถานที่ที่เหมาะสม และสนับสนุนหรือขยายไปใช้ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่รวมกับทีมขนส่ง ที่ทำหน้าที่ประเมินและหามาตรการในการประหยัดค่าขนส่งให้กับบริษัทในเครือซึ่งถือเป็นต้นทุนอันดับสองรองจากต้นทุนการผลิตของบริษัทเลยทีเดียว
โรงงานอาหารสัตว์ในเครือเพิ่งตัดสินใจสั่งซื้อตัวถังรถขนส่งอาหารสัตว์หรือไซโลทั้งลูกมาจากสหรัฐอเมริกา หลังจากพบว่าถังแบบใหม่ที่ทำจากอะลูมิเนียมเทียบกับของเดิมที่เป็นเหล็ก น้ำหนักเบากว่า และส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มจำนวนการจุหรือขนส่งอาหารสัตว์ต่อเที่ยวได้มากขึ้น
แม้ราคาตัวถังจะแพงเกือบเท่ากับการซื้อรถใหม่หนึ่งคัน แต่เมื่อเทียบกับความคุ้มค่าในเรื่องปริมาณการขนส่งที่มากขึ้น นั่นย่อมเท่ากับว่าเป็นการลงทุนที่เห็นผลอย่างชัดเจนด้วยในเวลาอันใกล้
ไม่รวมถึงการสั่งติดตั้งถังก๊าซธรรมชาติหรือ NGV ไว้กับตัวรถขนอาหารสัตว์ในโรงงานเขตหนองแค เพื่อเป็นการทดสอบการใช้พลังงานทดแทนอย่าง NGV แทนการใช้น้ำมันดีเซล เพราะเมื่อพิจารณาเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ซี.พี.พบว่าการติดตั้งถังไปกว่าครึ่งล้านจะกลับมาคืนทุนได้เพียง 17 เดือนเท่านั้น
หรือแม้แต่การเร่งเครื่องเดินหน้าเครื่องจักรในโรงงานช่วงกลางคืนอย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมขายในช่วงกลางวัน เพราะค่าไฟฟ้าต่อยูนิตต่างกันเกือบเท่าตัว ไปจนถึงเลือกใช้วัสดุทดแทนในการเผาไหม้หรือทำไอน้ำจากน้ำมันเตาหรือแก๊สมาเป็นเกร็ดยูคาลิปตัส ซังข้าวโพดและกะลาปาล์ม และอื่นๆ อีกมาย
ปีที่ผ่านมาเจริญโภคภัณฑ์อาหาร และบริษัทในเครือซี.พี.เพิ่งผ่านพ้นการฉลองความสำเร็จในการประหยัดพลังงาน ได้กว่า 2,000 ล้านบาท นับเป็นของขวัญผูกโบชิ้นสำคัญกับแนวคิดการทำงานของผู้บริหารและทีมพลังงานของบริษัท
หนึ่งปีให้หลังนับจากนี้ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าน้ำมันทอดไก่ที่ใช้เติมรถยนต์ของ ซี.พี.จะช่วยให้ที่นี่ประหยัดเงินไปอีกเท่าไร... แค่น้ำมันทอดไก่ก็กลายเป็นเงินได้... ใครจะคิด
|
|
|
|
|