
เงินกู้รายวัน อาจเคยเป็นที่พึ่งทางการเงินของชาวบ้านร้านตลาดส่วนใหญ่ในไทย การบุกตลาดเปิดสาขาในแหล่งชุมชนรายย่อยของ Citiloan คือการเจาะเข้าไปตรงกลางไข่แดงของฐานลูกค้ารายย่อยที่เป็นรากหญ้าโดยตรง
ในประเทศไทยอาจมีสถาบันการเงินเพียงไม่กี่แห่ง ที่จะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ ในฐานะผู้เล่นในตลาด ที่สามารถเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายลูกค้าเงินกู้ ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกระดับอย่างซิตี้แบงก์ ธนาคารชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา
แต่ชื่อเสียงอีกด้านที่โด่งดังไม่แพ้กันคือ ซิตี้แบงก์เป็นธนาคารในระดับสากลที่มีเครือข่ายทั่วโลก มีเทคโนโลยีก้าวหน้าที่นำมาใช้สนับสนุนการให้บริการ และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาสินค้าการเงินเฉพาะด้าน
แถมด้วยบุคลากรที่มีความสามารถบริหารจัดการธุรกิจทั้งในภาวะปกติและในยามวิกฤติ หรือจะเป็นความภาคภูมิใจของกลุ่ม ในฐานะที่พวกเขาเป็นสาขาโรงเรียนสำหรับนักธนาคารและนักการเงินในแต่ละท้องถิ่นที่ซิตี้กรุ๊ปเข้าไปทำธุรกิจ ซึ่งพร้อมจะส่งเสริมการเรียนรู้และสนับสนุนพัฒนาการ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทางอาชีพให้แก่พนักงานประจำสาขาท้องถิ่นทุกคนที่มีศักยภาพ และซิตี้กรุ๊ปก็พร้อมจะโปรโมตโดยไม่แบ่งแยกชนชั้นและอายุ
อย่าง วีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล ซึ่งหลังร่วมงานกับซิตี้แบงก์สาขาเมืองไทยมาได้ 5 ปี ก็ได้รับโปรโมตให้ไปดำรงตำแหน่ง Securities Country Manager ซิตี้แบงก์ ประจำฮ่องกงและจีน เป็นเวลาถึง 3 ปี ก่อนที่ซิตี้แบงก์ประเทศไทยจะดึงตัวกลับเพื่อให้รับตำแหน่ง Vice President Cash, Trade, Treasury Service & Global Securities Service Head ซิตี้แบงก์ ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญ ในฐานะผู้ดูแลธุรกิจบริหารเงินสด เทรดไฟแนนซ์ และหลักทรัพย์ เมื่อปลายปี 2548
สำหรับการทำธุรกิจของซิตี้กรุ๊ปในไทยนั้น อดีตคนไทยอาจเคยคุ้นกับภาพซิตี้แบงก์ในฐานะผู้นำในการให้บริการสินเชื่อ บัตรเครดิต ซึ่งมีกลุ่มลูกค้ากว้างใหญ่ในตลาดมากมายยิ่งกว่าสถาบันการเงินแห่งอื่น ทั้งที่มีสาขาเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย จากก้าวเข้าไปเจาะตลาดเปิดตัวให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าทั้งในระดับบน และคนระดับกลางซึ่งเป็นพนักงานกินเงินเดือนประจำ
จนเมื่อปีเศษๆ มานี้ ซิตี้กรุ๊ปจึงได้ออกสินค้าตัวใหม่ในไทย เพื่อมุ่งเจาะฐานตลาดกลุ่มคนระดับรากหญ้า อันเป็นประชากรที่อยู่ในฐานล่างของพีระมิด จนทำให้คนกลุ่มนี้เริ่มมีโอกาสเข้ามาเป็นลูกค้าในธุรกิจของซิตี้กรุ๊ป นามว่า "สินเชื่อซิตี้โลน" ซึ่งเป็นการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลรายย่อย ที่แตกแขนงออกมาจากสินเชื่อกลุ่มเช่าซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรแก่ลูกค้าที่เป็นบริษัท และเช่าซื้อรถยนต์แก่ลูกค้ารายย่อย อันเป็น ธุรกิจในความดูแลของบริษัท ซิตี้คอร์ป ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด อีกหนึ่งกิจการในเครือซิตี้กรุ๊ป ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2530
หากจะหยิบยกตัวอย่างบุคลากรทั่วโลกจากซิตี้แบงก์ที่มีความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินมาใช้เป็นต้นแบบนำไปประยุกต์ใช้ได้ในตลาดที่กว้างระดับโลกภายในกลุ่มแล้ว เงินกู้ซิตี้โลนน่าจะเข้าข่าย
ในขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) ได้กลายเป็นโมเดลที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้กับสาขาในประเทศต่างๆ ของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กรุ๊ปนั้น สินเชื่อซิตี้โลนจากค่ายซิตี้กรุ๊ปในไทย ก็ถือเป็นสินเชื่อที่ถูกประยุกต์ขึ้นจากเงินกู้ขนาดเล็กจิ๋ว ซึ่งพัฒนาโดยซิตี้กรุ๊ปสาขาประเทศอินเดียมานานหลายปีแล้ว
จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจ non-bank สามารถยื่นขอใบอนุญาตเพื่อทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ต้องอยู่ในการกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ ซิตี้กรุ๊ปสาขาประเทศไทยจึงได้โอกาสที่จะนำรูปแบบการให้บริการจากอินเดียเข้ามาปรับให้ลงตัวกับความต้องการเงินกู้ของกลุ่มรากหญ้าในเมืองไทย ซึ่งยังไม่มีสถาบันการเงินใดแสดงความสนใจในบริการเงินกู้เบี้ยหัวแตกแบบนี้
โดยคอนเซ็ปต์แต่เดิมของอินเดีย สินเชื่อซิตี้โลนนี้มีไว้เพื่อเสนอบริการทางการเงินแบบครอบคลุมในทุกกลุ่มของผู้ที่มีรายได้ต่ำตั้งแต่พอประมาณ ไปจนถึงกลุ่มที่มีรายได้ต่ำอย่างที่สุด ซึ่งดีมานด์เหล่านี้มีอยู่ท่วมตลาดโดยไม่ต้องลงแรงกระตุ้นมาก โดยไล่จากกลุ่มผู้มีอาชีพอิสระ อย่างช่างรับซ่อมรองเท้าที่มีเพียงโต๊ะตัวเล็กๆ ตั้งคอยบริการแก่ผู้ที่สัญจรผ่านไป-มาบนทางเดินท้องถนน หรือกลุ่มพ่อค้าแม่ขายซึ่งมีแผงร้านค้าอยู่ตามตลาดสด และกลุ่มคนทำงานกินเงินเดือนเล็กน้อยแค่พอประทังชีวิตเดือนละไม่กี่พันบาท
เมื่อมองกลับมายังโลเกชั่น ที่ตั้งสาขาซิตี้โลนในเมืองไทยแล้ว จะพบว่ามีความสอดคล้องตามแนวทางสินเชื่อภารตะคอนเซ็ปต์นี้อยู่ค่อนข้างมาก เพราะยุทธศาสตร์การตั้งสาขาเน้นเปิดตัวบนถนนใหญ่ย่านชุมชนใกล้ตลาด โดยกระจายอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กลุ่มเป้าหมายพวกพ่อค้าแม่ขายเมืองไทย ที่พฤติกรรมในอดีตอาจมีความคุ้นเคยกับการกู้ยืมเงินนอกระบบ โดยอาศัยบริการแบบประชิดติดหน้าแผงจากเจ้าหนี้เงินกู้รายวัน ซึ่งต้องคอยตระเวนเดินบริการปล่อยเงินกู้ เก็บดอก เก็บต้น และทวงหนี้เป็นประจำอยู่แล้วในแต่ละวัน
แม้ซิตี้โลนจะประยุกต์มาจากสินเชื่อขนาดจิ๋วของแดนโรตี แต่สไตล์การทำธุรกิจนี้ก็ยังคงเน้นท่วงท่าเนิบนาบเติบโตช้าๆ แต่มั่นคง และต้องให้บริการที่ตรงตัวเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างไม่กระโตกกระตาก ตามแบบฉบับ non-bank ที่มาจากฝั่งตะวันตก
ในแง่การทำตลาด สินเชื่อซิตี้โลนไม่มีภาพตื่นเต้นหวือหวาออกมาให้เห็นดังเช่นการทำตลาดที่สุดแสนครึกโครมจาก non-bank ค่ายอื่นๆ ที่มีในไทย ไม่ว่าจะเป็นอิออน, อีซี่บาย, เคทีซี หรือแคปิตอล โอเค ซึ่งใช้กลยุทธ์เชิงรุกมุ่งหวังผลเชิงปริมาณ ตามแบบอย่าง non-bank ฝั่งญี่ปุ่น ซึ่งอิออนได้นำเข้ามาวางไว้เป็นต้นแบบในเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน
ขนาดฐานสินเชื่อของซิตี้โลนหลังเปิดตัวมาได้ปีเศษๆ จากการใช้สูตรสำเร็จทางการตลาดที่อาศัยเงื่อนไขกำหนดรายได้ขั้นต่ำสำหรับผู้ขอสินเชื่อไว้ที่ตั้งแต่ 4,000-7,000 บาทต่อเดือนนั้น จึงอาจดูว่ายังไม่ใหญ่มากนัก เพราะยอดสินเชื่อรวมยังไม่แตะถึงหลัก 5,000 ล้านบาทในปัจจุบัน
หากมองในแง่อัตราการเติบโตของสินเชื่อโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อเดือนแล้ว ก็ถือว่าซิตี้โลนทำผลงานได้ไม่น้อย คือเติบโตได้อย่างไม่มีตก 10% ต่อเดือนโดยเฉลี่ย แต่ก็ยังถือว่าเล็กกว่ามากเมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลบนพื้นฐานตัวเลขที่เคยประมาณกันไว้ว่าคนไทยที่มีรายได้ระหว่าง 4,000-7,000 บาทต่อเดือนนั้น มีอยู่สูงถึงกว่า 90%
ซิตี้โลนจึงยังมีโอกาสอีกมากในการก้าวให้ลึกเข้าไปในตลาดนี้
ขณะที่การเปลี่ยนเชิงพฤติกรรมใช้จ่ายและสไตล์การใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้ ที่แม้จะมีรายได้เพียงเล็กน้อยในแต่ละเดือน แต่ยังไงก็เลิกไม่ได้กับพฤติกรรมกู้เงิน มาเป็นทุนจับจ่ายซื้อหาข้าวของสนองความต้องการส่วนตัวที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ผสมกับนโยบายรัฐบาลก่อน ที่ต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มรากหญ้า ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อแผนการรุกขยายสินเชื่อค่ายซิตี้โลนได้เป็นอย่างดี เพราะซิตี้โลนตั้งใจไว้ว่าในระยะยาวจะกระจายสาขาบริการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เป้าหมายทั่วไทย ซึ่งมีจำนวนมากมายถึง 100 แห่ง จากปัจจุบันที่เปิดมาได้เพียงแค่ไม่กี่สิบสาขาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ด้วยความที่เป็น non-bank ซึ่งเคลื่อนทัพมาจากฝั่งตะวันตก มาตรการป้องกันภัยความเสี่ยงจากการเกิดหนี้เสียของซิตี้โลน จึงถูกจัดวางไว้เป็นอย่างเข้มงวด ตามรายงานตัวเลขหนี้เสียของซิตี้โลนที่ส่งถึงธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า ตัวเลขหนี้เสียมีปรากฏให้เห็นเพียงแค่ไม่ถึง 1%
แต่ระบบติดตามทวงหนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการป้องกันความเสี่ยงของซิตี้โลน กลับดูเหมือนว่ากำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเวลานี้ จากคนในแวดวงกลุ่มลูกหนี้ที่ถูกตามทวงหนี้แบบถึงลูกถึงคนของเจ้าหน้าที่บริษัทเทรด คอลเลกชั่น จำกัด ที่เข้ามารับจ้างติดตามทวงหนี้ทั่วราชอาณาจักรให้กับซิตี้โลน
ปริมาณความเดือดร้อนในประเด็นการถูกติดตามทวงหนี้จากลูกหนี้ซิตี้โลนที่ได้พากันเข้ามา post ข้อความบนเว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (www.consumerthai.org) เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์คับแค้นใจจากการเป็นลูกหนี้ non-bank ค่ายนี้ ดูเหมือนจะมีมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับลูกหนี้ non-bank ค่ายอื่นๆ
|