|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2549
|
|
การไปประจำที่สาขาสิงคโปร์ของอารยา ภู่พานิช นั้น ไม่ได้มีเพียงกระเป๋าเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของเธอติดตัวไปแต่เพียงอย่างเดียว แต่เธอยังได้นำโมเดลสินเชื่อส่วนบุคคลจากประเทศไทย ออกไปใช้เป็นต้นแบบประยุกต์ให้กลายเป็นสินค้าที่ใช้ได้อย่างลงตัวตามสาขาในอีกหลายประเทศที่สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กรุ๊ป เข้าไปทำธุรกิจอยู่
เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อารยาได้ถือโอกาสพักร้อนในเมืองไทย แต่การกลับมาครั้งนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงแค่นั้น แต่เธอยังต้องเข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารระดับสูงในสแตนดาร์ด ชาร์ดเตอร์ด เพื่อบอกเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของเธอจากสิงคโปร์ด้วย
อารยาเล่าถึงสภาพภายในตลาดแต่ละประเทศที่เธอได้สัมผัส ซึ่งในแต่ละแห่งนั้นอาจยังมีความแตกต่างในแง่ระยะการเติบโตที่ไม่เท่ากัน เพราะในบางประเทศอาจมีสินเชื่อบางชนิดที่ขยายตัวเติบโตจนเต็มที่แล้ว เช่นบัตรเครดิต ซึ่งพื้นที่ตลาดขนาดใหญ่สุดของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กรุ๊ป จะรวมกันอยู่ในสิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง
เช่นเดียวกับที่ประเทศไทย ซึ่งขนาดสินเชื่อส่วนบุคคลได้ขยายตัวไปมากมาย จนกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของกลุ่ม จากที่สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) ได้ทุ่มเทสรรพกำลังเข้าช่วงชิงตลาดสินเชื่อบุคคลมาได้เป็นเจ้าแรกๆ ในไทยช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา หลังสแตนดาร์ด ชาร์ดเตอร์ กรุ๊ป ใช้เงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท รับช่วงกิจการธนาคารนครธน ที่มีสาขารวมกันราว 80 แห่ง เข้ามาเป็นเครือข่ายขยายฐานลูกค้ารายย่อย สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต อันเป็นเป้าหมายในการทำธุรกิจใหม่ในไทยของกลุ่ม
สำหรับอารยานั้นอาจกล่าวได้ว่าเธอเป็นหนึ่งในหัวขบวนที่ร่วมลงทำศึกเข้าไปเฉือนตลาดมาเป็นฐานใหม่ให้แก่สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กรุ๊ป ในครั้งนั้นด้วย จนทำให้ฐานลูกค้าเดิมที่มีเพียง 4,000-5,000 ราย ขยายขึ้นมาเป็น 500,000-600,000 ราย ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อถึงวันที่เธอเดินทางออกไปรับตำแหน่งใหม่ที่สิงคโปร์ เมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน
แต่ในปีนี้ สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) กลับต้องมาเสียแชมป์ให้เกาหลี สมาชิกใหม่ในครอบครัว หลังจากที่เมื่อปีก่อนบริษัทแม่ได้ทุ่มทุนก้อนมหึมา ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของกลุ่ม ถึง 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าเทกโอเวอร์กิจการ Korea First Bank ธนาคารที่มีสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 7 ในเกาหลี โดยมีฐานลูกค้ารายย่อยสูงถึง 3.3 ล้านคน ยังไม่นับรวมจำนวนผู้ถือบัตรเครดิตอีก 1.1 ล้านราย
"ในกลุ่มแรกนี้เป็นตลาดที่ mature แล้ว เราอาจจะต้องหา product ใหม่ๆ เข้ามา diversify และยังคงต้องอยู่ในกลุ่ม unsecured lending หรืออย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ ก็อาจต้องการสินค้าที่ complex มากขึ้น ส่วนในไทยซึ่งเป็นตลาดในกลุ่มนี้ด้วยนั้น ในแง่ part ของกลุ่มเราเป็นอันดับ 6-7 แต่ในแง่สินเชื่อบุคคลถือว่าไทยใหญ่เป็นอันดับต้นๆ เราก็ต้องพยายามคิดว่าทำอย่างไรให้เราใหญ่ขึ้น" อารยากล่าว
สำหรับที่สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) ในช่วงเวลานี้ อารยาบอกว่าคงต้องมองหาวิธีขยายฐานลูกค้าออกไปให้ได้ไกลมากกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อีกทั้งอาจค้นหาวิธีลดต้นทุนการให้บริการแก่ลูกค้าธนาคารลงอีก แม้ปัจจุบันต้นทุนตรงนี้อาจไม่ได้แพงมากนักก็ตาม แต่หากปรับลดลงได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า
ด้านตลาดกลุ่มที่ 2 นั้น อารยาบอกว่าเป็นกลุ่มที่กำลังจะเติบโต และมีโอกาสที่จะเติบโตต่อไปได้ โดยตลาดในกลุ่มนี้ที่เธออ้างถึงคือมาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่แม้ธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตจะใหญ่มากก็ตาม แต่ขนาดสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นยังเล็กยิ่งกว่าในเมืองไทย
ส่วนหนึ่งนั้นเธอคาดว่าอาจเป็นเพราะช่วงที่ผ่านมาตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลสิงคโปร์ ยังไม่ได้เป็นตลาดของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมายและการกำกับดูแลจากทางการที่เปิดทางให้ธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ non-bank สามารถให้บริการได้กว้างขวางมากกว่าธนาคาร แต่เมื่อทางการสิงคโปร์ได้แก้กฎหมายใหม่ จึงทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่นั่น เริ่มมีโอกาสที่จะขยายตัวได้มากขึ้นแล้ว
ด้านประเทศกลุ่ม The Middle East ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และเมืองดูไบ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตลาดยุทธศาสตร์ที่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กรุ๊ป จัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 เนื่องจากเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ที่มากขึ้นว่าสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กรุ๊ป จะสามารถเข้าไปขยายตัวที่ตลาดนี้ได้อีกมาก จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ และฐานะการเงินของคนในท้องถิ่น เริ่มมีภาพที่ดีขึ้นมากแล้ว และกำลังอยู่ในกระบวนการพัฒนาที่จวนเจียนจะเข้าสู่ยุคเดียวกับเศรษฐกิจไทยเมื่อย้อนหลังไปเมื่อ 15 ปีก่อน
อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศในตลาด Middle East ได้กลายเป็นแหล่งที่กำลังได้รับการถ่ายทอดต้นแบบการให้บริการสินค้าส่วนบุคคลจากประเทศไทย เพื่อใช้ประยุกต์ขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์การเงินสินเชื่อใหม่ๆ ที่สามารถเปิดตัวให้บริการแก่คนในตลาดได้แล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อ one day cash ที่สามารถอนุมัติเงินกู้ได้ภายในวันเดียว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่อารยาได้เคยพัฒนาขึ้นมาเปิดให้บริการแก่ลูกค้าในไทยก่อนจะย้ายไปประจำสิงคโปร์
"ประเทศอื่นๆ ปกติคือ 2-3 อาทิตย์ ถามว่าเราทำมาจากไหน ตอนอยู่เมืองไทยเราก็ศึกษามาจากลูกค้า สิ่งสำคัญที่ลูกค้าต้องการคือเขาก็จะมีสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น และต้องการใช้เงิน แต่รวดเร็วของเราไม่ได้หมายความว่า จะหย่อนในเรื่องการอนุมัติ แต่เราเปลี่ยนวิธีการทำงานว่าทำอย่างไรให้มันเร็วขึ้น เราก็เอาสิ่งที่ทำสำเร็จในกรุงเทพฯ ไป develop ในบางประเทศ ตอนนี้ที่ดูไบ และก็ UAE ก็เริ่มสามารถอนุมัติและก็ให้เงินเลยภายใน 1 วันได้เหมือนกันที่มาเลเซีย ก็กำลังจะเริ่มทำโดยดูจากกรุงเทพฯ ของเราเป็นหลัก"
ส่วนกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มตลาดที่เป็นโอกาส ซึ่งสแตนดาร์ด ชาร์ดเตอร์ด ยังไม่มีธุรกิจด้านสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิตมากนัก เช่นตลาดในประเทศจีน เป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ที่สแตนดาร์ด ชาร์ดเตอร์ด กรุ๊ป ต้องการเข้าไปเติบโต
ทว่าการจะเข้าไปเจาะตลาดนี้ก็ยังคงติดปัญหาความซับซ้อนในแง่กฎหมายที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจของธนาคารต่างชาติ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันรัฐบาลจีนได้ทำการปรับปรุงกฎหมายไปบ้างแล้ว สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อเข้าไปขยายธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตในตลาดผู้บริโภคจีนได้ทันทีที่กฎหมายเปิดทางให้
แต่กระนั้นก็ตาม สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กรุ๊ป ยังมีโครงการใหญ่ระดับกลุ่มที่ต้องลงมือทำให้เสร็จสิ้นภายในปีหน้า คือการจัดวางระบบการให้บริการที่รวดเร็วยิ่งขึ้นแก่ลูกค้า (Front-Ended System) ซึ่งอารยาบอกว่าจะเป็นโครงการลงทุนที่ทำพร้อมกันในกว่า 20 ประเทศ และไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในแผนโครงการนี้ด้วย
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่ฮ่องกง และใน UAE เป็นลำดับแรก เนื่องจากเป็นประเทศที่ความเสี่ยงด้านความเสียหายจากความผิดพลาดในการทดลองเริ่มต้น run ระบบจะที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เพราะขนาดสินเชื่อส่วนบุคคลยังมีไม่มากอย่างในบางประเทศ เช่น ประเทศไทย ซึ่งในแต่ละเดือน ธนาคารต้อง book บัญชีจำนวนมากมายนับเป็นหมื่นๆ บัญชี
|
|
|
|
|