|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2549
|
|
private banking บริการการเงินแก่ลูกค้ารายบุคคลรายใหญ่ หรือการช่วยลูกค้าผู้ร่ำรวยบริหารจัดการทรัพย์สิน กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชีย
บรรดา private bank ระดับยักษ์ใหญ่ของโลก ต่างพากันฝันหวานถึงอนาคตอันสดใสของธุรกิจนี้ในเอเชีย Citigroup Private Bank ในเครือ Citigroup สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อ้างว่า ครึ่งหนึ่งของอภิมหาเศรษฐีระดับพันล้านในเอเชีย ซึ่งมีจำนวน 88 คน เป็นลูกค้าของตน แม้ว่าสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่แห่งนี้จะเน้นรุกตลาดที่แทบจะยังไม่ถูกแตะต้องมาก่อน อย่างจีนและอินเดีย
ด้าน Credit Suisse และ UBS สองสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ ก็กำลังขยายตัวในเอเชีย
สำหรับ UBS นับเป็น private bank ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนี้ โดยมีทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการเป็นมูลค่าถึง 13.2 ล้านล้านดอลลาร์
UBS คาดว่า ภายในปี 2015 ตลาด private banking ในเอเชียแปซิฟิกจะโตกว่าตลาดยุโรป ขณะที่ Scorpio Partnership บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ private banking ในอังกฤษชี้ว่า ขณะนี้เอเชียแปซิฟิกกำลังเป็นเป้าหมายอันหอมหวานของ private bank ส่วนใหญ่ยังมีช่องว่างสำหรับการเติบโตอีกมาก สำหรับอุตสาหกรรม private banking ในเอเชีย รายงานของ Credit Suisse ในปี 2005 ระบุว่า มีเพียง 1 ใน 5 ของเศรษฐีเอเชียเท่านั้น ที่ใช้บริการ private banking ซึ่งให้บริการการเงินแทบจะครอบจักรวาลแก่ลูกค้ารายบุคคลรายใหญ่ผู้ล่ำซำ ตั้งแต่การลงทุนในหุ้น กองทุนเก็งกำไร private equity จนถึงการให้คำปรึกษาในการลงทุนทุกอย่าง ตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ ไปจนแม้กระทั่งการซื้อเครื่องบินหรือเรือยอชต์สักลำ
เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งของเอเชียแปซิฟิก ทำให้ชนชั้นเศรษฐีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มเป้าหมายของ private banking เพราะบริการการเงินประเภทนี้มุ่งให้บริการทาง การเงินแต่เฉพาะคนรวย ประเภทที่เรียกเป็นศัพท์สแลงที่รู้กันในวงการ private banking ว่า "high-net-worth individuals" (HNWIs) ซึ่งได้แก่ผู้ที่มีสินทรัพย์อย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายงาน World Wealth Report 2006 ซึ่งจัดทำโดย Merrill Lynch ร่วมกับ Capgemini ระบุว่า จำนวนชาวเอเชียที่รวยขึ้นจน ถึงระดับเป็น "เศรษฐีเงินล้าน" หรือ HNWI พุ่งขึ้นถึงระดับ 2.4 ล้านคน ในปีที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 จากปี 2004 ขณะที่คนรวยที่มี สถานภาพ HNWI ในยุโรปในปีเดียวกันนั้น มีจำนวน 2.8 ล้าน หรือเติบโตจากปีก่อนหน้านั้นเพียงร้อยละ 4.5
เอเชียผลิตเศรษฐีเงินล้านที่เรียกว่า HNWI ในอัตราที่เร็วกว่าส่วนอื่นใดในโลก จำนวนเศรษฐีเงินล้านในอินเดียและเกาหลีใต้ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19.3 และ 21.3 ตามลำดับ ขณะที่ HNWI ในอินโดนีเซียและฮ่องกงก็เพิ่มขึ้นขนาดทำลายสถิติด้วยเลขสองหลักเช่นกัน
นอกจากนี้รายงาน World Wealth Report ฉบับเดียวกันยังคาดว่า ทรัพย์สินของบรรดาเศรษฐีเงินล้านในเอเชีย ยังจะเติบโตขึ้นร้อยละ 6.7 ต่อปี จนถึงปี 2010 เทียบกับยุโรป ซึ่งเติบโตเพียงร้อยละ 3.7 ส่วนรายงานของ Merrill Lynch กับ Capgemini ระบุว่า HNWI ในเอเชีย มีทรัพย์สินรวมกันเป็นมูลค่าถึง 7.6 ล้านล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว
อุตสาหกรรม private banking ในขณะนี้ หาใช่มีความหมายแคบๆ เพียงการมีบัญชีลับในธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ หรือการมีที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ช่วยวางแผนควบรวมกิจการและเลี่ยงภาษีอย่างถูกกฎหมาย ให้แก่ลูกค้าเศรษฐี อย่างที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดๆ กัน และธุรกิจ private banking ในปัจจุบัน ก็ไม่ใช่ธุรกิจ ที่จับแค่ตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) อีกต่อไป
แต่ private banking กำลังกลายเป็นธุรกิจที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อผลกำไรของสถาบันการเงิน ดังจะเห็นได้ว่า ร้อยละ 46 ของผลกำไรก่อนหักภาษีของ Credit Suisse ในไตรมาสที่สองของปีนี้ มาจากธุรกิจ private banking
ในขณะที่บริการการเงินแก่ลูกค้ารายย่อย ต้องเน้นที่จำนวนของลูกค้า และต้องให้บริการแก่ลูกค้าที่ไม่ได้เป็นเศรษฐีเป็นจำนวนนับล้านๆ ราย แต่บริการการเงิน ที่เรียกว่า private banking กลับสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่สถาบันการเงิน ด้วยการเสนอบริการการเงินที่หลาก หลายให้แก่ลูกค้าระดับเศรษฐีและมหาเศรษฐี ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าลูกค้ารายย่อยมากนัก
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เจ้าหน้าที่ที่ให้บริการ private banking ซึ่งเรียกว่า private banker คนหนึ่ง อาจจะดูแลลูกค้าระดับเศรษฐีเพียงไม่กี่สิบรายเท่านั้น แต่ลูกค้าแต่ละรายจะใช้บริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนตัวนี้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่การหาทางเสียภาษีให้น้อยที่สุด การสร้างพอร์ตลงทุนในกองทุนเก็งกำไรที่ให้ผลตอบแทนสูงแต่ความเสี่ยงต่ำ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเกิดใหม่ ไปจนถึงการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อการกุศล
ผู้บริหาร Citigroup ในเอเชียและตะวันออกกลางชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเงินกับลูกค้ารายบุคคลรายใหญ่ มีมิติทั้งลึกและกว้าง และความสัมพันธ์นี้อาจจะใกล้ชิดมากกว่าเพียงการให้บริการการเงินส่วนบุคคลตามมาตรฐานทั่วไป อย่างเช่นที่ Citigroup Private Bank และ UBS ถึงกับเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมเรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ ให้แก่บรรดากุลบุตรกุลธิดาของบรรดาลูกค้ามหาเศรษฐีของตน เพื่อเตรียมตัวลูกหลานคนรวยเหล่านี้ให้รู้จักจัดการทรัพย์มรดกของตนในอนาคต หรือให้สามารถรับสืบทอดดูแลธุรกิจและกิจการของครอบครัว
ในอดีต อุตสาหกรรม private banking ไม่เคยสามารถเติบโตในเอเชีย เพราะเศรษฐีชาวเอเชียมักบริหารจัดการทรัพย์สินของตนโดยไม่นิยมใช้มืออาชีพมาช่วย และชอบเก็บทรัพย์สินจำนวนมากในรูปเงินสด หรือเก็บไว้ในบัญชีเงินฝาก หรือในรูปของอสังหาริมทรัพย์
แต่หลังจากที่โลกเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงการพังพินาศของหุ้นไฮเทคในปี 2000 และเหตุวินาศกรรมช็อกโลก "9/11" ในสหรัฐฯ ทำให้บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกต่างลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อหวังจะฟื้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ร่วงต่ำลง จนเหลือเพียงประมาณร้อยละ 1 เท่านั้น หรือต่ำกว่านั้นในญี่ปุ่น
บรรดาเศรษฐีเอเชียจึงต้องมองหาทางเลือกใหม่ในการบริหารจัดการสินทรัพย์ของตน และดูเหมือนว่า เศรษฐีชาวเอเชียจะเป็นคนรวยที่คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุน มากกว่านักลงทุนในที่อื่นใดในโลก ผู้บริหาร HSBC Group Private Banking ชี้ว่า เศรษฐีเอเชียดูจะ "จู้จี้" กับการตัดสินใจลงทุนมากกว่าลูกค้าเศรษฐีในยุโรป และไม่ชอบคอยผลตอบแทนนานๆ
ลักษณะของเศรษฐีเอเชียยังมักจะมีอายุน้อยกว่า และมักจะร่ำรวยขึ้นมาได้ด้วยการสร้างเนื้อสร้างตัวเอง ในขณะที่เศรษฐีในโลกเก่าอย่างยุโรป มักรวยจากการได้รับมรดกตกทอด
เพื่อสนองตอบนิสัยไม่อดทนในการรอคอยผลตอบแทนการลงทุนของเศรษฐีเอเชีย บรรดา private bank จึงต่างคิดค้นและเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของเศรษฐีเอเชีย และหนึ่งในผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เป็นนิยมที่สุดของเศรษฐีเอเชีย ก็คือ การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ประเภทที่ให้ผลตอบแทนหลายชั้น
โดยตราสารประเภทนี้จะรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำเช่นเดียวกับพันธบัตร หรือรับประกันจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำ ในอัตราที่สูงกว่าทรัพย์สินชนิดอื่นๆ เช่น ดัชนีตลาดหุ้นหรือตลาดโภคภัณฑ์ ผู้บริหาร Detusche Bank ในเอเชีย เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทให้ผลตอบแทนหลายชั้นนี้ มีข้อดีสำคัญคือสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ตามใจลูกค้าได้ทุกอย่าง
สถาบันการเงินที่ให้บริการ private banking บางแห่ง ถึงกับเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มิได้ให้เพียงผลตอบแทน แต่ยังให้คุณค่าทางด้านอื่น เช่นความหรูหราและความพิเศษเฉพาะ เพื่อให้สามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้าเศรษฐี ซึ่งมีทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตพรั่งพร้อมอยู่แล้วได้
ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ที่ให้มากกว่าผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน ก็อย่างเช่นกองทุนที่มีชื่อว่า Ultimate Wine Fund ของ Societe Generale Group สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็น กองทุนที่เปิดให้แต่เฉพาะลูกค้าของ private bank ในเอเชียของ SocGen's เท่านั้น ลักษณะของกองทุนนี้จะซื้อและเก็บไวน์ชั้นเลิศที่คัดสรรแล้ว โดยคำแนะนำของผู้เชี่ยว ชาญไวน์และบริษัทประมูลชั้นนำ เมื่อนักลงทุนต้องการจะไถ่ถอนหน่วยลงทุน หลังจากที่ถือไว้อย่างน้อย 1 ปี ก็อาจได้รับผลตอบแทนการลงทุนเป็นไวน์ชั้นเลิศ ซึ่งจะเก็บไว้ดื่มเองหรือขายต่อเอากำไร (หรือขาดทุน) ก็ได้ เงินลงทุนขั้นต่ำในผลิตภัณฑ์ การลงทุนที่ไม่เหมือนใครนี้คือ 300,000 ดอลลาร์
กองทุนดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงการพยายามสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งของบรรดา private bank ในตลาดเอเชีย
Bank Julius Baer หนึ่งใน private bank ที่เก่าแก่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์เชื่อมั่นว่า ความเก่าแก่ของตนเป็นจุดได้เปรียบในการทำธุรกิจในเอเชีย เพราะจับเส้นคนเอเชียถูกว่าชอบความเก่าแก่ ด้วยประวัติความเป็นมาที่ยาวนานถึง 120 ปี ความเป็น "เจ้าเก่า" จึงเป็นจุดขายของ private bank จากสวิตเซอร์แลนด์เจ้านี้
แต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรม private banking ในเอเชียในขณะนี้ กลับไม่ใช่การแย่งลูกค้า หากแต่เป็นการคัดสรรและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่จะทำหน้าที่เป็น private banker ให้แก่ลูกค้าเศรษฐีให้มีจำนวนเพียงพอและมีความเชี่ยวชาญ
UBS แม้จะเป็น private bank ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่กลับมี private banker เพียง 153 คนในเอเชียแปซิฟิกเมื่อ 6 ปีก่อน ก่อนที่จะเพิ่มจำนวนเป็น 600 คน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ทำงานในฮ่องกงและสิงคโปร์
Credit Suisse ระบุว่า private banker ในเอเชียจะแตกต่างจากในยุโรป โดยจะมีอายุน้อยกว่า คือเฉลี่ยเพียง 35 ปีเท่านั้น แต่งานที่ต้องรับผิดชอบกลับซับซ้อนกว่ามากนัก เนื่องจากลูกค้าในเอเชีย มีความต้องการผลิตภัณฑ์การลงทุนในเอเชียที่หลากหลายมาก จึงต้องการ private banker มีความเชี่ยวชาญมากกว่าการทำหน้าที่เป็นเพียงโบรกเกอร์หรือตัวแทนของลูกค้า ในการลงทุนในกองทุนเก็งกำไรหรือตราสารอนุพันธ์ของ private banker อย่างที่เคยเป็นมา กลับไม่เพียงพอเสียแล้วในเอเชีย ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ลูกค้าเรียกร้องผู้ให้บริการที่มีความชำนาญมากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่กลับยังมีฝีมือไม่ถึงพอที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มากขึ้นได้
ปัญหาการขาดแคลน private banker รุนแรงเป็นพิเศษในสิงคโปร์ ซึ่งตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม private banking จนรัฐบาลสิงคโปร์ถึงกับต้องช่วยตั้งโรงเรียนผลิต private banker โดยเฉพาะ เพื่อให้ทันกับความต้องการ
ผลของการที่ private banker เพียงรายเดียว ไม่อาจตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เพียงพอ ทำให้ลูกค้าเอเชียที่หัวใสเปิดบัญชีหลายบัญชี เพื่อบีบให้ private bank แข่งกันเสนอราคาที่ถูกที่สุด ผลที่เกิดขึ้นอีกอย่างคือ ทำให้เงินเดือนของ private banker พุ่งสูงลิ่ว และทำให้เกิดการขโมยตัว private banker จากสถาบันการเงินคู่แข่ง และยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปยัง private bank ขนาดกลาง โดยอาจทำให้ private bank รายที่เล็กกว่า ซึ่งไม่อาจเสนอเงินเดือนสูงๆ แข่งกับ private bank รายใหญ่ได้ อาจต้องหายไปจากตลาด
อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะการเติบโตของอุตสาหกรรม private banking ในเอเชียในขณะนี้ดูเหมือนจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะหลังจากที่ตลาดยักษ์ใหญ่อย่างจีนกับอินเดีย กำลังเริ่มจะเปิดภาคการเงินต้อนรับ private bank จากต่างชาติ
หลังจากเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อ 5 ปี ก่อน ทำให้จีนต้องเริ่มทำให้ตลาดภาคการเงินของตน เปิดกว้างสำหรับ สถาบันการเงินต่างชาติมากขึ้นภายในปี 2007 Citigroup รีบชิงเปิด private bank ในนครเซี่ยงไฮ้ไปแล้วในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็น private bank แห่งแรกในจีน โดยหวังจะดึงดูดลูกค้าเศรษฐี เงินล้านชาวจีนให้ได้มากกว่าใคร โดย Citigroup ประเมินว่า มีเศรษฐี เงินล้านชาวจีนประมาณ 300,000 ราย ที่ยังแทบไม่เคยรับบริการ private banking เลย และคาดการณ์ด้วยว่าจีนจะกลายเป็นตลาด สำหรับธุรกิจ private banking ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียไม่นับญี่ปุ่น
ส่วนอินเดียก็จะเป็นตลาดที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน รายงาน World Wealth Report 2005 ชี้ว่า จำนวนเศรษฐีเงินล้านในอินเดียเติบโตเร็วกว่าจีนถึง 3 เท่าตัว ส่วนทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การจัดการของ private bank มีมูลค่ารวม 3 แสน 7 พันล้านดอลลาร์ และยังเติบโตขึ้นร้อยละ 15 ต่อปี โดยการเติบโตส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในนครบอมเบย์ แต่ Citigroup ก็สนใจที่จะรุกเข้าไปในเมืองสำคัญอื่นๆ ของอินเดีย นอกจาก บอมเบย์ด้วย เช่น กรุงนิวเดลี และเมืองกัลกัตตา
Citigroup ตั้งเป้าว่า ภายใน 3-5 ปีต่อจากนี้จะมีสำนักงาน 100 แห่ง และมี private banker ประมาณ 1,000 คนทั่วอินเดีย เพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 100 คน
แม้ Citigroup ดูเหมือนจะเป็นเสือปืนไวกว่าใครในเอเชีย แต่ Citigroup ซึ่งบริหารจัดการสินทรัพย์ประมาณ 70,000 ล้านดอลลาร์ในเอเชีย และติดหนึ่งในสาม private bank รายใหญ่ที่สุดในเอเชีย ก็ยังครองส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 3-4 เท่านั้น ในตลาดเอเชียขณะนี้ ซึ่งเป็นตลาดที่ยังไม่มี private bank ยักษ์ใหญ่ระดับโลกรายใดเลย ซึ่งนอกเหนือจาก Citigroup ก็ยังมี UBS, Credit Suisse และ HSBC ที่สามารถจะครองตลาดเอเชียได้อย่างเด็ดขาด ยังไม่นับ private bank รายเล็กรายน้อยอื่นๆ อีก เพราะฉะนั้น ศึก private banking ในเอเชีย จึงเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น
|
|
|
|
|