สำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ไตรมาส 2 เอกชนได้รับอนุมัติก่อสร้างอาคารโรงเรือนเพิ่มขึ้น 8.6% เทียบไตรมาสที่ผ่านมา คิดเป็นพื้นที่ 13.42 ล้านตร.ม.ลดลง 21.1% เทียบไตรมาสที่ผ่านมา ระบุโรงเรือนเพื่อที่อยู่อาศัยยังคงมีสัดส่วนสูงพื้นที่รวม 9.60 ล้านตร.ม.แต่กลับลดลงถึง 28.4% ส่วนเพื่อการพาณิชย์ โรงแรม หอพัก และภัตตาคาร มีสัญญาณเป็นบวกเพิ่มขึ้น 28.3 %และ 25.7%
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้รายงานข้อมูลพื้นที่การก่อสร้างไตรมาส 2 ของปี 2549 (เม.ย.-มิ.ย. 49 ) เป็นข้อมูลเฉพาะท้องที่ ในเขตเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เท่านั้น โดยพบว่าในไตรมาส 2 มีเอกชนที่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างใหม่ ต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารและสิ่งก่อสร้างจำนวน 46,127 ราย เป็นผู้ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างอาคารโรงเรือน 39,593 ราย คิดเป็นพื้นที่ 13.42 ล้านตารางเมตร(ตร.ม.) และได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือน 6,534 ราย เป็นสิ่งก่อสร้างประเภทลานจอดรถ ,ท่าเรือ ,สนามกีฬา, ปั๊มน้ำมัน และป้ายโฆษณา ฯลฯ คิดเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 625,093 ตร.ม. และประเภททางระบายน้ำ ถนน รั้ว/กำแพง ฯลฯ คิดเป็นความยาวทั้งสิ้น 574,889 เมตร
สำหรับผู้ที่ได้รับอนุมัติให้ทำการก่อสร้างอาคารโรงเรือนนั้น พบว่า ส่วนใหญ่ 98.1% ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างใหม่ และอีก 1.9% % ได้รับอนุมัติให้ต่อเติมหรือดัดแปลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้ที่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างอาคารโรงเรือนเพิ่มขึ้น 8.6 % แต่มีพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างลดลง 21.1 % เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาของปี 49 และพบว่า จำนวนผู้ที่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้าง ลดลง 13.1 % และมีพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้าง ลดลง 2.8 %
ส่วนของสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนนั้น พบว่า ส่วนใหญ่99.5% ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างใหม่ และ 0.5 % ได้รับอนุมัติให้ต่อเติมหรือดัดแปลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาพบว่า จำนวนผู้ที่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างเพิ่มขึ้น 31.6 %และพื้นที่ ก่อสร้างเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนที่คิดเป็นพื้นที่ (เช่น ลานจอดรถ ท่าเรือ สนามกีฬา ปั๊มน้ำมัน และป้ายโฆษณา) เพิ่มขึ้น 103.3 % พื้นที่ก่อสร้างในส่วนที่คิดเป็นความยาว (เช่น ทางระบายน้ำ ถนน และรั้วกำแพง) เพิ่มขึ้น 5.1 % เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่จำนวนผู้ที่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างลดลง 12.4 % โดยพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มขึ้น 125.9% แต่ความยาวของสิ่งก่อสร้างลดลง 9.0%
เป็นที่น่าสังเกตว่า หากแยกประเภทอาคารโรงเรือนที่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างในไตรมาสที่สองพบว่า ส่วนใหญ่อาคารโรงเรือนเพื่ออยู่อาศัยจะยังคงมีพื้นที่สูงรวม 9.60 ล้านตร.ม. คิดเป็น 71.5% ของสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือนทั้งสิ้น , อาคารโรงเรือนที่ก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์มีพื้นที่รวม 1.95 ล้านตร.ม. หรือคิดเป็น 14.5 % , เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงานมีพื้นที่รวม 1.22 ล้านตร.ม. หรือคิดเป็น 9.1 % ขณะที่การก่อสร้างโรงแรม หอพัก และภัตตาคาร คิดเป็นพื้นที่ 251,906 ตร.ม. (พิจารณาตารางประกอบ)
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 48 พบว่า อาคารโรงเรือนมีพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุมัติให้ ก่อสร้างโดยรวมลดลง 21.1 % และ 2.8 % ตามลำดับ โดยเฉพาะการก่อสร้างเพื่ออยู่อาศัยแม้จะมีพื้นที่ก่อสร้างสูงที่สุด แต่พื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุมัติลดลง 28.4 % เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และลดลง 1.1 % เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสเดียวกันของปี 48
การก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ และโรงแรม หอพักและภัตตาคาร เพิ่มขึ้น 28.3% และ 25.7 % ตามลำดับเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลง 10.9 %และ 6.5 % เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี48
สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนนั้น ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างท่อ/ทางระบายน้ำ ซึ่งมีความยาวรวม 298,573 เมตร หรือ 51.9% เป็นถนนยาว 141,083 เมตร หรือ 24.5% และเป็นประเภทรั้ว/กำแพงยาว 108,877 เมตร หรือ18.9% สำหรับลานจอดรถได้รับอนุมัติให้ก่อสร้าง คิดเป็นพื้นที่ 307,754 ตร.ม.หรือ 49.2% และปั๊มน้ำมันได้รับอนุมัติให้ก่อสร้าง คิดเป็นพื้นที่ 53,440 ตร.ม. หรือ 8.6 %
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า สิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนมีความยาวของสิ่งก่อสร้างที่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้น 5.1 %แต่ลดลง 9.0 %เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี48 ส่วนสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนที่เป็น พื้นที่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันคือเพิ่มขึ้น 103.3 % และ 125.9% ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ตามลำดับ
|