เปิดแล้วสนามบินสุวรรณภูมิ...สนามบินแห่งใหม่ที่โฆษณาว่าเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศที่ใช้เม็ดเงินในการลงทุนทั้งสิ้นกว่า 1.2 แสนล้านบาท หนึ่งในแหล่งหากินใหญ่สุดของนักการเมืองพรรคไทยรักไทย เฉพาะงานนี้ว่ากันว่ามีการ “งาบ” เงินเข้ากระเป๋าวงศ์วานว่านเครือ และพวกพ้องของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ถึง 4.2 หมื่นล้านบาท
บนความยิ่งใหญ่อลังการนี่เองที่เป็นปฐมบทแห่งการ “ฉ้อฉล”ครั้งมโหฬารที่สุดในประเทศไทย เชื่อหรือไม่ว่า โครงการสร้างสนามบินสุวรรณภูมินี้เป็น“อภิมหาโคตรโกง” ตั้งแต่งานประมูลต่างๆ การก่อสร้าง งาน outsource ไม่เว้นแม้แต่ต้นไม้ใบหญ้า
นี่ยังไม่ได้รวมกับโครงการอภิมหาโปรเจ็กต์ ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งมีงบประมาณอีกหลายแสนล้านบาท แต่เฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียว รัฐต้องสูญเงินไปกับการ “ฉ้อฉล” เป็นจำนวนเงินมหาศาล และโครงการแต่ละแห่งที่ถูก “กล่าวหา”ว่ามีความไม่ชอบมาพากล ยังไม่มีหน่วยงานใด “ลงดาบ”หรือตรวจสอบหา “ต้นตอ”เพื่อนำตัวมาลงโทษได้แม้แต่รายเดียว
อาจเป็นเพราะที่ผ่านมานั้นคนในรัฐบาล อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และพรรคพวกกลุ่มก๊วน ยังคงเรืองอำนาจอยู่ ในขณะที่หน่วยงานที่ทำการตรวจสอบการทุจริตอย่าง ปปช.ก็ยังไม่เกิด จะมีแต่ สตง.เท่านั้นที่ยังทำงานอยู่แต่ สตง.ก็ถูก “บล็อก”จนไม่สามารถดำเนินการใดๆได้เลย
เมื่อฟ้าเปลี่ยนสี สิ่งที่ถูก “ซุก”ไว้ใต้พรมกำลังจะถูกเปิดออกมาตีแผ่ให้สาธารณชนคนไทยทั่วประเทศได้รับรู้ถึง “ความฉ้อฉล”ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย
และนี่อาจจะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขอเมืองไทยที่สามารถนำ “คนโกง”ซึ่งมีทั้งนักการเมืองระดับชาติ ข้าราชการระดับสูง เจ้าของบริษัทเอกชน เอกชน มาลงโทษเป็นครั้งแรก รวมๆแล้วกว่า 100 ชีวิตทีเดียว
เปิดแผล 5 โครงการ “อภิมหาโคตรโกง”
อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคปประชาธิปัตย์ ผู้ซึ่งทำหน้าที่ “ตรวจสอบ”การทุจริตคอรัปชั่นในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ จนทำให้เขาเป็นอีกผู้หนึ่งที่รู้ถึงกระบวนการ “ฉ้อฉล”ในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ บอกกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”ว่า โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมินี้ถือว่าเป็นอนุสาวรีย์แห่งการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยโครงการแรกที่ถูกเปิดเผยและตอนนี้กำลังได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นทั้งจาก ปปช.และสตง.เพื่อหาคนผิดมาลงโทษคือ โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดหรือ ซีทีเอ็กซ์ มูลค่า 2,600 ล้านบาท
“โครงการนี้มีการคิดส่วนต่างจากราคาจริงๆที่มีการซื้อขายกันในตลาดถึง 1,200ล้านบาท นี่ก็เป็นที่ชัดเจนว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างเกิดขึ้น เรื่องนี้เชื่อว่า ปปช.และ สตง.จะสามารถหาคนผิดมาลงโทษได้เพราะหลักฐานมันชัดเจนมาก”
โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดสนามบินสุวรรณภูมิ หรือ CTX 9000 อาจจะเป็นโครงการแรกที่ สตง.จะลงดาบแรกในการติดตามตรวจสอบการทุจริตในโครงการของรัฐตามคำสั่งของคณะปฏิรูปฯภายในสิ้นเดือนนี้ โดยมีประเด็นที่น่าสงสัยหลายประการไม่ว่าจะเป็น ส่วนต่างราคาเครื่องซีทีเอ็กซ์ รวมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 17 รายการ ที่แพทริออตขายให้กับไอทีโอ 2,003 ล้านบาท แต่ไอทีโอขายให้กับบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ หรือ บทม.สูงถึง 2,608 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินจริง ทำให้มีส่วนต่างกว่า 600 ล้านบาท และในประเด็นที่ บทม.จ่ายเงินค่างวดให้กับไอทีโอ ทั้งที่ยังไม่มีการรับมอบสินค้า รวมไปถึงการต่อขยายสายพานลำเลียงกระเป๋าเพื่อรองรับผู้โดยสารถึง 45 ล้านคน จากเดิม 31 ล้านคน โดยใช้งบประมาณสูงถึงกว่า 1,700 ล้านบาท
โดยมีผู้เกี่ยวข้องกับโครงการหลายส่วนอาทิ 1.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม (ขณะนั้น) 2. นายวรพจน์ ยศะทัตต์ หรือเสี่ยเช ผู้บริหารบริษัทแพทริออต ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด หรือ CTX 9000 3.นายศรีสุข จันทรางศุ ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) นอกจากนี้ทางการสหรัฐอเมริกายังส่งรายชื่อนักการเมืองและข้าราชการไทยที่อาจพัวพันในเรื่องดังกล่าว 7-8 คนแต่ยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา
“งาบ”ไฟฟ้า 400 Hz –PC AIR
โครงการที่สอง เป็นโครงการการลงทุนให้บริการระบบไฟฟ้า 400 เฮิร์ต และระบบปรับอากาศ PC AIR โดยโครงการนี้ ทอท.ได้เปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูลคัดเลือกถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเปิดประมูลไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 ต่อมา ทอท.ได้มีคำสั่งยกเลิกประมูลไป
จากนั้น ได้เปิดปประมูลใหม่โดยมีการยื่นซองเสนอด้านเทคนิคแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 พร้อมเปิดซองข้อด้านราคาในวันเดียวกัน ปรากฏ ว่าบริษัทแอร์พร์อตลิ้ง ฟาซิลิตี้ จำกัด ซึ่งมีคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคเป็นอันดับสอง เสนอค่าสัมปทานตอบแทนในอัตราร้อยละ 41.05 ของรายได้และบริษัทไทยแอร์พร์อต กราวส์ เซอร์วิสเซส จำกัด(TAGS)มีคะแนนข้อสอบด้านเทคนิคเป็นอันดับ 1 เสนอค่าสัมปทานตอบแทนในอัตราร้อยละ 30 ส่วนบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน)มีคะแนนข้อเสนอทางเทคนิคเพียงร้อยละ 79 ทำให้ไม่ผ่านคุณสมบัติ จึงไม่มีการเปิดซองเสนอด้านราคา
“ข้อสังเกตในโครงการนี้ อยู่ที่กลุ่มผู้ร่วมประมูลมีพฤติกรรมส่อว่าได้มีการกระทำที่เข้าข่ายทุจริตของเจ้าหน้าที่บางคนและมีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เข้าร่วมเสนอราคาในหลายประเด็น รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวและว่า ประเด็นต่างๆที่เราได้ตั้งข้อสังเกตก็คือ ประการแรก เมื่อพิจารณารายละเอียดจากข้อกำหนด TOR ที่ ทอท.กำหนดขึ้น จะสังเกตได้ว่า ทอท.ได้มีการกำหนดคุณสมบัติบางประเด็นซึ่งเป็นสาระของโครงการโดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประมูลในรายของ แอร์พร์อต ฟาซิลิตี้ จำกัด ซึ่งในการประมูลครั้งแรกบริษัทนี้สามารถจัดทำข้อเสนอโครงการ โดยให้มีการทำบันทึกข้อตกลง(MOU)กับบริษัทต่างประเทศคือ บริษัทเอฟ เอ็ม ซี เทคโนโลยี่อิงค์ สหรัฐอเมริกาในลักษณะการร่วมกลุ่มดำเนินการซึ่งสอดคล้องกับรายละเอียดเงื่อนไขใน TOR ก่อนที่ ทอท.จะมีการเปิดจำหน่ายซองประมูลในวันที่ 21 มกราคม2549 จึงชี้ให้เห็นชัดเจนว่าคณะกรรมการพิจารณาที่มีส่วนร่วมในการกำหนด TOR ของ ทอท.มีการเอื้อำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้เข้าร่วมเสนอราคาเป็นการล่วงหน้า
อลงกรณ์ อธิบายข้อสังเกตประการที่สอง ว่ามีการปรับลดเงื่อนไขข้อกำหนด(TOR) โดยไม่ระบุอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อการให้บริการระบบไฟฟ้าแก่อากาศยาน โดยมีการตัดอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าสำรอง(UPS)ที่ต้องติดตั้งเพิ่มเติมออกไป โดย TOR ไม่ได้ระบุข้อความที่ชัดเจน เพียงแต่ระบุว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอต้องลงทุนปรับปรุงอุปกรณ์ไฟฟ้าระบบไฟฟ้า 400 เฮิร์ต ที่ติดตั้งอยู่เดิมและที่ต้องติดตั้งใหม่ให้มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐาน”
“อุปกรณ์ที่ว่านี้มีความจำเป็นที่ต้อลงทุนติดตั้งเพื่อให้ระบบมีความเป็นเสถียรภาพเป็นที่ยอมรับของสายการบิน เงื่อนไขที่ปรากฏมานั้นทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่อการเสนอราคาและค่าตอบแทน ซึ่งความไม่ชัดเจนของ TOR ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้น”
สำหรับข้อสังเกตประการที่สาม อลงกรณ์ บอกว่า มีการกำหนดวงเงินหลักประกันซองที่ต่ำมาก ซึ่งในการประมูลพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการทั้งสองครั้ง ทอท.กำหนดวงเงินหลักประกันซองในจำนวนที่ต่ำมาก คือเรียกหลักประกันซองเพียง 2 ล้านบาท ในขณะที่ผู้ยื่นข้อเสนอต้อลงทุนในระบบอุปกรณ์ เพิ่มเติมมีมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท และรายรับจากโครงการตลอดระยะเวลา 10 ปี ประมาณ 4 พันล้านบาท และเมื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับการประมูลในส่วนอื่นๆ จะเห็นความแตกต่างของวงเงินหลักประกันซองที่ต่ำกว่าส่วนอื่นๆชัดเจน
อลงกรณ์บอกต่อไปว่า ข้อสิ่งที่เราตั้งข้อสังเกตและเห็นว่ามีความชัดเจนมากที่สุดคือ กลุ่มบริษัทชนะการประมูลมีประวัติที่น่าเคลือบแคลงสงสัย ซึ่งบริษัทแอร์พร์อต ฟาซิลิตี้ เป็นบริษัทที่จัดตั้งใหม่มีที่มาน่าเคลือบแคลงตามหลักฐานที่แนบมา เช่นเดียวกับบริษัทเอฟเอ็มซี เทคโนโลยี(ประเทศไทย) จำกัดเป็นบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเกษตรและอาหาร ไม่มีประสบการณ์ตามเงื่อนไข TOR
“บริษัทบริษัทแอร์พร์อต ฟาซิลิตี้ มีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท มีพนักงานที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมเพียงแค่ 4 คน ขณะที่ที่อยู่ของบริษัทนั้นเป็นที่ตั้งที่เดียวกับโรงน้ำแข็งบางบอน กรรมการผู้จัดการและเจ้าของคือคนๆเดียวกัน และก็มีหุ้นส่วนซึ่งเป็นผู้อำนวยการบริษัท เป็นเจ้าของโรงนวดอยู่ที่ดอนเมืองขาออก ส่วนเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ในการประมูลเป็นเบอร์โทรศัพท์ของโรงนวดที่ดอนเมืองขาออก อย่างนี้แล้วจะให้คิดได้อย่างไรว่าการประมูลครั้งนี้ถูกต้องและโปร่งใส”
ขุดคลอง 10 กิโลฯ 8,000 ล้าน
สำหรับโครงการที่ยังเป็นข้อกังขาว่าไม่มีความโปร่งใสอีกโครงการหนึ่งคือการประมูลก่อสร้างคลองระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ สะพานน้ำยกระดับพร้อมอาคารประกอบส่วนที่ 3 ตามโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 10 กิโลเมตร มูลค่า 8,000 ล้านบาท
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกอีกว่า โครงการนี้มีขั้นตอนประมูลนี้บริษัทเครือญาติของรัฐมนตรีได้งานนี้ไปโดยให้คะแนนแบบ “พิกลพิการ”คืองานนี้มีขั้นตอนการประมูล อยู่ 3 ขั้นตอน โดยตอนที่ 1 บริษัทที่ได้งานนี้ไปตกคะแนน แต่ตอนที่สามได้คะแนนเป็นอันดับที่ 1 ทั้งๆที่เป็นบริษัทเดียวกันและเป็นโครงการเดียวกันแต่แบ่งการประมูลเป็น 3 โครงการ
“โครงการนี้ดูง่ายว่ามีการล็อกงานไว้แล้วว่าส่วนที่หนึ่งจะให้ใคร ส่วนที่สองให้ใครและส่วนที่สามให้ใคร และก็คงไม่มีใครอธิบายได้ว่าทำไมบริษัทที่ได้งานมูลค่าสูงที่สุด(ประมาณ 3,000 ล้านบาท) ในแต่สอบไม่ผ่านด้านเทคนิคขั้นตอนแรก พูดง่ายๆคือการประมูลงานครั้งนี้ก็คือการซอยแบ่งงานกันนั่นเอง”
อลงกรณ์ อธิบายต่อไปว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติ และเคยมีการถอนเรื่องนี้เมื่อรู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ คนที่จะอธิบายได้ดีที่สุดคือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้เสนอขอถอนเรื่องจาก ครม.โดยตัวนายกรัฐมนตรี “เกริ่น”ขอให้มีการถอนเรื่อง แต่พอเรื่องเงียบหายก็มีการอนุมัติให้ดำเนินการกันต่อไป
“เรื่องการคอร์รัปชั่นในรัฐบาลทักษิณทั้ง ทักษิณ 1 และทักษิณ 2 ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์กำลังเร่งทำการตรวจสอบตอนนี้มีมากถึง 70 เรื่อง”
รถเข็นกระเป๋าเข็นไปกินไป
กลิ่นคอรัปชั่นที่ “หึ่ง” ออกมาอย่างชัดเจนอีกโครงการหนึ่งก็คือ การประมูลจ้างงานให้บริการรถเข็นกระเป๋าผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 534 ล้านบาท ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีความไม่โปร่งใสส่อทุจริต กล่าวคือ บริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2549 เชิญชวนให้บริษัทเอกชนยื่นซองประกวดราคา โดยให้ยื่นซองเสนอราคา และซองคุณสมบัติของรถเข็น และโรงงานที่ผลิตโดยต้องใช้เงินประกันเป็นจำนวนเงิน 26,747,700 บาท
ความผิดปกติเริ่มเกิดขึ้นเมื่อใกล้ถึงวันยื่นซองเสนอประกวดเพียง 1 วัน ทอท.ได้แจ้งขอเลื่อนการประมูลไว้ก่อน โดยไม่มีการแจ้งเหตุผล ต่อมาอีก 13 วัน ได้แจ้งว่าจะมีการประมูลใหม่ และมีการยื่นประมูลครั้งที่ 2 มีบริษัท TAGS (Thai Airport Ground Services) ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเทคนิคเพียงรายเดียว และชนะการประมูล
ทั้งนี้ในช่วงที่มีการประมูลยื่นซองเมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมานั้น มีเอกชนหลายรายที่เป็นผู้ผลิตรถเข็นสัมภาระในสนามบินระดับโลกเข้าร่วม แต่มีการแก้ไขสเปกถึง 2 ครั้ง
มีกรณีหนึ่งที่น่าสงสัยก็คือ มีเอกชนรายหนึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับผู้ผลิตรถเข็นจากเยอรมัน ยี่ห้อ WANZL ยื่นข้อเสนอผ่านบริษัทกิจการร่วมค้าพีเจที ว่าจะยกรถเข็นให้จำนวน 9,000 คัน โดยไม่ต้องเสียเงินงบประมาณในการจัดซื้อ โดยบริษัทขอสิทธิ์ป้ายโฆษราบนตัวรถเข็นตลอดอายุสัมปทาน 7 ปี
หลังจากที่บริษัทต่างๆได้ยื่นข้อเสนอเข้ามาแล้ว ได้มีความพยายามวิ่งเต้นเพื่อล็อกงานดังกล่าวให้กับบริษัทของพวกพ้อง มีการหารือหลายครั้ง ในที่สุดได้ตั้งสเปกใหม่กำหนดว่ารถเข็นต้องขึ้นลงบันไดเลื่อนได้ ทำให้บริษัทต่างๆ ไม่ผ่านการพิจารณาทางเทคนิคทั้งหมดเหลือเพียงบริษัท TAGS เพียงรายเดียวที่ได้งานสัมปทานจัดหารถเข็นจำนวน 9,036 คัน ระยะเวลา 7 ปี มูลค่า 534 ล้านบาท
เหตุผลที่ต้องมีการเลื่อนเวลาออกไปก็เพราะต้องการแก้ไขสเปกใหม่จากบริษัทที่เป็นโรงงานผลิตที่มีผลงานผลิตรถเข็นฯที่ใช้ในสนามบินนานาชาติอย่างน้อย 1 แห่ง มาเป็นซื้อรถจากโรงงานที่ไม่เคยทำรถเข็นกระเป๋ามาก่อน แต่เป็นโรงงานที่ผลิตรถเข็นที่ใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ต และดิสเคานต์สโตร์ ซึ่งไม่เคยมีผลงานในการผลิตรถเข็นในสนามบินนานาชาติมาก่อน
หากจะย้อนรอยถึงความผิดปกติที่ตรวจพบก็คือ ประการแรก ทอท. ให้มีการประมูลโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-auction) แต่ปรากฏว่าในการประมูลครั้งนี้ในการประมูลครั้งนี้ ทางทอท.ได้อ้างว่าไม่มีเวลาในการพิจารณา จึงต้องเร่งรัดให้ประมูลด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งระยะเวลาในการจัดซื้อจัดจ้าง ทางทอท.ทราบดีอยู่แล้ว ดังนั้น จะมาอ้างว่าต้องเร่งรัดให้ประมูลด้วยวิธีพิเศษไม่ได้
ประการที่สอง มีการแก้ไขสเปกเดิมเอื้อประโยชน์บางบริษัท กล่าวคือ ทอท.ได้ตัดข้อกำหนดเดิมที่ว่าโรงงานที่ผลิตรถเข็นต้องเป็นโรงงานที่เคยผลิตและส่งออกไปยังสนามบินนานาชาติ โดยแก้ไขสเปกเป็นโรงงานที่ผลิตในประเทศไทย และได้ตัดข้อความเก่าออก
ประการที่สาม ไม่มีการแข่งขันเปรียบเทียบราคา โดยบริษัทที่ยื่นประมูลผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเทนนิคเพียงรายเดียว และชนะการประมูลโดยไม่มีการแข่งขันเปรียบเทียบราคา
ประการที่สี่ การประมูลครั้งนี้ บริษัทที่ชนะประมูลมีผู้บริหารระดับสูงของ ทอท. เป็นกรรมการบริษัทแท็กส์ ถึง 3 คน ร.อ.อ.ม.ล.ย่อม งอนรถ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ร.อ.อ.พินิจ สาหร่ายทอง ผอ.การท่าอากาศยานกรุงเทพ และสมชัย สวัสดิผล ผอ.การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ประการที่ห้า งบประมาณการจ้างสูงเกินจริง 200 ล้านบาท กล่าวคือ ก่อนการประมูลมีหลักฐานปรากฏว่าบริษัท TAGS กับบริษัทเลิศพนาค้าไม้ และบริษัทแคร์ แอนด์ คลีน ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมงาน กำหนดราคารถเข็นและอัตราค่าตอบแทนในการจ้างเข็นกระเป๋า 7 ปี เป็นจำนวนเงิน 337,514,000 บาท แต่บริษัท TAGS ชนะการประมูลในราคา 534,000,000 บาท คิดเป็นส่วนต่างเป็นจำนวนเงินเกือบ 200 ล้านบาท
หลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องนี้เห็นได้จากบันทึกข้อตกลงฉบับวันที่ 16 มกราคม 2549 โครงการให้บริการรถเข็นกระเป๋าผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระหว่างบริษัทTAGS กับ บริษัทเลิศพนาค้าไม้ และบริษัทแคร์ แอนด์ คลีน โดยตกลงให้บริษัทเลิศพนาค้าไม้มีหน้าที่จัดหารถเข็นดังนี้ ขนาดเล็กจำนวน 2,000 คัน ราคาคันละ 9,000 บาท เป็นเงิน 18,000,000 บาท ขนาดกลาง จำนวน 7,000 คัน ราคาคันละ 16,000 บาท ขนาดใหญ่ 34 คัน ราคาคันละ 43,000 บาท เป็นเงิน 1,462,000 บาท รวมทั้งสิ้น 131,462,000 บาท
ส่วนบริษัทแคร์แอนด์คลีนมีหน้าที่จ้างบุคลากรบริการรถเข็นจำนวน 244 คนในอัตราตอบแทน 29,436,000 บาทต่อปี เป็นระยะเวลา 7 ปี รวมเป็นเงิน 206,052,000 บาท สรุปค่าดำเนินโครงการให้บริการรถเข็นกระเป๋าผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระหว่าง TAGS กับบริษัททั้ง 2 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 337,514,000 บาท
แต่ท้ายสุดแทนที่ทอท.จะใช้รถเข็นกระเป๋าที่ได้มาตรฐานระดับโลก หรือใช้บริการระหว่างTAGS ที่ร่วมกับบริษัทเลิศพนาค้าไม้ กับบริษัทแคร์แอนด์คลีน ที่เสนองบประมาณเพียง 300 กว่าล้านบาท กลับเลือกให้ TAGS เพียงเจ้าเดียวด้วยงบประมาณที่สูงถึง 534,000,000 บาท สูงกว่ากันเกือบ 200 ล้านบาท
แนะนำ พรบ.การเสนอราคามาใช้
สำหรับบทสรุปของการลงโทษ “คนผิด”รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า มีกฎหมายอยู่ฉบับหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีใครคาดถึงว่าจะสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือจัดการการทุจริตคอรัปชั่นได้แบบ “ครอบจักรวาล”นั่นคือพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ.2542 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ (อ่านรายละเอียดล้อมจากล้อมกรอบ) จะสามารถเอาผิดกับบุคลที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น เอกชน บริษัทเอกชน ที่เสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐโดยราคาที่เสนอนั้นต่ำมากเกินกว่าปกติจนเห็นได้ชัด หรือมีการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐสูงจนเกินปกติจนไม่อาจปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ จะมีองค์ประกอบความผิดทางอาญา คือ องค์ประกอบภายนอก (1)ผู้ใด (2)ทำการ
2.1เสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐโดยรู้ว่าราคาที่เสนอนั้นต่ำมากเกินกว่าปกติจนเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นไปตามลักษณะสินค้าหรือบริการหรือ
2.2เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่หน่วยงานรัฐสูงกว่าความเป็ยจริงตามสิทธิ์ที่จะได้รับ
3 เป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้
(2) องค์ประกอบภายใน
1.เจตนาธรรมดา
2.เจตนาพิเศษ
2.1โดยทุจริตและ
2.2 โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมสำหรับตนเองและผู้อื่น(ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา1(1) ความผิดทางอาญาฐานเสนอราคาที่สูงหรือต่ำเกินปกติจนไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้มักจะเกิดขึ้นเมื่อไม่อาจพิสูจน์ได้ชัดเจนว่ามีการตกลง “ฮั้วกัน”ในระหว่างผู้ยื่นประกวดราคา แต่มีผู้รับเหมารายหนึ่งเสนอราคาที่ต่ำมากเกินกว่าปกติจนเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นไปตามลักษณะสินค้าหรือบริการ ผู้รับเหมารายนั้นก็ถูกตั้งข้อหาฐานเสนอราคาที่สูงหรือต่ำเกินปกติจนไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้
แต่อย่างไรก็ดี แม้ในการประกวดราคาในครั้งนั้นไม่มีการสมยอมกันในการเสนอราคาแต่มีผู้เสนอราคาโดยทุจริตทั้งๆที่รู้ว่าราคาที่เสนอนั้นต่ำมากเกินกว่าปกติจนเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นไปตามลักษณะสินค้าหรือบริการ ผู้เสนอราคาเช่นนั้นก็มีความผิดอาญาฐานเสนอราคาที่สูงหรือต่ำเกินปกติจนไม่อาจปฏิบัติตามสัญยาได้เพราะการเสนอราคาที่ต่ำมากๆเกินกว่าปกติโดยสภาพก็เห็นได้ชัดว่ามีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม
“กฎหมายฉบับนี้หากนำมาใช้รับรองว่าจะสามารถเอาผิดกับทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมดซึ่งผมอยากเห็นการนำเอากฎหมายฉบับนี้มาใช้ในการตรวจสอบการทุจริตของโครงการสนามบินสุวรรณภูมิทุกโครงการ”อลงกรณ์กล่าวในที่สุด
*************
เปิดกฎหมายเอาผิดนักการเมือง
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ได้ระบุมูลเหตุความผิดตลอดจนมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองและนักธุรกิจในกรณีที่พบว่ากระทำความผิด
ทั้งนี้ในมาตรา4 ระบุว่าผู้ใดตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยการกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ หรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐอันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี และปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุดในระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดนั้น หรือของจำนวนเงินที่มีการเสนอทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ผู้ใดเป็นธุระในการชักชวนให้ผู้อื่นร่วมตกลงกันในการกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ผู้นั่นต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่ง
มาตรา5 ผู้ใด ขอให้หรือรับว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้อื่นเพื่อประโยชน์ในการเสนอราคา โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะจูงใจให้ผู้นั้นร่วมดำเนินการใดๆ อันเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ หรือเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นทำการเสนอราคาสูงหรือต่ำจนเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นไปตามลักษณะสินค้า บริการ หรือสิทธิที่จะได้รับ หรือเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นไม่เข้าร่วมในการเสนอราคาหรือถอนการเสนอราคา
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุดในระหว่างผู้ร่วมกระทำผิดนั้น หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
และในมาตราที่ระบุความผิดเกี่ยวกับนักการเมืองโดยตรง หรือกรรมการในหน่วยงานของรัฐ นั้นได้ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 13 ระบุว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือกรรมการหรืออนุกรรมการในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมิใช่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใด กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใดๆต่อเจ้าหน้าที่ในงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติ การพิจารณาหรือการดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาเพื่อจูงใจหรือทำให้จำยอมต้องยอมรับการเสนอราคาที่มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท
**************
ซีดีเอ็มเอ-สมาร์ทการ์ดโครตโกงโปรเจ็กซ์ไอซีที
โครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอและโครงการบัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์แบบอเนกประสงค์ หรือสมาร์ทการ์ด 2 โปรเจ็กซ์ฉาวที่กำลังจะถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบ และเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องในรัฐบาลชุดแล้วหรือไม่
การเกิดขึ้นของทั้งสองโปรเจ็กซ์อยู่ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เป็นเจ้าภาพดูแลเรื่องนี้ และมีปัญหาที่ส่อให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการประมูลที่มีความไม่ชอบมาพากลของการได้มาซึ่งผู้ชนะการประมูล
ทั้งนี้โครงการซีดีเอ็มเอ ถือได้ว่าเป็นโครงการที่ใช้การประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์หรืออี-ออบชั่นที่มีมูลค่าโครงการสูงที่สุด การจัดประมูลโครงการซีดีเอ็มเอส่วนภูมิภาคเมื่อช่วงต้นปี 2548 ที่ผ่านมา บริษัทหัวเหว่ยเป็นผู้ชนะการประมูล ด้วยการเป็นผู้เสนอราคาที่ต่ำที่สุด ต่ำกว่าราคากลาง เรียกได้ว่าพลิกความคาดหมาย จนถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องของการฮั้วราคา
โครงการซีดีเอ็มเอภูมิภาค เป็นโครงการที่ กสท ลงทุนเอง โดยเปิดประมูลเพื่อติดตั้ง สถานีฐาน จำนวน 1600 base เพื่อติดตั้งใน 51 จังหวัด ด้วยเทคโนโลยี 1XEVDO ในคลื่นความถี่ 800 MHz ซึ่งเน้นบริการลูกค้าด้วย การสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง
การประมูลแบบอี-ออบชั่นทางหัวเหว่ย เสนอราคาต่ำสุดในวงเงิน 7,199 ล้าน บาท จากราคากลางในการประมูลที่กำหนดไว้ประมาณ 1.34 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ CDMA phase 1 ได้ส่งมอบงานไปแล้วเมื่อไตรมาสแรกปีนี้จำนวน 800 สถานีฐาน และจะทำการส่งมอบอีก 800 sites ที่เหลือต้นปีหน้า
ในการติดตั้งซีดีเอ็มเอ ในเฟสแรกทาง หัวเหว่ย ก็พบปัญหาล่าช้าไปแล้วรอบหนึ่ง จากปัญหาเรื่องน้ำท่วมในภาคเหนือหลาบรอบเมื่อปีที่แล้ว และก็ยังประสบปัญหาล่าช้าในส่วนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย แต่ที่ผ่านมาทางหัวเหว่ยก็ยังไม่ถูกปรับเงินจากปัญหาความล่าช้าในการติดตั้งสถานีฐานแต่อย่างไร แม้ว่าจะทำให้กระทบต่อการเปิดให้บริการที่ต้องล่าช้าออกมาเรื่อยๆ
สำหรับประเด็นที่ สตง.ตั้งข้อสังเกตความไม่ชอบมาพากล และเข้ามาตรวจสอบโครงการซีดีเอ็มเอ เนื่องจากเห็นว่าสัญญาที่ กสท โทรคมนาคม กับบริษัท บีเอฟเคที จำกัดและ ฮัทช์ ทำการตลาดบริการและรับภาระค่าใช้จ่ายแทน กสท ทั้งหมดกับประกันรายได้ขั้นต่ำแก่ กสท เป็นรายปีตลอดอายุสัญญา 7,986 ล้านบาท โดย กสท ต้องนำคลื่อนความถี่ย่าน 800 เกกะเฮิรรตซ์แบนด์ A มาใช้ในโครงการนี้โดยไม่คิดมูลค่า
ประเด็นดังกล่าวคณะทำงานพิจารณาสัญญาทำการตลาดบริการวิทยุคมนาคมและสัญญาเช่าโครงข่ายที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการ กสท ได้มีความเห็นและตีความเป็นที่ยุติแล้วว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 มีผลเป็นสัญญาไม่ผูกพันตามกฎหมาย สตง.จึงเข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสโครงการดังกล่าว
ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นยังต้องรอการพิจารณาจากทางสตง. ต่อไป ทางด้าน กสท ยังคงเดินหน้าโครงการซีดีเอ็มเอภูมิภาคต่อไป พิศาล จอโภชาอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานทางการตลาดของโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอ ภูมิภาค ระหว่าง กสท กับบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด หรือฮัทช์ ผู้ดำเนินงานด้านการตลาดโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอ ในเขตกรุงเทพฯ และภาคกลางรวม 25 จังหวัด ขณะนี้จะเร่งหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปทัน ก่อนวันเปิดทดลองโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอ ในเชิงพาณิชย์อีก 51 จังหวัดในวันที่ 1 ตุลาคมนี้
แนวทางที่ กสท จะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1.จะให้ฮัทช์ ร่วมทำตลาดซีดีเอ็มเอ ภูมิภาคร่วมกับ กสท ด้วย หรือ 2.จะซื้อกิจการคืนจาก ฮัทช์ เพื่อให้ กสท เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด โดยไม่แยกว่าเป็นโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ซึ่งแนวทางดังกล่าวอาจจะต้องพิจารณาในรายละเอียดอย่างรอบคอบ เพราะฮัทช์ มีหนี้สินอยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท
ฟันธงโกงสมาร์ทการ์ด
สตง.ยังเข้ามาตรวจสอบโครงการจัดซื้อสมาร์ทการ์ดลอต 2 จำนวน 13 ล้านใบ วงเงินงบประมาณ 962 ล้านบาท โดยสตง.ได้มีหนังสือไปยัง ไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงไอซีที ระบุว่าจากที่สต.ได้ตรวจสอบโครงการประกวดราคาจ้างจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์แบบอเนกประสงค์ หรือสมาร์ทการ์ด ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ผลการตรวจสอบปรากฎว่าคณะกรรมประกวดราคามีมติเป็นเอกฉันท์ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า HST และกลุ่มกิจการร่วมค้า FIMA ไม่ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิค
โดยเฉพาะกลุ่มกิจการร่วมค้า HST ตกคุณสมบัติไม่ผ่านการรับรองผลการทดสอบ UL-94 ของสถาบัน FILK ซึ่งเป็นคุณสมบัติโดยตรงที่สำคัญของตัวบัตร แต่ปลัดกระทรวงไอซีทีได้ใช้ดุลพินิจในฐานะหัวหน้าส่วนราชการพิจารณาข้ออุทธรณ์ให้กลุ่มกิจการร่วมค้าที่ตกคุณสมบัติ มีสิทธิเข้าเสนอราคาได้ ซึ่งผลการประกวดราคากลุ่มกิจการร่วมค้า HST เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 486.85 ล้านบาท
ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นเหตุที่ทำให้โครงการนี้ไม่ชอบมาพากลอีกหนึ่งโปรเจ็กซ์ของกระทรวงไอซีที การที่กระทรวงไอซีทีจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป อาจเข้าข่ายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และกฏหมายอาญาแผ่นดิน
นอกจากนี้การประมูลลอตแรกของสมาร์ทการ์ด ยังถูกมองว่าเป็นการประมูลที่มีราคาสูงเกินความเป็นจริงค่อนข้างมาก โดยผู้ที่ชนะประมูลเฉลี่ยแล้วสมาร์ทการ์ดจะตกที่ราคา 80 บาท จากความเป็นจริงไม่ถึง 40 บาท จึงถือเป็นอีกหนึ่งความผิดปกติของโครงการสมาร์ทการ์ด
โครงการสมาร์ทการ์ดนี้เกิดขึ้นภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้นำโครงการบัตรประชาชนอเนกประสงค์ หรือสมาร์ทการ์ด เข้ามาใช้ ซึ่งเป็นบัตรประชาชนรุ่นล่าสุดที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เริ่มใช้นำร่องกลางปี พ.ศ. 2547 มีรูปแบบคล้ายบัตรประชาชนรุ่นที่ 4 แต่เพิ่มไมโครชิพในการบันทึกข้อมูล และเพิ่มรายการเจ้าของบัตรที่มีชื่อสกุลภาษาอังกฤษ อนาคตจะพัฒนาเชื่อมข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ 40 หน่วย เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานประกันสังคม กรมสรรพากร หวังว่าจะเป็นบัตรเดียวที่ใช้ได้ในทุกหน่วยงาน แต่เบื้องต้นเชื่อมข้อมูลกับกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานประกันสังคมเท่านั้น
ที่ผ่านมารัฐบาลทักษิณ ได้จัดซื้อบัตรสมาร์ทการ์ด 12 ล้านใบ ออกให้บริการทั่วประเทศ แต่ในที่สุดก็เกิดปัญหาประชาชนมาแห่ทำบัตรแบบทันสมัยสุด ๆ นี้ จนหมดสต๊อก ในขณะที่กระบวนการจัดซื้อบัตรลอตที่ 2 อีก 13 ล้านใบ ก็ถูกร้องเรียนความไม่โปร่งใส ทำให้จัดซื้อไม่ทันตามกำหนด ส่งผลให้ต้องหยุดบริการทำบัตรชั่วคราว และในที่สุดต้องจัดซื้อบัตรแบบแถบแม่เหล็ก 1.5 ล้านใบ มาใช้ทดแทนเพื่อแก้ปัญหาชั่วคราวระหว่างรอบัตรสมาร์ทการ์ด เพื่อไม่ให้กระบวนการทำบัตรขาดตอน
***********
ทีมตรวจสอบระดมกำลัง "เชือด"ทักษิณ
คณะปฏิรูปการปกครองฯ ติดอาวุธให้กับคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ที่มี ปปช. ปปง. สตง. และอัยการสูงสุด เชือด "ทักษิณ"กับคนใกล้ชิด ด้วยการเปิดช่องให้ใช้กฎหมายสำคัญเป็นเครื่องมือในการติดตาม-ตรวจสอบสมบัติ ทั้งในและนอกประเทศ ภายหลังครบ1ปีหากสำนวนยังไม่ยุติ คณะกรรมการตรวจสอบฯเตรียมส่งไม้ต่อให้องค์กรอิสระสานงานต่อ
ภายหลังคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ผ่านมาโดยข้อหาที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากสนับสนุน คปค.คือข้อหาการบริหารประเทศที่มีการทุจริต จนกระทั่งเมื่อค่ำวันที่ 24 กันยายน คปค.ก็มีประกาศฉบับที่ 23 ที่จะดำเนินการ การตรวจสอบทรัพย์สิน ตรวจสอบการดำเนินงานและโครงการต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี ในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ดังนั้น คปค.จึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบทรัพย์นักการเมืองชุดรัฐบาลทักษิณ ซึ่งคณะกรรมการประกอบด้วย สวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธานกรรมการ ส่วนคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน อัยการสูงสุดหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)หรือผู้แทน เจ้ากรมพระธรรมนูญหรือผู้แทน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือผู้แทน
อย่างไรก็ดี คปค.จึงให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับการอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้นได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ คปค.ได้ให้อำนาจเพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจตามกฎหมายดังนี้
(1) พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและคณะกรรมการธุรกรรม
(2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(3) ประมวลรัษฎากรโดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรเฉพาะที่เกี่ยวกับการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน
พึ่งกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศตาม "ทรัพย์สิน"
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)ระบุ ถึงขั้นตอนการยึดทรัพย์นักการเมือง คณะกรรมการตรวจสอบจะต้องดูข้อเท็จจริงว่ามีมูลมากน้อยแค่ไหน จากนั้นจะต้องสืบสวนสอบสวน และเมื่อปรากฏหลักฐานว่ารัฐมนตรีผู้นั้นกระทำความผิดจริง และเป็นเรื่องอะไร เมื่อใด และหากมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าจะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจึงจะสามารถสั่งให้มีการอายัดทรัพย์เป็นการชั่วคราวได้ ตามกฎหมายการฟอกเงินของ ปปง. จะใช้ความรู้สึกเพียงแค่ว่านักการเมืองคนนั้นร่ำรวยผิดปกติแล้วยึดทรัพย์ย่อมเป็นไปไม่ได้
"ถ้าพบว่ามีความผิดจริงก็ต้องดูว่า เป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ ก็จะต้องส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองเป็นผู้พิจารณาลงโทษ ส่วนทรัพย์สินที่ว่ามีการยักย้ายถ่ายเทไปต่างประเทศนั้น คงจะมีกระบวนการความร่วมมือทางกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศคอยดำเนินการ"แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.ระบุ
แหล่งข่าวยังระบุ ปปช. จะเร่งตรวจสอบทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านเป็นอันดับแรก รวมถึงคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนมากในขณะนี้คือคดีซีทีเอ็กซ์ ซึ่งรอผลสรุปจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งเตรียมตรวจสอบการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของรัฐมนตรีหลังพ้นตำแหน่งด้วย แต่ขณะนี้รอข้อมูลจาก สตง. ว่ามีข้อมูลสามารถที่จะเอาผิดได้หรือไม่
สตง.เตรียมส่งข้อมูลให้ ปปช.ฟัน ซีทีเอ็กซ์
สำหรับ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่มีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นหัวเรือใหญ่ในการตรวจสอบ ซึ่งพบทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว จะส่งไปยัง คณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ภายในอาทิตย์หน้า เพื่อพิจารณาว่าจะมีความผิดถึงขั้นยึดทรัพย์ได้หรือไม่ หลังจากนั้นจะได้ส่งข้อมูลไปยัง คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินให้รับทราบ
ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ สตง.ต้องตรวจสอบนั้น ต้องตรวจสอบอีกครั้งว่าแต่ละเรื่องจะสามารถส่งข้อมูลไปให้ หน่วยงานไดได้บ้าง
ส่วนเรื่องของการเคหะแห่งชาติที่ดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งจะมีการตรวจสอบว่าคนที่ได้บ้านเป็นคนจนจริงหรือไม่ ทั้งการตรวจสอบการใช้เงินบริจาคต่างๆที่ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ รวมไปถึงเงินบริจาคจากภาคเอกชน ได้นำไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยให้มีบ้านจริงหรือไม่ ขณะนี้ คตง.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปยังพื้นที่ จังหวัด กระบี่ พังงา ภูเก็ต เพื่อเก็บข้อมูล รวมทั้งเงินบริจาคเข้ามายังสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องนี้ สตง.จะส่งไปให้ ปปช.พิจารณาว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่
สำหรับเรื่องการตรวจสอบการประกวดจัดซื้อจัดจ้างจำทำบัตรประจำตัวประชาชนอิเลคทรอนิกส์แบบเอนกประสงค์(สมาร์ทการ์ด) ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ซึ่งอาจเข้าข่ายตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2542(ฮั้วราคา) นั้นจะส่งไปให้ข้อมูลไปให้ทางคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาว่าผิดจริงหรือไม่ เพราะอาจจะทำให้เกิดความเสียหายในองค์กรได้ หากตรวจสอบพบว่ามีขั้นตอนที่ส่อไปในทางไม่โปรงใสหรือเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง เบื้องต้น สตง.สามารถเอาผิดถึงระดับปลัดกระทรวงได้
อัยการสูงสุด เตรียมส่งฟ้องนักการเมืองที่ทำผิด
ด้านอัยการสูงสุด ได้เตรียมความพร้อมของอัยการในการยื่นฟ้องคดีนักการเมืองที่ป.ป.ช.และสตง.กำลังตรวจสอบการทุจริตต่างๆ ว่า ขณะนี้ได้สั่งระดมพนักงายอัยการจากส่วนต่างๆให้เตรียมพร้อมเต็มที่ เพราะป.ป.ช.และสตง.อาจจะสรุปสำนวนส่งมาให้สำนักงานอัยการสูงสุดส่งฟ้องนักการเมืองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง
ถึงแม้ว่าหากมีการส่งฟ้องคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่ไม่อยู่ในประเทศก็ตาม อัยการสูงสุดก็สามารถดำเนินคดีอาญาโดยขอความร่วมมือจากต่างประเทศ เพื่อขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยได้ และอัยการสูงสุดสามารถยึดทรัพย์ได้ โดยผู้ต้องหาไม่มาแสดงตัว
เพราะฉะนั้นการมอบดาบอาญาสิทธิ์ให้คณะกรรมการการตรวจสอบทรัพย์สินในครั้งนี้ จึงมีชะตาชีวิตของ พ.ต.ท.ทักษิณและพวกเป็นเดิมพัน ?
|