คณะปฏิรูปการปกครองในระบบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค) ได้ประกาศชัดหลังเข้ายึดอำนาจจากระบอบทักษิณว่า “จะคืนความชอบธรรมให้กับประเทศไทย” ในทุกมิติปัญหาของสังคม โดยเห็นได้จากการประกาศให้ระบบกลไกขององค์กรอิสระในระบอบประชาธิปไตยหลายองค์กรเริ่มเดินเครื่องทำงานกันแล้ว ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมือง ฯลฯ
หน้าที่หลักขององค์กรอิสระต่าง ๆ เหล่านี้คือ การเข้าไปตรวจสอบปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในแวดวงราชการและการฉ้อฉลของนักการเมือง แต่ที่ผ่านมาระบอบทักษิณได้เข้าแทรกแซงและการสกัดกลไกการทำงานขององค์กรอิสระดังกล่าวไม่ให้ขับเคลื่อน แต่หลังจากระบอบทักษิณถูกโค่นลง กลไกขององค์กรอิสระดังกล่าวถูกปลดล็อกและกำลังเดินหน้าเข้าไปตรวจสอบปัญหาการคอรัปชั่นและปัญหาความไม่ชอบธรรมในสังคมไทยแล้ว
โดยเฉพาะกรณีปัญหาของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ ที่ปัจจุบันลิ่วล้อของระบอบทักษิณได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ไออาร์พีซี” กำลังถูกองค์กรแห่งความยุติธรรมต่าง ๆ เข้าไปตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลและความไม่ถูกต้องที่ถูกบิดเบือนโดยระบอบทักษิณ ทั้งคดีความต่าง ๆ ที่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของทีพีไอหรือกลุ่มของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีพีไอ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลสถิตยุติธรรมหลายคดี คดีที่วุฒิสภา (สว.) ได้ยื่นฟ้องต่อปปช. และคดีที่ผู้ถือหุ้นเดิมทีพีไอร้องเรียนต่อผู้ตรวจการรัฐสภา ซึ่งคดีต่าง ๆ ดังกล่าวกำลังถูกองค์กรอิสระและศาลสถิตยุติธรรมขับเคลื่อน โดยมีเป้าหมายคืนความชอบธรรมให้กับทีพีไอแล้ว!
**ศาลอาญานัด 29 ก.ย.ฟังคำสั่ง..คดีลิ่วล้อทักษิณจ่ายเงินย้อนหลังให้บริษัทซินเนอจีฯ
ประเดิมคดีแรกสุดที่ศาลสถิตยุติธรรมจ่อคิวคืนความชอบธรรมให้กับทีพีไอ โดยเป็นคดีที่บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ และนายประทีป เลี่ยวไพรัตน์ ในฐานะโจทก์ ได้ยื่นฟ้องกระทรวงการคลังและพวก รวม 9 คน ต่อศาลอาญา (ถนนรัชดาภิเษก) ในข้อกล่าวหา “สั่งจ่ายเงินทีพีไอย้อนหลังให้กับบริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด โดยผิดกฎหมาย” เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2549 ซึ่งจำเลยที่ 1 กระทรวงการคลัง จำเลยที่ 2 นายพละ สุขเวช จำเลยที่ 3 พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฎฐ์ จำเลยที่ 4 นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา จำเลยที่ 5 นายอารีย์ วงศ์อารยะ จำเลยที่ 6 นายทนง พิทยะ จำเลยที่ 7 บริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด จำเลยที่ 8 นายศิริ จิระพงษ์ พันธ์ และจำเลยที่ 9 นายจุมพล ศานติพงษ์
สาระสำคัญของคดีดังกล่าวโจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1, 2, 3, 4, 5 และจำเลยที่ 6 ได้ร่วมกันจ่ายเงินของลูกหนี้ (ทีพีไอ) เกินกว่าที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการและก่อหนี้เพิ่ม รวมทั้งกระทำการใด ๆ โดยไม่จำเป็นและไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการทางการค้าตามปกติของลูกหนี้ อีกทั้งระหว่างวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 ถึง 25 สิงหาคม 2546 จำเลยที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 8 และจำเลยที่ 9 ได้ร่วมกันดำเนินการก่อตั้งบริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด โดยจำเลยที่ 7 และจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 6 ได้บังอาจร่วมกันอนุมัติให้ว่าจ้างจำเลยที่ 7(บริษัท ซินเนอจีฯ) ให้เป็นผู้บริหารดำเนินธุรกิจ การบริหารกิจการและทรัพย์สินของบริษัททีพีไอ โดยมีการจ่ายเงินจำนวน 35,896,774.09 บาท รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัททีพีไอ โดยมอบให้จำเลยที่ 7, 8 และจำเลยที่ 9 ซึ่งถือว่าเป็นการจ่ายเงินย้อนหลัง ทั้ง ๆ ที่บริษัท ซินเนอจีฯ ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และยังเป็นการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต!
ในคดีนี้มีความคืบหน้าล่าสุดคือ ศาลอาญา (ถนนรัชดาภิเษก) ได้นัดฟังคำสั่งในวันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2549 นี้เวลา 13.30 น. ซึ่งจะต้องจับตาด้วยใจระทึกว่าคำสั่งศาลฯ จะออกมาอย่างไร!
**สว.ฟ้องคดีอาญา“บิ๊กหมง”รุกคืบ ปปช.จ่อคิวชงสตง.เชือดแล้ว
คดีหรือเรื่องราวที่ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฎฐ์ กับพวก ถูกฟ้องร้องและดำเนินการตามกฎหมายอีกคดีหนึ่งที่ชวนน่าติดตามก็คือ คดีที่สมาชิกวุฒิสภาได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญากับพล.อ.มงคล และพวก!
โดยมีสาระสำคัญคือ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2548 นายคำนวณ เหมาะประสิทธิ์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุตรดิตถ์ นายสนิท จันทรวงศ์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุบลราชธานี และนายบุญเลิศ ไพรินทร์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดฉะเชิงเทรา ในฐานะผู้ถือหุ้นทีพีไอ ได้เข้าพบพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกับนายอารีย์ วงศ์อารยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้ปฏิบัติงานแทนกระทรวงการคลัง ในการบริหารแผน ปรับปรุงแก้ไขแผนมอบหมายหรือว่าจ้างให้คณะบุคคลปฏิบัติตามแนวทางการฟื้นฟูกิจการที่กระทรวงการคลังเห็นชอบ
รวมถึงนายจุมพล ศานติวงศ์ และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ กรรมการบริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด ในความผิดฐานเบียดบังเอาทรัพย์สินของทีพีไอเป็นของตัวเองหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ในฐานะที่เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของทีพีไอตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 โดยได้ร่วมกันกระทำผิดในการทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทีพีไอและประชาชนผู้ถือหุ้นทีพีไอ
ในคดีนี้พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงให้ปรากฏ ซึ่งตามเอกสารร้องทุกข์ระบุว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 คณะผู้บริหารแผนตัวแทนของกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบของ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ ได้มีการประชุมและอนุมัติว่าจ้างบริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด โดยนายจุมแลและนายศิริให้จัดทำการปรับปรุงแผนบริการดำเนินภารกิจการบริหารกิจการและทรัพย์สินของทีพีไอและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ โดยว่าจ้างเดือนละ 20 ล้านบาท
แต่ข้อเท็จจริงบริษัท ซินเนอจีฯ ได้สมรู้ร่วมคิดกับกระทรวงการคลัง โดย ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้นและคณะผู้บริหารแผนฯที่มีพล.อ.มงคล อัมพรพิศิฎฐ์ เป็นประธาน ได้ทำใบแจ้งหนี้ค่าบริการดำเนินภารกิจการบริหารกิจการและทรัพย์สินของทีพีไอย้อนหลังเป็นระยะเวลาเดือนเศษคือ ระหว่างวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2546 เป็นเงินจำนวน 35,896,774.09 บาท ทั้งที่บริษัท ซินเนอจีฯ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2546 อันเป็นการกระทำโดยมิชอบ!
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2548 นายสนิท จันทรวงศ์ สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดอุบลราชธานี และนายบุญเลิศ ไพรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดฉะเชิงเทรา ในฐานะผู้ถือหุ้นทีพีไอและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการทีพีไอ ได้มอบอำนาจให้นายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ดำเนินคดีกับพล.อ.มงคล อัมพรพิสิฎร์ ดร.ทนง พิทยะ และนายพละ สุขเวช ซึ่งคณะบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ปฏิบัติงานแทนกระทรวงการคลังในการเข้ามาบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ และได้สมรู้ร่วมคิดและเห็นชอบร่วมกันในการว่าจ้างบริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด พร้อมกันนี้คณะบุคคลดังกล่าวยังได้อนุมัติค่าตอบแทนให้กับคณะผู้บริหารแผนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบที่รับเงินที่มิควรได้จากภาคเอกชน!
ประกอบด้วย พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฎร์ จำนวน 1 ล้านบาทต่อเดือน นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา นายพละ สุขเวช นายอารีย์ วงศ์อารยะและดร.ทนง พิทยะ รายละ 750,000 บาทต่อเดือน และคณะที่ปรึกษาคือ นายนิพัทธ พุกะณะสุต นายวิจิตร สุพินิจ นายวิเชียร วิริยะประสิทธิ์ และดร.วีรพงษ์ รามางกูร รายละ 200,000 บาทต่อเดือน
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดในคดีนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งเรื่องถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ซึ่งที่ผ่านมากลไกของคณะกรรมการปปช. ถูกระบอบทักษิณบล็อกไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ล่าสุดคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการปปช. 9 คน หรือที่เรียกกันว่า“เก้าอรหันต์” ที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน และที่สำคัญในคดีดังกล่าวได้ถึงมือปปช.แล้ว และพร้อมพิจารณาชงให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่มีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าสตง. คืนความชอบธรรมให้กับทีพีไอแล้ว ซึ่งคดีนี้วงในระบุว่า โปรดติดตามชนิดอย่างกระพริบตา!
“ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา” รับลูก คืนความชอบธรรมให้ “ทีพีไอ”
ที่ผ่านมาองค์กรของคณะผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ถูกมองว่าเป็นเพียง “เสือกระดาษ” เพราะไม่มีบทบาทในการช่วยเหลือปัญหาทางสังคมตามเจตนารมณ์ที่ตั้งขึ้นมา และในข้อเท็จจริงบทบาทขององค์กรดังกล่าวถูกอิทธิพลทางการเมืองเข้าไปแทรกแซงอย่างหนัก ดังนั้นที่ผ่านมาจึงไม่มีผลงานเข้าตากรรมการมากนัก แต่ถัดจากวินาทีนี้องค์กรของ “คณะผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา”กำลังขยับและรับลูกกับความพยายามของทุกฝ่ายในการคืนความชอบธรรมให้กับสังคมกันแล้ว
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของทีพีไอและนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐบาล โดยข้อร้องเรียนระบุสาระสำคัญว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมทีพีไอและนายประชัยไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการที่กระทรวงการคลังและตัวแทนจำนวน 5 คนคือ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฎฐ์ นายพละ สุขเวช นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา นายอารีย์ วงศ์อารยะ และนายทนง พิทยะ ในการบริหารแผน ปรับปรุงแก้ไขแผน มอบหมายหรือว่าจ้างให้บุคคล คณะบุคคลปฏิบัติตามแนวทางการฟื้นฟูกิจการทีพีไอที่กระทรวงการคลังเห็นชอบ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงการคลังในการบริหารกิจการและทรัพย์สินของทีพีไอ
แต่ตัวแทนของกระทรวงการคลังปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นทีพีไอและนายประชัยโดยไม่เป็นธรรม ภายหลังที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2549 อันทำให้กระทรวงการคลังหมดอำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการของทีพีไอ!
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่การกระทำอันไม่ชอบธรรมของกระทรวงการคลังและตัวแทนที่มีพล.อ.มงคล อันพรพิสิฎร์ เป็นประธาน รวมถึงการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบบีบบังคับและคุมตัวนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ลงจากเวทีการประชุมผู้ถือหุ้นของทีพีไอในวันที่ 27 เมษายน 2549 ทั้งที่นายประชัย มีอำนาจหน้าที่ในการเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้นของทีพีไอและควบคุมการประชุมผู้ถือหุ้น แต่ตัวแทนของกระทรวงการคลังฝ่าฝืนไม่ยอมให้คณะกรรมการชุดเดิมของทีพีไอซึ่งมีนายประชัย เป็นผู้นำในการกลับมามีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 90/75 ประกอบกับพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด มาตรา 77
ซึ่งบัญญัติให้กระทรวงการคลังและตัวแทนหมดอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของทีพีไอ และอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการของทีพีไอกลับไปเป็นของคณะกรรมการชุดเดิมของทีพีไอที่มีนายประชัย เป็นผู้นำ ภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการทีพีไอ แต่ข้อในข้อเท็จจริงทั้งกระทรวงการคลังและคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ที่มีพล.อ.มงคล อัมพรพิสิฎร์ เป็นประธานกลับฝ่าฝ่าฝืนและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองแต่อย่างใด
ล่าสุดสำหรับข้อร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวของผู้ถือหุ้นเดิมทีพีไอและนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ กำลังจ่อคิวให้คณะผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาพิจารณาและชงเรื่องให้ศาลปกครองคืนความชอบธรรมให้กับทีพีไอแล้ว!
|