Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2537
"เอ็มบีเอ. บันไดสู่ความสำเร็จในโลกธุรกิจ"             
 

   
related stories

"มหาวิทยาลัยธุรกิจดีที่สุดของเอเชีย"

   
search resources

MBA




เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในวันที่ วู ยี เช็ง เป็นเพียงเรือตรีที่ดูแลคลังพัสดุของนาวิกโยธินที่เมือง เกาเสียง ที่ไต้หวันอยู่นั้น เมื่อมีเวลาว่าง เขาจะนั่งคิดอยู่ตลอดเวลาถึงอนาคตของเขาในการเข้าไปทำงานธุรกิจ แม้ว่าจะมีดีกรีที่จบจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติของไต้หวันก็ตาม แต่เนื่องด้วยขาดเงินทุน เขาจึงไม่สามารถทำธุรกิจของตัวเองได้ ดังนั้นในปี 1990 ในช่วงปีสุดท้ายของการเป็นทหาร เขาก็ได้สมัครเข้าเรียนเอ็มบีเอที่คณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่แคลิฟอร์เนีย

ด้วยวัย 29 ปีในปัจจุบัน วูได้กลายเป็นวาณิชธนกร (INVESTMENT BANKER) ที่มีความเชี่ยวชาญในการแปรสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องเช่น หลักทรัพย์ติดจำนองสินเชื่อรถยนต์ หรือแม้แต่หนี้เครดิตการ์ด ให้เป็นพันธบัตรที่เปลี่ยนมือได้

ความสามารถของเขา ที่สามารถแปรเปลี่ยนหนี้สินได้กลายเป็นกำไรได้ นี้เสมือนหนึ่งคุณสมบัติแบบนักเล่นแร่แปรธาตุซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนมาก ผู้บริหารของบริษัทต่าง ๆ หาโอกาสที่จะเลี้ยงข้าวกลางวันเขา บุคคลที่มีบทบาทนำอุตสาหกรรมต้องยอมโทรศัพท์กลับไปหาเขาหลังจบจากสแตนฟอร์ดเพียง 4 เดือน วูก็ได้รับการปฏิบัติต่อเทียบเท่ากับมือการเงินแห่งวอลล์สตรีทเลยทีเดียว

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็มีผลมาจากการที่เขาเป็นเจ้าของกุญแจแห่งความสำเร็จสมัยใหม่ นั่นคือ ปริญญาโทบริหารธุรกิจ (เอ็มบีเอ) จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอย่างสแตนฟอร์ดนั่นเอง

สำหรับลูกชายหรือลูกสาวของชนชั้นกลางชาวเอเชียแล้ว ที่ผ่านมาหนทางสู่ความร่ำรวยค่อนข้างจะมีจำกัด บางคนอาจจะอาศัยการไต่เต้าเส้นทางแห่งอำนาจในกองทัพ บ้างก็สร้างตัวจากธุรกิจค้าปลีกมีเหมือนกันที่ตกถังข้าวสารเพราะได้ภรรยารวย หรือบางคนก็ไปทำงานในบริษัทข้ามชาติ

แต่ถ้าจะเอาดีในบริษัทชาวเอเชียด้วยกันแล้ว ความสามารถเพียงอย่างเดียวไม่พอ เพราะปัจจัยสำคัญในการเลื่อนขั้นในองค์กร ขึ้นอยู่กับชาติตระกูลและความสัมพันธ์ส่วนตัว

แต่มาวันนี้ เส้นทางใหม่สำหรับการเลื่อนสถานะเริ่มเปิดกว้างขึ้น กระแสการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า 20 ปี ทำให้บริษัทเอเซียมีการพัฒนาจากธุรกิจภายในครอบครัวมาเป็นองค์กรธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่มากขึ้น ผู้ก่อตั้งกิจการบางรายอาจไม่เต็มใจที่จะถ่ายเทอำนาจให้กับบุคคลภายนอกที่เป็นมืออาชีพ แต่ว่าความสำเร็จที่ตัวพวกเขาเองสร้างขึ้นมานั้น กำลังบีบให้พวกเขาต้องมองออกไปให้ไกลกว่าแวดวงลูกหลาน ญาติมิตรในครอบครัว เนื่องจากบริษัทที่กำลังเติบโตนั้นต้องอาศัยความสามารถในการบริหารที่กว้างขวางกว่าที่เคยเป็นมามากมาย บริษัทจำนวนมากขึ้น ๆ กำลังหันไปพึ่งพานักบริหารที่มีดีกรีเอ็มบีเอติดตัว โดยเฉพาะพวกที่พูดได้หลายภาษา มีวิธีคิด มุมมองในระดับโลก (GLOBAL VIEW)

"บริษัทใหญ่ทุกแห่งที่ผมไปมากำลังแสวงหาผู้นำที่มีความเชี่ยวชาญด้านบริหารระดับโลก" สตีเวน แซมเปิล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเซาท์เทอร์น แคลิฟอร์เนีย (ยูเอสซี) ตั้งข้อสังเกต เขาเสริมด้วยว่า "ผู้บริหารที่ไม่มีปัญหาในเรื่องภาษา วัฒนธรรมที่แตกต่างกันและสามารถทำงานได้ดีในธุรกิจหลายประเภทกำลังเป็นที่ต้องการจริง ๆ"

การแข่งขันเพื่อแย่งชิงบัณฑิตจบใหม่อย่างวู เริ่มต้นขึ้นเมื่อตอนต้นปีเมื่อตัวแทนจากองค์กรมากหลายในอเมริกาได้เริ่มตระเวนสัมภาษณ์ เมื่อวูเรียนจบในเดือนพฤษภาคม โดยควบ 2 ปริญญาคือกฎหมายและบริหารธุรกิจ เขาก็ได้รับข้อเสนอจากมอร์แกน สแตนลีย์, เมอร์ริล ลินช์ และสำนักกฎหมายหลายแห่งของนิวยอร์คให้เข้าทำงานด้วย

"บอสตัน คอนซัลต์ติ้ง กรุ๊ป" อยากได้ตัวเข้าไปร่วมงานที่สำนักงานฮ่องกง โดยให้เงินเดือนปีละ 80,000 เหรียญ บวกกับโบนัส 15,000 เหรียญ ทันทีที่เขาเซ็นสัญญาจ้างงาน แถมด้วยค่าตอบแทนพิเศษอีก 20% ของเงินเดือนทุกสิ้นปี หลังจากชั่งน้ำหนักในทางเลือกต่าง ๆ แล้ว วูก็ตัดสินใจร่วมงานกับโกลด์แมน แซคส์ในนิวยอร์ค เพื่อที่จะได้มีโอกาสหาความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการตราสารทางการเงิน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สำหรับตลาดตราสารที่ให้ผลตอบแทนคงที่

"ด้วยค่าเรียน 21,000 เหรียญต่อปี ทำให้หลักสูตร เอ็มบีเอ ของสปตนฟอร์ดไม่ถูกนัก แต่สำหรับผมแล้วถือว่าเป็นการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ ตอนที่ผมเป็นเรือตรีนั้นผมได้เงินเดือนก่อนหักภาษี 250 เหรียญต่อเดือน ปีนี้ผมจะได้เงินเดือนบวกโบนัส รวมแล้วเกินกว่า 100,000 เหรียญ" วูเปิดเผยถึงผลตอบแทนจากการลงทุนเรียนเอ็มบีเอ.

เอ็มบีเอ. กำลังเป็นวุฒิการศึกษาซึ่งเป็นที่หมายปองของผู้คนจำนวนมากขึ้นทุก ๆ ในขณะนี้ เพราะตอนนี้ธุรกิจของอเมริกาได้กลับมามีความต้องการจ้างนักบริหารมืออาชีพมากขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจของอเมริกาที่กลับมาดีอีกครั้ง

นักศึกษาเอเชียจำนวน 133,000 คนในอเมริกา มีอยู่ 15% ที่ตั้งเป้าไว้ที่การไขว่คว้าปริญญาโททางการบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะนักศึกษาจากญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นักศึกษา 750 คน ยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินคนละ 80 เหรียญสหรัฐ เพื่อเข้าร่วมนิทรรศการและประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการเรียนเอ็มบีเอ. ซึ่งจัดขึ้นที่โตเกียว โดยการสนับสนุนของ GRADUATE MANAGEMENT ADMISSION COUNCIL จากแคลิฟอร์เนีย

สถาบันแห่งนี้จะเป็นศูนย์บริหารการสอบ GRADUATE MANAGEMENT ADMISSION TEST หรือ GMAT การสอบที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมงนี้ เป็นด่านทดสอบด่านแรกสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีทั่วโลกและหวังจะไปเรียนต่อเอ็มบีเอที่อเมริกา

อีกสองวันต่อมา ก็ได้มีการจัดงานในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นที่ฮ่องกง และมีนักศึกษากว่า 1,000 คน ให้ความสนใจขอเอกสาร ข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครเรียน จากโรงเรียนบริหารธุรกิจของสหรัฐฯ 78 แห่งที่ไปตั้งโต๊ะประชาสัมพันธ์ในงาน

"จากจำนวนนักศึกษาเอเซียที่สมัครสอบ GMAT ที่สูงมาก (35,000 คนในปี 1994) ทำให้เรารู้ว่า หลักสูตรการบริหารธุรกิจระดับปริญญาโทนั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก" จูลี่ โดลัน กรรมการผู้จัดการของสถาบัน GMAT กล่าว

การที่นักศึกษาเอเซียสมัครเข้าเรียนเอ็มบีเอ. มากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประชากรในโรงเรียนบริหารธุรกิจของสหรัฐฯ ที่ WILLIAM E. SIMON GRADUATE SCHOOL ของมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ อัตราส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของนักศึกษาเป็นคนเอเซีย และที่คาร์เนกี้ เมลล่อน กับสถาบันเทคโนโลยี แมสซาชูเซสต์ หรือ เอ็มไอที ซึ่งโด่งดังเรื่องการบริหารในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมมีนักศึกษาเอเซียในสัดส่วน 15 และ 21 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุด ดูเหมือนจะเกิดขึ้นที่ยูเอสซี ซึ่งได้สร้างหลักสูตรเอ็มบีเอ สำหรับคนที่ทำงานแล้วในระดับบริหาร ใช้เวลาเรียนเพียงปีเดียวเพื่อตอบสนองความต้องการของนักบริหารวัย 30 กว่า ๆ จากชาติต่าง ๆ ปรากฏว่ากว่าครึ่งหนึ่งของนักศึกษา 48 คนมาจากเอเชีย

ริชาร์ด ดรอบนิค ผู้อำนวยการโครงการศึกษาและวิจัยทางธุรกิจของยูเอสซีเปิดเผยว่า "ผู้ที่เข้ามาเรียนเอ็มบีเอส่วนใหญ่ ได้ทุนจากนายจ้าง ซึ่งมองเห็นว่าพวกเขามีศักยภาพที่จะรับหน้าที่การบริหารที่สูงขึ้น"

หลักสูตรเอ็มบีเอ. ของสหรัฐอเมริกาเป็นหลักสูตรที่ดีที่สุดและมีชื่อสียงมากที่สุดอาจเป็นเพราะว่า อเมริกาซึ่งเป็นต้นธารของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ เป็นจุดกำเนิดของเอ็มบีเอ. และมีระยะเวลาเพียงพอที่จะพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร

แต่ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งก็คือความพร้อมในเรื่องเงินทุน มหาวิทยาลัยในสหรัฐลงทุนในเรื่องของทรัพยากร เครื่องไม้เครื่องมือ สิ่งอำนวยความสะดวกสบายและคณาจารย์มากกว่ามหาวิทยาลัยในเอเซียซึ่งบางแห่งยังคงถูกแทรกแซงจากรัฐบาล

นอกจากนั้นคุณภาพด้านการสอนของอาจารย์ในสหรัฐฯ ก็ดูจะดีกว่าที่อื่นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยดัง ๆ จะมีมุมมองแนวความคิดในเชิงโลกานุวัตร และเคยมีประสบการณ์ในโลกธุรกิจมาแล้ว

ข้อสำคัญคือ ผู้ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้ายังจะได้ประโยชน์ในการทำงานกับบริษัทดี ๆ เพราะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทพวกนี้มักจะอยู่ในแวดวงของศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน

แต่สำหรับพรเลิศ รัตนันท์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอส ซี เอฟ จำกัด เขาเห็นว่า การศึกษาในมหาวิทยาลัยในเอเซีย จะนำมาซึ่งสายสัมพันธ์ที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม คนที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยในเอเซีย ก็ยังมองเห็นคุณค่าของเอ็มบีเอ. จากอเมริกา เบ็ตตี้ จีน แกรน ผู้จัดการฝ่ายฝึกอบรมและพัฒนาของบริษัทฮ่องกง เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด กล่าวว่า เมื่อพนักงานมาขอคำแนะนำเกี่ยวกับหลักสูตร เอ็มบีเอ. เธอมักจะแนะนำมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ ถ้าพนักงานคนที่ถามมีแผนที่จะเปลี่ยนงานในอนาคตด้วย เพราะชื่อมหาวิทยาลัยเหล่านั้น จะสร้างความประทับใจให้กับนายจ้างในอนาคตได้มากกว่า

มีเหตุผลมากมายที่นักศึกษาทั้งหลายจะไขว่คว้าปริญญาเอ็มบีเอ. มาไว้กับตัว สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เรื่องเงิน โดยผู้จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อของอเมริกา จะได้เงินเดือนแรกเริ่มมากกว่า 60,000 เหรียญต่อปี และถ้าเป็นคนที่มีความสามารถพิเศษหรือมีแววมากกว่าคนอื่น ๆ เงินก้อน 10,000 เหรียญที่จ่ายทันทีเมื่อเซ็ญสัญญาจ้างงาน ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ในการสำรวจเรื่องเงินเดือนของพนักงานสตรี ริต้า มัลโดนัลโด แบร์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านการเงินแห่ง STERN SCHOOL OF BUSINESS ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ได้เปรียบเทียบเงินเดือนเริ่มต้นของลูกศิษย์ที่เป็นผู้หญิง ซึ่งเรียนจบไปจากที่นี่ กับระดับเงินเดือนเฉลี่ยก่อนที่จะสอบเข้ามาเรียนได้ พบว่าหลังจากจบเอ็มบีเอ. แล้ว เงินเดือนเพิ่มขึ้น 16%

เอ็มบีเอ. ยังแผ้วถางทางให้เปิดกว้างขึ้นอาซัด จูมับฮอย กรรมการผู้จัดการของไลออน ซิตี้ โฮลดิ้งของสิงคโปร์ ซึ่งจบมาจาก SLOAN SCHOOL OF MANAGEMENT ของเอ็มไอที บอกว่า "ผมไม่เคยจ้างคนโดยดูแต่ปริญญาอย่างเดียว แต่สำหรับคนที่จบเอ็มบีเอ. มา ผมถือว่าได้รับการตระเตรียมมาสำหรับตำแหน่งบริหารระดับสูงถือเป็นข้อยกเว้น เอ็มบีเอ. กลายเป็นสิ่งจำเป็นเหมือนเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ใช้แก้ไขปัญหาธุรกิจ"

ตอนแรก ๆ โครงสร้างของหลักสูตรเอ็มบีเอ. มีอยู่สองกระแสที่แตกต่างกันกระแสหนึ่งนั้นมาจากมหาวิทยาลัยชิคาโกซึ่งจะเน้นไปที่การบัญชี และทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ส่วนกระแสที่สองเน้นการเรียนการสอนโดยอาศัยกรณีศึกษา ยกเอาสถานการณ์จริง ๆ มาถกเถียงหาข้อสรุป ซึ่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเป็นผู้บุกเบิก ต่อมาได้มีการประสานแนวทางทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักสูตรมาตรฐานในปัจจุบันที่มุ่งสร้างโอกาสในการยกระดับหน้าที่การงานของนักศึกษามากกว่าหลักวิชาการ

หลังจากผ่านการเรียนวิชาบังคับของหลักสูตรที่ใช้เวลา 2 ปี นักศึกษาสามารถเลือกเรียนวิชาที่สอดคล้องกับเป้าหมายของตนได้ วิชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การเงิน ซึ่งสอนการประเมินราคาหุ้น พันธบัตร ตราสารประเภทต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เรียกว่า "อนุพันธ์การเงิน" (DERIVATIVES)

แม้ว่าหลักสูตรเอ็มบีเอ. จะดูคล้าย ๆ กัน ทว่าแต่ละมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ ก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน เช่น มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ค กับวาร์ตัน สกูลของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียเชี่ยวชาญด้านการเงิน ส่วนมหาวิทยาลัยนอร์ท เวสเทอร์น, ดุ๊ก และนอร์ท แคโรไลน่า มีชื่อในเรื่องการตลาด สำหรับมหาวิทยาลัยเท็กซัสและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอส แอลเจลิสหรือยูซีแอลเอ ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตเถ้าแก่ เจ้าของกิจการจำนวนมากในขณะที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนเหมาะสำหรับ นักบริหารในกิจการอุตสาหกรรมและแรงงานสัมพันธ์

ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติคไปที่ปารีสก็มี EUROPEAN INSTITUTE OF BUSINESS ADMINISTRATION หรือ INSEAD ที่เน้นในเรื่องการวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ นักศึกษาที่นี่ต้องเรียนภาษาต่างประเทศอย่างน้อยสองภาษา

แต่ถ้าลองสุ่มถามพวกซีอีโอดูว่า เอ็มบีเอ. ที่ดีที่สุดในโลกอยู่ที่ไหน ส่วนใหญ่จะตอบเหมือนกันว่า ต้องยกให้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี 1885 คือ ลีแลนด์ สแตนฟอร์ด มหาเศรษฐีเจ้าของกิจการรถไฟ ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย สแตนฟอร์ดตั้งอยู่ที่เมืองพาโล อัลโต ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างซานฟรานซิสโกและซิลิคอน แวลลี่ย์ มีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 3,300 เฮคเตอร์ ซึ่งมีจุดเด่นที่ต้นยูคาลิปตัสสูงเสียดฟ้ากับอาคารรูปทรงสเปน แต่สินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดของสแตนฟอร์ดคือ คณะบริหารธุรกิจ ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารที่ออกแบบโดยเน้นประโยชน์ใช้สอยมากกว่าความสวยงาม อาณาบริเวณโดยรอบดูแปลกแยกจากบรรยากาศแบบชนบทของส่วนอื่น ๆ แต่มันสมองที่หลักแหลมที่สุดจากสองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิคอยู่ที่นี่

"ที่นี่มีบรรยากาศที่จะช่วยเสริมสร้างจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ และก็มีชื่อด้านวิชาการโด่งดังในระดับโลกด้วย" ไอแวน รามอส วัย 26 คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ "ฟิลิปปินส์ สตาร์" และเป็นนักศึกษาเอ็มบีเอ. ที่นี่กล่าว เขาเคยเป็นผู้จัดการทั่วไปของเครือข่ายร้านฟาสฟู้ดส์ในมนิลาที่ใช้ชื่อว่า "โตเกียว-โตเกียว" รามอสบอกว่า "สถาบันการบริหารแห่งเอเชีย (ASIAN INSTITUTE OF MANAGEMENT) ความจริงก็เป็นสถาบันที่ดี แต่ไม่เป็นที่รู้จักกันนอกฟิลิปปินส์ ความเป็นนักศึกษาเอ็มบีเอ. ของสแตนฟอร์ดเป็นอะไรที่มีความหมายมากกว่า"

การแข่งขันเพื่อเข้าเรียนในสแตนฟอร์ดเป็นไปอย่างเข้มข้น สำหรับปีนี้มีนักศึกษาถึง 4,600 คนที่ยื่นใบสมัคร ในขณะที่มีที่นั่งเพียง 360 ที่เท่านั้นสำหรับการเรียนในปีแรก แม้ว่าการสอบเข้าเรียนที่สแตนฟอร์ดนี้จะพิจารณาถึงผลการสอบ GMAT เหมือนที่อื่น ๆ แต่ปัจจัยอื่น ๆ มีความสำคัญกว่า แมรี่ มูกีนี่ ผู้อำนวยการด้านการคัดเลือกผู้เข้าเรียนเอ็มบีเอ กล่าวว่าทางสแตนฟอร์ดจะดูถึงศักยภาพด้านการบริหารที่จะแสดงออกมา ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหารมาก่อน แต่ต้องแสดงให้เห็นว่ามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

สิ่งที่สแตนฟอร์ดให้ความสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งคือ ความหลากหลายของนักศึกษา ไม่เฉพาะแต่การมาจากส่วนต่าง ๆ ของโลกเท่านั้น (ร้อยละ 9 ของนักศึกษาในแต่ละชั้น เป็นคนเอเชีย ส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น) แต่ยังพิจารณาถึงภูมิหลัง พื้นฐานอาชีพ แม้ว่านักศึกษาเกือบ 1 ใน 3 ส่วนใหญ่จะมาจากวงการวาณิชธนกิจและที่ปรึกษาการบริหาร แต่ในชั้นเรียนก็ยังมีคนที่เป็นนักบวช นักบินเครื่องบินรบ นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิค และหัวหน้าพนักงานต้อนรับของสายการบินแจแปนแอร์ไลน์เรียนรวมกันด้วย

"ทุกคนที่มาที่นี่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ประสบความสำเร็จ คุณค่าของโครงการเอ็มบีเอที่ดีไม่ใช่อยู่ที่ว่าคุณจะเรียนอะไรจากอาจารย์ได้เพียงใด แต่อยู่ที่สิ่งที่นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนกัน" จูน อุย วัย 27 กล่าวไว้ เขาเคยเป็นผู้จัดการโครงการของบริษัท อินเทล เทคโนโลยี่ จำกัดที่ปีนัง

ในแง่ของการเรียนการสอนนั้น การสนับสนุนนักศึกษาให้ทำงานเป็นทีม ช่วยในเรื่องการปรับตัวด้านวัฒนธรรมได้ดี อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาด้านภาษาอยู่ แม้แต่ผู้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก ก็ยังงงเมื่อคำว่า "แรงจูงใจของพนักงาน" (EMPLOYEE'S MOTIVATION กลายเป็นคำว่า "ความคาดหวังในผลการปฏิบัติงาน" (PERFORMANCE-OUTCOME EXPECTION) รวมทั้งศัพท์เทคนิคในเชิงบริหารธุรกิจอีกมากมาย

เป้าหมายของทุกหลักสูตรเอ็มบีเอ. ก็คือ การสร้างระบบความคิดอย่างมีหลัก รู้จักวิเคราะห์เหตุการณ์ด้วยเทคนิคเชิงปริมาณ แทนการมองและตัดสินปัญหาด้วยสัญชาตญาณ ไมเคิล สเปนซ์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจของสแตนฟอร์ดกล่าวว่า "เราพยายามสร้างกรอบในการวิเคราะห์ให้กับนักศึกษา เพื่อที่เขาจะได้นำไปใช้สำหรับการตัดสินใจในวันข้างหน้า คนที่จบเอ็มบีเอ. ควรจะสามารถเข้าใจโลก มองเห็นการเปลี่ยนแปลง และปรับใช้เป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจได้"

คนที่จบมาจากสแตนฟอร์ดได้เปรียบในการหางานทำ ในช่วงระยะเวลาเพียง 3 เดือน ร้อยละ 95 ของนักศึกษารุ่นที่จบปี 1993 สามารถหางานที่มีเงินเดือนเฉลี่ย 65,000 เหรียญต่อปีได้ แต่บางคนความสำเร็จก็เริ่มตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ อย่างเช่นฟิลิปส์ ไนท์ ตอนที่เรียนอยู่ปี 2 เขาสังเกตว่ามีนักจ๊อกกิ้งเพิ่มมากขึ้น เขาจึงลองร่างแผนการจัดตั้งบริษัทขายรองเท้าวิ่งขึ้นมา พอเรียนเอ็มบีเอ. จบ ไนท์ก็หยิบโครงการมาปัดฝุ่น นำไปเสนอแก่นักลงทุน และในที่สุดก็เกิดเป็นบริษัทไนกี้ขึ้นมา

สแตนฟอร์ดยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเอเชีย บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น 12 แห่ง ส่งผู้บริหารที่เก่งที่สุดมาเรียนเอ็มบีเอ. ที่นี่อย่างสม่ำเสมอ บริษัทอย่างซันวา มัตสุชิตะ และธนาคารเพื่อการอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นก็เคยบริจาคเงินให้กับสแตนฟอร์ดถึงรายละ 1 ล้านเหรียญ นอกจากนั้นสแตนฟอร์ดยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งได้ร่วมกันจัดโครงการสัมมนาระดับบริหารเป็นเวลา 3 สัปดาห์ มาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว

คนเอเชียที่เคยไปเรียนต่างประเทศพบว่า ภูมิหลังแบบหลายวัฒนธรรมของตนนั้น ได้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าของบริษัทข้ามชาติอเมริกัน บริษัทอย่าง แม็คคินเซย์, แอปเปิล คอมพิวเตอร์, ซาโลมอน บราเธอร์ส, 3 เอ็ม, ฟอร์ดและคอมแพ็ค คอมพิวเตอร์ ล้วนมีซีอีโอซึ่งพูดได้ 2 ภาษา เกิดต่างแดนและมีชื่อเสียงจากผลงานในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทในเอเซีย ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการพัฒนาความเป็นโลกานุวัตรของผู้บริหาร ความผิดหวังอย่างยิ่งยวดข้อหนึ่งของผู้ที่จบเอ็มบีเอ. จากอเมริกามาหมาด ๆ ก็คือบริษัทเอเซียช่างมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องอาศัยความสามารถของพวกเขาเสียบ้างเลย

แต่ปัญหานี้ก็อาจจะคลี่คลายไปได้ เมื่อจำนวนคนเอเซียที่จบเอ็มบีเอ. มีมากขึ้นและเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เติบโตขึ้นต่อไป "คนเอเซียอาจจะมีระบบคุณค่าที่ต่างออกไปจากโลกตะวันตก แต่ในที่สุดแล้วพวกเขาก็จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม การต่อต้านการผูกขาด และการบริหารแรงงานเหมือนอย่างที่อเมริกาเจอในทุกวันนี้" วู คาดการณ์เอาไว้เช่นนี้และเมื่อวันนั้นมาถึง คนอย่างวูและผู้สำเร็จเอ็มบีเอ. คนอื่น ๆ ก็พร้อมแล้วที่จะเข้ามาจัดการกับปัญหา

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us