ความไร้ประสิทธิภาพ การบริหารที่ผิดพลาด จำนวนพนักงานที่มากเกินความจำเป็น
ล้วนแต่เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐวิสาหกิจจีน ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งทศวรรษในการสะสาง
เดวิด อึ้ง ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารจากบริษัทอาร์เธอร์ แอนเดอร์เซ่น
แอนด์ โค มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานเหล็กของรัฐบาลจีนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สิ่งที่เขาได้พบก็คือ
ระบบการบริหารที่เทอะทะ อุ้ยอ้าย มีฝ่ายงานและแผนกเกิดขึ้นมากมาย มีการทำงานที่ซ้ำซ้อน
เหลื่อมล้ำกัน ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานมีสัดส่วนถึง 10% ของรายได้ปีละ 230
ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อุตสาหกรรมแบบเดียวกันในประเทศทางตะวันตกมีค่าใช้จ่ายด้านนี้เพียง
7% ของรายได้เท่านั้น
อึ้งกล่าวว่า ความต้องการรักษาสถานะเดิม ๆ ทำให้เกิดความเฉื่อยชา แต่ในที่สุด
โรงงานนี้ก็ต้องยอมละความพึงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ เมื่อพบว่า การปรับองค์กรให้มีขนาดเล็ก
และเรียวลง สามารถประหยัดเงินได้ถึง 7 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
ความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารที่อึ้งมองเห็นนี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐวิสาหกิจของจีนเกือบครึ่งหนึ่งขาดทุน
นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า หน่วยงานเหล่านี้แบกหนี้สินไว้รวมกันมูลค่าถึง
70,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสาขาในฮ่องกงของเมอร์ริล ลินช์คำนวณว่าเท่ากับ
2.7 เท่าของเงินทุนของระบบธนาคารในจีนทั้งหมด
แม้ว่าจะมีรัฐวิสาหกิจบางแห่งกำลังปรับตัวรับการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่ถ้าจะฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่แล้วจะต้องใช้เงินอัดฉีดจำนวนมาก
และต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาถึงหนึ่งทศวรรษหรือมากกว่านั้นจึงจะบรรลุเป้าหมาย
ปัญหาเริ่มต้นตั้งแต่การขาดแคลนความรู้ทางการตลาดและเงินทุน จนกระทั่งถึงค่าจ้างเงินเดือนที่สูงและเทคโนโลยีที่ล้าสมัย
ปัญหาที่ยากยิ่งที่สุดก็คือ การเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้บริหารที่ส่วนใหญ่เป็นคนแก่
ซึ่งเคยชินกับการทำหน้าที่ผู้ผลิตเพียงอย่างเดียว ปล่อยให้งานด้านการจัดจำหน่ายเป็นเรื่องของคนอื่น
แต่เมื่อมาถึงวันนี้ พวกเขาได้รับการบอกกล่าวอย่างกระทันหันว่า ต้องเป็นคนรับหน้าที่ทั้งหมดเอง
"พวกเขายังเคยชินกับการทำงานในระบบเก่า ไม่สามารถปลดปล่อยความคิดของตัวเองได้
พวกเขามีจิตใจที่คิดแต่จะพึ่งพาอาศัยรัฐเพียงอย่างเดียว" วู ชุนหยูแห่งคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยต้าเหลียนกล่าว
มิโค ฉุง กรรมการบริหารของบริษัท ไชน่า สตราเตรจิค อินเวสท์เมนท์ หรือ
ซีเอสไอ (CHINA STRATEGIC INVESTMENT - CSI) ซึ่งเป็นบริษัทที่ซื้อกิจการรัฐวิสาหกิจจีนเกือบ
200 แห่งกล่าวว่า ปัญหาของอดีตผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเหล่านี้คือ การปรับตัวให้เข้ากับระบบการทำงานในภาคเอกชน
บางคนยังพยายามค้ำประกันหนี้ของอดีตหุ้นส่วนของโรงงาน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันแล้ว
ฉุงบอกว่า พวกเขาอยู่ภายใต้ร่มธงเดียวกันของรัฐมาเป็นเวลานับทศวรรษ ทำให้ยังมีความผูกพันกับอดีตเพื่อนร่วมงานอยู่
แม้จะมีแต่ปัญหาน่าปวดหัว แต่ในบรรดาผู้บริหารเหล่านี้ก็ยังมีหลาย ๆ คนที่สร้างความประทับใจให้กับฉุง
พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้เร็วเมื่อได้รับการอบรม มีความฉลาดเฉลียว สามารถตอบสนองต่อความเป็นจริงแบบใหม่ได้ดี
"ผู้จัดการบางคนของเรา ทำงานดีกว่าผู้จัดการในฮ่องกงเสียอีก ผู้จัดการในโรงงานกระดาษของเรา
เป็นคนเก่งที่สุดคนหนึ่งที่เรารู้จัก" ฉุงเล่าให้ฟัง
ซีเอสไอมีนโยบายคงผู้บริหารเดิมที่เป็นคนจีนในท้องถิ่นไว้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนงาน
ทั้งผู้บริหารและคนงานมีการตอบสนองที่ดีกับแรงจูงใจเมื่อซีเอสไอเข้าครอบครองกิจการของบริษัท
หังโจว จองซี เบียร์ พบว่าเบียร์ที่ผลิตออกมาแล้วเสียถึง 15% จึงเสนอว่า
หากสามารถลดการสูญเสียลง คนงานจะได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวน 50% ของต้นทุนที่ประหยัดได้
ปรากฏว่าภายใน 4 เดือน อัตราการสูญเสียลดลงเหลือเพียง 7% เท่านั้น
บริษัทที่ปรึกษาทางการบริหาร แม็คคินเซย์ ซึ่งกำลังช่วยปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ
4 แห่งในเซี่ยงไฮ้ ภายใต้โครงการช่วยเหลือของธนาคารโลก ก็มีความประทับใจจากรัฐวิสาหกิจบางแห่ง
จากการศึกษาของแม็คคินเซย์เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่าโรงงานผลิตเหล็กกล้าของจีนมีมาตรฐานไม่แพ้โรงงานของประเทศอื่น
ๆ ในเอเซีย ยกเว้นญี่ปุ่น
การปฏิรูปในด้านความเป็นเจ้าของกิจการก็มีความคืบหน้าด้วย ต้าเหลียน ดีพาร์ทเม้นสโตร์
ได้แปลงสภาพจากรัฐวิสาหกิจที่รัฐเป็นเจ้าของทั้งหมด มาเป็นบริษัทที่มีหุ้นส่วนอื่น
ๆ ด้วย โดยขายหุ้น 33% ให้กับพนักงานเมื่อเดือนมกราคมปีกลาย
ในปีที่แล้ว บริษัททำกำไรได้ 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เพียง 6 เดือนแรกของปีนี้มีกำไรแล้ว
1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่มีการเปลี่ยนปรัชญาการให้บริการของห้าง โดยใช้คำขวัญว่า
"ลูกค้าคือพระเจ้า"
"พื้นฐานโดยธรรมชาติของบริษัทได้เปลี่ยนไป เพราะผู้ถือหุ้นคือพนักงาน
และพวกเขาต่างให้ความสนใจกับการทำงานอย่างจริงจัง" หลี กุย ผู้จัดการทั่วไปกล่าวและเสริมต่อไปว่า
"ถ้าทุกรัฐวิสาหกิจทำได้ตามระบบนี้เราก็มีความหวัง"