การปฏิรูปเศรษฐฏิจในจีน จากเศรษฐกิจที่วางแผนและควบคุมจากส่วนกลางไปสู่เศรษฐกิจเสรีตามกลไกตลาด
จะทำให้เศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและจะส่งผลในทางบวกต่ออนาคตของภูมิภาคเอเซีย
แปซิฟิค
แต่ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง ประเทศต่าง ๆ และบริษัทในภูมิภาคนี้ที่เดิมพันผลประโยชน์ไว้กับอนาคตของจีน
มีภาระที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาใหญ่ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์ไปแล้ว
นั่นคือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะบริหารธุรกิจสมัยใหม่
เมื่อจิน เหวิ่น ผู้ช่วยคณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเจียทง ในเซี่ยงไฮ้
วัย 42 ปี ถูกถามถึงความช่วยเหลือทางด้านการบริหารของต่างประเทศที่มีต่อประเทศจีน
เขาก็มีอาการเลือดขึ้นหน้า เพราะตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 เขาก็เริ่มที่จะสูญเสียอาจารย์ของคณะเกือบ
100 คน ให้กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และในขณะนี้ อาจารย์หลาย ๆ คนก็กำลังถูกว่าจ้างจากบริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในจีน
"การร่วมลงทุนกับต่างชาติก็เหมือนการวิดน้ำออกจากบ่อเพื่อที่จะจับปลา"
จินบ่น "ในระยะสั้นพวกเขาสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อย่างมหาศาล แต่ผมไม่รู้ว่าถ้าเมื่อไรที่คนเหล่านี้เหนื่อยอ่อน
เขาจะไปหาผู้บริหารมาจากไหน"
ในบริษัทและโรงงานทั่วประเทศจีนผู้บริหารระดับสูงที่มีหน้าที่ต้องแก้ปัญหาทางด้านบุคลากร
อยู่ในสภาพเหมือนกับที่คนจีนมีคำพูดว่า "พรวนดินด้วยเข็ม"
เจิน เชาเลียน คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฟูตานกล่าวว่า มีบริษัทหนึ่งในเซี่ยงไฮ้
ที่ประกาศรับสมัครผู้จัดการทั่วไป แต่ในจำนวนผู้สมัคร 8,000 คน ไม่มีคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมแม้แต่รายเดียว
"เซี่ยงไฮ้น่าจะเป็นเมืองที่มีประสบการณ์ทางด้านเศรษฐกิจแบบตลาดมากกว่าที่อื่น
แต่แม้กระทั่งบริษัทธุรกิจที่นี่ก็ยังล้าสมัย" เจินกล่าว
จนถึงทุกวันนี้ ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแห่งนี้ ผลิตบุคคลากรปริญญาโททางด้านการบริหารได้เพียง
450 คนเท่านั้น นี่เป็นการประมาณโดยสถาบันการบริหารจีน-ยุโรป หรือ ซีอีเอ็มไอ(CEMI-CHINA-EUROPE
MANAGEMENT INSTITUTE) ที่ตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ผู้สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการของประชาคมยุโรปในปักกิ่ง
และจากโครงการของสหรัฐฯ ในต้าเหลียน ซึ่งโครงการหลังนี้ต้องยุติลง หลังเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี
1989
ซีอีเอ็มไอประเมินว่ามีคนจีนอีกประมาณ 300 คนที่จบปริญญาโททางการบริหารจากต่างประเทศ
แต่จากการเปรียบเทียบแล้ว เฉพาะที่วิทยาลัย เฮนเลย์ แมนเนจเมนท์ คอลเลจ ของประเทศอังกฤษในฮ่องกง
มีนักศึกษาถึง 500 คน ที่ลงเรียนปริญญาโททางการบริหารนอกเวลางาน
"ประเทศจีนกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการบริหาร" JAN BORGONJON
ผู้อำนวยการซีอีเอ็มไอกล่าว
ปัญหาด้านการอบรม และการว่าจ้างบุคคลากรในเมืองจีนที่รุมเร้าคนอย่างจิน,
เจิน และคนอื่น ๆ ที่ต้องทำหน้าที่ในการตัดสินใจทางการบริหาร จะส่งผลสะเทือนในขอบเขตที่กว้างไกลออกไปเกินประเทศจีน
เพราะการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจขนาดมหึมาของจีนนั้น มีความหมายอย่างยิ่งต่อโฉมหน้าของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
หากสามารถเอาชนะอุปสรรคได้ เศรษฐกิจของจีนก็จะมีขนาดเกือบใหญ่ที่สุดในโลก
ในทศวรรษที่สองของศตวรรษหน้า และธุรกิจในภูมิภาคนี้ก็จะได้รับอานิสงค์อย่างใหญ่หลวง
แต่การที่จีนจะเป็นประเทศที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ นอกเหนือจากความได้เปรียบในเรื่องของตลาดแรงงานแล้ว
ประเทศนี้จะต้องมีการผลิตบุคคลากรทางด้านการบริหารที่มากขึ้นและดีขึ้นกว่าเดิม
หาไม่แล้ว ประเทศจีนรวมทั้งเอเซียตะวันออกก็ยากที่จะบรรลุถึงความหวังสวยหรูที่กำลังส่องประกายเรืองรองในขณะนี้ได้
หากลองพิจารณาจากส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจเพียงส่วนเดียว ก็พอจะมองเห็นความหนักหนาสาหัสของปัญหาที่ประเทศจีนกำลังเผชิญอยู่
หัวใจสำคัญของการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน คือการยกเครื่ององค์กรที่เป็นของรัฐที่อุ้ยอ้าย
งุ่มง่ามและไร้ประสิทธิภาพ
จาก 108,000 องค์กรที่ว่าจ้างคนงาน 110 ล้านคน มีผลผลิตในสัดส่วน 50% ของผลผลิตอุตสาหกรรมของจีนเมื่อปีกลายเกือบครึ่งขององค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรที่ไม่ได้สร้างกำไร
และ 1 ใน 3 ขององค์กรที่ไม่ทำกำไรนี้ เนื่องมาจากการว่าจ้างแรงงานที่มากเกินความจำเป็น
งานวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งของบริษัทแม็คคินเซย์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาการบริหารระบุว่า
"เมื่อพิจารณาขนาดอันใหญ่โตของโครงการการปฏิรูปวิสาหกิจของรัฐ และจังหวะก้าวที่กำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็วในขณะนี้
โครงการนี้เป็นความพยายามครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในการเปลี่ยนแปลงสถาบันทางเศรษฐกิจ"
ภายใต้การบริหารโดยนายทหารสูงอายุ ภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการที่หนักอึ้งและเทคโนโลยีที่ล้าสมัย
ในปีที่แล้วมีตัวเลขอย่างเป็นทางการว่า รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้หน่วยงานเหล่านี้ไปเกือบ
4 พันล้านดอลลล่าร์สหรัฐ บริษัทแบริ่ง ซีเคียวริตี้ส์ (ฮ่องกง) ประเมินว่า
ผลขาดทุนรวมกันแล้วมากกว่า 6.5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ
จากการสำรวจองค์กรรัฐที่ขาดทุน 2,586 แห่งของหนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ ในเดือนมิถุนายน
พบว่า เหตุผลสำคัญของการขาดทุนคือการบริหารที่แย่มาก อีกการศึกษาหนึ่งซึ่งทำโดยแม็คคินเซย์พบว่าโรงงานผลิตผงซักฟอกของจีนใช้พนักงานมากกว่าโรงงานขนาดเดียวกันในประเทศตะวันตกถึง
10 เท่า
อุตสาหกรรมของรัฐตั้งความหวังกับมหาวิทยาลัยว่า จะเป็นแหล่งป้อนบุคคลากรที่มาช่วยแก้ปัญหา
แต่ในความเป็นจริง ระบบการศึกษาของจีนก็ไม่มีเงินทุนพอจะตอบสนองความต้องการนี้ได้
อาจารย์ระดับอาวุโสของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฟูตานจำนวน 21 คน ลาออกจากมหาวิทยาลัยในปีที่แล้วเพื่อไปทำงานให้กับภาคเอกชน
และที่ NATIONAL CENTER FOR MANAGEMENT DEVELOPMENT ของมหาวิทยาลัยต้าเหลียน
หยวน ไค เช็ง คณบดีวัย 62 ปี กำลังวิตกว่า อาจต้องเลื่อนกำหนดการเกษียณออกไป
เพราะคนที่เขาหมายตาไว้ให้รับช่วงต่อสองคน ได้ลาออกไปทำงานที่ต่างประเทศแล้ว
ระบบการศึกษาของจีนได้ผลิตนักศึกษาบริหารธุรกิจระดับปริญญาตรีนับพันคน
รวมทั้งผู้บริหารฝึกหัดระดับล่าง แต่บริษัทข้ามชาติที่ไปลงทุนในจีนบอกว่า
นักศึกษาเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกตระเตรียมมาสำหรับการทำงานกับบริษัทใหม่
บริษัทโมโตโรล่า (ประเทศจีน) ถึงกับต้องลงมือฝึกอบรมพนักงานใหม่ ในเรื่องพื้นฐานของการบริหารงานอย่างเช่น
การระดมสมอง การตั้งเป้าหมาย และการบรรลุเป้าหมาย
ปัญหาในเรื่องสมองไหลและการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นในเวลาที่การแข่งขันระหว่างวิสาหกิจของรัฐกำลังรุนแรงขึ้น
จากผลของการปฏิรูปเศรษฐกิจ
"ผมอาจจะสามารถหาเงินทุนมาได้ แต่ปัญหาคือ เราจะหาคนที่มีความสามารถในการที่จะใช้เงินนั้นในทางที่เกิดประโยชน์ที่สุดจากไหน"
เกา ข่วน ผู้จัดการของบริษัทต้าเหลียนพอร์ต เรลเวย์ ซึ่งเป็นบริษัทรถไฟ และการบริการทางด้านการขนส่งที่ท่าเรือต้าเหลียนซึ่งอยู่ห่างจากเซี่ยงไฮ้
900 กิโลเมตร กล่าว
หลี กุย ผู้จัดการทั่วไปของห้างสรรพสินค้าต้าเหลียนเสริมว่า "ปัญหาบางอย่าง
เช่น ความสัมพันธ์กับรัฐบาลหรือระบบการบริหาร อาจจะแก้ได้เมื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจคืบหน้าขึ้น
แต่ปัญหาขาดแคลนบุคคลากรที่มีประสบการณ์นั้นไม่ใช่แก้ได้ง่าย ๆ"
การปฏิรูปอย่างเร่งด่วนยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น ในสถานการณ์ที่ภาคเอกชนได้ก้าวล้ำเข้าไปในกิจกรรมบางอย่างที่วิสาหกิจของรัฐเคยมีบทบาทครอบงำอยู่
ซึ่งหลาย ๆ อย่างได้มีการดำเนินไปแล้ว แต่โครงข่ายผลประโยชน์ที่โยงใยกันอย่างซับซ้อน
ทำท่าว่าจะทำให้แผนการเหล่านี้ต้องหยุดชะงักลง (อ่านล้อมกรอบ)
ในระหว่างนี้ ผู้บริหารชาวจีนรุ่นที่เติบโตมากับระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางจีน
เริ่มต้นที่จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารในแบบตะวันตกอันซับซ้อน แต่ความเคยชินกับแนวทางปฏิวัติแบบเก่า
ๆ ก็ยากที่จะสลัดหลุดไปได้
บริษัท "ไชน่า สตราเตจิค อินเวสท์เมนท์" จากฮ่องกงซึ่งเข้าไปซื้อรัฐวิสาหกิจของจีน
200 กว่าแห่ง เรียนรู้ประสบการณ์นี้อย่างขึ้นใจ
มิโค ฉุง กรรมการบริหารคนหนึ่งของบริษัทยังจำที่เขาถามผู้บริหารจากแผ่นดินใหญ่คนหนึ่งถึงแผนการโฆษณา
ซึ่งได้รับคำตอบว่า "ในเมื่อเราสามารถขายของทั้งหมดได้อยู่แล้ว ทำไมจะต้องมีการโฆษณาอีก"
ถึงแม้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว ผู้จัดการเห็นด้วยกับการโฆษณา แต่ก็หลังจากที่ฉุงต้องอธิบายถึงประโยชน์ในการสร้างความภักดีต่อตรายี่ห้อ
อีกทั้งสามารถเพิ่มยอดขาย และยังจะสามารถขึ้นราคาและเพิ่มกำไรได้ในอนาคต
ความจำเป็นที่จีนต้องเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ทำให้ปัญหาในเรื่องการบริหารรุนแรงขึ้น
ปีที่แล้ว รัฐบาลจีนอนุมัติโครงการลงทุนจากต่างชาติ 8,300 โครงการ รวมมูลค่า
111 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมูลค่านี้เกือบเป็นสองเท่าของตัวเลขในปีที่แล้ว
เฉพาะโครงการเหล่านี้ก็ต้องใช้ผู้บริหารที่มีประสบการณ์ขนาดกองทัพน้อย
ๆ กองทัพหนึ่ง
ไม่ต้องพูดถึงการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่มีประสิทธิภาพ ที่ต้องการบุคลากรซึ่งผ่านการอบรมมาแล้วจำนวนมาก
ซึ่งหาไม่ได้ในประเทศที่อยู่ภายใต้ระบบสังคมนิยม ปิดตัวเองมายาวนานและมีการปกครองแบบเบ็ดเสร็จอย่างจีน
ตัวอย่างบุคลากรที่จำเป็นต้องมีแต่หาไม่ได้ เช่น
นักกฎหมาย ข้อบังคับแห่งกฎหมายคือ กติกาที่ดีในการทำธุรกิจระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกัน
นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ความซับซ้อนที่จำเป็นของกฎหมายธุรกิจและกระบวนการทางศาลที่ยอดเยี่ยมเป็นเหตุผลสำคัญในความสำเร็จอย่างยิ่งยวดของฮ่องกง
ในการที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจใหม่ของจีนเป็นไปด้วยดี การพัฒนาโครงสร้างของกฎหมายให้ทันสมัยขึ้นเป็นสิ่งที่จำเป็น
จู หลง จี รองนายกรัฐมนตรีของจีนกล่าวว่า จีนมีความจำเป็นต้องพัฒนานักกฎหมายประมาณ
300,000 คน ภายในปี 2000 ซึ่งในขณะนี้มีนักกฎหมายอยู่เพียง 50,000 คนเท่านั้น
นักบัญชี ด้วยเหตุผลที่คล้ายกัน จูประมาณว่า จีนมีความต้องการนักบัญชี
300,000 คน ในขณะที่สมาคมผู้สอบบัญชีของจีน (THE CHINESE INSTITUTION OF
CERTIFICATED PUBLIC ACCOUNTING) มีสมาชิกเพียง 38,000 คน และร้อยละ 80 ของนักบัญชีเหล่านี้มีอายุมากกว่า
60 ปี
"ถ้าเทียบมาตรฐานสากลแล้ว จีนต้องการนักบัญชี 1 ล้านคน ในศตวรรษหน้านี้
"เอริค ลี หุ้นส่วนใหญ่ของสำนักตรวจบัญชีในฮ่องกง "หลี, ตั้ง,
เฉิน แอนด์ โค" กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ปัจจุบันการปฏิเสธไม่ยอมออกวีซ่าให้ชาวต่างชาติหรือการตั้งข้อหาทางการเมืองแก่ชาวจีนโพ้นทะเลที่กลับไปเยี่ยมแผ่นดินเกิด
แทบจะไม่เกิดขึ้น ยกเว้นในบางกรณีเท่านั้น เป็นที่คาดกันว่า จำนวนชาวจีนในต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในจีนจะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้
หากทางการจีนให้ความสะดวก เช่นเดียวกับคนชาติอื่น รัฐบาลจีนได้ประกาศเมื่อปีที่แล้วว่าในปี
2537 และ 2538 จะมีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศเข้ามาทำงานในจีนประมาณ
140,000 คน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจีนจะวางแผนอย่างดีที่สุด แต่สิ่งที่ปรากฏก็ชี้ชัดว่าวิกฤตการณ์ทางการบริหารจะเลวร้ายสุดขีดก่อนที่จะอยู่ในสภาพดีขึ้น
การลงทุนจากต่างประเทศมีการขยายตัวที่เร็วและมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งทุกที่ต่างต้องการมืออาชีพทางการบริหาร
บริษัทจีนที่มีการบริหารที่ดีกว่าบริษัททั่ว ๆ ไป ต่างก็แข่งขันแย่งชิงตัวผู้บริหารที่มีประสบการณ์และบัณฑิตจบใหม่ด้วยเหมือนกัน
ยิ่งทำให้ทรัพยากรบุคคลที่มีจำกัด ยิ่งหายากขึ้นไปอีก
ในส่วนของอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างเต็มที่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมยา
บริษัทของคนจีนมีทางเลือกน้อยมาก นอกจากการปรับปรุงให้การบริหารทันสมัยยิ่งขึ้นเพื่อที่จะแข่งขันกับต่างชาติ
BORGONJON ผู้อำนวยการซีอีเอ็มไอ กล่าวว่า ตลาดอุตสาหกรรมยาในประเทศจีนเหมือนกับเป็นตลาดนานาชาติ
เพราะการไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากของการลงทุนของต่างชาติ เขารู้จักบริษัทยาของอเมริกาบริษัทหนึ่งที่ต้องการผู้จัดการฝ่ายขายต่างจังหวัด
30 คนโดยด่วน
"เขาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีในอเมริกา ต้องใช้เวลา 5 ปีสำหรับการสร้างคนในตำแหน่งนี้ขึ้นมาหนึ่งคน
เขาไม่รู้ว่าควรที่จะจ้างคนจีนในฮ่องกง และไต้หวัน หรือว่าจะฝึกคนในประเทศจีน
ภายใน 6 เดือนเพื่อที่จะให้คนเหล่านั้นมาเป็นผู้จัดการฝ่ายขายให้บริษัท"
ผู้อำนวยการซีอีเอ็มไอเล่า
เรื่องที่ตลกก็คือในขณะที่การล่าตัวคนของกิจการคู่แข่งกำลังระบาดไปทั่ววิสาหกิจของรัฐ
และกิจการร่วมทุนบางแห่งก็ตัดงบประมาณการฝึกอบรมคนงานลง
"เรายิ่งลงทุนในเรื่องของการอบรมทางด้านเทคนิคกับคนของเราเท่าไหร่
ก็ยิ่งขาดทุนเท่านั้น" เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งกล่าวกับหนังสือพิมพ์ไชน่า
เดลี่เมื่อปลายปีที่แล้ว
"มันเป็นการเอาเปรียบกันอย่างลับ ๆ พวกบริษัทร่วมลงทุนเหล่านี้เก็บเกี่ยวคนที่มีความสามารถขององค์กรของรัฐไปโดยไม่เคยจ่ายให้เราแม้สตางค์แดงเดียว"
แม้กระทั่งในต่างจังหวัด ก็เกิดศึกการแย่งชิงพนักงานขึ้นด้วย ที่งานแรงงานแห่งชาติครั้งแรกที่จัดขึ้นที่นครปักกิ่งปลายปีที่แล้ว
บริษัทจากเมืองชานตุง ตั้งเป้ากวาดบุคคลากร ทางด้านวิทยาศาสตร์ และช่างเทคนิค
ประมาณ 650,000 คนจากปักกิ่ง ด้วยการเสนออพาร์ทเม้นท์ 3 ห้องและส่วนแบ่ง
7 เปอร์เซนต์ของกำไรของบริษัท
การเติบโตที่มากขึ้นก็ยิ่งเร่งให้เห็นถึงปัญหาทางการบริหารที่ชัดขึ้น โมโตโรล่าลงทุนในจีนเริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย
แต่เพียง 3 ปีบริษัทมียอดขาย 1.53 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ จากจำนวนพนักงาน
2,000 คน ในต้นปีนี้คาดการณ์ว่าจะเพิ่มจำนวนเป็นเกือบ 5,000 คนตอนสิ้นปี
และจะเป็น 10,000 คนเมื่อสิ้นศตวรรษนี้
มีหนทางใดที่จะช่วยยกระดับการบริหารของอุตสาหกรรมและธุรกิจในจีน
จากการสำรวจความเห็นในกลุ่มผู้บริหารทั้งในและนอกประเทศจีนโดยนิตยสารเอเชีย
อิงค์พบว่า การเปลี่ยนแปลงขึ้นกับการช่วยเหลือจากหลาย ๆ ส่วนที่พอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้
-ผู้นำจีนจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณทางการศึกษา ในปี 2535 มีหลักสูตรทางการศึกษาระดับปริญญาโททางการบริหารใน
9 มหาวิทยาลัย และมีเพิ่มขึ้น 17 แห่งในปี 2536
การเพิ่มขึ้นของจำนวนหลักสูตรทางการศึกษา ขึ้นกับงบประมาณที่รัฐให้กับมหาวิทยาลัย
ไม่เพียงแต่ในเรื่องของจำนวนแต่ยังรวมถึงการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอของหลักสูตรเหล่านี้
เช่น ทางด้านการบัญชีและการเงินระหว่างประเทศ กฎหมายธุรกิจการบริหารอสังหาริมทรัพย์
และการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ในการที่จะเพิ่มประสบการณ์ และทักษะทางการบริหารให้กับผู้บริหารยังสามารถทำได้โดยการสร้างหลักสูตรพิเศษอย่างเช่น
โครงการเอ็มบีเอสำหรับผู้บริหาร
องค์กรของรัฐบาลที่ก้าวหน้าหน่อยกำลังเตรียมโครงการอบรมสำหรับอนาคตผู้จัดการที่บริษัทรถไฟต้าเหลียน
ต้องเข้ารับการอบรมอย่างน้อยปีละครั้ง ผู้จัดการอาวุโสอย่างน้อยปีละสองครั้ง
บริษัทไชน่า ปิโตรเลียม ซึ่งเป็นกิจการด้านพลังงานของรัฐ ก็พยายามที่จะอยู่ในทิศทางมุ่งสู่ศตวรรษหน้า
ด้วยการส่งผู้จัดการบริษัทน้ำมันของรัฐแห่งนี้เข้าเรียนปริญญาโททางการบริหารที่มหาวิทยาลัยต้าเหลียน
อย่างไรก็ตาม ยังมีดัชนีหลาย ๆ อย่างที่แสดงว่าผู้นำจีนรุ่นเก่าให้ความสำคัญทางการศึกษาน้อยมาก
ไม่เฉพาะกรณีศึกษาทางธุรกิจเท่านั้น แต่รวมถึงแขนงอื่น ๆ ด้วย ศาสตราจารย์เพอร์รี่
ลิงค์ แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ "EVENING
CHATS IN BEIJING" ในปี 2535 ว่า แม้ว่ามาตรฐานความเป็นอยู่ของคนจีนจะสูงขึ้นจาก
30% เป็น 40% ในระหว่างทศวรรษ 1980 อัตราการรู้หนังสือกลับสูงขึ้นเพียง 10%
จากในประวัติศาสตร์ ประเทศจีนได้เน้นหนักทางการศึกษามาโดยตลอด แต่ในขณะนี้
กลับอยู่ในกลุ่มประเทศที่ลงทุนด้านการศึกษาต่ำสุดของโลก
ในปี 2534 มีการลงทุนทางด้านการศึกษาของจีนเพียง 2.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ
ก่อนที่จีนจะสามารถผ่านพ้นศตวรรษที่ 21 นโยบายงบประมาณของจันจำเป็นต้องปรับปรุงอย่างถึงราก
นโยบายที่ใช้อยู่ในตอนนี้ เป็นนโยบายที่เหมาะกับ "การปฏิวัติและสงครามประชาชน"
ของกลางศตวรรษที่ 20 มากกว่า
นอกจากงบประมาณที่ไม่เพียงพอแล้ว หลักสูตรของหลาย ๆ มหาวิทยาลัยยังคงเน้นหนักไปที่อุตสาหกรรมหนักที่พ้นยุคไปแล้ว
เน้นแต่เรื่องทางเทคนิค
"พวกเขาสอนหลักสูตรทางด้านการบริหาร เหมือนกับหลักสูตรทางด้านวิศวกรรมศาสตร์"
อาจารย์ทางด้านการบริหารท่าหนึ่งกล่าว "ผมพยายามอธิบายว่า วัตถุประสงค์ของการเรียนการบริหารนั้น
คือการสอนทักษะในการแก้ปัญหา ซึ่งสำคัญกว่าทฤษฎีหรือความรู้ แต่ดูเหมือนว่าความคิดนี้จะขัดแย้งกับวิถีดั้งเดิมของพวกเรา"
หลาย ๆ บริษัทต่างบ่นถึง คณะกรรมการการศึกษาแห่งรัฐ หรือ STATE EDUCATIO
COMMISSION ที่อนุรักษ์นิยมจนเกินไป และมักจะเข้ามาแทรกแซงกับการวางหลักสูตรการอบรมการบริหารที่ทันสมัย
ในระดับปริญญาตรี หลักสูตรอย่างเช่น ความคิดทางด้านมาร์กซิสต์ เลนินนิสต์
ยังเป็นวิชาบังคับอยู่ และหลักสูตรทางการศึกษาระดับปริญญาโททางการบริหาร
ยังคงเน้นที่การวิเคราะห์เชิงปริมาณเป็นอย่างมาก เช่น สถิติ แต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับวิชาอย่างเช่น
การจูงใจและพฤติกรรมองค์กร ในทางกลับกันหลักสูตรที่ไม่ได้รับการสนใจเท่าที่ควรนี้กลับเป็นพื้นฐานของการบริหารสมัยใหม่
"ระบบการศึกษายังคงที่จะผลิตบุคคลากรที่ได้รับการอบรมในเชิงวิทยาศาสตร์
ที่มักจะทำตัวเป็นเครื่องมือที่ไม่มีจิตใจ และมีความสามารถที่จำกัด"
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการบริหารในจีนท่านหนึ่งกล่าว "ช่องว่างระหว่างสิ่งที่ระบบการศึกษาของจีนผลิตกับความต้องการของสังคมนั้นมีมาก"
บางทีรัฐบาลควรที่จะพยายามเปลี่ยนพื้นฐานความคิดที่ใช้การศึกษาในการควบคุมทางสังคม
การที่มหาวิทยาลัยทางการบริหารหลายแห่งไม่มีวิชาทางด้านทักษะการบริหารนั้น
อาจเนื่องจากผู้ที่บริหารมหาวิทยาลัยมีประสบการณ์ทางด้านทฤษฎีเท่านั้น
-โครงสร้างเงินเดือนของบริษัทคนจีนรวมทั้งองค์กรของรัฐต้องสอดคล้องกับ
กลไกตลาด
หนึ่งในหลักเกณฑ์พื้นฐานของตลาดคือ "คุณจะได้รับในสิ่งที่คุณจ่าย"
องค์กรของบริษัทในจีนจะไม่มีทางได้รับบุคคลากรที่มีความสามารถ จนกว่าจะรู้จักเริ่มต้นที่จะจ่ายให้กับมัน
มีสัญญาณที่บอกให้รู้ว่า เริ่มที่จะมีบริษัทที่ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้
บริษัทต่างชาติที่จะเผชิญกับการแข่งขันที่ไม่สูงในเรื่องของการประมูลนักศึกษาที่จบทางด้านการบริหาร
แต่ในปัจจุบันบริษัทโบรกเกอร์แห่งหนึ่งในเซินเจิ้น เสนอเงินเดือน ๆ ละ 1,200
เหรียญสหรัฐฯ แก่บัณฑิตจบใหม่ด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยชิงหัวในปักกิ่ง
ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ยสำหรับนักศึกษาใหม่ทั่ว ๆ ไปถึง 5 เท่า
บริษัทกวางเจา ชิปยาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ได้รับความสำเร็จในการดึงนักศึกษาเรียนดีในระดับปริญญาโท
โดยการเสนอผลตอบแทนที่สูงที่พักอาศัยอย่างดี และเงื่อนไขด้านสถานะ-หน้าตา
ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในสังคมจีน ด้วยการมอบตำแหน่ง ความรับผิดชอบในระดับผู้บริหารให้
ในขณะที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ถ้าเทียบกับมาตรฐานเรื่องวัยของผู้บริหารในบริษัทตะวันตก
-บริษัทต่างชาติและประเทศอื่น ๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับอนาคตของจีนต้องร่วมแบกรับภาระในการปฏิรูปด้วย
หนึ่งในการเริ่มต้นที่สำคัญคือ การจัดตั้งโรงเรียนบริหารธุรกิจในมาตรฐษนสากลที่จะเริ่มดำเนินการในเมืองเซี่ยงไฮ้ปีหน้า
โดยความร่วมมือระหว่างซีอีเอ็มไอ และคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยเจียทง
ซึ่งขณะนี้กำลังรอการอนุมัติขั้นสุดท้าย
เป้าหมายของโรงเรียนนี้คือ การพัฒนาการเรียนการสอนทางด้านการบริหารของประเทศจีน
โดยหวังว่าจะดึงนักวิชาการจีนในต่างประเทศกลับมาเป็นอาจารย์ โครงการนี้สร้างอยู่บนพื้นที่
40,000 ตารางเมตร เริ่มก่อสร้างต้นปีหน้า ในเขตผู้ตงของเซี่ยงไฮ้ สามารถรับนักศึกษาเอ็มบีเอได้
60 คนในระยะแรก และ 30 คนในหลักสูตรสำหรับผู้บริหาร
ที่สำคัญไปมากกว่านั้น การยอมรับโครงการร่วมของรัฐบาลจีนครั้งนี้ จะเป็นการเริ่มต้นของความตั้งใจในการเปิดประตูสู่การลงทุนจากต่างชาติในเรื่องการศึกษาทางการบริหาร
บริษัทต่างชาติได้ก้าวถึงขั้นที่จะพัฒนาโครงการอบรมการบริหารของตนเอง บริษัทโมโตโรล่า
ได้ย้ายโครงการอบรมซึ่งอาจจะเรียกว่า มหาวิทยาลัย โมโตโรล่าไปสู่การลงทุน
300,000 ดอลล่าร์สหรัฐในกรุงปักกิ่ง หลักสูตรในการบริหารประกอบด้วย การเป็นผู้นำ,
ภาษาอังกฤษ, การแก้ปัญหาและการควบคุมคุณภาพ คาดว่าปีนี้จะทำการอบรมและสอนในห้องเรียนได้เป็นจำนวน
10,000 วันการเรียน (STUDENT-DAYS) ไม่รวมการฝึกอบรมระหว่างในโรงงาน ความสำเร็จในโครงการนี้ของโมโตโรล่า
ประเทศจีนได้รับการยอมรับ โดยในปีที่แล้วหนึ่งในโรงงานที่เมืองเทียนจิน ได้รับรางวัลดีเด่นจากบริษัทแม่ในสาขาบริษัทในเอเซียที่บริการลูกค้าดีเด่น
บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ ฮิวเล็ต แพคการ์ด กำลังพิจารณาการก่อตั้งโรงเรียนฝึกอบรมระดับสูง
เพื่อรองรับธุรกิจในประเทศจีน ฮิวเล็ต-แพคการ์ดพิสูจน์แล้วว่า สามารถพัฒนาผู้บริหารที่เป็นคนท้องถิ่นได้
จากจำนวนผู้บริหารชาวต่างชาติ 29 คน ชาวจีน 16 คน ในปี 1986 แต่เมื่อสิ้นปีที่แล้ว
ผู้บริหารชาวจีนเพิ่มขึ้นเป็น 58 คน ที่เป็นต่างชาติลดเหลือ 15 คนเท่านั้น
การลาออกของพนักงานมีเพียง 4% ต่อปี ซึ่งแสดงว่าอย่างน้อยที่สุดบริษัทร่วมทุนบางแห่งก็มีวิธีการในการสกัดปัญหาพนักงานถูกซื้อตัวได้
แต่ยังคงมีหลายสิ่งภาคเอกชนและรัฐบาลต้องดำเนินการ มีบริษัทจีนเพียงไม่กี่บริษัทที่สามารุส่งพนักงานเข้าไปเรียนในหลักสูตรปริญญาโททางด้านการบริหาร
หรือหลักสูตรที่ใกล้เคียงกัน นักวิชาการจีนหลายคนเชื่อว่า คำตอบในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์นี้คือ
บริษัทต่างชาติค้องลงทุนในสถาบันที่มีการสอนการบริหารในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ผู้ที่จะได้รับประโยชน์คือ บริษัทเหล่านี้ในการที่จะได้มี นักบริหารที่ดี
จนถึงปัจจุบัน มีเอกชนบางรายที่ให้การสนับสนุนเงินทองในเรื่องการศึกษา
เช่น ลี กาชิง มหาเศรษฐีฮ่องกง ให้ทุนกับมหาวิทยาลัยชานตูในกวางตุ้ง เดวิดเย์แห่ง
ยูนิเวอร์แซล อินเวสท์เมนท์ ซึ่งเป็นบริษัทการลงทุนในฮ่องกงบริจาคเงิน 4
แสนเหรียญให้กับมหาวิทยาลัยเจียทงเพื่อตั้งสาขาวิชาการเงินและการบัญชี บริษัทข้ามชาติบางแห่งมอบเงินก้อนเล็ก
ๆ และทุนการศึกษาให้กับโรงเรียนบริหารธุรกิจของจีน แต่เงินเหล่านี้ก็เป็นเพียงหยดน้ำเล็ก
ๆ หยดหนึ่งในมหาสมุทร เมื่อเทียบกับความต้องการทั้งหมด
-ใช้ผู้บริหารต่างชาติเชื้อสายจีน สำหรับหลาย ๆ บริษัท การอาศัยความสามารถของนักบริหารซึ่งเป็นคนจีนจากต่างแดน
คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีที่สุด ผู้บริหารจาก ฮ่องกง ไต้หวัน และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเชื้อจีนจำนวนมากได้ย้ายเข้าไปทำงานในจีน
เนื่องจากได้รับค่าตอบแทนอย่างงามเพราะรู้เรื่องภาษาและเข้าใจสังคมจีน พวกเขาเหล่านี้มีรายได้ปีละ
1 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับตำแหน่งบริหารระดับสูง ในขณะที่ผู้บริหารระดับกลางมีรายได้สูงถึง
2 แสนดอลล่าร์สหรัฐ
ไนซ์โค ฉู ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทประกันชีวิตเอไอเอ. ในเซี่ยงไฮ้เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
เดิมเขาเป็นผู้บริหารของเอไอเอ. สาขาไทเป และได้รับมอบหมายให้มาจัดตั้งสำนักงานขึ้นในจีน
แต่ครอบครัวของเขายังคงอยู่ที่ไต้หวัน เพราะที่เซี่ยงไฮ้ไม่มีโรงเรียนที่ฉู้คิดว่าเหมาะสำหรับลูกของเขา
เอไอเอ. ยังมีผู้บริหารชาวเอเซียอีกคนหนึ่งและคนอเมริกันสองคนในจำนวนพนักงาน
1,000 คนในเซี่ยงไฮ้
บางทีแสงสว่างที่พอจะเป็นความหวังในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการบริหารของจีนคือ
การเติบโตอย่างรวดเร็วของบริษัทเอกชน แม้ระยะสั้นแล้วการเติบโตนี้จะทำให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล
แต่การแข่งขันที่สูงขึ้นก็เพิ่มแรงกดดันให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปรับปรุงการบริหาร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลจีนแสดงท่าทีว่า จะไม่อุ้มชูรัฐวิสาหกิจที่ล้มเหลวในการดำเนินงานอีกต่อไป
กระบวนการนี้อาจจะดูงุ่มง่าม แต่ด้วยการลองผิดลองถูก บริษัทเอกชน 184,000
แห่งของจีนกำลังยกระดับทักษะในการบริหารขึ้นมาอย่างช้า ๆ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเอาตัวรอดมาได้ด้วยไหวพริบ
กลยุทธ์เฉพาะตัว แต่อาศัยกระบวนการบริหารอย่างเป็นทางการน้อยมาก แต่บริษัทเหล่านี้ก็กำลังเติบใหญ่ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
บริษัทตงหยู กรุ๊ป ซึ่งเป็นธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีระดับสูง ที่มีอายุ 9
ปี ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของต้าเหลียน ในเชียงหยางเป็นตัวอย่างที่ดี
บริษัทนี้ก่อตั้งโดยช่างเทคนิคเพียง 10 คน ที่ลาออกจากองค์กรของรัฐมาเริ่มต้นผลิตอุปกรณ์ทางด้านอิเลคทรอนิคส์
และรับจ้างเขียนซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ให้กับลูกค้าซึ่งรวมทั้งตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ด้วยบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี
1985 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 เหรียญสหรัฐแห่งนี้ มียอดขายในปีที่แล้วสูงถึง
27.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
"ในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง ทั่วโลกจะได้รับรู้ถึงศักยภาพของผู้ประกอบการจีนในรุ่นนี้"
จวง หยูหยาง ประธานบริษัทตงหยูกล่าว "รุ่นของผม พร้อมแล้วที่จะก้าวไปสู่ตลาดโลก
เราไม่ใช่เพียงแต่มีทฤษฎีที่ได้จากหนังสือเท่านั้น แต่เรามีทักษะทางการตลาดด้วย"
แม้อนาคตของผู้ประกอบการที่อยู่ในระยะตั้งไข่เหล่านี้ ยังคงต้องขึ้นอยู่กับกระแสลมทางการเมือง
แต่พวกเขาก็เป็นผู้ปลดปล่อยพลังของผู้ประกอบการที่ถูกกดทับมานานหลายสิบปี
พวกเขาอาจจะขาดการฝึกอบรมทางการบริหาร แต่ภายในหัวใจเร่าร้อนไปด้วยไฟ
หวาง เรนจอง ประธานบริษัทเซี่ยงไฮ้ เอ.เจ. บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการเงิน
ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกของจีนในปี 1979 กล่าวว่า เขามั่นใจว่าภาคเอกชนจะเป็นพลังที่เข้มแข็งในการผลักดันเศรษฐกิจจีนเข้าสู่ศตวรรษที่
21
อย่างไรก็ตาม ยังมีเงื่อนไขอยู่บ้างเหมือนกัน
"เรามีทุน มีแรงงานและช่างเทคนิคที่ดี แต่ปัญหาใหญ่คือ เราจะบริหารกันอย่างไร
ทำไมคนเซี่ยงไฮ้ที่ไปทำมาหากินในฮ่องกง (เมื่อปี 1949) สามารถทำเงินได้มหาศาล
ในขณะที่คนที่เซี่ยงไฮ้ที่ทำธุรกิจในบ้านเกิดกลับไม่ประสบความสำเร็จเป็นเพราะว่า
ระบบในจีนได้จำกัดการพัฒนาของพวกเขา สิ่งที่พวกเขานำติดตัวไปฮ่องกง คือเงินจำนวนหนึ่ง
และด้วยมือเปล่า ๆ นี่แหละ พวกเขาก็สร้างธุรกิจขึ้นมาได้ หัวใจสำคัญของความสำเร็จก็คือระบบที่ดี"
หวางสรุป