|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์ชาติเตรียมประเมินภาพรวมเศรษฐกิจปีหน้าใหม่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ระบุสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงหลังมีการปฏิรูปการเมืองของคปค. ปัจจัยหลักเป็นส่วนของงบประมาณปี 50 ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะจัดทำ-เบิกจ่ายได้เร็วกว่าที่กำหนด ยันสถานการณ์ค่าบาท-ตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และไม่มีเงินทุนไหลออกอย่างผิดปกติ
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายเสถียรภาพการเงิน เปิดเผยว่า หลังจากที่ ธปท.ได้ติดตามภาวะการณ์ในตลาดเงินตลาดทุนไทยตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการดำเนินการปฏิรูปการปกครอง โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 25 ก.ย.นี้ พบว่า ตลาดการเงินของไทย ทั้งตลาดอัตราดอกเบี้ย ตลาดพันธบัตร และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมถึงตลาดทุน ได้เข้าสู่ภาวะปกติและเป็นไปตามกลไกของภาคธุรกิจ และช่วยสนับสนุนให้การดำเนินการของภาคธุรกิจในช่วงต่อไปเดินหน้าได้ตามปกติ
นอกจากนั้น ยังเห็นความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ โดย 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่เห็นการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ ตรงกันข้าม ยังคงเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ สรุปจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทพบว่าค่าเงินบาทมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ในวันแรกของการเข้าปฎิรูปการปกครองในตลาดเงินบาทระหว่างประเทศเท่านั้น โดยอ่อนค่าลงจากราคา 37.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องตั้งแต่ได้รับทราบข้างต้น และอ่อนค่าลงต่ำสุดที่ 37.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่า 67 ส.ต.
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเมื่อเห็นภาพที่ชัดเจนว่าไม่มีความรุนแรง ค่าเงินบาทจึงได้แข็งค่ากลับขึ้นมาจนปิดตลาดระหว่างประเทศในช่วงคืนวันที่ 19 ก.ย. ที่ 37.52 บาท และถัดมาในวันที่ 21-22 ก.ย.49 ที่กลับมาเปิดตลาดค้าเงินบาทอีก ก็ไม่เห็นการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ และเงินที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยค่าเงินบาทกลับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เหตุผลหนึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่เข้าซื้อหุ้นในตลาดหุ้นไทย 2 วัน รวมกันสูงถึง 7,500 ล้านบาท โดยล่าสุดในวันที่ 25 ก.ย. ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 37.30-37.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นายบัณฑิต กล่าวว่า จากการตรวจสอบตลาดสินเชื่อและพันธบัตรก็ไม่ได้ตื่นตระหนกกับภาวะการปฏิรูการปกครองของไทยเช่นกัน เพราะอัตราดอกเบี้ยในตลาดระหว่างธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นเพียง 0.02-0.03% เท่านั้น และยังมีสภาพคล่องคงเหลือ ประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท ขณะที่ดอกเบี้ยการประมูลพันธบัตรเมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนตลาดหุ้นไทย การลดลงของดัชนีหุ้นในอัตราประมาณ 10 จุดต่อวัน ถือเป็นเกณฑ์ที่ปกติไม่น่าเป็นห่วง และนักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิ
นอกจากนี้ หากมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดทำงบประมาณประจำปี 50 ได้ในเร็วๆ นี้ และเป็นงบประมาณขาดดุลจะส่งผลดีต่อการใช้จ่าย และการลงทุนของภาครัฐ และจะส่งผลดีต่อเนื่องต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2550 จากเดิมในการประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2550 ของธปท. และสำนักอื่นๆ จะประเมินจากสมมติฐานว่า งบประมาณปี 2550 จะเบิกจ่ายล่าช้าประมาณ 6-9 เดือน จากเดือนต.ค.2549 แต่ในขณะนี้ หากงบระมาณปี 2550 สามารถเบิกจ่ายได้ตามเวลาไม่เลื่อนออกไป ก็จะเป็นประโยชน์ต่อภาวะเศรษฐกิจไทยจากการใช้จ่าย และการลงทุนของภาครัฐ โดยมองว่าการขาดดุลในระดับ 1.5-2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็นขนาดที่รับได้ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมองในระยะยาว ทำให้หากมีความจำเป็นในปีแรกๆ อาจจะมีการขาดดุลเกินกำหนดได้
อย่างไรก็ตาม ธปท.จะมีการประเมินภาพทางเศรษฐกิจ และประมาณการเศรษฐกิจในปี 2549 และปี 2550 ใหม่อีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 18 ตุลาคมที่จะถึงนี้ เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก และจะมีรายละเอียดของประมาณการเศรษฐกิจใหม่ ของธปท.ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับใหม่ที่จะออกสิ้นเดือนต.ค.นี้
|
|
|
|
|