Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2537
"ธุรกิจโทรคมนาคมการเคลื่อนย้ายอำนาจจากรัฐสู่เอกชน"             
 

   
related stories

"เส้นทางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไทย"

   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

   
search resources

องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย-TOT
กสท โทรคมนาคม, บมจ.
Telecommunications




ภายใต้กระแสของความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจทั้งภายใน และภายนอกประเทศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ละสังคมปรับเปลี่ยนเป็นสังคมที่ต้องการบริการเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ทำลายพรมแดนเก่า ๆ ลงทั่วทั้งโลก หรือที่เรียกกันว่าเป็นยุคแห่งโลกานุวัตร โดยเฉพาะด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในเทคโนโลยี ในด้านหนึ่ง เป็นสิ่งที่สร้างเงื่อนไขในการย่นย่อโลกให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากยิ่งขึ้น อีกด้านหนึ่งก็เติบใหญ่ไปตามกระแสโลกานุวัตรด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชนบทบาทของภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่การแก่งแย่งแข่งขัน ทั้งกับภาครัฐด้วยกันเอง กับภาคเอกชนต่อเอกชน หรือกระทั่งเอกชนกับรัฐ เพราะอะไร…. เพราะว่าการสื่อสารโทรคมนาคมเป็นตัวเสริมทางด้านความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยตรงนั่นเอง

ในเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 ได้ระบุส่วนสำคัญที่เกี่ยวกับกิจการสื่อสารโทรคมนาคมไว้ว่า

'ให้จัดหา สนับสนุน พัฒนา และดำเนินการวางโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และการสื่อสารโทรคมนาคมให้สามารถรองรับความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต โดยส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนและการให้บริการด้านขนส่ง และกิจการสื่อสาร ทั้งยังให้พัฒนาข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมให้ทั่วถึงและทันสมัย โดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่ออำนวยบริการให้สามารถรองรับความเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาคนี้ด้วยรูปแบบทันสมัย'

เหตุนี้เองที่ทำให้องค์กรของรัฐที่ดำเนินงานในกิจการสื่อสารโทรคมนาคมอย่างกรมไปรษณีย์โทรเลข, องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) จำต้องสนองตอบตามนโยบายของรัฐอย่างเข้มงวดด้วยวิธีการให้เอกชนมาร่วมดำเนินงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การให้สัมปทาน (CONCESSION), การร่วมทุน (JOINT VENTURE), หรือการตั้งบริษัทลูก (SUBSIDIARY COMPANY) เพื่อจะดำเนินงานในรูปแบบบริษัทเอกชน หรือไปร่วมหุ้นกับบริษัทเอกชน เป็นเอกเทศจากกฎเกณฑ์ของความเป็นรัฐวิสาหกิจ

เหล่านี้คือวิธีการที่รัฐกำลังดำเนินการอยู่ปัจจุบัน ซึ่งด้วยวิธีการดังกล่าวหลายคนจึงมองในแง่ร้ายว่า รัฐกำลังจะสูญสิ้นอำนาจที่มีอยู่ไปเรื่อย ๆ หรือเปล่าจากการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เพราะปัจจุบันดูภาระหน้าที่ในการบริการเกือบทุกขั้นตอนถูกเคลื่อนย้ายไปสู่ภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่แล้ว

จากการที่รัฐวิสาหกิจอย่าง ทศท. หรือ กสท. มีข้อจำกัดในด้านเงินทุน เพดานเงินกู้ และความคล่องตัวในการทำงาน ดังนั้นทั้งสองหน่วยงานจึงไม่สามารถทำการขยายบริการได้รวดเร็วเท่ากับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชาชนได้ เหล่านี้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ ทศท. และ กสท. จำต้องเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมการงานในการขยายบริการพื้นฐาน และบริการเสริมในลักษณะต่าง ๆ ทว่ารัฐก็ยังคงสงวนสิทธิในการกำหนดค่าบริการ เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนต้องเสียค่าบริการที่สูงเกินไปหรือไม่เป็นธรรม

ด้วยความต้องการบริการโทรคมนาคมของสังคมที่ทวีขึ้นเป็นลำดับ โดยที่หน่วยงานรัฐไม่อาจตอบสนองได้ทันท่วงทีนี้เองได้เป็นตัวนำมาสู่แนวทาง การเปิดให้เอกชนสามารถเข้ามาดำเนิการธุรกิจโทรคมนาคมที่รัฐผูกขาดไว้ได้ หรือเรียกว่าการค้าแบบเสรีนิยม (LIBERALIZATION) รวมไปถึงแนวทางที่จะให้ ทศท. และ กสท. ทำการแปรรูปตนเอง (PRIVATIZATION) เพื่อไปสู่การเป็นบริษัทมหาชน หรือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว

แนวทางทั้งสองดูแล้วเหมือนว่าอำนาจรัฐที่มีอยู่ขณะน ี้กำลังจะถูกเคลื่อนย้ายไปสู่ภาคเอกชนยังไงยังงั้น แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจากเดิมที่รัฐมีอำนาจอย่างเต็มไม้เต็มมือแล้วต้องลดน้อยลงไปนี้ ส่งผลดีผลเสียต่อรัฐ ต่อเศรษฐกิจ ต่อผู้บริโภค และประเทศชาติอย่างไร

โดยความสมเหตุสมผลที่รัฐต้องเคลื่อนย้ายหรือกระจายอำนาจไปที่ภาคเอกชนนั้น เมื่อย้อนมองอดีต 'การสาธารณูปโภค' อย่างกิจการการสื่อสารโทรคมนาคมกำหนดให้รัฐทำได้แต่ผู้เดียว (NATIONAL MONOPOLY) ทั้งความเป็นเจ้าของ, ผู้ดำเนินการ,ลักษณะการบริการ, การเชื่อมต่อ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ประจักษ์แล้วว่า รัฐไม่สามารถบริหารเรื่องเหล่านี้ได้ไม่ว่าจะเป็นการบริหารทุน บริหารเทคโนโลยีและบริหารองค์กรของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศชาติโดยรวมหลายด้าน ตั้งแต่ความไม่เท่าทันในเรื่องเทคโนโลยีกับต่างประเทศ การเสียดุลการค้ากับต่างประเทศ และความเติบโตทางด้านโทรคมนาคมก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า ความไม่มั่นใจในการลงทุนของภาคเอกชนหรือนักลงทุนจากต่างชาติมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประชาชนคนในชาติหรือผู้บริโภคไม่ได้รับบริการสาธารณะที่ดีหรือมีประสิทธิภาพที่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

"ผมว่ารัฐจะทำกิจการสาธารณูปโภคเองอย่างยุคแรก ๆ ไม่ได้แล้ว เมื่อกระแสโลกพัดมาทางด้านนี้เราจะไปทวนกระแสได้หรือ…. MONOPOLY ไม่ทำให้เกิดผลดีในระยะยาว รัฐต้องปรับปรุงเรื่องต่าง ๆ เพราะแรงอัดของ GLOBALIZATION มันบีบมา รัฐต้องสูญเสียอำนาจแน่นอนเพราะรัฐใช้อำนาจไม่เป็น ดูแล MONOPOLY ไม่เป็น ช่วยไม่ได้ ต้องให้ตลาดเขาดูแลกันเอง แล้วรัฐกำกับการให้บริการโทรคมนาคมสมัยใหม่ เดี๋ยวนี้เขาเลิกพูดถึงรายได้ของรัฐที่จะเข้าสู่องค์กรหรือโบนัสของพนักงานกันแล้ว เขาต้องพูดถึงเรื่อง CONSUMER WELFARE หรือการจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด รัฐต้องเอื้ออำนวยให้เกิดการส่งผ่านซึ่งประโยชน์แก่ผู้บริโภคและเอกชนให้มากที่สุด การส่งผ่านประโยชน์ให้เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจของตลาด และ MONOPOLY รัฐต้องรับรู้ และปรับปรุง เพราะการแข่งขันมันจะช่วยกำกับการใช้เงิน และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุดเท่านั้นเอง" ดร. สุธรรม อยู่ในธรรม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายโทรคมนาคมคนหนึ่งของเมืองไทย กล่าวถึงการที่รัฐต้องกระจายอำนาจ ที่เคยมีอยู่มาสู่ตลาดเสรีของการแข่งขันทางด้านโทรคมนาคม รวมไปถึงบทบาทที่รัฐควรปฏิบัติต่อไป

แต่จากการศึกษาข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในปัจจุบันและเกิดขึ้นแล้วไม่ว่าจะเป็นประเทศอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ พบว่าการเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือดำเนินการในกิจการด้านโทรคมนาคมส่งผลดีดังนี้

1. เป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันด้านสาธารณูปโภคอย่างมีประสิทธิภาพโดยผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด และมีโอกาสเลือกใช้บริการได้มากขึ้น

2. เกิดผู้ให้บริการ (PROVIDER) อันนำไปสู่การที่จะต้องแข่งขันในเรื่องคุณภาพของบริการ และค่าอัตราบริการซึ่งผลประโยชน์ดังกล่าวจะตกถึงผู้ใช้บริการ (USER) แทบทั้งสิ้น

3. ทำให้เศรษฐกิจของประเทศก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

4. ลดภาวะความเสี่ยงของรัฐในด้านการลงทุนที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากรวมถึงอัตรากำลังที่ เกินควร

5. ช่วยให้เกิดการถ่ายเทเทคโนโลยีเนื่องจากเอกชนส่วนใหญ่ต้องร่วมทุนกับต่างประเทศเจ้า ของเทคโนโลยี จึงถือเป็นการช่วยส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศของตน เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในประเทศอีกทางหนึ่ง

6. การบริหารงานของภาคเอกชนมีความคล่องตัว จึงสามารถพัฒนาอุปกรณ์โทรคมนาคม และบริการโทรคมนาคมได้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนได้ใช้บริการที่ทันสมัย รวดเร็วขึ้น

ในส่วนของผลกระทบที่จะมีขึ้น มีดังนี้คือ

1. อาจก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนในด้านความมั่นคงของประเทศ จากการที่รัฐไม่สามารถควบคุมสื่อบางประเภทได้

2. ผู้ใช้บริการบางส่วนอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากเอกชนมักมุ่งหากำไรเป็นส่วนใหญ่และพยายามสนองตอบตลาดในบริเวณที่มีความต้องการเป็นจำนวนมากเท่านั้น ทำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่ได้รับความสะดวกหรือไม่มีโอกาสได้ใช้บริการ

3. อาจเกิดการต่อต้านจากพนักงานรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่ เพราะผลกำไรสุทธิของรัฐ 9% (กรณีประเทศไทย) จะหักเป็นโบนัสพนักงาน ทำให้ต้องได้รับโบนัสน้อยลง รวมถึงความรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพของตน

4. หากเอกชนยังไม่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่สูง (โดยเฉพาะประเทศไทย) เกือบทั้งหมดจะเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นบริษัทต่างประเทศอาจฉกฉวยโอกาสในการเข้ามาร่วมลงทุนโดยเอกชนไทยไม่สามารถดูดซับเทคโนโลยีเหล่านั้นได้

5. หากยังไม่มีองค์กรกลาง (REGULATORY BODY) เกิดขึ้นหรือ เกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่เข้มแข็งพอ จะทำให้การแข่งขันเป็นไปโดยไม่ยุติธรรม หรือเข้าข่ายปลาใหญ่กินปลาเล็กเสมอ

6. อาจมีการรวมกลุ่มเพื่อใช้อำนาจต่อรองกับรัฐ

เมื่อหันมามองดูความเป็นไปได้ในเมืองไทยแล้ว หากจะมีนโยบายเสรี…. แน่นอนผลดีย่อมมีมากกว่าผลเสีย เพราะไม่เช่นนั้นรัฐเองก็คงไม่ร่างไว้ในแผนพัฒนาฯ ที่ 7 และ 8 แน่นอน

"การให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการที่รัฐเคยผูกขาดนั้น ไม่ได้หมายความว่ารัฐไม่สามารถเป็นผู้จัดการหาสินค้าหรือบริการที่จำเป็นแก่ประชาชนได้นี่ ทว่าการจัดหาสินค้าและบริการที่รัฐทำอยู่ โดยมีต้นทุนที่สูงกว่า แต่มีประสิทธิภาพต่ำกว่า และเสี่ยงต่อการที่ผลประโยชน์ในการดำเนินกิจการเหล่านั้นจะถูกผลักดันทางการเมืองให้ตกอยู่ในมือของบุคคลบางคนหรือบางกลุ่ม การเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการที่รัฐเคยผูกขายไว้ มันก็เป็นเรื่องสมควรทำอย่างยิ่งมิใช่หรือ" แหล่งข่าวระดับสูงในวงการโทรคมนาคมก็กล่าวไว้เช่นนั้น

อัศวิน เสาวรส ผู้ว่าการ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ก็เห็นด้วยกับการที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาททางด้านโทรคมนาคมโดยระบุในเรื่องการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นต่อไปว่าน่าจะมีหลักเกณฑ์บางประการคือ

1. ควรกำหนดจำนวนของผู้ให้บริการ ไม่ให้มีมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ทั้งนี้เพื่อที่จะสามารถกำหนดราคาให้การแข่งขันนั้นมีความเหมาะสม และจะสามารถที่จะให้มีกำไรตามสมควรที่จะดำเนินธุรกิจไปได้ในระยะยาว

2. ควรกำหนดให้มีการกระจายพื้นที่ให้บริการไปยังทั่วทุกท้องที่ ทั้งนี้ เพื่อที่จะให้ทุกแห่งสามารถได้รับบริการขั้นพื้นฐาน เป็นการกระจายความเจริญในการตอบสนองนโยบายในการที่จะกระจายภาคอุตสาหกรรมไปสู่ต่างจังหวัด และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการสร้างค่าใช้บริการให้เป็นธรรม และควบคุมคุณภาพของบริการ

3. ต้องมีการกำหนดนโยบาย เพื่อป้องกันการผูกขาดในการให้บริการใดบริการหนึ่ง โดยผู้ให้บริการเพียงรายเดียว

4. กำหนดนโยบายในการป้องกันการผูกขาดในการให้บริการโทรคมนาคมโดยกลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง และจะต้องวางหลักเกณฑ์ในการที่จะป้องกันการเข้ามาครอบงำกิจการโทรคมนาคมโดยกลุ่มคนต่างชาติ

5. ควรต้องกำหนดแนวทางในการที่จะเจรจากับต่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านการที่จะกำหนดส่วนแบ่งอัตราค่าบริการ

ฉะนั้นการที่จะให้การแข่งขันเป็นไปโดยเสรีอย่างแท้จริง จะต้องคำนึงถึงเวลา ตลอดจนองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จะต้องนำมาใช้ในการกำหนดหลักเกณฑ์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลย์ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ ตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด

ผู้ว่าการ กสท. ยังกล่าวในเรื่องนี้อีกว่า "สรุปก็คือ เมื่อจะเปิดกว้างเรื่องการแข่งขันเสรีก็น่าจะดูถึงความเสียเปรียบได้เปรียบในเรื่องการดำเนินงานว่า จะมีความคล่องตัวขนาดไหน รัฐและเอกชนขณะนี้มีความแตกต่างกันมาก ซึ่งจะเป็นการยุติธรรมหรือไม่ หากเกิดการยอมรับการเปิดแข่งขันเสรี และเพื่อให้มีความคล่องตัวในการทำงานทางด้านการสื่อสารโทรคมนาคม รัฐควรจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ รวมถึงปรับปรุงสถานะการดำเนินงาน จากปัจจุบันในรูปรัฐวิสาหกิจให้ค่อย ๆ แปลงสภาพเปลี่ยนเป็นให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น เพื่อจะได้ไปแข่งขันกับภาคเอกชนได้อย่างสมศักดิ์ศรี"

แต่แม้ว่าระดับผู้ว่าการตลอดจนคนในวงการจะเห็นพ้องต้องกันในการที่รัฐควรจะเปิดเสรีนี้ ก็ยังมีอีกหลายคนในประเทศที่เป็นผู้บริโภคเทคโนโลยี รวมถึงภาคเอกชนที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้เห็นว่าจะเป็นการให้ต่างชาติจะเข้ามาครอบงำเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของประเทศเรา "ผมว่าเรื่องนี้ไม่น่าวิตกมากนักเนื่องจากทุก ๆ ประเทศต่างก็พึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีของกันและกันแทบทั้งสิ้น มีน้อยประเทศที่จะผูกขาดเทคโนโลยีเองทั้งหมดครบวงจร ฉนั้นเอกชนของเราคงจะแข่งขันกับนานาประเทศได้ด้วยกลไกของตลาดนั่นเอง "พินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวได้ในวันการสื่อสารแห่งที่ผ่านมาซึ่งหากย้อนอดีตจากนี้ไปอีกสักนิดก็ยิ่งทำให้เรื่องการครอบงำทางเศรษฐกิจ หรือเทคโนโลยีจากผู้ที่มีศักยภาพที่ดีกว่าได้คลายความกังวลมากยิ่งขึ้น ตามที่รมช.ว่าไว้เพราะรัฐบาลไทยได้สัญญา ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (GERNERAL AGREEMENT ON TREAD IN SERVICE : GATS) กับนานาประเทศไปแล้วเมื่อ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ซึ่งสาระสำคัญพอสรุปได้ก็คือ

1. ว่าด้วยเรื่องความโปร่งใส (TRANSPARENCY) เป็นข้อบังคับหรือมาตรการในด้านการบริการที่ใช้บังคับ หรือเกี่ยวพันกับธุรกิจการค้าบริการในประเทศตนเองโดยประเทศสมาชิกจะต้องเปิดเผยผลข้อมูลเมื่อมีการร้องขอ

2. ต้องปฏิบัติเหมือนกับประเทศที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (MOST FAVARED NATION TREATMENT : MFN) นั่นคือ ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกจะต้องให้การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันทุกประเทศ โดยไม่เลือกต่อประเภทของกิจการหรือผู้ค้าบริการทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลของประเทศสมาชิกต่าง ๆ และในกรณีที่มีข้อตกลงเฉพาะระหว่างประเทศให้แจ้งขอผ่อนผันยกเว้น

3. การเข้าสู่ตลาด (MARKET ACCESS) สมาชิกทุกประเทศ ต้องระบุข้อจำกัดหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ที่อนุญาตให้บริการ หรือผู้ค้าบริการต่างชาติทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลสามารถเข้าสู่ตลาดหรือเข้าไปทำธุรกิจในประเทศสมาชิกตามข้อตกลงที่จะต้องเป็นธรรมและมีเหตุผลสมควร

4. การคุ้มกันและข้อยกเว้น (SAFEGUARDS AND EXCEPTIONS) เป็นการกำหนดให้มีการเจรจาคุ้มกันฉุกเฉินเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดจากการเปิดตลาดเสรีการค้าบริการ ซึ่งมาตรการคุ้มกันนี้จะต้องอยู่บนหลักการที่ไม่เลือกปฏิบัติ

5. สิทธิในการออกกฎหมาย (DO MESTIC REGULATION) เป็นการให้สิทธิประเทศสมาชิกสามารถออกกฎหมายระเบียบข้อบังคับหรือมาตรการด้านการบริหารที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าบริการ เพื่อวัตถุประสงค์ในด้านการพัฒนาประเทศ แต่ทั้งนี้จะต้องดำเนินการในลักษณะที่เป็นธรรม ไม่ใช่เป็นการออกกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์ในการกีดกันการแข่งขันหรือคุ้มครองการค้าบริการภายในประเทศของตนเอง

หลักการทั้ง 5 ข้อทั้งหมดของแกตต์ แม้ว่าจะเข้าใจยากสักนิด แต่จุดมุ่งหมายโดยรวมเป็นแนวทางที่จะป้องกันบริษัทใดบริษัทหนึ่งของต่างประเทศเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจตลอดจนเทคโนโลยีในประเทศที่ด้อยกว่า ตรงกันข้ามเหล่าประเทศที่เป็นสมาชิกแกตต์ ต่างก็กังวลเรื่องนี้เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของข้อตกลงการค้าบริการนี้แต่ถึงอย่างไรศักยภาพของภาคเอกชนไทยปัจจุบันก็เริ่มที่จะแข็งขึ้นเติบโตขึ้น มีการขยายสาขาไปลงทุนในต่างประเทศมากมายไม่แพ้ชาติอื่น บริษัทเหล่านี้นี่เองที่จะมาเป็นคู่แข่งขันที่สมศักดิ์ศรีกับต่างชาติได้ในอนาคต

แต่ตราบใดที่เทคโนโลยีเป็นปัจจัยชี้ขาดเรื่องการแข่งขันอยู่ ประเทศที่ผลิตเทคโนโลยีกับประเทศที่ซื้อเทคโนโลยี ในเวลาแข่งขัน จะเกิดความต่างของเรื่องต้นทุนการดำเนินงานมาก ทำให้เป็นที่วิตกว่าแกตต์ จะเป็นแรงต้านการครอบงำได้ดีเพียงใด จะช่วยให้บริการแต่ละประเทศดีขึ้นเพียงใด และที่เอกชนรายใหญ่ที่ดำเนินการกับรัฐขณะนี้คุยว่าพร้อมแล้วที่จะแข่งขันกับต่างประเทศนั้น เมื่อถึงสถานะการณ์จริงจะเป็นการแข่งที่เท่าเทียมกันหรือเปล่าเพียงใด หรือจะเป็นแค่บริษัทร่วมทุนที่คอยเป็นหุ่นเชิดในเรื่องฐานการผลิตให้กับเขาเหล่านี้รัฐจะต้องเก็บไปคิดเป็นการบ้านมาตอบประชาชนต่อไป

แต่อย่างหนึ่งที่รัฐได้เร่งรีบทำอยู่ขณะนี้คือ การศึกษาในเรื่องการแปรรูป ทศท.และ กสท. ตลอดจนปรับปรุงแก้ไขกฎหมายโทรคมนาคมที่มีอยู่ทั้งหมดเพราะเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าได้มีบังคับใช้มาเป็นเวลานาน ประกอบกับเทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคมก็พัฒนาไปอย่างมากมายและรวดเร็วมาก ทำให้บทบัญญัติหลายส่วนในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่าง ๆ ล้าสมัยไม่เหมาะสมกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่กรมไปรษณีย์ฯ ทศท. และ กสท. จึงได้มีการเริ่มที่จะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ดังนี้

1. พ.ร.บ. ไปรษณีย์ พ.ศ.2477 ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการแก้ไขปรับปรุงโดย กสท.

2. พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ทางกรมไปรษณีย์โทรเลขได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแล้วส่วนหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2535 โดยมีการยกเว้นการควบคุมเครื่องวิทยุคมนาคมบางประเภท การขยายอายุของใบอนุญาตบางประเภท การปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตวิทยุคมนาคมการเรียกเก็บค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ เพิ่มอัตราโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย เป็นต้น

3. พ.ร.บ.โทรเลขและโทรศัพท์ พ.ศ. 2477 เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับมานานถึง 59 ปี สมควรที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติม ในเรื่องต่าง ๆ เช่น

- ยกเลิกการผูกขาดของรัฐ (MONOPOLY) ในการให้บริการโทรเลขและโทรศัพท์เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือบุคคลอื่น นอกจาก ทศท. และ กสท. สามารถเข้ามาดำเนินงานให้บริการโทรคมนาคมได้

- จัดตั้งหน่วยงานกลางด้านการสื่อสาร (REGULATOR) เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน

- แก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษเกี่ยวกับการกระทำผิดด้านการโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการละเมิดข่าวสาร

- เพิ่มคำนิยามคำว่า "โทรคมนาคม" จากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมทำให้ไม่สามารถแยกได้ว่าบริการใดเป็นบริการโทรเลข บริการใดเป็นบริการโทรศัพท์ คงจะเรียกได้ว่าเป็นบริการ "โทรคมนาคม" มากกว่า เพราะสื่อโทรคมนาคมอย่างเดียว กันสามารถให้บริการได้ทั้งเสียง อักขระ และภาพ

4. พ.ร.บ. ทศท. พ.ศ. 2497 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของ ทศท. ไว้โดยไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน ทำให้ปัญหาในการขยายบริการในลักษณะซ้ำซ้อนกับ กสท. นอกจากนี้ การปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ทศท. พ.ศ. 2497 ในสภาวะการณ์ปัจจุบัน ทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน จึงสมควรมีการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสิทธิและหน้าที่ให้ ทศท. สามารถดำเนินงานได้กว้างขวางและคล่องตัวมากขึ้น

5. พ.ร.บ. กสท. พ.ศ. 2519 มีลักษณะเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. ทศท. พ.ศ. 2497 คือ กำหนดอำนาจหน้าที่ของ กสท. ไว้โดยไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน ทำให้มีปัญหาในการขยายบริการในลักษณะซ้ำซ้อนกับทศท. นอกจากนี้การปฏิบัติตาม พ.ร.บ. กสท. พ.ศ.2519 ในสภาวะการณ์ปัจจุบัน ทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงานจึงสมควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มสิทธิและหน้าที่ให้ กสท. สามารถดำเนินงานได้กว้างขวางและคล่องตัวมากขึ้น

ขณะที่มีการพิจารณายกร่างกฎหมายธุรกิจโทรคมนาคมนี้ ก็จำเป็นที่รัฐจะต้องดำเนินนโยบายในด้านต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วยคือ

1. จัดตั้งองค์กรกลางด้านการสื่อสารหรือคณะกรรมการสื่อสารแห่งชาติ (REGULATORY BODY) เพื่อมาทำหน้าที่ต่าง ๆ อาทิ

- กำหนดกฎเกณฑ์กติกาในการอนุญาต เช่น ระเบียบข้อบังคับ และกติกาในการประมูลแข่งขันเพื่อรับอนุญาตและกฎเกณฑ์ในการตัดสินใจ รวมทั้งกฎเกณฑ์หรือวิธีการในการแข่งขันให้บริการอย่างเป็นธรรม

- กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาที่กำหนดไว้ การรักษามาตรฐานทางเทคนิค เช่น เครือข่าย เครื่องมือ อุปกรณ์เชื่อมต่อ เป็นต้น มาตรฐานคุณภาพของการให้บริการ การกำกับอัตราค่าธรรมเนียม รวมทั้งการติดตามประเมินผลและดำเนินการตามสัญญาด้วย

- ศึกษาวิเคราะห์นโยบายการสื่อสารของประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ เพื่อพัฒนาให้มีนโยบายที่เหมาะสม รวมทั้งเสนอแนะนโยบายด้านการสื่อสารต่อรัฐบาล

- เป็นอนุญาโตตุลาการในการพิจารณาตัดสินเมื่อมีข้อพิพาทหรือปัญหาระหว่างผู้ให้บริการ หรือระหว่างคู่สัญญา รวมทั้งการจัดให้มีการร่วมมือประสานงานของผู้ให้บริการโทรคมนาคม

ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องเป็นการทำงานที่ปลดแอกจากการเมืองโดยสิ้นเชิงด้วย

2. ส่งเสริมให้มีการแปรรูปอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งอาจดำเนินการ อาทิ - ปรับเปลี่ยนฐานะของ ทศท. และ กสท. เป็นรัฐวิสาหกิจในลักษณะบริษัทจำกัดที่รัฐถือหุ้นเต็ม ที่ ภายใน 1 ปี หรือโดยเร็วที่สุด

- ปรับเปลี่ยนฐานะบริษัทจำลองของ ทศท. และ กสท.โดยขายหุ้นให้ภาคเอกชนบางส่วน เช่นไม่เกิน 49% ภายใน 1 ปี หรือโดยเร็วที่สุด

- ให้บริษัท ทศท.และกสท.ขายหุ้นให้ภาคเอกชนสองในสาม รัฐถือหุ้นไม่เกิน 33% และแปรรูปอย่างเต็มที่ภายในระยะเวลา 6-10 ปี

ในส่วนของกรมไปรษณีย์โทรเลขในฐานะที่รับผิดชอบในระดับอำนวยการ บทบาทต่อไปที่จะส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีมีดังนี้

1. เป็นเลขาธิการคณะกรรมการสื่อสารแห่งชาติ โดยมีหน้าที่

- ส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันอย่างยุติธรรมในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

- กำหนดมาตรฐานทางเทคนิคเกี่ยวกับโทรคมนาคม

- กำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการให้บริการโทรคมนาคม

- กำหนดนโยบายและแผนหลักการโทรคมนาคมของชาติ

-ทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการ กรณีมีข้อพิพาทที่เกิดจากการให้บริการโทรคมนาคม

2. จัดตั้งศูนย์กำหนดมาตรฐานและทดสอบมาตรฐานวิทยุคมนาคม เพื่อให้เครื่องมือและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมที่จะนำมาใช้ภายในประเทศ มีคุณสมบัติที่ถูกต้องตรงตามมาตรฐานสากล

3. ส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร เพื่อดำเนินการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยประยุกต์เพื่อการผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม และการสื่อสารเพื่อใช้ภายในประเทศและเพื่อการส่งออกรวมทั้งการกำหนดมาตรฐาน และการปรับเทียบมาตรฐานเครื่องมือและอุปกรณ์ด้านการสื่อสาร

ในส่วนที่ว่าด้วยเรื่องการแปรรูปนั้นจริง ๆ ทศท. และ กสท. ได้รับการแปรรูปมาขั้นหนึ่งแล้ว คือ การเปลี่ยนสภาพการบริการในระบบราชการ (BUREAUORATIC SYSTEM) มาเป็นรัฐวิสาหกิจ (STATE ENTER-PRISE) รัฐถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของ 100% เป็นลักษณะหน่วยงานกึ่งราชการ ทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติ (OPERATOR SECTOR) โดยมีกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ควบคุมนโยบาย (POLICY SECTOR) สภาพของพนักงานเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นข้าราชการ (GOVERNMENT OFFICIAL) มาเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ (STATE EMPLOYEE) และจากการเป็นรัฐวิสาหกิจปัจจุบันก็จะมาสู่รูปแบบพนักงานของบริษัทมหาชนในอนาคต

"ทศท.ต้องแปรรูปไปเป็นองค์กรบริหารโทรคมนาคมที่เหมาะสมกับสภาพการค้าเสรี เนื่องจากเหตุผลหลายประการ อาทิ ขาดงบลงทุนซึ่งรัฐระบุเพดานเงินกู้เอาไว้แล้ว, กฎระเบียบมากต้องดำเนินงานภายใต้กฎหมายระเบียบคำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.), ทศท. ไม่อาจเพิ่มอัตราเงินเดือนให้กับพนักงานได้จนประสบปัญหาสมองไหลในที่สุด, ในเรื่องค่าตอบแทนเราไม่สามารถกำหนดได้เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง, ในเรื่องบุคคลากรเราก็ไม่สามารถกำหนดได้ต้องขออนุมัติจากสภาพัฒน์และก็ครม.อีกเช่นกัน เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลเท่านั้นส่วนการดำเนินการแปรรูป เราจะดำเนินการด้วยตัวเอง" จุมพล เหราบัตย์ ผู้อำนวยการ ทศท. คนปัจจุบัน กล่าวถึงเหตุผลของทิศทางในอนาคตอันใกล้

ในส่วนของ กสท. นั้น พินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงคมนาคม ซึ่งรับผิดชอบ กสท.โดยตรงก็ยืนยันอีกเช่นกันถึงแนวทางการแปรรูปไปเป็นบริษัทมหาชนสู่ยุคการค้าเสรีโดยตามที่คณะกรรมการ กสท.ได้คาดการณ์ไว้คิดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี ในเรื่องการแปรรูป

โดยเฉพาะในส่วนของ กสท. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ได้สรุปแนวทางการแปรรูปที่น่าจะเป็น คือ ควรแยกกิจการโทรคมนาคมออกจากิจการไปรษณีย์ไม่ใช่กิจการค้าผลกำไรกับประชาชน เป็นบริการเดียวที่รัฐต้องแบ่งเบาภาระ หรือหาวิธีการที่ดีที่สามารถหาเงินมาลงทุนหรือเลี้ยงตัวเองได้ขณะที่กิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่สร้างผลกำไรอย่างมหาศาล อาจจะเป็นการตั้งองค์กรขึ้นมาในรูปของบริษัทเอกชนเข้ามารับผิดชอบส่วนโทรคมนาคมนี้ไปเลยหรืออาจจะขายหุ้นส่วนหนึ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ ให้พนักงานและประชาชนถือหุ้นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องกระทำก่อนอื่นใดคือการปรับโครงสร้างการบริหารให้คล้ายธุรกิจเอกชนก่อน คือ มีกระบวนการตัดสินใจที่มีขั้นตอนน้อยที่สุด และรวดเร็วดั่งเช่นที่ ทศท. ทำอยู่ขณะนี้

"ซึ่งเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีมาในเมืองไทย ผมว่าเป็นแค่นามธรรมเท่านั้น เพราะประเทศไทยยังไม่เคยมีกฎหมายการแปรรูปออกมารองรับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการออกกฎหมายนี้ทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนเท่านั้น ส่วนวิธีการก็อาจให้รัฐวิสาหกิจแปรรูปเป็นบริษัทมหาชนโดยกระจายหุ้นทั้งหมดออกสู่ประชาชน, ให้เอกชนเป็นผู้ดูแลการบริการ, ให้มีการแข่งขันอย่างเสรีหากทำได้เช่นนี้การแปรรูปที่สมบูรณ์ก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก อย่างการบินไทยขณะนี้การบริหารงานก็ต้องอยู่ในความดูแลควบคุมและอนุมัติจากกระทรวงการคลัง ครม. ตลอดจนนโยบายของรัฐที่จะปกป้องการบินไทยจากการแข่งขันกับบริษัทอื่นเหล่านี้ ทำให้การบินไทยของเราไม่สามารถแสดงศักยภาพที่แท้จริงของตนออกมาได้" พิเศษ เสตเสถียร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายธุรกิจ ได้ให้แง่คิดอีกแง่หนึ่งในมุมนักวิชาการที่ศึกษาในเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่ต้น

มาถึงตรงนี้ไม่ว่าใครจะแสดงความคิดเห็นเช่นไร เราต้องยอมรับกับความสำคัญของกิจการการ สื่อสารโทรคมนาคมว่ามีผลต่อประเทศของเราอย่างไร การก้าวย่างจากระบบเศรษฐกิจที่เคยพึ่งพาผลผลิตทางเกษตรกรรมเป็นหลัก มาเป็นระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากผลผลิตทางอุตสาหกรรม และงานบริการมากขึ้นเหล่านี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้กับการที่จะต้องมีระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่ทันสมัย เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นของสังคมไปโดยปริยาย

ในแง่ธุรกิจและสังคม ความได้เปรียบในการประกอบการงานทุกประเภทและความได้เปรียบ ของสังคมจะขึ้นอยู่กับระดับข่าวสารข้อมูลที่ได้รับว่ารวดเร็ว ถูกต้องและอยู่ในระดับราคาที่เหมาะสมเพียงใด ระบบโทรคมนาคมจะเป็นดัชนีหนึ่งสำหรับวัดคุณภาพชีวิตของสังคม ยุคโลกานุวัตรที่สิ้นแล้วซึ่งพรมแดนเศรษฐกิจเป็นตัวนำไปสู่ระบบการค้าเสรีนิยมอย่างเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งหากสรุปเป็นเบื้องต้นในที่นี้ คือ รัฐต้องเปลี่ยนบทบาทจากการกำกับดูแลไปสู่การสนับสนุน และส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งข้อจำกัดในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ และการเข้ามามีบทบาทของภาคเอกชนในการร่วมลงทุน ร่วมดำเนินการนั้นก่อให้เกิดการแข่งขันในการให้บริการโทรศัพท์และโทรคมนาคมมากขึ้น และในอนาคตการแข่งขันจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อมีการเปิดอย่างเสรี

สำหรับพนักงานของรัฐวิสาหกิจที่กำลังจะกลายเป็นพนักงานในบริษัทมหาชน (ทศท. และ กสท.) อยู่ในอนาคตจะต้องพัฒนาตนเองควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความคิด การทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะที่จะมาถึงในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งก่อให้เกิดความคิดริเริ่ม และการแก้ไขปัญหาความเฉื่อยชาของการปฏิบัติงาน

เหล่านี้เป็นข้อสรุปที่จะนำทางให้ประเทศเรามาสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านการเงิน ด้านเศรษฐกิจ และด้านการสื่อสารโทรคมนาคมในภูมิภาคใกล้เคียง แต่จะเป็นไปได้หรือไม่….เวลาเท่านั้นที่จะมาทำลายกฎเกณฑ์การรอคอยอันนี้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us