Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2537
"ชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก : มิติมืดของการค้าไร้พรมแดน"             
 


   
search resources

Commercial and business
International




ท่าขี้เหล็ก เมืองชายแดนของพม่าที่ตรงข้ามกับอำเภอแม่สาย ในจังหวัดเชียงรายของฝั่งไทยกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าเข้าสู่ความทันสมัย ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจซึ่งคาดกันว่าจะรุ่งเรืองอย่างมาก ๆ หากโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจเป็นจริงขึ้นในเร็ววันนี้ ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า ศักยภาพทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ก็คือปัญหาผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน การลักลอบค้าของเถื่อนและปัญหาคนเถื่อนที่เข้าเมืองโดยผิดกฏหมายเพื่อผ่านไปประเทศที่สาม นี่คือด้านลบของกระแสโลกานุวัตร

ภาพอาคารพาณิชย์ที่เรียงรายจากด่านตรวจคนเข้าเมืองของเมียนมาร์ไปตามถนนสายหลักสู่วงเวียนซึ่งมีแผ่นป้ายเขียนด้วยอักษรสีทอง "THE CITY OF GOLDEN TRIANGLE" ก่อนที่จะแยกไปด้านตะวันออกและตะวันตกของตำบลท่าขี้เหล็ก รวมทั้งตัวอาคาร โรงแรมและห้างสรรพสินค้า ที่กำลังเริ่มโหมก่อสร้างมากกว่า 15 แห่งในปัจจุบัน พอจะใช้เป็นเสมือนดัชนีบ่งชี้ถึงการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการค้าของเมืองชายแดนสองฟากฝั่งแม่น้ำที่เรียกขานว่า "แม่สาย" ได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญ ภาพพัฒนาการดังกล่าวมีสหสัมพันธ์ในเชิงบวก ต่อภาวะการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของไทย ในยุคสมัยแห่งการค้าไร้พรมแดน

แต่อีกภาพหนึ่ง ที่ชั้น 3 ของอาคารห้างสรรพสินค้า "สิงคโปร์ สแควร์" ในท่าขี้เหล็ก ถูกระเบิดกระจกทุกบานแตกละเอียด ส่วนหนึ่งของอาคารพังพินาศ จนทำให้ห้างนี้ประสบกับปัญหาตั้งแต่เริ่มดำเนินการ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพม่าบอกว่า เป็นเพราะความขัดแย้งด้านผลประโยชน์จากธุรกิจ

ภาพนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนผลประโยชน์อันมหาศาลของธุรกิจเมืองชายแดนเท่านั้น หากยังสะท้อนให้เห็นว่า สภาวะไร้ระเบียบของโลกไร้พรมแดนกำลังเกิดขึ้นที่ท่าขี้เหล็กอีกด้วย

การร่วมมือของประเทศในอนุภูมิภาคสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ส่อแนวโน้มให้เห็นถึงศักยภาพอันสูงส่งทางเศรษฐกิจของตลาดใหม่ ที่ประกอบไปด้วยมณฑลทางภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน พม่า ไทย และลาว ได้อย่างแจ่มชัด

ทั้งนี้เนื่องมาจากมีองค์ประกอบที่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เห็นถึงแนวโน้มอนาคตของความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ของจีนอันได้แก่มณฑลยูนนาน และมณฑลเฉสวน จากตัวเลขปี 2534 รวบรวมโดยนิตยสารเอเชียอิงค ์ เฉพาะมณฑลยูนานมีจำนวนประชากรประมาณ 37.8 ล้านคร มีพื้นที่ 494,000 ตารางกิโลเมตร ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการส่งออก 401 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการนำเข้า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนมณฑลเฉสวน มีจำนวนประชากรสูงถึง 109 ล้านคน มีพื้นที่ 570,000 ตารางกิโลเมตร ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ 23.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการส่งออก 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการนำเข้า 393 ล้านเหรียญสหรัฐ

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีประชากร 4.13 ล้านคน พื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร ในปี 2535 มีผลผลิตมวลรวมประชาชาติ 818 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออก 77 ล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้า 209 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนสหภาพเมียนมาร์ ประชากร 42.33 ล้านคน 135 ชนชาติ พื้นที่ 676,577 ตารางกิโลเมตร ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ 22,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (แต่ตัวเลขของทางการพม่าอยู่ที่ประมาณ 9,195 ล้านเหรียญสหรัฐ) ส่งออก 506 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 1.18 ล้านเหรียญสหรัฐ

การที่แต่ละประเทศในอนุภูมิภาคแถบนี้เห็นพ้องต้องกัน ที่จะร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่จะเปิดรับวิทยาการสมัยใหม่ มาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยมีปัจจัยรองรับทางด้านวัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์

กอรปกับประเทศจีนมีความแตกต่างทางด้านรายได้ ระหว่างประชากรในมณฑลที่อยู่ชายฝั่งทะเลและมณฑลแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง มีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการเข้าไปลงทุนประกอบการของชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ขณะที่มณฑลทางภาคใต้ได้ชื่อว่าเป็นมณฑลที่ยากจนที่สุดของจีนเป็นพื้นที่ที่ถูกปิดล้อมไม่มีทางออกทะเล ทำให้ยากแก่การผลิตติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ

รัฐบาลจีนและรัฐบาลท้องถิ่นของจีน พยายามจะแก้ไขปัญหานี้ โดยประกาศใช้นโยบาย "เปิดประตูสู่ใต้" ด้วยการร่วมมือในการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายคมนาคม กับสหภาพเมียนมาร์ ลาว และไทย ทั้งในเส้นทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งนี้เพื่อหาทางออกสู่ทะเลในระยะทางที่สั้นที่สุด เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าอันจักช่วยให้ได้เปรียบในการแข่งขันกับสินค้าของประเทศอื่น และสามารถเปิดตลาดสินค้าของตนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

ด้วยนโยบายดังกล่าวของจีนและการร่วมมือของพม่า ลาว และไทย ส่งผลให้อนุภูมิภาคสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจก้าวเข้าสู่มิติใหม่แห่งการค้าไร้พรมแดน และส่งผลโดยตรงมาหาเชียงรายของไทย

การที่เชียงรายมีพรมแดนเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคดังกล่าวโดยติดกับอำเภอท่าขี้เหล็กจังหวัดเชียงตุงทางด้านเหนือ ติดกับแขวงบ่อแก้วและแขวงอุดมไซ ของลาว ทางทิศตะวันออก และติดจังหวัดเชียงใหม่ทางทิศใต้ ส่งผลให้การพัฒนาเส้นทางคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายอนุภูมิภาคล้วนแล้วแต่ต้องผ่านเชียงราย

การพัฒนาเครือข่ายทางบก พม่ามีโครงการเริ่มปรับปรุงเส้นทางจากท่าขี้เหล็ก ผ่านไปยังเชียงตุงไปยังต้าลัวะ (ท่าล้อ) ซึ่งเป็นเมืองชายแดนจีน-พม่าโดย อู เต หม่อง ประธานสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (สลอร์ค) ประจำท่าขี้เหล็ก กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ทางรัฐบาลจะเริ่มดำเนินการปรับปรุงถนนสายนี้แทนบริษัทสุขเอื้ออนันต์ที่ถอนตัวไปในทันทีที่สิ้นฤดูฝน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ออกทุนดำเนินการเอง ทั้งนี้ไม่มีการคาดการณ์ได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด ขึ้นอยู่กับเงินทุนที่จัดหามาเป็นสำคัญ สำหรับถนนที่ทางบริษัทสุขเอื้ออนันต์ได้มาไถขยายเอาไว้ ได้รับความเสียหายบางส่วนต้องมาเริ่มกันใหม่

นอกจากนี้ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บริษัทครอบครัวอุษามีโครงการเข้าไปขอรับสัมปทานสร้างถนนลาดยางมาตรฐานจากเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว (ตรงข้ามอำเภอเชียงของ เชียงราย) ไปยังเวียงภูคา แขวงหลวงน้ำทา เพื่อเชื่อมเข้ากับเมืองล่าและเชียงรุ้งของเขตปกครองตนเองไทลื้อ สิบสองปันนาในการพัฒนาเส้นทางรถไฟ จากจีนลงมาไทย ถาน อิง เซิง อธิบดีกรมรถไฟ มณฑลยูนนาน กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่ามณฑลยูนนานมีโครงการร่วมกับพม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ในการพัฒนาเครือข่ายทางรถไฟเป็นโครงการร่วมของ 6 ชาติที่ทุกชาติต้องเห็นพ้องกันทั้งนี้ทางกรมการรถไฟ มณฑลยูนนานมีโครงการที่วางรางรถไฟจากเมืองคุนหมิง ไปยังซือเหมาและอีกเส้นหนึ่งออกไป เสียงหยุน เมืองล่า และเข้าสู่ประเทศลาว ผ่านหลวงน้ำทาเข้าสู่แขวงบ่อแก้วโครงการนี้มีกำหนดเอาไว้ในแผนงานปี 2540

แผนการดังกล่าวสอดคล้องกับแผนงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีแนวคิดในการสร้างทางรถไฟจากเด่นชัย แพร่ ขึ้นไปยังเชียงราย ซึ่งขณะนี้ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจากอังกฤษเข้ามาศึกษาขั้นต้นไปแล้ว

สำหรับโครงการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมทางบกนี้เป็นที่น่าสนใจเนื่องจากจีนพม่า และกัมพูชาได้เข้าร่วมโครงการทางสายเอเชีย (ASIAN HIGHWAY PROJECT) และโครงการรถไฟทรานเอเชีย (TRANS ASIAN RAILWAYS) ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมทางบกระหว่างเอเชียกับทวีปยุโรปได้อย่างสะดวกในอนาคต

ในการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมทางอากาศปัจจุบันสนามบินเชียงรายได้รับการก่อสร้างให้เป็นสนามบินนานาชาติ และมีโครงการเปิดเส้นทางบินระหว่างเมืองต่าง ๆ ในวงกลม 5 เชียง ได้แก่เชียงรุ่ง เชียงราย เชียงใหม่ เชียงตุง เชียงทอง (หลวงพระบาง) นอกเหนือไปจากการเปิดเส้นทางการบินที่สำคัญ ๆ เช่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-คุนหมิง เชียงใหม่-มัณฑะเลย์ เชียงใหม่-สิงคโปร์ กรุงเทพ-เวียงจันทร์ ฯลฯ

ส่วนการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางน้ำ หลังจากคณะกรรมการร่วมมือสำรวจแม้น้ำโขง-ลานซ้าง ไทย พม่า ลาว และจีน ได้ดำเนินการสำรวจแม่น้ำโขง-ลานซ้าง ครั้งที่สามก็ได้มีการเสนอให้ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ร่วมมือกันพัฒนาเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำดังกล่าว โดยฝ่ายจีนได้ทำการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำช่วงอยู่ในเขตประเทศจีนไปแล้ว และเสนอแนวคิดในการระเบิดแก่งช่วงที่อยู่ในประเทศพม่าและลาว

สำหรับกรณีแม่น้ำโขงในเขตพม่า อู เต หม่อง กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลพม่าได้เห็นพ้องกับจีนในการระเบิดเกาะแก่งต่าง ๆ ในแม่น้ำโขงช่วงที่ผ่านพม่าแล้วเพื่อมุ่งพัฒนาการเดินเรือเพื่อขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวในแม่น้ำโขง จากซือเหมา เชียงรุ่ง ลงมายังเมืองพง เชียงแสน ห้วยทราย และหลวงพระบาง

หากว่าการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมดังกล่าวลุล่วงตามโครงการ จากเชียงรายสามารถเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ที่สำคัญในอนุภูมิภาคหกเหลี่ยมเศรษฐกิจได้โดยสะดวก ทั้งในเส้นทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ

แต่ก่อนที่เชียงรายจะไปถึงจุดนั้นได้ อาจจะใช้เวลานานพอสมควร

ทุกวันนี้ตัวจังหวัดเชียงราย ไม่ได้คึกคักเท่ากับอำเภอแม่สาย ซึ่งติดต่อกับพม่าได้โดยตรง แม่สายมีฐานะเป็นเมืองค้าชายแดนที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทยมาเป็นเวลานานและเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก่อนที่จะเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการค้าไร้พรมแดนเมื่อเริ่มมีการพูดกันถึงโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ

ในฐานะที่เป็นตลาดการค้าชายแดน แม่สายเป็นจุดการค้าที่มีสินค้าออก-เข้ามาจากสหภาพเมียนม่าร์ที่มีมูลค่าสูงมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากตัวเลขในปี 2535 ประมาณ 93% ของการค้าชายแดนไทย-พม่าด้านจังหวัดเชียงราย จะผ่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก และในปี 2536 การค้าจุดนี้มีสัดส่วน 91% ของการค้าชายแดนไทย-พม่าด้านจังหวัดเชียงรายทั้งหมด

สินค้าของไทยที่ส่งผ่านจุดนี้จะกระจายไปยังเชียงตุง ตองกี มัณฑะเลย์ ลาเซียว รุ่ยลี และมั่งสือ ในดินแดนของจีน สินค้าเหล่านี้ก็จะได้แก่ผงชูรส สิ่งทอ เส้นใยสังเคราะห์ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ยางรถยนต์ ทองคำแท่ง โสร่งสำเร็จรูปสินค้าเหล่านี้ได้รับความนิยมว่าเป็นสินค้าคุณภาพดี เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกันที่มาจากจีน

พม่านำเข้าสินค้าจำเป็นเหล่านี้ปีละมากๆ ในปี 2536 นำเข้าสินค้าจากไทย 1,519 ล้านบาท ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2537 มูลค่าทั้งสิ้น 994.8 ล้านบาท ส่วนไทยนำเข้าจากพม่าทั้งสิ้น 37.5 ล้านบาท และช่วง 6 เดือนแรกของปี 2537 มูลค่า 65.5 ล้านเหรียญ

การพัฒนาเส้นทางคมนาคมจากจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางบกและเส้นทางในแม่น้ำโขงซึ่งผ่านประเทศพม่า ในพื้นที่รัฐฉาน ส่งผลให้การติดต่อค้าขายระหว่างพม่าและไทยทวีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากสินค้าที่นำเข้าจากพม่าส่วนหนึ่งมีแหล่งผลิตอยู่ในจีน เช่นเดียวกันสินค้าไทยส่วนหนึ่งที่ส่งออกไปพม่าก็ผ่านเข้าไปถึงจีน มีไปวางขายที่เมืองรุ่ยลี่ มั่งสือ แม้กระทั่ง คุนหมิง จาย แสง เลขานุการสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ ประจำท่าขี้เหล็ก เปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า สินค้าจากจีนในช่วงนี้เข้ามาตามเส้นทางแม่น้ำโขงโดยเรือสินค้าจีนเข้าเทียบท่าที่เมืองพงแล้วเข้ามาวางจำหน่ายที่ท่าขี้เหล็ก และอีกส่วนหนึ่งส่งออกไปยังประเทศไทย ช่วงฤดูฝนเรือสินค้าจากจีนเดินทางลงมาได้ง่ายกว่าฤดูแล้ง

สำหรับสินค้าจากประเทศที่เข้ามาขายในท่าขี้เหล็กขณะนี้มีทั้งสินค้าประเภทสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ร่ม ยารักษาโรค สุรา บุหรี่ สาลี่ กระเทียม เมล็ดทานตะวัน โดยหน่วยงานทางด้านศุลกากรของรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินมาตรการทางด้านภาษี แต่กระนั้นก็ตามสินค้าส่วนหนึ่งก็มีการลักลอบหนีภาษี แต่ในทางปฏิบัติทางการก็ไม่ได้จับกุมแต่อย่างใดเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอัญมณีจำพวก พลอย หยกและไข่มุก ที่นำเข้ามายังตลาดแม่สายดูเหมือนจะมีการปล่อยผ่านเข้ามาโดยง่าย

จาย แสง กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลสลอร์คได้อนุมัติให้ท่าเรือบ้านปง เมืองพง ท่าขี้เหล็ก เป็นท่าเรือที่รองรับการพัฒนาการเดินเรือในแม่น้ำโขงอย่างเป็นทางการแล้ว และช่วงตั้งแต่เดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคมมีเรือสินค้าจากจีนลงมาเทียบท่าแล้วทั้งสิ้น 6 ลำ ในอนาคตหากมีการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมทางบกให้ได้มาตรฐานคาดว่าปริมาณการค้าจะทวีมากขึ้นกว่านี้

ท่ามกลางการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ตลาดการค้าท่าขี้เหล็กได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการลงทุนประกอบการทางด้านอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นมากกว่า 400% มีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ โรงแรม เกสท์เฮาส์ ในช่วงเดือนสิงหาคมกว่า 15 แห่งและในจำนวนนี้มีโครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ของรัฐบาลรวมอยู่ด้วยคือ โครงการก่อสร้างอาคารสำหรับใช้เป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าจากภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศรวมทั้งสินค้าจำพวกอัญมณีและหยก โดยรัฐบาลออกใบรับประกันคุณภาพสินค้า และยืนยันให้เป็นสินค้าปลอดภาษี

ร้านปลอดภาษีแห่งนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่สายใช้ชื่อว่า "เมียนมาร์ ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ ท่าขี้เหล็ก" เป็นการดำเนินการก่อสร้างไปแล้วประมาณ 60% คาดว่าจะเปิดดำเนินการทางธุรกิจได้ก่อนสิ้นปีนี้

สำหรับร้านค้าปลอดภาษีของรัฐบาล "เมียนมาร์ ดีพาร์ทเมนต์สโตร์" มีการก่อสร้างและเปิดดำเนินการแล้วแห่งหนึ่งบริเวณชายแดนจีน พม่า ที่เมืองรุ่ยลี่ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้าไปซื้อสินค้าประเภทอัญมณีและหยกที่เมืองมู่เข และเมืองน้ำคำ เป็นจำนวนมากมีทั้งที่มาจากปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น ซู่ไห่ เกียงดอง ไฮหนาน อันเป็นผลมาจากความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจของชาวจีนในพื้นที่ซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นอกจากนี้ในเมืองท่าขี้เหล็กยังมีห้างสรรพสินค้าที่เพิ่มเปิดดำเนินการอีก 2 แห่ง คือ "ซาน โยมะ พลาซ่า" และ "สิงคโปร์ สแควร์"

ซาน โยมะ เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ริมถนนสายท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง ลงทุนดำเนินการโดยกองทัพ และมีร้านค้าของกระทรวงต่าง ๆ เปิดจำหน่ายสินค้าในบริเวณชั้นล่าง ส่วนชั้นบนจัดไว้สำหรับสินค้าจำพวกอัญมณี พลอย และไข่มุกโดยเฉพาะ โดยมีสินค้าจำพวกหยกและอัญมณีในห้างสรรพสินค้าแห่งนี้มีการออกใบรับประกันคุณภาพของสินค้าให้ด้วย

ห้างสรรพสินค้าซาน โยมะ พลาซ่า มีนโยบายที่จะเปิดตลาดสินค้าจากภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศเช่นกัน โดยสินค้าที่นำมาวางจำหน่ายในปัจจุบันมาจาก มัณฑะเลย์ พะกาน และเมืองอื่น ๆ อีกหลายเมือง

บริเวณด้านหลังของห้างสรรพสินค้าแห่งนี้มีการปรับพื้นที่สำหรับเตรียมการก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่สูง 4 ชั้น โครงการ "ปทุมธานี ซาน โยมะ" ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนไทยและจ่อ วินนัก ธุรกิจพม่า ถัดจากโรงแรมนี้ไปเป็นสนามกอล์ฟท่าขี้เหล็ก

ทางด้านห้างสรรพสินค้า "สิงคโปร์ สแควร์" ตั้งอยู่ในบริเวณท่าขี้เหล็กเป็นอาคารสูง 6 ชั้นของนักธุรกิจเชื้อสายจีน-พม่า ที่นำเข้าสินค้าจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าประเทศไทยถือเป็นร้านค้าที่ขายในระดับราคาปลอดภาษีอีกแห่งหนึ่งในเมืองชายแดนแห่งนี้

นอกจากนี้ "สิงคโปร์ สแควร์" ยังเปิดบริการรับสั่งซื้อสินค้าจากสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐให้กับผู้ขายส่ง ทั้งสินค้ามาตรฐานและสินค้าค้าสต๊อค สินค้าที่วางจำหน่ายในร้านค้าแห่งนี้ได้ แก่สุราต่างประเทศ บุหรี่ต่างประเทศ น้ำหอม เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ

แต่การเปิดดำเนินการของห้างสรรพสินค้า "สิงคโปร์ สแควร์" ประสบปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ถูกวางระเบิดชั้น 3 เป็นเหตุให้กระจกทุกบานแตกละเอียด ส่วนหนึ่งของตัวอาคารพัง ต้องปิดซ่อม เหลือไว้เพียงชั้นสองเท่านั้นที่ยังเปิดดำเนินการอยู่

เบื้องหลังการระเบิดในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ทางการพม่าผู้หนึ่งซึ่งไม่ต้องการจะเปิดเผยตัวเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า เกิดจากความขัดแย้ง ทางด้านธุรกิจระหว่างกลุ่มพ่อค้าในท่าขี้เหล็กกับห้างสรรพสินค้าสิงคโปร์ สแควร์ โดยทางกลุ่มพ่อค้าในตลาดท่าขี้เหล็กได้เรียกเงินจาก อู ทุนอ่อง นักธุรกิจเชื้อสายจีน-พม่า เป็นการชดเชยรายได้ที่พวกเขาสูญเสียไปอันเนื่องมาจากการเปิดห้างสรรพสินค้า แห่งนี้ แต่ทว่าอู ทุน อ่อง ปฏิเสธจึงได้มีการวางระเบิดห้างในที่สุด โชคดีที่มือระเบิดตั้งเวลาไว้ในเวลาที่ไม่มีผู้ใดเข้าไปซื้อสินค้าจึงเกิดความเสียหาย เฉพาะตัวอาคาร

ท่าขี้เหล็กเป็นเมืองที่มีการค้าในตลาดมืดเป็นมูลค่ามหาศาล ประมาณว่าไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี ขณะที่ตัวเลขการค้าในระบบระหว่างไทยและพม่าก็ดูเหมือนจะไม่สูงไปกว่านี้เท่าใดนักคือประมาณ 1.5 พันล้านบาทต่อปี

สินค้าหลักที่มีการลักลอบค้ากันคือ อัญมณีเป็นต้นว่าพลอยจากบ่อเมืองสู้ ในตองกี และพลอยจากบ่อโมลอก ทางตอนเหนือของมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นพลอยแดงเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีหยกจากหมู่บ้านพะกาน และมิชจินา ในรัฐคะฉิ่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นหยกชั้นเลิศของโลก

ต่อปัญหาการลักลอบอัญมณีของพ่อค้าชาวพม่ารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการแก้ไขด้วยการเปิดสาขาของเมียนมาร์ เจมส์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ ซึ่งเป็นวิสาหกิจที่รับผิดชอบในการดำเนินการค้าอัญมณีของกระทรวงเหมืองแร่อันมี พล.ท. จ่อ มินท์ เป็นรัฐมนตรี เพิ่มเป็น 6 แห่ง คือที่ร่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ท่าขี้เหล็ก มู่เจ ตองกีและเกาะสอง เพื่อให้เป็นศูนย์การค้าอัญมณีโดยเฉพาะ

จอ ถั่น ตุน ผู้จัดการร้านเมียนมาร์ เจมส์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ สาขาท่าขี้เหล็ก กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่านอกจากกระทรวงเหมืองแร่จะดำเนินการด้านศูนย์ อัญมณีแล้วยังมีการร่วมทุนกับเวสกรุ๊ป ของวิกรม อัยศิริ ในนามของบริษัท เมียนมาร์ เวส จอยต์ เวนเจอร์ จำกัด และเปิดร้านขายอัญมณีขึ้นที่ร่างกุ้ง 2 แห่ง เปิดสาขาที่ตลาดท่าขี้เหล็กเป็นสาขาแรก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2535 พร้อมกันนี้ก็มีโครงการจะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่งที่เกาะสองและมู่เจ

สำหรับมูลค่าการซื้อขายอัญมณีของลูกค้าในรอบเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาประมาณ 1.7 ล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 75% เป็นคนไทย ที่เหลือเป็นยุโรป

นอกจากนี้ยังมีสินค้าอีกหลายประเภทที่อยู่ในข่ายลักลอบ อาทิสินค้าจำพวกศิลปะวัตถุ โบราณวัตถุและของเก่านานาแขนงทั้งที่มาจากมัณฑะเลย์และเมืองอื่น ๆ รวมทั้งที่มาจากจีน

จุดที่มีการลักลอบขนสินค้าได้แก่บริเวณท่าเรือ ซึ่งอยู่ใกล้วัดผาจม โดยเฉพาะเวลาหลังเที่ยงคืนไปแล้ว จนถึงตีห้า

ปัญหาหนึ่งที่ติดพันมากับการลักลอบขนสินค้าคือ คนจีนหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเส้นทางผ่านไปยังประเทศที่สาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐ

อู เต หม่อง ประธานสภาปฏิรูปกฎหมายและฟื้นฟูระเบียบแห่งรัฐ ประจำท่าขี้เหล็ก ยืนยันว่าทางการท่าขี้เหล็กตระหนักถึงปัญหานี้และมีการจับกุมตัวส่งกลับจีนไปก็มาก แต่ตัวเลขการส่งกลับมีไม่เกิน 2 หลัก ในขณะที่ผู้ลักลอบเข้ามามีมากกว่านั้น

เงินที่มาจากธุรกิจในระบบและนอกระบบ ถูกลำเลียงเข้ามาฝากไว้ในบัญชีของธนาคารพาณิชย์ของไทย ในแม่สาย แม้ว่าจะมีธนาคารของพม่าอยู่ที่ท่าขี้เหล็ก แต่ทว่าบรรดาพ่อค้าแม่ค้าชาวพม่าที่ทำมาหากินอยู่ใน เมืองท่าขี้เหล็กต่างก็นิยมที่จะข้ามมาใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งอยู่ในฝั่งไทยที่อำเภอแม่สายมากกว่า นอกจากเหตุผลที่กลัวว่ารัฐบาลพม่าจะยกเลิกเงินจั๊ตโดยไม่ยอมชดใช้แล้ว พ่อค้าแม่ค้าชาวพม่าส่วนใหญ่ต่างถือเงินบาทหรือเงินดอลล่าร์สหรัฐมากกว่าที่จะถือเงินจั๊ต ดังนั้นการเก็บเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก ๆ ไว้กับตัวก็ย่อมเป็นการเสี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเช่นกัน

"พ่อค้าแม่ค้าพม่ากลัวว่าหากเก็บเงินไว้กับตัวเป็นจำนวนมาก ๆ แล้ว อาจจะถูกทหารยึดเอาเงินไปดังนั้นพวกนี้จึงนิยมที่จะนำเงินมาฝากธนาคารที่แม่สายมากกว่า" เจ้าหน้าที่อาวุโสของธนาคารกรุงไทยรายหนึ่งให้ความเห็น

เขายังบอกด้วยว่า ปัจจุบันมีลูกค้าชาวพม่ามาใช้บริการประจำที่ธนาคารแห่งนี้ประมาณ 30 รายส่วนใหญ่นำเงินมาฝาก รวมทั้งนำเช็คที่ได้รับจากพ่อค้าไทยมาขึ้นเงิน นอกจากนี้ยังมีลูกค้าชาวพม่ารายใหม่มาเปิดบัญชีเงินฝากใหม่ประมาณวันละ 10 ราย

"เราอนุโลมให้ลูกค้าชาวพม่าใช้บัตรประชาชนพม่าเป็นหลักฐานในการเปิดบัญชี แต่ถ้าลูกค้ารายใดไม่มีบัตรประชาชนเราก็จะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือเป็นหลักฐาน" เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีพ่อค้าแม่ค้าบางรายนิยมใช้บริการเงินออมกับธนาคารท้องถิ่นของพม่า อ้ายหน พ่อค้าจำหน่ายศิลปโบราณวัตถุในตลาดท่าขี้เหล็ก บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าเขาเปิดบัญชีเงินฝากทั้งในธนาคารไทยที่แม่สาย และธนาคารท้องถิ่นของพม่าเพราะธนาคารท้องถิ่นรับประกันว่าจะมีการชดใช้เงินฝากหากมีการยกเลิกเงินจั๊ต

นอกจากธนาคารพาณิชย์แห่งนี้แล้วยังมีธนาคารพาณิชย์ของไทยแห่งอื่น ๆ ที่ลูกค้าชาวพม่าต่างก็นิยมไปใช้บริการไม่แพ้กัน

เม็ดเงินที่กำลังหลั่งไหลผ่านเมืองท่าขี้เหล็กโดยการชูธงด้านการท่องเที่ยว ทำให้รัฐบาลพม่า ไม่สามารถที่จะหยุดนิ่งเฉยปล่อยให้โอกาสอันงดงาม ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ได้ สถิติจากด่านตรวจคน เข้าเมืองของพม่าระบุว่า ในวันธรรมดา จะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางไปยังเมือง ท่าขี้เหล็กของพม่าประมาณ 2000-3000 คน หากไปวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันเสาร์-อาทิตย์จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอีกเท่าตัว หากเป็นช่างเทศกาล เช่น วันปีใหม่, ตรุษจีน หรือวันสงกรานต์ จำนวนนักท่องเที่ยวก็จะพุ่งขึ้นไปถึง 20,000-30,000 คนต่อวัน

แน่นอนว่ารัฐบาลทหารพม่าจ้องมองรายได้ที่เข้ามาทางเมืองที่ขี้เหล็กด้วยความไม่พึงพอใจนัก เพราะรายได้เหล่านี้ยังไม่สามารถที่จะนำมาพัฒนาประเทศได้อย่างพอเพียง รัฐบาลพม่าต้องการที่จะให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาอยู่ในเมืองท่าขี้เหล็กหรือเมืองเชียงตุง มากกว่า ที่จะเห็นนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เดินข้ามไปซื้อสินค้าเพียงไม่กี่ชิ้นแล้วเดินทางกลับเข้า มานอนที่แม่สาย หรือเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในเมืองไทยต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us