Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2537
"เปิดเสรีโรงเหล็ก ศึกนี้สหวิริยา แพ้ไม่ได้ !!"             
 


   
www resources

โฮมเพจ สหวิริยาสตีลอินดัสตรี

   
search resources

สหวิริยาสตีลอินดัสทรี, บมจ.
วิทย์ วิริยประไพกิจ
Metal and Steel




โครงการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนและรีดเย็นของสหวิริยาสตีล มีมูลค่าการลงทุนมหาศาล และมีความสำคัญต่ออนาคตของสหวิริยาเป็นอย่างมากเพราะเป็นจุดเปลี่ยนที่จะก้าวกระโดดจากความเป็นผู้ค้าเหล็ก ขึ้นสู่ฐานะผู้ผลิตอย่างเต็มตัว กระแสเรียกร้องให้เปิดเสรีโรงงานเหล็กแผ่น ที่เกิดขึ้น จากคู่แข่ง จึงเป็นสิ่งที่สหวิริยาต้องต่อต้านอย่างเต็มที่ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องไม่ให้เกิดขึ้นในช่วงปีสองปีต่อจากนี้ เพื่อซื้อเวลาให้โรงงานเหล็กของตนยืนได้อย่างเข้มแข็งเสียก่อน

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2532 กระทรวงอุตสาหกรรมในยุคของรัฐมนตรีที่ชื่อ บรรหาร ศิลปอาชา อนุมัติให้กลุ่มสหวิริยา ผู้ค้าเหล็กรายใหญ่ของเมืองไทย ได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็น โดยห้ามผู้ประกอบการรายอื่น เข้ามาตั้งโรงงานประเภทเดียวกันนี้จนกว่าจะถึงปี 2542

ในขณะนั้น กลุ่มสหวิริยามีความเชื่อมั่นด้วยหัวใจที่พองโตว่า จะไม่มีใครหน้าไหนที่จะเข้ามาขวางทางในอุตสาหกรรมเหล็กประเภทนี้อีกแล้วในช่วง 10 ปียกเว้นแต่บริษัทผู้นำเข้าเหล็กแผ่นจากต่างประเทศซึ่งบริษัทผู้นำเข้าเหล่านี้ก็ยังต้องติดขัดในเรื่องภาษีนำเข้าที่จะเป็นตัวขัดขวางสำคัญทางด้านการตลาด ที่จะแข่งกับอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นในประเทศ

ความเป็นต่อของสหวิริยาในระยะนั้น จึงมีอยู่หลายขุม

แต่หารู้ไม่ว่า เพียงเวลาดำเนินการผ่านไปเพียงครึ่งทางหรือ 5 ปีเท่านั้น กลุ่มสหวิริยาก็ต้องประสบกับ "ก้างตำคอ" ชิ้นใหญ่เมื่อมีเสียงเรียกร้องจากรอบด้าน ให้มีการพิจารณา ทบทวนมติที่มอบสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียวนี้ให้กับกลุ่มสหวิริยานี้เสียใหม่ ในขณะที่ค่ายคู่แข่งที่หมายตาจะเข้ามาสู่อุตสาหกรรมนี้บ้างก็พยายามใช้กำลังภายในทุกรูปแบบที่ จะพลิกมติดังกล่าวให้จงได้

ความฝันของกลุ่มสหวิริยาที่จะเป็นใหญ่แต่ผู้เดียวในอุตสาหกรรมเหล็กประเภทนี้จึงต้อง "ตกหลุมอากาศ" ทันที

เมื่อย้อนไปดูแนวทางดำเนินการของกลุ่มสหวิริยาที่จะเป็นใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ จะพบว่าสหวิริยาได้เตรียมการไว้อย่างดีพอสมควร การทุ่มเทงบประมาณมหาศาลเพื่อซื้อที่ดินถึง 1,750 ไร่ ที่ตำบลรำพึง อ. บางสะพาน จ. ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเนรมิตรให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเหล็กของกลุ่มโดยเฉพาะนั้นเป็นไปอย่างไม่อั้น โดยเมืองอุตสาหกรรมเหล็กแห่งนี้ประกอบด้วย 4 บริษัทหลักที่เป็นหัวใจของกันและกัน

เริ่มจาก บริษัทสหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัดซึ่งเป็นบริษัทพี่เอื้อยของเมืองอุตสาหกรรมเหล็กแห่งนี้ความยิ่งใหญ่จะดูได้จากทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 5,100 ล้านบาท มีเป้าหมายที่จะมุ่งผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (HOT ROLLED COILED) โดยเฉพาะโดยมีกรรมวิธีการผลิตซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของคนในวงการ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป ด้วยการนำเหล็กแบน (CONVENTIONAL SLAB) มาผ่านกระบวนการรีดซ้ำ (REPRESSING) ให้เหล็กบางลงมา ซึ่งเหล็กแผ่นรีดร้อนนี้จะเป็นวัตถุดิบสำคัญที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็น ท่อน้ำมัน, ท่อแก๊ส, ท่อน้ำ, โครงสร้างเหล็ก,คลังสินค้า, ถังน้ำมัน, ตู้รถไฟ, ตู้รถบรรทุกสินค้า, ตัวถังรถบรรทุก, หรือแม้แต่อุตสาหกรรมต่อเรือ

กลุ่มสหวิริยาตั้งความหวังกับเหล็กแผ่นรีดร้อนนี้ไว้เป็นอย่างมาก โดยพยายามแสวงหาผู้ร่วมทุนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ จนกระทั่งได้กลุ่มดูเฟอร์โกจากอิตาลีเข้ามาร่วมหุ้นในอัตรา 1.8 ล้านตันต่อปี กลุ่มสหวิริยาค่อนข้างจะภาคภูมิใจเป็นอย่างมากกับโรงงานเหล็กแห่งนี้อย่างมากว่าเป็นโรงงานเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ด้วยการลงทุนมากถึง 15,000 ล้านบาท

บริษัท เหล็กแผ่นรีดเย็นไทย จำกัดเป็นบริษัทที่ 2 ในเมืองอุตสาหกรรมเหล็กแห่งนี้ ที่ดำเนินโครงผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดม้วน (COLD ROLLER COIL) จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2533 มีทุนจดทะเบียน 1,500 ล้านบาท โดยสหวิริยาสตีล อินดัสตรีเข้ามาถือหุ้นในบริษัทแห่งนี้ถึง 99.99% ตั้งกำลังการผลิตสูงสุดขั้นต้นไว้ 6.7 แสนตันต่อปี โดยมีขั้นตอนการผลิตที่เป็นที่ถกเถียงกันในวงการ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปเช่นกัน ด้วยการนำเหล็กแผ่นรีดร้อน จากบริษัทแม่ คือสหวิริยาอินดัสตรีมาผ่านกระบวนการ DOWNSTREAM ให้กลายเป็นเหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดม้วน ซึ่งเหล็กแผ่นรีดเย็นนี้ ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมหลายประเภท อาทิเช่น การประกอบตัวรถยนต์, เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ถังเหล็ก เป็นต้น

นอกจากบริษัททั้ง 2 แล้ว ที่เมืองอุตสาหกรรมเหล็กแห่งนี้ ยังประกอบด้วยบริษัทลูกอีก 2 บริษัท คือ บริษัทเหล็กแผ่นเคลือบไทย ซึ่งผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบม้วน (ELECTRO-GALVANIZED COIL) ซึ่งจะรับวัตถุดิบคือเหล็กแผ่นรีดเย็นจากบริษัทแม่มาดำเนินการผลิต โดยมีกำลังผลิต 135,000 ตันต่อปี และบริษัท ท่าเรือประจวบจำกัดซึ่งเป็นหัวใจหลักสำคัญอย่างหนึ่งของโครงการ โดยจะก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก 2 เท่า โดยเริ่มดำเนินการใช้ได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2537 ที่ผ่านมา

ถ้าหากย้อนกลับไปในอดีตช่วงที่กลุ่มสหวิริยาจะได้รับสัมปทานการผลิตโครงการเหล็กรีดร้อน และเย็นจะได้ทราบถึงเหตุผลสำคัญที่เกิดการเรียกร้องของค่ายอุตสาหกรรมเหล็กรายใหญ่ที่พยายามพลิกผันโครงการให้ตัวเองได้เข้าไปดำเนินการบ้างในขณะนี้

นับแต่เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2531 ที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีมติอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนการผลิตเหล็กรีดร้อนและรีดเย็นแก่สหวิริยากรุ๊ป แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะให้รายอื่นได้รับการส่งเสริมด้วยหรือไม่ ก็ปรากฏว่า มีการทุ่มเทกลวิธีทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ที่หวังจะพลิกผันและโน้มน้าวจิตใจให้บีโอไอเปิดโอกาสกว้างให้กลุ่มอื่นบ้าง

แหล่งข่าวระดับสูงผู้เกี่ยวข้องกับค่ายใหญ่ที่หวังจะได้สัมปทานในครั้งนี้ เปิดเผยว่า นักลงทุนต่างก็มองโครงการนี้อย่างใจจดใจจ่อ โดยหลายรายเห็นแววว่า หากได้ดำเนินโครงการนี้ จะมีแต้มต่อในวงการอุตสากหรรมของไทยอีกมากโข โดยกลุ่มที่สนใจในขณะนั้น นอกจากกลุ่มสหวิริยาแล้ว ก็มีกลุ่มสยามสตีล กลุ่มวนชัยและบีเอชพี กลุ่มนิปปอนเดนโซ่ กลุ่มกรุงเทพผลิตเหล็ก และกลุ่มนครไทยสตีลเวอร์ค

กลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มสหวิริยา และกลุ่มสยามสตีล ได้พยายามใช้กำลังภายในทุกรูปแบบที่จะล็อบบี้ฝ่ายการเมืองซึ่งในขณะนั้น อยู่ในสมัยของรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มต่างมีความสัมพันธ์เป็นอย่างดีต่อพรรคชาติไทย ซึ่ง พล.อ. ชาติชายเป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น

"เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า คุณวิทย์(วิริยะประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ สหวิริยาสตีลอินดัสตรี) และคุณวันชัย (คุณานันทกุล ประธานกรรมการบริหารของสยามสตีลกรุ๊ป) ต่างให้การสนับสนุนพรรคชาติไทยมาอย่างเหนียวแน่นจึงทำให้ช่วงนั้นพรรคชาติไทยตัดสินใจค่อนข้างลำบากว่า จะยอมให้มีค่ายใหม่เข้ามาผลิตแข่งกับสหวิริยาดีหรือไม่" แหล่งข่าวกล่าว

แต่แล้วเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2532 กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งอนุมัติให้สหวิริยาตั้งโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนและรีดเย็นได้เพียงผู้เดียว และสั่งระงับการตั้งหรือขยายการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนเหล็กแผ่นรีดเย็นของนักลงทุนรายอื่นๆ เป็นเวลา 10 ปี เป็นการสร้างอำนาจผูกขาด ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า การคุ้มครองอุตสาหกรรมให้กับกลุ่มสหวิริยา

ทางสยามสตีลกรุ๊ป ไม่ละความพยายามที่จะยืนยันตัวเลข ความต้องการเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศ ว่ามีมากกว่ากำลังผลิตที่สหวิริยาผลิตได้ โดยได้ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไออยู่หลายรอบตลอด 4 ปี ซึ่งในที่สุดทางบีโอไอก็ได้ให้การส่งเสริมเฉพาะการผลิตเหล็กโครงสร้างแก่สยามสตีลกรุ๊ปเท่านั้น ส่วนการผลิตเหล็กรีดร้อนรีดเย็นนั้น ทางบีโอไอได้ขอให้รอการพิจารณาออกไปก่อน โดยเปิดช่องให้ว่า จนกว่า เมื่อความต้องการภายในประเทศจะมากกว่า 1.8 ล้านตันต่อปีที่สหวิริยาสามารถผลิตได้

ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่า เมื่อความต้องการในประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็น 1.804 ล้านตัน มากกว่าที่สหวิริยาตั้งเป้าไว้เล็กน้อย จึงได้มีการคาดการณ์ว่าหากในปี 2540 เมื่อความต้องการเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4-6% คือประมาณ 2.2-2.4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่สมรรถภาพการผลิตเต็มที่ของสหวิริยาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2537 นั้น จะตกอยู่เพียง 1.8 ล้านตันต่อปีเท่านั้น จึงเป็นโอกาสเหมาะที่คู่แข่งรายอื่นจะได้เข้ามาร่วมสังฆกรรมในโครงการนี้บ้าง

มาเมื่อต้นปี 2537 ทางบีโอไอได้เปลี่ยนท่าทีในการให้รายใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมด้วยการเปิดเสรีให้ทุกค่ายมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะผลิตได้อย่างเต็มที่เพื่อตัดปัญหา "การวิ่งเต้น" ดังเช่นที่เป็นในอดีต ผลกระทบจากจุดนี้ย่อมจะส่งผลโดยตรงต่อสหวิริยาอย่างช่วยไม่ได้

จึงจำเป็นอยู่เองที่นายใหญ่แห่งสหวิริยา อย่างวิทย์ วิริยะประไพกิจ จะปล่อยให้สยามสตีลย่ามใจและมาหยิบชิ้นปลามันไปเฉย ๆ ได้อย่างไร

กระบวนการล็อบบี้ทุกฝ่าย ให้เห็นสอดคล้องต้องกันกับทางสหวิริยาจึงได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่จะพยายามให้มีการเลื่อนการเสนอวาระเปิดเสรีเหล็กแผ่นรีดร้อนออกไปให้นานกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2537 จนกระทั่งหากเป็นไปได้ ก็อยากจะหน่วงเวลาให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ความจำเป็นที่สหวิริยาจำเป็นต้องหน่วงเวลาการเปิดเสรีออกไปให้นานที่สุดนั้น เนื่องด้วยเหตุผลประการสำคัญเรื่องของภาพพจน์ของการนำหุ้นของบริษัทสหวิริยา สตีลอินดัสตรี จำกัด เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อสหวิริยา สตีล อินดัสตรีได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นถึง 5,100 ล้านบาท และเตรียมระดมทุนอยู่แล้ว แต่เนื่องด้วยมีปัญหาทางด้านปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความเสี่ยงในเรื่องของผลกำไร มีผลทำให้ หุ้นสหวิริยาสตีล ที่กระจายให้แก่นักลงทุนทั่วไป จำนวน 23.4 ล้านหุ้น มียอดการจองซื้อจากประชาชนเพียง 15.437 ล้านหุ้นเท่านั้น ทำให้มีหุ้นเหลือจากการจองซื้อมากถึง 8 ล้านหุ้น

ซึ่งมีผลกระทบต่อภาพพจน์ความเป็นสหวิริยาในอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอย่างมาก

เนื่องจากผลการดำเนินการของสหวิริยาสตีลที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นโครงการที่ไม่มีการผลิตและการขายทำให้บริษัทมีการขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2534-36 และต่อเนื่องมาถึง 2537 แม้ว่าจะมีรายได้จากการขายเหล็กรีดร้อนไปได้บ้างแล้วประมาณ 5 พันล้านบาทก็ตาม แต่ก็ยังขาดทุนสุทธิอยู่ถึง 899 ล้านบาท ยกเว้นในปี 2535 เท่านั้น ที่บริษัทมีรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ประมาณ 343 ล้านบาทและแม้ว่าตามแผนมีการคาดการณ์ว่าในปี 2538 บริษัทจะมีกำไรสุทธิถึง 1,439.89 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทจะสามารถผลิตได้เต็มตามกำลังผลิตที่มีอยู่ก็ตาม

จากผลประกอบการนี้จะส่งผลให้ค่า P/E RATIO ของหุ้นดังกล่าวสูงขึ้นตามไปด้วย ผนวกกับความไม่แน่นอนสูงมากขึ้นของโครงการนี้ ที่จะต้องเตรียมเปิดเสรีให้ค่ายอื่นเข้ามาร่วมทำตลาดด้วยนั้นก็ยิ่งทำให้ภาพพจน์ของหุ้นตัวนี้ตกต่ำลงไปอีก ดังนั้นหากมีหนทางที่จะเลื่อนการพิจารณาเปิดเสรีโรงเหล็กรีดร้อนรีดเย็นออกไปให้นานที่สุดแล้ว

วิทย์ก็คงไม่รีรอที่จะปฏิบัติอย่างแน่นอน

แหล่งข่าวในวงการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์รายหนึ่งให้ทัศนะว่า หุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่คือประมาณ 78 ล้านหุ้น ถือว่าเป็นหุ้นที่ไม่ค่อยมีความมั่นคงมากนัก ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจว่า เหตุใดทางตลาดหลักทรัพย์จึงได้อนุญาตให้หุ้นดังกล่าวเข้าซื้อขายได้

"หุ้นตัวนี้เข้ามาไม่ถูกจังหวะ และเมื่อนักลงทุนทราบถึงผลประกอบการและความเสี่ยงพอสมควรแล้ว จึงทำให้หุ้นขายไม่ดีเท่าที่ควร และเมื่อแนวโน้มของหุ้นตัวนี้ มีทีท่าว่าจะต้องถือยาวเพื่อรอกำไรในอนาคตแล้ว จึงไม่เป็นเรื่องฉลาดที่นักลงทุนจะเข้าไปซื้อหุ้นจอง ควรจะเข้าไปซื้อในกระดานจะดีเสียกว่า" แหล่งข่าวกล่าว

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่สหวิริยาจะต้องหน่วงเวลาออกไปให้นานที่สุดนั้น เพื่อให้กลยุทธ์ทางการตลาดของตนประสบความสำเร็จ นั่นก็คือหน่วงเวลาให้นานออกไป เพื่อให้คู่แข่งมีโอกาสเตรียมการผลิตน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากหากทอดระยะเวลาออกไป จนถึงใกล้เวลาที่สหวิริยาหมดอายุการคุ้มครองในปี 2542 โดยเป็นในช่วงปี 2539-40 แล้ว ก็จะมีเวลาให้กับรายใหม่น้อยเกินไป ที่จะเริ่มดำเนินการผลิต เพราะอย่างน้อยจะต้องให้เวลาในการติดตั้งเครื่องจักรอย่างน้อย 2 ปี โดยจะเป็นเวลาของงานก่อสร้าง 18 เดือน และเวลาติดตั้งเครื่องจักรอีก 4 เดือน และการทอดระยะเวลาออกไปให้นานมากเท่าไร กำลังผลิตของเหล็กรีดร้อนของสหวิริยาก็จะยิ่งเป็นปึกแผ่นมากขึ้นเท่านั้น พร้อมไปกับเครือข่ายในการทำตลาดที่สหวิริยาจะสามารถเจาะเข้าไปทำ ตลาดได้เหนือกว่าคู่แข่งที่จะมาทีหลัง

แหล่งข่าวในวงการเหล็กเตาหลอมรายหนึ่งให้ทัศนะว่า สหวิริยาหวังเป็นอย่างมากให้คู่แข่งมีโอกาสผลิตและทำตลาดผลิตภัณฑ์นี้ให้น้อยที่สุด โดยไม่คำนึงว่าในช่วงที่คุ่แข่งจะต้องใช้เวลาในการเตรียมการเพื่อผลิตนั้น

ใครจะรับผิดชอบในความต้องการเหล็กรีดร้อนที่สูงขึ้น

"ขณะที่สหวิริยาทำรีดร้อนเพียงอย่างเดียว 1.8 ล้านตัน ในขณะที่สหวิริยาบอกว่าอีก 2-3 ปี เขาจะทำเหล็กรีดเย็นอีก ถามว่า เขาจะเอาวัตถุดิบจากที่ไหนเขาก็คงต้องเอามาจากเหล็กรีดร้อนที่เขาทำได้ซึ่งหากดึงเหล็กรีดร้อนปริมาณ 7 แสนตันจาก 1.8 ล้านตันไปเพื่อผลิตเหล็กรีดเย็นของตัวเองแล้วเหล็กรีดร้อนที่จะป้อนสู่ตลาดก็คงจะต้องลดลงมาเหลือ 1.1 ล้านตันโดยปริยาย ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ภาวะเหล็กรีดร้อนในตลาดขาดแคลนขึ้นอย่างแน่นอน"

ทางฝ่ายสหวิริยาเองก็ได้ออกมาตอบโต้ความคิดเห็นที่จะอนุญาตให้มีการเปิดเสรีโรงงานเหล็กรีดร้อนรีดเย็นเช่นเดียวกัน อัศวิน จินตกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สหวิริยาสตีลอินดัสตรีเปิดเผยอย่างมั่นใจว่า รัฐควรจะรักษาคำมั่นและพันธะที่เป็นข้อผูกพันกับภาคเอกชนไว้ โดยถ้ารัฐจะพิจารณาให้มีการเปิดเสรี ทางสหวิริยาก็จะไม่ดำเนินการทางกฎหมายแต่อย่างใด แต่เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นก็คงต้องมีการเปิดเจรจาเพื่อให้ความเป็นธรรมของทั้ง 2 ฝ่าย

มาตรการขั้นต่อมาที่ทางสหวิริยาจะได้เริ่มดำเนินการในโอกาสต่อไป เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเองนั้น คีย์แมนอย่างวิทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของสหวิริยา สตีลอินดัสตรี ได้เตรียมไว้พร้อมสรรพแล้ว โดยได้เตรียมยื่นหนังสือต่อบีโอไอกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้รับทราบถึงข้อเท็จจริง และผลกระทบที่มีต่อบริษัทหากต้องมีการเปิดเสรี นอกจากนั้นยังได้เตรียมการที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขโครงการสร้างอากรนำเข้าผลิตเหล็กใหม่ ให้เป็นระบบอีกด้วย

อันนี้ถือเป็น "แท็คติค" อีกรูปแบบหนึ่งจากวิทย์ ผู้คร่ำหวอดในวงการเหล็กมาเป็นเวลานาน

โดยวิทย์เสนอว่า รัฐควรแก้ไขโครงสร้างอัตราภาษีนำเข้าใหม่ให้หมด โดยในส่วนของสินแร่เหล็ก เหล็กพรุน เศษเหล็กนั้นไม่ควรจัดเก็บเลยหรือถ้าจะจัดเก็บก็ควรจะเก็บไม่เกิน 1% เท่านั้น หรืออย่างพลังงานเชื้อเพลิงต่าง ๆ ก็ไม่ควรเก็บภาษี นอกจากนั้นวัตถุดิบเหล็กแสลป หรือบิลเล็ต ควรจัดเก็บเพียง 2-3% เท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันจัดเก็บสูงถึง 10%

เหล็กแสลปนั้นเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน การเสนอให้มีแก้ไขโครงสร้างภาษีเหล็กของวิทย์นั้น เป้าหมายโดยตรงอยู่ที่เหล็กแสลปตัวนี้เอง

นอกจากจะเสนอให้ลดภาษีนำเข้าแล้ว ในอีกด้านหนึ่งวิทย์ยังเรียกร้องให้คงกำแพงภาษีนำเข้าเหล็กรีดร้อนรีดเย็นหรือเหล็กแผ่นเคลือบไฟฟ้าไว้ที่ 25% เพื่อคุ้มครองโครงการของตนที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง เนื่องจากมีกระแสความต้องการให้รัฐบาลลดภาษีตัวนี้ลง

แหล่งข่าวผู้สันทัดกรณีเรื่องเหล็กรีดร้อนรีดเย็นให้ทัศนะว่า กรณีที่กล่าวหาว่า จะเกิดการผูกขาดขึ้นหรือไม่นั้น จะต้องดูที่เจตนารมณ์ของผู้พูดก่อนว่าคิดอย่างไร มีอะไรอยู่เบื้องหลังด้วยหรือเปล่า ซึ่งหากมองเกมส์ของสหวิริยาแล้ว จะเห็นว่า การที่เรียกร้องขอให้ชะลอการตั้งโรงงานใหม่ขึ้นมานั้น หากยังคงมีมาตรการนำเข้าเสรีอยู่เช่นเดิม ผนวกกับการไร้ซึ่งกำแพงภาษีที่ปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศแล้วการเรียกร้องก็ไม่เกิดประโยชน์แต่อันใด ดังนั้นมาตรการต่าง ๆ ที่วิทย์งัดออกมาเพิ่มเติมนี้ จึงทำไปเพื่อให้เป็นไปตามแผนการที่หวังเอาไว้

"หากในช่วงนี้เขาจะขอให้เป็นผู้ผลิตรายเดียวต่อไป และขอให้มีการปกป้องตัวเอง โดยการขึ้นภาษีนำเข้าในประเทศแล้ว อันนี้จะมีผลอย่างแน่นอน ส่อให้เราคิดไปได้ว่า เมื่อมีการปกป้องเช่นนั้นแล้ว เขาก็จะพอใจ และมีความสุขในจุดนั้น ซึ่งอันที่จริงแล้ว เรามองไม่เห็นว่าสหวิริยาจะกลัวอะไร เพราะสหวิริยาค่อนข้างจะได้เปรียบ เพราะเริ่มไปก่อนอย่างน้อย 3-4 ปี ซึ่งข้ออ้างว่าสหวิริยาจะเสียส่วนแบ่งการตลาดไปให้กับคู่แข่งรายใหม่นั้นก็ยังไม่มีใครรู้ ต้องรอเวลาพิสูจน์ในอนาคต"

แหล่งข่าวผู้สันทัดกรณีให้ความคิดเห็นว่า สิ่งที่สหวิริยาสมควรกลัวนั้น ควรจะเป็นเรื่องกระบวนการผลิตเหล็กรีดร้อนของตัวเองมากกว่า เนื่องจากเทคโนโลยีที่สหวิริยาใช้วันนี้ ไม่ทันสมัยเท่าที่ควรเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับการนำเหล็กแท่ง แบนหรือแสลปไปรีดซ้ำอีกที โดยพยายามรีดให้บางที่สุด ซึ่งไม่แตกต่างจากกระบวนรีดซ้ำ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ทางสหวิริยาน่าจะหาวิธีการที่พยายามเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ให้เหมือนกับของทางเหล็กสยามที่ทำกับกลุ่มยามาโตะ ซึ่งมีกระบวนการรีไซเคิลที่ชัดเจน ไม่ใช่การขายค่าแรงงานอย่างที่ทำกันอยู่ตอนนี้ อันที่จริงแล้ว เทคโนโลยี่ใหม่ที่เรียกว่า THIN SLAB CASTING หรือการหลอมเศษเหล็ก ให้ออกมาเป็นเหล็กแผ่นบางเลยนั้น น่าจะประหยัด ค่าแรงกว่าแบบนี้มากถึง 30% หรือ 100 เหรียญต่อตัน และยังใช้เวลาน้อยกว่าแบบเก่ามากอีกด้วย โดยมีคุณภาพเท่าเทียมกัน

นอกจากนั้นการพึ่งพาแต่เพียงแสลป จากรัสเซียเพียงแห่งเดียว เพื่อนำมาใช้ในการผลิตนั้น ก็มีโอกาสเป็นไปได้ตลอดเวลาที่จะเกิดการขาดตลาดขึ้นได้ นอกจากนั้นแล้ว โอกาสที่จะต่อรองเพื่อลดราคาสแลปซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญให้ลงมานั้น ก็ทำได้ยากเพราะผู้ซัพพลายสินค้าก็ทราบดีอยู่แก่ใจว่า

ตนเองมีแต้มต่ออยู่ในมือที่พร้อมจะบีบลูกไก่ในกำมือเมื่อไหร่ก็ได้

รวมถึงว่า วัตถุดิบที่เขานำมาผลิตนี้ ก็เป็นวัตถุดิบที่นำมาจากโรงงานอื่น ที่ผลิตเหล็กแผ่นเป็นแบบกึ่งสำเร็จรูป ดังนั้น โรงงานที่ผลิตเหล็กแผ่นขึ้นมา ก็คงไม่ต้องการจะขายเป็นเศษเหล็กอย่างแน่นอน คงหวังจะขายเป็นเหล็กแผ่น หรือเป็นเหล็กรูปแบบอื่นมากกว่า ซึ่งหากจะขายเป็นเศษเหล็ก ก็จะขายในช่วงที่กิจการเขาไม่ค่อยจะดีแต่เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว ผู้ที่เคยขายแสลปราคาถูกให้ ก็คงไม่หลงขายให้เขาในราคาถูกอีกต่อไป ดังนั้นการที่สหวิริยาจะเอาแต่แสลปมาผลิตเพื่อเป็นเหล็กแผ่นอย่างเดียวในแง่ของธุรกิจนั้นไม่ EFFECTIVE อย่างแน่นอน

"ข้อที่น่าเป็นห่วงก็คือ วัตถุดิบดังกล่าวของเขานี้ ไม่ใช่สิ่งที่เขาจะหาซื้อได้ในตลาด ถ้าเราเริ่มจากแสลป แบบธรรมดา หรือเศษเหล็กทั่วไปนั้น ก็คงจะหาซื้อได้เฉพาะที่และต้องหาที่ที่เขาสามารถซัพพลาย เราได้อย่างมาก ๆ ด้วยเป็นสิ่งที่น่าถามว่า ทำไมสหวิริยาถึงกล้าเสี่ยง ลงมาทำธุรกิจนี้เองในภาวะที่เสี่ยงเช่นนี้"

ซึ่งหากถามว่า ทำไมสหวิริยา จึงได้มีความกล้าหาญชาญชัยเช่นนี้ ก็เนื่องจากว่าทางสหวิริยามีความเชื่อมั่นในความสามารถของตน นอกจากข้อได้เปรียบที่ทิ้งห่างรายใหม่ที่จะเข้ามาในวงการนี้ไปแล้ว 2-3 ปีแล้ว หรือมีเครื่องจักรในการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในเอเชียอาคเนย์ด้วยแล้ว ในเชิงการตลาดทางสหวิริยาก็มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถจำหน่าย สินค้าในราคาตลาดให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากความเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวในประเทศ แล้วสหวิริยาเองก็มีความเชื่อมั่นในช่องทางการจัดจำหน่ายของตนเอง ที่จะเจาะเข้าหากลุ่มผู้ใช้รายใหญ่สำคัญ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมท่อเหล็ก, เฟอร์นิเจอร์, เหล็กโครงสร้าง, ตัวถังรถยนต์ โดยย้ำในนโยบายสำคัญของบริษัทที่จะจำหน่ายเหล็กรีดร้อนให้กับผู้ใช้และตัวแทนจำหน่ายทุกรายในราคาเดียวกัน โดยไม่ให้สิทธิประโยชน์พิเศษอื่นใดแก่ผู้ถือหุ้นบริษัทรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ

ซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดแข็งทางการตลาดของกลุ่มสหวิริยาที่จะผูกใจตัวแทนจำหน่ายต่าง ๆ ไว้ได้อย่างมาก เพราะที่ผ่านมาตัวแทนจำหน่ายต่าง ๆ มักจะพบความเจ็บช้ำที่ต้องรับเหล็กมาในราคาที่สูงกว่าที่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดบริษัทผู้ผลิตเป็นอย่างมาก

ทางสหวิริยาเองก็ยังมีความเชื่อมั่นว่า เมื่อเปรียบเทียบศักยภาพทางการตลาดระหว่างการผลิตในประเทศ กับการนำเหล็กรีดร้อนเข้ามาแล้ว จะพบว่าการนำเข้าเหล็กรีดร้อนเข้ามาจากญี่ปุ่น บราซิล รัสเซียฯ จะต้องทำการสั่งซื้อเป็นไตรมาส ซึ่งต้องแจ้งล่วงหน้า "เนื่องจากระยะทางขนส่งของแหล่งที่มาจะไม่เท่ากัน จึงทำให้ผู้นำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนต้องสำรอง สินค้าไว้จำนวนหนึ่งเสมอ นอกจากนั้นแล้วราคาเหล็กรีดร้อนจากต่างประเทศ จะแปรเปลี่ยนไปตามคุณภาพขนาดและแหล่งผลิตบวกค่าขนส่งและภาษีต่าง ๆ

นอกจากนั้นแล้ว ผู้นำเข้ายังต้องมีภาระแบกรับต้นทุนในการสต็อคสินค้าจะต้องมีที่เก็บสินค้าที่ใหญ่และสะดวกต่อการขนส่ง จะต้อง แบกภาระดอกเบี้ยที่สูงในการเก็บสินค้าไว้สำรอง รวมถึงต้องพบพากับความไม่แน่นอนในการซื้อสินค้าอีกด้วย

ความได้เปรียบเชิงตลาดของสหวิริยาดังว่านี้แม้จะมีศักยภาพสูงเพียงใด แต่สิ่งที่สหวิริยาต้องการมากที่สุดในตอนนี้คือ ความสามารถที่จะถ่วงเวลาให้ตัวเองได้มีโอกาสผูกขาดในอุตสาหกรรมเหล็กประเภทนี้ให้นานที่สุด และได้รับในสิ่งที่หวังไว้คือการได้กำแพงภาษีนำเข้าที่แข็งแรงกว่านี้

หลังจากที่ได้มีการประชุมคณะกรรมการบีโอไอครั้งล่าสุดไปเมื่อ 20 กรกฎาคม 2537 ที่ผ่านมาและคณะกรรมการได้ประกาศว่า ยังไม่มีการตัดสินใจนโยบายอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นว่าจะให้มีการเปิดเสรีหรือไม่ เพียงแต่การประชุมครั้งนั้นเป็นการรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการทราบเท่านั้น เนื่องจากการยื่นจดหมายทบทวนความจำจากวิทย์ ดังที่กล่าวนั้นเอง

ซี่งดูตามรูปการณ์ของสถานการณ์ปัจจุบันแล้วในที่สุดทางกลุ่มสหวิริยาก็คงไม่สามารถฝืนกระแสเรียกร้องของหลายฝ่ายที่ต้องการให้เปิดเสรีเหล็กรีดร้อนไปได้ เพียงแต่ว่าตัวเองจะต้องรักษาผลประโยชน์ล็อบบี้ทุกฝ่ายให้หน่วงเวลาการเปิดเสรีไว้ก่อน เพื่อรอเวลาเข้าตลาดของหุ้นสหวิริยา สตีล อิดัสตรีในเร็ว ๆ นี้

ความสัมพันธ์ที่ดีของคณะผู้บริหารสหวิริยาสตรีลกับรัฐมนตรีสายประชาธิปัตย์อย่าง พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และ สาวิตต์ โพธิวิหคนั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้แสดงท่าทีสนับสนุนซึ่งกันและกันมาโดยตลอดนั้น และได้ย้ำอย่างหนักแน่นว่า จะต้องรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับเอกชนไว้นั้น ในขณะเดียวกันคณะฑูตอิตาลี ก็ได้เข้าพบสถาพร กวิตานนท์ เลขาธิการบีโอไอ เพื่อสอบถามและตอกย้ำความแน่ใจของรัฐที่มีต่อเอกชนอีกทางหนึ่ง คงเป็นคำตอบได้อย่างดีว่า การหน่วงเวลาของสหวิริยาคงจะยืดระยะออกไปได้อีกพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากสหวิริยาจะต้องสูญเสียการผูกขาดในการผลิตเหล้กรีดร้อนไป วิทย์ก็คงต้องเชื่อมั่นแล้วว่า เขาจะได้รับสิ่งแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่าพอกัน นั่นคือ จะต้องมีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าให้สูงขึ้น

ทีนี้ก็มาว่ากันถึงเหล็กรีดเย็นบ้าง

ในตอนแรกนั้น ทางสหวิริยาได้เตรียมการไว้ว่าจะสามารถลงมือผลิตได้ภายในเดือนสิงหาคม 2540 โดยตั้งกำลังผลิตขั้นต้นไว้ต่ำสุดที่ 6 แสนตันเท่านั้นและได้ทำการเจรจาหาผู้ร่วมลงทุนซึ่งมีเทคโนโลยี่จากหลายประเทศ อาทิเช่น อังกฤษ อิตาลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย เยอรมัน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และเกาหลี ซึ่งในตอนแรกนั้นคาดว่าจะทราบผลภายในสิ้นเดือนกันยายน 2537 แต่จนถึงขณะนี้ก็มีทีท่าว่าจะต้องล่าช้าออกไป

ปรากฏว่าในช่วงต้นนั้น มี 2 ประเทศ ที่เป็นตัวเต็งที่จะเข้ามาร่วมทุนด้วยคือ อังกฤษ และออสเตรีย ในส่วนของอังกฤษนั้น บริษัทที่เสนอตัวเข้ามาคือ BRITISH STEEL ส่วนของออสเตรียนั้นชื่อ B.H.G. ซึ่งแต่ละบริษัทที่มีข้อเสนอที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีและความพร้อมของวัตถุดิบทางสหวิริยาได้กะเก็งไว้ว่า จะให้บริษัทจากต่างชาติเข้ามาร่วมทุนในอัตราไม่เกิน 40% ตามเงื่อนไขของบีโอไอ ระหว่างนี้ทางสหวิริยากำลังหาข้อยุติและข้อดีข้อเสียของทั้ง 2 บริษัท ซึ่งมีความพยายามจะให้ได้ก่อนสิ้นปีนี้ เพราะถ้าหากล่าช้าออกไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2538 หรือปีหน้า ก็จะครบวาระที่โครงการได้เริ่มมาแล้วเป็นเวลา 6 ปี ซึ่งตามข้อตกลงกับทางรัฐนั้น ก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2538 สหวิริยาจะต้องหาผู้ร่วมลงทุนในส่วนของเหล็กรีดเย็นให้ได้เพราะถ้าหาไม่ได้ จะมีผลกระทบต่อโครงการที่จะล่าช้าออกไป ซึ่งหากไม่เสร็จตามสัญญา ทางสหวิริยาจะต้องถูกยึดเงินประกัน 100 ล้านบาท ที่ได้วางค้ำไว้เมื่อปี 2532

การไขว่คว้าหาผู้ร่วมลงทุนของสหวิริยาในส่วนของเหล็กรีดเย็นนี้จะต้องประสบกับอุปสรรคมากมายอย่างแน่นอน เริ่มตั้งแต่จะต้องประจัญหน้ากับอิทธิพลของผู้ผลิตจากค่ายญี่ปุ่น ซึ่งมีอิทธิพลสูงสุดในโลกอุตสาหกรรมเหล็กขณะนี้ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ประเทศไทยที่ผ่านมาก็จำเป็นต้องพึ่งพาวัตถุดิบทางด้านเหล็กหลายอย่างจากญี่ปุ่น ความขาดแคลนของเหล็กรูปพรรณ หรือเหล็กเส้นในประเทศในอดีตนั้น ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีบทบาทมากมี่สุดในเรื่องนี้

ในส่วนของเหล็กรีดเย็นนั้น ญี่ปุ่นค่อนข้างพอใจกับการขายเหล็กรีดเย็นเข้ามาในประเทศไทยเป็นอย่างมากเพราะกว่า 70% ของเหล็กรีดเย็นที่ไทยนำเข้ามานั้นจะมาจากญี่ปุ่น ในอัตราราคา 600 เหรียญ ต่อตันซึ่งเหล็กส่วนใหญ่ที่ญี่ปุ่นส่งออกนั้น จะส่งมาจากไทยเป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐและจีน

5. บริษัทใหญ่ทางด้านโรงงานเหล็กของญี่ปุ่นที่ส่งเหล็กรีดเย็นเข้าในไทยนั้น ประกอบด้วย นิปปอน สตีล, เอ็นเคเค, คาวาซากิ, ซูมิโตโม, โกเบ ในจำนวน 5 บริษัทนี้ นิปปอนสตีล , เอ็นเคเคและคาวาซากิเป็นผู้ขายรายใหญ่ ส่วนโกเบและซูมิโตโมก็มีการขายเข้ามาบ้างแต่ไม่มาก

ในจุดนี้หากสหวิริยาจะต้องสร้างโรงงานเหล็กรีดเย็นขึ้นมา ก็คงมีผลกระทบต่อญี่ปุ่นบ้างไม่มากก็น้อย เพราะถือได้ว่าเป็นการประกาศตัวขึ้นมาเป็นคู่แข่งซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่เคยเกื้อหนุนกันมาในอดีต จะมีผลกระทบต่อการติดต่อซื้อวัตถุดิบของสหวิริยาในอนาคตอย่างแน่นอน

แต่เมื่อหลวมตัวมาขนาดนี้แล้ว ก็คงต้องเดินหน้าลุยต่อไป

แหล่งข่าวผู้สันทัดกรณีเรื่องเหล็กรีดร้อนรีดเย็นรายเดิมได้เปิดเผยว่า ถือได้ว่าเป็นโชคดีของสหวิริยาที่ 3 บริษัทผู้ส่งเหล็กรีดเย็นเข้ามาในไทยคือ นิปปอนสตีล , คาวาซากิและเอ็นเคเค ไม่ค่อยปรองดองกันเท่าที่ควร จึงยังพอมีช่องว่างที่สหวิริยาจะเจาะหาช่องทางเข้าไปหาความร่วมมือ หรือหาผู้ร่วมลงทุนได้บ้าง เพราะถึงแม้ว่าทางสหวิริยาจะยอมรับในความสามารถด้านเทคโนโลยี่ของอังกฤษ และออสเตรียที่เสนอตัวมาก่อนหน้าก็ตาม แต่สหวิริยาก็รู้อย่างซาบซึ้งว่า ถ้าหากได้ผู้ร่วมลงทุนจากญี่ปุ่นมาเข้าร่วมแล้ว นอกจากจะได้เทคโนโลยี่ที่ไม่น้อยหน้ากว่าชาติอื่นแล้ว

สหวิริยายังจะได้อิทธิพลและบารมีมาเสริมหน้าตาตัวเองด้วย

แต่การที่จะหักด่านเข้าไปดึงเอาผู้ร่วมลงทุนจากญี่ปุ่น มาร่วมกับทางสหวิริยานั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจะต้องเข้าใจให้ดีถึงวัฒนธรรมการแข่งขันของบริษัทญี่ปุ่นเป็นอย่างดี ซึ่งแม้ว่าทางสหวิริยาจะพยายามเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมนี้แล้วก็ตาม แต่ก็เกิดข้อผิดพลาดจนได้ เมื่อช่วงแรกที่มีการดึงผู้ร่วมทุนมาร่วมในโครงการเหล็กเคลือบสังกะสีด้วยประจุไฟฟ้าทางสหวิริยาก็ได้ไปเลือกเอาเอ็นเคเค หนึ่งในยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมเหล็กของญี่ปุ่น มาร่วมด้วย ซึ่งก็สร้างความไม่พอใจให้เกิดกับกลุ่มนิปปอนสตีลมากพอสมควร เพราะเล็งไว้แล้วเหมือนกันที่จะเข้าร่วมกับสหวิริยาในโครงการนี้

ดังนั้นเมื่อทางเครือซิเมนต์ไทย หรือกลุ่มสยามซิเมนต์ ได้ประกาศตัวจะผลิต ทินเพลท (TIN PLATE) หรือเหล็กเคลือบดีบุก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบ คือเหล็กรีดเย็นเป็นปัจจัยสำคัญ ทางนิปปอนสตีล จึงสบช่องเหมาะที่จะเข้ามาร่วมวงศ์ไพบูลย์โดยนัยหนึ่งนั้น ก็เป็นการแก้แค้นส่วนตัว ต่อสหวิริยาและอีกทางหนึ่งทางนิปปอนสตีลก็มองว่า อุตสาหกรรมเหล็กเคลือบดีบุกนี้ยังไปได้อีกไกล เพราะผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศก็คือ แผ่นเหล็กวิลาสไทยซึ่งร่วมทุนกับกลุ่มคาวาซากิ ก็ยังมีกำลังการผลิตที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งยังมีช่องทางให้รายใหม่ได้เข้ามาเจาะตลาดได้อีกมาก

นอกจากนั้นแล้ว ผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากเหล็กเคลือบดีบุก นั่นก็คือ TIN MILL BLACK PLATE ซึ่งเป็นที่นิยมของตลาดเป็นอย่างมากในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระป๋องบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ และยังมีช่องทางอยู่ในตลาดเป็นอย่างสูง เพราะผู้ที่จะผลิตเหล็กประเภทนี้ได้ จะต้องมีเทคโนโลยี่ขั้นสูง ที่จะต้องควบคุมคุณภาพให้ถึงระดับสูงสุดนั้น เป็นจุดขายอันใหม่ที่นิปปอนสตีลสนใจเป็นอย่างมาก

ตามธรรมเนียมของการเข้ามาร่วมลงทุนกับต่างชาติของญี่ปุ่น จะมีการตกลงเป็นทางการในกลุ่มญี่ปุ่นด้วยกันเองบ้างแล้วว่า ถ้าหากค่ายใดเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กประเภทใดแล้ว อีกค่ายหนึ่งก็จะเปิดทางให้ จะไม่มาลงทุนแข่งกับค่ายจากชาติเดียวกันในเหล็กประเภทเดียวกันนี้

แต่ในคราวนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ

เมื่อเอ็นเคเค ค่ายใหญ่อีกค่าย เห็นว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมเหล็กแบบทินเพลทนี้แข่งขันมาก จนเกินกว่าจะไปยึดธรรมเนียมเก่าแล้ว ดังนั้นจึงได้เริ่มเจรจากับทางกลุ่มสหวิริยาที่จะขอร่วมลงทุนด้วย

อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญในวงการหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่สหวิริยาจะเชิญค่ายหนึ่งค่ายใดมาร่วมทุนผลิตเหล็กรีดเย็นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากเหล็กรีดเย็นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเหล็กประเภทนี้ จะต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญสูงอย่างมากเป็นพิเศษ

"เหล็กประเภทใหม่ที่เรียกว่า ทิน มิลล์ แบล็ค เพลทนี้จะต้องเตรียมค่าสูญเสียจากการผลิตมากพอสมควร เพราะเหล็กแผ่นที่ผลิตได้จะมีตำหนิแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้ นอกจากนั้นยังต้องระมัดระวังเรื่องพิษอันเกิดจากรรมวิธีการผลิตในบางขั้นตอน ที่จะมีผลต่อผู้บริโภคได้ ดังนั้นยิ่งภาวะการแข่งขันปัจจุบันยิ่งสูงขึ้น ผู้ผลิตเหล็กแบบนี้ จะต้องยิ่งคำนึงถึงคุณภาพสินค้าที่ผลิตออกมามากเท่านั้น"

ดังนั้นจนถึงขณะนี้ ถ้าจะถามสหวิริยาว่าจะเลือกใคร ระหว่างค่ายผู้เสนอตัวจากยุโรปและญี่ปุ่นแล้ว….

จนถึงขณะนี้ สหวิริยาก็ยังคงไม่ได้เลือกแต่อย่างไรซึ่งหากสหวิริยาจะเลือกชาติจากยุโรปทางสหวิริยาก็คงทำใจไว้แล้วว่า จะมีทางออกที่สวยหรูให้กับค่ายจากญี่ปุ่นที่เสนอตัวมาอย่างไร โดยอาจจะเปิดทางให้มาร่วมทำโครงการอุตสาหกรรมเหล็กประเภทอื่นที่สหวิริยาได้เตรียมไว้ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานถลุงเหล็ก หรือโรงงานหล่อเหล็กอีก หลายรูปแบบ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในขณะเดียวกันหากสหวิริยาจำใจจะต้องเลือกชาติญี่ปุ่น นั่นก็หมายความว่า นอกจากจะต้องทำความเข้าใจกับชาติยุโรปอย่างที่ทำกับชาติญี่ปุ่นข้างต้นแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจกับค่ายคู่แข่งด้วยว่าเหตุใดจึงเลือกฝ่ายตรงข้าม

แหล่งข่าวผู้สันทัดกรณีได้เสนอทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า หากหวังจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการผลักดันโครงการเหล็กรีดเย็นให้เกิดขึ้นจริงแล้วทางรัฐบาลก็น่าจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้เอกชนทั้ง 3 ฝ่ายคือ นิปปอน สตีล กลุ่มสยามซิเมนต์ และสหวิริยาหาจุดกึ่งกลางที่จะมา "จับเข่านั่งพูดจากัน" ร่วมทุน 3 ฝ่ายเปิดโรงงานร่วมกัน ซึ่งน่าจะเป็นหนทางที่สวยที่สุดสำหรับเรื่องนี้

สำหรับสหวิริยา อุปสรรคและขวากหนามยังไม่ได้จบสิ้นเพียงเท่านี้เพราะนอกจากอุปสรรคภายในประเทศในส่วนของเหล็กรีดร้อนและรีดเย็นดังกล่าวแล้วอุปสรรคภายนอกประเทศ ก็กำลังคืบคลานเข้ามาเมื่อมาเลเซียประเทศที่กำลังพัฒนาตัวเองรอบด้านเพื่อหวังจะผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นประเทศที่พัฒนาอย่างเต็มที่ในเวลา 26 ปีข้างหน้า ก็กำลังเปิดโอกาสให้เอกชนเปิดโรงงารนผลิตเหล็กรีดร้อน รีดเย็นอย่างเต็มที่ ซึ่งขณะนี้ได้มีผู้เสนอตัวมาแล้วถึง 3 ราย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ภายใน 4-5 ปีนี้อย่างแน่นอน

แรงผลักดันให้เกิดโรงงานเหล็กรีดร้อน และรีดเย็นเสรีนี้นอกจาก จะมาจากภาคเอกชนและรัฐของมาเลเซียแล้ว มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ก็เคยผ่านงานโรงงานเหล็กมาแล้ว ดังนั้นแรงผลักดันจึงเข้มข้นเป็น 2 เท่า

ในอนาคตสหริวิรยาจึงจะต้องมีคู่แข่งอันน่ากลัวอย่างแน่นอน หากจะต้องเพิ่มกำลังผลิตเพื่อการส่งออกเหล็กรีดร้อนและรีดเย็นไปแข่งกับค่ายอื่น

ดังนั้น ศึกรอบทิศที่สหวิริยาจะต้องผจญอยู่ขณะนี้ นับตั้งแต่กระแสการเรียกร้องให้เปิดเสรีการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนที่ยุติลงไปแล้วชั่วคราว แต่ในที่สุดแล้ว หากความต้องการใช้มีมากกว่าความสามารถที่สหวิริยาจะตอบสนองได้ อำนาจผูกขาดของสหวิริยาจะต้องสิ้นสุดลง จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ในขณะที่ความหวังที่จะได้กำแพงภาษีนำเข้ามาป้องกันตัวเองก็ยังเลือนราง ปัญหาเหล็กรีดเย็น ก็ยังหาผู้ร่วมลงทุนไม่ได้ ในขณะที่หุ้นสหวิริยาสตีลก็ขายไม่ออกเพราะผู้ซื้อไม่มั่นใจในสถานภาพของบริษัท

เพราะฉะนั้น วิทย์คงจะใช้กำลังภายในทุกรูปแบบมาแก้ไขปัญหาในจุดนี้ เนื่องจากหากทิ้งไว้เนินนาน ความยิ่งใหญ่ของสหวิริยาในวงการเหล็กที่มีอยู่ก็อาจจะถูกกัดกร่อนลงไปได้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us