ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 มีโครงการคอนโดมิเนียมออกสู่ตลาด 14 โครงการในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ รวมเป็นห้องชุด 4,282 ยูนิต ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่สุขุมวิท 1-63, สีลม-สาทร, ลุมพินี, พระราม 3, ริมแม่น้ำ และพญาไท โดยจำนวนห้องชุดที่ออกจำหน่ายในช่วงครึ่งปีแรกมีจำนวนใกล้เคียงกับที่ออกจำหน่ายในปี 2548โดยยังมีอีกหลายโครงการที่มีแผนจะเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
จากตัวเลขจำนวนห้องชุดเปิดตัวในปีนี้แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของนักพัฒนาต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยห้องชุดที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2546 ถูกขายออกไปเกือบหมดและอยู่ระหว่างการโอน
ตลาดคอนโดมิเนียมแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ ระดับพรีเมี่ยม ระดับกลาง และระดับล่าง โครงการระดับพรีเมี่ยมส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง(ซีบีดี) และบริเวณสุขุมวิทมีราคาต่อตารางเมตรสูงกว่า 100,000 บาท บริษัทที่พัฒนาในกลุ่มนี้ได้แก่ แสนสิริ, ไรมอนแลนด์, แผ่นดินทอง, เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ และ บริษัทร่วมทุนเช่น ทีซีซีแคปปิตอลแลนด์, ซีดีแอล และ เซ็นเตอร์พ้อยส์
“การเปิดตัวโครงการ มิลเลเนียม เรสซิเด้นซ์ มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท จากซีดีแอล และโครงการเอ็มโพริโอ จากทีซีซีแคปปิตอลแลนด์มูลค่ากว่าสี่พันล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของนักพัฒนาชาวต่างชาติ ต่อตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ”
ส่วนตลาดระดับกลางนักพัฒนาจะจับกลุ่มลูกค้าคนทำงานรุ่นใหม่ที่ทำงานอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ และชื่นชอบใช้ชีวิตในเมืองและการเดินทางสะดวก ผู้นำในกลุ่มนี้ได้แก่ โนเบิล, พลัส พร็อพเพอร์ตี้ พาร์ทเนอส์ และ เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ในช่วงครึ่งปีแรกโนเบิลได้เปิดตัวโครงการ 3 แห่ง จำนวนรวม 700 ยูนิต พลัส เปิดตัวโครงการ 5 แห่ง ภายใต้ชื่อ คอนโดวัน จำนวนรวม 1,200 ยูนิต
ตลาดระดับล่าง มีศุภาลัย, แอลพีเอ็น และ พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค เป็นผู้นำตลาดนี้ โดยตลาดนี้ห้องชุดมีราคาที่ 1-2 ล้านบาท ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดของกรุงเทพฯและการขยายเส้นทางของรถไฟฟ้าทำให้เกิดพื้นที่ใหม่ๆ นักพัฒนาจึงเข้าไปจับจองทำโครงการ เช่น พระราม3, พญาไท, รัชดา และท่าพระ
ข้อมูล ณ.สิ้นเดือนมิ.ย. 2549 ระบุว่า 51% ของห้องชุดที่ออกจำหน่ายตั้งแต่ปี 2546 มีราคาต่อห้อง 2-5 ล้านบาท , 22% ราคา 5-8 ล้านบาท, 10%ราคา 8-10 ล้านบาท, 10% ราคา 10-15 ล้านบาท และ 7% ราคาสูงกว่า 15 ล้านบาท โดยนักพัฒนาหลายราย เช่น เอเชี่ยนฯ, โนเบิล และแสนสิริ ได้ลดขนาดห้องลงเพื่อที่จะคงราคาขายต่อยูนิตไว้ โดยแสนสิริให้บริษัทลูกคือ พลัสฯเป็นผู้ทำตลาด
สำหรับราคาต่อตารางเมตรมีการปรับขึ้น 4.8% เฉลี่ยอยู่ที่ 81,597 บาทต่อตารางเมตร ลุมพินีเป็นพื้นที่ที่ราคาสูงสุด ฉลี่ย 107,951 บาทต่อตารางเมตร ตามด้วยสีลม/สาทร 98,194 บาท และสุขุมวิท 91,020 บาท โดยพื้นที่สุขุมวิทมีการขยับราคาขึ้นไปมาก เนื่องจากมีการเปิดตัวโครงการที่มีราคาขายต่อตารางเมตรสูงกว่า 100,000 บาท ขณะที่โครงการริมแม่น้ำราคาขยับขึ้นในรอบ12 เดือนที่ผ่านมา ขยับจาก 63,141 บาทต่อตารางเมตรเป็น 69,867 บาท ซึ่งจะเห็นว่าราคาคอนโดฯริมแม่น้ำมีราคาต่ำกว่าพื้นที่ใจกลางเมืองกว่า 30% ทางฝ่ายวิจัยคาดว่าเมื่อโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายธนบุรีเปิดให้บริการจะทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำได้รับความนิยมมากขึ้น
ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2549 มีคอนโดฯจำหน่ายออกไป 4,547 ยูนิตเทียบกับ ครึ่งปีแรกของปี 2548 ที่ 2,357 ยูนิต และ1,974 ยูนิตในครึ่งปีหลังของปี2548 จากสถิติพบว่าในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายคอนโดมิเนียมมีปริมาณสูงกว่าคอนโดมิเนียมเปิดตัวส่งผลให้คอนโดฯรอจำหน่ายมีจำนวนลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในเดือนมิ.ย.มีคอนโดฯเปิดตัวหลายแห่ง และสามารถปิดการขายภายใน 1-2 สัปดาห์ เช่น โนเบิลรีมิกซ์ และ คอนโดวันพลัส
พื้นที่ที่มีอัตรายอดขายสูงสุด คือ สุขุมวิทด้วยอัตรายอดขาย 87% ซึ่งพื้นที่นี้เป็นที่นิยมทั้งจากผู้ต้องการที่พักอาศัยและนักลงทุนสำหรับปล่อยเช่า สำหรับพื้นที่ สีลม/สาทร และ ลุมพินี มีอัตรายอดขายที่ 83% และ 84% ตามลำดับ ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความต้องการห้องชุดในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯเป็นอย่างดี พื้นที่พระราม3-ริมแม่น้ำเป็นพื้นที่ที่มีอัตรายอดขายต่ำสุดที่ 69% เนื่องด้วยโครงการที่เปิดตัวในพื้นที่นี้มีขนาดใหญ่และอยู่ในช่วงระหว่างเริ่มการก่อสร้าง
ปี ’48 ปีแห่งความท้าทาย
ปี 2548 นับเป็นปีที่ท้าทายสำหรับนักพัฒนา เนื่องจากดอกเบี้ยขาขึ้น ความลำบากในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน และตลาดหลักทรัพย์ซบเซา อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ ตลาดคอนโดฯกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยในครึ่งปีแรกปี 2549 มีห้องชุดออกสู่ตลาดมากกว่าปี 2548 ตลอดทั้งปี ที่สำคัญต้องการคอนโดฯมากทำให้โครงการใหม่สามารถปิดการขายได้อย่างรวดเร็ว ส่วนห้องชุดรอจำหน่ายในโครงการเก่าก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเริ่มเข้าสู่สภาวะทรงตัว ความต้องการในห้องชุดสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากผู้ประกอบการมีการปรับตัวออกแบบห้องชุดให้เหมาะสมกับความต้องการมากขึ้น เช่น ปรับขนาดห้องชุดให้เล็กลงเพื่อคงราคาขายต่อยูนิตไว้
|