แบงก์ชาติเผยยอดเอ็นพีแอลล่าสุดเดือนสิงหาคมทรงตัวต่อเนื่อง แบงก์มียอดเอ็นพีแอล 470,277.39 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.04%ของสินเชื่อรวม ขณะที่ยอดกันสำรองค่าเผื่อหนี้สูญลดลง โดยเฉพาะ "ไทยพาณิชย์" ลดลงมากสุด 1,068 ล้าน คาดผลจากเทมาเส็กจ่ายคืนเงินกู้ รวมถึงจากแนวโน้มสินเชื่อ-เอ็นพีแอลที่ลดลง ทำให้แบงก์พาณิชย์กันสำรองน้อยลง
นายทำนอง ดาศรี ผู้อำนวยการ ฝ่ายปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ล่าสุด ณ สิ้นเดือนสิงหาคมยังคงทรงตัวในระดับเดิม แต่ธนาคารพาณิชย์มีการกันเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลงว่า ในช่วงที่ผ่านมาทั้งธปท.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์มีการลดปริมาณเอ็นพีแอลในระบบให้มากที่สุด เพื่อลดภาระการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในอนาคตได้ ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ก็มีการระมัดระวังมากขึ้นในการเลือกปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้า ทำให้ล่าสุดเอ็นพีแอลในระบบธนาคารพาณิชย์กลับลดลง และส่งผลให้การกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญกลับลดลงด้วย
อย่างไรก็ตาม หากธนาคารพาณิชย์ไทยมีการกันเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง แสดงให้เห็นว่าธนาคารแต่ละแห่งมีเอ็นพีแอลลดลง หรือมีเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นใหม่ลดลง ดังนั้นเงินที่มีการกันสำรองฯ ไว้ จะสามารถนำกลับมาเป็นรายได้ให้แก่ธนาคารต่อไปจากเดิมที่บันทึกทางบัญชีเป็นต้นทุนในการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์รายนั้น อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าธนาคารพาณิชย์ไทยจะลดเอ็นพีแอลในระบบให้เหลือ 2% ภายในปี 2550 ได้อย่างแน่นอน
“ในเดือนสิงหาคมธนาคารไทยพาณิชย์มีการกันสำรองลดลงในปริมาณที่สูงสุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้รายใหญ่อย่างกลุ่มเทมาเส็กเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในช่วงที่ผ่านมา แล้วอาจจะมีการชำระเงินคืนตามปกติหรือมีการชำระคืนเป็นเงินก้อนมาบางส่วนทำให้ปริมาณหนี้ลดลง อย่างไรก็ตามต้องสอบถามไปยังธนาคารไทยพาณิชย์อีกครั้งหนึ่งว่าสาเหตุจะเป็นเช่นใด” นายทำนองกล่าว
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท. ได้รายงานตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบสถาบันการเงินยังคงทรงตัวเช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า โดยล่าสุดยอดเอ็นพีแอล ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2549 มีจำนวนทั้งสิ้น 484,701.31 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.23% ของสินเชื่อรวม ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ก็มีการกันเงินสำรองลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนอย่างมาก
ทั้งนี้ เอ็นพีแอลในระบบสถาบันการเงินแบ่งเป็นเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 470,277.39 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.04% ของสินเชื่อรวม เอ็นพีแอลของสาขาธนาคารต่างประเทศ 9,152.25 ล้านบาท คิดเป็น 1.50% ของสินเชื่อรวม เอ็นพีแอลของบริษัทเงินทุน 4,835.80 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.37% ของสินเชื่อรวม และเป็นเอ็นพีแอลของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 435.87 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41.90% ของสินเชื่อรวม
นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม 2549 ในส่วนของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศยังคงมียอดหนี้เอ็นพีแอลไม่แตกต่างจากเดือนก่อน แต่ธนาคารพาณิชย์หันมากันสำรองลดลงโดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์มียอดเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 59,779 ล้านบาท คิดเป็น 9.22% ของสินเชื่อรวม มีการกันเงินสำรองไว้ 46,070 ล้านบาท ซึ่งมียอดลดลงกว่าเดือนก่อนถึง 1,068 ล้านบาท ถือว่าลดลงในปริมาณที่สูงสุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย อย่างไรก็ตามก็ยังมีเงินกันสำรองสูงกว่าที่ ธปท. กำหนดถึง 11,737 ล้านบาท
สำหรับธนาคารกรุงเทพที่มียอดเอ็นพีแอลสูงสุดในระบบยังคงครองแชมป์ 3 เดือนซ้อน ซึ่งมียอดเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 108,588 ล้านบาท คิดเป็น 11.20% ของสินเชื่อรวม แต่มีการสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 76,803 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดือนก่อน 272 ล้านบาท แต่มีเงินสำรองสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 22,211 ล้านบาท รองลงมาธนาคารกรุงไทยมีเอ็นพีแอลจำนวน 91,911 ล้านบาท คิดเป็น 9.67% ของสินเชื่อรวม มีการสำรองค่าเผื่อหนี้ฯ 38,493 ล้านบาท ซึ่งลดลง 207 ล้านบาท เทียบกับเดือนก่อน แต่มีการกันสำรองฯ สูงกว่าที่ธปท.กำหนด 10,642 ล้านบาท และธนาคารทหารไทยมีเอ็นพีแอล 66,905 ล้านบาท คิดเป็น 11.88% ของสินเชื่อรวม มีเงินสำรองค่าเผื่อหนี้ฯ 31,950 ล้านบาท ลดลงจากเดือนที่แล้ว 609 ล้านบาท แต่ก็ยังมีการกันสำรองสูงกว่าธปท.กำหนด 1,282 ล้านบาท
ส่วนธนาคารกสิกรไทยมีเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 42,493 ล้านบาท คิดเป็น 6.70% ของสินเชื่อรวม มีการกันเงินสำรองค่าเผื่อหนี้ฯ 29,076 ล้านบาท หรือมีการกันสำรองฯ เพิ่มขึ้น 142 ล้านบาท ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์รายใหญ่เพียงรายเดียวที่มีการกันสำรองฯ เพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ไทย อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการกันสำรองสูงกว่าที่ธปท.กำหนด 10,613 ล้านบาท
ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยามียอดเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 41,438 ล้านบาท คิดเป็น 8.75% ของสินเชื่อรวม มีการกันเงินสำรองค่าเผื่อหนี้ฯ 18,362 ล้านบาท ลดลงเดือนก่อน 1 ล้านบาท แต่สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด 4,378 ล้านบาท และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อยมีเอ็นพีแอลน้อยที่สุดยังคงทรงอยู่ในระดับเดิม คือ 78 ล้านบาท คิดเป็น 0.79% ของสินเชื่อรวม มีการกันสำรองไว้ 94 ล้านบาท หรือลดลง 1 ล้านบาท จากเดือนก่อน แต่สูงกว่าเกณฑ์ ธปท. 51 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ธนาคารพาณิชย์บางแห่งอาจมีการเพื่อความระมัดระวังในการปล่อยกู้ให้ลูกค้ามากขึ้น โดยหากลูกค้ารายใดผิดนัดชำระตามเกณฑ์อาจมีการจัดชั้นลูกหนี้ใหม่ทันที ขณะเดียวกันหากมีลูกหนี้เอ็นพีแอลรายใหม่เกิดขึ้น ทำให้ต้องมีการกันสำรองฯ เพิ่มขึ้นเช่นกัน เพื่อให้มีการจัดชั้นคุณภาพหนี้ให้ดีขึ้น และป้องกันไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากการปล่อยสินเชื่อจนสร้างยอดเอ็นพีแอลจำนวนมาก อย่างเช่นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ผ่านมาด้วย
|