ช่วงต้นปีนอกจากจะเป็นเทศกาลหฤหรรษ์ของปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่กันแล้ว ยังถือเป็นเทศกาลของคนเปลี่ยนงานกันอีกด้วย
แม้ว่าปี 2539 ที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจซบเซาลงไปและมีการปรับลดพนักงานกันไปในหลายๆ
องค์กรเพื่อรอบรับกับแผนงานธุรกิจในปีนี้ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีโอกาสเริ่มงานใหม่กับองค์กรใหม่
ในปี 2540 "ยงยุทธ บุญเปกข์ตระกูล" ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ปลายปีที่แล้ว ยงยุทธ ยังคร่ำเคร่งกับการหายอดโฆษณาให้กับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ
"BANGKOK POST" และหนังสือในเครือด้วยเพราะดำรงตำแหน่งผู้จัดอำนวยการฝ่ายการตลาด
ของบมจ.โพสต์พับลิชชิ่งแต่พอขึ้นปีใหม่ เขาก็เปลี่ยนมาดูแลงานด้านการตลาดของเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ
ของบมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ซึ่งทำให้หลายๆ คนอดแปลกใจไม่ได้ว่าไฉนถึงได้เปลี่ยนงานไปสู่ธุรกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ยงยุทธไขข้อข้องใจว่ายังเป็นงานทางการตลาดเช่นเดิม ยิ่งกว่านั้น "ซิงเกอร์ไม่ใช่ที่ทำงานใหม่
แต่ถือเป็นการกลับคืนบ้านเดิม"
การเข้าสู่ซิงเกอร์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองของเขา ครั้งแรกนั้นเขาเข้าทำงานเมื่อปี
2529 ในสายงานการตลาดกับซิงเกอร์สิงคโปร์และย้ายมาที่ซิงเกอร์แห่งประเทศไทย
ซึ่งรวมเวลาเบ็ดเสร็จร่วม 5 ปี หลังจากนั้นก็ไปหาประสบการณ์กับธุรกิจอาหารจานด่วนอย่างเชคกี้พิซซ่าเสีย
5 ปี ตามมาด้วยการเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดให้กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
4 ปี ก่อนที่จะกลับมาที่ซิงเกอร์อีกครั้ง
"ผมมีเพื่อนๆ อยู่ในซิงเกอร์เยอะ และติดต่อกันตลอดเวลา การที่ออกจากซิงเกอร์ไปในตอนแรก
ก็เป็นเพราะผมมีเป้าหมายของตัวเองจะอยู่ตรงไหน แต่ครั้งนั้นมันวางไว้เร็วไป
แต่ผมก็ระลึกเสมอว่ายังเป็นคนซิงเกอร์ และยังผูกพันกับซิงเกอร์ เพราะซิงเกอร์คือชีวิตเมื่อเป็นคนซิงเกอร์แล้วไปอยู่ที่ไหนก็ยังรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน
และที่ผมกลับมาซิงเกอร์ครั้งนี้ก็เพราะเพื่อนๆ ชวนมา"
ตำแหน่ง "ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ" เป็นตำแหน่งที่คนซิงเกอร์วางไว้ให้ยงยุทธโดยเฉพาะ
เพราะงานด้านนี้ต้องติดต่อกับฝ่ายขายและบริการตลาดอย่างใกล้ชิดและต้องเข้าใจธรรมชาติของงานขายเป็นอย่างดี
ซึ่งเขาเองก็เคยคุมทางด้านการตลาดของซิงเกอร์มาก่อนและมีเพื่อนพ้องในฝ่ายขายเป็นจำนวนมาก
"หน้าที่ผมคือหาช่องทางการตลาดใหม่ๆไม่ว่าจะเป็นจากสินค้า การบริการ
หรือช่องทางการขาย" ยงยุทธ สรุปสั้นๆ
เดิมซิงเกอร์ไม่มีฝ่ายพัฒนาธุรกิจ งานส่วนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายขายและตลาด
แต่เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายซิงเกอร์ได้ขยับขยายงานไปมาก
บริษัทซิงเกอร์ในต่างประเทศซื้อโรงงานและบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ
เข้ามา เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้ออะไก โนเกีย ส่วนซิงเกอร์ประเทศไทยก็เพิ่มไลน์สินค้าใหม่
เช่นเฟอร์นิเจอร์จากอเมริกา ทำให้ข่ายงานของวิงเกอร์ขยายออกไปมากและมีโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
เกิดขึ้นอีก จึงต้องหาหน่วยงานใหม่ขึ้นมาช่วยสนับสนุนงานของของให้เป็นระบบมากขึ้น
การกลับมาของยงยุทธและการตั้งฝ่ายพัฒนาธุรกิจขึ้นมาย่อมต้องมีสีสันใหม่ๆ
ทางด้านการตลาดให้กับซิงเกอร์
ยงยุทธชี้ว่านโยบายหลักของบริษัทในปีนี้ก็คือ การเพิ่มบริการให้ถึงตัวลูกค้ามากขึ้น
"สิ่งที่เราใฝ่ฝันก็คือการให้บริการลูกค้าที่บ้านด้วยไม่ใช่แค่ที่ร้าน"
ยงยุทธระบุ
นั่นก็คือมีบริการหลังการขายที่ทันอกทันใจลูกค้า เช่น กรณีเครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุดก็สามารถเรียกช่างเทคนิคจากซิงเกอร์ไปซ่อมแซมให้โดยทัน
แม้ในปัจจุบันบริษัทจะมีช่างเทคนิคร่วม 700-800 คน กับร้านสาขาซิงเกอร์จำนวน
338 แห่งทั่วประเทศ แต่ก็ยังไม่สามารถให้บริการลูกคาได้ในระดับที่ผู้บริหารพอใจ
การเพิ่มจำนวนพนักงานขายและร้านสาขาจึงต้องมีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอาจจะมีการเปิดบูธซิงเกอร์ตามห้างสรรพสินค้าจากเดิมที่ไม่มีเคยมีการเปิดบูธมาก่อน
นอกจากนี้แล้ว ยังจะเน้นการเปิดร้านรูปแบบใหม่มากขึ้น โดยร้านรูปแบบใหม่ที่ว่าจะแตกต่างจากร้านซิงเกอร์ทั่วไปตรงที่นอกจากจะมีสินค้าซิงเกอร์จำหน่ายแล้ว
ก็ยังมีการจัดตกแต่งห้องสาธิตสำหรับการวางสินค้าและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ของซิงเกอร์
เช่น ห้องนอน ห้องรับแขก เพื่อให้ลูกค้าได้ทราบถึงประโยชน์ใช้สอยของสินค้าอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ขณะนี้ร้านรูปแบบใหม่มีเพียงแห่งเดียวที่ ถ.รามอินทรา ซึ่งเป็นร้านแรกของซิงเกอร์ในประเทศไทยและทั่วโลก
ยิ่งกว่านั้น ก็คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผ่อนชำระค่าสินค้า แม้ว่าซิงเกอร์จะยังบุกตลาดสินค้าเงินอยู่ต่อไป
แต่ก็จะปรับเปลี่ยนมาให้บริษัทไฟแน้นซ์เข้ามาช่วยจัดการมากขึ้น จากแต่เดิมที่ซิงเกอร์ดำเนินการเองมาโดยตลอด
ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาตกลงกับสถาบันการเงิน
ยงยุทธอธิบายว่า "เราจะให้เงินผ่อนกับสินค้ารวมกันเป็นชุดเช่น ปลูกบ้านใหม่ก็อาจจะมีการตกแต่งภายในและใช้เครื่องไฟฟ้าจากซิงเกอร์เราจะคิดค่าผ่อนรวมกันทั้งจำนวน
ไม่ใช่เป็นชิ้นๆ ซึ่งเราจะให้บริษัทไฟแน้นซ์เข้ามาช่วย"
นั่นก็คือเมื่อลูกค้าซื้อสินค้า บริษัทไฟแน้นซ์ก็จะชำระค่าสินค้าแทนให้
และลูกค้าก็ไปผ่อนส่งกับสถาบันการเงินนั่นๆ เรียกว่าเป็นผลดีกับซิงเกอร์โดยตรงทีเดียว
ทั้งในด้านเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินจากการรับชำระค่าสินค้าเป็นเงินสดทันที
และยังไม่ต้องเสี่ยงกับการมีลูกหนี้สูญหรือการเลื่อนการชำระหนี้อีกด้วย
กระนั้นยงยุทธย้ำว่าเป็าหมายที่แท้จริงก็คือ ต้องการเปลี่ยนความคิดของลูกค้า
ที่คิดว่าการซื้อสินค้าเงินผ่อนเป็นเรื่องน่าอายให้มาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้
เพราะเป็นการผ่อนชำระในแบบเดียวกับการผ่อนชำระบ้าน หากเปลี่ยนความคิดลูกค้าได้ย่อมจะทำให้ซิงเกอร์มีลูกค่าระดับสูงเพิ่มขึ้นซึ่งจะเหมาะกับสินค้าระดับสูงหลายๆ
อย่างที่ซิงเกอร์จะนำมาบุกตลาดต่อไป เช่น เฟอร์นิเจอร์ราคาสูงจากสหรัฐอเมริกา
สำหรับสินค้าที่จะเป็น "พระเอก" ในปีนี้ได้แก่ เครื่องกรองน้ำซึ่งนำมาจำหน่ายตั้งแต่ปี
2539 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รุกตลาดอย่างจริงจัง ในปีนี้ซิงเกอร์มีแผนสำหรับสินค้าตัวนี้
เพราะมองแนวโน้มว่า "น้ำดื่ม" ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพ
มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ การใช้เครื่องกรองน้ำจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้
ซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาใช้เครื่องกรองน้ำมากขึ้น และสินค้าตัวนี้จะช่วยเพิ่มยอดขายรวมให้บริษัทไม่น้อยทีเดียว
ในปี 2539 (ปิดงบ 30 มิถุนายน) SINGER และบริษัทย่อย มียอดขายรวม 8,500
ล้านบาทและกำไรสุทธิ 643 ล้านบาทและกำไรสุทธิ 643 ล้านบาทหรือเติบโต 10%
และ 4% ตามลำดับ จากปี 2538 ซึ่งมียอดขายและกำไรสุทธิเติบโตจากปี 2537 คิดเป็น
15% และ 12% ตามลำดับ (ดูตารางประกอบ)
การที่ SINGER มีอัตราเติบโตที่น้อยลงไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าฐานยอดขายของ
SINGER ใหม่มาก แต่ที่มีผลมากทีเดียวก็คือภาวะการแข่งขันทีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งยังส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิลดลงด้วยดังนั้นการรุกทางการตลาดในปีนี้
SINGER ก็ย่อมหวังผลยอดขายอย่างมาก
กระนั้นก็ตาม ในความเห็นของยงยุทธแล้ว ยอดขายมิใช่สิ่งที่จะวัดความสำเร็จของเขาและฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
"สำหรับผมแล้วความสำเร็จก็คือทำอะไรแล้วมีคนสานต่อ เช่น เมื่อตอนอยู่ซิงเกอร์ครั้งแรกผมเป็นคนริเริ่มที่จะให้ขายสินค้าเฟอร์นิเจอร์และจัดร้านใหม่
สิ่งที่ริเริ่มในวันนั้นก็มีการสานต่อจนถึงวันนี้ ผมก็ถือว่าทำสำเร็จแล้ว"