|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หุ้นน้องใหม่ BMCL เทรดวันแรกราคาต่ำกว่าจอง 4.58% ผู้บริหารยอมรับราคาหุ้นไม่รอดต่ำจองจากผลกระทบการปฎิรูปการปกครอง ด้านที่ปรึกษาฯ เชื่อเมื่อทุกอย่างชัดเจนจะส่งผลต่อภาพรวมตลาดหุ้น ด้านบิ๊กช.การช่าง "ปลิว ตรีวิศวเวทย์" พร้อมเก็บหุ้นในกระดานเพิ่มหวังรักษาสัดส่วนให้ใกล้เคียงกับก่อนขายไอพีโอซึ่งอยู่ที่ประมาณ 50% ขณะที่รฟม.แจ้งจ่ายเงินค่าหุ้นเรียบร้อยแล้ว
วานนี้ (21 ก.ย.) หุ้นบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นวันแรก หลังผู้บริหารบริษัทและที่ปรึกษาทางการเงินประกาศพร้อมเข้าซื้อขาย โดยไม่หวั่นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นภายหลังคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล โดยราคาเปิด 1.10 บาท ต่ำกว่าราคาจองที่กำหนดไว้หุ้นละ 1.31 บาท หลังจากนั้นก็กระเตื้องขึ้นมาปิดที่ 1.25 บาท ลดลง 0.06 บาท หรือ 4.58% มูลค่าการซื้อขาย 1,203.70 ล้านบาท
ทั้งนี้ระหว่างวันมีการทำรายการซื้อขายรายการใหญ่หรือบิ๊กล็อต จำนวน 1 รายการ 81.99 ล้านหุ้น ในราคาจองหุ้นละ 1.31 บาท รวมมูลค่า 107.41 ล้านล้านบาท
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของราคาหุ้นบริษัทเป็นไปตามกลไลของตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศขณะนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น แต่เชื่อมั่นว่าด้วยพื้นฐานของบริษัทจะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ได้มีการหารือกับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กลุ่มบริษัท ช.การช่าง หรือ CK ซึ่งได้รับการยืนยันว่าพร้อมที่จะเข้ามาซื้อหุ้นหากราคาที่ซื้อขายปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าราคาจอง เพื่อที่จะรักษาสัดส่วนการถือหุ้น ให้ใกล้เคียงกับสัดส่วนก่อนการกระจายหุ้นให้กับประชาชนและการขายหุ้นให้กับ รฟม.
"มีความเป็นไปได้อย่างมากที่บริษัท ช.การช่าง จะเข้ามาซื้อหุ้นของเราเพิ่ม เพราะเขาแสดงเจตนารมณ์อย่างต่อเนื่องที่จะคงรักษาสัดส่วนการถือหุ้น เพราะเดิมบริษัท ช.การช่าง ถือหุ้นประมาณ 50% แต่ถูกปรับลดลงไปค่อนข้างมากหลังการขายหุ้นจึงน่าจะเข้ามาซื้อเพิ่ม" นายสมบัติกล่าว
สำหรับการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของหุ้นบีเอ็มซีแอล ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่หุ้นที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภคจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเข้ามาเป็นเจ้าของบริษัท
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินกล่าวว่า การปรับตัวลดลงของราคาหุ้นบีเอ็มซีแอลเป็นเพราะผลกระทบจากกรณีการเข้ามาของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ต่อราคาหุ้นของบริษัทบีเอ็มซีแอลเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นหลายบริษัทและที่สำคัญส่งผลต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ เชื่อว่านักลงทุนที่มีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะเข้าใจถึงพื้นฐานของบริษัท และพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนระยะยาวเนื่องจากหุ้นบีเอ็มซีแอลถือว่าเป็นหุ้นที่ดีเหมาะสมกับการลงทุน
สำหรับการเทขายหุ้นของนักลงทุนในช่วงเช้าเป็นไปตามคาดการณ์เพราะนักลงทุนตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น แต่เชื่อว่าเมื่อทุกอย่างมีความชัดเจนมีการเปลี่ยนผ่านระบอบประชาธิปไตยไปให้รัฐบาลชุดใหม่ นักลงทุนจะมีความเข้าใจมากขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทยในระยะยาว
นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทที่จะเข้ามาซื้อหุ้นบริษัทบีเอ็มซีแอล ในกระดานเพิ่มเนื่องจากต้องการรักษาสัดส่วนการถือครองให้ใกล้เคียงกับสัดส่วนก่อนหน้าที่จะขายหุ้นให้กับประชาชน แต่ในเรื่องการเข้าไปซื้อเพิ่มจะต้องหารือกับทีมงานในเรื่องการลงทุนของบริษัทก่อนว่าจะตัดสินใจอย่างไร
ทั้งนี้ หุ้นบริษัทบีเอ็มซีแอล ถือว่าเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างมาก เนื่องจากบริษัทไม่มีความเสี่ยงในเรื่องการดำเนินการโดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดค่าโดยสารเนื่องจากมีสัญญาที่ชัดเจน
สำหรับการถือหุ้นในบริษัทบีเอ็มซีแอลของบริษัท ช.การช่าง เป็นการเข้ามาถือหุ้นในระยะยาว เนื่องจากธุรกิจของบริษัทบีเอ็มซีแอลถือว่าเป็นประโยชน์ต่อบริษัทในแง่ของการขยายธุรกิจในอนาคต นอกจากนี้ธุรกิจของบริษัทบีเอ็มซีแอล ยังถือว่าเป็นธุรกิจที่ให้บริการและเป็นประโยชน์กับประชาชน
นางอัญชลี ชวนิชย์ ประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินการในเรื่องการกู้เงินจำนวน 2,987.5 ล้านบาท จากธนาคารออมสิน เพื่อชำระค่าหุ้นที่ซื้อจากบมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำนวน 2,987.5 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท โดยบริษัทพร้อมจะชำระให้กับ BMCL ในวานนี้ 21 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นวันแรกของการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
ทั้งนี้ สินเชื่อที่กู้จากธนาคารออมสินระยะเวลา 5.2 ปี อัตราดอกเบี้ยลอยตัวเท่ากับอัตราต่ำสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือนประเภทบุคคลธรรมดาของ 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
"การซื้อในจำนวนดังกล่าวทำให้ รฟม.ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทบีเอ็มซีแอลในสัดส่วนการถือหุ้น 25% ของทุนจดทะเบียน" นางอัญชลีกล่าว
อย่างไรก็ตาม การเข้าถือหุ้นในครั้งนี้ รฟม.จะเข้าไปถือหุ้นในฐานะตัวแทนภาครัฐ รวมถึงเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งรฟม. จะเป็นหลักทรัพย์ที่ถูกห้ามจำหน่าย (ไซเลนต์พีเรียด) เป็นระยะเวลา 3 ปี เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นหลักรายอื่น เช่น บริษัท ช.การช่าง และบริษัททางด่วนกรุงเทพ หรือ BECL เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยใช้ศักยภาพของเอกชนอย่างเต็มที่
บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2549 ปรากฏว่าขาดทุนสุทธิ 433.54 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.06 บาท ขาดทุนลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 525.99 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.07 บาท
สำหรับผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือน ประจำปี 2549 ขาดทุนสุทธิ 821.35 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.11 บาท ขาดทุนสุทธิลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขาดทุนสุทธิ 979.78 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.13 บาท
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ที่ดีขึ้น เนื่องจากรายได้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจำนวน 72.36 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 33.12% เนื่องจากในปีก่อนบริษัทมีช่วงระยะเวลาส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินด้วยการลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าเป็น 3 สถานีแรก 10 บาท 4 สถานีขึ้นไป 15 บาท ตั้งแต่ 7 มกราคม 2548 จนถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2548
สำหรับปี 2549 บริษัทใช้อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามข้อตกลงในสัญญาสัมปทาน และให้ส่วนลด 15% สำหรับบัตรโดยสารแบบเติมเงิน ส่งผลให้อัตราค่าโดยสารเฉลี่ยต่อคนและรายได้ค่าโดยสารรวมเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้บริษัทยังมีรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นจาก 0.93 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ของปีก่อน เป็น 41.54 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ของปี 2549 รวมทั้งมีการขายเงินลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทย่อยคือบริษัท บีเอ็มซีแอลเน็ทเวิร์ค จำกัด โดยมีกำไรจากการขายเงินลงทุนดังกล่าวจำนวน 17.15 ล้านบาท และสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทในบริษัทย่อยดังกล่าวลดลงจาก 100% เป็น 70%
ด้านค่าใช้จ่ายรวมในการดำเนินงาน (ไม่รวมดอกเบี้ยจ่าย) สำหรับไตรมาส 2 ปี 2549 เท่ากับ 500.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.90 ล้านบาท หรือเพิ่ม 7.73% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนเท่ากับ 464.42 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้น 11.78 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.29% และต้นทุนค่าพัฒนาเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 20.08 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรายได้ค่าโดยสารและรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ในไตรมาส 2 ของปี 2549 บริษัทมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 80.60 ล้านบาท หรือเพิ่ม 41.53% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ปรับตัวสูงขึ้น
|
|
|
|
|