|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สามารถเทลคอม ปรับโครงสร้างใหม่ แบ่งเป็น 5 สายธุรกิจหลัก หวังเป็นผู้นำบริการไอซีทีครบวงจร ตั้งเป้ารายได้ 7 พันล้านบาท ใน 3 ปีหน้า พร้อมแตกธุรกิจใหม่ หลังทุ่มเงินกว่า 770 ล้านบาท ซื้อพอร์ทัลเน็ท โอเอซิส ลุยบริการไอที เอาท์ซอร์ส และไอพี บิสิเนสซึ่งคาดว่าจะทำรายได้ 1 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปี
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ SAMTEL เปิดเผยถึง แผนการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ว่า บริษัทได้แบ่งโครงสร้างธุรกิจใหม่ออกเป็น 5 สายธุรกิจ ประกอบด้วย 1. ธุรกิจเครือข่ายสื่อสาร (Network Service) ให้บริการด้านเครือข่ายโทรคมนาคมและเครือข่ายด้านไอซีที โดยบริษัท สามารถ คอมมิวนิเคชั่น เซอร์วิส อาทิ โครงการไอซีที อปท. เพื่อบริการประชาชนหรืออินเทอร์เน็ตตำบล โดยร่วมกับบริษัท ทีโอที เพื่อติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมให้ อบต. จำนวนกว่า 8 พันแห่งทั่วประเทศ อายุสัญญา 5 ปี มูลค่า 2.3 พันล้านบาท ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้ในเดือน ม.ค.2550 นอกจากนี้ยังให้บริการต่างๆ เพื่อต่อยอดจากเครือข่ายสื่อสารภายในองค์กรต่างๆ ที่มีอยู่ อย่างบริการวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ บริการบิสิเนสทีวี
2. ธุรกิจบริการรับเหมาออกแบบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (System Integration) โดยบริษัท สามารถ คอมเทค ซึ่งได้โครงการขยายระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการบริหารสนามบินสุวรรณภูมิ (AIMS) โครงการระบบ Common User Terminal Equipment (CUTE) สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งยังมีโครงการของกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม
3. ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Business) เป็นการให้บริการซอฟต์แวร์เกี่ยวกับอี-บิสิเนส อย่างบริการอีดีไอ เว็บโฮสติ้ง บริการอี-เลิร์นนิ่ง ผ่านบริษัท สามารถเทลคอม บริษัท ไทเทรดเน็ท และบริษัท พอสเน็ท
4. ธุรกิจบริการ ICT Outsourcing ซึ่งสามารถเทลคอม ได้ซื้อกิจการบริษัท พอร์ทัลเน็ท จำกัด (Portalnet) จำนวน 999,940 หุ้น คิดเป็น 99.99% ของหุ้นที่ออกแล้วทั้งหมด มูลค่า 140 ล้านบาท จากบริษัท เอ็มลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (MLINK) รวมทั้งรับโอนภาระหนี้ของเอ็มลิ้ง มูลค่า 628.66 ล้านบาท ทำให้มูลค่ารวมของการซื้อหุ้นและรับโอนสิทธิฯ รวมกว่า 768.67 ล้านบาท
สำหรับบริษัท พอร์ทัลเน็ท จำกัด เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานโครงการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับธุรกิจหลัก (ERP) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่าโครงการกว่า 3 พันล้านบาท โดยติดตั้งระบบไปแล้วกว่า 70% และจะครบกำหนดส่งมอบในเดือนเม.ย. 2550 มีอายุสัญญา 5 ปี โดยสามารถเทลคอมจะมีรายได้จากโครงการนี้ปีละกว่า 600 ล้านบาท รวมตลอดสัญญา 5 ปีกว่า 3 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ยังซื้อหุ้น 70% ในบริษัท โอเอซิส จำกัด ซึ่งมีจุดแข็งที่สำคัญคือความเชี่ยวชาญในการติดตั้งซอฟต์แวร์ SAP ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ERP โดยการซื้อโอเอซิส นอกจากเพื่อสนับสนุนงาน กฟภ.แล้วยังเป็นโอกาสในการหาธุรกิจใหม่ๆ เนื่องจากแนวโน้มการใช้ SAP จะมีมากขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มสามารถยังใช้บริการของโอเอซิสอยู่ด้วยในขณะนี้ โดยที่สามารถเทลคอมใช้เงินประมาณ 10 ล้านบาท ในการซื้อหุ้น 70% ในโอเอซิส ซึ่งมีรายได้ประมาณปีละ 50 ล้านบาท และเป็นบริษัทที่ทำกำไรมาโดยตลอด
5.ธุรกิจ IP Business ให้บริการ VoIP หรือโทรศัพท์ระหว่างประเทศผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต โดยที่สามารถเทลคอมจะหาพันธมิตรร่วมทุนจากต่างชาติเพื่อให้บริการ ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นการใช้งานในลักษณะที่คนไทยเดินทางไปต่างประเทศแล้วโทร.กลับมายังประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในสิ้นปีนี้ โดยจะมีรายได้ประมาณ 2 พันล้านบาท ภายในเวลา 3 ปี
"โครงสร้างใหม่ของสามารถเทลคอม จะทำให้รายได้เติบโตเป็นเท่าตัวภายใน 3 ปี คือจาก 3.5 พันล้านบาท ในปีนี้ เป็น 7 พันล้านบาทในปี 2552 ส่วนธุรกิจใหม่ซึ่งประกอบด้วยไอซีที เอาท์ซอร์ส อี-บิสิเนส และไอพี บิสิเนส จะทำรายได้ให้ 1 หมื่นล้าน ภายในเวลา 5 ปี" นายวัฒน์ชัย กล่าว
สำหรับกลยุทธ์ของสามารถเทลคอมจะเติบโตโดยอาศัย 1. สัญญาระยะยาวที่จะทำให้มีรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว 2.ให้บริการเสริมต่อยอดบนโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมที่มีอยู่อย่างบริการเทเลเมดิซีน สกูลเน็ต อินเทอร์เน็ตตำบล และ 3.เติบโตด้วยการซื้อกิจการอย่างพอร์ทัลเน็ทและโอเอซิสซึ่งเร็วๆ นี้จะมีอีกอย่างน้อย 1-2 บริษัท เพื่อให้เป็นไปตามวิชั่นของสามารถเทลคอมที่ต้องการเป็นผู้นำในธุรกิจสื่อสารไอทีและโทรคมนาคมครบวงจร (IT Solution)
สำหรับการซื้อพอร์ทัลเน็ท สามารถเทลคอมใช้เงินประมาณ 750 ล้านบาท สำหรับการซื้อกิจการ 100% แบ่งเป็นการซื้อหุ้นจากทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ในราคา 140 ล้านบาท และมีหนี้คงค้างประมาณ 630 ล้านบาท
นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า หลังการปรับโครงสร้างใหม่และการขยายธุรกิจทำให้สามารถเทลคอมต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2 พันล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน การออกหุ้นกู้ เงินทุนหมุนเวียนภายในและการเพิ่มทุน ซึ่งสามารถเทลคอมจะเพิ่มทุนจาก 600 ล้านบาท เป็น 720 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญจำนวน 120 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1 บาท เพื่อจัดสรรในคราวเดียวหรือหลายคราวแก่บุคคลในวงจำกัด ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (Private Placement) และพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีฐานเงินทุนเพิ่มประมาณ 1.1 พันล้านบาท
นายไพโรจน์ วโรภาษ รองประธานกรรมการบริหาร สามารถเทลคอม แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า การเพิ่มทุนและจัดสรรให้กับบุคคลโดยเฉพาะเจาะจงครั้งนี้ จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมดลดลง (Dilution Effect) คิดเป็น 16.67% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเพิ่มทุน
ขณะเดียวกัน การดำเนินการตามมติคณะกรรมการดังกล่าว ได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารของบริษัทดำเนินการลงนามและดำเนินการต่างๆ อันจำเป็นและสมควรเกี่ยวเนื่องกับการทำสัญญาดังกล่าว รวมทั้งจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น โดยบริษัทกำหนดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2549 ในวันที่ 17 ตุลาคม 2549 และปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น เพื่อสิทธิในการเข้าประชุมตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป
ด้านนางมณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล รองประธานกรรมการ บริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MLINK กล่าวว่า บริษัทจะมีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น หลังจากงินค่าหุ้นจำนวน 140 ล้านบาท และรับคืนหนี้จำนวน 628.67 ล้านบาท จากสามารถเทลคอม ก่อนที่บริษัทจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจหลักของคือ ธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้บริษัท
ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้นวานนี้ ได้มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นทั้ง 2 ตัวค่อนข้างมาก โดยราคา SAMTEL ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปทำราคาสูงสุดที่ 10.80 บาท ต่ำสุดที่ 10.50 บาท ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 10.60 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 0.10 บาท หรือ 0.95% มูลค่าการซื้อขายรวม 38.30 ล้านบาท ขณะที่ MLINK ราคาสูงสุด 2.44 บาท ต่ำสุด 2.36 บาท ก่อนจะปิดเท่ากับราคาปิดครั้งก่อนที่ 2.38 บาท มูลค่าการซื้อขาย 31.30 ล้านบาท
|
|
|
|
|