"แบงก์ชาติ" ยัน ใช้เกณฑ์ควบคุมธุรกิจบัตรเครดิต เดิม ไม่สนคำอ้อนของชมรมบัตรเครดิตทุกๆกรณี
ประธานชมรมบัตรเครดิตหน้าเศร้าหลังเข้ารับฟัง คำชี้แจง ระบุต้องทำตามทุกข้อ
ส่ง ให้รายได้ธุรกิจกระทบกว่า 1 พันล้านบาท พร้อมกลับไปตรวจสอบข้อมูลลูกค้าที่ยังไม่เข้าเกณฑ์ใหม่มีมากถึง
1 ล้านราย ให้ส่งหลักฐาน เพิ่มเติมก่อนจะถูกเรียกบัตรคืน
นางสว่างจิตต์ จัยวัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) เปิดเผยว่า วานนี้ (21 ม.ค.) ทางชมรมบัตรเครดิต ได้เข้าพบธปท.เพื่อหารือและทำความเข้าใจใน
หนังสือเวียนที่ธปท.ได้ออกไปก่อน หน้านี้ เกี่ยวกับประเด็นข้อสงสัย เช่น
การต่ออายุบัตร โดยธปท.ยัง เข้มงวดกับรายได้ของผู้ถือบัตรจะต้องมีรายได้ขั้นต่ำ
15,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป หรือ 180,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ในส่วนของผู้ถือบัตรเครดิตที่ไม่มีรายได้ประจำจะต้องมีเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์อยู่ในธนาคารพาณิชย์
สำหรับการคิดอัตราดอกเบี้ย ธปท.ยังคงเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ 18%
ต่อปี ซึ่งทางชมรมบัตรเครดิตก็เข้าใจในประเด็น นี้และทุกธนาคารต้องมีการปรับตัว
เนื่องจากก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์ มีการคิดอัตราดอกเบี้ยกับผู้ถือบัตรเครดิตเป็นอัตราที่สูงมาก
ดังนั้น ในส่วนนี้ธนาคารพาณิชย์จึงต้องมีการปรับตัว ในส่วนของการคิดค่าติดตามทวงหนี้ธปท.ยังคงยืนยันให้ธนาคารพาณิชย์มีการคิดตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง
โดยจะต้องแจ้งรายละเอียดของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดจากการติดตามทวงหนี้ ให้แก่ลูกค้าทราบ
"สิ่งที่อยากเน้น ในส่วนของลูกค้าผู้ถือบัตรเองก็จะต้องคำนึงถึง ค่าใช้จ่าย
และภาระต่างๆ ที่จะตาม ด้วยความระมัดระวัง หากมีข้อสงสัยในบัตรที่ใช้ หรือการเรียกเก็บเงินจากธนาคารเจ้าของบัตรก็สามารถสอบถามได้ที่สถาบันการเงินที่ตนเองถือบัตรอยู่"
ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าว
นางสว่างจิตต์ กล่าวอีกว่าในกรณีที่ผู้ถือบัตรเครดิตหมดอายุ หากจะต่ออายุบัตรใหม่จะต้องส่งหลักฐาน
เอกสาร เช่น สลิปเงินเดือน บัญชีย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน ให้กับธนาคารผู้ออกบัตร
เพื่อ พิจารณาต่ออายุบัตร ขณะเดียวธนาคารพาณิชย์ผู้ออกบัตรจะต้องส่งรายงานตามแบบฟอร์มที่ธปท.
กำหนด โดยจะต้องส่งรายงานมาให้ธปท.เมื่อสิ้นสุดในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งบางธนาคารได้ขอผ่อนผัน
เนื่องจากยังไม่มีความ พร้อมของระบบคอมพิวเตอร์
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ลูกค้าบางรายมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด ทางชมรมก็ได้รายงานว่าส่วนใหญ่ลูกค้าประเภทนี้จะมีการ
ชำระหนี้ครบตามกำหนด ถือว่าเป็นลูกหนี้ที่ดี ซึ่งทางธปท.จะมีการพิจารณาในประเด็นนี้
นายสุขดี จงมั่นคง กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทบัตรเครดิตกรุงศรีอยุธยา จำกัด
ในฐานะประธานชมรมบัตรเครดิต เปิดเผยว่า วันนี้ทางชมรมบัตรเครดิตได้เข้าหารือกับธปท.เพื่อให้แน่ใจในรายละเอียดต่างๆ
ว่าแบงก์พาณิชย์จะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งผลจากการประชุมกฎเกณฑ์ต่างๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องทำตาม
เพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่ทางการออกมา ซึ่งการที่ต้องมีการหารือหลายครั้ง
เนื่องจากกฎเกณฑ์ต่างๆที่ธปท.ออกมามีรายละเอียดมาก และออกมาอย่างกะทันหัน
ทำให้ต้องมีการสร้างความเข้าใจ
ในส่วนของผู้ถือบัตรที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ที่ธปท.กำหนด 15,000 บาทต่อเดือน
ซึ่งมีจำนวน 1 ล้านบัตร เมื่อทางชมรมฯทำความเข้าใจกับธปท. เรียบร้อยแล้ว
ทำให้ชมรมต้องกลับไปประมวลหลักฐานของผู้ถือบัตร ซึ่งบางรายนั้นมีการยื่นหลักฐานเอกสารมานานแล้ว
และบางรายอาจจะต้องนำหลักฐานทางด้านการเงินเข้ามาเพิ่มเติมดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ผู้เป็นเจ้าของบัตรจึงต้อง
มีการสำรวจใหม่ โดยจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ
สำหรับการค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงหนี้นั้น ผลสรุปจากการประชุมธนาคารพาณิชย์จะต้องกลับไปคำนวณค่าใช้จ่ายใหม่
และทำหนังสือแจ้งให้ลูกค้าทราบอีกครั้ง ซึ่งต้องทำตาม เกณฑ์ที่ธปท.วางไว้อย่างเคร่งครัด
ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางชมรมฯต้องปรับให้ได้ตามเกณฑ์
ในส่วนของบริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยานั้น คงจะต้องเข้าไปหารือและกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจใหม่
โดยในเบื้องต้นจะต้องเข้าไป ดูหลักฐานของผู้ถือบัตรเครดิตกรุงศรีอยุธยาก่อน
ว่ามีลูกค้าที่เข้าข่ายของเงินเดือนขั้นต่ำไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือนมีจำนวนเท่าใด
หลังจากนั้นก็จะต้องทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ถือบัตรให้รับทราบและขอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม
สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจต่อไปในปี 2546นี้ จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
เพราะขณะนี้เท่าที่ประเมินตัวเลขเคร่าวๆแล้ว ผลกระทบจากประกาศขอบข่ายทำธุรกิจบัตรเครดิตใหม่นั้น
กระทบกับธุรกิจบัตรเครดิตอย่างมาก โดยคาดว่าจะทำให้รายได้ของธุรกิจหายไปมากกว่า
1,000 ล้านบาท ดังนั้น บริษัทจะต้องทบทวนถึงเงื่อนไขต่างๆอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องของการไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปีตลอดชีวิต