- เบื้องหลังตัดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหบือง หวังปั่นราคาที่ดินทะยานยึดรูปแบบที่ดินย่านสุวรรณภูมิ
- ผลประโยชน์มหาศาล ฉวยโอกาสผสมโรงจากแผนรถไฟฟ้า 7 สายเดิม
-สนข.มึน แต่ต้องสนองบิ๊กไทยรักไทย
-ซีคอนสแควร์ ส้มหล่นผุดคอมเพล็กซ์ยักษ์ ขนานรถไฟฟ้า
ขณะที่กระแสข่าวการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า 7 สาย หรือ 10 สายมีให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งจากฟากพรรคไทยรักไทย และฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อช่วงชิงความนิยมจากคนกรุงเทพฯและปริมณฑล ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่กำลังจะเกิดขึ้นในราวเดือนพ.ย.นี้ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีก
แต่สิ่งที่หลายคนมองข้ามไป นั่นคือ “ที่มาที่ไปของขอบข่ายการลงทุนรถไฟฟ้า ทั้ง 10 สาย ระยะทางรวมกว่า 300 กิโลเมตร ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และหากมีการลงทุนจริง ใครคือผู้ได้ประโยชน์ตัวจริง? และได้มากที่สุด”
จริงอยู่ !! แม้ว่า ประเทศไทยจะมีนโยบายการลงทุนโครงการระบบขนส่งมวลชนระบบรางมานานราว 12 ปี ตั้งแต่สมัยชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2537 แต่กรุงเทพฯเพิ่งจะมีรถไฟฟ้าลอยฟ้าใช้ครั้งแรกในปี 2542 คือรถไฟฟ้า BTS สายหมอชิต-อ่อนนุช และสายสนามกีฬาแห่งชาติ- สาทร และเมื่อความต้องการใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จึงมีการลงทุนรถไฟฟ้าใต้ดิน สายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งเท่ากับว่าจวบจนทุกวันนี้ กรุงเทพฯมีรถไฟฟ้าใช้แค่ 2 เส้นทางเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะไม่เพียงพอต่อความต้องการแล้ว แขนขาโครงข่ายที่ยื่นออกไปยังไปไม่ถึงชานเมืองทุกทิศ จึงทำให้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย มีผู้โดยสารแต่ละวันไม่เข้าเป้า
“รถไฟฟ้า BTS มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละไม่ถึง 300,000 คน จากเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะมีผู้โดยสารมากถึง 500,000 คน ส่วนรถไฟฟ้าใต้ดินไม่ต้องพูดถึงมีผู้โดยสารบางตา เฉลี่ยแค่วันละไม่ถึง 200,000 คน ต่ำกว่าเป้าหมายกว่าครึ่ง”
สำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ที่แม้ว่าจะมีการสำรวจไปพร้อมๆ กับ 2 เส้นทางแรก เรื่องถูกดองเก็บไว้ในลิ้นชักแถมล็อคกุญแจอย่างแน่นหนาอยู่ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.มานานหลายปี
จนกระทั่งเมื่อราว 1-2 ปีก่อน พรรคไทยรักไทยเห็นว่า หากจะได้รับความนิยมจากคนกรุงเทพฯ จะต้องใช้ลงทุนโครงการรถไฟฟ้าทุกทิศในกรุงเทพฯเชื่อมต่อในเมืองและชานเมืองเป็นธงนำ จึงชูนโยบายลงทุนรถไฟฟ้าเชื่อมต่อถึงกันจากรอบกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นเครื่องมือในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
คำสั่งสายฟ้าฟาด
ครั้งนั้น พรรคไทยรักไทยชูนโยบายลงทุนรถไฟฟ้า 7 เส้นทาง และเมื่อใกล้จะถึงเวลาเลือกตั้ง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เลขาธิการพรรค และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในยุคนั้น กลับประกาศนโยบายเพิ่มแบบสายฟ้าฟาด จนแม้กระทั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ทำงานด้านนี้โดยตรงยังไม่รู้เรื่องมาก่อนว่าจะขยายการลงทุนเป็น 10 เส้นทาง จากเดิมที่ประกาศไว้แค่ 7 เส้นทาง
“7 เส้นทางที่เคยประกาศก็พอจะเข้าใจว่าเส้นทางไหนเป็นเส้นทางไหน แต่อีก 3 เส้นทาง แม้แต่เจ้าหน้าที่ในสนข.ยังงง ไม่รู้ว่าคือเส้นไหน เพราะไม่เคยมีการศึกษาข้อมูลการลงทุน หรือสำรวจแนวทางมาก่อน รวมถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อมีการประกาศนโยบายออกมาจากรัฐบาล คงต้องเร่งสำรวจแนวทางต่อไปในฐานะที่เป็นข้าราชการประจำต้องปฏิบัติตามนโยบายของข้าราชการการเมืองที่กำกับดูแลโดยตรง”แหล่งข่าวจากสนข.ระบุ
สำหรับ 3 เส้นทางใหม่ ประกอบด้วย สายสีเหลือง สีน้ำตาล และสีชมพู เป็นแนวทางใหม่จริงๆ เพราะในทางปฏิบัติไม่น่าจะทำได้ตามที่พรรคไทยรักไทยประกาศ เพราะขนาดเส้นทางที่มีการสำรวจมานานกว่า 10 ปี อย่างสายสีม่วง สายสีน้ำเงิน และสายสีแดง ความคืบหน้าของการลงทุนก่อสร้างยังเพิ่งจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างเมื่อไม่นานมานี้เอง
“หาก 3 เส้นทางใหม่ มีการลงทุนจริงคงเป็นเรื่องประหลาด แต่คิดว่าจะไม่มีการลงทุนอย่างแน่นอน อย่างน้อยในช่วงกรอบการลงทุน 6 ปี ที่รัฐบาลกำหนด เว้นแต่จะดื้อดันทุรังทำต่อไป เพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง”
หวนกลับมาพิจารณาเส้นทางเดินรถสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-ศรีนครินทร์-สำโรง) นั้นเป็นเส้นทางที่สนข.ไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน เส้นทางเป็นส่วนที่เชื่อมต่อจากสายสีน้ำเงิน เริ่มจากสี่แยกรัชดา-ลาดพร้าว เป็นโครงสร้างอุโมงค์ ไปตามแนวถนนลาดพร้าว และเลี้ยวขวาที่ถนนศรีนครินทร์ ผ่านแยกลำสาลี แล้วจะเริ่มยกระดับขึ้นบริเวณถนนศรีนครินทร์ เลี้ยวขวาไปตามแนวถนนเทพารักษ์ จนถึงสำโรง มีจำนวน 20 สถานี (อยู่ระหว่างการศึกษา)
สีเหลืองไม่เคยอยู่ในกรอบลงุทน
การเร่งสำรวจเส้นทางเดินรถสายสีเหลือง เป็นเพราะสมัยที่สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นั่งเก้าอี้ตัวใหญ่อยู่ที่กระทรวงหูกวาง ได้ประกาศิตให้สนข.เร่งสำรวจเร่งทางเดินรถดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อที่จะให้มีการเดินรถผ่านเส้นทางนี้ ซึ่งตรงนี้สร้างความหนักใจให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่สนข.อย่างมาก แต่ไม่มีใครกล้าออกโรงคัดค้าน
แหล่งข่าวจาก สนข. กล่าวกับ”ผู้จัดการรายสัปดาห์”ว่า ที่ผ่านมาสนข.ได้สำรวจเส้นทางเดินรถไว้หลายสาย ซึ่งทุกสายมีความสำคัญ มีปัญหาจราจรติดขัดจนเป็นอัมพาต อีกทั้งยังเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังแหล่งชุมชน ย่านที่พักอาศัย ทำให้มีความต้องการใช้ขนส่งมวลชนระบบราง
ขณะที่สายสีเหลืองไม่ได้อยู่ในกรอบที่สนข.เคยสำรวจ แต่ที่ต้องเร่งสำรวจในช่วงก่อนหน้านี้ (ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ) เพราะได้รับคำสั่งจากผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันย้ายไปนั่งที่กระทรวงอุตสาหกรรม
แม้ว่าจะได้รับคำสั่งอย่างเร่งด่วน แต่ด้วยเวลาที่จำกัด และบุคลากรที่มีน้อย ทำให้สนข.สำรวจได้แค่เส้นทางการเดินรถเท่านั้น ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ยังไม่มี ไม่ว่าจะเป็นปริมาณผู้โดยสารที่คาดว่าจะใช้ระบบขนส่งมวลชนระบบราง ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากคู่มือที่สนข.ทำขึ้น เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจ และประชาชนทั่วไปที่ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่นอนของเส้นทางเดินรถสายสีเหลือง รวมถึงสายสีน้ำตาล และสีชมพู ซึ่งต่างจาก 7 เส้นทางเดิม มีรายละเอียดพร้อมที่จะลงทุนทันที หากรัฐบาลมีความพร้อม และประชาชนต้องการ
จากคำสั่งด่วนที่ได้รับให้สำรวจอย่างเร่งด่วนนั้น เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าบริเวณถนนศรีนครินทร์ มีที่ดินของกลุ่มทุนทางการเมือง และนักธุรกิจการเมืองหลายกลุ่ม อาทิ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รักษาการรอง
นายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีที่ดินราว ๆ 2,000 ไร่ รวมถึงก๊วนไทยรักไทย เช่น กลุ่มประยุทธ์ มหากิจศิริ เจ้าของอาณาจักรเนสกาแฟ ที่มีที่ดินบริเวณถนนบางนา-ตราด ใกล้สนามบินที่จะได้รับอานิสงส์จากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองแบบอ้อม ๆ ด้วย เพราะที่ดินส่วนใหญ่อยู่บนถนนบางนา-ตราด
ราคาที่ศรีนครินทร์จ่อคิวขยับขึ้น
แหล่งข่าว กล่าวว่า หากมีการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจริง ๆจะทำให้ราคาที่ดินในย่านศรีนครินทร์ปรับสูงขึ้นทันที เช่นเดียวกับการเปิดเส้นทางเดินรถไฟฟ้าบนดิน และมุดดิน ที่ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนที่โครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และปัจจุบันราคายังไม่นิ่ง ยังขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่แม้ว่าปัจจุบันจะเปิดเดินรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลมานานเกือบ 3 ปีแล้ว แต่ราคาที่ดินหลายแปลงยังไม่หยุดนิ่ง ยังปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดิม
“บริเวณถนนศรีนครินทร์ ปัจจุบันราคาที่ดินปรับสูงขึ้นมาก หากเทียบกับช่วง 4-5 ปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 60,000-70,000 ตร.วา เพราะนอกจากความเจริญจะเข้าไปถึงแล้ว ยังมีสนามบินสุวรรณภูมิที่กำลังจะเปิดให้บริการในปลายเดือนก.ย.นี้อีก และหากมีการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าจริง ราคาจะพุ่งขึ้นอย่างมหาศาล”แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ให้ความเห็น
ราคาที่ดินที่ขยับขึ้น จะทำให้เจ้าของที่ดินรวยขึ้นทันทีโดยที่ยังไม่ได้ลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น และเชื่อว่าจะมีการซื้อเพื่อเก็งกำไรเช่นเดียวกับการเก็งกำไรที่ดินบริเวณสนามบินสวรรณภูมิในช่วงก่อนหน้านี้ด้วย
ทำเพื่อตัวเอง-พวกพ้องหรือประชาชน
การเร่งให้สนข.สำรวจเส้นทางสายสีเหลือง เป็นการกำหนดนโยบายเพื่อตัวเอง และพวกพ้องมากกว่าเห็นถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน แม้ว่าจะนำประชาชนมาอ้างว่าเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ปัญหาจราจรติดขัดจนเป็นอัมพาต เพราะเพียงแค่ประกาศว่าจะมีการลงทุนโครงการรถไฟฟ้า ราคาที่ดินก็เริ่มปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ขณะที่กว่าประชาชนจะได้ใช้รถไฟฟ้าต้องรออีกไม่รู้กี่ปี
แหล่งข่าวจากสนข. กล่าวว่า “ตามกรอบการลงทุนของไทยรักไทยที่ประกาศว่า จะลงทุนรถไฟฟ้าภายใน 6 ปี คงจะไม่ทันแน่นอน เพราะการก่อสร้างจะต้องค่อยๆ ลงทุนครั้งละ 2-3 เส้นทาง ไม่สามารถลงทุนได้พร้อมกัน เพราะนอกจากจะไม่มีเงินลงทุนแล้ว ยังจะเกิดปัญหาจราจรอย่างหนักด้วย ดังนั้น จึงเชื่อว่าจะไม่สามารถก่อสร้างสายสีเหลืองได้ทันตามที่พรรคไทยรักไทยต้องการ”
ในส่วนของสายสีชมพูและสายสีน้ำตาลก็เช่นเดียวกัน เป็นเส้นทางสายสนข.ไม่เคยสำรวจมาก่อน แต่ที่ต้องสำรวจโดยด่วน เพราะได้รับคำสั่งมา และหากจะให้สำรวจเพิ่มเฉพาะสายสีเหลืองนั้นไม่เหมาะสม จึงสั่งให้สำรวจเพิ่มพร้อมกัน 3 เส้นทาง เพื่อไม่ให้สังคมครหา หรือถูกต่อต้านจากฝ่ายค้าน และนักวิชาการ
การสั่งเพิ่มเส้นทางอีก 2 สาย ก็สามารถนำมาอ้างต่อได้ว่าจะเชื่อมต่อกันเป็นระบบทั้ง 3 สาย โดยสายสีเหลืองบริเวณรัชดา-ลาดพร้าวเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงิน ระหว่างเส้นทางเดินรถช่วงแยกลำสาลีตัดกับสายสีส้ม บางกะปิ-บางบำหรุ ส่วนสายสีน้ำตาล จะรับผู้โดยสารจากแยกลำสาลีไปส่งที่มีนบุรี ที่มาบรรจบกับสายสีชมพูบริเวณมีนบุรี ซึ่งเท่ากับว่า 3 สายใหม่ที่จะลงทุนก่อสร้างจะเชื่อมต่อรับ-ส่งผู้โดยสารอย่างลงตัว ลบคำครหาของสังคม และฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมีเหตุมีผล โดยที่ไม่มีใครมองเกมของสุริยะ ออก
นอกจากนี้ เส้นทางสายสีชมพู ซึ่งเป็นสายทางแคราย-สุวินทวงศ์ การเดินรถจะมาจากแคราย เข้าปากเกร็ดเดินรถถนนแจ้งวัฒนะเชื่อมเข้าถนนรามอินทรามาบรรจบที่มีนบุรี ซึ่งเส้นทางเดินรถก็ผ่านบริเวณโครงการบางกอก บลูเลอวาร์ด ของบมจ.เอส.ซี.แอสเสท ของครอบครัวนายกฯทักษิณ ชินวัตร รวมถึงแลนด์แบงก์ที่ยังเหลืออีกหลายร้อยไร่ ซึ่งหากมีรถไฟฟ้าสายสีชมพูผ่านโครงการบางกอก บลูเลอวาร์ดจะได้รับผลดีตามไปด้วย รวมถึงราคาที่ดินจะขยับขึ้นไปอีกมาก
***************
ซีคอนปั้นคอมเพล็กซ์ยักษ์รับรถไฟฟ้า+สุวรรณภูมิ
ซีคอน ปรับโฉมศูนย์การค้า ยกระดับไฮเอนด์ เพิ่มร้านอินเตอร์แบรนด์ ดูดเงินลูกค้าเศรษฐี ที่มาพร้อมกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสนามบินสุวรรณภูมิ คาดทราฟฟิกเพิ่ม 200,000 คนต่อวัน
ถนนศรีนครินทร์เคยได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นทำเลทองเป็นถนนสายธุรกิจเมื่อ 12 ปีที่แล้ว แต่หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจความเจริญต่างๆก็ชะลอลงไป มีเพียงศูนย์การค้าขนาดใหญ่ 2 แห่งที่ตั้งไม่ห่างไม่ไกลกันมากนักก็คือซีคอนสแควร์ และเสรีเซ็นเตอร์ และก็มีการเกิดขึ้นของที่พักอาศัยมากมาย ทำให้ถนนสายดังกล่าวมีความหนาแน่นของประชากรมาก รวมถึงมีโรงแรมเกิดขึ้น 2-3 แห่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้ถนนศรีนครินทร์เป็นถนนสายธุรกิจได้เนื่องจากยังไม่มีออฟฟิศบิลดิ้งหรืออาคารสำนักงานเกิดขึ้น
ปัจจัยหลักที่ทำให้ไม่มีอาคารสำนักงานก็คือสภาพการจราจรที่ติดขัด ความไม่สะดวกในการเดินทางติดต่อธุรกิจทำให้ไม่มีใครสนใจมาตั้งสำนักงาน รวมถึงที่ดินมีราคาแพง ทำให้นักพัฒนาที่ดินลังเลที่จะลงทุนสร้างอาคารสำนักงาน ประกอบกับค่าเช่าอาคารสำนักงานในย่านนี้มีราคาต่ำเพียง 200-300 บาทต่อตารางเมตรเท่านั้น จึงไม่คุ้มต่อการลงทุน แต่เมื่อมีรถไฟฟ้าเข้ามาแก้ปัญหาการจราจรให้คลี่คลายได้ก็เชื่อว่าจะมีอาคารสำนักงานเกิดขึ้นตามมามากมาย ซึ่งในส่วนของซีคอนสแควร์เองก็มีแผนที่จะสร้างซีคอน ซิตี้ ซึ่งประกอบไปด้วยคอนโดมิเนียม ที่พักอาศัย โรงแรม ศูนย์การค้าขนาดเล็ก และอาคารสำนักงาน
"ปัจจุบันถนนศรีนครินทร์เหมือนรัชดาในยุคเริ่มต้น ยังมีที่ดินว่างเปล่าที่ไม่ได้มีการลงทุนใดๆ เนื่องจากรถติดทำให้การเติบโตของถนนสายนี้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ถ้ามีรถไฟฟ้ามาลงก็จะทำให้ย่านนี้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะรถไฟฟ้าจะดึงคนมา เมื่อคนมาธุรกิจก็ตามมาด้วย ก็เหมือนลาดพร้าวเมื่อ 20 ปีก่อนเงียบเหงาเป็นชานเมืองแต่พอมีรถไฟฟ้า มีระบบการจราจรที่ดีก็มีบรรยากาศทางธุรกิจแบบในเมืองเกิดขึ้น" จรัญ ผู้พัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ สำนักลูกค้าสัมพันธ์และสื่อสารการตลาด บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าว
การปรับตัวของซีคอนเพื่อรองรับความเจริญที่กำลังจะมาถึงเช่นการเตรียแมแผนที่จะปรับบรรยากาศในศูนย์การค้าให้มีความสวยงามมากขึ้น รวมถึงการปรับรูปแบบร้านค้าให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น โดยร้านค้าเพียง 20% ที่เป็นสัญญาเซ้งระยะยาว แต่อีกกว่า 80% เป็นลักษณะสัญญาเช่า 3 ปีซึ่งมีบางส่วนที่กำลังจะหมดสัญญาทำให้บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนร้านใหม่ๆเข้ามาได้โดยเฉพาะระดับอินเตอร์แบรนด์และโลคัลแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ดี เช่น ภัตตาคารฟูจิ สตาร์บัคส์ และไนกี้ นอกจากนี้ยังมีการปรับโซนนิ่งในศูนย์การค้าเพื่อรองรับครอบครัวรุ่นใหม่เช่นการเพิ่มพื้นที่ติวเตอร์สแควร์สำหรับครอบครัวใหม่ที่มีลูกเล็ก รวมถึงการเพิ่มพื้นที่โซนไอทีเป็น 2 ชั้น
"จุดดึงดูดลูกค้าของศูนย์การค้าประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลักคือ ความสะดวกต้องมาก่อน การมีรถไฟฟ้าจะทำให้ลูกค้าที่อยู่ไกลออกไปสามารถเดินทางมาที่ศูนย์ฯของเราได้ง่ายขึ้น ถี่ขึ้น แต่เราก็ต้องมีสินค้าที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วย เราจึงมีการปรับเปลี่ยนร้านค้าใหม่ๆเข้ามา และสุดท้ายมาร์เก็ตติ้งโปรโมชั่นที่จะดึงดูดความสนใจของลูกค้า" จรัญ กล่าว
นอกจากการเข้ามาของรถไฟฟ้าแล้ว ถนนศรีนครินทร์ยังได้รับอานิสงส์จากการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิเนื่องจากผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับธุรกิจการบินกว่า 20,000-30,000 คนเริ่มย้ายที่อยู่มาอาศัยในย่านศรีนครินทร์มากขึ้น ประกอบกับโครงการบ้านจัดสรรที่มีราคาตั้งแต่ 3 ล้านบาทไปถึง 20 ล้านบาท ขายดีขึ้น หลายโครงการมียอดจองเกือบเต็ม ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งจะทำให้โครงสร้างลูกค้าเปลี่ยนไปโดยซีคอนคาดว่าจะมีลูกค้าระดับบนเพิ่มจาก 30% เป็น 40% ส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าระดับกลาง พร้อมกันนี้ยังคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีทราฟฟิกในศูนย์การค้าเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งปกติจะโตเพียง 7% เท่านั้น โดยสาเหตุใหญ่มาจากเรื่องของราคาน้ำมันทำให้วันหยุดคนพักผ่อนในเมืองมากกว่าออกต่างจังหวัดโดยจะมาหาความบันเทิงตามศูนย์การค้าเป็นหลัก
นอกจากนี้การเกิดขึ้นของสนามบินสุวรรณภูมิหรือมีรถไฟฟ้าตัดผ่านก็จะทำให้ทราฟฟิกในซีคอนโดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เพิ่มเป็น 200,000 คนต่อวันจากเดิมที่มีคนเข้ามาใช้บริการ 60,000-80,000 คนในวันธรรมดา และ 150,000-170,000 ในวันเสาร์อาทิตย์
|