Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2537
"แม่น้ำโขง สายน้ำนี้ใครจอง ?"             
 

 
Charts & Figures

จำนวนเรือจีนล่องแม่น้ำโขง

   
related stories

"การประชุมข้อตกลง เรื่องการใช้แม่น้ำโขงระหว่าง4 ประเทศ

   
search resources

เดินเรือสิบสองปันนา
ยูนานหัวหัง
หวัง ต้า หมิง
เฉียว ซิน หมิน




"แม่น้ำโขง" ลำน้ำสายประวัติศาสตร์ที่ทอดผ่านดินแดนซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งแห่งวิถีทางการเมือง ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นเส้นเลือดสำคัญของการคมนาคม ขนส่ง และการท่องเที่ยวในพื้นที่จีนตอนใต้ ช่วงคาบเกี่ยวกับดินแดนไทยและลาว หากโครงการขุดลอกระเบิดเกาะแก่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วม 4 ชาติ ในเดือนสิงหาคมนี้ แต่ก่อนที่ความคาดหมายนี้จะกลายเป็นจริง ลำน้ำโขงวันนี้กำลังถูกจับจองจากลุ่มทุนทั้งไทยและจีนที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากแม่น้ำสายนี้

"หวังต้าหมิง" ชายวัยกลางคนหน้าตาอารมณ์ดีเป็นผู้จัดการบริษัทเดินเรือสิบสองปันนา เขาจบจากโรงเรียนการเดินเรือเสฉวน (SICHUAN SAILING SCHOOL) เมื่อปี 2513 แล้วก็เข้าทำงานกับบริษัทเดินเรือสิบสองปันนาทันที โดยรับหน้าที่เป็นกัปตันเรือมาตลอด และได้รับเกียรติที่เป็นเครื่องหมายรับประกันความสามารถด้วยตำแหน่ง "กัปตันห้าดาว" ถึง 2 สมัยคือ ในปี 2532 และ 2533

"ตลอดเส้นทางของแม่น้ำสายนี้ช่วงที่เรียกกันว่า ถังซี่หลาง เป็นช่วงที่ผ่านได้ยากที่สุด เป็นช่วงที่น้ำลึก 13 เมตรและมีความเร็วของกระแสน้ำถึง 4.5 เมตรต่อวินาที ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นพยายามจะใช้แม่น้ำสายนี้ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถผ่านได้ ในปี 2530 ทางมณฑลกวางตุ้งต้องการจะเข้ามาขายสินค้าโดยเดินเรือในแม่น้ำสายนี้แต่ทำไม่ได้ต้องจ้างเรือของเรา เมื่อปีที่ผ่านมาเรือของเรา 30 ลำ ขนสินค้าไปยังไทยไม่มีเรือลำใดได้รับอุบัติเหตุเลย" หวังเล่าถึงผลงานของบริษัทที่ปัจจุบันมีกัปตันอยู่ในสังกัดถึง 100 คน

"แม่น้ำสายนี้" ที่หวังเอ่ยถึงก็คือ แม่น้ำโขงหรือที่ชาวจีนเรียกว่า แม่น้ำลานช้าง

คนจีนใช้สายน้ำเส้นนี้มาเป็นเวลานานหลายทศวรรษมาแล้ว จึงไม่แปลกที่จะรู้ว่าบนแม่น้ำที่มีความยาวถึง 4,200 กิโลเมตรเส้นนี้ ช่วงไหนตื้นลึกขนาดใด แถบไหนมีอันตรายบ้าง เพราะจีนนั้นได้ทำการสำรวจแม่น้ำโขงมานาน การค้าระหว่างจีนตอนใต้กับประเทศต่าง ๆ เช่น ลาว พม่า หรือแม้แต่ไทยเองก็ทำโดยอาศัยแม่น้ำสายนี้

ความต้องการใช้ประโยชน์ของจีนจากแม่น้ำโขง ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การอาศัยเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าโดยใช้เรือขนาดเล็กเท่านั้น แต่คาดหวังที่จะใช้เป็นเส้นทางออกสู่ทะเลสำหรับดินแดนทางตะวันตกและตอนใต้ ที่อยู่ลึกเข้าไปจากชายฝั่งทะเลอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากเส้นทางลงสู่มหาสมุทรโดยผ่านประเทศพม่าแล้ว

แต่อุปสรรคสำคัญคือ บรรดาเกาะแก่งต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง เป็นสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติที่ทำให้ไม่อาจเดินเรือได้โดยสะดวก ต้องระเบิดทำลายทิ้งซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ ที่อยู่สองฝั่งของแม่น้ำ ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศในอดีตแป็นเงื่อนไขใหญ่ที่ทำให้ไม่อาจขจัดอุปสรรคทางธรรมชาตินี้ให้หมดสิ้นไปได้

เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น และการดำเนินนโยบายเปิดประเทศ ใช้ระบบเศรษฐกิจเสรีบางส่วนของรัฐบาลจีนเป็นไปอย่างจริงจัง ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสี่ประเทศเพื่อนบ้านทางตอนใต้ของจีนคือ ไทย ลาว พม่า และจีน ในนามโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ได้รับการยอมรับว่าเป็นขั้นตอนการพัฒนาที่สำคัญที่ยากจะปฏิเสธได้ แผนการพัฒนาแม่น้ำโขงให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยว และการคมนาคมทางน้ำ โดยความร่วมมือของทั้งสี่ประเทศดังกล่าวก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น

รัฐบาลจีนนั้นเตรียมทุ่มเงินประมาณ 10 ล้านหยวนในการสำรวจเส้นทางการเดินเรือในแม่น้ำโขง และเตรียมโครงการที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ การสร้างท่าเรือ และการทำลายเกาะแก่ง สิ่งกีดขวางตามธรรมชาติที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง ซึ่งอาจใช้งบประมาณถึง 100 ล้านหยวน

ธุรกิจการเดินเรือในแม่น้ำโขง ซึ่งเดิมมีแต่การขนส่งสินค้าเท่านั้นและเป็นเพียงธุรกิจขนาดเล็ก แต่เมื่อโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงให้เป็นเส้นทางคมนาคมที่ใช้การได้อย่างสะดวกเริ่มส่งสัญญาณแห่งความเป็นจริงมากขึ้น ก็มีกลุ่มธุรกิจทั้งของไทยและจีนมองเห็นศักยภาพของธุรกิจการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาแม่น้ำสายนี้

ตามธรรมเนียมการทำธุรกิจในประเทศจีนยกเว้นเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายฝั่งทะเลที่เปิดโอกาสให้ลงทุนได้อย่างเสรีแล้ว กิจการทั้งหมดถือว่าเป็นของรัฐ หากต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนด้วยก็จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐเสียก่อน

สำหรับธุรกิจการเดินเรือในลำน้ำโขงก็เช่นกันถือว่าเป็นกิจการสัมปทานของอำนาจรัฐท้องถิ่นเท่านั้น ช่องทางเดียวที่นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะจากไทยจะเข้าไปขอเอี่ยวด้วย ก็คือการเข้าไปร่วมทุนกับบริษัท หรือหน่วยงานที่เป็นเจ้าของสัมปทานอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทเหล่านี้ต่างก็มีความต้องการหาหุ้นส่วนมา ร่วมทุนอยู่แล้ว เพราะตัวเองนั้นมีแต่สิทธิตามสัมปทานแต่ขาดแคลนทั้งเงินทุนที่จะมาปรับปรุงกิจการและตลาดที่จะมารองรับ

จนถึงวันนี้ กลุ่มทุนไทยที่นับได้ว่าบุกเข้าไปสานสัมพันธ์กับจีนในด้านนี้ได้รุดหน้าไปไกลมากที่สุดก็คือ บริษัทเอ็ม พี. เวิลด์ ของวัฒนา อัศวเหมโดยเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทเดินเรือสิบสองปันนาที่หวังเป็นผู้จัดการอยู่ ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา

"การได้ร่วมทุนกับบริษัทของ "หม่าปู้จัง" ทำให้เราสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เช่น เราคิดจะปรับปรุงบริษัทของเรา แต่ถ้าด้วยทุนของเราเองแล้วนั้นคงมีไม่พอ แต่เมื่อได้ร่วมทุนกับบริษัทของไทยก็จะสามารถทำได้" หวังพูดถึงประโยชน์ที่เขาคาดหวังจากเอ็ม พี เวิลด์ ของ "หม่าปู้จัง" หรือ "รัฐมนตรีแซ่เบ๊"

เอ็ม พี เวิลด์ เป็นหัวหอกของวัฒนาในการเข้าไปทำโครงการธุรกิจในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา โดยผ่านการเจรจากับผู้ว่าการสิบสองปันนา

การขอร่วมทุนในกิจการเดินเรือเป็นหนึ่งในโครงการเหล่านี้ด้วย

บริษัทเดินเรือสิบสองปันนาอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลท้องถิ่นสิบสองปันนา ดังนั้นทางรัฐบาลท้องถิ่นจึงได้เสนอให้บริษัทนี้เข้าร่วมทุนด้วย โดยที่ทางเอ็ม พี. นั้นก็ค่อนข้างพอใจที่ได้ร่วมทุนกับบริษัทนี้ เพราะทุกคนต่างไว้ใจในประวัติ ผลงานและชื่อเสียงของหวัง ต้าหมิง ในเรื่องประสบการณ์ด้านการเดินเรือ ที่ทำให้คนรู้จักบริษัทนี้ในนามของ "บริษัทหวังต้าหมิง"

ไม่มีใครเลยที่เรียกบริษัทนี้ว่าบริษัทเดินเรือสิบสองปันนา

นับเป็นความบังเอิญที่ค่อนข้างได้เปรียบของ เอ็ม. พี.ฯ พอสมควร ทั้งนี้ เพราะไม่เพียงได้ร่วมทุนกับบริษัทของจังหวัด ซึ่งจะเป็นหลักประกันชั้นดีในเรื่องการอำนวยความสะดวกจากฝ่ายรัฐเท่านั้น กิจการเดินเรือแห่งนี้ยังเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในสิบสองปันนาที่มีพนักงานถึง 270 คน ซึ่งยิ่งจะช่วยประกาศศักดาของ เอ็ม.พี. ในสิบสองปันนาเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้นยังเป็นบริษัทเดินเรือที่เก่าแก่ที่สุดคือมีอายุกว่า 40 ปี ดังนั้นความน่าเชื่อถือต่างๆ ที่ลูกค้ามีให้ก็ย่อมจะมีมากกว่าบริษัทอื่น

การให้ความสำคัญต่อธุรกิจเดินเรือขนส่งและท่องเที่ยวในแม่น้ำโขงนั้น ไม่เพียงทำให้เกิดการแข่งกันของนักธุรกิจไทยที่จะเข้าไปจับจองหยิบฉวยโอกาสเท่านั้น ในส่วนของจีนเองก็มีความตื่นตัวในเรื่องนี้อยู่ไม่น้อยเช่นกัน มีบริษัทใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาอีก 2 แห่ง และทั้ง 2 แห่งนี้ก็เช่นเดียวกับบริษัทเดินเรือสิบสองปันนาที่ขาดแคลนเงินทุนในการดำเนินการ จึงต้องแสวงหาผู้ร่วมทุนจากต่างชาติเข้ามาช่วย โดยเฉพาะนักลงทุนจากไทยที่พร้อมอยู่แล้ว

บริษัทเดินเรือท่องเที่ยว และขนส่งสินค้า "ยูนนานหัวหัง" คือ 1 ใน 2 บริษัทใหม่นี้ ตั้งขึ้นมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การเดินเรือในแม่น้ำโขงเริ่มบูมขึ้นมา เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากกระทรวงคมนาคมแห่งมณฑลยูนาน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ ยูนานโทแบคโค ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ร่ำรวยที่สุดของยูนนาน บริษัทหัวหังและกรมขนส่งของยูนนาน โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่คุนหมิง ส่วนที่สิบสองปันนามีฐานะเป็นสาขา

ในสายตาของหวัง ต้าหมิง แห่งบริษัทเดินเรือสิบสองปันนา หัวหังเป็นบริษัทใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์ แต่ "เฉียว ซิน หมิน" รองประธาน และผู้จัดการทั่วไปของยูนนานหัวหังก็เชื่อว่า ถ้าพูดถึงความสามารถในการนำเรือมาใช้ให้เหมาะกับแม่น้ำโขงแล้ว คงไม่มีใครสู้เขาได้แน่ เพราะเขานั้นรู้จักแม่น้ำโขงดี เพราะเคยสำรวจมาตั้งหลายครั้งแล้ว นอกจากนั้นเขายังมีความรู้ในเรื่องของเรือที่จะนำมาใช้เป็นอย่างดี เพราะจบวิชาการต่อเรือมาจากเซินเจิ้นซึ่งได้ถือว่าเป็นแหล่งต่อเรือที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในจีน

หัวหังกำลังแสวงหาหุ้นส่วนเพื่อร่วมทุนเดินเรือในแม่น้ำโขง โดยได้มีการพูดคุยกับเสรี เกิดสมพงษ์แห่งบริษัทล้านช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นพันธมิตรกับกลุ่มบ้านฉางของไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์สานต์

"คุณเสรี ได้มาคุยกับเราแล้ว 2 ครั้งแต่ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เรายินดีจะร่วมทุนถ้าเขาจริงใจและมีความสามารถพอที่จะช่วยเหลือเรา" ผู้จัดการทั่วไปบริษัทเดินเรือท่องเที่ยวและขนส่งสินค้ายูนนานหัวหัง กล่าว

เฉียวกล่าวว่า เขายินดีจะร่วมทุนทางด้านการเดินเรือกับบริษัทใดก็ได้ที่เป็นหนทางไปสู่การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ต้องเริ่มต้นกันด้วยดีและจะต้องพร้อมที่จะให้บริการที่ดี ยิ่งไปกว่านั้นเขาจะยินดีกว่านี้ถ้า "ไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์สานต์" มาคุยกับเขาเอง

แต่กลุ่มที่เขาอยากจะได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนมากที่สุดของ เอ็ม.พี. ถึงกับกล่าวว่า "ถ้าคุณวัฒนามาร่วมทุนกับเรา เราก็จะยินดีมาก"

เฉียวเปรียบเทียบผลดีผลเสียที่กลุ่มของวัฒนาจะได้รับในการได้เข้ามาร่วมทุนกับทางหวังต้าหมิงและบริษัทของตนเองว่า แม้ว่าบริษัทของเขาจะตั้งขึ้นมาได้เพียงไม่กี่ปี ถ้าดูอายุงานแล้วอาจจะสู้บริษัทเรือของหวังต้าหมิงไม่ได้ แต่ปัญหาของบริษัทหวังต้าหมิงก็คือการขาดเทคโนโลยี เรือที่ใช้ก็เป็นเรือคุณภาพต่ำและหวังต้าหมิงเองแม้ว่าจะเป็นกัปตันที่มีฝีมือ แต่ก็ไม่ได้เป็นคนเก่งในเรื่องการบริหาร การได้เข้าไปร่วมทุนกับ เอ็ม.พี.ฯ นั้นอาจเป็นผลดีกับบริษัทของหวังต้าหมิงเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น

นอกจากนั้นเฉียวมองว่าการที่บริษัทหวังต้าหมิงเป็นบริษัทใหญ่ก็เป็นข้อด้อย อีกอย่างหนึ่งคือมีพนักงานมากเกินไปทำให้ต้องเสียเงินมากและที่สำคัญเรื่องเรือของวัฒนาที่ต่อขึ้นมีขนาดใหญ่ถึง 102 ที่นั่งก็นับว่าเป็นข้อด้อยอีกประการหนึ่งเช่นกัน

"เรือของวัฒนาที่ต่อขึ้นมานั้นอาจจะไม่เหมาะสมที่จะใช้ในแม่น้ำโขงนัก เพราะใหญ่เกินไป ถ้าต้องการต่อเรือเพิ่มอาจจะเข้ามาขอคำปรึกษาหรือร่วมมือกับเราก็จะได้ให้คำแนะนำได้ทั้งนี้ เพราะเรามีความเชี่ยวชาญทางด้านการต่อเรือ และมีศักยภาพในการร่วมพัฒนาแม่น้ำโขง" เฉียวกล่าว

ความเชื่อมั่นอีกอย่างหนึ่งที่เฉียวที่ว่าเป็นข้อได้เปรียบ คือเขานั้นมีความถนัดในการขุดลอกเกาะแก่งและเป็นผู้สำรวจและทำแผนที่ร่องน้ำสายนี้ ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ยิ่งทำให้เขามั่นใจว่าคุณภาพของเรือเขาจะยิ่งได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ก็เพราะว่า เมื่อไม่นานมานี้เขาได้ไปเซ็นสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีการต่อเรือมาจาก เซินเจิ้น อันเป็นที่ยอมรับกันว่ามีวิทยาการด้านต่อเรือได้ดีที่สุดในประเทศจีน เพราะฉะนั้นการได้ร่วมทุนกับเขาก็เท่ากับว่าได้ประโยชน์ในเรื่องของการต่อเรือด้วย

ถึงแม้เฉียวจะเชื่อมั่นในจุดแข็งของหัวหัง แต่เขาก็ไม่อาจทำให้คนอื่น ๆ คล้อยตามไปด้วยได้รวมทั้งตัวเสรีเอง ซึ่งดูเหมือนว่าจะเลิกล้มความตั้งใจที่จะร่วมหัวจมท้ายกับหัวหัง หันไปตั้งบริษัท "ล้านช้าง อินเตอร์ดิเวลลอป" โดยร่วมทุนกับ "ติง เหว่ย หมิง"

ในช่วงสำรวจแม่น้ำโขงนั้น เฉียวเป็นหัวหน้าชุดในการสำรวจและทำแผนที่แม่น้ำโขง โดยมีผู้ช่วยคือติงเหว่ยหมิง ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายคมนาคมของยูนนาน ต่อมาในภายหลังได้เกิดการขัดแย้งกันขึ้นกับเฉียว ติงเหว่ยหมิงจึงแยกตัวออกมาตั้งล้านช้างอินเตอร์ดิเวลลอปแทนที่จะร่วมมือกับเฉียว

อย่างไรก็ตาม การร่วมทุนระหว่างเสรี ที่ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารบริษัทล้านช้านฯ นั้น คนในวงการเดินเรือด้วยกันเองได้แสดงความคิดเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "จริง ๆ แล้วคุณเสรีนั้นเป็น ตัวกลางหรือ BROKER ที่พยายามจะดึงให้บ้านฉางกรุ๊ป เข้ามาร่วมด้วย แต่ไม่เคยเห็นว่าคุณไพโรจน์ แห่งบ้านฉางจะพูดอะไรเลย จะเห็นก็มีแต่คุณเสรีพูดเองคนเดียวทั้งนั้น"

ในขณะที่บางคนก็บอกว่าล้านช้างดีเวลลอปเม้นท์ เป็นโครงการของบ้านฉาง กรุ๊ป จริง แต่ตั้งเป็นบริษัทใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มขึ้นมา เพื่อจะได้มีความคล่องตัว ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์

ส่วนบริษัทยูนนานหัวหัง ที่ยังหาผู้ร่วมทุนฝ่ายไทยไม่ได้บังเอิญกิตติศัพท์ความเป็นผู้เชี่ยวชาญเส้นทางในลำน้ำโขงของเฉียวคงไปเข้าหูถนอมศักดิ์ เสรีวิชัยสวัสดิ์ สัตวแพทย์เจ้าของบริษัทแม่สลองทัวร์แห่งเชียงรายเข้า ประกอบกับถนอมศักดิ์ได้เห็นเรือของหัวหังขึ้นล่องอยู่หลายเที่ยว จึงไม่รีรอที่จะคว้าโอกาสสำคัญอันนี้เจรจาร่วมทุนกับหัวหัง แม้จะมีข่าวลือว่าหัวหังกำลังจะล้มก็ตาม

สัญญาร่วมทุนระหว่างหัวหังกับแม่สลองทัวร์ ยังไม่มีความคืบหน้า แต่ทางแม่สลอง ทัวร์ก็ได้ทำสัญญาเป็นผู้แทนที่รับมอบอำนาจ (AUTHORIZED AGENT) ในการจัดทัวร์ไปสิบสองปันนาป้อนให้กับทางหัวหังไปเรียบร้อยแล้ว และมีแผนที่จะต่อเรือเพิ่มอีก 1 ลำหากได้ร่วมทุนกันจริง จากเดิมที่หัวหังมีเรืออยู่แล้ว 3 ลำ

ศึกชิงแม่น้ำโขงของจีนนั้นอาจจะไม่ได้มีเพียงแค่ 3 กลุ่มนี้เท่านั้น แต่ 3 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เด่นที่สุดเพราะได้มีฝ่ายไทยเข้ามามีส่วนร่วมด้วย นอกเหนือจากนี้แล้วก็ยังมีบริษัทเดินเรือ "ซือเหมา" ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการเดินเรือและมีอู่ต่อเรือสินค้าที่ทางจีนเองก็ยอมรับว่ามีสภาพดี และได้เดินเรือค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศคือไทย ลาว และพม่าโดยแม่น้ำสายนี้มานาน และสำหรับตอนนี้ทางซือเหมาเองก็เริ่มหันมาให้ความสนใจที่จะเดินเรือท่องเที่ยวบ้างแล้วเช่นกัน ซึ่งจะกลายเป็นการช่วงชิงโอกาสกันระหว่างซือเหมากับสิบสองปันนา

อย่างไรก็ตามแผนพัฒนาประเทศของจีนนั้นได้วางเอาไว้ว่า จะให้ซื้อเหมานั้นเป็นท่าเรือสินค้า ส่วนสิบสองปันนานั้นจะเป็นท่าเรือท่องเที่ยว เพราะศักยภาพของแต่ละที่นั้นต่างกัน การช่วงชิงการใช้แม่น้ำโขง ยังมิได้ยุติเพียงเท่านี้ เพราะนี่ยังเป็นเพียงบทเริ่มต้นเท่านั้น และหากการเจรจาความร่วมมือการใช้แม่น้ำโขงระหว่าง 4 ประเทศที่จะมีขึ้นอีกครั้งในเดือนสิงหาคมนี้ ลงเอยได้ว่ายินยอมให้มีการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงได้ การปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการใช้ลำน้ำโขงอาจต้องเปลี่ยนไป ศึกชิงลำน้ำโขงที่แท้จริงอาจเพิ่งเริ่มต้นในตอนนั้นได้ และส่วนที่ว่าใครจะได้จับคู่กับใครและเรือจะเดินได้จริงหรือไม่นั้นอาจจะต้องรอดูกันต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us