Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2537
"ช. การช่าง เรียนลัดขึ้นเวทีใหญ่"             
 

 
Charts & Figures

โครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท ช.การช่าง
โครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท บีอีซีแอล หลังการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น


   
www resources

โฮมเพจ ช.การช่าง-CKTC

   
search resources

ช.การช่าง, บมจ.
ยิ้ม ตรีวิศวเวทย์
Construction




ระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่พิสูจน์ตัวเองกับงานก่อสร้างที่อิงอยู่กับกองทัพ วันนี้ก็ได้เวลาที่ ช. การช่างจะก้าวขึ้นสู่ความเป็นบริษัทอินเตอร์กับงานท้าทายชิ้นแรก-การเป็นผู้บริหารโครงการทางด่วนขั้นที่ 2

การตัดสินใจเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัททางด่วนกรุงเทพหรือบีอีซีแอลของบริษัท ช. การช่าง โดยซื้อหุ้นจาก "กูมาไก กูมิ" ผู้ถือหุ้นใหญ่ฝ่ายญี่ปุ่น นับเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งสำคัญของบริษัทก่อสร้างแห่งนี้ จากธุรกิจรับเหมายกระดับขึ้นมาเป็นผู้บริหารโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ จากกิจการแบบครอบครัวที่อาศัยสายสัมพันธ์กับกองทัพเป็นปัจจัยในการสร้างความเติบใหญ่อย่างเงียบ ๆ มาเป็นกิจการระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับผู้คนหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐในนามของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เจ้าของสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ฝ่ายสถาบันการเงินซึ่งเป็นทั้งผู้ร่วมถือหุ้นและเจ้าหนี้ฝ่ายประชาชนผู้ใช้บริการนับล้าน ๆ คน ซึ่งจำต้องมีการบริหารงานแบบ "เปิด" มากขึ้น

"ช. การช่าง" วันนี้จึงก้าวขึ้นสู่เวทีใหญ่อย่างเต็มตัว หลังจากที่ซุ่มเงียบเล่นบทผู้รับเหมางานก่อสร้างมานาน

ชื่อ "ช. การช่าง" เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้วคืออู่ซ่อมรถยนต์แล็ก ๆ แถว ๆ สี่แยกบ้านแขก ฝั่งธนบุรี ของพี่ ๆ น้อง ๆ ตระกูล "ตรีวิศวเวทย์" ที่อพยพมาจากสุพรรณบุรีเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินในเมืองหลวง

พื้นเพเดิมของ "ตรีวิศวเทย์" เป็นคนจีนแซ่ "เตียว" รอนแรมจากแผ่นดินใหญ่มาสร้างตัวบนแผ่นดินสยามกับสารพัดอาชีพไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ หรือเช่าโรงสีรับจ้างสีข้าว แต่ก็ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จ จน 10 พี่น้องซึ่งเป็นชนรุ่นที่ 2 ตัดสินใจบากหน้าสู่เมืองหลวงเมื่อปี 2495 ส่วนพี่ชายคนโตนั้นตัดสินใจเดินทางกลับประเทศจีนพร้อมแม่

ว่ากันว่าการเข้าไปจับธุรกิจอู่ซ่อมรถยนต์นี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตระกูล "ตรีวิศวเวทย์" มีโอกาสเข้าไปสร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มทหารในเวลาต่อมา จากจุดเล็ก ๆ ที่ทหารชั้นผู้น้อยซึ่งอาศัยอยู่ละแวกนั้นนำรถมาซ่อม แล้วก็มีการบอกต่อ ๆ กันไปถึงความมีอัธยาศัยไมตรี จิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของอู่ ช. การช่าง

จากอู่ซ่อมรถยนต์สี่พี่น้องตระกูลตรีวิศวเวทย์คือ ถาวร,ประเสริฐ ยิ้มและปลิว ขยับขยายเข้ามาในธุรกิจก่อสร้าง เพราะมองเห็นว่า งานก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ในช่วงนั้นเริ่มมีมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจรับเหมายังมีอยู่น้อยราย

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. การช่าง จึงเกิดขึ้นแถว ๆ ถนนสุทธิสาร เริ่มจากตึกแถวเพียง 1 คูหาเท่านั้น ซึ่งต่อมา ณ ที่นี้เป็นศูนย์บัญชาการหลักของ ช. การช่างจนถึงทุกวันนี้ งานที่เข้ามาในช่วงแรก ๆ เป็นงานเล็ก ๆ น้อย ๆ มูลค่าเพียงสี่ห้าแสนบาท ส่วนใหญ่เป็นงานซ่อมแซม ต่อเติม วางท่อประปา ไฟฟ้า สร้างรั้ว หรือทำถนน และแหล่งที่มาของงานมากที่สุดคือ หน่วยทหารนั่นเอง

แหล่งข่าวใกล้ชิดกับกลุ่ม ช. การช่างแต่เริ่มแรก พูดถึงบุคลิกของคน ช. การช่างมีความสุภาพนอบน้อม มีศิลปะ และชั้นเชิงในการเข้าพบ ติดต่อทำธุรกิจกับคน ทำให้สามารถมัดใจคนในเครื่องแบบได้ทุกระดับ

"ถาวรซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของตระกูล เป็นผู้เข้าไปสร้างสายสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับกองทัพตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งถาวรก็ค่อย ๆ สร้างสัมพันธ์จากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง จนกระทั่งถาวรเป็นบุคคลไม่กี่คน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันใน จปร. รุ่นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นรุ่น 1 รุ่น 5 รุ่น 7 หรือรุ่น 11 ในเวลาต่อมา และเนื่องด้วยถาวรเป็นตัวหลักที่จะต้องติดต่อกับทหารโดยตรง ซึ่งรู้เบื้องหน้าเบื้องหลังเรื่องต่าง ๆ ได้ค่อนข้างดี ทำให้เขาต้องทำตัวให้โลว์โปรไฟล์มากที่สุดกว่าพี่น้องทุกคน ทำให้โอกาสที่จะได้เห็นถาวรออกงานต่าง ๆ นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย" แหล่งข่าวรายเดิมเล่าให้ฟัง

หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้รับเหมางานก่อสร้างของทหารนั้น จะอาศัยความคุ้นเคยสนิทสนม รู้ฝีมือกันมาก่อนหน้าแล้วว่ามีความสามารถมากน้อยเพียงใด และข้อสำคัญคือเป็นที่ยอมรับได้ของผู้บัญชาการในระดับชั้นต่าง ๆ ด้วย

การที่จะเป็นที่ยอมรับได้นั้น คุณสมบัติข้อหนึ่งก็คือต้องรู้จัก "ให้" แม้ว่าบางครั้งการให้นี้ดูเหมือนจะเป็นภาระที่ค่อนข้างหนัก ก็จำต้องยอมเพื่อเห็นแก่โอกาสในอนาคตต่อไป

งานก่อสร้างชิ้นสำคัญในช่วงทศวรรษแรกของ ช. การช่างที่รับจากกองทัพคือ งานก่อสร้างโรงเรียนนายร้อย จปร. ที่เขาชะโงก จังหวัดนครนายกในปี 2526 มีมูลค่าก่อสร้างสูงถึง 2,600 ล้านบาท ซึ่งงานนี้ถือว่าเป็นงานที่รู้กันทั่ววงการว่าเป็นงาน "คุณขอมา" ที่ ช. การช่างรับมาอย่างจำใจเนื่องจากงานนี้เป็นงานค่อนข้างใหญ่มาก เมื่อเปรียบกับงบประมาณที่ให้มาแล้ว โอกาสที่ "เจ็บตัว" จากงานนี้จะมีสูงเป็นเงาตามตัวด้วย

ซึ่งก็เป็นไปตามคาด เพราะจากงานนี้เองที่ทำให้ ช. การช่างต้องเจ็บตัวไปพอสมควรเพราะนอกจากต้องขาดทุนเพราะการก่อสร้างที่ล่าช้าและไม่สามารถเรียกค่าเสียหายจากเจ้าของมากนัก เพราะความคิดที่หวังจะรักษาน้ำใจกับกองทัพไม่อยากจะให้กระทบกระเทือนจิตใจมากนักนี่เองที่ทำให้ ช. การช่างต้องกล้ำกลืนฝืนทนแบกรับภาระขาดทุนเอาไว้

ผู้ใกล้ชิดกับ ช. การช่างอีกรายหนึ่งเปิดเผยด้วยว่า นอกจากงานโรงเรียนนายร้อย จปร. งานของกองทัพบกอีกชิ้นหนึ่งก็สร้างความผิดหวังให้กับ ช. การช่างเช่นเดียวกัน นั่น คือ อาคารผู้ป่วยของโรงพยาบาลทหารแห่งหนึ่ง ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คนใกล้ชิดของอดีตนายทหารระดับสูงแห่งกองทัพบกคนหนึ่ง

แม้ว่างานนี้จะไม่ยากแก่การก่อสร้างก็ตาม เนื่องจากเป็นงานก่อสร้างอาคารธรรมดาแต่ ช. การช่างก็จำต้องเจอกับงาน "กล่อง" เข้าไปอีกงานหนึ่ง เนื่องด้วยงบประมาณในการก่อสร้างตั้งมาจำกัดมาก ทำให้ ช. การช่างต้องควักเนื้ออีกครั้งหนึ่ง

นอกเหนือจากงานกองทัพบกแล้ว ช. การช่างก็เริ่มหันเหทิศทางไปจับงานกองทัพอากาศบ้างเช่นร่วมงานกับบริษัทขจรยุทธ์ซึ่งมีความสัมพันธ์กับทหาร ในการก่อสร้างอาคารแปดแฉกของกองทัพอากาศ นอกจากนั้นในปี 2529 ทาง ช. การช่างก็ได้เข้าไปรับงานใหญ่คือ การก่อสร้างโรงเก็บเครื่องบิน เอฟ-16 และศูนย์บัญชาการรบมูลค่า 400 ล้านบาท นอกจากนั้นยังได้งานก่อสร้างอาคารคุ้มเกล้าที่โรงพยาบาลภูเก็ตอีกด้วย

งานในเครือข่ายทหารอากาศที่ ช. การช่างรับในเวลาต่อมาคือ งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคารคลังสินค้าและลานจอดรถมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท และล่าสุดคือเมื่อปี 2534 ที่ผ่านมาก็ได้เข้าร่วมทุนกับบริษัทหลุยส์ เบอร์เจอร์ของอเมริกาทากรศึกษาแผนแม่บทสนามบินหนองงูเห่า

แต่ใช่ว่า ช. การช่างจะหากินกับโครงการก่อสร้างของกองทัพเพียงอย่างเดียว ในปี 2524 ช. การช่างได้ร่วมทุนกับบริษัทโตคิว คอนสตรัคชั่นจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างชั้นนแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ตั้งบริษัท ช. การช่าง-โตคิวขึ้นมาเมื่อปี 2524

ยิ้ม ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการของบริษัท ช. การช่าง เปิดเผยว่า กับ บริษัทโตคิวนั้น ทาง ช.การช่างมีความสนิทสนมมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว เพราะหลังจากที่น้องชายคือปลิวได้ไปศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้สานสัมพันธ์กับทางโตคิวมาตลอดเวลาทางโตคิวก็ได้เคยส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาหาลู่ทางลงร่วมลงกับค่ายรับเหมาไทยหลายครั้งแล้วเช่นกัน จนกระทั่งเจรจากับทาง ช. การช่างสำเร็จ และได้ก่อตั้งบริษัท ช. การช่าง-โตคิวคอนสตรัคชั่น จำกัด ขึ้นเมื่อปี 2524 โดยมีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท โดยทาง ช. การช่าง ถือหุ้น 55% และฝ่ายโตคิวถือหุ้น 45%

"เราภูมิใจในการร่วมลงทุนกับโตคิวเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้ ช. การช่างได้รับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีสูงได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานก่อสร้างของไทยที่ใช้เงินกู้จากประเทศญี่ปุ่น การร่วมลงทุนของเรากับโตคิวถือเป็นครั้งแรกของไทย ที่เป็นการร่วมทุนของฝ่ายไทย 55% และฝ่ายญี่ปุ่น 45% อย่างแท้จริงโดยสัดส่วนนี้เป็นสัดส่วนจริง ซึ่งมีมาตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนี้" ยิ้มกล่าว

ในช่วงแรกของการเข้ามาร่วมลงทุนของโตคิวกับ ช. การช่างนั้น งานที่ทำร่วมกันก็มีเช่น โครงการก่อสร้างท่าเรือที่ภูเก็ต ห้างสรรพสินค้าโตคิวในมาบุญครองเซ็นเตอร์ โครงการสวนสาธารณะในโครงการทางด่วนขั้นที่ 1 บริเวณใต้สะพานแขวน ฝั่งพระนครในพื้นที่ 20 ไร่ และฝั่งธนบุรี 30 ไร่ นอกจากนั้นยังมีการร่วมกันพัฒนาที่ดินทำสนามกอล์ฟบริเวณถนนพหลโยธิน กม. 23 แถบบางปะอินด้วย

สายสัมพันธ์ที่มีกับโตคิวและความคุ้นเคยกับทางญี่ปุ่นของปลิว น้องชายคนที่ 7 ของตระกูลในระหว่างที่ไปศึกษาต่อที่นั่นคือข้อต่อสำคัญที่นำพาให้ ช. การช่างเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 โดยในขั้นแรกนั้น ช. การช่างและโตคิวได้เข้าไปร่วมรับงานในฐานะผู้รับเหมาช่วง (SUB-CONTRACTOR) จากบริษัททางด่วนกรุงเทพหรือบีอีซีแอล และยังเข้าไปร่วมถือหุ้นอยู่ประมาณ 30% ด้วย โดยมีกูมาไก กูมิ ยักษ์ใหญ่ด้านการก่อสร้างจากญี่ปุ่นถือหุ้นใหญ่ 65%

กรณีพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยและบีอีซีแอล ในเดือนตุลาคม 2536 ที่ผ่านมาเป็นเสมือนเชื้อไฟที่ทำให้ความเชื่อมั่นที่จะให้บริษัทผู้รับสัมปทานจากญี่ปุ่นเช่นกูมาไก เข้ามาร่วมทำงานกับคนไทยดูคลอนแคลนไปเป็นอย่างมาก ประจวบเหมาะกับบริษัทกูมาไก กูมิซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นก็ประสบปัญหาทางด้านการดำเนินการ จนได้มีการประกาศขายหุ้นในบริษัททางด่วนกรุงเทพฯ หรือบีอีซีแอลซึ่งมีอยู่ 65% ให้กับนักลงทุนที่สนใจ

ช. การช่างเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการเจรจาซื้อขายหุ้นจากกูมาไก กูมิ ส่วนหนึ่งก็โดยการผลักดันของกลุ่มธนาคารไทยซึ่งเป็นทั้งเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นของบีอีซีแอลด้วย เพราะหากปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังอยู่ ก็จะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสถาบันการเงินเหล่านี้

ในส่วนของ ช. การช่างเองนั้น การเข้าไปร่วมถือหุ้น และเป็นผู้รับเหมาการสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 เป็นส่วนได้เสียที่ยากจะถอนตัวออกมาโดยไม่เกิดผลเสียหาย ที่สำคัญที่สุด นี่คือโอกาสสำคัญที่จะยกระดับตัวเองจากผู้รับเหมาขึ้นไปเป็นผู้บริหารโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของชาติแบบเรียนลัด

ช. การช่างโดยปลิว ได้รับมอบหมายจากกลุ่มเจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยให้เป็นผู้เจรจาในเรื่องการซื้อขายหุ้นจากกูมาไกกูมิ เพราะเป็นคนเดียวที่รู้เรื่องดีที่สุด

"บีอีซีแอล ติดหนี้ผู้รับเหมาก่อสร้างอยู่ถึง 22 ราย เป็นเงินเท่าไรไม่รู้ เขาไม่ยอมบอกเรา ผู้รับเหมา 22 รายเป็นใครบ้างเราก็ไม่รู้ แต่คุณปลิวเขาทราบดี" แหล่งข่าวซึ่งเป็นที่ปรึกษาในการเจรจากับทางกูมาไก กูมิเปิดเผยถึงตัวอย่างหนึ่งของปัญหาที่จำต้องอาศัย ช. การช่างเข้ามาช่วยแก้ไข

ทางกูมาไก กูมินั้นมีจุดยืนในการขายหุ้นครั้งนี้ว่า ตัวเองอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของบีอีซีแอลไม่ได้มีข้อผูกพันโดยตรงใด ๆ กับคู่สัญญาคือการทางพิเศษ และผู้รับเหมาทั้งหมด เป็นหน้าที่ของบีอีซีแอล ภายใต้การบริหารงานของผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่จะต้องแก้ไขเอง

"ทางญี่ปุ่นเขามีเงื่อนไขว่า ถ้าออกไปแล้วจะไม่รับผิดชอบอะไรเลย บริษัทมีสินทรัพย์ มีหนี้สินอยู่เท่าไรไม่รู้ เราต้องไปหาเอาเอง ทางด่วนที่สร้างไปแล้วถ้าหากร้าวหรือมีปัญหา เขาไม่รับผิดชอบคนที่มาใหม่ต้องรับซ่อมให้" แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวถึงความ "หิน" ของกูมาไก กูมิ

ปัญหาข้อสำคัญคือ เรื่องราคาหุ้นที่ทางกูมาไก กูมิตั้งไว้สูงถึง 63 บาทต่อหุ้น รวมแล้วเป็นมูลค่าที่ผู้ซื้อต้องจ่ายประมาณ 3,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเจรจาซื้อขายหุ้นครั้งนี้ต้องยืดเยื้อยาวนานถึง 4 เดือนเต็ม เพราะว่าทางผู้ซื้อฝ่ายไทยเห็นว่าแพงเกินไป และทางกูมาไก กูมิ ก็ไม่ยอมรับผิดชอบต่อหนี้สินที่มีอยู่ จะขอรับเงินอย่างเดียว

ทาง ช. การช่างและกลุ่มสถาบันการเงิน โดยคำแนะนำของที่ปรึกษาในการเจรจาแก้ลำด้วยการเสนอราคาหุ้นเป็นเงินก้อนหนึ่ง ในจำนวนที่คงที่ แล้วบวกด้วยส่วนแบ่งรายได้ที่คาดว่า รวมทั้งค่าเสียหายจากกรณีพิพาทที่เป็นความกันอยู่หักด้วยหนี้สิน และค่าเสียหายที่อาจจะต้องเกิดขึ้น โดยให้ทางกูมาไก กูมิรับเงินก้อนจำนวนคงที่นั้นไปก่อน ส่วนที่จะบวกหรือหักนั้นจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเจรจากับทางเจ้าหนี้ หรือรอให้คดีที่มีกับการทางฯ ยุติลงเสียก่อน จึงจะได้รับเป็นตัวเงิน

"เรารู้อยู่แล้วว่า เขารับไม่ได้ เพราะเขาต้องการเผ่น เก็บของกลับบ้านแล้วไปเลย แต่ถ้าใช้วิธีการของเรา จะต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี ต้องฟ้องร้องกับการทางพิเศษฯ ซึ่งเขารอไม่ได้" แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อเจอไม้นี้เข้า กูมาไก กูมิก็ต้องถอยกลับไปตั้งหลักใหม่ มีการเจรจากันหลายรอบที่ญี่ปุ่น ผู้ที่เป็นตัวหลักก็คือปลิว ซึ่งอาศัยความเป็นนักเรียนญี่ปุ่นที่รู้ซึ้งถึงวัฒนธรรมในการเจรจาต่อรองเป็นอย่างดีว่า จะต้องไม่ทำให้ฝ่ายกูมาไก กูมิเสียหน้าใช้วิธีคุยกันเงียบ ๆ ให้รู้เรื่องนอกโต๊ะประชุม เสร็จแล้วก็ไปกินน้ำชา ตีกอล์ฟด้วยกัน

"คุณปลิวชำนาญเพราะจบจากญี่ปุ่น ถ้าเป็นฝรั่งไปคุยก็ไม่รู้เรื่อง คนไทยไปคุยก็งง"

ในที่สุดราคาที่กูมาไก กูมิตั้งไว้หุ้นละ 63 บาทก็ลดลงมาเหลือเพียง 13 บาท ซึ่งเป็นราคาพาร์บวกด้วยดอกเบี้ย

ยิ้ม กรรมการผู้จัดการของ ช. การช่าง เปิดเผยว่า "เราใช้การเจรจาแบบกันเอง โอนอ่อน และนอบน้อม ซึ่งเป็นสไตล์การทำงานของพี่น้องเรา ทำให้กูมาไกฯ ใจอ่อน ยอมตามข้อเสนอของเราเท่านั้นท่านรองนายกอำนวยที่ไปด้วยกับเรานั้น ก็ไปในฐานะผู้ใหญ่ฝ่ายเรา ท่านไม่ได้เข้าร่วมเจรจาแต่อย่างใด"

หุ้น 65% ที่ซื้อมาจากกูมาไก กูมิ สถาบันการเงินที่ถือหุ้นอยู่ก่อนแล้วและเป็นเจ้าหนี้ของบีอีซีแอลด้วยได้แบ่งกันรับซื้อไว้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของตัวเอง เช่นแบงก์กรุงเทพฯที่ขอเข้าไปถือหุ้นร่วมกับบริษัทในเครือเช่นบริษัทหลักทรัพย์เอเชียสูงถึง 18% จากเดิมที่ถือหุ้นไว้เพียง 9.5% เท่านั้น

ธนาคารผู้ถือหุ้นเดิมรายอื่นอย่างธนาคารกรุงไทย ขอเพิ่มการถือหุ้นเพิ่มเป็น 7% จากเดิมที่ถืออยู่เพียง 3.5% เท่านั้น แบงก์ทหารไทยถือหุ้นเพิ่มเป็น 8% จากเดิม 3.5% ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ก็ถือเพิ่มเป็น 5% จากเดิมเพียง 3% เท่านั้น ส่วนแบงก์เอเชีย ก็ขอถือหุ้นเพิ่มเป็น 4.75% จากเดิม 2.5% นอกจากนั้นแล้ว ก็ได้มีการแบ่งสัดส่วนการลงทุนให้กับธนาคารขนาดเล็ก ซึ่งแต่เดิมไม่ได้ลงทุน เป็นเพียงสถาบันการเงินที่สนับสนุนเงินกู้เท่านั้น คือธนาคารนครธน, มหานคร, ศรีนคร, กรุงเทพฯ พาณิชยการ,มหานคร, และนครหลวงไทย ในสัดส่วน 5%

สรุปแล้ว กลุ่มธนาคารพาณิชย์กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบีอีซีแอล 65% ที่เหลืออีก 35% เป็นของ ช. การช่างซึ่งไปดึงเอาพันธมิตรอื่น ๆ อย่างเช่น สวัสดิ์ หอรุ่งเรืองมาร่วมด้วย

แหล่งข่าวที่ปรึกษาของ ช. การช่างเปิดเผยถึงเหตุผลที่ธนาคาร ให้ความสนใจเข้าไปถือหุ้นต่อจากกูมาไกฯ กันมากนั้น เป็นเพราะผลประกอบการของทางด่วนขั้นที่ 2 หรือเงินรายได้จากการเก็บค่าผ่านทาง ภายหลังจากการแบ่งรายได้ให้กับการทางฯ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะเป็นจำนวนสูงถึง 1.3 แสนล้านบาททีเดียว

นอกจากนั้นแล้ว กระบวนการที่จะได้มาซึ่งเงินรายได้ดังกล่าวนั้น ก็อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้เนื่องจากปัญหากรณีพิพาทระหว่างการทางฯ กับทางกูมาไกฯ ในอดีต ก็ได้มีการแก้ไขให้ลุล่วงไปจนหมดแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโอนอ่อนผ่อนตามเงื่อนไขของการทางฯ ที่จะต้องให้พนักงานของการทางฯ เป็นผู้รับหน้าที่เก็บเงินเองนั้น ได้สร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินเป็นอย่างมากว่า ในอนาคตไม่น่าจะเกิดกรณีพิพาทด้านการเงินอีกต่อไป

ปัญหาพิพาทระหว่างการทางฯ กับกูมาไกฯ ในอดีต ที่ต่างฝ่ายต่างยื่นฟ้องศาลอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำผิดสัญญา ก็ได้มีการตกลงกันที่จะให้มีการยอมความกันเรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้นแล้วยังได้มีการแก้ไขปัญหาซึ่งอาจจะมีขึ้นในอนาคตขึ้นมาอีก โดยเมื่อเกิดกรณีพิพาทใด ๆ ขึ้นในอนาคตหากยังไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ

ปัญหาที่อาจจะหนักใจสำหรับธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่ให้เป็นผู้ถือหุ้น และให้กู้งานทางด่วนขั้นที่ 2 นี้อยู่บ้างก็คงไม่พ้นปัญหาการก่อสร้างพื้นที่ส่วน C และ D หรือ "ปัญหาชุมชนบ้านครัว" นั่นเอง

จนถึงขณะนี้ได้มีการ "ซื้อเวลา" โดยเลื่อนการตัดสินใจกรณีชุมชนบ้านครัวออกไปเป็นเดือนตุลาคม 2537 ที่จะถึงนี้ ซึ่งแม้ว่าทางฝ่ายการทางฯ จะยังคงยืนยันว่า เส้นทางสาย C,D ที่ผ่านชุมชนบ้านครัวนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรได้อย่างแน่นอน ในขณะที่ฝ่ายชุมชนบ้านครัวก็ยังคงยืนตามมติคณะกรรมการไต่สวนสาธารณะว่าเส้นทางนี้ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาจราจรแต่อย่างใด แต่การก่อสร้างเส้นทางหลักของทางด่วนขั้นที่ 2 ก็ยังดำเนินต่อไปโดยมีกำหนดเสร็จตามกำหนด2 ปีอย่างแน่นอน ซึ่งหากไม่ได้มีการก่อสร้างเส้นทางสาย C,D ก็ไม่ได้เกิดผลกระทบต่อโครงการนี้มากนัก

การเข้ามาดำเนินการอย่างเต็มตัวของ "ช. การช่าง" เป็นอีกหนึ่งความมั่นใจของสถาบันการเงินที่มีต่อโครงการนี้

ที่แล้วมา สถาบันการเงินที่ร่วมสนับสนุนบีอีซีแอลมา อาจจะไม่เคยรู้จักเลยว่า ช. การช่างเป็นใครมาจากไหน แต่มา ณ วันนี้ สถาบันการเงินทั้งหลายเหล่านั้น กลับยกย่องให้ "ปลิว ตรีวิศวเวทย์" จากบริษัทรับเหมาที่เขาไม่เคยรู้จักเลย ขึ้นมาเป็นประธานกรรมการของบีอีซีแอลและคุมเงินกู้ทั้งสิ้นกว่า 11,000 ล้านบาทนั้น

ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่นอน

เหตุผลประการสำคัญที่กลุ่มแบงก์จำต้องให้ ช. การช่างเข้ามาเป็นแกนนำหลักในการบริหารบีอีซีแอลในครั้งนี้ แม้ว่าทางฝ่าย ช. การช่างจะถือหุ้นน้อยกว่าก็ตามนั้น เพราะความถนัดจัดเจนในเรื่องงานก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่นี้ แม้ว่าทางสถาบันการเงิน อาจจะไปไขว่คว้าหาผู้เชี่ยวชาญจากที่อื่นมาได้ แต่ก็คงไม่รู้ และจัดเจนงานเท่ากับผู้ที่เคยทำงานนั้นมากับมือแล้วอย่างเช่น ช. การช่าง

นอกจากนั้น สไตล์การทำงานของกลุ่ม ช. การช่างที่เน้นการสร้างสายสัมพันธ์ มากกว่าการตัดสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างเช่นกูมาไก กูมิ เป็นสิ่งที่รับประกันได้ถึงการประสานงานร่วมกันระหว่างแบงก์กับบีอีซีแอลในอนาคตคงเป็นไปได้ดีอย่างแน่นอน

"ข้อสำคัญที่เราต้องยอมยกให้ ช. การช่างเขาคือเขาค่อนข้างมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้บริหารระดับสูงของการทางพิเศษ ทำให้เบาใจไปได้ว่า ปัญหาการประสานงานระหว่างเขากับคนของการทางฯ คงเป็นได้ดีด้วย" แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินรายหนึ่งที่สนับสนุนบีอีซีแอลให้ความคิดเห็น

แต่เมื่อมองในมุมกลับกัน ความไว้วางใจจากกลุ่ม ช. การช่างต่อกลุ่มแบงก์ที่หนุนหลังอยู่นั้นจะมีมากน้อยเพียงใด

ซึ่งดูจะเป็นวิสัยของเจ้าของเงินโดยเฉพาะธนาคาร ที่จะต้องปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองให้แน่นเหนียวที่สุด ดังนั้นเมื่อมีหนทางใดที่หรือมีการเปิดช่องที่ทำให้ธนาคารสามารถเป็นต่อในการเข้าไปคุมเงินของตนได้อย่างเต็มที่แล้ว ธนาคารหรือสถาบันการเงินก็จะไม่รีรอที่จะฉกฉวยโอกาสนั้นทันที

เช่นเดียวกับกรณีของการเข้ามาร่วมถือหุ้นของบีอีซีแอลในครั้งนี้ การยอมให้กลุ่ม ช. การช่างซึ่งถือเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยของบริษัท โดยถือเพียง 35% เข้ามามีอำนาจมากที่สุดในการกุมบังเหียนของบีอีซีแอลในครั้งนี้

มีหรือที่สถาบันการเงินหรือธนาคารเหล่านั้นจะยอมให้เป็นเช่นนั้น โดยทางสถาบันการเงินไม่มีมาตรการป้องกันภัย หรือสร้างความได้เปรียบของตัวเอง

ดังนั้นเมื่อสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ในข้อม 23.2 และ 23.3 ระหว่างการทางฯ และบีอีซีแอล ได้เปิดช่องให้สามารถมีบุคคลที่สามที่พร้อมจะเข้ามาสวมรอยแทนได้หากเกิดมีปัญหาว่า ผู้รับสัมปทานไปแล้วไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่สัญญาไว้แล้ว ทางธนาคารรายใหญ่ผู้ถือหุ้นบีอีซีแอลอยู่คือ ธนาคารกรุงเทพ, ทหารไทย, ไทยพาณิชย์และกรุงไทยก็ได้เริ่มเดินเกมส์ด้วยการอาศัยช่องว่างนี้ ตั้งบริษัท "DESIGEE FOR ETA CONTRACT Co Ltd." ขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ซึ่งบริษัท เดซิกนีฯ นี้เป็นเสมือนวิญญาณที่แบงก์ทั้งหลายปลุกขึ้นมาจากหลุมเพราะกลุ่มแบงก์ทั้ง 4 ได้จับเอาบริษัทโนเนมที่ชื่อว่า "เอ็นพีเอ็ม(ประเทศไทย) จำกัด" มาแปลงโฉมเสียใหม่ในชื่อ เดซิกนีฯ เมื่อต้นปี 2532 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทนี้ต่างมีระดับบริหารชั้นสูงจากแบงก์ทั้ง 4 เข้าร่วมเป็นกรรมการ เช่น ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ ที่เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของแบงก์ทหารไทยในขณะนั้น นอกจากนั้นยังมีทนง พิทยะ, อนุตร์ อัศวานนท์ ซึ่งทั้ง 2 ต่างก็เคยอยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของแบงก์ทหารไทยต่างกรรมต่างวาระมาแล้วเช่นกัน

การก่อตั้งของเดซิกนีในตอนแรกนั้นเกิดขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 100,000 บาทเท่านั้น และชำระไปแล้วเพียง 25,000 บาทเท่านั้น งบกำไรขาดทุนเมื่อสิ้นปี 2536 ติดลบอยู่ 29,400 บาท ไม่มีรายได้หมุนเวียนแม้แต่แดงเดียว ในขณะที่มีทรัพย์สินหมุนเวียนอยู่เพียง 1,600 บาทเท่านั้น ในช่วงแรกเดซิกนีวางขอบข่ายธุรกิจของตนไว้ให้เป็น "ธุรกิจจัดหาเช่าซื้อทรัพย์สิน"

แหล่งข่าวที่ปรึกษาของ ช. การช่างเปิดเผยว่าวิธีการของแบงก์ที่กระทำในครั้งนี้ ถือว่าเป็นมาตรการปกติสำหรับงานก่อสร้างสัมปทานรายใหญ่เกือบทุกแห่ง ที่สถาบันการเงินผู้ให้กู้จะต้องตัวแทนที่จะคอยดูแลผลประโยชน์ของตัวเองขึ้นมา ซึ่งพร้อมจะยกฐานะของตนขึ้นเป็นบริษัทผู้พร้อมจะสวมรอยเข้ารับหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานแทนได้ทันที หากผู้รับสัมปทานเกิดติดขัดปัญหาด้านใดก็ตาม

"จะสังเกตได้ว่า งานก่อสร้างสัมปทานรายใหญ่ทั้งในยุโรป อเมริกา เขาจะต้องมีบริษัทอย่างเดซิกนีไว้เสมอ ซึ่งบริษัทประเภทนี้จะเป็น "บริษัทเงา" ที่จะต้องมีการวางตำแหน่ง และมีบุคลากรทุกระดับเหมือนกับบริษัทผู้รับสัมปทาน ไม่ว่าจะเป็นกรรมการผู้จัดการ วิศวกรผู้คุมงานที่ทางแบงก์สามารถดึงมาจากบริษัทอื่นที่พร้อมจะดำเนินการได้ตลอดเวลา"

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์เข้าไปถึงแผนการของกลุ่มแบงก์ที่เริ่ม "เขียนเสือให้วัวกลัว" ด้วยการตั้งเดซิกนีฯขึ้นมา โดยการจัดตั้งให้ ช. การช่างเป็นเสมือนหน้าฉากเข้ามาเป็น "แพะรับบาป" นับแต่แรกที่เข้าไปเจรจาขอซื้อหุ้นจากกูมาไกจนสำเร็จ จนกระทั่งการมองหาจุดอ่อนในสัญญาสัมปทาน เพื่อให้ตนมีความได้เปรียบต่อโครงการนี้นั้น แม้ว่าในช่วงหลังทางเดซิกนีจะได้มีการออกมาแก้ตัวว่า ทางสถาบันการเงินหวังจะที่แก้ไขในจุดนี้ให้รัดกุมขึ้นเท่านั้นไม่ได้มุ่งหวังจะฮุบกิจการแต่อย่างใด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ธนาคารจะเข้าไปทำกิจการด้านการก่อสร้างเนื่องจากไม่มีความรู้ความชำนาญเพียงพอ

แต่ปฏิบัติการของกลุ่มแบงก์เช่นนี้ ย่อมไม่หยุดไว้ที่ไม้แรกเท่านั้น

เพราะผลจากการหยั่งเชิงของกลุ่มเบงก์ด้วยการตีขนดหางกลุ่ม ช. การช่างเช่นนี้ นอกจากจะช่วยเสริมภาพพจน์ความเป็นธรรมให้กับกลุ่มแบงก์ในอนาคตได้เป็นอย่างมาก หากเกิดวิกฤตในอนาคตและจำเป็นที่กลุ่มแบงก์จะต้องลงมานั่งแป้นกุมบังเหียนเองแล้วเพราะเป็นเจ้าหุ้นส่วนมากกว่า ก็จะได้นั่งด้วยความยอมรับจากทุกฝ่ายแล้ว ก็เป็นการตอกย้ำให้สาธารณะชนได้ทราบถึงสถานะที่แท้จริงของ ช. การช่าง ในขณะนี้ว่าเพียงผู้ถือหุ้นส่วนน้อยที่ได้รับการเปิดโอกาสจากรายใหญ่ให้เข้ามาถือหุ้นเท่านั้น

แหล่งข่าวในวงสัมปทานก่อสร้างรายใหญ่คาดการณ์ว่า ทางกลุ่มแบงก์คงจะให้เวลาแก่ ช. การช่างพิสูจน์ฝีมือสัก 6 เดือน ซึ่งหาก ช. การช่างเพลี่ยงพล้ำลงไปในจุดใด หรือกลุ่มแบงก์สามารถค้นหาช่องว่างอื่น ๆ ได้อีกในอนาคต ที่จะนำมาซึ่งความเป็นธรรมแก่ตนเองได้มากขึ้นในการเข้าไปกุมบังเหียนบีอีซีแอลได้อย่างง่ายดายขึ้นแล้ว ทางกลุ่มแบงก์ก็พร้อมจะเข้าไป "เสียบ" ทันที

"ทางกลุ่มแบงก์เขาคงเตรียมพร้อมที่จะดึงบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่ความสามารถของวงการรายอื่น และที่สำคัญคือเข้าขากับกลุ่มแบงก์ได้ดีกว่า ช. การช่างมาสวมรอยแทนได้ทันที หาก ช. การช่างตกเข้าไปอยู่ในเกมส์ของกลุ่มแบงก์ได้ลึกกว่านี้"

ทางกลุ่ม ช. การช่างเองนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะมองเกมส์นี้ไม่ออกแต่อย่างใด แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดกับ ช. การช่างเปิดเผยว่า ทาง ช. การช่างจะพยายามทำงานครั้งนี้ให้ดีที่สุดเพื่อเป็นเครดิตในการรับงานต่อไปรวมทั้งเป็นภาพพจน์ที่ดีก่อนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วย

โดยจะสังเกตได้ว่า ช. การช่างไม่มีการออกมาเจรจาโต้ตอบการกระทำของกลุ่มแบงก์แต่อย่างใด โดยจะคอยซุ่มเงียบ และคอยวิเคราะห์พฤติกรรมของกลุ่มแบงก์ในช่วงต่อไปจะเป็นเช่นไร โดยอาศัยที่ปรึกษาด้านกฎหมายผู้เชี่ยวชาญอย่าง อธึก อัศวานันท์ แห่งเบเกอร์ แมคแคนซี่ผู้คร่ำหวอดเรื่องการเงินและการเจรจาระหว่างประเทศมาเป็นกุนซือใหญ่ในเรื่องนี้

"ตอนนี้เราไม่มีมาตรการตั้งรับแต่อย่างใดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะงานที่ต้องเร่งดำเนินการทางด่วนขั้นที่ 2 ให้เร็วที่สุดนั้นก็หนักพอสมควรอยู่แล้ว ซึ่งหากเขาจะเล่นเกมส์กับเราจริง เราก็คงได้แต่ระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เป็นที่เปิดเผยของแหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดกับ ช. การช่างว่า ทางกลุ่มได้เตรียมพร้อมจะดึงสถาบันการเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะจากญี่ปุ่นเข้ามาสวมรอยแทนได้เช่นกัน หากลุ่มแบงก์ของไทยจะเล่นแง่ต่อไปในอนาคต

การก้าวขึ้นมา ช. การช่าง ที่จะได้รับผลประโยชน์ประการสำคัญกับการรับบริหารงานใหญ่เช่นทางด่วนขั้นที่ 2 นี้ นอกจากผลประโยชน์ด้านชื่อเสียงและเครดิตเพื่อไปรับงานประเภท MEGAPROJECT ที่ ช. การช่างตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะรับอย่างเต็มที่ในช่วงต่อไปแล้ว การเข้ามาร่วมบริหารบริษัททางด่วนกรุงเทพฯ ที่มีมูลค่าดำเนินการกว่า 3 หมื่นล้านบาทนี้ ก็ทำให้ ช. การช่างสามารถ "เรียนลัด" ที่จะผลักดันบริษัทที่ตัวเองมีส่วนถือหุ้นอยู่ด้วยให้เข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว

โดยตามแผนการนั้น ทาง ช. การช่างได้ว่าจ้างให้ บงล. นวธนกิจ บ.ล. เอเชีย และบริษัทสยามวานิชธุรกิจ ร่วมเป็นผู้ศึกษาในการนำบีอีซีแอล เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จากวิธีนี้เอง ก็จะทำให้ ช. การช่างมีรายได้จากการกระจายหุ้นอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้เป็นเงินค่าก่อสร้างในเฟส บีของทางด่วนขั้นที่ 2 ได้โดยไม่ต้องอาศัยเงินกู้จากสถาบันการเงินเลย

การผลักดันบีอีซีแอลให้เข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นี้ ถือเป็นก้าวแรกของ ช. การช่างที่หวังจะสร้างชื่อของตัวเองให้เป็นที่รู้จักกันวงกว้างก่อนหน้าที่จะผลักดันบริษัทแม่คือ ช. การช่าง เข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงต่อไป

"เราขอเวลาอีกประมาณ 2-3 ปีเท่านั้น ให้เราสามารถรับงานขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณกว่าหมื่นล้านได้สัก 3-4 โครงการเท่านั้น เราก็เชื่อมั่นว่าเราจะสามารถผลักดันบริษัทแม่คือ ช. การช่างให้เข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อย่างแน่นอน"

ผลประโยชน์ที่ ช. การช่างได้เข้าไปรับงานใหญ่ชิ้นแรกนี้ ยังทำให้ ช. การช่างสามารถขอสิทธิในการใช้พื้นที่ใต้เขตทางด่วนขั้นที่ 2 ทั้งหมด ซึ่งมีพื้นที่ถึง 2,000 ไร่ มูลค่าที่ดินประมาณ 80,000 ล้านบาท (คิดจากค่าที่ดินเฉลี่ยตารางวาละ 100,000 บาท) ซึ่งแน่นอนว่า ช. การช่างได้เตรียมโครงการที่จะใช้พื้นที่ส่วนนี้ให้เป็นประโยชน์อยู่แล้ว

แผนหนึ่งที่ ช. การช่างได้เสนอตัวเข้าไปรับทำแล้วคือ รถไฟฟ้าใต้ทางด่วน ซึ่ง สุขวิช รังสิตพล ผู้ว่าการทางพิเศษฯ คนปัจจุบันได้เสนอเส้นทางรถไฟฟ้าให้กลุ่ม ช. การช่างได้เข้าไปก่อสร้างถึง 3 แนวทาง 1. สายพระราม 4-คลองเตย-ดาวคะนอง ซึ่งเป็นเขตทางของทางด่วนขั้นที่ 1 ระยะทาง 11.9 ก.ม. 2.สายแจ้งวัฒนะบางซื่อใช้พื้นที่เขตทางด่วนขั้นที่ 2 ระยะทาง 13 ก.ม. และ 3. คือเส้นทางเอกมัย-รามอินทรา-อาจณรงค์ ระยะทาง 13.1 ก.ม.ซึ่งระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณา ของการทางพิเศษ

เหนือสิ่งอื่นใด ในภาวะการตื่นตัวเกี่ยวกับรถไฟฟ้าใต้ดิน หลังจากมีแผนหลักเกี่ยวกับการกำหนดเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงเทพฯ ไปแล้ว ซึ่งส่งผลให้โครงการรถไฟลอยฟ้าที่เสนอตัวมาก่อนหน้าไม่ว่าจะเป็นของธนายง, องค์การรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) หรือของโฮปเวลล์ ที่จ้องจะทำลอยฟ้าเพียงอย่างเดียวนั้น ต้องเปลี่ยนแผนตามไปด้วย โดยต้องนำโครงการมุดลงดินโครงการละไม่ต่ำกว่า 50% ในแต่ละสาย อันเป็นผลพวงทำให้บริษัทผู้เคยเสนอโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินมาก่อนหน้าอย่างธนชาติโฮลดิ้ง หรือกลุ่มเมโทร 2000 ต่างดูมีความหวังขึ้นมาบ้าง ซึ่งผลพวงอันนี้ก็ อยู่ในการสังเกตการณ์ของกลุ่ม ช. การช่าง ที่หวังจะผลักดันกลุ่มของตนเข้ามารับงานในส่วนนี้เช่นเดียวกัน

ความเป็นจริงแล้ว กลุ่ม ช. การช่างนั้นได้มีการศึกษาระบบรถไฟฟ้าใต้ดินมาระยะเวลาหนึ่งแล้วโดยนอกจากใช้ทีมงานของตนเองศึกษาแล้ว ยังได้ร่วมกับพันธมิตร "โตคิว คอนสตรัคชั่น" ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำโครงการนี้มาใช้ในประเทศไทย

นอกเหนือจากงานสาธารณูปโภคเช่นทางด่วนหรือรถไฟฟ้าใต้ดินที่หวังจะเป็นไม้เด็ดในการรับงานโครงการใหญ่ในอนาคตแล้ว งานสาธารณูปโภครูปแบบอื่นที่ ช. การช่างจ้องจะรับในอนาคต ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ ช. การช่างมีศักยภาพสูงขึ้นได้

เริ่มจากโครงการลงทุนในลาว 4 โครงการคือ โครงการโรงถลุงเหล็ก มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และโครงการบริหารสนามบินแห่งชาติ โครงการอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ แยกเป็นไม้ปาร์ติเกิลบอร์ด และฮาร์ดบอร์ด โครงการสัมปทานป่าไม้ พื้นที่ประมาณ 100,000 ไร่ ทางตอนใต้ของเวียงจันทร์รวมมูลค่าทั้ง 4 โครงการประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกลุ่ม ช. การช่างก็ได้เข้าร่วมลงทุนกับลาวในโครงการสร้างเขื่อนพลังไฟฟ้าน้ำมั่ง มูลค่าลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาทมาแล้ว รวมถึงยังได้ลงทุนสร้างเขื่อนน้ำซอง และเขื่อนน้ำเลิก อยู่ห่างจากรุงเวียงจันทร์ประมาณ 28 ก.ม. มูลค่าการลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาทด้วย

สำหรับโครงการนี้ ยิ้มเผยว่า เป็นแผนการรุกคืบก้าวแรกของ ช. การช่างที่จะเข้าไปลงทุนในลาวที่ยังมีโครงการสาธารณูปโภคอีกหลายรูปแบบ นับแต่ถนน โรงไฟฟ้าอีกหลายโรง รวมถึงเขื่อนอีกหลายเขื่อนอีกด้วย

"นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้เรายังได้เข้าไปเจรจากับทางรัฐบาลลาวอีกครั้ง เพื่อที่จะขอสัมปทานในการเป็นตัวแทนบริหารสนามบินที่หลวงพระบาง ที่ทางบริษัทเคยเข้าไปปรับปรุง ซึ่งหากรัฐบาลอนุมัติทางเราก็พร้อมจะขอเปิดสายการบิน โดยร่วมกับบริษัทสายการบินเยอรมันและแคนาดา ซึ่งเราได้เจรจาในหลักการแล้ว" กรรมการผู้จัดการของ ช. การช่างกล่าว

แหล่งข่าวในแวดวงผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ให้ทัศนะว่า การที่ยิ้มซึ่งปัจจุบันนอกจากเป็นกรรมการผู้จัดการของ ช. การช่างแล้ว ยังดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ได้อาศัยบทบาทของตัวเอง ไปต่อรองเจรจากับทางรัฐบาลลาว เพื่อให้ได้งานก่อสร้างนั้น นับว่าเป็นการฉกฉวยโอกาสที่ประกอบด้วยกุศโลบายที่แยบยลซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มงานให้แก่ ช. การช่างเองแล้วยังช่วยเสริมภาพพจน์ของ ช. การช่างในสายตาผู้รับเหมาให้ดีขึ้นด้วย

"ต้องยอมรับว่าก่อนหน้าที่คุณยิ้มจะเข้ามาสนใจกับงานสมาคม และผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นนายกฯ นั้น สมาชิกในสมาคมฯจะไม่ค่อยให้ความศรัทธาในตัวของ ช. การช่างมากนัก มักมองว่าทำตัวห่างเหินจากสมาคม แต่ภาพพจน์ดังว่านั้นนับวันจะหมดไป" แหล่งข่าวให้ความคิดเห็น

นอกจากงานก่อสร้างขนาดใหญ่ บริษัทในเครือข่ายของ ช. การช่างอีกประมาณ 10 บริษัทต่าง ๆ ก็รับงานระดับกลาง งานนิคมอุตสาหกรรม หรือแม้แต่งานด้านพัฒนาที่ดินด้วย โดยบริษัทลูกของ ช. การช่างนั้นประกอบด้วย บริษัทมหาศิริสยาม จำกัด บริษัทไทยประชาก่อสร้างจำกัด บริษัทพรหมประทานก่อสร้างจำกัด บริษัทประเสริฐก่อสร้างจำกัด ก็ยังรับงานระดับกลางอีกหลายงาน

งานประเภทหนึ่งที่ ช. การช่างเพิ่งจะขยายตัวเข้าไปร่วมด้วยคือ งานด้านนิคมอุตสาหกรรม โดยการจัดตั้ง บริษัทบางปะอิน แลนด์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด ขึ้นมาเพื่อดูแลงานด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งได้มีการพัฒนาที่ดินแถบบางปะอินให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมไปแล้วประมาณ 2,000 ไร่ และพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการทาง ช. การช่างก็ได้กันเอาไว้เป็นไซท์สำหรับหล่อคานและองค์ประกอบหลักอื่นของโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ด้วย แต่งานด้านนิคมอุตสาหกรรมนี้ถือว่าเป็นงานรองที่เสริมกับงานก่อสร้างหลักใหญ่ ซึ่งทาง ช. การช่างยังถือเป็นงานหลักของตนเองต่อไป

จากอู่ซ่อมรถยนต์ย่านสี่แยกบ้านแขก เมื่อ 40 กว่าปีก่อน เปลี่ยนโฉมมาเป็นธุรกิจก่อสร้างเล็ก ๆ ที่อาศัยความสัมพันธ์กับกองทัพรับงานก่อสร้างจนขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ วันนี้ ช. การช่างใช้โครงการทางด่วนขั้นที่ 2 เป็นทางลัดในการผลักดันตัวเองให้ยกระดับขึ้นมาเล่นบทเวทีใหญ่ในฐานะผู้บริหารโครงการขนาดหมื่นล้านบาท ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี จากนี้ไปย่อมต่างจากวันวานอย่างแน่นอน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us