Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2537
"เปิดเสรี…. ร้านค้าปลอดอากรในเมือง ผลประโยชน์ตกอยู่กับใคร ?"             
 


   
www resources

โฮมเพจ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

   
search resources

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ดาวน์ทาวน์ ดีเอฟ เอส
วิชัย รักศรีอักษร




การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคิดสร้างธุรกิจร้านค้าปลอดอากรเหมือนการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยโดยมีเป้าหมาย เพื่อหารายได้เพิ่มโดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเจ้าของสัมปทานได้อัตราร้อยละ 10 ของรายได้ยอดขายก่อนหักค่าใช้จ่าย มีอายุสัมปทาน 5 ปี แต่วันนี้หาก ครม. มีมติให้เปิดเสรีไม่ผูกขาดสัมปทานเพียงรายเดียวในเมืองไทย ใครจะเป็นผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง ?

การสั่งปลดธรรมนูญ ประจวบเหมาะ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สาวิตต์ โพธิวิหค เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนหรือไม่มีสัญญาณเตือนภัยให้รู้ตัวล่วงหน้า

ข้อกล่าวหาที่เป็นเหตุผลของการปลดกลางอากาศครั้งนี้ ก็คือการบริหารงานที่ไร้ประสิทธภาพอันเนื่องมาจากกรณีการไม่รักษาผลประโยชน์ให้กับองค์กร นั่นคืออนุญาตให้บริษัท ดาวน์ทาวน์ ดีเอฟ เอส (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานบริหาร บริษัท ททท. สินค้าปลอดอากร จำกัด ยืดเวลาการชำระเงินค่าผลประโยชน์รายปีให้กับ ททท.

คำถามจึงมีอยู่ว่า ด้วยเรื่องเพียงเท่านี้หรือถึงขนาดสั่งปลดกลางอากาศ หรือว่ามีเบื้องหลังลึกซึ้งกว่านี้

อย่างไรก็ตาม เหตุผลข้อนี้ ได้ส่งผลกระทบไปยังการดำเนินกิจการของบริษัท ททท. สินค้าปลอดอากร จำกัด ภายใต้การบริหารงานของบริษัทดาวน์ทาวน์ ซึ่งกำลังจะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ มีอันต้องสิ้นสุดตามลงไปโดยปริยาย โดยไม่ได้รับการต่ออายุสัมปทานดังที่คาดหมายไว้แต่ต้น

"ผมทำใจไว้แต่แรกแล้วว่างานที่ขึ้นอยู่กับการเมืองเป็นตัวจักรสำคัญสักวันหนึ่งก็ต้องจบปัญหาด้วยเหตุผลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง" วิชัย รักศรีอักษร กรรมการผู้จัดการบริษัทดาวน์ทาวน์ จำกัดกล่าว

ว่ากันว่าเพราะอายุสัมปทานที่กำลังจะหมดไปนี่เอง จึงทำให้มีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้มีการเปิดเสรีร้านค้าปลอดอากรในเมืองได้หลายรายเหมือนเช่น ฮ่องกงหรือสิงคโปร์ประเทศเพื่อนบ้านที่ดำเนินการค้าเสรีอยู่ในปัจจุบัน แทนที่จะให้ทางบริษัทดาวน์ทาวน์เป็นผู้ผูกขาดแต่เพียงเจ้าเดียว

"หากธุรกิจนี้เปิดดำเนินการแบบเสรีได้ โดยไม่มีการผูกขาดสัมปทานเพียงรายเดียว เช่นปัจจุบันนี้คาดว่านอกจาก ททท. จะได้รับผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้นแล้ว ผู้ซื้อหรือนักท่องเที่ยวก็จะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ตามมาอีกด้วย ซึ่งอาจหมายรวมถึงราคาของสินค้าจะถูกลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ตามความหมายของคำว่าปลอดอากรนั้นสินค้าน่าจะมีราคาถูกเพื่อจูงใจให้ผู้ซื้อซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เห็นข้อแตกต่าง" สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งในคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจการท่องเที่ยวกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงเหตุผลของการเสนอให้เปิดเสรีร้านดิวตี้ฟรีช็อปในเมือง

ในประเด็นปัญหาเรื่องราคาสินค้าปลอดอากรควรจะถูกลงกว่าที่เป็นอยู่ไม่ว่าจะเป็น บุหรี่ กระเป๋า เครื่องหนัง น้ำหอม เหล้า ฯลฯ ก็ตาม แหล่งข่าวจากบริษัทดาวน์ทาวน์กล่าวว่า "เป็นไปไม่ได้ที่สินค้าเหล่านี้จะมีราคาถูกไปกว่าที่เป็นอยู่หรือสู้ของเถื่อนได้ ทั้งนี้เพราะเหตุผลทางการตลาดซึ่งเป็นที่ทราบกันดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคืนผลประโยชน์สู่องค์กรของรัฐ เช่น กรมศุลกากร 15% การท่องเที่ยวฯ 10% และการท่าฯ 2% นอกจากนี้ ยังมีค่าเงินเดือนพนักงานค่าใช้จ่ายในการลงทุน อาทิ ค่าอาคารสำนักงานใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารมหาทุนพลาซ่า 80 ล้านบาทซึ่งต้องจ่ายเป็นเงินสด รวมไปถึงค่าเบี้ยบ้ายรายทาง ค่าน้ำร้อนน้ำชาอันเกิดขึ้นเนื่องจากการวิ่งเต้นให้โครงการนี้ผ่าน ครม. ในชุดนั้น"

ในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการเปิดเสรีร้านดิวตี้ ฟรีช็อป แต่กลับมีผู้ให้ความสนใจด้วยกันหลายราย อาทิ สายการบินสแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ หรือ เอส.เอ.เอส. และดิวตี้ ชอปเปอร์เป็นต้น ขณะเดียวกันนักลงทุนอีกจำนวนหนึ่งก็ยังหวั่นวิตกเกี่ยวกับอำนาจของรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา วันนี้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลชุดนี้หากวันหน้ามีการเปลี่ยนแปลงชุดใหม่ ก็ไม่แน่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีก

เมื่อ 5 ปีก่อนในเดือนตุลาคม 2532 รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณได้มีมติ ครม. ให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รัฐวิสาหกิจอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักนายก ซึ่งขณะนั้นมี กร ทัพพะรังสีเป็นรัฐมนตรีว่าการดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองได้ในลักษณะของการ ให้สัมปทานเอกชนเพียงหนึ่งรายในการจัดดำเนินการธุรกิจนี้โดยมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่าง ททท. และบริษัทเอกชนดังกล่าว หลังจากให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยทำธุรกิจชนิดเดียวกัน ในลักษณะผูกขาดสัมปทานเช่นเดียวกันนี้ที่สนามบินดอนเมืองเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

เป้าหมายของมติ ครม. ที่เปิดให้มีร้านค้าปลอดอากรเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น ประเด็นสำคัญที่ ททท. มุ่งเน้นก็คือเพื่อเป็นการส่งเสริมให้รัฐมีรายได้เพิ่มจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว นอกเหนือจากการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการบริการให้เกิดความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยวเหล่านั้นด้วย โดยไม่ต้องไปรอซื้อสินค้าที่สนามบิน ในช่วงเวลาขากลับออกนอกประเทศเท่านั้น สามารถซื้อสินค้าปลอดอากรได้จากในเมืองตามสาขาที่ ททท. เปิดบริการอยู่และรอรับสินค้าได้ในเวลาขากลับออกนอกประเทศ

การประกาศให้เปิดธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในครั้งนั้น ได้รับความสนใจจากผู้ดำเนินธุรกิจประเภทนี้หลายรายด้วยกัน บริษัท ดาวน์ทาวน์จำกัด ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น และได้รับการพิจารณาให้เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจาก ททท. ในการเข้าไปดำเนินการขายสินค้าปลอดอากร

เงื่อนไขที่บริษัทดาวน์ทาวน์ได้รับการคัดเลือกให้ผูกขาดสัมปทานนี้คือ ผลประโยชน์ตอบแทนคืนกลับ ททท. 10% ของยอดขายก่อนหักรายได้ ตัวเลขเพียง 10% เมื่อเปรียบเทียบจากยอดของจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายโดยประมาณการต่อหัวต่อเดือนและต่อปีรวมกันนับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว

โดยในปีแรกของการดำเนินการดาวน์ทาวน์ประมาณว่าจะมีมูลค่ายอดขายถึง 400 ล้านบาท ในปีที่สอง 450 ล้านบาท ปีที่สาม 500 ล้านบาท ปีที่สี่ 600 ล้านบาท และปีที่ห้า (ปี พ.ศ. 2537) 700 ล้านบาท

ผลประโยชน์ที่คาดการณ์ไว้สวยหรูเช่นนี้เมื่อเปรียบเทียบกับ 10% ที่ ททท. จะได้ดังกล่าวแล้ว ดาวน์ทาวน์จึงสามารถเอาชนะใจคณะกรรมการเฉือนผู้ประมูลรายอื่นไปได้อย่างงดงาม

นั่นหมายความว่า ททท.ไม่ต้องทำอะไรเลยแต่ก็มีรายรับเพิ่มในแต่ละปี คือ 40 ล้าน, 45 ล้านบาท, 50 ล้านบาท, 60 ล้านบาท และ 70 ล้านบาทในปีสุดท้ายของอายุสัมปทานตามลำดับ

แน่นอนว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้รับสัมปทานในระบบการบริหารบ้านเมืองแบบไทย ๆ นั้น สิ่งที่รัฐจะได้เป็นค่าตอบแทนไม่ใช่เงื่อนไขเดียวที่ชี้ขาดว่าใครจะเป็นผู้ชนะ เงื่อนไขอีกข้อหนึ่งที่น่าจะสำคัญที่สุดคือ นอกจากตัวเลขผลตอบแทนที่รัฐจะได้แล้ว คนของรัฐที่ดูแลสัมปทานนั้น ๆ อยู่จะได้อะไรบ้าง

ว่ากันว่ากว่าที่บริษัทดาวน์ทาวน์จะได้รับสัมปทานนี้มา ต้องเสียผลประโยชน์ให้กับผู้ผลักดันให้เกิดธุรกิจนี้เป็นจำนวนเงินถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้กับ ททท. ในปีแรกเลยทีเดียว แต่ก็นับว่าคุ้ม เมื่อเทียบกับรายได้ที่จะตามมา

แม้จะเหนื่อยและต้องเสียเบี้ยบ้ายรายทางแต่บริษัท ททท. สินค้าปลอดอากร จำกัดก็เกิดขึ้นจนได้ที่อาคารมหาทุน ถนนเพลินจิต โดยมีวิชัย รักศรีอักษร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทดาวน์ทาวน์ จำกัด และได้รับการแต่งตั้งจาก ททท. สินค้าปลอดอากรจำกัดถือหุ้นร่วมระหว่างการท่องเที่ยวฯ กับบริษัทดาวน์ทาวน์ มีคณะกรรมการบริหารร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย

ในช่วงแรกของการเปิดธุรกิจ วิชัยถูกโจมตีว่ามีความไม่ชอบมาพากลในการประมูลเพื่อร่วมดำเนินการกับ ททท. รวมไปถึงความไม่บริสุทธิ์ทางธุรกิจของวิชัยผู้บริหาร ททท. ร้านค้าปลอดอากรเองด้วย ในกรณีเรื่องหนี้สินผูกพันกับมาบุญครองที่ยังดำเนินคดีกันอยู่เป็นจำนวน 14 ล้านบาท

ว่ากันว่าเป็นการกระทำของฝ่ายตรงข้ามที่เสียผลประโยชน์อันเนื่องมาจากแพ้การประมูลและการถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดไป การโจมตีเช่นนี้จึงเสมือนยกแรกของผู้ที่รับสัมปทานรายที่สองในธุรกิจร้านค้าปลอดอากร ที่ในขณะนั้นเป็นเพียงการเกิดเพิ่มขึ้นอีกรายในเมืองเท่านั้น

"ฉากนี้เป็นเพียงยกแรกของการเปิดทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากรให้เกิดขึ้นอีกรายหนึ่งในเมืองแบบกึ่งเสรีเท่านั้น หากเปิดเสรีปล่อยให้มีร้านค้าปลอดอากรอยู่ทั่วเมืองจริงๆ อย่างที่ ครม. ต้องการคาดว่าจะได้เห็นฉากการโจมตี และเงินผลประโยชน์สะพัดในช่วงของการพิจารณาเงื่อนไขผูกพันก่อนการดำเนินการอย่างแน่นอน" เป็นความเห็นจากผู้ที่อยู่ในวงการ

ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นมีผลทำให้วิชัยได้แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการลาออกจากบริษัท ททท. สินค้าปลอดอากร แม้จะได้รับการทักท้วงจากผู้ใหญ่ของ ททท. ก็ตาม เพื่อยุติข่าวการถูกโจมตีอันจะมีผลกระทบไปถึงธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจร้านสินค้าปลอดอากรดำเนินไปด้วยดี ขณะเดียวกันก็เพื่อความสะดวกในการต่อสู้ข้อกล่าวหาเช่นกรณีจ่ายเช็คเด้งเป็นต้น

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้วิชัยต้องใช้เวลาเคลียร์ตัวเองยาวนานถึง 2 ปี และในที่สุดก็ได้กลับเข้ามาบริหารบริษัท ททท. สินค้าปลอดอากรอีกครั้งพร้อมหมายศาลแจ้งจับผู้ไม่หวังดีที่ประโคมข่าวทำให้เสียชื่อเสียง

การกลับมาอีกครั้งหนึ่งของเขาหลังถูกโจมตี วิชัยประกาศว่า จำเป็นต้องกลับเข้ามาในดาวน์ทาวน์ใหม่ เพื่อพยุงกิจการของบริษัทให้อยู่รอดและดำเนินไปได้ด้วยดี

วิชัยจึงกลับเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทอีกครั้ง พร้อมทั้งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารให้เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการทั่วไปมีอำนาจเต็มในการวางนโยบายและบริหารงาน

"วิชัยเป็นคนที่มีความสามารถ และเขาเป็นผู้ดำเนินงานนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นวางโครงการ ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดการ การวางแผนงาน การจัดซื้อทุกอย่างเขาเป็นคนทำ จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่เขาจะกลับเข้ามาดำเนินงานนี้ต่อไป" แหล่งข่าวจากการท่องเที่ยวรายหนึ่งกล่าวไว้เช่นนี้

สงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2532 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวตกไป จนมีผลต่อรายได้ของร้านสินค้าปลอดอากร เพราะยอดขายที่ตกไปนี้จึงเป็นผลให้เกิดเหตุที่โด่งดังในช่วงที่ผ่านมานี้เอง นั่นคือการปลดผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพราะไม่รักษาผลประโยชน์ให้กับ ททท. ตามเงื่อนไขสัญญาที่บริษัทดาวน์ทาวน์ตกลงไว้ว่า มีช่วงเวลาใดบ้างที่จะต้องจ่ายผลประโยชน์ให้ ททท. ในจำนวน 10% ของยอดขาย ซึ่งจนถึงขณะนี้ ททท. ยังไม่ได้รับค่าผลประโยชน์ดังกล่าวด้วยเหตุผลที่ทางบริษัทดาวน์ทาวน์ อ้างว่า "ขาดทุน จึงทำให้ไม่มีเงินจ่าย"

หากย้อนกลับไปดูคำให้สัมภาษณ์ของวิชัยเมื่อ 2 ปีก่อนมานี้เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า

"เราการันตีกับ ททท. ว่ายอดขายในปี 2532 จะได้ถึง 450 ล้านบาทเป็นขั้นต่ำ แต่เราก็สามารถพยุงยอดขายไว้ได้ถึง 560 ล้านบาท ในปีที่ 3 ถึงแม้ว่าเราจะทำเกินเป้า แต่ก็ยังเป็นรายได้ที่ไม่น่าพอใจนักซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วหากไม่เกิดกรณีของสงครามขึ้นยอดขายสินค้าจะได้มากกว่านี้"

ในขณะที่ปี 2535 วิชัยคาดการว่าธุรกิจของเขา จะสามารถทำตัวเลขยอดขายได้เกินกว่า 820 ล้านบาทตัวเลขจำนวนนี้เป็นตัวเลขขั้นต่ำที่ตั้งไว้ให้กับทาง ททท. ซึ่งอาจจะทำได้ถึง 1,000 ล้านบาทเพื่อนำมาชดเชยในปี 2532 ที่ทำยอดขายได้ไม่เป็นที่น่าพอใจ

วิชัยเชื่อมั่นว่าจะได้ถึง 1,000 ล้านบาทในปีนี้ (2535) เพราะนับจากเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวได้กลับมาอยู่ในจำนวนเท่าเดิม ซึ่งตลาดกลุ่มเป้าหมายใหญ่ของ ททท. สินค้าปลอดอากรต้องการคือ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี โดยเฉพาะญี่ปุ่นเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และสินค้าที่เขาต้องการส่วนใหญ่จะเป็นพวกเครื่องสำอาง เครื่องหนัง ปากกา ไฟแช็กซึ่งเป็นสินค้าที่ทำกำไรได้ดีกว่าสินค้าประเภทเหล้าและบุหรี่

จากสถิติของ ททท. แสดงจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เข้าเมืองไทยต่อปีประมาณ 700,000 คน นักท่องเที่ยวเหล่านี้มีค่าเฉลี่ยของการจับจ่ายใช้สอยซื้อของกลับประเทศเป็นจำนวน 3,500 บาทต่อหัว ในขณะที่ไต้หวันและเกาหลีมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าเมืองไทยปีละประมาณ 500,000 และ 300,000 คน ตามลำดับ มีรายจ่ายต่อหัว 1,500 บาทและ 1,400 บาท

ในจำนวนนักท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นนี้วิชัยแบ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 50% มากับกรุ๊ปทัวร์ อีก 50% เป็นนักธุรกิจและกลุ่มที่เข้ามาท่องเที่ยวเอง ในส่วนนี้เขาคาดหวังยอดขายจะได้มาจากกรุ๊ปทัวร์เพียง 35%,40% และ 40% จากญี่ปุ่น ไต้หวันและเกาหลีตามลำดับ

วัชัยได้กลับเข้ามาดำเนินธุรกิจร้านสินค้าปลอดอากรในครั้งนี้นอกจากจะเข้ามาพยุงยอดขายของบริษัทให้ได้ตามเป้าหมายที่เสนอต่อ ททท. แล้ว เขายังมีเป้าหมายที่จะขยายสาขาเพิ่มเพื่อเป็นการดักทางจับกลุ่มนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจอีก 50% ที่เข้ามาเองโดยไม่ผ่านกรุ๊ปทัวร์ เช่น สาขาใน กทม. ที่หน้ากรมศิลปากรและภูเก็ต

จากการขยายสาขาเพื่อดักกลุ่มเป้าหมาย ที่เกิดขึ้น และจากแผนการตลาด เพื่อยอดขายตามเป้าหมายที่วางไว้ หากเปรียบเทียบจากตัวเลขที่เสนอ ททท. ตามข้อกำหนด เบื้องต้นคือ 400 ล้านบาท ในปีแรก 450 ล้านบาทในปีที่สอง 500 ล้านบาทในปีที่สาม 600 ล้านบาทและ 700 บาทในปีที่สี่และห้าตามลำดับ ดาวน์ทาวน์ก็น่าที่จะมีเงินจ่ายให้ตามเงื่อนไข

หมายความว่าการดำเนินธุรกิจของวิชัยไปได้สวย ตัวเลขยอดขายจึงเกินกว่าเป้าหมาย แถมยังสามารถขยับขยายการลงทุนด้านสาขาไปยังที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย อาทิ การไปลงทุนกว่า 100 ล้านบาทในเขมรทำร้านสินค้าปลอดอากรภายใต้ชื่อ "ทีเอที พนมเปญ" ซึ่งเปิดเมื่อกลางเมษายน 600 ตรม. ที่สนามบินและในเมือง โดยให้ผลประโยชน์ต่อรัฐบาลพนมเปญในระยะสัมปทาน 20 ปีที่ 1-2 จ่าย 10% ปีที่ 3 จ่าย 15% ปีที่4-5 จ่าย 20% และปีที่ 5-20 จ่าย 25% ของกำไร

ทว่าคำตอบที่ได้รับจากดาวน์ทาวน์ในครั้งนี้ คือ เงินที่ได้จากยอดขายสินค้าและการดำเนินการเขาได้นำไปลงทุนในด้านการขยายสาขาตามเป้าหมายที่เสนอให้กับ ททท. รับทราบตั้งแต่ครั้งแรกของการเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยกันตามข้อกำหนดเบื้องต้นคือ มีร้านในตัวเมือง กทม. 1 แห่ง และร้านค้าย่อยในกทม. 2 แห่ง รวมทั้งในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ พัทยา และจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในระยะต่อไป

เพราะเหตุผลของดาวน์ทาวน์ออกมาในลักษณะเช่นนี้จึงกลายเป็นเหตุแห่งที่มาของการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารใน ททท. ใหม่ซึ่งว่ากันว่า เบื้องลึกมาจากความไม่พอใจที่ผู้นำ ททท. ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ให้เป็นองค์กรเอกเทศจนสร้างความไม่พอใจให้กับหลายฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังของอำนาจและผลประโยชน์ทั้งปวง โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และรวมไปถึงการผลักดันให้ ครม. มีมติในเรื่องของธุรกิจร้านค้าปลอดอากรของ ททท.ให้มีการเปิดเสรี

คำถามจึงมีอยู่ว่า ปัจจุบันนี้มีเอกชนได้สัมปทานโครงการอยู่เพียงรายเดียวยังไม่สามารถบังคับการสั่งจ่ายผลประโยชน์ให้กับรัฐได้ หากในอนาคตมีผู้ดำเนินการหลายราย รัฐจะมีวิธีควบคุมการดำเนินงานและรักษาผลประโยชน์ของรัฐได้อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามดูความเคลื่อนไหวของทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลที่กำลังมีปัญหาคลุมเครืออยู่ในขณะนี้ว่าจะอยู่ครบเทอมหรือต้องไปก่อนเวลา

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us