Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน14 กันยายน 2549
สับเละอุ้มไทยแอร์ฯ - ผิด ม.157             
 


   
www resources

โฮมเพจ แอร์เอเชีย
โฮมเพจ บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

   
search resources

ชินคอร์ปอเรชั่น, บมจ.
ไทยแอร์เอเชีย, บจก.
Aviation




นักกฎหมายสับเละคมนาคมเฉไฉอุ้มไทยแอร์เอเชียในคราบต่างด้าว ยันคำวินิจฉัยกฤษฎีกาชัด ถ้ายังไม่ดำเนินการใดๆ มีสิทธิ์โดนข้อหา ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีความผิดอาญา ตามมาตรา 157 ประชาชนทั่วไปฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ สหพันธ์ผู้บริโภคบี้เพิกถอนใบอนุญาต ด้านภูมิธรรม ตะแบงอ้างซื้อขายหุ้นดูผลทางนิติกรรม ส่วนกรมขนส่งทางอากาศเตรียมหารือตลาดหลักทรัพย์ ตีความกฎหมายขายหุ้นอีกครั้ง

กรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งบันทึกผลการหารือ เรื่องคุณสมบัติของบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ถึงกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 11ก.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุถึงแนวทางปฏิบัติทางกฎหมายต่อการขายหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักของ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ในช่วงตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2549 เป็นต้นมา ซึ่งการขายหุ้นนี้ทำให้สัดส่วนหุ้นของตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ที่ถือไว้ทั้งหมดจำนวนร้อยละ 49.6 ของหุ้นทั้งหมดกลายเป็นของบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮสดิ้งส์ จำกัด และอาจทำให้บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ขาดคุณสมบัติของผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (ปว.58) และขาดคุณสมบัติของผู้จดทะเบียนอากาศยานทั้ง 9 ลำ ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 นั้น

นักกม.ยันแอร์เอเชียผิดชัดหมดสิทธิ์บิน

นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยว่า จากการศึกษาคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกากรณีบริษัทไทยแอร์เอเชียนั้น พบว่า เป็นการวินิจฉัยใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ หนึ่ง เรื่องใบอนุญาตการเดินอากาศยานหรือใบอนุญาตให้ทำการบินนั้นคำวินิจฉัยชี้ชัดว่า สิ้นสุดลงแล้วและมีผลทันทีเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าผู้จดทะเบียนอากาศยานซึ่งหมายถึงแอร์เอเชียขาดคุณสมบัติตามมาตรา 31 (2) เพราะเมื่อชินคอร์ปถูกขายให้เทมาเส็ก ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยต่ำกว่า 51%

สอง เรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการสายการบิน ส่วนนี้เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการมีคุณสมบัติแตกต่างไปจากหลักเกณฑ์คุณสมบัติที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ไม่ทำให้ใบอนุญาตนั้นสิ้นผลในทันที โดยจะสิ้นผลเมื่อถูกเพิกถอนหรือสิ้นผลโดยเงื่อนเวลา ตามมาตรา 42 วรรค 6 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เพราะการออกใบอนุญาตเป็นคำสั่งทางปกครองอย่างหนึ่ง

นายคมสัน อธิบายต่อว่า กล่าวโดยสรุปคือ ผิดทั้งสองกรณี โดยกรณีแรกมีผลทันทีแต่กรณีหลังไม่มีผลทันที เมื่อกรณีแรกมีผลทันที หลังมีคำวินิจฉัยออกมาแอร์เอเชียก็ขึ้นบินไม่ได้ เพราะใบอนุญาตให้บินสิ้นสุดแล้ว ถ้ายังบินอยู่ก็ถือว่าฝ่าฝืน มีความผิดตามพ.ร.บ.เดินอากาศฯ จนกว่าแอร์เอเชียจะยื่นขออนุญาตบินใหม่ ส่วนกรณีหลังเมื่อพบความผิด หน่วยงานที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ก็ต้องออกคำสั่งเพิกถอน

“คำวินิจฉัยชัดขนาดนี้จะเฉไฉไม่ได้ ถ้ายังไม่ดำเนินการใดๆ ก็ถือว่าผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายเดินอากาศ คือ กรมการขนส่งทางอากาศ และผู้มีอำนาจตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีความผิดอาญา ตามมาตรา 157 ประชาชนทั่วไปฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ฯ กล่าว

นายคมสัน กล่าวต่อว่า ถึงแม้คณะกรรมการกฤษฎีกาแยกวินิจฉัยเป็นสองประเด็นและมีคำวินิจฉัยออกมาชัดแจ้ง แต่เท่าที่ดูการให้ข่าวของกรมการขนส่งทางอากาศกลับพยายามเอาสองเรื่องมาปะปนกันให้เป็นเรื่องเดียว ทำให้เกิดความสับสน

สหพันธ์ผู้บริโภคบี้เพิกถอนใบอนุญาต

นางสาวรสนา โตสิตระกูล กรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ซึ่งติดตามตรวจสอบการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปและไทยแอร์เอเชียมาตั้งแต่ต้น เปิดเผยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความชัดเจนว่าผิด มีทางเดียวคือต้องดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตทั้งสองกรณี ถ้าไม่เพิกถอนก็ถือว่าหน่วยงานของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้า ซึ่งความจริงแล้วไทยแอร์เอเชีย ผิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะการถือหุ้นโดยคนไทย 51% ต้องเป็นสัดส่วนการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย ไม่ใช่รายเดียว ที่ผ่านมาสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ไปยื่นหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางอากาศ ก็ตอบจดหมายเรามาว่า ไทยแอร์เอเชียมีความผิดแค่ในช่วงวันที่ 23 ม.ค. – 4 ก.พ. 49 เท่านั้น เพราะช่วงนั้นสัดส่วนคนต่างด้าวสูงกว่าคนไทย แต่หลังจาก 4 ก.พ. 49 แล้ว มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นแล้วถือว่าถูกต้อง

“แต่คำวินิจฉัยของกฤษฎีกาชี้ว่า ตามพ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสั่งให้ผู้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เรื่องนี้จึงผิดชัดเจน” นางสาวรสนา กล่าว

ให้บังคับใช้กม.และสำนึกในหน้าที่

กรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวต่อว่า กรณีนี้สหพันธ์ฯ จะรอดูก่อนว่าหน่วยงานของรัฐฯจะดำเนินการอย่างใดหรือไม่ เพราะในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องมีสำนึกในการทำหน้าที่ให้สมกับกินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ไม่ใช่ละเว้นการปฏิบัติหน้า ไม่บังคับใช้กฎหมาย ทำให้เกิดความย่อหย่อนอ่อนแอ อย่าให้ประชาชนต้องไปฟ้องร้องต่อศาลให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่เพราะจะกลายเป็นภาระของศาลมากเกินไป

“กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนแล้ว ควรลุกขึ้นมาทำบ้าง ควรรู้จักละอายบ้าง ถ้าจะต้องฟ้องร้องต่อศาลในทุกเรื่องถือว่าแย่แล้ว” นางสาวรสนา กล่าว

ฟันธงชินคอร์ปผิดทั้งยวง

นางสาวรสนา ยังกล่าวว่า เมื่อเทียบเคียงกับกรณีไทยแอร์เอเชียที่กฤษฎีกาตีความแล้ว จะเห็นว่า บริษัทอื่นที่ถูกขายไปในกลุ่มชินคอร์ป ก็มีสิทธิ์ผิดทั้งยวง เฉพาะกรณีของไอทีวีเห็นชัดเจน ผิดชัดเจนเลยไม่ต้องตีความให้เสียเวลา เพราะให้ต่างด้าวถือหุ้นไม่เกิน 25% เท่านั้น แต่นี่ไปเกือบหมดแล้ว อยากถามคุณพีระพันธุ์ เปรมภูติ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลไอทีวีอยู่ว่าทำไมนั่งทับเรื่องเอาไว้ ทำไมไม่ทำอะไรเลย ผิดมาแต่ต้นแล้วต้องเพิกถอนสัมปทาน แต่ก็อย่าลืมทวงค่าปรับให้ได้ด้วย

ส่วนกรณีชินแซทเทิลไลท์และเอไอเอสนั้น นางสาวรสนา กล่าวว่า สหพันธ์ฯ ได้ไปยื่นหนังสือที่คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) แล้ว เพราะเห็นว่าเป็นกิจการของคนต่างด้าวไปแล้ว แต่กทช. ก็อ้างว่า ยังไม่มีความชัดเจนต้องรอกระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบสถานะของบริษัทกุหลาบแก้วเสียก่อน ซึ่งถ้าพาณิชย์ ชี้ว่ากุหลาบแก้วเป็นนอมินี ก็เป็นที่ชัดเจนว่าผิดกฎหมายเพราะสัดส่วนการถือหุ้นของต่างด้าวเกินกว่าที่กำหนด ดังนั้น กทช. ก็ต้องดำเนินการเพิกถอนสัมปทาน โดยไม่อาจบิดพลิ้วได้

“ขั้นแรกเราไปร้องหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ขั้นต่อไป ถ้าผลสอบชี้ออกมาว่ากุหลาบแก้วเป็นนอมินีหรือตัวแทนต่างด้าวดังผลสอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ทำอะไร เราคงต้องฟ้องศาลปกครองบังคับให้เขาทำหน้าที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น จะกลายเป็นภาระของศาลไปเสียทุกเรื่องนั้นไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ควรมีความละอายและสำนึกรับผิดชอบ” นางสาวรสนา กล่าว

ประชาธิปัตย์ยันผิดชัดแจ้ง

นายเกียรติ สิทธีอมร คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อศึกษาบันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกา ปว.58 และ พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 ตรงกันว่าผู้ได้รับใบอนุญาตต้องมีบุคคลหรือต้องมีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยไม่น้อยกว่า 51% ดังนั้น ช่วงเวลาก่อนที่จะปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลังจากที่มีการซื้อหุ้นชินคอร์ปในวันที่ 23 มกราคม จนถึงวันที่มีการปรับโครงสร้างคือวันที่ 23 มีนาคม ชัดเจนว่ามีความผิดตามมาตรา 16/4 ของ พ.ร.บ.การเดินอากาศ และมีโทษตามมาตรา 68/5 คือทั้งจำและปรับ อีกส่วนที่ตรงกันคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่มีอำนาจสั่งให้เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติผู้ขออนุญาต

ดังนั้นการที่นาย ชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ ให้สัมภาษณ์ว่า มีการขอเปลี่ยนคุณสมบัติและออกใบอนุญาตให้ใหม่วันที่ 14 กุมภาพันธ์นั้น ต้องกลับไปทบทวนใหม่ เพราะขัดต่อคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา นายพงษ์ศักดิ์ต้องชี้แจงในเรื่องนี้ และล่าสุดได้ให้คนไปตรวจสอบที่ตั้งของบริษัท เอเชีย เอวิเอชัน พบว่า อยู่ชั้น 15 อาคารพหลโยธิน เพลส แต่อยู่ในบริษัทแอดวานซ์ เอมเปย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มชิน ถามว่าเป็นพฤติกรรมอะไร

ภูมิธรรมตะแบงช่วย

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่กำกับดูแลกรมการขนส่งทางอากาศ ยืนยันว่า ผลการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสรุปออกมาชัดเจนว่าไม่มีผลกระทบต่อใบอนุญาตประกอบการบิน เพราะบริษัทไทยแอร์เอเชียได้มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนหุ้นถูกต้องก่อนที่กลุ่มชินคอร์ปจะเจรจาตกลงเรื่องการซื้อขายได้ข้อยุติ ซึ่งจะต้องถือเอาวันที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายหรือผลทางนิติกรรมเป็นหลัก

รมช.คมนาคม กล่าวว่าได้มีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียดพบว่า การที่กลุ่มชินคอร์ปได้มีการประกาศที่จะมีการขายหุ้นให้กับต่างชาตินั้นอาจมีผลเป็นที่ตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ยังไม่มีผลในทางกฎหมาย ซึ่งจะต้องพิจารณาจากวันที่ได้มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงหุ้นต่อกระทรวงพาณิชย์ จึงจะมีผลทางกฎหมายเท่านั้น

“ผมไม่เห็นว่าเรื่องนี้จะต้องไปตีความอะไรให้สับสน เปรียบเหมือนการซื้อขายบ้านอาจมีการตกลงว่าจะซื้อขาย แต่ผลในทางกฎหมายต้องมีการจดทะเบียนโอนก่อน เช่นเดียวกับเรื่องนี้ การตกลงซื้อขายยุติในช่วงต้นเดือน มี.ค.2549 แต่บริษัทไทยแอร์เอเชียมีการแก้เปลี่ยนสัดส่วนหุ้น 14 ก.พ. 2549 ก็ชัดเจนว่าบริษัทไม่ได้ทำผิดอะไร“ นายภูมิธรรมกล่าว

ด้านนายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) กล่าวว่า จะทำหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาว่าตามกฎหมายของหลักทรัพย์จะมีผลตั้งแต่เมื่อใด หากมีผลหลังวันที่ 14 ก.พ.2549 ที่บริษัทไทยแอร์เอเชียได้เปลี่ยนแปลงสัดส่วนหุ้นแล้วถือว่าไม่มีผลต่อทางบริษัท

นายชัยศักดิ์ กล่าวว่า นับจากวันที่ 14 ก.พ. 2549 ที่ผ่านมา ถือว่าบริษัทไทยแอร์เอเชียมีเปลี่ยนแปลงระเบียบต่างๆ ถูกต้องตามกฎหมาย พ.ร.บ.การเดินอากาศของกรมการขนส่งทางอากาศแล้ว และได้มีการจดทะเบียนการใช้เครื่องบินใหม่ทั้ง 9 ลำ ส่วนการทำการบินก่อนวันที่ 14 ก.พ. และหลังจากที่ได้มีการประกาศการขายหุ้นนั้น ทาง ขอ.ในขณะนั้นไม่มั่นใจว่าบริษัทมีสิทธิทำการบินได้หรือไม่ จึงได้มีการแจ้งความดำเนินคดีเอาไว้ที่สถานีตำรวจดอนเมืองแล้ว เป็นหน้าที่ของตำรวจจะต้องไปตรวจสอบและดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us