Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2537
"พ่อมดการเงิน คนพันธุ์ใหม่ในการตลาดทุนไทย"             
 

 
Charts & Figures

ตารางแสดงราคาขึ้น-ลงหุ้นฟินิคซ์พัลพ์แอนด์เพเพอร์


   
search resources

ก้องเกียรติ โอภาสวงการ
เชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์
ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ
ราเกซ สักเสนา
Stock Exchange
Financing




ตัวละครหน้าใหม่ในตลาดทุนไทย เพิ่งจะเกิดขึ้น เมื่อ 1-2 ปีมานี้เอง หลังจากปรากฏการณ์ การซื้อ-ครอบงำ- และควบกิจการขึ้นอย่างกว้างขวาง คนเหล่านี้ ส่วนใหญ่คลุกคลีอยู่ในวงการเงินอยู่แล้ว มีสายสัมพันธ์ที่กว้างขวาง มีความรู้ความสามารถที่ดีเลิศ เมื่อเห็นโอกาสเปิดให้ ก็แยกตัวออกมาเป็นที่ปรึกษาการเงินอิสระ สร้างกิจกรรมซื้อขายธุรกิจให้เกิดขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า จนได้รับสมญานามว่า "พ่อมดการเงิน" เพราะความสามารถในการร่ายมนต์คาถา เนรมิตผลประโยชน์ให้ตัวเองขึ้นมาจากความว่างเปล่า

การซื้อขายกิจการหรือเทคโอเวอร์เกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วง 4-5 ปีมานี้ จนถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่เติบโตขึ้นมาควบคู่กับตลาดทุนและวิวัฒนาการด้านการจัดการทางการเงินของสังคมธุรกิจไทย

ในปี 2535 มีรายการเทกโอเวอร์บริษัททั้งในและนอกตลาดเกือบ 40 บริษัท ขณะที่ในปีที่แล้วมี 30 บริษัท และเฉพาะครึ่งแรกของปี 2537 นี้มีดีลทั้งที่เสร็จไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการซื้อกิจการกว่า 20 ราย

แต่สิ่งที่นับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ของการเทคโอเวอร์ก็คือ ตัวบุคคลเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้เกิดธุรกรรมเช่นนี้ขึ้น

การเทคโอเวอร์ที่ผ่าน ๆ มา นอกจากผู้ซื้อและผู้ขายแล้ว คนกลางที่มีบทบาทสำคัญคือ ที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นสถาบันการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ที่มีหน่วยงานที่เรียกว่า "วาณิชธนกิจ" ทำหน้าที่นี้

ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้ ได้เกิด "ผู้เล่น" ประเภทใหม่ขึ้นมา นั่นคือ ที่ปรึกษาการเงินอิสระที่ไม่ได้สังกัดอยู่กับสถาบันการเงินใด ๆ ทั้งสิ้นส่วนใหญ่มักจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา และประสบการณ์ในด้านการทำงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินตลาดทุนมาระยะหนึ่ง หลังจากที่มั่นใจในฝีมือที่ฝึกปรึอมาจากการลงมือปฏิบัติจริง พร้อม ๆ กับมีเครือข่ายสายสัมพันธ์ระดับหนึ่งแล้ว ก็แยกตัวออกมาตั้งกิจการของตัวเอง เหมือนลูกจ้างในธุรกิจอื่น ๆ ที่พอทำไปสักระยะหนึ่งแล้ว ก็แยกตัวออกมาเป็นเถ้าแก่เสียเอง

"วาณิชธนกิจเป็นเรื่องของฝีมือ เป็นเรื่องของความสามารถเฉพาะตัวบุคคล" ผู้สันทัดกรณีรายหนึ่งพูดถึงเงื่อนไขในการเกิดของที่ปรึกษาการเงินอิสระเหล่านี้ว่า เรื่องเงินทุนที่จะมาตั้งกิจการไม่ใช่เรื่องใหญ่เหมือนธุรกิจอื่น ๆ เพราะไม่ต้องใช้เงินมากก็ทำได้ สิ่งที่เป็นจุดขายคือ ชื่อเสียงและฝีมือมากกว่า

ก้องเกียรติ โอภาสวงการ นับได้ว่าเป็นคนแรกที่สร้างภาพบริษัทที่ปรึกษาการเงินอิสระให้เกิดขึ้นหลังจากที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักของวงการมาช่วงหนึ่ง เขาก็ตัดสินใจลาจากบริษัทแบริ่ง รีเสิร์ช ออกมาตั้งกิจการของตัวเองในชื่อ "แอซแซทพลัส" ซึ่งมีผลงานการเป็นที่ปรึกษาไปแล้ว 10 กว่ารายการ

มาริษ ท่าราบ วาณิชธนากรที่ไต่เต้ามาจากวงการซื้อขายหลักทรัพย์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังเตรียมตัวเดินรอยตาม ปัจจุบัยเขามีตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทดีเอส แอดไวซอรี่ซึ่งอยู่ในเครือของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนสยาม ที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อทำธุรกิจทางด้านนี้โดยเฉพาะ

สายสัมพันธ์กว้างขวาง ความรู้ความสามารถด้านการเงิน ทีมวิเคราะห์ข้อมูลดี ๆ การรักษาความลับของลูกค้า เป็นหัวใจชี้ขาดความสำเร็จของที่ปรึกษาการเงิน ที่มักจะมีหน้าที่หลัก ๆ คือ การจัดโครงสร้างการเงินเพื่อแก้ปัญหาองค์กรหรือนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาในการฟื้นฟูกิจการ การระดมทุน การหาผู้ร่วมทุน ตลอดจนการผนวกกิจการ

"สิ่งที่เราถนัดคือการประสานหาผู้ร่วมทุน หาผู้ซื้อขายหรือแนะนำและจัดการด้านการเงินมากกว่าเราคงไม่เข้าไปร่วมทุนหรือบริหารกิจการนั้นเอง" ก้องเกียรติพูดถึงบทบาทของแอสเซทพลัส

จุดนี้เองที่เป็นความแตกต่างระหว่างบริษัทที่ปรึกษาการเงินอิสระกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อย่าง เอกธนกิจ นิธิภัทรหรือจีเอฟ เพราะบริษัทเงินทุนที่ว่ามานี้ เป้าหมายในการเทคโอเวอร์มักจะเป็นการซื้อกิจการเพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นการลงทุนที่คาดหวังในผลการดำเนินงานของธุรกิจนั้น ๆ ในระยะปานกลางหรือระยะยาว

แต่สำหรับที่ปรึกษาการเงินอิสระรายได้หลักมากจากค่าธรรมเนียมการเป็นที่ปรึกษาอย่างเดียวซึ่งเป็นตัวเงินไม่ใช่น้อย

สำหรับปี 2537 กลุ่มที่ "ร้อน" และมาแรงที่สุดคือกลุ่มพันธมิตรระหว่าง "เชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์-ธีระศักดิ์ สุวรรณยศ-ราเกซ สักเสนา" ถ้าย้อนกลับไปทบทวนการซื้อขายกิจการในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าถ้าไม่นับเอสเซทพลัส ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึง 1 ใน 3 แล้ว อีกครึ่งที่เหลือเป็นดีลที่เกิดขึ้นจากฝีมือของทั้ง 3 คนนี้

เชิดศักดิ์ เป็นลูกคนที่ 4 ของวิศวกรสร้างทางรถไฟที่ชื่อสนองและมารดา-วสันต์ ชีวิตในวัยเด็กของเขา เป็นคนเรียนเก่งสอบได้ที่ 1 มาตลอด ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงม.ศ.5 จะมีอยู่เพียงครั้งเดียว ที่เชิดศักดิ์บอกว่าตัวเองสอบ ได้คะแนนแย่ที่สุดคือ ที่ 9 เมื่อครั้งที่เขาสอบเลื่อนชั้นจาก ป. เตรียม (ชั้นอนุบาล) ขึ้นไปเรียน ป. 2

จึงไม่ต้องสงสัยว่านักเรียนมัธยมปลายของ ร.ร. พรหมมานุสรณ์ จ. เพชรบุรีคนนี้ติดบอร์ดของประเทศลำดับที่ 42 จากจำนวนผู้เข้าสอบทั้งหมดหมื่นกว่าคน แต่เขาใช้ชีวิตนิสิตวิศวะจุฬาฯ ได้เพียงปีเดียวก็สอบชิงทุนการรถไฟไปเรียนต่ออังกฤษถึง 6 ปี ได้เศรษฐศาสตร์บัณฑิตจาก LONDON SCHOOL OF ECONOMICSLSE และปริญญาโทด้าน SYSTEM ANALYSIS จากมหาวิทยาลัยแอสตัน อังกฤษ

เชิดศักดิ์ไม่ต้องทำงานใช้ทุนการรถไฟฯ นานถึง 18 ปีตามสัญญา เมื่อทักษิณ ชินวัตร ดึงตัวเขามาร่วมงานหลังจากอยู่กับการรถไฟเพียง 6 ปี เพื่อให้เขาไปช่วยกันสร้างอาณาจักรชินวัตรช่วงที่มีคนอยู่เพียง 7 คนเมื่อ 11 ปีที่แล้ว

คนเก่งอย่างเขาไม่เคยหยุดนิ่ง ประสบการณ์เป็นสิ่งที่เขาต้องการแสวงหา หลังจาก 3 ปีที่นี่ เขาอำลา "นาย" เมื่อเฮดฮันเตอร์ติดต่อเขาไปเป็น CEO และกรรมการผู้จัดการที่บริษัทฮานา อิเล็คโทรนิคส์อยู่ที่นี่ได้อีก 3 ปีเช่นกัน เขาก็เปลี่ยนงานไปอยู่กับเอทีแอนด์ที ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจที่แม้ตำแหน่งจะเล็กแต่เขาได้อยู่ในองค์กรขนาดใหญ่ที่จะเรียนรู้ระบบงานได้

จากเอทีแอนด์ที เชิดศักดิ์กลับมาอยู่กับชินวัตรอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงที่ชินวัตรกำลังขยายงานครั้งใหญ่ เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นกรรมการผู้อำนวยการเมื่อเดือนตุลาคมปี 2534 แต่นั่งเก้าอี้กรรมการผู้อำนวยการกลุ่มชินวัตรเพียงครึ่งปีเท่านั้น ก็มีอันต้องถูก "ปลดกลางอากาศ" จากตำแหน่งที่ควบคุมการบริหารทุกบริษัทในเครือ รวมทั้งกรรมการผู้อำนวยการชินวัตรแซทเทิลไลท์ ซึ่งรับผิดชอบโครงการดาวเทียมไทยคม เหลือเพียงตำแหน่ง EXECUTIVE CHAIRMAN ของชินวัตรอินเตอร์เนชั่นแนลซึ่งในขณะนั้นมีเพียงธุรกิจที่ลาวและกัมพูชาเท่านั้น

31 กรกฎาคม 2536 เชิดศักดิ์ตัดสินใจลาออกจากบริษัทชินวัตร

การเล่นบทคนกลางซื้อหุ้นบริษัทเทคโนโลยี แอพลิเคชั่นส์ (TATL) เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ทักษิณเคืองแค้น "น้องนุ่ง" คนนี้นัก หลังจากก่อนหน้านั้นบริษัทหน้าใหม่ ทีพีพีโดยผู้บริหารมือเก่าคือชาติชาย เย็นบำรุง แห่งชินวัตรไดเรคทอรี่ส์ เจ้าของสัมปทานสมุดรายนามผู้ใช้บัตรโทรศัพท์ที่กำลังจะหมดอายุลง ตัดหน้าเสนอราคาประมูลสูงสุดเหนือกลุ่มชินวัตรไป โดยที่แผนการเสนอผลประโยชน์ให้องค์การโทรศัพท์ของกลุ่มนี้ เชิดศักดิ์รับรู้โดยตลอดแต่ไม่บอกทักษิณ

ก่อนหน้าจะอำลา "นาย" เชิดศักดิ์หาทางออกให้ตัวเอง ด้วยการตั้งบริษัทแคปปิตอลเมเนจเม้นท์ ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ ข่าวสาร ข้อมูล วิเคราะห์ วางแผนโครงการ การซื้อขายกิจการ รวมกิจการ ควบกิจการ นำกิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

เขาเคยกล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ถึงช่วงแรกตั้งบริษัทว่า "ตอนนี้เราดูว่าทำอย่างไร เราถึงจะโตเร็ว ผมปรึกษากับพี่ ๆ บางคน เรามองว่าตลาดทุนเป็นแหล่งใหญ่ที่คุณจะทำอะไรได้ ถ้าจะโตโดยตั้งบริษัทใหม่นี่กว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง 3-4 ปี แล้วเงินทุนล่ะ ก็เลยคิดว่าทำอย่างไรเราจะเรียนลัด เราก็มาดูบริษัทในตลาดมีประมาณ 10% ที่ขาดทุนก็นึกถึงตัวเราว่าทำให้บริษัทขาดทุน มาได้กำไรก็มากเลยคิดว่าจะประยุกต์ใช้ทักษะประสบการณ์ของเราให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ถ้าทำได้เราจะช่วยแก้ปัญหาได้หลายคน… ผู้ถือหุ้นเก่าก็อยากจะออก เจ้าหนี้ก็อยากได้เงินคืน ผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ต้องพูดถึงเจ็บตัวอยู่เพราะราคาตก และถ้าเราทำได้ดี ผลตอบแทนสูงแน่…."

สำหรับธีรศักดิ์นั้น เคยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต ว่ากันว่ากรณีการจับสอง วัชรศรีโรจน์ข้อหาปั่นหุ้นนั้นส่งผลกระทบถึงขั้นทำให้ตัวเขาเองต้องลาออกจากนครหลวงเครดิต

หลังจากอยู่เฉย ๆ พักหนึ่งชื่อของธีรศักดิ์ก็ปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง คราวนี้ในฐานะที่ปรึกษาการเงินให้กับไพโรจน์ เปี่ยมพงสานต์แห่งกลุ่มบ้านฉาง เขาเป็นที่ปรึกษาให้กับพีแอนด์เอโฮลดิ้งซึ่งเป็นบริษัทของไพโรจน์ เข้าไปถือหุ้นในเอเชี่ยนฟุตแวร์ 12.7% ซิโนบริต 35% อินเตอร์ไลฟ์ 25.4% ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ 5% และชลประทานซีเมนต์ 4.61%

และเมี่อเข้าส่งเสริมดีลให้เกิดขึ้นแล้วเขาก็ต้องช่วยบ้านฉางด้วยการจัดโครงสร้างธุรกิจ เพื่อแบ่งแยกระหว่างกิจการส่วนตัวกับกิจการบ้านฉาง จากนั้นจึงมาจัดโครงสร้างการเพื่อให้เข้ากับประเภทธุรกิจ

นครหลวงเครดิตในสมัยที่เขานั่งเป็นเอ็มดีเคยเป็นลีดอันเดอร์ไรต์หุ้นบ้านฉางซึ่งถูกปฏิเสธจากตลาดหลักทรัพย์สองครั้งสองครา

"ผมเป็นกรรมการไม่มีอำนาจลงนาม ผมเข้ามาช่วยดูนโยบายธุรกิจ ช่วยกระตุกคุณไพโรจน์ ไม่ใช่เขาไม่ฟังคนที่ผ่านมา เพียงแต่เขามองอะไรยาวมาก มีแต่ระยะกลางและยาว ไม่ได้มองระยะสั้น" ธีรศักดิ์พูดถึงบทบาทของเขาในกลุ่มบ้านฉาง

คนที่รู้จักเขาดีพูดว่าธีระศักดิ์เป็นคนที่ไวในเรื่องของการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ มีวิธีคิดที่เป็นตรรกะ ลูกน้องรัก เชี่ยวชาญในเรื่องฟื้นฟูกิจการบริษัท

"ยุคที่เขาประมูลเก้าอี้โบรกเกอร์นั้น มีแต่คนปรามาสว่าซื้อแพงไป แต่ที่สุดเขาก็ปั้นนครหลวงเครดิตขึ้นมาอยู่ชั้นแนวหน้าได้ภายในเวลาไม่กี่ปี การที่เขาเคยอยู่ภาคเอกชน เคยปล่อยกู้โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ จึงมีทัศนะคติที่เข้าใจและเข้าถึงพ่อค้า-นักธุรกิจกอปรกับนิสัยของเขาเองเป็นคนใจถึง รักพวกพ้อง เครือข่ายเขาจึงกว้างขวาง อาจจะไม่ได้มีภาพของ "เทพ" เหมือนนักการเงินลายครามหลายคน แต่ก็มืออาชีพที่ลุยอย่างเป็นระบบและเป็นที่รักใคร่ของคนเกี่ยวข้อง" นี่คือธีรศักดิ์ในสายตาของคนที่รู้จักเขาคนหนึ่ง

ธีระศักดิ์ไม่ได้สัมพันธ์เพียงแค่ไพโรจน์ แต่รวมไปถึงสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง แห่งบริษัทนครไทยสตีลเวอร์ค ซึ่งนครหลวงเครดิตเป็นที่ปรึกษาการเงินตอนบริษัทนี้จะเข้าตลาดด้วย

ธีระศักดิ์พูดถึงตัวเองว่า "ถึงวันนี้ ผมอาจจะไม่ใช่คนเก่ง แต่จากประสบการณ์ที่ทำที่นครหลวงเครดิต คิดว่าน่าจะทำได้เพราะตอนนั้น ก็ลองผิดลองถูกจากนั้นมาเราเห็นว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ ที่ทำได้ สถานการณ์ช่วยด้วย และดร. สมให้คำแนะนำเยอะถ้าเป็นหนังจีนคือจบเส้าหลินแล้ว ก็อยากจะออกนอกด่าน ผมคิดว่าถ้าจะกลับไปไฟแนนซ์ผมจะไปแค่ 3 ปี ไม่มากกว่านั้น ที่จะไปคือจะไปช่วยเขาแก้ปัญหา เมื่อวางระบบแล้วก็ไป ผมเชื่อว่าบริษัทคือนิติบุคคลจะอยู่ได้ก็ด้วยระบบ ใครมาใครไปก็ไม่เดือดร้อน แต่ที่แน่ ๆ ผมอยู่เมืองไทยไม่ไปไหนทั้งนั้นพ้นจาก 3 ปี จะไปทำธุรกิจส่วนตัว"

ธุรกิจส่วนตัวของธีระศักดิ์คือบริษัท เลเซอร์แฟชั่น ซึ่งร่วมทุนกับเยอรมัน เป็นโรงงานที่อยู่บางพลี ครอบครัวสุวรรณยศถือ 30% ผลิตเสื้อแจ็คเก็ต

ส่วนครอบครัวถือ 100% คือ DHENA INDUSTRY อยู่ที่ปากีสถาน ผลิตแจ็คเก็ต รองเท้าหนัง รองเท้ากีฬา กระเป๋าหนัง ขายตลาดยุโรป เป็นกิจการดั้งเดิมของพ่อของเขา

แต่เขาจะหลุดไปทำธุรกิจส่วนตัวได้จริงหรือเปล่านั่นนยังน่าสงสัยอยู่ เพราะเดือนกรกฏาคมนี้เขาจะไปนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการที่ บงล. ไอทีเอฟ ของกลุ่มกฤษดาธานนท์ ที่เขาสนิทสนมคุ้นเคยกันดี คนที่ทาบทามให้เขาเข้าไปนั่งเก้าอี้ตัวนี้คือ วิวัฒน์ วินัจฉัยกุลซึ่งเคยเป็นประธานของนครหลวงเครดิตมาก่อน

ธีระศักดิ์มารู้จักกับเชิดศักดิ์ก็ที่นครหลวงเครดิตด้วยเช่นกันโดยในตอนนั้นนครหลวงเครดิตเป็นหนึ่งในแกนนำอันเดอร์ไรเตอร์ให้กับบริษัทไอบีซี

คนที่สามคือราเกซ สักเสนานั่งประจำอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ ในสถานะที่ไม่ค่อยจะชัดเจนนักว่าเกี่ยวข้องอะไรกับทางธนาคาร ความคล่องแคล่วว่องไวและรู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาของเขานั้น เป็นบุคลิกที่ทำให้คนที่รู้จักสามารถเกิดความรู้สึกทั้งเชื่อถือ และไม่ไว้ใจไปพร้อมๆ กันได้

เขาบอกว่ารู้จักกับเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ตั้งแต่สมัยที่เกริกเกียรติยังทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อเกริกเกียรติลาออกมาบริหารอยู่ที่กิจการธนาคารของครอบครัว เขาก็มาร่วมงานด้วยตั้งแต่ปี 2530 โดยทำหน้าที่ที่ปรึกษาฝ่ายการบริหารเงิน

"ผมให้นิยามอาชีพตัวเองว่า เป็นเทรดเดอร์ไม่ใช่นักลงทุน ธุรกิจของผมคือการซื้อขายเงินล่วงหน้าที่ทำกันในตลาดต่างประเทศ ไม่ใช่ที่นี่" ราเกซพูดถึงงานของตัวเอง

แต่ราเกซในความรับรู้ของคนทั่ว ๆ ไปนั้น เขาคือ "ดีลเมกเกอร์" คนหนึ่ง

"บางครั้งลูกค้าก็มาหาผม หรือไม่ก็เป็นลูกค้าของแบงก์อยู่แล้ว เช่นโกลเบ็กซ์นี่ก็เป็นลูกค้าแบงก์แล้วเราก็คุยกัน เป็นคนติดต่อ ผมให้คำแนะนำปรึกษา ไม่ใช่ว่ามีธุรกิจหรือกิจการต่างหากที่จะมาเกี่ยวข้องหรือได้ประโยชน์จากการทำดีล" ราเกซยังยืนยันว่าการเป็นคนกลางในการเจรจาซื้อขายกิจการไม่ใช่งานหลักของเขา

โกลเบ็กซ์ที่เขาพูดถึงก็คือหัวหอกในความพยายามเข้าเทคโอเวอร์บริษัทฟินิคซ์ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์ นั่นเอง

การเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มผู้ซื้อในการเทคโอเวอร์ฟินิคซพัลพ์ฯ ของราเกซ เป็นจุดที่ทำให้เขาได้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับเชิดศักดิ์ และในการขายหุ้นบริษัทเซมิคอนดัคเตอร์ หรือเอสวีไอ 20.18% ให้กับบริษัทเพรสซิเดนท์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ของณัชชัย ถาวระวัชและขายหุ้นทีเอทีแอล 19.29% ให้กับบริษัทวินิเวศของสุชาติ ตันเจริญเมื่อเร็ว ๆ นี้ เชิดศักดิ์ก็ใช้ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

หรือถ้าจะกล่าวกันให้ชัด ๆ ก็คือ ร่วมปรึกษาหารือกับราเกซในการขายหุ้นเที่ยวนั้

การขายหุ้นเอสวีไอและทีเอทีแอลเที่ยวนี้ เชิดศักดิ์อยู่ในฐานะผู้ขาย เพราะแบกหุ้นทั้งสองตัวที่ทางกลุ่มเอ็มกรุ๊ปขายคืนให้เอาไว้เต็มมือ เงินที่เขาใช้ซื้อหุ้นจากลุ่มเอ็ม กรุ๊ปนั้น ก็ได้รับการสนับสนุนจากแบงก์กรุงเทพพาณิชยการด้วยเช่นกัน

ส่วนธีรศักดิ์กับราเกซนั้น รู้จักมาก่อนหน้านี้แล้ว และครั้งที่ไพโรจน์ซื้อหุ้นเอเชียนฟุตแวร์ 7.2% เมื่อกลางปี 2536 และหุ้นบีบีซี ธีรศักดิ์กับราเกซเป็นกุนซือในการเสนอคำแนะนำ เพราะเอเชี่ยนฟุตแวร์นั้นผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิซึ่งเป็นของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการนั่นเอง

"ผมมองว่าราเกซนั้นเป็นพันธมิตรชั่วครั้งชั่วคราวเขามีของเขาอยู่ในมือ เป็นนักซื้อขาย ส่วนธีระศักดิ์และเชิดศักดิ์เป็นคนทำดีลและหาคนซื้อตัวจริงอย่างเช่นไพโรจน์ที่ถูกดึงมาในแง่คนซื้อกิจการที่อยากสร้างอาณาจักร" คนที่เคยเกี่ยวพันกับทั้งสามคนตั้งข้อสังเกตถึงภาพความเกี่ยวโยงระหว่างกัน

พฤติกรรมการเป็นดีลเมกเกอร์เช่นนี้ เริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่า แท้จริงแล้วก่อให้เกิดผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจขึ้นหรือไม่ หรือเพียงแต่เป็นช่องทางสร้างความร่ำรวยให้กับคนที่เกี่ยวข้องเพียงไม่กี่คนเท่านั้นภายใต้คำอธิบายว่า นี่คือปรากฏการณ์ปกติธรรมดาของวิวัฒนาการทางด้านตลาดทุนซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ในช่วงทศวรรษ 1980

"…บางกิจการเข้าสู่ตลาดฯ แล้ว หาได้เพียรพยายามประกอบธุรกิจให้มีความก้าวหน้า กิจการมีแต่ถดถอยลงไปทุกขณะเจ้าของเองมุ่งหวังแต่จะขายเปลือกนอกแห่งความเป็นกิจการในตลาดฯ ด้วยการอาศัยช่องว่างแห่งกฎเกณฑ์ไม่ว่าจะด้วยการขายทางประตูหน้าหรือประตูหลัง ด้วยการผ่านคนกลางที่ทำหน้าที่คอยจับคู่ระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ต้องการจะขาย ร่ำรวยไปทั้งคนขายและคนหาคู่โดยไม่ตระหนักในความรับผิดชอบต่อการดำเนินธุรกิจที่จะตามมาในภายหลัง

คำถามที่ควรจะตอบก็คือจะทำอย่างไรกับกิจการประเภทเหล่านี้หรือควรปล่อยให้สภาพการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ?..…..

ความหมายของการซื้อกิจการที่เป็นคุณทางเศรษฐกิจ กำลังกลายเป็นการปล้นกิจการโดยถูกกฎหมาย…….. และคำถามที่น่าจะถามต่อไปก็คือเป็นการสมควรแล้วหรือที่สถาบันการเงินจะให้ความช่วยเหลือในเกมแห่งการช่วงชิงเหล่านี้ หากเจตนาของผู้ช่วงชิงส่อไปในทางที่เป็นลบ เพราะการช่วงชิงนี้จะเกิดไม่ได้เลยหากปราศจากการสนับสนุนทางการเงินขนาดใหญ่จากสถาบันการเงิน

ตลาดหุ้นนั้นเป็นองค์กร และเป็นกลไกที่ช่วยให้เกิดความจำเริญด้านวัตถุ แต่หากจะให้สมบูรณ์นั้นจะต้องให้ความสำคัญด้านศีลธรรมจรรยาควบคู่กันไปด้วย ไม่ใช่ลอกเลียนสิ่งที่ปฏิบัติในต่างประเทศ และเชื่อในความเป็นสากลแห่งธรรมเนียมการปฏิบัติโดยหาได้ตระหนักไม่ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น เขามีความเจริญทางวัตถุก็จริง แต่ในด้านศีลธรรมจรรยานั้นมันเสื่อมทรามลงทุกวัน หรือสิ่งที่เราเชื่อว่ามันเป็นสากลแล้วจะต้องเป็นเช่นนั้นในบ้านเมืองเราโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมทางสังคม คำถามเหล่านี้ควรหาคำตอบแต่เนิ่น ๆ เพราะเส้นทางการพัฒนาตลาดทุนในบ้านเรายังต้องเดินอีกไกล และพฤติกรรมที่ไร้ซึ่งคุณธรรมและศีลธรรมจรรยา ยังมีให้เห็นอีกมาก หากไม่คิดจะหยุดยั้งมันเสียก่อน"

สมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ นักวิชาการด้านการบริหารธุรกิจ ตั้งคำถามท้าทายทั้ง "ผู้เล่น" และ "ผู้คุ้มกฎ" ผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ไว้เช่นนี้

สมญานาม "นักเช็งลี้หุ้น" และ "พ่อมดการเงิน" เกิดขึ้นอย่างมีนัยถึงคนทั้งสามนี้ ด้วยพฤติกรรมที่ประหนึ่งจอมขมังเวทย์ร่ายมนต์ตลาดทุน-คาถาฟองสบู่เนรมิตความร่ำรวยชั่วข้ามคืนให้บังเกิดขึ้นมาจากความว่างเปล่าได้อย่างอัศจรรย์

เพราะรายได้ของที่ปรึกษาการเงินหรือดีลเมกเกอร์เหล่านี้นั้นจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีกิจกรรมการซื้อขายธุรกิจเกิดขึ้น ยิ่งเกิดขึ้นมากเท่าใดก็ยิ่งมีความต้องการบริการการให้คำปรึกษาหรือการจัดการทางด้านการเงินมากขึ้น

และถ้าอยากจะเพิ่มยอดรายได้ให้สูงลิ่วในอัตราเร่ง ก็ต้องสร้างกิจกรรมซื้อขายให้เกิดขึ้นมาเอง ด้วยวิธีจับแพะชนแกะ นำสินค้าคือบริษัทที่เป็นเป้าหมายไปเที่ยวเร่ขาย

อย่างไรก็ตามธีระศักดิ์ก็ยังยืนยันว่า "ผมไม่คิดว่าคนเหล่านี้ สร้างดีลขึ้นมา แต่มีความต้องการเกิดขึ้นและตัวกลางเหล่านี้เข้าไปเจรจา ในการต่อรองหรือการซื้อหุ้นก็ต้องมีมืออาชีพ มีที่ปรึกษาการเงิน"

ว่าแล้วเขาก็แจกแจงแนวคิดเรื่องเทกโอเวอร์หรือวัฎกรรมทางการเงินเกิดขึ้นในไทยว่ามีแม่แบบมาจากประเทศพัฒนาแล้วเช่นอเมริกา ยุโรป ซึ่งที่นั่นมีการแยกอย่างเด็ดขาดระหว่างผู้ถือหุ้นกับผู้บริหารผู้ถือหุ้นเปลี่ยนได้ตลอด ฝ่ายบริหารก็เปลี่ยนได้เช่นกัน การเปลี่ยนอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นอาจจะส่งผลทั้งในทางดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้

ธีระศักดิ์แยกแยะบทบาทที่แตกต่างของเขาและพันธมิตรว่า "ราเกซ เป็นที่ปรึกษาทำทุกอย่าง เชิดศักดิ์เน้นเข้าไปฟื้นฟู ส่วนผมเป็นวิศวกรการเงิน…สิ่งที่ผมการันตีได้คือเชิดศักดิ์ "คลีน" และทำอย่างมืออาชีพ คนอื่น ผมไม่รู้"

มีข้อสังเกตว่า บริษัทที่ตกเป็นเป้าหมายในการที่จะถูกจับขึ้นมา "ซื้อขาย" หรือ "เมคดีล" กันนั้นมักจะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เสียเป็นส่วนใหญ่เพราะสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีคุณค่ามากพอที่ผู้ต้องการซื้อจะให้ความสนใจ

เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือ การ "เมคดีล" กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ผลประโยชน์ที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้ ไม่เฉพาะแต่ค่าธรรมเนียมการเป็นที่ปรึกษาหรือส่วนต่างจากราคาซื้อขาย ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่ควรจะได้ตามกฎเกณฑ์เท่านั้น หากยังแฝงไว้ด้วยผลตอบแทนที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น ด้วยการใช้กลยุทธ์การจัดการกับข้อมูลข่าวสารอย่างมีจังหวะด้วย

ด้วยรูปแบบความสัมพันธ์ที่เกาะเกี่ยวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกันหมด ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขายและคนกลาง ซึ่งเป็นที่ปรึกษา จึงสามารถกำหนดเกมส์ที่จะมีผลต่อทิศทางของราคาหุ้นได้อย่างไม่ยากเย็น โดยการใช้ "ข้อมูลภายใน" หุ้นหลาย ๆ ตัวที่มีการเทคโอเวอร์กันจะมีข่าวปล่อยออกมาล่วงหน้าก่อนที่จะมีเปิดเผยอย่างเป็นทางการ เพื่อทำราคาหุ้นให้สูงขึ้นไป คนที่ได้กำไรก็คือ คนที่รู้ข้อมูลล่วงหน้าแล้วดักซื้อหุ้นรอไว้ก่อนซึ่งผู้ที่มีโอกาสจะรู้ล่วงหน้าได้มากที่สุดก็คือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายกิจการเท่านั้น

กรณีของหุ้นฟินิคซ์ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์นั้น ตั้งแต่ไตรมาสแรกมีการเก็บหุ้นตัวนี้เรื่อย ๆ ก่อนหน้านี้จะมีใครแย้มพรายเรื่องเทกโอเวอร์ ราคาหุ้นขยับจาก 30 บาทเศษมาเป็น 50 บาทเศษก่อนหน้าการซื้อขาย ราคาหุ้นเมื่อ 21 เม.ย. ก่อนแขวนป้ายเอสพีอยู่ที่ 51 บาท เมื่อปลดเครื่องหมาย ราคาพุ่งสูงสุดที่ 102 แต่ปิดตลาดที่ 76 จากนั้นไต่ระดับขึ้นมาซื้อขายสูงสุดที่ราคา 107 ในวันที่ 9 พ.ค. เป็นระดับราคาที่สูงกว่า 2 เดือนก่อนถึง 3 เท่าตัว แต่ในที่สุดได้ลงมาอยู่ที่ 80 กว่าบาท และในเดือนมิถุนายนขยับขึ้นไปเป็น 90 กว่าบาท

ระยะหลัง มีการให้ข่าวทางสื่อมวลชนกันอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการเทคโอเวอร์ก่อนที่จะมีการแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์รับทราบอย่างเป็นทางการเสียด้วยซ้ำ และบางกรณีก็เป็นข่าวเสียก่อนที่แผนการซื้อขายจะเรียบร้อยลงตัวด้วยซ้ำ

"ก็นักข่าวมาหาผมเอง เขาไม่ไปถามคนอื่นนี่ ผมไม่ได้เสนอตัว คนรับผิดชอบที่นี่ก็มี แต่ไม่มีใครคุยกับเขาเอง ใครสนใจคุยเรื่องเทคโอเวอร์หรืออะไรผมก็คุยได้ทั้งนั้น ไม่ได้ปิดบังอะไร" ราเกซอธิบายถึงสาเหตุที่มีชื่อเป็นคนให้ข่าวหลายครั้ง

ปรากฏการณ์ของความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่มีข่าวเกี่ยวข้องกับการเทคโอเวอร์ ปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องข้อมูลข่าวสาร นำไปสู่ประเด็นจริยธรรมและจรรยาบรรณของบรรดาที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเหล่านี้ รวมไปถึงชะตากรรมของนักลงทุนรายย่อยที่ไม่ทันเกมส์การจัดการด้านข้อมูลข่าวสารของคนพวกนี้

ธีรศักดิ์กล่าวว่า "นักลงทุนรายย่อยจะต้องวิเคราะห์ในกิจกรรมที่เราเข้าไปลงทุน ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนผู้ถือหุ้น นักลงทุนรายย่อยในฐานะผู้ถือหุ้นเหมือนกัน ต้องรู้ว่ามันจะดีไหม ถ้ามีการเปลี่ยนจะต้องมีการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถออกตัวได้ในราคาที่ยุติธรรม เช่นอย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าราคาที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ตกลงกัน"

คำอธิบายของราเกซดูจะคล้ายคลึงกันกับธีระศักดิ์ "ประเด็นเรื่องนักลงทุนรายย่อยนั้น ผมเห็นว่าเขาควรจะติดตามข้อมูลให้มากกว่านี้ ต้องตรวจสอบข้อมูลกับนักวิเคราะห์หลักทรัพย์และโบรกเกอร์ต้องดูให้ดี ไม่งั้นไม่ควรเข้ามา ส่วนมากนักเก็งกำไรผมไม่สน เป็นเรื่องที่พวกเขาต้องรับผิดชอบตัวเองอย่างกรณีฟินิคส์ พัลพ์ฯ นั้น ผมถือว่าผู้ที่เป็นนักลงทุนจริงๆ เขาได้เงินไปแล้ว ตั้งแต่ก่อนเปิดทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ คือช่วงตั้งแต่ก่อน 30 บาทไปถึง 50 บาท และเราก็เสนอราคารับซื้อที่ 86 บาทเราปกป้องไปแล้วระดับหนึ่ง แต่ถ้าใครจะเข้ามาเก็งเรื่อง 102 บาท เราไม่รู้ ใครได้ใครเสียในเกมนี้แป็นอีกเรื่อง ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา"

"นี่คือธุรกิจ ถ้าพูดเรื่องจริยธรรม เราก็ต้องไปเข้าวัดคุยกัน สิ่งที่เราทำคือ เมื่อจะทำดีลแต่ละอันเราจะดูกฎหมาย ดูระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งของตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต. ว่า ให้เราทำอะไรในเงื่อนไขใดบ้าง ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเราก็พร้อมจะทำตามนั้น เราปฏิบัติตัวตามกฎ ไม่ได้มานั่งนึกถึงเรื่องจริยธรรม" ราเกซพูดถึงเรื่องจริยธรรมได้อย่างชัดเจน

ส่วนเชิดศักดิ์เคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้เช่นกันว่า "ที่ปรึกษาการเงิน มักถูกทางการเพ่งเล็งเนื่องจากต้องดำเนินธุรกิจร่วมกับทั้งผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง...ผมเห็นว่ากรณีของการสร้างราคาเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ลำบาก เหมือนกับการใช้ข้อมูลภายใน การสร้างราคาจากการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ เป็นการอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายที่มีอยู่มาสร้างประโยชน์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดเพราะโอกาสเปิด ใครก็ต้องคว้าไว้ ถ้าทางการไม่ต้องการให้มีการอาศัยประโยชน์ตรงนี้ก็ต้องตีความแก้ไขกฎหมายออกมา ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาเพราะ พ.ร.บ. หลักทรัพย์เพิ่งประกาศใช้เมื่อ 2535"

ที่เขาพูดถึงก็คือ การทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ที่ทางการยังไม่มีการกำหนดระยะเวลาก่อน หรือหลังออกมาชัดเจนว่าผู้เกี่ยวข้องควรปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อไม่หราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนไหวมาก

ข้อสรุปเรื่องจรรยาบรรณ คงยังไม่มีในขณะนี้นอกจากจะรอผลจากคณะกรรมการดูแลด้านเรื่องการครอบงำกิจการที่ตั้งขึ้นโดย ก.ล.ต. อันประกอบด้วยมารวย ผดุงสิทธิ์ เป็นประธาน และมีผู้ที่มีบารมีกว้างขวางในวงการเงินได้แก่ สุวรรณ วลัยเสถียร กรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ บง. เอกธนกิจ ภควัตร โกวิทวัฒนพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บงล.เอกธำรง ณรงค์ ปัทมเสวี กรรมการผู้จัดการ บงล. นิธิภัทร และ ผอ. ฝ่ายกฎหมาย ก.ล.ต. วสันต์ เทียนหอม เป็นกรรมการ ซึ่งจะร่างรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และระยะเวลาการจัดทำความเห็นเกี่ยวกับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์

ตราบใดที่ช่องว่างทางกฎหมายยังไม่ถูกอุดกฎกติกายังไม่รัดกุม ชัดเจน พ่อมดการเงินก็ยังมีโอกาสที่จะร่ายมนต์คาถาฟองสบู่อยู่อีกต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us