"ผมไม่ใช่คนแรกที่โดนแบบนี้" เป็นคำพูดสั้น ๆ ของธรรมนูญ ประจวบเหมาะ
ผู้ซึ่งบัดนี้กลายเป็นอดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยไปแล้ว ครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่สองที่คนในตระกูลประจวบเหมาะโดนมรสุมการเมืองหลังจากเหตุที่สมหมาย
ฮุนตระกูลปลดนุกูล ประจวบเหมาะพ้นจากผู้ว่าแบงก์ชาติ
ข้อหาที่ธรรมนูญโดนจากมติบอร์ดของ ททท. ชี้ว่าธรรมนูญมีจุดบกพร่องขาดความสามารถที่ไม่อาจรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานได้ในกรณีบริษัท
ททท. สินค้าปลอดอากรที่ ททท. ร่วมทุนกับบริษัท ดาวน์ ทาวน์ ดิวตรี้ฟรี (ประเทศไทย)
ของวิชัย รักศรีอักษรด้วยข้อกล่าวหาว่า บริษัทจ่ายค่าตอบแทนให้ ททท. ไม่ครบ
ค้างชำระถึง 40 ล้านบาท โดยไม่มีการติดตามทวงหนี้และให้อัตราดอกเบี้ยของเงินค้างชำระต่ำ
แม้จะมีปัญหาดังกล่าวแต่สัญญาของบริษัท ททท. สินค้าปลอดอากรที่จะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมปีนี้กลับได้รับการพิจารณาโอกาสที่จะต่อสัญญาอีกห้าปี
จนก่อให้เกิดความระแวงแคลงใจในหมู่กรรมการบอร์ด ททท. ในผลประโยชน์มหาศาล
ดังที่เคยมีข่าวลือว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้วนักการเมืองพรรคชาติไทยซึ่งปัจจุบันย้ายไปอยู่พรรคใหม่เคยได้รับเงินก้อนใหญ่ที่ตามน้ำมาไม่ต่ำกว่า
20 ล้านในการเปิดให้มีร้านค้าปลอดภาษีในเมืองของ ททท. เกิดขึ้น
กรณีการร่วมทุนระหว่างเอกชนกับ ททท. นับตั้งแต่เปิดแห่งแรกที่อาคารมหาทุนพลาซ่ากับที่กรมศิลปากร
และขยายไปสร้างร้านค้าปลอดภาษีในเมืองท่องเที่ยว และออกไปตั้งสาขาในต่างประเทศด้วย
เช่นกัมพูชา และจีน โดยมีสัญญาครั้งละ 5 ปี จัดผลตอบแทนให้ ททท.10% การท่าอากาศยานฯ
2% กรมศุลกากร 15% ตั้งแต่เปิดมาเดือนตุลาคม 2532 บริษัทแจ้งว่าได้จ่ายให้รัฐไปแล้ว
550 ล้านบาท
โดยทั่วไป หากจะจับผิดผู้บริหาร ททท. ก็เพียงแต่เจาะลึกลงไปในแหล่งประโยชน์มหาศาลแห่งนี้
ย่อมมีเหตุอันน่าสงสัยที่นำไปตั้งเป็นข้อกล่าวหาได้มากมาย นับตั้งแต่ยอดขายที่แจ้งอาจไม่ตรงกับความจริง
รัฐเสียเปรียบ ขณะที่พ่อค้าร่ำรวยผิดสังเกต
ปมขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างความเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างดอกเตอร์หนุ่มอย่างสาวิตต์
โพธิวิหคในฐานะนายที่มองว่าผู้ว่าฯ ททท. ธรรมนูญ ประจวบเหมาะทำงานไม่สนองตอบนโยบาย
ขณะที่ธรรมนูญมองว่าคนนอกอย่างสาวิตต์ก็เฉกเช่นเดียวกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
อื่นที่ไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจในวัฒนธรรมการทำงานของ ททท. โดยเฉพาะกรณีการผลักดันของสาวิตต์ในเรื่องนโยบายใช้เขตวนอุทยานเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว
โดยใช้ พรบ. การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือให้เอกชนเข้าไปลงทุนพัฒนาได้เช่นกรณีเขาใหญ่
ซึ่งทางธรรมนูญต้องไปประสานงานกับกรมป่าไม้ตามที่ "นายสั่ง"
ดังนั้น ในต้นปีนี้สาวิตต์ในฐานะประธานบอร์ดจึงใช้มติแต่งตั้งอนุกรรมการกลั่นกรองงานบริหาร
ททท. ที่ถูกคน ททท. มองว่าเป็น "ศาลเตี้ย" โดยอาศัยอำนาจตาม ม.
21 สร้างแรงกดดันอย่างรุนแรงต่อผู้ว่าฯ ธรรมนูญ ซึ่งยืนยันว่าทุกสิ่งทุกอย่างนี้ตนรับผิดชอบสองหน่วยงานนี้เป็นไปโดยสุจริตใจ
และได้ผ่านความเห็นชอบและรับรู้จากระดับสูงตลอดมา
มรสุมการเมืองที่เล่นงานธรรมนูญ และรองผู้ว่าฯ ได้ตั้งเค้าตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้
ทั้ง ๆ ที่ธรรมนูญได้พยายามปรับตัวให้เป็นที่พอใจต่อสาวิตต์โดยโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงภายใน
โดยย้ายเสรี วังส์ไพจิตรจากรองผู้ว่าฯ ฝ่ายวางแผนและพัฒนาไปอยู่ฝ่ายการตลาดแทนวีระเกียรติ
อังคะทะวานิชรองผู้ว่าการฝ่ายบริหารปัจจุบัน ส่วนไพโรจน์ ธรรมาภิมุก ย้ายไปเป็นที่ปรึกษา
และได้ลูกหม้อเก่าอย่างธรรมศักดิ์ โรจนสุนทรที่ลาออกจากธนายงมาเป็นรองผู้ว่าฯ
ฝ่ายวางแผนและพัฒนาแทน แต่ทำได้ไม่ถึงสามเดือนก็ขอลาออกจากเหตุไม่พอใจที่ปลดเพื่อนรักอย่างธรรมนูญ
แต่การเปลี่ยนแปลงประเภทที่ยังคงใช้คนเดิม ไม่ก่อให้เกิดความพอใจแก่สาวิตต์แต่อย่างใด
สาวิตต์ โพธิวิหค เป็นคนรุ่นใหม่ที่ผลิตจากการศึกษาระบบอเมริกัน จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมจากเอ็มไอที
และปริญญาโทเอกด้านวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ด
สิบกว่าปีที่สาวิตต์มีบทบาท และส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจสำคัญ
ๆ โครงการระดับยักษ์ใหญ่ที่สาวิตต์ทำขณะอยู่สภาพัฒน์ฯ ได้แก่โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกและภาคใต้
สาวิตต์เข้าสู่วิถีการเมืองในฐานะ สส. พรรคประชาธิปัตย์ และได้รับตำแหน่งประธานคณะนโยบายเศรษฐกิจของพรรคทันที
และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ โดยภารกิจหนึ่งที่สำคัญของเขาคือดูแลนโยบายของการท่องเที่ยวฯ
ขณะที่คนแก่วัยหกสิบอย่างธรรมนูญ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ทำงานกับการท่องเที่ยวฯ
มานานนับ 34 ปี มีประสบการณ์บริหารหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ สายสัมพันธ์ธุรกิจกว้างขวาง
ย่อมจะมีศักดิ์ศรีของคนเก่าแก่ที่ยอมรับไม่ได้กับท่าทีของประธานบอร์ด ททท.
อย่างสาวิตต์ ที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพหย่อนยานของทีมบริหาร ททท.
ชุดที่มีธรรมนูญเป็นผู้นำ
เหตุนี้เอง จึงเป็นเรื่องของความขัดแย้งของวัฒนธรรมการบริหารของคนรุ่นใหม่แบบสาวิตต์กับธรรมนูญ
และทีมงานคนรุ่นเก่าที่ร่วมสร้างตั้งแต่ ททท. เกิด แต่ถูกมองว่าหย่อนยานในประสิทธิภาพและสมรรถภาพการทำงาน
"ในฐานะประธานคณะกรรมการจะมาดูหมิ่นดูแคลนผมยอมไม่ได้ ผมทุ่มงานและทุ่มชีวิตให้กับหน่วยงานนี้ถึง
34 ปี ผมมีส่วนสร้างมันมาด้วยมือของผมร่วมกับน้อง ๆ ทั้งหลายใน ททท. นี้
แล้วคนอย่างผมหรือ? จะมาเสี่ยงกับการทำอะไรบ้า ๆ อย่างนั้นได้ ผมจะฉุดสถาบันนี้ลงเหวไปได้อย่างไรมันเป็นหน้าตาของประเทศ
เป็นชื่อเสียงเกียรติวงศ์ตระกูล "ประจวบเหมาะ" ที่มีทั้งทหารและพลเรือนที่มีส่วนทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ"
สิ้นเสียงธรรมนูญกล่าว เสียงปรบมือแล้วปรมมืออีกของม็อบพนักงานที่มาชุมนุมให้กำลังใจก็ดังขึ้นเป็นระยะ
ๆ
หากพิจารณาสาวิตต์ในฐานะนักบริหารนโยบาย ย่อมมองเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่
ททท. จะต้องยกเครื่องปรับโครงสร้างใหม่ โดยวางศักยภาพกำลังผู้บริหารเลือดใหม่ที่เข้าใจ
VISION ของสาวิตต์ เพื่อวางจุดยืนของหน่วยงานในฐานะหน่วยบริการ และประสานงานกับเอกชนที่จะตอบสนองรับต่อกระแสโลกานุวัตรที่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจโลก
เป็นงานบริหารที่คนรุ่นใหม่น่าจะทำได้ดีกว่า
"ผมให้ความสำคัญกับหน่วยงานนี้มากที่สุด เพราะเชื่อว่าที่นี่เป็นหน่วยงานสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศชาติความสำเร็จของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับคนหลายฝ่าย
สำคัญที่สุดคือภาคเอกชนที่เป็นผู้ลงทุนโดยตรง แต่เรามีหน้าที่ประสาน เราคงจะไม่พูดเคลมเครดิตว่าเป็นของเราทั้งหมด"
นี่คือหลักการที่สาวิตต์แถลงข้อข้องใจตลอดสองชั่วโมง ในวันที่เดินทางไปชี้แจงข้อข้องใจของพนักงาน
ททท. ซึ่งต้องพบกับม็อบที่โห่ ชูป้ายขับไล่ ประธานบอร์ด
"ขณะนี้ผมโดนการเมืองเล่นงาน ทำให้เสียหายถึงชื่อเสียงวงศ์ตระกูล
รวมถึงประวัติการทำงาน และสถาบันที่รักและหวงแหน ผมคงต้องไปเล่นการเมืองบ้าง
และถ้าจะเล่นผมก็จะขอเล่นในเขตที่ท่านประธานสาวิตต์ลง" นี่คือคำท้าของคนเมืองเพชรอย่างธรรมนูญซึ่งกำลังรอที่จะชำระความแค้น
ความวิตก กังวลของคนรุ่นเก่าที่เป็นพนักงาน ททท. ร่วมสมัยกับธรรมนูญ ที่ทำงานที่นี่นานนับ
34 ปี ได้กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกมการเมืองที่นี่อาจจะไม่จบลงได้ง่าย
ๆ แม้ว่าสาวิตต์จะ "ล้างบาง" ธรรมนูญและพวกให้พ้นจากอำนาจหน้าที่ใน
ททท. ก็ตาม ภารกิจในการยกเครื่อง ททท. ของดอกเตอร์หนุ่มอย่างสาวิตต์จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตาต่อไป
!!