"ธอส." กำไรหดจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย หน้ามืดเร่งตามหนี้ส่วนขาดหารายได้เสริม ปีนี้ตั้งเป้า 200 ล้านบาท พร้อมผ่อนเกณฑ์ให้ลูกหนี้ที่อยู่ในบัญชีเดียวกันหารความรับผิดชอบจ่ายหนี้ได้ จากเดิมต้องจ่ายร่วมกันจึงปลดออกจากบัญชีแบล็คลีส
นายวัฒนา มโนเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารมีแผนที่จะติดตามหนี้ส่วนขาดหรือหนี้ที่เกินหลักประกัน เพื่อสร้างรายได้ให้กับธนาคาร เนื่องจากได้ตั้งสำรองไว้เต็ม 100% สามารถบันทึกเป็นกำไรได้เลย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวน 18,000 ล้านบาท โดยได้ตั้งเป้าติดตามหนี้ในปีนี้ 200 ล้านบาท
สำหรับมาตรการในการติดตามหนี้ส่วนนี้ในเบื้องต้นที่คิดไว้คือ เปิดโอกาสให้ลูกหนี้เข้ามาติดต่อขอชำระหนี้กับธนาคารถึงวันที่ 15 ธันวาคม 49 โดยให้แจ้งความประสงค์ที่จะชำระหนี้ส่วนขาดได้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน - 15 ตุลาคม 2549 ซึ่งธนาคารจะให้ส่วนลดพิเศษ 40-70% ของยอดหนี้แต่ละราย
นอกจากนี้ บางส่วนได้มอบให้บริษัทเอกชนที่รับติดตามหนี้ที่เป็นมืออาชีพรับไปดำเนินการ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่สนใจเสนอตัวเข้ามาแล้วกว่า 13 ราย ซึ่งจะเป็นผู้ติดตามทวงหนี้ครอบคลุมตั้งแต่การทำหนังสือทวงถาม การสืบทรัพย์ และการยึดสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน หรือเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร
นายวัฒนากล่าวอีกว่า ธอส. ได้ออกแนวทางใหม่เพื่อช่วยลูกหนี้ คือ ธอส.จะผ่อนปรนให้กับลูกหนี้ที่กู้ร่วมสามารถแยกชำระได้ เช่น มีลูกหนี้ 3 รายในบัญชีเดียวกัน สามารถแบ่งความรับผิดชอบได้เท่าๆ กัน แต่ละรายสามารถชำระเฉพาะส่วนที่ตนรับผิดชอบได้ทันทีหากมีความพร้อม จากเดิมลูกหนี้จะต้องชำระปิดบัญชีพร้อมกัน ซึ่งวิธีเดิมเป็นปัญหามาก ทำให้ลูกหนี้ที่มีความพร้อมไม่สามารถเคลียร์หนี้ได้เพราะต้องรอคนที่เหลือซึ่งบางรายยังไม่พร้อม
สำหรับตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ตั้งแต่สิ้นปี 2548 ถึงปัจจุบัน ธอส.มีเอ็นพีแอลใหม่เพิ่มขึ้นจาก 6.06% เป็น 6.10% ของสินเชื่อที่ปล่อย คิดเป็น 7,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อนำมาหักลบกับส่วนที่ระบายออกไปได้ก่อนหน้านี้กว่า 4,500 ล้านบาท เท่ากับว่าตัวเลขเอ็นพีแอลใหม่เพิ่มเข้ามาประมาณ 2,500 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันธนาคารมีเอ็นพีแอลในพอร์ตประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท
"ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยลบด้านต่างๆ ทำให้กลุ่มลูกค้าของธนาคารที่มีรายได้เฉลี่ย 30,000 บาท/ครอบครัว วงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท และต้องผ่อนชำระต่อเดือนอยู่ที่ 10,000 บาท เมื่อมีภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงขึ้นสวนทางกับรายได้ที่ไม่เพิ่มขึ้นตามจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นเอ็นพีแอล" นายวัฒนากล่าว
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเอ็นพีแอลของธนาคารถือว่าปรับขึ้นน้อยมากเพียง 0.04% เท่านั้นเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์รายอื่นที่ปรับขึ้น 0.5-1% ทั้งนี้ธนาคารจะพยายามบริหารเอ็นพีแอลที่มีอยู่ไม่ให้เพิ่มมากกว่านี้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับทิศทางอัตราดอกเบี้ยและค่าครองชีพด้วยเช่นกัน
ส่วนแนวทางระบายเอ็นพีแอลที่มีในพอร์ตกว่า 2.9 หมื่นล้านบาทนั้น เช่น จ้างเอกชนเข้ามาบริหารในประเด็นนี้ตัดธนาคารอยู่ระหว่างการศึกษาผลดี-ผลเสียในทุกด้าน เพราะหากให้เอกชนนำไปขายแล้วไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับว่าธนาคารสูญเสียโอกาส หรือนำบางส่วนให้เอกชนนำไปบริหารและธนาคารบริหารเองบางส่วนสำหรับเอ็นพีแอลที่ยังอยู่ในกระบวนการบังคับคดีไม่แล้วเสร็จ
สำหรับสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) ปัจจุบันมีอยู่ในพอร์ตประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท จำนวน 3,500 รายการ กระจายทั่วประเทศ เฉลี่ยมูลหนี้ต่อรายอยู่ที่ 3-5 แสนบาท ที่ผ่านมาสามารถขายได้แล้ว 4,500 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือเอ็นพีเอในพอร์ตประมาณ 7,500 ล้านบาท
ล่าสุดธนาคารได้คัดทรัพย์ประมาณ 1,500 รายได้ แบ่งเป็นในกทม.500 รายการ และต่างจังหวัด 4 ภาคๆ ละ 500 รายการ โดยเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาซื้อได้โดยตรงที่สำนักงานสาขาที่ทรัพย์ตั้งอยู่สามารถซื้อได้ในราคาลด 20% พร้อมกู้ได้สูงสุด 90% ของมูลค่าขาย ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน-15 ตุลาคม 2549
|