|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
คมนาคมเลือกที่หยิบคำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกาเฉพาะกรณีเพื่อยกประโยชน์ให้ “ไทยแอร์เอเชีย” พ้นผิดกรณีเป็นต่างด้าวแต่ยังถือใบอนุญาตสายการบินไทยบินโกยเงินหน้าตาเฉย เปิดบันทึกข้อหารือระบุชัด หากเป็นต่างด้าวต้องเพิกถอนสิทธิ์ทันที รัฐมนตรีไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลง หรือสั่งให้แก้ไขให้ถูกต้องได้ ขณะที่ ปชป.เรียกร้อง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” หลังผลสอบนอนีถูกตีแผ่ กุหลาบแก้ว เป็นต่างด้าว1,000%
กรณี กรมการขนส่งทางอากาศมีหนังสือลงวันที่ 24 ก.พ.2549 ถึง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา หารือเรื่องคุณสมบัติของบริษัทไทยแอร์เอเชียจำกัดภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่กลุ่มเทมาเสกของสิงค์โปร์ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ ในบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักในบริษัทไทยแอร์เอเชียซึ่งขัดต่อข้อกำหนดที่ผู้ถือหุ้นต่างชาติจะถือหุ้นในสายการบินที่จดทะเบียนในไทยได้ไม่เกินร้อยละ 51 นั้น
นายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ตนได้รับผลการหารือจากทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วสรุปว่า ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิในใบอนุญาตประกอบกิจการเดินอากาศและการขออนุญาตใช้อากาศยาน เพราะ บริษัทไทยแอร์เอเชียได้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องสัดส่วนหุ้นเป็นที่เรียบร้อยก่อนที่การเจรจาซื้อขายหุ้นจะได้ข้อยุติลง หลังจากนี้จะต้องรายงานต่อ นายพงษ์ศักดิ์ รัตพงศ์ไพศาล รักษาการรมว.คมนาคม ได้ทราบต่อไป
อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ กล่าวว่า ในการหารือแยกเป็น 2 ประเด็น คือการซื้อขายหุ้นของชินคอร์ปจะมีผลเมื่อใดซึ่งผลการพิจารณาระบุว่ามีผลเมื่อได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 หรือมีผลตั้งแต่วันที่มีการประกาศซื้อขายกันซึ่งสรุปว่า การซื้อขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ปมีผลเมื่อได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 หรือมีผลตั้งแต่วันที่มีการซื้อขายกัน หรือวันที่ 9 มี.ค. 2549 หลังจากสรุปการเจรจาทำ Tender Offer
นายชัยศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่สองที่ขอหารือคือกรณีที่บริษัทไทยแอร์เอเชียมีการปรับเปลี่ยนผู้ถือหุ้นจะมีผลต่อใบอนุญาตประกอบการบินและใบอนุญาตการใช้อากาศยาน แต่ปรากฎว่าในส่วนของใบอนุญาตประกอบการบินหลังจากที่กรมการขนส่งทางอากาศได้ทำหนังสือแจ้งเตือนทางบริษัทไทยแอร์เอเชียได้มีการแก้ไขและยื่นขอปรับเปลี่ยนสัดส่วนผู้ถือหุ้นในนามบริษัทเอเชีย เอวีเอชั่น จำกัด ได้ทันภายในกรอบเวลาที่กำหนด จึงถือว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะกระทำการฝ่าฝืนส่วนกรณีใบอนุญาตใช้อากาศยานนั้น
นายชัยศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทไทยแอร์เอเชียได้ดำเนินการนำบริษัทที่จัดตั้งใหม่คือ บริษัทเอเชีย เอวีเอชั่น จำกัด ยื่นขอจดทะเบียนการใช้อากาศยาน เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2549 แต่ขั้นตอนกระบวนการซื้อขายหุ้นที่ได้มีการทำ Tender Offer ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.- 9 มี.ค. 2549 จึงถือว่าบริษัทไทยแอร์เอเชียไม่ได้กระทำผิดใดๆ ในกรณีการใช้อากาศยานเพื่อทำการบิน
“เรื่องนี้น่าจะจบได้เสียที ส่วนที่มีการแจ้งความดำเนินคดีกับทางบริษัทไทยแอร์เอเชียที่สถานีตำรวจดอนเมือง ในกรณีการใช้อากาศยานในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นอาจไม่ถูกต้องนั้นเป็นหน้าที่ของทางตำรวจแต่แนวโน้มที่ออกมาเชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะได้ข้อยุติเสียทีเพราะบริษัทไม่ได้มีเจตนาที่จะกระทำความผิดใดๆ” นายชัยศักดิ์กล่าว
ด้านนายทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า เพิ่งได้รับแจ้งผลการหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสรุปว่าการดำเนินการที่ผ่านมาไม่ได้มีการกระทำความผิด เพราะบริษัทสามารถดำเนินการปรับแก้ไขตามที่กรมการขนส่งทางอากาศได้ทักท้วงซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทมิได้มีเจตนาและอยากให้เรื่องจบเสียทีเพราะที่ผ่านมาก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามระเบียบทุกอย่าง และหันมาเน้นการพัฒนาและขยายธุรกิจการบินได้เต็มที่ .
เปิดบันทึกกฤษฎีกาคมนาคมเลือกข้าง
ทั้งนี้โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏทราบกันดีว่า เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจาก เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ สิงคโปร์ รับซื้อหุ้นคืนจากรายย่อยจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.ชินฯ 96% ก็ทำให้สัดส่วนหุ้นของไทย แอร์เอเชีย เปลี่ยนแปลงไปเป็นต่างชาติมีหุ้นมากกว่า 51% กล่าวคือ ทั้งสิงคโปร์และแอร์เอเชียของมาเลเซียจะร่วมถันถือหุ้นประมาณ 76% จึงมีฐานะที่เปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น เมื่อสัดส่วนหุ้นที่เป็นคนไทยไม่ถึง 51% หากพิจารณาตามกฎหมายขนส่งทางอากาศ และถือว่าใบอนุญาตของไทยแอร์เอเชียขาดทันที แต่กระทรวงคมนาคมก็ยังเอื้อประโยชน์ให้บินได้อยู่ โดยอ้างว่า ผู้โดยสารจะเดือดร้อน ทั้งๆ ที่เส้นทางบินเหล่านี้มีการบินไทยบินอยู่ด้วยและสามารถรองรับได้
แหล่งข่าวจากนักกฎหมายในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า ตามบันทึกการหารือซึ่งมีความหนากว่า 5 หน้ากระดาษ สรุปผลข้อหารือ 2 ประเด็น ที่กรมขนส่งทางอากาศได้ขอหารือโดยมีหนังสือด่วนที่สุดที่ คค 0401/1194 ลงวันที่ 24 ก.พ. 2549 ไว้ให้กระทรวงคมนาคมไปปรับใช้ตามข้อเท็จจริง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาผลสรุปของคณะกรรมการกฤษฎีกาเฉพาะที่เป็นประโยชน์ต่อไทยแอร์เอเชีย ซึ่งหากพิจารณาเพื่อผลประโยชน์ของรัฐอย่างเคร่งครัด ไทยแอร์เอเชียก็ยากจะทำการบินต่อไปได้
ทั้งนี้ข้อหารือประเด็นที่สองที่ว่า ไทยแอร์เอเชียมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยได้รับอนุญาตไว้ รัฐมนตรีจะมีอำนาจสั่งให้เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดก่อนที่จะพิจารณาพักใช้ หรือเพิกถอนใบสำคัญการจดทะเบียนและใบอนุญาตได้หรือไม่ หรือการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัตินี้จะทำให้ใบสำคัญการจดทะเบียนและใบอนุญาตสิ้นผลไปทันที หรือ มีแนวทางดำเนินการเพิกถอนใบสำคัญการจดทะเบียนอย่างไรนั้น คณะกรรมการฯมีความเห็นแยกเป็นสองกรณี
“คมนาคมเลือกกรณีที่สองอย่างที่อธิบดีกรมขนส่งทางอากาศได้ว่าไว้ ซึ่งเปิดช่องให้ไทยแอร์เอเชียเต็มที่แต่หากมาดูกรณีที่ 1 ถ้าอ่านความระหว่างบรรทัดจะเห็นว่า ไทยแอร์เอเชียรอดยาก” แหล่งข่าวระบุ
กรณีที่ 1 ในความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตต้องเป็นบริษัทสัญชาติไทยเท่านั้น เพราะหากข้อเท็จจริงเป็นต่างด้าวก็ต้องสิ้นผลโดยทันที และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้อำนาจรมว.คมนาคมในการสั่งให้ไทยแอร์เอเชียเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ อย่างที่ได้ทำกัน
ปชป.จี้สมคิดรับผิดชอบกุหลาบแก้ว
นายกรณ์ จาติกวนิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีที่ผลการศึกษาของคณะกรรมการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุข้อมูลชัดเจนว่าบริษัทกุหลาบแก้วเป็นนอมินีว่า เมื่อมีผลสรุปออกมาเช่นนี้จำเป็นหรือไม่ที่ต้องตั้งคณะทำงานชุดที่มีนายยรรยง พวงราช รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานตรวจสอบ โดยการควบคุมของฝ่ายการเมือง คือนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ และนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รักษาการรมช.พาณิชย์
ซึ่งบทสรุปดังกล่าวในแง่การศึกษามีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว แต่มีการอ้างเหตุผลเรื่องต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นข้ออ้างต้องเพื่อยืดเวลาเท่านั้น โดยตนตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทของนายสุรินทร์ อุปพัทธกุล ที่เข้ามาร่วมหุ้นบริษัทกุหลาบแก้ว เกิดขึ้นหลังจากมีปัญหานอมินี จึงไม่เกี่ยวข้องกับความผิดกฎหมายของบริษัทกุหลาบแก้วในการเข้ามาซื้อหุ้นของตระกูลชินวัตร ซึ่งแตกต่างจากบทบาทของนายพงส์ สารสิน และนายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นนอมินีอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม บทบาทของนายสุรินทร์ต่อการถือเงินจำนวน 2.7 พันล้านบาท ที่นำมาซื้อหุ้น โดยเงินทั้งหมดถูกโอนมาจากบริษัทที่มีการจดทะเบียนอยู่ในเกาะบริติช เวอร์จิน ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกับอีกหลายบริษัทที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ เช่น แอมเพิลริช วินมาร์ค จึงมีการตั้งคำถามว่าจะเกี่ยวพันกับเบื้องหลังการซื้อขายหุ้นในตระกูลชินวัตรหรือไม่ และที่มาของเงินก็ได้รับการเปิดเผยว่าได้มาจากบริษัทนี้ โดยอำนาจการสั่งใช้เงินภายใต้ชื่อบริษัท กรีนแลนด์ ซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจให้กับนายสุรินทร์มาอีกช่วงหนึ่ง ดังนั้นบทบาทที่แท้จริงของนายสุรินทร์คืออะไร และใครคือเจ้าของที่แท้จริงของเงิน 2.7 พันล้านบาท และสุดท้ายนายดาโต๊ะเป็นเพียงนอมินี อีกใช่หรือไม่
นายกรณ์ กล่าวว่า เมื่อมีการชี้ชัดเจนว่ากุหลาบแก้วมีสัญชาติเป็นต่างด้าวจะมีผลโดยตรงมาถึงบริษัทต่างๆ ในตระกูลชินวัตรว่า ปัจจุบันนี้ถือเป็นต่างด้าวด้วยหรือไม่ และมีผลต่อบริษัทลูกหลายบริษัทที่เป็นธุรกิจต้องห้าม เช่น บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย รวมถึง เอไอเอส ก็จะเข้าข่ายด้วยหรือไม่ ซึ่งยังมีหลายขั้นตอนที่กระทรวงพาณิชย์ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนการซื้อขายหุ้นครั้งนี้จะต้องประกาศเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องพิจารณา แต่หากดูการทำงานของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ จะต้องมีการบังคับให้ขายหุ้นคืนให้กับนักลงทุนไทย ส่วนในประเด็นความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าว จะต้องพิจารณาว่ามีความผิดมากน้อยแค่ไหน แต่กรณีนี้ถือว่ามีความผิดเกิดขึ้นแล้ว และต้องวินิจฉัยว่าต้องโทษอะไร ซึ่งพรรคจะติดตามดูต่อไป
"เรากังวลถึงการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ เพราะเมื่อผลสรุปชัดเจนว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ทำไมไม่รีบดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่กลับซื้อเวลา เมื่อผลสรุปออกมาชัดเจน กระทรวงพาณิชย์ควรปฏิบัติตามกฎหมาย และอย่าให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงาน หากนายสมคิดไม่ดำเนินการ ถือว่าเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องได้" นายกรณ์กล่าว
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายสมคิดไม่ควรลอยตัวเหนือปัญหาอีกต่อไป และจะต้องลงมารับผิดชอบเต็มตัว โดยเฉพาะขณะนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นนายกฯ นอมินี จะต้องจัดการกับปัญหาบริษัทนอมินีให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมานายกฯ เคยไปกล่าวที่ประเทศเกาหลีว่าจะบริหารแบบธรรมาภิบาล และนายสมคิดก็เคยเรียกร้องให้มีการจัดบรรษัทธรรมาภิบาล จนผ่านมา 5 ปี ก็ยังล้มเหลว แต่วันนี้บริษัท กุหลาบแก้ว จะเป็นจุดทดสอบจริยธรรมของนายสมคิด
"ยรรยง" ยันเดินหน้าสอบ "กุหลาบแก้ว" ต่อ
ด้านนายยรรยง พวงราช รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาและกำกับการตรวจสอบการถือหุ้นและการกระทำอื่นที่เกี่ยวข้องตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 กล่าวว่า การปล่อยให้ผลสอบกรณีการถือหุ้นแทนของบริษัท กุหลาบแก้ว ออกมา คนปล่อยคงอยากให้เป็นไพ่ใบสุดท้าย เพราะไม่อยากให้สอบต่อ แต่ยังขอยืนยันในหลักการว่า คณะทำงานจะยังคงเดินหน้าตรวจสอบตามข้อร้องเรียนในประเด็นต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อไป เพราะยังมีหลายๆ ประเด็นที่ยังไม่มีคำตอบ ทั้งกรณีการถือหุ้นแทนว่าถือแทนใคร รวมทั้งยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจน เช่น การสนับสนุน การร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว บริษัทที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ และการซื้อขายหุ้นเป็นโมฆะหรือหรือไม่
ทั้งนี้ ผลสรุปของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบ แต่ก็เป็นเพียงแค่ผลสรุปในระดับกรมฯ ซึ่งในฐานะที่ดูแลกรมฯ และทำงานในระดับกระทรวงฯ ยังยืนยันที่จะนำมาพิจารณาต่อด้วยความรอบคอบ
“คนที่ปล่อยออกมา ไม่รู้คิดสั้น คิดยาว แต่ก็ยอมรับว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่สาธารณชนจะได้รับรู้ ทั้งนี้ข้อเท็จจริงเหล่านี้ยังไม่ได้ข้อยุติ และผมจะไม่ตัดสินล่วงหน้าว่าอันไหนเป็นยังไง เพียงแต่เราจะตั้งโจทย์ว่าต้องละเอียดรอบคอบ เพราะยังไม่เคยดำเนินการกรณีเช่นนี้มาก่อน จนถึงขั้นที่จะส่งให้ตำรวจดำเนินคดี ดังนั้นจึงต้องมีคำตอบในทุกประเด็น” นายยรรยงกล่าว
นายยรรยงกล่าวว่า ได้เคยเตือนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้วว่า ให้ระมัดระวังในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการให้ข้อเท็จจริง เพราะการเปิดเผยข้อมูลทั้งๆ ที่กระบวนการตรวจสอบยังไม่สิ้นสุด จะเกิดผลกระทบในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบต่อการพิจารณาของหน่วยงานที่ให้ใบอนุญาตหรือให้สัมปทาน เพราะชินคอร์ปทำธุรกิจหลายอย่าง ทั้งธุรกิจสื่อสาร ไอทีวี ธุรกิจดาวเทียม
“ถ้าจะบอกว่ากรณีนี้ยุติแล้วหรือไม่ มันยังไม่ยุติ เพราะการยุติได้จะต้องให้ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยออกมา ซึ่งไม่รู้จะนานแค่ไหน และใช้เวลากี่ปี หน้าที่เราคือ ต้องทำให้ถูกต้อง เพราะผลที่สุดไม่ใช่เราตัดสิน"
นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ไม่ให้น้ำหนักผลสอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพราะเป็นเพียงแค่บทสรุปของกรมฯ และเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบในเรื่องนี้ ก็เป็นเพียงการทำงานในระดับกรมฯ อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดบรรทัดฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเป็นนอมินี ดังนั้น การที่กระทรวงฯ มีคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบอีกชุด ถือว่าเป็นการทำให้รอบคอบ รวดเร็ว และเป็นธรรม จึงต้องมีแนวทางปฏิบัติสำหรับทุกบริษัทที่อาจจะเป็นนอมินี และต้องทำให้เป็นนโยบายระดับชาติ
"ทนง" ออกโรงป้องซ้ำ
นายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า บริษัทใดจะเป็นนอมินีหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะมีหลายรูปแบบ เช่น บริษัทต่างประเทศนำเงินมาให้คนไทยยืมไปซื้อหุ้น ในทางกฎหมายจะตีความว่าการกระทำเช่นนี้เป็นนอมินีหรือไม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครบอกได้ หรือกรณี นาย ก. ไปซื้อหุ้นบริษัทคนไทย ด้วยการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์โดยมีคนต่างประเทศค้ำประกัน รวมถึงการถือหุ้นถ่วงน้ำหนัก ถือเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดตัดสินได้ว่าเป็นนอมีนีหรือไม่
ทั้งนี้ การจะใช้หลักการใดตัดสินการกระทำดังกล่าวว่าเป็นนอมินีหรือไม่ ซึ่งการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยเจตนาหรือไม่ เป็นเรื่องที่คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบจะต้องพิจารณาให้ชัดเจน ว่าการได้เงินจากต่างประเทศมาลงทุนไม่ถือเป็นนอมินี หรือว่าการได้เงินจากต่างประเทศมาลงทุนซื้อหุ้นถือเป็นนอมินี ดังนั้นมองว่าภายหลังที่ได้ข้อสรุปกระทรวงพาณิชย์จะต้องเขียนเป็นกฎหมายให้ชัดเจนว่าทำได้หรือไม่ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
การถือหุ้นไขว้หรือนอมินีในบริษัทต่างๆ มีการถือปฏิบัติมานานถึง 20-30 ปีแล้ว โดยไม่มีการร้องเรียน เพราะยังถือว่าเป็นบริษัทของคนไทย แต่เมื่อมีการร้องเรียนก็ต้องดำเนินการตรวจสอบ โดยการจะไปตรวจสอบว่าถือหุ้นแทนบุคคลอื่นหรือไม่นั้น ต้องให้บุคคลนั้นยอมรับสารภาพ ซึ่งหากเขายืนยันที่จะลงทุนจริงแล้วจะมีใครบอกได้ว่าเป็นเขาเป็นนอมินี
ตลท.อุ้มนอมินีชินคอร์ป
นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีการตรวจสอบโครงสร้างการถือหุ้นของ บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) ในส่วนบริษัทกุหลาบแก้ว เป็นนอมินีของต่างชาตินั้น เรื่องดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการมีฐานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะการเป็นบริษัทจดทะเบียนไม่มีเกณฑ์ข้อจำกัดในเรื่องของสัญชาติของผู้ถือหุ้น
ทั้งนี้ เกณฑ์การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น บริษัทจะต้องมีการโครงสร้างการกระจายหุ้นแก่นักลงทุนรายย่อยที่จะต้องไม่น้อยกว่า 15% และมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่น้อยกว่า 150 ราย ซึ่งขณะนี้ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น มีจำนวนผู้ถือหุ้นอยู่ 3.85% ดังนั้น SHIN จะต้องมีการดำเนินการในเรื่องการกระจายสัดส่วนการถือหุ้นให้แก่นักลงทุนรายย่อยให้ครบ 15% ซึ่งมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 1 ปี นับจากเดือน พ.ค.49 โดยหาก SHIN ไม่สามารถที่ดำเนินการทัน SHIN ก็สามารถที่จะผ่อนผันได้อีก 6-12 เดือน หากยังไม่สามารถดำเนินการทัน SHIN จะต้องเข้าไปอยู่ในคอลล์มาร์เกต (Call Market)
อย่างไรก็ตามหากบริษัทย่อยของ SHIN คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC บริษัท ชินแซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SETTEL และ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV จากการมีผู้ถือหุ้นเป็นต่างด้าวเกินเกณฑ์ที่มีการกำหนดไว้นั้น จะถูกเรียกคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจนั้น ซึ่งจะส่งผลต่อ SHIN นั้น ตลาดหลักทรัพย์จะมีการส่งหนังสือสอบถามไปยัง SHIN ว่าจะสามารถรักษาการประกอบธุรกิจของบริษัทไว้อย่างไร จากการที่มีฐานะเป็นบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อให้มีการชี้แจงข้อมูล เพื่อที่จะนำข้อมูลดังกล่าวเปิดเผยแก่นักลงทุน ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์จะมีการส่งหนังสือสอบถามก็ต่อเมื่อกรณีดังกล่าวมีผลสรุปที่ชัดเจน
|
|
|
|
|