Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2537
"สวรรค์ใหม่" ของแอนดี้ ฮวง"             
 


   
search resources

แอนดี้ ฮวง
Investment




หลังจากเติบโตแบบก้าวกระโดดข้ามไลน์ธุรกิจหลักที่ตนเองถนัดคือ อสังหาริมทรัพย์ มายังโทรคมนาคม และเคเบิ้ลทีวีได้ไม่นาน กลุ่มธนายงก็ได้บทเรียนจากการขยายตัวแบบไม่พรักพร้อมด้านประสบการณ์ และกำลังคนจนต้องถอนตัวจากธุรกิจดังกล่าว พร้อม ๆ กับคนเก่าคนแก่ มือดีทั้งหลาย ที่ต่างทยอยอำลาประมุขขององค์กรแห่งนี้ คีรี กาญจนพาสน์ ไม่ว่าจะเป็น สุธรรม ศิริทิพย์สาคร แอนดี้ ฮวง หรือแม้แต่ อรรคพล สรสุชาติ ที่เหลือเพียงตำแหน่งที่ปรึกษา

สำหรับผู้อาวุโสชาวไต้หวันอย่าง แอนดี้ ฮวง เขาผ่านเวทีธุรกิจในเมืองไทยมากว่า 20 ปี และคลุกคลีกับกลุ่มธนายงมาประมาณ 5 ปีกว่า จากผู้อำนวยการฝ่ายบริการการตลาดของกลุ่มธนายงที่ดูแลโครงการธนาซิตี้ เขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เดินเรื่องงานสัมปทานดาวเทียมจากกระทรวงคมนาคม ซึ่งในช่วงนั้นสารพัดกลยุทธ์ได้ถูกนำมาใช้ในการช่วงชิงสัมปทาน ระหว่างกลุ่มธนายง ล็อกซเล่ย์ และชินวัตรซึ่งที่สุดชินวัตรก็ได้ไป

เสร็จจากศึกดาวเทียมเมื่อแอนดี้กลับมาเกี่ยวข้องกับธนาซิตี้อีก ปรากฏว่ามีคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ดูแลนโยบายการตลาดแล้วคือ อรรคพล สรสุชาติ นักการตลาดจาก ลีเวอร์ จึงดูเหมือนว่าบทบาทของเขาเงียบเชียบลงไป

แต่จริง ๆ แล้วก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ กลุ่มธนายงไม่วายวางมือจากโทรคมนาคม แต่ได้ซุ่มเงียบคว้าสัมปทานวีแซท จากการสื่อสารแห่งประเทศไทยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ ขนาดคู่แข่งที่อยู่ในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมโดยตรงอย่างสามารถและคอมพิวเนท ยังหืดขึ้นคอ

แม้ว่าวีแซทจะมีจุดขายในเรื่องของการส่งสัญญาณภาพนอกจากเสียงและข้อมูลที่มีเสนอขายบริการกันอยู่แล้ว แต่ปัญหาของธุรกิจนี้ที่สำคัญคือ ความเอาจริงของเจ้าของธุรกิจนโยบายที่แจ่มชัด และฝีมือของผู้บริหาร

ไปได้สักพักหนึ่งธนายงก็ได้ล็อกซเล่ย์เข้ามาถือหุ้นแต่ล็อกซเล่ย์ ก็จำกัดบทบาทตัวเองทั้งโดยเต็มใจ และไม่เต็มใจกลายเป็นผู้สือหุ้นส่วนน้อย เช่นเดียวกับธนายงที่แม้โดยสัญญาจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ก็กำลังจะลดบทบาทลงไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่อีกต่อไป เพราะคีรีได้ดึงอิทธิวัฒน์ เพียรเลิศเข้ามาถือหุ้นและบริหารบริษัท ไทยสกายคอมนี้แทนแอนดี้

ผู้บริหารบางคนเหมาะอย่างยิ่งกับงานติดต่อที่ต้องประสานหลายฝ่าย หรือใช้คอนเนกชั่น บารมี และความเก๋าในเรื่องการดีลกับคนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องคว้าโครงการสัมปทานแข่งกับคนอื่น บางคนถนัดที่จะบริหารกิจการที่มีระบบและความลงตัวดีแล้ว ขณะที่บางคนอาจจะช่ำชองกับการยุบเลิกกิจการหรือรวมกิจการกับคนอื่น

พวกแรก กรณีตัวอย่างที่เห็นชัดและประสบความสำเร็จยิ่งก็เช่น เฉลียว สุวรรณกิติ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มีโครงการเด่น ๆ 1 โครงการก็เพียงพอแล้ว นั่นคือสัมปทานโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย

แอนดี้อาจจะดำเนินบทบาทคล้ายกัน แต่เนื่องจากถึงเขาจะ "เข้าถึง" คนในวงการต่าง ๆ แต่ก็ยังเป็นคนต่างด้าวกอปรกับธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมยังใหม่สำหรับ "กาญจนพาสน์" งานที่แอนดี้ทำให้ธนายงจึงดูเหมือนไม่ค่อยจะประสบผลสำเร็จเท่าไรนัก เมื่อขาดคนสานต่อและแนวทางที่ชัดเจนของเจ้าของผิดกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่แอนดี้เกี่ยวข้องในระยะแรก

"ทุกวันนี้ธนายงให้ความสนใจกับพร็อบเพอร์ตี้และโครงการรถไฟฟ้า ขณะที่กิจการสื่อสารและทีวีนั้นยังใหม่และอาจจะยังเล็กอยู่ นโยบายจึงไม่ต้องการแบ่งบุคลากรออกไป ผมเองหลังจากเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ และสื่อสารแล้วก็อยากจะทำอะไรที่เกี่ยวกับระดับย่อยลงมาคือเรื่องครอบครัว การสร้างสิ่งแวดล้อมและความสุขภายในบ้านเพราะเราทำในส่วนที่เกี่ยวข้องมาแล้ว เราจึงหันมาเน้นเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยผมจึงขอเกษียณตัวเองก่อนกำหนดเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา" แอนดี้กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เขาไม่ต้องการจะเป็นแม้แต่ที่ปรึกษาอย่างคนอื่น สิ่งที่กลายเป็นแหล่งพักพิงของเขา คือบริษัทสวรรค์ใหม่ จำกัด ซึ่งถือเป็นกิจการส่วนตัวที่เขาและหุ้นส่วนชาวไต้หวัน ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อนำเข้าสินค้าจากไต้หวันมาขายในเมืองไทย

แอนดี้เล่าว่า ได้รับการทาบทามจากกลุ่มธุรกิจการเงินและอุตสาหกรรม 2-3 แห่งให้เข้าไปเป็นผู้บริหารระดับสูงแต่เขาปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า "อยากจะแก้นิสัยตัวเองเพราะคุมนโยบายกับบริหารงานนั้นไม่เหมือนกัน เราอาจจะจู้จี้มากเกินไปเมื่อเป็นผู้บริหาร แต่เมื่อคุมนโยบายเราก็ต้องเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้าดำเนินงานบ้าง ผมพยายามบอกตัวเองอย่างนั้น อีกอย่างจากบทเรียนของผมต่อไปแม้จะเป็นลูกจ้าง แต่ผมก็คงต้องเข้าไปถือหุ้นบ้าง ไม่ใช่ประเด็นเพื่อความมั่นคงอย่างเดียว แต่เพื่อได้มีส่วนในการกำหนดทิศทางบริษัทได้อย่างแท้จริง"

คนที่สอนบทเรียนนี้ให้เขาจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่คีรี !

แอนดี้ได้ เดวิด โจ นักการตลาดจากไต้หวันมาเป็นกรรมการผู้จัดการ "สวรรค์ใหม่" เขาเข้ามาเมืองไทยเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เดิมจะมาช่วยด้านแผนการตลาดในการสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างไอบีซีกับไทยสกาย แต่เนื่องจากมีความล่าช้า ไม่ราบรื่นเขาจึงกลับไต้หวัน และในที่สุดก็ตกลงใจมาร่วมงานกับแอนดี้ ซึ่งเป็นคนชวนเขาเข้ามาทำงานที่ไทยสกายโดยได้รับข้อเสนอเป็นหุ้นส่วนบริษัทด้วย

โจกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า แผนการตลาดของบริษัทนั้นจะเน้นการขายตรง เข้าถึงครัวเรือนโดยเริ่มจากชาวต่างชาติในไทย (รวมทั้งชาวไต้หวัน) แต่ก็จะกระจายไปสู่ตลาดคนไทยในที่สุดด้วย

"เราวางแผน 6 ปี ในช่วง 2 ปีแรก คาดว่าจะลงทุน 10-20 ล้านบาท เป็นการนำเข้าสินค้าและดำเนินธุรกิจ ในช่วงนี้ตั้งเป้ายอดขายประมาณ 500 ล้านบาท 2 ปีต่อมา อาจจะตั้งโรงงานผลิตสินค้าในไทย" โจพูดถึงแผนการในการดำเนินของสวรรค์ใหม่คร่าว ๆ

ในขั้นนี้สวรรค์ใหม่มีสินค้า 4 ตัวคือ เครื่องผลิตอากาศบริสุทธิ์ด้วยโอโซน แก๊ซเซฟตี้ล็อค เครื่องกรองน้ำและเครื่องผลิตโอโซนไอออนลบที่ช่วยขจัดสารพิษในพืชผักผลไม้

เป้าหมายของแอนดี้ สำหรับสวรรค์ใหม่ที่ วันนี้วางมือให้คนอื่นบริหารบ้างแล้ว ออกจะดูใหญ่โตเหมือนกันแต่กิจการที่มีแบ็คอัพเป็นกลุ่มไต้หวันที่คลุกคลีอยู่ในไทยมานาน น่าจะมีส่วนเกื้อหนุนสวรรค์ใหม่พอสมควร

"หุ้นส่วนทั้งหมดมี 10 คนคุณเดวิดสัน ไต้ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท CEI ผลิตพัดลม ตั้งอยู่ที่บางนา-ตราดและอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย คุณหลี่ อยู่ในวงการก่อสร้างทั้งที่มาเลย์และไทย คุณเฉินนำเข้าเครื่องนุ่งห่ม อาหาร เคมีภัณฑ์ โดยวางขายตามห้างสรรพสินค้าในไทย 6 แห่ง คุณหลิน เหวิน หง รองประธานบริษัทค้าแว่นและเพชรพลอย คุณหลี่จื้อหมิง ทำเครื่องประดับเพชรพลอยและหินมีค่า คุณแนนซี่เป็นตัวแทนให้บริษัทนิคเคน และมีธุรกิจส่วนตัวนำเข้า-ส่งออกอาหารทะเล นอกนั้นเป็นคนสัญชาติไทยอีก 2-3 คน" โจเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับผู้หุ้น

นี่คือเส้นทางเดินของนักธุรกิจไต้หวันที่ทำมาหากินในเมืองไทย จากมือปืนรับจ้างสู่ความเป็นเถ้าแก่ แอนดี้พูดทิ้งท้ายเหมือนจะตีวัวกระทบคราดใครบางคนว่า "อย่าไปสนใจเรื่อง 'ไฮ โปรไฟล์' มากนัก เราหันมาสร้างกิจการดีกว่า กู๊ดวิลล์ของกิจการนั้นอยู่ที่การบริหารไม่ใช่อยู่ที่ภาพของกิจการที่ปรากฎออกไป"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us