Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2537
"คนเลี้ยงกุ้งในเอกวาดอร์"             
 


   
search resources

อังเดรส์ หวาง หลิน
Agriculture




"อังเดรส์ หวาง หลิน" พายเรือเลาะชายป่าโกงกาง "เอกวาดอเรียน" ที่หนาทึบอย่างเงียบเชียบโดยมีปืนพกเป็นอาวุธ และแสงสว่างจากไฟฉายส่องไปรอบๆ สรรพเสียงยามค่ำหนาหูทั้งนกและสัตว์เลื้อยคลาน แต่หูของหวางหลินสามารถจำแนกเสียงๆ หนึ่งออกจากเสียงเซ็งแซ่ทั้งหมดได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือเสียงฮึ่มๆ ของเครื่องยนต์เรือของพวกหัวขโมยที่ลักลอบเข้ามา ถึงแม้ว่าชนชาติแถบเทือกเขาแอนดิสจะขึ้นชื่อในฐานะเป็นแหล่งโลหะมีค่าที่หายากอย่างทองหรือเงินในยุคอินคา ก่อนที่ลัทธิอาณานิคมจะแผ่เข้ามา แต่ทุกวันนี้สิ่งที่ล่อใจบรรดาโจรสลัดที่หากินอยู่ตามชายฝั่งแปซิฟิคไม่ใช่ทองคำหรือแท่งเงินแต่เป็น "กุ้ง" ในฟาร์มของหลิน

หลินใช้เวลาหลายๆ คืนในแต่ละสัปดาห์ ออกลัดเลาะไปตามหนองบึงเพื่อระแวดระวังฟาร์มกุ้งขนาด 120 เฮคตาร์ของตนไม่ให้ใครบุกรุกเข้ามาได้ แสงไฟสว่างไม่เพียงแต่ล่อกุ้งให้เข้าแหของเขาแต่ได้เตือนให้พวกลักขโมยรู้ว่าเรือของเขาอยู่แถวๆ นั้นด้วย

"ผมไม่รู้เรื่องกุ้งเลยสักนิด ตอนที่มาเอกวาดอร์" เขาหัวเราะย้อนรำลึกความหลัง

ครอบครัวหวางหลินออกจาไต้หวันเมื่อปี 2519 มาอยู่สหรัฐอเมริกา "ด้วยเหตุผลทางการเมือง เพราะเรากลัวคอมมิวนิสต์ยึดครองไต้หวัน" หลินกล่าว เป้าหมายของเขาในอเมริกาตอนนั้นคือ แสวงหาโอกาสทองทางธุรกิจ

หวางหลินในวัย 34 เล่าว่า "ผมล้างจานอยู่ในลอสแองเจลิส จากนั้นก็ทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกในบราซิล แล้วก็ไปเปรู ก่อนจากมาได้ยินว่าถ้าใครอยากรวยจริงๆ ก็ต้องไปเลี้ยงกุ้งที่เอกวาดอร์"

การเลี้ยงกุ้งก็ฟังดูน่าตื่นเต้นสำหรับเขาแต่ที่ดึงดูดเขามากกว่าคือ โอกาสของการทำกำไร ที่นี่ไม่เหมือนไต้หวันซึ่งธุรกิจเลี้ยงกำลังย่ำแย่เพราะปัญหาน้ำเสีย พายุไต้ฝุ่นที่มาเป็นฤดู ค่าเช่าที่ที่แพงลิบลิ่ว แต่เอกวาดอร์เปรียบดังสวรรค์ ผืนดินตลอดชายฝั่งราคาถูก บ่อเลี้ยงกุ้งที่จัดการดีๆ จะได้ผลตอบแทนถึง 50% ค่าแรง ค่าน้ำมัน และค่าไฟ ก็ยังถูกมาก ขณะเดียวกันท้องน้ำก็ยังมีสารอาหารสำหรับกุ้งอยู่เหลือเฟือ

"อนาคตการเลี้ยงกุ้งที่ไต้หวันไม่มีเลย ที่นั่นประชากรมากเกินไป และน้ำก็เสีย" หลินกล่าว

เมื่อปี 2525 หวางหลิน ได้เปลี่ยนเงิน 4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐในบัญชีเงินฝากมาเป็น ที่ 6 เฮคตาร์นอกเมืองมัคคาลาซึ่งอยุ่ห่างจากเมืองหลวงกิโตของเอกวาดอร์ไปทางใต้ 350 กิโลเมตร แต่การเริ่มต้นนั้นไม่ง่ายเลย บทเรียนแรกคือ ต้องไม่ใช้อุปกรณ์ตีน้ำแบบไต้หวัน "เพราะมันจะกวนตะกอนจากก้นบ่อขึ้นมา" หวางหลินได้หันไปใช้ปั๊มดีเซลเพื่อดูดน้ำใช้แล้วออก 50% เป็นการเพิ่มการไหลเวียนให้น้ำใหม่ๆ ได้เข้าไปเพิ่มพูนความสมบูรณ์ของบ่อ

บทเรียนที่สองคือการทำงานร่วมกับลูกน้อง แรกๆ คนงาน 40 คนของหวางหลินให้อาหารกุ้งโดยทิ้งไว้มุมบ่อ ซึ่งมีแต่จะละลายไปโดยเปล่าประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเขาสั่งให้คนงานให้อาหารกุ้งโดยใช้เรือเล็กโปรยอาหารในบ่อกุ้ง ใครทำได้ดีจะให้ 100 ดอลลาร์สหรัฐเป็นรางวัล เขายังได้ติดตั้งระบบวิทยุติดต่อสองทางภายในฟาร์มกับคนงาน

"การดูแลคนงานในโรงงานขนาดใหญ่นั้นยาก แต่ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งแบบเต็มรูปนี้ยิ่งยากใหญ่ คุณต้องอยู่กับเขาตลอดเวลา"

ความต้องการกุ้งเลี้ยงในเอกวาดอร์มีสูง อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่า 451.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 65% ของกุ้งส่งไปยังสหรัฐอเมริกา 34% ส่งไปยุโรป หวางหลินเลี้ยงกุ้งได้ 136,000 กิโลกรัม/ปี โดยมีรายได้ปีละประมาณ 600,000-1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ปีไหนผลผลิตดีๆ เขาบอกว่าจะได้กำไรถึง 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ

3 ปีก่อน หวางหลินได้เปิดสถานีเพาะเลี้ยงลูกกุ้ง อีกไม่นานเขาจะตัดคนกลางออกไปทั้งหมด โดยจะจัดการเรื่องการจัดส่งสินค้าเองด้วย

"เทคนิคในการค้าคือ ต้องจับตาดูตลาดตลอดเวลาและปรับปรุงสินค้าให้สนองความต้องการของตลาดให้ได้ ถ้าราคากุ้งแต่ละขนาดและแต่ละประเภทเปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน เราก็ต้องแก้ไขวงจรการเลี้ยงและวิธีให้อาหารกุ้งด้วย" หวางหลินจะจับกุ้งขายเมื่อเลี้ยงไปได้ 16-20 สัปดาห์ ซึ่งจะได้กุ้งตัวใหญ่ มีความยาวถึง 15 เซนติเมตร

การอยู่ในชุมชนท้องถิ่นใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเสมอไป ในสภาพแวดล้อมที่ยากจน คนต่างชาติอย่างหวางหลินกลายเป็นเป้าของความอิจฉาริษยาและการลักขโมย เจ้าของฟาร์มบางแห่งต้องเสียกุ้งไปถึง 20% ให้กับพวกขโมย เมื่อหลายปีก่อนสถาการณ์ได้เลวร้ายลงเมื่อเจ้าของฟาร์มชาวไต้หวันยิงผู้บุกรุกชาวเอกวาดอร์

"ตั้งแต่นั้นมาก เราต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนให้กลับมาดีขึ้น" หวางหลินเล่าถึงสิ่งที่ตามมา

คลินิกที่ให้บริการฝังเข็มฟรี และการจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำผู้นำชุมชนประจำเดือนที่มีปอเปี๊ยะไส้ซีฟู้ดกับไก่ชานตุงเป็นเมนูประจำ คืองานชุมชนสัมพันธ์ที่บรรดาครอบครัวชาวไต้หวัน 25 ครอบครัวสร้างขึ้นมาเพื่อผูกมิตรกับคนท้องถิ่น

การที่หวางหลินพูดภาษาสเปนได้ทำให้เขาเป็นนักธุรกิจที่ได้รับความเชื่อถือ ภรรยาชาวเอกวาดอร์และลูกอีก 2 คนก็เป็นสะพานเชื่อมช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี และแม้แต่ตามกฎหมายชาวต่างชาติจะไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินในช่วง 80 กิโลเมตรจากชายฝั่ง แต่หวางหลินได้กลายเป็นประชากรเอกวาดอร์แล้ว ต้องถือว่าเขาเป็นคนไต้หวันที่เป็นเจ้าที่ดินหลายสิบเฮคตาร์

หวางหลินกล่าวว่า "ธุรกิจนี้อาจจะแพง ใช้เวลาและทุ่มเทพลังงานไม่น้อย แต่ตราบใดที่คุณเต็มใจจะให้เวลากับมัน การเลี้ยงกุ้งก็นับว่าให้ผลดีทีเดียว"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us