Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2537
"การ์ตูนญี่ปุ่น : เรื่องเบาๆ ราคาพันล้าน"             
 


   
search resources

คัลเจอร์คอม
โกดันชา
โชกะคุกัน
Entertainment and Leisure




อุตสาหกรรมการ์ตูนญี่ปุ่นไม่ใช่ใหญ่เฉพาะในบ้าน ด้วยยอดขาย 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แต่ยังครองตลาดทั่วเอเชียด้วย

เมื่อ "คัลเจอร์คอม" ซึ่งบริษัทผู้ผลิตหนังสือการ์ตูนในฮ่องกงมีความต้องการการ์ตูนเรื่องใหม่ๆ มาป้อนตลาด เพื่อรักษาส่วนแบ่งของตนในธุรกิจนี้ คัลเจอร์คอมตัดสินใจเลือก "มังกะ" (MANGA) หรือการ์ตูนญี่ปุ่น มาเสนอต่อผู้อ่าน เริ่มด้วยการพิมพ์การ์ตูนชื่อดังเรื่อง "ดรากอนบอลล์" จำนวน 10,000 เล่มเมื่อเดือนมิถุนายน 1992 ดรากอนบอลล์เป็นเรื่องของเด็กที่มีหางลิงซึ่งแสวงหาลูกแก้ววิเศษเพื่อขอพร

วันแรกที่ "ฟีลิกซ์ โตะ" ผู้จัดการสำนักพิมพ์ของคัลเจอร์คอมนำหนังสือออกไปวางตามแผง เขาภาวนาขอให้ตัวเองโชคดีแต่โตะไม่จำเป็นต้องอาศัยโชคเข้ามาช่วยเพราะยังไม่ทันจะหมดวัน บรรดาเจ้าของร้านและแผงขายหนังสือก็แห่กันมาที่บริษัทของเขาซึ่งตั้งอยู่บนถนนคิงส์โรด เพื่อขอเพิ่มยอดจนต้องสั่งพิมพ์ใหม่ ซึ่งหนังสือการ์ตูนปึกใหญ่ที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำก็หมดเกลี้ยงภายในพริบตา

"เราคิดว่า การ์ตูนญี่ปุ่นจะไม่ได้รับการต้อนรับในตลาดฮ่องกง แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงว่าเราคิดผิด" โตะกล่าว

ฮ่องกง ไม่ใช่ที่เดียวในเอเชียที่นักอ่านให้การต้อนรับ "มังกะ" อย่างดีเยี่ยม ที่ไต้หวัน ไทย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และเวียดนาม สำนักพิมพ์หลายต่อหลายแห่งต่างแปลการ์ตูนของญี่ปุ่นออกมาเป็นภาษาท้องถิ่น และไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนแนวผจญภัย เรื่องโรมานซ์ หรือนิยายอภินิหารต่างก็ขายดิบขายดีในทุกๆ ที่

ภาพยนต์การ์ตูน วิดีโอ และรายการโชว์ทางทีวี เป็นสื่อที่สร้างความนิยมในตัวการ์ตูนญี่ปุ่นให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในประเทศเหล่านี้ เมื่อถ่ายทอดลงมาในหน้ากระดาษ และได้รับการแปลออกมาเป็นภาษาของแต่ละประเทศ ทั้งที่ได้รับลิขสิทธิ์โดยถูกต้องและที่ขโมยแปลกันแล้ว อิทธิพลจากสื่อวิดีโอหรือทีวีพลอยทำให้ตลาดหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่แม้จะยังคงมีขนาดเล็กอยู่ แต่ก็เป็นตลาดที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคนี้

ตัวอย่างเช่น "โชเนน แมกกาซีน" ซึ่งเป็นนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ของบริษัทโคดันชา มียอดพิมพ์ 3.7 ล้านฉบับในญี่ปุ่น แต่ในไต้หวันพิมพ์เพียง 70,000 ฉบับเท่านั้น กระนั้นก็ตาม สำนักพมิพ์ญี่ปุ่นก็ยังเห็นว่าเอเชียเป็นตลาดที่ยังโกยกำไรได้อีกในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า

ตลาดการ์ตูนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียนอกจากญี่ปุ่นก็คือฮ่องกง โตะ แห่งคัลเจอร์คอมกล่าวว่า อุตสาหกรรมการ์ตูนในประเทศนี้มียอดจำหน่ายที่เป็นตัวเลขทางการ 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนตลาดไทยนั้น วิทิต อุตสาหจิต กรรมการผู้จัดการบริษัทศรีสยามพรินท์แอนด์แพค ซึ่งเป็นผู้ผลิตการ์ตูนรายใหญ่ในไทยประเมินว่า มีมูลค่าตลาด 11-15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นยอดขายของสำนักพิมพ์ไทยและญี่ปุ่นรวมกัน

อย่างไรก็ตามยอดขายของการ์ตูนในเอเชียทั้งหมดเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นแล้วยังน้อยนิด รายงานของสถาบันวิจัยสิ่งตีพิมพ์ (RESEARCH INSTITUTE FOR PUBLICATION -RIP) ซึ่งมีสำนักงานในโตเกียวระบุว่า ในปี 1992 ตลาดหนังสือการ์ตูนมังกะของญี่ปุ่นมีมูลค่าเกือบ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากตัวการ์ตูนยอดฮิต "โดเรมอน" แมวมหัศจรรย์ที่สามารถดึงเครื่องมือแปลกๆ สารพัดชนิดออกมาจากกระเป๋าหน้าท้อง บริษัทการ์ตูนญี่ปุ่นยังพากันผลิตการ์ตูนเรื่องใหม่ๆ ออกมา เฉพาะในปี 1992 ปีเดียวมีถึง 4,653 เรื่อง อันประกอบไปด้วยตัวละครสารพัดชนิด เช่นเด็กหญิงตาโต หุ่นยนต์ต่อสู้ ตัวประหลาดครึ่งคนครึ่งสัตว์ที่ชาญฉลาด เป็นต้น นิตยสารแต่ละเล่มจะมีการ์ตูนหลายๆ เรื่องโดยนักวาดต่างๆ กันเพื่อจับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยกลางคนทั้งหญิงและชาย

การ์ตูนที่ตีพิมพ์นอกประเทศญี่ปุ่นนั้นโดยทั่วๆ ไปไม่ได้มีเรื่องความรุนแรงหรือเรื่องเพศมากเหมือนกับที่ถูกวิจารณ์กันอยู่ในญี่ปุ่น "เราพยายามรอบคอบอย่างที่สุดเพื่อที่จะไม่ให้เรื่องเกี่ยวกับเซ็กส์ และความรุนแรงบ่อนทำลายคุณค่าทางสังคมและการเมืองในประเทศเอเชีย" คาซาฮารา ทากาชิ กรรมการบริหารฝ่ายต่างประเทศของโคดันชากล่าว

ในปัจจุบันตลาดการ์ตูนมังกะของญี่ปุ่นมี 3 บริษัทใหญ่ๆ ที่กุมธุรกิจอยู่ บริษัทแรกคือ "ซูเอชา" (SHUEISHA INC.) ซึ่งผลิตหนังสือการ์ตูนที่ขายดีที่สุดชื่อ "โชเนนจัมพ์" (SHONEN JUMP) แต่ละสัปดาห์ชาวญี่ปุ่นจะพากันรุมอ่านมังกะเล่มนี้ที่ตีพิมพ์ถึง 6.4 ล้านฉบับ อย่างไรก็ตามชูเอชาไม่ได้เปิดเผยยอดจำหน่ายของตน

บริษัทที่สอง คือ "โกดันชา" (KODANSHA) ซึ่งมีรายได้ 1.84 พันล้านดอลลาร์ เป็นเจ้าของโชเนนแมกกาซีน

บริษัทที่สาม ได้แก่ โชกะคุกัน (SHOGAKUKAN INC.) ซึ่งก็จำหน่าย "ยังซันเดย์" 1.2 ล้านฉบับต่อสัปดาห์ จนทำให้ยอดขายของบริษัทสูงถึง 1.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สามบริษัทนี้รวมกันก็ขายการ์ตูนได้มากกว่า 11 ล้านเล่มต่อสัปดาห์แล้ว แต่แม้จะมียอดจำหน่ายมหาศาลขนาดนั้น สำนักพิมพ์ญี่ปุ่นก็ไม่ได้ทำเงินจากหนังสือการ์ตูนเหล่านี้เท่าไรนัก รายได้ของบริษัทนั้นมาจากการขายโฆษณาซึ่งสูงตกหน้าละ 30ล000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่กระนั้นก็ยังไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิตและการพิมพ์แม้ต่ชูเอชาซึ่งขายโชเนนจัมพ์อาทิตย์ละ 6 ล้านเล่ม

ซาซากิ โทชิฮารุ นักวิเคราะห์อาวุโสของ RIP กล่าวว่าเผลอๆ จะขาดทุนจากนิตยสารที่หนา 400 หน้าเล่มนี้ด้วยซ้ำ

นักวิเคราะห์และเจ้าหน้าที่ในบริษัทการ์ตูนเหล่านี้ กล่าวว่าผลตอบแทนอย่างงามนั้นมาจากการพิมพ์เรื่องยอดนิยมในนิตยสารออกมาเป็นอัลบั้มพ็อคเก็ตบุค ซึ่งใช้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเท่านั้น หนังสือปกแข็งขนาดเหมาะมือเหล่านี้เติบโตเป็น 3 เท่าจาก 10 ปีก่อน จนถึงปี 1992 มีมูลค่าถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตลาดนอกประเทศญี่ปุ่นที่นิยมมังกะมากที่สุดได้แก่ ไต้หวันและไทย ซึ่งกลับเป็นสำนักพิมพ์เถื่อนในประเทศทั้งสองที่กุมตลาดอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ในทางกลับกัน ก็ได้สร้างความต้องการสินค้าดังกล่าวนี้ให้กับบริษัทญี่ปุ่นในระยะยาวต่อไปด้วย

ที่ไต้หวันเครือข่ายของพวกสำนักพิมพี่ละเมิดลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่นนั้นกว้างขวางมาก ถึงขนาดเมื่อตอนปลายทศวรรษ 1980 โชเนนจัมพ์ของชูเอชาซึ่งมีเรื่องราวผจญภัยและนิยายวิทยาศาสตร์ที่เด็กหนุ่มๆ ชอบ จะตีพิมพ์ก่อนฉบับจริงในญี่ปุ่น 1 หรือ 2 วันด้วยซ้ำ พวกลักลอบเหล่านี้มีสายทั้งในโรงพิมพ์ และที่แผนกเข้าเล่มที่จะแฟกซ์ต้นฉบับที่ผ่านการพิสูจน์อักษรเรียบร้อยแล้วมาที่ไต้หวัน

แหล่งข่าวในวงการการ์ตูนญี่ปุ่นระบุว่า บรรดาสำนักพมิพ์เหล่านี้ใช้วิธีจับฉลากเพื่อจัดสรรว่า ในแต่ละสัปดาห์สำนักพิมพ์ใดจะได้ต้นฉบับการ์ตูนญี่ปุ่นที่ขโมยมาไปพิมพ์ขาย ซึ่งระบบการจัดสรรต้นฉบับแบบนี้ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสำนักพิมพ์บางแห่งที่อาจได้ต้นฉบับที่ไม่ได้รับความนิยมไปพิมพ์ ดังนั้นในท้ายที่สุดแล้วระบบนี้ทำให้สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ตัดสินใจขอลิขสิทธิ์จากโชเนน แมกกาซีนไปพิมพ์อย่างถูกกฎหมายเมื่อปี 1992 เพราะถึงแม้จะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ แต่ก็มีโอกาสที่จะเลือกเรื่องที่ขายได้อย่างแน่นอน

"ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า สำนักพิมพ์รายใหญ่ที่สุดที่ลักลอบพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่นอย่างสำนักพิมพ์ตงลี่จะได้เรื่องที่ขายดีที่สุดไปพิมพ์ เพราะไม่ว่าจะเก่งแค่ไหนในการขโมยต้นฉบับ แต่ถ้าจับฉลากเอาเรื่องที่ดีๆ มาไม่ได้ ก็เป็นการลงแรงที่เปล่าประโยชน์" คาซาฮาราแห่งสำนักพิมพ์โคดันชากล่าว

ทุกวันนี้ตงลี่เป็นผู้พิมพ์ โชเนนจัมพ์ (ในชื่อใหม่ว่า ฟอร์โมซายูธ) และโชเนนแมกกาซีนที่ถูกกฎหมายในไต้หวัน

การที่ทางการไต้หวันให้การรับรองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาตามาตรฐานสากลเมื่อปี 1993 ทำให้ยักษ์ใหญ่หนังสือการ์ตูนของญี่ปุ่นมั่นใจในการยื่นมือเข้าทำธุรกิจที่นี่มากขึ้น ปัจจุบันโคดันชาได้ร่วมมือกับสำนักพิมพ์ไต้หวัน 6 แห่งที่จะพิมพ์หนังสือการ์ตูนหลายเล่ม รองรับคอการ์ตูนไต้หวันประมาณ 5 แสนคน ส่วนโชกะ คุกันก็ขายสิทธิ์ให้สำนักพิมพ์ไต้หวันหลายรายตีพิมพ์พ็อคเก็ตบุ๊ค 400 เรื่องของตน

ในประเทศไทย หนังสือการ์ตูนเรื่องโดเรมอนได้กระโดดจากจอทีวีเข้าไปสร้างความฮือฮาบนหน้าหนังสือ การ์ตูนแมวยอดนิยมตัวนี้ ส่งผลให้เกิดการนำการ์ตูนญี่ปุ่นอีกหลายๆ เรื่องมาตีพิมพ์เป็นฉบับภาษาไทย และเกือบทั้งหมดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเพิ่งจะมาชะลอตัวลงเมื่อสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งมองเห็นศักยภาพของตลาดการ์ตูนญี่ปุ่นจึงดำเนินการของลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง

ปลายปี 1992 ชัยอารี สันติพงศ์ไชย ประธานบริษัท "แอดวานซ์ คอมมิวนิเคชั่นส์" ประกาศว่า บริษัทของเขาได้รับสิทธิการพิมพ์การ์ตูนจากบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งและเขาจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ละเมิด สำนักพิมพ์รายอื่นจึงได้หันไปตกลงกับบริษัทการ์ตูนญี่ปุ่นรายอื่นๆ และได้รับอนุญาตพิมพ์ ดรากอนบอล และการ์ตูนยอดฮิตเล่มอื่นๆ

แต่จริงๆ แล้ว ชัยอารีแค่กล่าวอ้างตีกันเท่านั้น ลิขสิทธิ์ที่เขาได้คือ "สไปเดอร์แมน" จากสหรัฐ หาใช่การ์ตูนมังกะไม่ เขาหวังว่าการบลั้ฟกันแบบนี้ จะทำให้วงการไม่มายุ่งกับการ์ตูนเรื่องใหม่ของเขา แต่แผนการของเขาอาจจะถูกตลบหลังได้ เพราะตอนนี้โคดันชาได้ทำสัญญากับ 2 สำนักพิมพ์ซึ่งเป็นผู้ละเมิดรายใหญ่ที่สุดในไทยให้พิมพ์การ์ตูนค่ายของตนแล้ว เท่ากับ่ว่าสไปเดอร์แมนจะต้องเจอกับคู่ต่อสู้ที่ถูกกฎหมายและแข่งขันด้วยการ์ตูนมังกะจากญี่ปุ่น

แต่ในขณะเดียวกัน แซม โยชิบะ ผู้จัดการโคดันชาซึ่งดูแลกิจการในไทย อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า จำนวนเรื่องที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ตีพิมพ์นั้นเพิ่มจาก 80 เรื่องในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว มาเป็น 120 เรื่องในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน

ตลาดการ์ตูนญี่ปุ่นยึดครองได้มากที่สุดน่าจะเป็น ฮ่องกง แต่ตอนนี้ก็กำลังลำบากที่จะรักษาสถานะไว้ได้ วงการการ์ตูนฮ่องกงต้องเสียโทนี่ หว่อง อดีตประธานบริษัท "เจดแมน โฮลดิ้งส์" ไปเมื่อเขาถูกจำคุกในข้อหามีส่วนฉ้อโกงบริษัทเมื่อปี 1991

เมื่อถูกปล่อยตัวออกมาในเดือนเมษายน 1993 หว่องก็กระโจนลงมาแย่งยึดตลาดการ์ตูนไปครอง และบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ชื่อ "เจดไนาสตี้ พับบลิเคชั่นส์" ของหว่องกำลังวางแผนตั้งสำนักพิมพ์ เพื่อนำการ์ตูนเรื่องเก่าๆ ที่เคยสร้างชื่อไว้ในสมัยที่เขายังเป็นประธานบริษัทเจดแมน โฮลดิ้งส์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นคัลเจอร์คอม) มาสร้างเป็นตอนใหม่ๆ เพื่อพิมพ์ขาย

แต่การกลับมาของหว่องก็ไม่ได้ช่วยให้อุตสาหกรรมการ์ตูนดีขึ้นมาก ผู้ผลิตในฮ่องกงกำลังเผชิญกับการท้าทายใหม่ๆ จากนักอ่านในประเทศท่ามกลางความนิยมการ์ตูนญี่ปุ่นที่กำลังเพิ่มขึ้น "ที่ฮ่องกง เรามีวัฒนธรรมของการ์ตูนของเราเอง และเราก็พยายามจะผลิตสิ่งใหม่ๆ ออกมาบนพื้นฐานของวัมนธรรมอันนั้น" โตะกล่าว "เป็นภารกิจที่หนักหนาทีเดียว แต่เราคิดว่าฮ่องกงอยู่ในสถานะที่ดีกว่าไต้หวันในการประจันหน้ากับการ์ตูนญี่ปุ่น"

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการ์ตูนในประเทศบนพื้นฐานวัมนธรรมเดิมก็ยังขายดี อย่างเรื่องที่ขายดีมาตลอดคือ "ดรากอนไทเกอร์ ฮีโร่" ซึ่งเป็นเรื่องของกลุ่มวัยรุ่นที่ต่อกรกับแก๊งผู้ร้ายด้วยกังฟู ขายไป 80 ล้านเล่มแล้วตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกโดยเจดแมนโฮลดิ้งส์

แต่ความปรารถนาที่จะคงเอกลักษณ์เดิมๆ ไว้เริ่มจะลดน้อยลงด้วยผลกำไรที่เย้ายวนของการ์ตูนต่างชาติ สำนักพิมพ์ฮ่องกงต่างพากันป้อนตลาดด้วยมังกะจากญี่ปุ่น โตะจึงต้องผิดหวัง บริษัทของเขาเป็นใหญ่อยู่ในวงการการ์ตูนบนดินแดนอาณานิคมแห่งนี้มาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โตะบอกว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้วยังมีแต่หนังสือการ์ตูนของฮ่องกงเองอยู่เลย แต่ตอนนี้นิตยสารการ์ตูนมังกะกว่า 70 ฉบับวางขายอยู่ในฮ่องกง เฉพาะคัลเจอร์คอมเองก็มีคาร์ตูนญี่ปุ่นอยู่ 8 เรื่อง โดยมียอดพิมพ์รวมกัน 255,000 เล่ม นอกเหนือไปจากการพิมพ์การ์ตูนแบบเดิมๆ ที่มีอยู่ 12 เรื่อง

การ์ตูนญี่ปุ่นอาจจะขายดีในหลายประเทศในเอเชีย แต่ในสิงคโปร์กลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร การ์ตูนที่ลักลอบพิมพ์ถูกแปลเป็นภาษาจีนมากกว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาในชีวิตประจำวันของเด็กสิงคโปร์ การพิมพ์ภาษาจีนจึงลดทอนความในใจต่อการ์ตูนไป "ทั้งที่ดรากอนบอลล์เป็นที่นิยมในสิงคโปร์ แต่กลับขายได้ไม่กี่พันเล่ม เพราะว่าพิมพ์เป็นภาษาจีน" จอห์นนี่ เลา หนึ่งในศิลปินผู้สร้างสรรค์ตัวการ์ตูนชื่อ "มิสเตอร์เคียสุ" ที่ดังที่สุดในสิงคโปร์กล่าว

เลากับเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน คือ เจมส์ ซุเรซ และลิมยูเช็ง เก็งตลาดสิงคโปร์ออก เมื่อปี 1990 ในเดือนกันยายนเขาพิมพ์การ์ตูนเล่มแรกเกี่ยวกับ "เคียสุ" ซึ่งมีบุคลิกเงอะงะและพูดภาษาสิงคโปร์ปนอังกฤษที่เรียกว่า 'ซิงกลิช' และมักจะต้องการได้แต่ของดีๆ

จากการ์ตูนเคียสุที่พิมพเป็นปี ก็ตามมาด้วยนิตยสารรายไตรมาสที่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อมกราคม 1993 เลากล่าวว่าการ์ตูนญี่ปุ่นนั้นเข้ากันได้กับเคียสุ "ถ้าเกิดดรากอนบอลล์ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษอาจจะขายได้ดีกว่าเคียสุก็เป็นได้"

สำหรับเกาหลีใต้และจีนนั้น ทางการยังปิดสำหรับการ์ตูนมังกะจากญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อต้องการลดทอนอิทธิพลทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น รัฐบาลเกาหลีจึงได้ห้ามฉายภาพยนตร์ญี่ปุ่น เพลงญี่ปุ่น รวมทั้งวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ออกมาในรูปอื่นๆ จะมีอนุญาตให้นำเข้าบ้างก็คือมังกะไม่กี่เรื่อง "ในอดีตที่ญี่ปุ่นรุกรานเกาหลี เขาก็เลยปิดกั้นไม่ให้มังกะเราเข้าไป แต่กระนั้นการ์ตูนญี่ปุ่นก็ถูกขโมยตีพิมพ์ในชื่อศิลปินเกาหลี" คาซาฮารากล่าว

ที่จีนนั้น ซูซุกิ จากโชกาคุกันกล่าวว่า "เราไม่ค่อยแน่ใจว่าตลาดมังกะที่นั่นจะโตขึ้นมาได้" ไม่ใช่เพียงเพราะข้อจำกัดในการพิมพ์ที่เป็นอุปสรรคสำคัญ แต่เป็นเพราะปักกิ่งยังเจ็บปวดกับบาดแผลครั้งเก่าสมัยญี่ปุ่นเป็นจักรวรรดินิยม แม้กระนั้นผู้ผลิตของจีนก็ติดต่อสำนักพิมพ์มังกะเพื่อขอตีพิมพ์การ์ตูนเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กก่อน คาซาฮารากล่าว การ์ตูนอื่นๆ ที่ยกเว้นเข้าไปจีนได้ก็คือ การ์ตูนชุดโดเรมอนที่โชกาคุกันอนุญาตให้สำนักพิมพ์ปักกิ่งแห่งหนึ่งได้ลิขสิทธิ์การพิมพ์ไปเมื่อกันยายน 1992

สำนักพิมพ์ญี่ปุ่นยอมรับว่า พวกตนไม่ได้เงินมากนักจากตลาดเอเชีย คาซาฮารากล่าวว่า ค่ารอยัลตี้ของนิตยสารของโคนันชาที่ตีพิมพ์ในไต้หวันและฮ่องกง โดยทั่วไปอยู่ระหว่าง 6-10% ของยอดขายแต่ละเล่ม ในไต้หวันก็ตกประมาณ 1,000 ดอลลาร์ต่อพ็อคเก็ตบุ๊ค 1 เล่ม หรือ 800 ดอลลาร์สหรัฐหลังหักภาษี ซึ่งโคดันชาก็จะแบ่งค่ารอยังตี้กับศิลปินที่วาดการ์ตูนด้วย แต่เนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นมักจะยอมรักบารขาดทุนหรือกำไรน้อยในระยะสั้น เพื่อที่จะได้ส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมอื่นๆ ผู้ผลิตมังกะก็เช่นกันที่เชื่อว่า การ์ตูนมังกะจะให้ผลตอบแทนคืนมาในระยะยาว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us