คนไทยเริ่มไปซื้อบ้านในต่างประเทศมากขึ้น เพราะเทียบราคากันแล้ว บางที่บางทำเลอาจจะถูกกว่าบ้านในกรุงเทพฯ
เสียด้วยซ้ำ ธุรกิจตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต่างชาติมองเห็นช่องการเติบโตนี้
จึงพากันเสนอบริการตอบสนองบรรดาผู้มีอันจะกินในสังคมไทย ตลาดบ้านในต่างแดนเพิ่งจะเริ่มต้น
การเป็นเจ้าของบ้านสักหลังในต่างประเทศ ในอดีตนั้นเป็นเพียงความฝันที่มีโอกาสน้อยมากที่จะกลายเป็นความจริงสำหรับคนส่วนใหญ่
ไม่ใช่เฉพาะปัญหาเรื่องราคาเพียงอย่างเดียว ยังมีอุปสรรคในเรื่องกฎหมาย ข้อบังคับ
ปัญหาขั้นตอนดำเนินการกับฝ่ายต่างๆ เพื่อให้ได้มีสิทธิ์ในการซื้อหรือเช่าบ้าน
รวมถึงการขาดตัวกลางที่จะเป็นช่องทางในการได้มาซึ่งความเป็นเจ้าของบ้านในต่างแดน
แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศในซีกโลกตะวันออกซึ่งรวมทั้งไทยด้วย
และภาวะ "ถดถอย" หรือ "อิ่มตัว" ของเศรษฐกิจในโลกตะวันตก
ทำให้ "ช่องว่าง" ระหว่างราคาบ้านในต่างประเทศกับกำลังซื้อจากต่างแดนแคบลง
เมื่อสถานการณ์การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่อ่อนตัวลงมาบ้าง
โดยเฉพาะในทำเลสำคัญของโลกอย่างเช่น ทางแถบชายฝั่งตะวันตกของอเมริการ ที่ลอนดอนประเทศอังกฤษ
อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศใน 2 ภูมิภาคเหล่านี้เริ่มถดถอยหลังลง
หลังจากบูมขึ้นไปอย่างมากในช่วง 2 ปีที่แล้วมา จนทำให้เกิดโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมาอย่างมากมาย
การเร่งสร้างบ้าน หรือที่พักอาศัยรูปแบบต่างๆ กันอย่างขนานใหญ่ในช่วงที่แล้ว
จึงทำให้มีปริมาณบ้านเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาเริ่มลดลงมา จนอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ
ซึ่งเป็นผลพวงทำให้บริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อและมีเครือข่ายอยู่รอบโลก
สบช่องเหมาะที่จะต้องผลักดันให้ธุรกิจแขนงนี้เป็นจุดขายสำคัญในช่วงต่อไปให้จงได้
เมื่อย้อนอดีตกลับไปค้นหาที่มาของการวางแนวทางให้เกิดธุรกิจบ้านต่างประเทศนั้น
ซึ่งจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของธุรกิจนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตแล้ว
จะพบว่า รากฐานของธุรกิจบ้านต่างประเทศที่สามารถดึงดูดใจลูกค้าให้ไปใช้บริการได้ตั้งแต่แรกเริ่มนั้นคือ
การเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าที่อยากจะได้บ้านหลังที่สองหรือสามไว้สำรหับการเปลี่ยยนอิริยาบถไปพักผ่อนที่ต่างประเทศ
หรือการเตรียมการให้ลูกได้มีที่พักที่ดีพอสมควรแก่อัตภาพในการไปพำนักเพื่อเรียนหนังสือ
สำหรับในไทยนั้น การไปจับจองบ้านที่ต่างประเทศเพื่อตากอากาศนั้น ได้เริ่มขึ้นมานานแล้วพอสมควร
แหล่งข่าวผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจท่องเที่ยวให้ทัศนะว่า จะสังเกตได้ว่าลูกค้าระดับกลางถึงบน
จะให้ความสำคัญกับการไปจับจองบ้านที่ต่างประเทศเพื่อการนี้ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา
และเริ่มสนใจอย่างเต็มที่ในช่วง 2-3 ปีนี้ แต่ยังอยู่ในอัตราเริ่มต้นเท่านั้น
ซึ่งในสมัยแรกของการไปซื้อบ้านที่ต่างประเทศนั้น ลูกค้าของไทยส่วนใหญ่จะอาศัยการแนะนำผ่านทางญาติมิตร
เพื่อนฝูงเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะมีความน่าเชื่อถือ และไม่ต้องคอยกังวลแต่ประการใดถึงแต่ละขั้นตอนในการก่อสร้างเพราะคนรู้จักเหล่านั้นจะคอยดูแลให้ตลอดเวลา
"ส่วนใหญ่ลูกค้าคนไทยจะสนใจไปซื้อทางด้านลอสแอลเจลิส หรือแถบแคลิฟอร์เนียเป็นส่วนใหญ่
เพราะเป็นถิ่นที่มีคนไทยอยู่กันมากเป็นพิเศษ แม้ว่าราคาอาจจะแพงกว่าย่านตอนกลาง
หรือทางใต้อยู่บ้างแต่ก็คุ้มกับการได้ทำเลที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งโรงเรียน
สวนสนุก สถานบันเทิงหลากหลาย" แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การไปจับจองบ้านของคนไทยในยุคแรกๆ
นั้น ก็เริ่มจากการไปเช่าเป็นสำคัญ ส่วนรูปแบบบ้านนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านระดับกลางที่มีอัตราค่าเช่าระหว่าง
60-80 เหรียญ/วัน เป็นส่วนใหญ่
จากรากฐานธุรกิจบ้านต่างประเทศที่เริ่มต้นจากการให้เช่าเพื่อพักผ่อนตากอากาศ
หรือเป็นที่พักในการไปศึกษาต่อนี้เอง ก็ได้เกิดความคิดตามมาว่า ธุรกิจประเภทนี้น่าจะพัฒนาขึ้นไปสู่การซื้อเพื่อเก็งกำไรในการขายต่อหรือให้เช่าต่อเนื่องไปได้เช่นเดียวกัน
ซึ่งน่าจะเป็นจุดเชื้อเชิญได้เป็นอย่างดี สำหรับลูกค้าคนไทยที่จะจับจองบ้านในต่างประเทศนี้ในรูปแบบของการ
"ลงทุน" มากขึ้น แทนที่จะเป็นการไปจับจองแบบฉาบฉวยอย่างที่เป็นมาในอดีต
และมีความเป็นไปได้อย่างสูงมากว่าหากธุรกิจนี้พัฒนาไปได้จนถึงจุดนั้นแล้ว
กำลังซื้อของลูกค้าในอนาคตย่อมพัฒนาไปสู่การซื้อเพื่อไปพักอาศัยอย่างถาวรได้เช่นเดียวกัน
จากจุดนี้เอง จึงทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจด้านซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกหลายแห่ง
เช่น คอลด์เวลล์ แบงเกอร์ หรือคอลลิเออร์ จาร์ดีน จากอเมริกา เชสเตอร์ตันจากอังกฤษ
จึงมองการณ์ไกลว่า ตลาดในไทยน่าจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมากในอนาคต จึงมีการเปิดแผนกบริการเฉพาะกิจ
เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าชาวไทย ในขณะเกียวกันก็มีบริษัทของคนไทยที่มองเห็นลู่ทางของธุรกิจนี้เกิดขึ้นด้วย
เช่นบริษัทสิริสัจ หรือ บริษัท ไอพีเอ จำกัด ก่อนที่จะเข้าไป "ล้วงลูก"
ดูว่า แต่ละค่ายใหญ่จากต่างชาติ และไทยมี "ลูกเล่น" ประการใดในการเข้ามาตลาดบ้านต่างประเทศในไทยนี้
ก็คงต้องมาดูก่อนว่า ปัญหาที่ค้างคาจิตใจและเป็นกังวลของลูกค้าที่ต้องประสบเมื่อหวังจะไปมีบ้านในต่างประเทศนั้น
ค่ายใหญ่และค่ายเล็กจะมีวิธีการปัดเป่าปัญหาให้ผ่อนคลายลงไปได้อย่างไร?
ปัญหาที่เป็นข้อกังวลสูงสุดของการไปซื้อบ้านที่ต่างประเทศของคนไทยคือ การที่ต้องไปพบกับขั้นตอนดำเนินการมากมายหลายประการ
กว่าจะได้มีสิทธ์ในการซื้อหรือเช่าบ้านนั้น เช่นในอเมริกา นับตั้งแต่การยื่นขออนุญาตผ่านทางเทศบาลของแต่ละรัฐ
ซึ่งมักจะมีข้อกำหนดกฎหมายที่แตกต่างกันไป แต่จะมีข้อคล้ายคลึงในอดีตอยู่ประการหนึ่ง
คือค่อนข้างจะมีความเข้มงวดพอสมควรสำหรับคนต่างชาติที่จะหวังจะเข้าไปมีสิทธิ์ในดินแดนของเขา
ซึ่งบางครั้งแม้ว่าแต่ละรัฐจะมีอิสระในการดำเนินการและออกกฎหมายเป็นของตัวเอง
แต่เมื่อนโยบายจากส่วนกลางให้มีความเข้มงวดต่อคนจากบางทวีป หรือบางประเทศในการจะเข้าไปมีสิทธิ์ซื้อหรือเช่าที่ดินนั้น
แต่ละรัฐก็จะต้องทำตาม
แหล่งข่าวจากบริษัทตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศของไทยเปิดเผยว่า ในอดีตนั้น
แต่ละขั้นตอน ในการที่จะฝ่าเข้าไปเพื่อให้ได้รับสิทธิ์นั้น อาจจะต้องใช้เวลาในแต่ละจุดไม่น้อยกว่า
1 อาทิตย์ขึ้นไป ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ที่ดิน เจ้าหน้าที่เทศบาล ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องไปเกี่ยวข้องกับทางกระทรวงการต่างประเทศของอเมริกา
หากเอกสารการเข้าประเทศไม่เรียบร้อย
"สำหรับรายที่ต้องใช้เวลาในแต่ละขั้นตอนไม่น้อยกว่า 1 อาทิตย์นี้
เป็นกรณีที่เขาได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนหรือญาติที่รู้ขั้นตอนในการติดต่อมาแล้ว
ซึ่งหากเป็นรายอื่นที่ไม่รู้จักใครเลยแล้ว อาจจะต้องใช้เวลามากกว่านี้ และเมื่อรวมเวลาดำเนินการทั้งหมดแล้ว
อาจจะต้องใช้เวลามากถึง 2 เดือนก็เคยมี" แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงขั้นตอนในการขอวีซ่าเพื่อขอเข้าไปดำเนินการให้ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว
ซึ่งในอดีตนั้นแม้ว่าในอเมริกา จะไม่ค่อยเข้มงวดมากนักกับการให้สิทธิ์คนไทยเข้าไปพำนักชั่วคราวมากนักก็ตาม
แต่สำหรับการเข้าไปอยู่นานๆ หรือขอเดินทางเข้าไปทั้งครอบครัวนั้น มักจะติดขัดปัญหามากพอสมควร
ในปัจจุบัน แหล่งข่าวจากบริษัทท่องเที่ยวเปิดเผยว่า การขอวีซ่าเข้าไปอเมริกาเป็นการชั่วคราวนั้น
แม้ว่าจะไม่ยุ่งยากมากนักก็ตาม แต่การที่จะขอวีซ่าเป็นการถาวร สำหรับนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียนี้เมื่อเปรียบเทียบกับนักท่องเที่ยวที่มาจากยุโรป
หรือจากประเทศใกล้เคียงกับอเมริกาแล้วจะพบว่ายากกว่าเป็นอย่างมาก
สำหรับประเทศอื่นเช่นอังกฤษนั้น ในอดีตที่ผ่านมาก็มีปัญหาในจุดนี้เช่นเดียวกัน
ซึ่งดูจะมีความเข้มงวดต่อผู้ที่จะขอเข้าไปมากกว่าอเมริกาเสียอีก โดยขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาอย่างมาก
2 เดือน ก็อาจจะต้องเพิ่มเป็น 3 เดือน ขั้นตอนติดต่อต่างๆ ก็จะต้องมีแบบฟอร์มที่เป็นมาตรฐาน
และเข้มงวดกว่าของอเมริกาเป็นอย่างมาก
ปัญหาอีกข้อหนึ่งของผู้ที่หวังจะเข้าไปจับจองอสังหาริมทรัพย์ในต่างแดนคือ
ปัญหาเรื่องกฎหมาย โดยในอเมริกานั้น ในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากกฎหมายของแต่ละรัฐจะแตกต่างกันค่อนข้างมาก
ทั้งในแง่ของการให้สิทธิ์ชาวต่างชาติเข้าไปมีสิทธิ์ในดินแดนของอเมริกาเอง
ซึ่งจะมีเพียงบางรัฐเท่านั้น เช่นแคลิฟอร์เนีย ที่ให้สิทธิ์แก่ชาวต่างชาติในการเข้าไปจับจองพื้นที่ในอเมริกาได้อย่างเต็มที่
ทั้งในรูปของที่ดิน บ้าน หรือคอนโดมีเนียม ในขณะที่บางรัฐจะไม่ยอมมอบสิทธิ์ขาดแก่ชาวต่างชาติให้เข้าไปถือสิทธิ์ในดินแดนของเขา
ซึ่งคล้ายคลึงกับของอังกฤษในอดีต ที่ค่อนข้างจะเข้มงวดในจุดนี้เช่นเดียวกัน
"จากจุดนี้เอง จึงทำให้ที่ผ่านมา มักจะเกิดข้อขัดแย้งระหว่างคนไทยกับเจ้าหน้าที่ของอเมริกาบ่อยครั้ง
ทั้งนี้ เพราะทางฝ่ายเราไม่มีผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมายที่ดีพอจะไปประสานกับทางฝ่ายเขาได้
ซึ่งกว่าที่จะได้ผู้รู้ด้านกฎหมายอย่างดีนั้น เขาจะต้องรู้ข้อกฎหมายเปรียบเทียบระหว่างรัฐด้วยว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไร"
แหล่งข่าวจากบริษัทท่องเที่ยวให้ความคิดเห็น
อีกปัญหาหนึ่งที่ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนัก แต่สำหรับคนบางกลุ่มที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านนี้เลยจะเป็นปัญหาค่อนข้างมาก
นั่นคือปัญหาด้านภาษา เพราะที่ผ่านมาการไปจับจองอสังหาริมทรัพย์ของคนไทย
มักจะไปติดต่อกันผ่านญาติมิตร หรือเพื่อนฝูงเป็นสำคัญ ซึ่งก็มักจะสื่อข้อความกันไม่ค่อยถูกต้อง
และมักจะเกิดปัญหาตามมาในอนาคต
ปัญหาที่ค้างคาจิตใจของลูกค้าคนไทยเหล่านี้ บริษัทที่รับหน้าที่เป็นตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งค่ายใหญ่และค่ายเล็กต่างตระหนักเป็นอย่างดี
และได้เตรียมการอำนวยความสะดวกในแต่ละจุดเพื่อเป็นการเชื้อเชิญให้คนไทยไปจับจอง
ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนดำเนินการเพื่อให้ได้สิทธิ์นั้น ทั้งคอลด์เวลล์ แบงเกอร์
หรือคอลลิเลอร์ จาร์ดีนส์ หรือเชสเตอร์ตัน (ไทย) ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า
ในปัจจุบันทุกสิ่งทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปพอสมควรแล้ว ความล่าช้าในแต่ละขั้นตอนที่จะต้องใช้เวลามากถึง
1 เดือน ได้ลดลงมาอย่างมาก จนกระทั่งเป็นที่ยืนยันได้ว่า สำหรับในอเมริกา
รัฐสำคัญที่มีทำเลอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างดี อย่างเช่นแคลิฟอร์เนีย หรือฟลอริด้าเป็นต้นนั้น
หากเอกสารทุกอย่างเรียบร้อย และไม่มีข้อขัดข้องแวดล้อมประการอื่นแล้ว โดยกระบวนการยื่นขอสิทธิ์ทั้งหมดไม่น่าใช้เวลาเกิน
1 เดือน
เหตุที่สามารถลดเวลาในการดำเนินการลงมาได้อย่างค่อนข้างมากนั้น เนื่องด้วยค่ายใหญ่ทั้ง
3 ได้ให้ความสนใจกับงานบริการอย่างสูงมาก ไนเจล คอร์นิก กรรมการผู้จัดการของคอลลิเออร์
จาร์ดีน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ทางบริษัทคาดการณ์ตั้งแต่ต้นแล้วว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทยน่าจะไปได้อย่างดี
จึงได้เปิดแผนกต่างประเทศขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เพื่ออำนวยความสะดวกตั้งแต่ขั้นแรกที่ลูกค้ามาติดต่อจนถึงขั้นสุดท้าย
การเพิ่มทีมงานและเร่งรัดบุคลากรทุกคนให้เอาใจใส่ต่อลูกค้าทุกคน ก็มีส่วนเช่นเดียวกันที่ทำให้กระบวนการที่เคยล่าช้าในอดีตลดน้อยลงไปอย่างมาก
นอกจากนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพทีมงานก็มีส่วนเช่นเดียวกันทำให้การประสานงานกับลูกค้า
เพื่อให้ดำเนินการผ่านขั้นตอนทางกฎหมายไปอย่างสะดวกโยธิน มิหนำซ้ำยังไม่ติดขัดในเรื่องภาษาซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในอดีตอีกด้วย
สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในออสเตรเลียที่คอลลิเออร์ จาร์ดีนได้เข้าไปบุกเบิกตลาดนั้น
แม้ว่าจะเป็นตลาดใหม่ซึ่งยังไม่มีปัญหาต่างๆ มากนัก แต่ทางคอลลิเออร์ก็ได้เตรียมบริการต่างๆ
ไว้ ตามกฎหมายของออสเตรเลียที่กำหนดไว้ว่า ชาวต่างชาติที่จะสามารถเป็นเจ้าของที่ดิน
หรือโครงการพัฒนาต่างๆ ได้นั้น จะต้องทำงานในออสเตรเลีย หรือมีธุรกิจเป็นของตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
รวมถึงในส่วนของคอนโดมีเนียมที่กำหนดให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อได้ถึง 50%
ของจำนวนโครงการทั้งหมด
ทางฝ่ายคอลด์เวลล์ แบงเกอร์ ลีออน ดิวตี้ ผู้จัดการทั่วไปเปิดเผยว่า ทางคอลด์เวลล์ก็เน้นการบริการครบวงจรเช่นเดียวกับค่ายอื่นเช่นเดียวกัน
โดยทางคอลด์เวลล์เน้นหนักในเรื่องบุลากร ที่จะต้องมีเพียงพอเพื่อรองรับลูกค้าที่มีเข้ามาได้ตลอดเวลา
ซึ่งมีการประมาณการว่าทั่วทั้งอเมริกา ที่มีสาขาของคอลด์เวลล์อยู่ถึง 20
แห่งนั้นจะมีพนักงานคอยอำนวยความสะดวกมากถึง 50,000 คน และพนักงานทุกคนต่างก็ได้รับการฝึกฝนให้รู้ตัวบทกฎหมาย
และการสื่อข้อความไปยังลูกค้าได้อย่างดีอีกด้วย
เชสเตอร์ตัน (ไทย) เป็นอีกบริษัทหนึ่ง ที่เห็นความสำคัญในเรื่องแก้ปัญหาของลูกค้าในจุดนี้ให้ลุล่วงเสียก่อน
จอห์น เชสเตอร์แมน กรรมการผู้จัดการ เชสเตอร์ตัน (ไทย) เปิดเผยว่า เนื่องด้วยทางเชสเตอร์ตันมีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศอังกฤษ
ดังนั้นอสังหาริมทรัพย์ที่นำมาเสนอลูกค้าคนไทยทั้งหมดจึงมาจากอังกฤษหรือจากทวีปยุโรปเท่านั้น
เมื่อเปรียบเทียบขั้นตอนในการให้ได้มาซึ่งสิทธิ์ระหว่างอังกฤษ และอเมริกาแล้ว
ทางอังกฤษก็คงมีกระบวนการที่ซับซ้อนกว่าบ้างแต่ก็เช่นเดียวกับอเมริกา ที่กระบวนการต่างๆ
เหล่านั้น ได้มีการลดขั้นตอนลงมามากพอสมควรแล้ว ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะใช้เวลามากกว่าที่อเมริกาอีกต่อไปแล้ว
"กระบวนการลดขั้นตอนเหล่านี้ ทำกันอย่างเป็นระบบ ทั้งในส่วนของเรากับทางภาครัฐ
ดังนั้นอัตรา 1 เดือนที่ขั้นตอนต่างๆ สามารถทำได้เสร็จสิ้นนั้น ของเราก็ไม่น่าจะต้องใช้เวลามากกว่านั้นแต่อย่างใด
ส่วนเรื่องภาษานั้น เราก็ได้จัดเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านภาษเป็นอย่างดีไว้คอยช่วยเหลือลูกค้าอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามในส่วนของลูกค้าเอง เราก็เชื่อมั่นว่าลูกค้าแต่ละคนก็น่าจะมีความสามารถในการใช้ภาษามากกว่าในอดีตอยู่แล้ว
ดังนั้นจึงน่าจะช่วยเหลือตัวเองได้พอสมควร"
เมื่อขจัดปัญหาของลูกค้าไปได้แล้ว การวางกลยุทธ์ การจัดส่งเสริมการขาย
เพื่อดึงลูกค้าเป็นสิ่งที่แต่ละค่ายจะต้องจัดสรรให้แปลกออกไป เพื่อเป็นจุดขายของตัวเอง
ทางค่ายคอลลิเออร์ จาร์ดีน ก็ได้เน้นกลยุทธ์ของตัวเองที่จะสร้างภาพความพร้อมขององค์กรที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลกถึง
167 สาขา ใน 32 ประเทศ ยุทธศาสตร์ของคอลลิเออร์ จาร์ดีน ก็คือความพยายามหาทำเลที่ดี
และบ้านที่มีคุณภาพดี ทำเลที่คอลลิเออร์มองว่าน่าจะดีอย่างเช่น เพิร์ธ ซิดนีย์
บริสเบน ในออสเตรเลีย อังกฤษก็คงมีเฉพาะในลอนดอน หรือในปารีส ของฝรั่งเศส
ส่วนในสหรัฐอเมริกา จะเป็นพื้นที่เฉพาะชายฝั่งตะวันตก
รูปแบบการเจาะเข้าหาลูกค้านั้น ทางคอลลิเออร์ จาร์ดีนจะใช้วิธีติดต่อโดยตรง
โดยเน้นการเขาะเข้าไปโดยการจัดนิทรรศการ หรือการโฆษณาเพื่อเข้าหากลุ่มลูกค้า
นอกจากนั้นทางคอลลิเออร์ยังมีการส่งเสริมการขายโดยการให้เช่าฟรีเป็นช่วงระยะเวลา
หรือรับประกันผลตอบแทนการลงทุนหรือการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินด้วยต้นทุนที่ต่ำพร้อมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำประมาณ
6-7% และยังมีบริการขายหรือเช่าคอนโดมีเนียม บ้าน หลังจากที่บุตรหลานของตนจบการศึกษา
"ส่วนใหญ่ลูกค้าจะสนใจคอนโดมีเนียม หรืออพาร์ทเมนท์ แต่ถ้าเป็นบ้านแล้วก็มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ชอบ
ต่อไปในหลายๆ จุดของโลกอย่างเช่นอเมริกา ก็จะมีจุดขายเรื่องฟุตบอลโลกที่จะดึงคนได้มากพอสมควร"
ในส่วนของราคานั้น ไนเจลให้ความคิดว่าสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รูปแบบอื่นแล้ว
ราคาอาจจะเป็นกลยุทธ์สำคัญได้ แต่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างแดนนี้ ทำเลและคุณภาพของบ้าน
เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่า อัตราราคาบ้านที่คอลลิเออร์ขายจึงอยู่ในอัตราระดับกลาง
ระหว่าง 250,000 ถึง 400,000 เหรียญ ส่วนคอนโดมีเนียมนั้นก็อยู่ในอัตราระดับกลางเช่นเดียวกัน
คอลด์เวลล์ แบงเกอร์ เป็นอีกค่ายหนึ่งที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก และอาศัยจุดนี้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการชี้นำให้ลูกค้าใช้บริการของตน
ลีออน ดิวตี้ เปิดเผยว่า ด้วยจุดขายของคอลด์เวลล์ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วสหรัฐถึง
20 แห่ง จึงทำให้คอลด์เวลล์ได้เปรียบคู่แข่งขันที่สามารถเลือกสรรทำเลต่างๆ
ให้กับลูกค้าได้มากกว่า
"เรามีสาขาในอเมริกาเกือบทุกรัฐ คุณต้องการซื้ออะไรที่ไน เราก็สามารถหาให้คุณได้
ในขณะที่ถ้าไปที่บริษัทอื่น คุณก็จะได้เฉพาะบางจุดที่เขามีเท่านั้น อาจจะได้ในสิ่งที่คุณต้องการ
แต่คงจะไม่ดีมากนัก" ดิวตี้กล่าว
กลยุทธ์ของคอลด์เวลล์นั้นจะฉีกแนวออกไปที่จะเน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งบริษัทที่ทำการพัฒนาที่ดิน
และลูกค้าโครงการ และกลยุทธ์ประการสำคัญที่คอลด์เวลล์เน้นมากเป็นพิเศษ คือพยายามให้ความรู้และความเข้าใจแก่ลูกค้าถึงขั้นตอนในการได้สิทธิ์มีบ้านในอเมริกาว่า
ไม่ได้วุ่นวายอย่างที่คิดและโอกาสที่จะมีสิทธิครอบครองนั้นก็มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม
ในเรื่องราคานั้น คอลด์เวลล์ก็มีความคิดคล้ายคลึงกับคอลลิเออร์ จาร์ดีนที่มองว่าราคาเป็นเพียงอค์ประกอบส่วนหนึ่งของจุดขายทั้งหมดเท่านั้น
ดังนั้นอัตราราคาบ้านของคอลด์เวลล์ จึงอยู่ในระดับกลางถึงค่อนข้างสูง โดยถ้าเป็นบ้าน
2 ชั้น 2 ห้องนอน หรือ 3 ห้องนอน จะอยู่ในราคาประมาณ 250,000-280,000 เหรียญ
ส่วนที่แพงกว่านั้นก็จะมีราคาประมาณ 350,000-450,000 เหรียญ
กลยุทธ์ของเชสเตอร์ตันไทย ก็เป็นอีกเจ้าหนึ่งที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้
แม้ว่าทางเชสเตอร์ตันไทยจะมีข้อจำกัดที่มีทำเลให้เลือกเพียงในประเทศอังกฤษ
หรือทวีปยุโรปที่ใกล้เคียงเท่านั้น และส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบให้เช่าเสียส่วนใหญ่ก็ตาม
แต่จอห์น เชสเตอร์แมนแห่งเชสเตอร์ไทย ก็ยืนยันว่า ด้วยทำเลที่เป็นจุดขายที่แตกต่างไปในแบบของอังกฤษ
เช่น แถบเคนซิงตัน เชสซี หรือเมย์แฟร์ที่มีลูกค้าจากไทยนิยมกันเป็นอย่างมากนั้น
เพราะมีกลิ่นอายแบบยุโรปเต็มที่ จะเป็นจุดโน้มน้าวใจลูกค้าได้มากเช่นเดียวกัน
การให้ความรู้ความเข้าใจถึงรูปแบบ และคุณภาพของบ้านแบบอังกฤษรวมถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนอังกฤษว่ามีลักษณะเด่นในจุดใดนั้น
จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เชสเตอร์ตัน (ไทย) ต้องพยายามเน้นเป็นพิเศษ เพื่อเพิ่มจุดขายในบ้านของตัวเอง
อีกวิธีการที่เชสเตอร์ตันไทยเน้นเป็นอย่างมากคือ การจัดนิทรรศการโครงการที่พักอาศัยในลอนดอนมาจัดแสดงให้คนไทยได้ชมกัน
โดยล่าสุดได้จัดงานที่ชื่อว่า "RESIDENTIAL ROADSHOW" ซึ่งจากงานครั้งนั้น
ทำให้เชสเตอร์ตันไทยมียอดขายมากถึง 24 ล้านบาท มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ล่วงหน้า
จากความสำเร็จในจุดนี้เอง ทำให้เชสเตอร์ตันไทยตั้งเป้าไว้ว่าจะจัดงานเช่นเดียวกันนี้อีกในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่จะมาถึง
โดยจะนำบ้านจากทำเลอื่นๆ ของกรุงลอนดอนมาขายเพิ่มจากเดิมที่มีเพียง 3 ทำเลดังที่กล่าว
"จุดขายอีกประการที่เรามองไว้ ซึ่งถือว่าเป็นความโชคดีของเราคือในช่วงนี้
ทางอังกฤษมีการลดค่าเงินปอนด์ลงถึงร้อยละ 28-30 อีกทั้งราคาที่อยู่อาศัยก็ลดต่ำลงด้วย
ในอัตราร้อยละ 30-50 จึงเป็นจังหวะเหมาะของลูกค้าชาวไทยที่จะไปจับจองบ้านที่อังกฤษในระยะนี้"
ที่กล่าวมาเป็นกลยุทธ์ของค่ายอสังหาริมทรัพย์จากต่างชาติ ที่มีศักยภาพและเครือข่ายกว้างไกล
ขณะที่ในวงการธุรกิจประเภทนี้ในปัจจุบัน ค่ายเล็กจากไทยก็มีส่วนเข้ามาแย่งสัดส่วนการตลาดอยู่บ้างเช่นเดียวกัน
อย่างเช่นบริษัทสิริสัจจำกัด
สิริสัจได้ก้าวเข้ามาสู่วงการนี้ด้วยการนำโครงการ SANCTUARY POINT ในเขตชุมชนวิทบี้
ที่ห่างจากเวลลิงตันซึ่งเป็นเมืองหลวงของนิวซีแลนด์ เพียง 25 กม. มาขายเมื่อประมาณ
1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้โฆษณาประชาสัมพันธ์มากนัก แต่จุดขายของสิริสัจตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
จนทำให้สามารถขายไปได้แล้วกว่า 80% จากจำนวนโครงการทั้งหมด 44 แปลง
ทางสิริสัจได้ตัดแบ่งโครงการนี้มาขายในไทยแปลงละ 150-200 ตารางวา ราคาตารางวาละ
16,500 บาท สำหรับตัวบ้านซึ่งลูกค้าจะสร้างต่อในภายหลัง ทางบริษัทพัฒนาที่ดินคือ
มอร์มอสจากฮ่องกง จะมีแบบให้เลือกและเป็นผู้ดำเนินการ โดยราคาบ้านจะตกประมาณ
3 ล้านบาท
แหล่งข่าวในบริษัทสิริสัจเปิดเผยว่า เนื่องด้วยการอำนวยความสะดวกของทางการนิวซีแลนด์ที่เอื้อให้คนต่างชาติสามารถถือครองที่ดินในนิวซีแลนด์ได้หากเป็นที่อยู่อาศัย
จึงทำให้คล่องตัวแก่การตัดสินใจของลูกค้าคนไทยเป็นอย่างมาก จุดเอื้ออีกประการที่กลายเป็นจุดขายสำคัญของโครงการนี้คือ
เมืองเวลลิงตันเป็นเมืองการศึกษาที่มีมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่ชื่อว่า วิกตอเรีย
ทำให้การเจาะกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้จึงพุ่งเป้าไปที่ลูกค้าระดับบนที่ต้องการที่พักผ่อนในต่างแดน
หรือสถานที่เรียนให้ลูกหลาน แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า โครงการที่เวลลิงตันนี้
เป็นโครงการนำร่องก่อนจะเปิดตัวโครงการอื่นตามมาในอนาคต ซึ่งจะมีโครงการอื่นในนิวซีแลนด์ตามมาอีกอย่างน้อย
2-3 โครงการ
นอกจากสิริสัจแล้ว บริษัทตัวแทนด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทยในต่างแดนรายอื่นที่เริ่มมีบทบาทสูงขึ้นคือ
บริษัท ไอพี เอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนนำบ้านจากสหรัฐมาขาย โดยเป็นบ้านจัดสรรของบริษัทแลนด์
สตาร์โฮม จำกัด เนื่องด้วยการเข้ามาสู่ตลาดใหม่ ทางไอพีเอจึงหวังจะปลุกตลาดด้วย
ทำเลที่สามารถดึงดูดใจผู้ซื้อได้ทั้งในแง่ของราคา สิ่งอำนวยความสะดวก สภาพแวดล้อมทุกประการ
ซึ่งสบช่องเหมาะที่มาเลือกเอาโครงการของแลนด์ สตาร์โฮม ซึ่งอยุ่ในเมืองออร์ลันโด
รัฐฟลอริด้า ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญเมืองหนึ่งของสหรัฐซึ่งมีสถานบันเทิงหลายแห่ง
เช่น ดิสนีย์เวิลด์ โรงถ่ายยูนิเวอร์แซล ซีเวิลด์ เอพคอท เซนเตอร์ รวมถึงสนามกอล์ฟอีกหลายสนาม
จุดขายสำคัญของโครงการนี้ดังที่กล่าวคือราคาของบ้านซึ่งค่อนข้างถูกเป็นพิเศษ
โดยบ้านที่นำมาเสนอขายให้กับคนไทยนี้ เป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียวขนาด 112 ตารางวา
3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ หรือบ้านเดี่ยว 2 ชั้นขนาด 5 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ อุปกรณ์ภายในครบครัน
นับตั้งแต่
เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องทำน้ำแข็ง โทรทัศน์สี เครื่องซักผ้า เตาแก๊ส
เครื่องดูดควัน เครื่องล้างจาน เตาอบไมโครเวฟ ชุดเครื่องครัวครบชุด ระบบน้ำร้อนน้ำเย็นทุกจุดในบ้าน
สระว่ายน้ำขนาด 30 ฟุต เหล่านี้รวมกันอยู่ในวงเงิน 3.6-5 ล้านบาทเท่านั้น
"ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังประสบภาวะตกต่ำอย่างมาก ราคาบ้านและที่ดินจึงพลอยมีราคาต่ำเป็นพิเศษตามไปด้วย
มิหนำซ้ำที่ออร์ลันโดนี้ชาวต่างชาติมีสิทธิ์เข้าไปซื้อที่ดินหรือบ้านได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีข้อหวงห้ามแต่ประการใด"
สุเมธ วรเสียงคุณ กรรมการผู้จัดการของไอพีเอ อรรถาธิบาย
นอกจากจุดขายดังกล่าวแล้ว ทางไอพีเอยังมีกลยุทธ์สมทบอีกชั้นหนึ่งเพื่อจูงใจให้ลูกค้าซื้อบ้านในโครงการนี้
ซึ่งหากผู้ซื้อไม่ได้หวังจะอยู่เองแล้วก็สามารถเปิดให้เช่าได้ โดยบ้านขนาดเล็กจะได้รับค่าเช่าประมาณ
500-700 เหรียญ/สัปดาห์ ซึ่งเฉลี่ยประมาณวันละ 120 เหรียญ ซึ่งเจ้าของจะได้แบ่งหลังจากหักค่าบริการด้านอื่นๆ
แล้วถึง 80 เหรียญ/วัน นอกจากนั้นทางไอพีเอยังมีกลยุทธ์ตบท้ายที่เป็นการส่งเสริมการขายให้ลูกค้า
ด้วยการจ่ายค่าเครื่องบินจากกรุงเทพฯ-ออรันโดเพื่อให้ผู้ซื้อเดินทางไปเลือกแบบบ้านและแปลงที่ดินได้ด้วยตัวเอง
แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดกับบริษัทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศเปิดเผยว่า
ด้วยข้อด้อยของบริษัทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทย ที่มีสายป่านและเครือข่ายที่มีศักยภาพน้อยกว่าค่ายใหญ่จากต่งประเทศเป็นอย่างมาก
ดังนั้นกลยุทธ์ที่จะจูงใจลูกค้าจึงต้องทุ่มเทพอสมควร ทั้งในแง่ของการส่งเสริมการขายโดยการจัดกรุ๊ปทัวร์
ซึ่งมีแนวโน้มว่าในช่วงต่อไป เมื่อมีหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันในวงการานี้มากขึ้นแล้ว
ทั้งค่ายเก่าและค่ายใหม่คงต้องหากลยุทธ์ใหม่มาสัประยุทธ์ให้มากกว่านี้เป็นแน่นอน
เมื่อมองไปถึงกาลข้างหน้าที่จะมีค่ายต่างๆ เข้ามาชิงชัยกันในสมรภูมิแห่งนี้มากขึ้นแล้ว
ซึ่งเป็นที่เปิดเผยว่า จะมีค่ายน้องใหม่จากอเมริกาอีกอย่างน้อย 2-3 ราย ซึ่งเป็นบริษัทที่มีเครือข่ายระดับโลกเช่นเดียวกับที่เข้ามาก่อนหน้า
กำลังศึกษาลู่ทางที่จะเข้ามาทำตลาดภายในปลายปีนี้ นอกจากนั้นแล้วค่ายของไทยซึ่งกำลังศึกษาตลาดอยู่เช่นกัน
ก็เตรียมจะเปิดตัวภายในปลายปีนี้อีกอย่างน้อย 2 ค่ายอย่างแน่นอน จึงเริ่มมีกระแสความคิดว่า
การแข่งขันกันในธุรกิจประเภทนี้ จะเริ่มเข้มข้นขึ้นในตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตามผู้บริหารของค่ายใหญ่ทั้งคอลลิเออร์ จาร์ดีน คอลด์เวลล์ แบงเกอร์
และเชสเตอร์ตัน ต่างก็มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ถึงแม้ว่าการแข่งขันจะเข้มข้นขึ้นบ้าง
แต่เนื่องจากทิศทางในการทำตลาดของแต่ละค่ายที่ตั้งเป้าไว้ว่า จะเจาะเข้าไปหาลูกค้ากลุ่มระดับบีบวกไปถึงเอบวก
เป็นลูกค้าที่มกัจะคำนึงถึงทำเล และคุณภาพของบ้านที่ออกมาเป็นสำคัญ ซึ่งเกือบจะแน่นอนว่า
กลยุทธ์ราคาเป็นสิ่งที่ค่ายเหล่านี้ไม่ค่อยใส่ใจเท่าที่ควรอยู่แล้ว
ไนเจล คอร์นิคแห่งคอลลิเออร์ จาร์ดีน เปิดเผยว่า การที่ค่ายใหญ่จะลงไปทำตลาดแข่งกับค่ายเล็กโดยอาศัยกลยุทธ์ราคานั้น
นอกจากจะเป็นการสร้างภาพลบ (DISCREDIT) ตัวเองต่อลูกค้าระดับบนแล้ว ความสามารถที่จะใช้กลยุทธ์ราคาเพื่อแข่งกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในประเทศนั้น
จะเป็นข้อด้อยอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบบริษัทภายในประเทศที่สามารถทำตลาดจุดนี้ได้เข้มแข็งกว่า
ดังนั้นการแข่งขันในอนาคตของค่ายใหญ่เหล่านี้จึงจะมุ่งเน้นไปที่การหาทำเลที่ดี
หรือโครงการที่เพียบพร้อมด้วยคุณภาพของการก่อสร้าง รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเสียส่วนใหญ่
ในขณะที่จอห์น เชสเตอร์แมนแห่ง เชสเตอร์ตันไทย ก็มองไม่แตกต่างไปจากคอลลิเออร์
จาร์ดีนแต่อย่างใด โดยเชสเตอร์ตันไทยมองว่า การเกิดขึ้นของตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ในช่วงนี้
เป็นการจุดประกายให้ค่ายอื่นที่กำลังรอดูท่าทีว่าจะเข้ามาทำตลาดนี้ จะมีความแน่ใจที่จะลงสู่ธุรกิจนี้อย่างจริงจังในช่วงต่อไป
"เรามองว่าก่อนหน้าที่ไปสู่จุดที่จะทำให้ลูกค้าคนไทยไปซื้อบ้านในทำเลต่างๆ
ที่เราวางไว้เพื่ออยู่แบบถาวรนั้น เราน่าจะให้ลูกค้าเหล่านี้สนใจที่จะขยายบทบาทของตัวเองจากการไปซื้อบ้าน
เพื่อเป็นการพักผ่อนให้ไปเป็นการลงทุน เพื่อหวังเก็งกำไรมากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ตลาดนี้มีความจูงใจแก่ผู้สนใจรายอื่นที่จะเข้ามาในอนาคต"
เชสเตอร์แมนกล่าว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ สุเมธ แห่งไอพีเอ ให้ความคิดเห็นว่า อัตราส่วนของคนไทยที่ไปซื้อบ้านเพื่อเป็นการลงทุน
เพื่อหวังเก็งกำไรเท่าที่ได้มีสำรวจนั้นได้เพิ่มมากขึ้นจากเพียง 10-20% ในอดีต
ก้าวขึ้นมาเป็นกว่า 40% แล้ว ซึ่งคาดว่าจะสูงยิ่งขึ้นอีกในช่วงต่อไป
อย่างไรก็ตามการจุดประกายของผู้ที่เข้ามาก่อนหน้า และเดินไปสู่แนวทางที่ต้องการได้นั้น
จะไม่สำเร็จได้เลย หากมีเพียงแต่กลยุทธ์ที่มุ่งหวังแต่เพียงยอดขายหรือการตลาดเพียงอย่างเดียว
เทคนิคการส่งเสริมการขายที่จะเป็นลูกเล่นของบริการ ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน
การส่งเสริมการขายด้วยการให้ไปดูสถานที่โครงการด้วยโบนัสตั๋วเครื่องบิน
ที่บริษัทตัวแทนอย่างไอพีเอได้ทำไป และค่ายใหญ่จากต่างชาติเริ่มสนใจนั้น
เริ่มเป็นนิมิตหมายสำคัญที่ทำให้การประสานความร่วมมือระหว่างบริษัทท่องเที่ยว
กับบริษัทตัวแทนอสังหาริมทรัพย์จากต่างแดน ในรูปแบบของ "ทัวร์อสังหาริมทรัพย์"
(PROPERTY TOUR) ที่มีการปรึกษาระดมความคิดว่าจะทำมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว
ก่อนหน้านี้ทางสมาคมผู้ค้าอสังหาริมทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นผู้เริ่มเปิดฉาก
"ทัวร์อสังหาริมทรัพย์" ขึ้นในไทย โดยระดมผู้ที่อยู่ในแวดวงนี้
ไปทัศนศึกษาความเป็นไปได้ในการลทุนด้านนี้ที่ออสเตรเลีย แต่ในครั้งนั้นเป็นการไปทัวร์อสังหาริมทรัพย์ในเชิงทฤษฎีเป็นสำคัญ
แต่ก็ได้จุดประกายให้คนในแวดวงทัวร์ และอสังหาริมทรัพย์ให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น
สุเมธแห่งไอพีเอ ให้ความเห็นว่า ขณะนี้การรวมตัวระหว่างบริษัททัวร์และบริษัทตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นไปอย่างหลวมๆ
แต่หลังจากที่มีแนวโน้มว่าธุรกิจบ้านต่างประเทศจะเป็นไปได้ดีนี้ ก็มีบริษัททัวร์ชั้นนำหลายแห่งเริ่มให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมมือผลักดันธุรกิจนี้โดยตรง
"เท่าที่ทราบ บริษัททัวร์ใหญ่อย่างเช่น เพรสซิเดนท์ทัวร์ เถกิงทัวร์
เอ็มดีทัวร์ หรือสยามเอกซเพรส ก็เคยมีความคิดจะเข้ามาศึกษารูปแบบการจัดทำทัวร์อสังหาริมทรัพย์อยู่เหมือนกัน
แต่เขาก็ยังติดขัดในเงื่อนไขบางประการ จึงทำให้ต้องชะลอความคิดดังกล่าวนี้ไปก่อน"
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้สันทัดกรณีในวงการท่องเที่ยวก็ยังคงแบ่งรับแบ่งสู่เกี่ยวกีบการจัดทำทัวร์อสังหาริมทรัพย์
โดยให้ความเห็นว่าเงื่อนไขบางประการที่ยังไม่สามารถผลักดันเรื่งอนี้ได้อย่างเต็มที่นั้น
เป็นเพราะตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างแดนถึงแม้ว่าจะมีการเติบโตในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม
แต่ก็ยังไม่ถึงจุดที่น่าพอใจ ดังนั้นทางบริษัทท่องเที่ยวทั้งหลายจึงหวังจะให้ความต้องการของลูกค้าคนไทย
มีมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้อีกสักช่วงตัว จึงจะเริ่มเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป
อนาคตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างแดนเริ่มมีแนวทางสดใสว่าจะไปได้ด้วยดีในช่วงต่อไปแต่ก็ต้องอยู่ที่ว่า
แต่ละค่ายจะสามารถอาศัยโอกาสที่สภาพเศรษฐกิจของอเมริกา หรือของยุโรปที่กำลังซบเซาอยู่ขณะนี้
ให้เป็นประโยชน์ในการจูงใจลูกค้าจากคนไทยไปลงทุนที่นั่นได้มากน้อยเพียงใด
เพราะโอกาสนี้เท่านั้นที่จะพิสูจน์ว่าธุรกิจตัวนี้จะอยู่รอดไปได้อย่างมั่นคงหรือไม่