พงษ์ศักดิ์ เร่งแผนฟื้นฟูกิจการร.ฟ.ท.โดยระยะแรกภายใน 1 ปี จะจัดตั้ง 3 บริษัทลูกเข้ามาดูแลงานด้านขนส่ง ระยะ 2 เป็นงานด้านขยายโครงข่าย เปิดแผนลงทุน 10 ปี จะใช้เงินทั้งสิ้น 2.7 แสนล้านบาท มั่นใจจะแก้ไขปัญหาหนี้ท่วมท้นที่มีอยู่ในปัจจุบันได้
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมปรับโครงสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แก้ปัญหาหนี้เพื่อฟื้นฟูกิจการและลดต้นทุนภาคการขนส่งของประเทศ ร่วมกับผู้แทนกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วานนี้ (7 ก.ย.) ว่าที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันถึงแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินและปรับโครงสร้างร.ฟ.ท.โดยการแยกการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐานให้รัฐบาลรับภาระ ซึ่งภายใน 10 ปีตามแผนการลงทุนระบบรางเพื่อเพิ่มโครงข่ายและพัฒนาคุณภาพรถไฟจะใช้เงินลงทุนประมาณ 270,493 ล้านบาท ส่วนการลงทุนด้านรถจักรและล้อเลื่อน (Rolling Stock) ร.ฟ.ท.ลงทุนเองอีกประมาณ 13,034 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 283,527 ล้านบาท
โดยระยะแรกภายใน 1 ปี ร.ฟ.ท.จะแก้ปัญหาโครงสร้างที่ซับซ้อนโดยการตั้งบริษัทลูก 3 บริษัท คือ บริษัท ขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งเบื้องต้นจะรับบริหารโครงการรถไฟเชื่อมสนามบิน (แอร์พอร์ตลิงค์) บริษัทขนส่งสินค้า เน้นการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ภาคตะวันออก และบริษัทซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน ให้เสร็จภายใน 2 เดือน หลังครม.อนุมติ ส่วนการถ่ายโอนงานและบุคลากรจะค่อยเป็นค่อยไป กำหนดรายละเอียดของการชดเชยผลขาดทุนในระบบ PSO ที่ชัดเจนให้เสร็จภายใน 6 เดือน พร้อมปรับระบบบัญชีแยกการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและล้อเลื่อน รวมถึงการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อนำรายได้จากการบริหารที่ดิน มาตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและภาระบำนาญจำนวน 50,200 ล้านบาท หรือมีค่าใช้จ่าย 2,200 ล้านบาทต่อปี โดยมีพนักงาน 14,190 คน และเกษียณแล้วอีก 12,000 คน
ส่วนระยะที่ 2 จะเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบล้อเลื่อนอาณัติสัญญาณ แบ่งเป็นการขยายโครงข่าย ลดทางตัดผ่านเพิ่มความจุในการขนส่ง เช่น เร่งรัดการประมูลรถไฟทางคู่สายตะวันออก และรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ รถไฟทางคู่เป็นช่วงๆ (Long Loop) ทั่วประเทศ โครงการปรับปรุงราง (Track Rehabilitation) และระบบอาณัติสัญญาณพัฒนา Logistics Facilities (ICD&CY) เด่นชัย ขอนแก่น สุราษฏร์ธานี ลงทุนประมาณ 124,193 ล้านบาท ลงทุนด้านรถจักรและล้อเลื่อนประมาณ 13,034 ล้านบาท และพัฒนา Main Commuter Line ระบบรถไฟฟ้า ยกระดับทางรถไฟในเขตกรุงเทพฯ ปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้า-ออก กรุงเทพฯ เพิ่มจาก 40,000 คนต่อวัน เป็นกว่า 350,000 คนต่อวัน เนื่องจากจะใช้เวลาเดินทางใน60-90 นาที วงเงินลงทุน 146,300 ล้านบาท
นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้เงินกู้ ร.ฟ.ท. จำนวน 42,700 ล้านบาท ซึ่งมีภาระดอกเบี้ยจ่าย 1,800 ล้านบาทต่อปี รัฐโดยกระทรวงการคลังช่วยรับภาระ 37,000 ล้านบาท โดยจะเร่งเสนอแผนต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อเริ่มขั้นตอนการฟื้นฟู ซึ่งร.ฟ.ท.จะมีการวางกรอบการทำงานและทีโออาร์การประมูลต่างๆ ไว้ เพื่อให้รัฐบาลใหม่สามารถดำเนินการต่อได้รวดเร็วขึ้น และเพื่อให้การทำงานเป็นไปตามแผนและมีการวัดผล จะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลติดตามการทำงาน รวม 9 คน ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม สศช. สำนักงบประมาณ สภาอุตสาหกรรม สภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือ ร.ฟ.ท. สนข. และสคร. เป็นเลขาฯ
อย่างไรก็ตาม ตามแผนปรับโครงสร้างร.ฟ.ท. เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางแทนถนน คาดว่าจะช่วยลดการใช้พลังงานภาคการขนส่งจาก 38% เหลือ 30 % หรือมีเป้าหมายลดการใช้พลังงานลง 263 ล้านลิตร (6,838 ล้านบาท) ประหยัดน้ำมนดีเซลได้ประมาณ 278 ล้านลิตรต่อปี ช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ลดการนำเข้ารถยนต์ ลดการเกิดอุบัติเหตุบนถนน ลดค่าซ่อมถนนได้ 6,183 ล้านบาทต่อปี โดยจะมีการเพิ่มโครงข่ายรถไฟทางคู่จาก 6% เป็น 26% เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางจาก 3% เป็น 15% เพิ่มผู้โดยสารเชิงพาณิชย์จาก 15 ล้านคนต่อปี เป็น 20 ล้านคนต่อปี โดยหลังการปรับปรุง ร.ฟ.ท. จะมีการบริการเชิงสังคม (PSO) คงเดิมที่ 168 ขบวนต่อวัน รถบริการเชิงพาณิชย์ จาก 84 ขบวนเป็น 272 ขบวนต่อวัน แลรถขนส่งสินค้าจาก 72 ขบวนเป็น 360 ขบวนต่อวัน คาดว่าในปี 2556 รายได้จากการขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้น 4,707 ล้านบาท เป็น 6,866 ล้านบาท รายได้รถโดยสารเพิ่มขึ้น 2,941 ล้านบาท เป็น 6,392 ล้านบาท และมีกำไรทันที จากปี 2548 ที่ผลประกอบการขาดทุนถึง 6,432 ล้านบาท
|