แบงก์ออมสินออกโรงโต้สตง.ลั่นหนี้เน่าจากโครงการธนาคารประชาชนจำนวน 1.1 พันล้าน ยังไม่สูญทั้งก้อน อยู่ระหว่างติดตาม ส่วนหนี้ 200 ล้าน ที่ค้างเกิน 24 เดือน ทำใจตัดออกจากบัญชี ยันเดินหน้าปล่อยกู้ให้ประชาชนต่อ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี รองผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ดำเนินการตรวจสอบการตัดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในโครงการธนาคารประชาชนว่า เอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นจากโครงการธนาคารประชาชนมีจำนวน 1,100 ล้านบาท ตามที่ตกเป็นข่าวจริง โดยว่า 40% เป็นหนี้คงค้างจากการดำเนินโครงการธนาคารประชาชนตั้งแต่ปี 2544 จำนวนถึง 400 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธนาคารได้พยายามที่จะติดตามเรียกเก็บหนี้จำนวนดังกล่าว แต่เนื่องจากเป็นการปล่อยสินเชื่อสำหรับประชาชนรายย่อยที่มีจำนวนสูงถึง 80,000 ราย และกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคทำให้การติดตามหนี้สินเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้ดำเนินการตัดหนี้เสียจากโครงการนี้ไปแล้วเป็นจำนวน 10 ล้านบาท
“ยอดหนี้คงค้างของโครงการธนาคารประชาชนในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7 พันล้านบาท และมียอดหนี้เสียซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามจำนวน 1.1 พันล้านบาท หรือประมาณ 16% ของยอดสินเชื่อ โดยการติดตามหนี้ของโครงการนี้จะมีความยุ่งยากกว่าการติดตามหนี้ประเภทอื่นๆ เนื่องจากเป็นสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ มีการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงที่อยู่และสถานที่ประกอบอาชีพบ่อย จึงทำให้การติดตามเร่งรดหนี้สินยากขึ้น” นายวรวิทย์กล่าว
ส่วนลูกหนี้ที่มียอดหนี้คงค้างมากกว่า 24 เดือน มีมูลหนี้สูงถึง 200 ล้านบาท เป็นจำนวนลูกค้า 20,000 ราย ธนาคารยังไม่ได้เลิกการติดตามหนี้สินดังกล่าว แต่มีแนวโน้มว่าอาจตัดออกไปจากบัญชีเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถไปเรียกเก็บเงินได้ เพราะเมื่อพิจารณาจากสภาพความเป็นอยู่และภาระต่างๆ ของลูกหนี้ทำให้ธนาคารต้องพิจารณาตัดหนี้ของลูกหนี้ในกลุ่มนี้ไป
นายวรวิทย์ กล่าวว่า ในภาพรวมแล้ว ธนาคารออมสินเห็นว่าสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนเป็นประโยชน์ต่อประชาชนรากหญ้าให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนไปประกอบอาชีพได้ สำหรับการติดตามหนี้ที่ค้างชำระเกิน 6 เดือน และพนักงานธนาคารออมสินไม่สามารถติดต่อได้ ก็จะว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ติดตามหนี้ต่อไป อย่างไรก็ตามในภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารออมสินที่มียอดกว่า 300,000 ล้านบาทแล้ว เอ็นพีแอลในภาพรวมก็ยังอยู่ในระดับไม่เกิน 4%เท่านั้น
สำหรับภาพรวมการปล่อยสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนนั้น ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อมาจนถึงขณะนี้รวม 5 ปี มียอดสินเชื่อรวมกว่า 30,000 ล้านบาท และได้ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปประกอบอาชีพได้กว่า 1.2 ล้านราย ปัจจุบันสินเชื่อนี้มียอดสินเชื่อหมุนเวียนคงค้างประมาณ 6,800 ล้านบาท
ด้านนายยงยุทธ ตะริโย รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ดูแลสายสาขา กล่าวว่า ธนาคารยังคงเดินหน้าสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนต่อไป โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น และจากการสำรวจเครดิตบูโร ยังพบว่า อดีตลูกค้าธนาคารออมสินตามโครงการสินเชื่อธนาคารประชาชนบางส่วน กลายเป็นบุคคลที่มีเครดิต และได้มีโอกาสไปใช้บริการทางการเงินจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เช่น อิออนธนทรัพย์ โอเคแคช เป็นต้น
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) กล่าวว่า เมื่อพิจารณาตามหลักแล้วนโยบายธนาคารประชาชนถือเป็นเรื่องที่ดี แต่วิธีการที่ธนาคารเร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ได้ตามเป้านั้นทำให้การวิเคราะห์สินเชื่อเพื่อปล่อยกู้นั้นไม่มีความรอบคอบ ซึ่งผู้กู้บางส่วนไม่ได้นำเงินส่วนนี้ไปใช้เป็นทุนจึงไม่เกิดการหมุนเวียนของเงินในขณะเดียวกันรายได้กลับไม่เพิ่มขึ้นผู้กู้จึงไม่มีการชำระคืนเงินต้นแล้วเกิดเป็นหนี้เอ็นพีแอลดังกล่าว
“วิธีการที่สถาบันการเงินทำเพื่อให้ตัวเลขเอ็นพีแอลออกมาน้อยๆ ก็คือปล่อยกู้เพิ่มให้กับลูกค้าเพื่อนำมาใช้หนี้เดิม ส่วนเอ็นพีแอลที่เกิดกับธนาคารประชาชนนี้เป็นผลมาจากการเร่งปล่อยกู้ในช่วงแรกๆ ที่เปิดตัวโครงการ ซึ่งเมื่อดูจากอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือนเฉลี่ยแล้วสูงถึง 23% ต่อปี แม้จะมีหนี้เสียเกิดขึ้นถึงกว่า 17% แต่ส่วนต่างดอกเบี้ยที่ได้รับก็ยังคุ้มต้นทุนทั้งหมดอยู่ แต่สตง.มีหน้าที่ต้องตรวจสอบก็ต้องดำเนินการตรวจสอบไป” แหล่งข่าวกล่าว
ก่อนหน้านี้ได้มีรายงานข่าวจากสตง.ได้ตรวจพบว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐโดยเฉพาะธนาคารออมสินได้ทำการตัดหนี้เสียหรือ NPL จากโครงการธนาคารประชาชนที่มีอยู่ประมาณ 17% ของพอร์ตสินเชื่อรวมกว่า 6,000 ล้านบาท หรือจำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ควรจะตกมาเป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดินแต่ธนาคารออมสินกลับเน้นสนองนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทำให้รัฐต้องสูญเสียเงินส่วนนี้ได้
โดยหนี้เสียจำนวนกว่า 1,000 ล้านบาทดังกล่าว เกิดจากการที่ประชาชนกู้ยืมจากโครงการธนาคารประชาชนและธนาคารออมสินไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาลูกหนี้แต่ละรายจะพบว่าเป็นรายย่อยและวงเงินในการกู้ยืมไม่สูงมากนัก แต่เมื่อรวมกันทั้งประเทศแล้วทำให้เม็ดเงินขยับมาสูงถึง 1,000 ล้านบาท ถึงถือเป็นความเสียหายของผลประโยชน์ที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับประเทศชาติ
|