|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ไว้ที่ระดับ 5% ต่อปี เช่นเดิม เพราะมองว่าเศรษฐกิจยังปรับตัวได้ดีทั้งด้านเสถียรภาพและการเจริญเติบโต ซึ่งอัตราดอกเบี้ยระดับดังกล่าว ถือว่าเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม หากอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างชัดเจน และภาวะเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง ประกอบกับหากปัญหาการใช้จ่ายและความเชื่อมั่นต่อการลงทุนมีผลจากการปัญหาการเมืองไม่มากนักก็อาจมีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไปได้
“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยคงไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เพราะอัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงมาในเดือนกรกฎาคม และลดลงมากๆ ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเอง การจะเปลี่ยนแปลงทิศทางอัตราดอกเบี้ยต้องให้อัตราเงินเฟ้อมีความชัดเจนมากกว่า 2 เดือน ประกอบกับเศรษฐกิจชะลอกว่าที่ธปท.คาดไว้ ซึ่งจากการประกาศตัวเลขของสภาพัฒน์ที่ผ่านมาดีกว่าที่แบงก์ชาติประมาณไว้ นอกจากนี้เรื่องปัญหาการเมืองหากไม่มีผลทำให้การใช้จ่ายและความเชื่อมั่นต่อการลงทุนลดลงก็เป็นส่วนที่มีผลต่อเรื่องปรับอัตราดอกเบี้ยน้อยมาก” นางอัจนากล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้คณะกรรมการมองว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 และในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังคงขยายตัวได้แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะชะลอลงจากการใช้จ่ายภายในประเทศไปอีกระยะหนึ่ง แต่คงไม่กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไปมากนัก เนื่องจากภาคการส่งออกยังเป็นตัวขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจไทยดีอยู่
ขณะเดียวกัน ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้นผลจากอัตราเงินเฟ้อลดลงและดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล แม้ราคาน้ำมันลดลงบ้างในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่และเป็นความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังต่อไป จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากปัญหาการเมืองระดับประเทศและการก่อการร้ายสามารถดึงให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ในการประเมินราคาน้ำมันครั้งนี้อยู่ที่ 69 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่ในรายงานเงินเฟ้อ ซึ่งการประมาณการน้ำมันข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงกับที่ธปท.ประมาณการไว้ยังอยู่ที่ระดับไม่สูงมาก
นางอัจนา กล่าวว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่มีทิศทางเดียวกันหรือเกาะติดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่หากราคาน้ำมันในต่างประเทศเร่งตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยสูงขึ้นตาม และมีผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นด้วย การปรับดอกเบี้ยของไทยจะเป็นไปตามแนวโน้มเงินเฟ้อในประเทศไทยมากกว่า ดังนั้นยืนยันว่าส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในและนอกประเทศในระดับ 0.25-0.5% ไม่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนมากนัก
“แบงก์ชาติเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่กำหนดกรอบไว้ที่ระดับ 0-3.5% แต่ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2-3% จะหลุดจากเป้าหมายนั้นน้อยมาก ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลต่อภาคธุรกิจต้องใช้ระยะเวลาเกือบปีครึ่ง เพราะหากมีธนาคารพาณิชย์มีการปรับอัตราเงินกู้หรือเงินฝากกว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคหรือทำให้อัตราเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร”
นายเกริกไกร จิระแพทย์ หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินเป็นการมองภาพเศรษฐกิจอนาคตนั้น ไม่ได้เป็นการมองเพียงระยะสั้น แต่ต้องมองในระยะ 6 เดือน และ 12 เดือน โดยแม้ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันได้ปรับลดลง แต่ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่ เพราะภายหลังราคาน้ำมันอาจจะปรับขึ้นลงวูบวาบได้อีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ผลิต และกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง
นอกจากนี้ สิ่งที่ตนเองรู้สึกเป็นห่วงคือ ควรให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ ไม่ให้เคลื่อนไหวผันผวนมากเกินไป โดยหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจะทำให้กำไรในรูปเงินบาทลดลง ซึ่งผู้ส่งออกควรจะต้องปรับตัวด้วยการปรับโครงสร้างการผลิตให้มีต้นทุนลดลง
นายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การที่กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5% นั้น เป็นการตัดสินใจที่สะท้อนว่าสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้ปรับสูงขึ้นอีก และเริ่มลดลงแล้ว แต่การคงดอกเบี้ยครั้งนี้ คงยังไม่มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชนทันที ซึ่งต้องรอดูระดับการลดลงของเงินเฟ้อและวิเคราะห์พื้นฐานการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศต่อไปอีกระยะ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย จะอยู่ระดับใด ขึ้นกับการพิจาณาของ ธปท. แต่มั่นใจว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะต้องปรับลดลงต่อเนื่อง แต่จะลดลงเร็วหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ยังมีความผันผวน โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ
|
|
 |
|
|