แล้วก็ถึงเทศกาลซื้อของถูกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคราวนี้คือรอบของการขายอาคารสูงโดยเฉพาะอาคารสำนักงาน
ที่เกิดขึ้นจนเกินความต้องการเพราะแห่สร้างกันจนพื้นที่เหลือมากเกินไป
ชาร์เตอร์โฮลดิ้ง จึงถูกก่อตั้งมา โดยเป็นที่รวมของนักธุรกิจฮ่องกง มาเลเซีย
และไทย ที่เพิ่งขอจดทะเบียนเป็นบริษัทเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ที่รับหน้าที่ดำเนินงานให้กับชาร์เตอร์โฮลดิ้งคือ
ชายหนุ่มวัย 30 เศษ จากมาเลเซีย ที่ชื่อว่า "สตีเวน เซีย"
สตีเวน เซีย ในขณะนี้คือประธานของบริษัทซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)
ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเขาคือผู้ถือหุ้นใหญ่ในชาร์เตอร์โฮลดิ้งด้วยเช่นกัน
สตีเวนสามารถพูดไทยได้ชัดเจน แม้จะมีสำเนียงเพี้ยนบ้างเล็กน้อย แต่ก็สื่อสารกันได้อย่างสบาย
รวมไปถึงการอ่านหนังสือไทย เขาก็อ่านได้สะกดถูก เพราะใช้ชีวิตอยู่เมืองไทยมานานกว่า
20 ปีแล้ว
สตีเวนไม่ค่อยพูดถึงภูมิหลังในมาเลเซียมากนัก โดยบอกเพียงว่าเขาเรียนจบมาจากมาเลเซีย
แต่ไม่ได้เป็นวุฒิการศึกษาที่จะช่วยให้เขาสามารถหางานดีๆ ทำได้แต่อย่างใด
จึงเข้ามาในไทยโดยปักหลักอยู่ที่ชุมพร ในอาชีพตังเกเรือหาปลา
"ผมเป็นลูกทะเล" สตีเวนยืนยันและกล่าวถึงอย่างภาคภูมิใจ
ถ้าเขายังทำงานเพียงแห่งเดียวคือซีเฟรช ก็อาจจะไม่เป็นที่รู้จักเท่าใดนัก
แต่เมื่อมาถึงชาร์เตอร์โฮลดิ้ง จึงเป็นงานที่ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ชาร์เตอร์โฮลดิ้ง มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งคือ เป็นบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจสาขาต่างๆ
ที่เหมาะสมกับการลงทุนในช่วงนั้นๆ ไม่ได้จำกัดเฉพาะธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง และรวมไปถึงการหาผู้ร่วมทุนในกรณีที่ต้องร่วมทุน
กลุ่มนี้ก็พร้อมที่จะลงขันด้วยเช่นกัน
สตีเวน ไม่ยอมเปิดเผยถึงผู้ร่วมทุนของกลุ่มชาร์เตอร์โฮลดิ้ง บอกเพียงแต่ว่ามีทุนจดทะเบียน
100 ล้านบาท และนโยบายของกลุ่มที่ยึดมั่นมากที่สุดคือ จะเป็นผู้ลงทุนที่อนุรักษ์นิยมมากที่สุด
คือจะทำแต่โครงการที่ได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุดเท่านั้น
ผลงานชิ้นแรกที่ชาร์เตอร์โฮลดิ้งในประเทศไทยคือการซื้ออาคารเอทีเอ็ม ทาวเวอร์
ซึ่งเป็นอาคารสูง 31 ชั้น 1 อาคารบนถนนสาธร มีพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 35,000
ตารางเมตร โครงสร้างประกอบด้วยโครงเหล็กซึ่งใช้กับอาคารสูงในย่านธุรกิจกลางเมืองใหญ่ของโลกในต่างประเทศ
และนับเป็นอาคารสูงแห่งแรกของไทยที่นำระบบเทคนิคมาใช้กับงานโรงสร้างเหล็ก
เพื่อป้องกันอัคคีภัยและแผ่นดินไหว
เจ้าของอาคารหลังนี้คือ ปาล ศรีคุรุวาล เจ้าของห้างสรรสินค้าเอทีเอ็ม ที่พาหุรัด
โดยขายให้ในราคาเกือบๆ 2,000 ล้านบาท และจ่ายเงินทองกันไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเงินที่นำมาจ่ายนี้ทางชาร์เตอร์โฮลดิ้งควักมาจ่าย
50% ส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้จากต่างประเทศ
เมื่อเปลี่ยนเจ้าของกรรมสิทธิ์ ชื่อเสียงเรียงนามของตึกก็ต้องเปลี่ยนไอด้วย
จากเอทีเอ็ม ทาวเวอร์ มาเป็น ชาร์เตอร์สแควร์ทันที โดยวางแผนไว้ว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้
จะเปิดดำเนินงานได้ และคาดว่าใน 1-3 ปีแรกจะมีผู้เช่าพื้นที่ในอัตรา 90%
โดยมีราคาเช่าอยู่ที่ 450-500 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ผู้ที่ทำหน้าที่หาลูกค้าให้คือ
บริษัทริชาร์ด เอลลิส ซึ่งเป็นตัวกลางในการซื้อขายครั้งนี้ด้วย
"ราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยขณะนี้ถูกมาก ยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียงแล้ว
ยิ่งน่าซื้อมากขึ้น อย่างเอทีเอ็ม ทาวเวอร์ก็เหมือนกัน ผมว่าซื้อมาถูกมาก
และผมยืนยันว่าไม่ได้ซื้อมาเพื่อขายต่อ แต่เป็นการลงทุนระยะยาวของบริษัท"
สตีเวนกล่าว
นี่คือสาเหตุที่ชาร์เตอร์โฮลดิ้งเข้ามาซื้ออาคารที่กำลังจะก่อสร้างเสร็จเป็นทรัพย์สินของบริษัท
สตีเวนเพิ่มเติมว่า บริษัทไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงมาซื้อที่ดินเอง พัฒนาเอง
เพราะไม่เหมาะสมและช้าเสียเวลามาก อีกทั้งชาร์เตอร์โฮลดิ้งคือบริษัทลงทุนไม่ใช่พัฒนาที่ดิน
และการซื้อครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งเดียวและตึกเดียวของบริษัทก็ได้ เพราะอีกไม่นานนี้บริษัทจะลงทุนในด้านอุตสาหกรรมอีกประเภทหนึ่ง
"ขณะนี้มีกลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศให้ความสนใจในการเข้ามาซื้ออาคารที่กำลังก่อสร้างหลายแห่ง
หลังจากที่ดูท่าทีมานาน เวลานี้คือช่วงที่เหมาะสมที่สุด" ผู้บริหารชาร์เตอร์โฮลดิ้งเปิดเผย
สัญญาณการเทกโอเวอร์ตึกเริ่มดังขึ้นแล้ว หลังจากที่เงียบหายไปเมื่อ 3-4
ปีที่ผ่านมา นักซื้อต่างชาติพร้อมแล้วที่จะเข้ามาลุยเก็บของถูก