|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 2 ปี 49 โต 4.9% ลดลงจาก 6.1%ในไตรมาสแรก ระบุการใช้จ่าย-บริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุนยังน่าเป็นห่วง ขณะที่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเริ่มกระทบภาคส่งออก พร้อมปรับประมาณปี 49 เหลือ 4.2-4.7% แนะต้องเร่งเบิกจ่ายเงินงบรัฐวิสาหกิจที่เหลือเพื่อชดเชยความล่าช้างบฯปี 50
จีดีพีไตสมาส2 ขยายตัว 4.9%
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 2 ปี 2549 ขยายตัว 4.9% ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 6.1% ในไตรมาสแรกของปี 2549 โดยการขยายตัวในอัตราดังกล่าวมีแรงขับเคลื่อนมาจากการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีเป็นแรงกระตุ้นหลัก โดยในไตรมาส2 การส่งออกขยายตัวถึง 16.3% ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น โดยการใช้จ่ายรัฐบาล ณ ราคาคงที่เพิ่มขึ้น 3.4% ขณะที่การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 5.0%
สำหรับด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 5.8% ภาคการเกษตรขยายตัว 5.4% ขยายตัวต่อเนื่องจาก 6.3% ในไตรมาสแรก ด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีในไตรมาส2 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 16.2% ชะลอลงเล็กน้อยจาก 21.7% ในไตรมาสแรก โดยมีเงินใช้จ่ายในการท่องเที่ยว 102,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.1% จากไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้น 25.2%
จับตาภาคอุปโภค-บริโภคของครัวเรือนชะลอ
ทั้งนี้ ในส่วนของภาคการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคของครัวเรือนในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัว 3.7% ซึ่งชะลอตัวลงจาก 4.1% ซึ่งเป็นผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ภาคการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสนี้ ซึ่งในไตรมาสที่2 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.6% เมื่อเทียบกับ 7.2% ในไตรมาสแรก ประกอบกับยังมีปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดต่อภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทำให้ค่าครองชีพสูงและกระทบกำลังซื้อที่แท้จริง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจลดลง ส่งผลให้ในครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกที่มีอัตราการขยายตัว 5.5%
“ในครึ่งหลังของปีราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับที่สูง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ลดลงจะทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐที่ได้ผลกระทบบ้างจากการที่พระราชบัญญัติงบประมาณปี 2550จะต้องล่าช้าออกไป ในขณะที่เศรษฐกิจโลกก็มีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งหลัง”เลขาธิการสศช.กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3 และ 4 ของปีคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4% ซึ่งจะชะลอลงกว่าในครึ่งปีแรกปี 2549 ทั้งนี้เป็นเพราะราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น การส่งออกและการบริโภคมีการชะลอตัวลงบ้าง ซึ่งก็จะส่งผลให้จีดีพีในไตรมาส 1/50 จะต่ำกว่าไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปี 2549 หากการลงทุนยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องเช่นในปัจจุบัน
ปรับประมาณการณ์ทั้งปีเหลือ 4.2-4.7%
นายอำพน กล่าวต่อถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2549 ทั้งปีว่าน่าจะมีแนวโน้มอัตราการเติบโต 4.2-4.7% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ปรับลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 4.2-4.9% เนื่องจากคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับ 4.5-4.7% ซึ่งเป็นอัตราที่เท่ากับในการประมาณการในครั้งก่อน ขณะที่คาดว่าดุลการค้าจะขาดดุลประมาณ 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการส่งออกยังขยายตัวได้มากกว่าที่คาดไว้ ในขณะที่การนำเข้าชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ เมื่อรวมกับการเกินดุลบริการประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลเล็กน้อยที่ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 0.6% ของจีดีพี
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบให้การขยายตัวของจีดีพีในครึ่งปีหลังชะลอตัวลงเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในระดับที่สูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะมีราคาเฉลี่ยในปี 2549 ประมาณ 65-68 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการขยายตัวสูงในครึ่งปีแรกซึ่งส่งผลให้สัดส่วนคำสั่งซื้อต่อการมอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกเริ่มลดลงในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นส่งผลให้กระทบต่อการแข่งขันด้านราคาโดยเฉพาะสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มที่กำลังสูญเสียขีดความสามารถต่อประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำโดยเฉพาะจีนและเวียดนาม ประกอบกับปัจจัยจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ย MLR ส่งผลให้การขยายสินเชื่อเพื่อการบริโภคมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากปี 2548
มองการเมืองชัดเจนเศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลให้ความมั่นใจของผู้บริโภคและเอกชนลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี รวมถึงผลกระทบจากการที่ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2550 ไม่สามารถเริ่มใช้จ่ายได้ตามกำหนดการปกติ
“หากปัจจัยทางการเมืองเริ่มมีความชัดเจนการเลือกตั้งสามารถตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ทันในปี 2550 เชื่อว่าทุกอย่างก็น่าจะดำเนินการตามที่คาดไว้ได้”นายอำพลกล่าว
ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2549 อยากเสนอให้รัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนเพื่อให้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 และไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2550 มีเงินออกสู่ระบบมากขึ้น เนื่องจากหากไม่เร่งรัดการเบิกจ่ายจะกระทบต่อเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2550 โดยเฉพาะงบของรัฐวิสาหกิจที่ขณะนี้มีอยู่ 3.8 แสนล้านบาท ขณะนี้เบิกจ่ายได้ 75% และหากเบิกจ่ายได้ 85% ก็จะทำให้งบลงทุนในปี 2550 ไม่มีปัญหา รวมถึงงบเหลื่อมปีที่ต้องเบิกทำให้ได้ 85% จากปัจจุบัน 74%
คาดปี 2550 จีดีพีโต 4.5-5%
อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 คาดการณ์ว่าจีดีพีจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 4.5-5% หากราคาน้ำมันยังคงทรงตัวอยู่ในระดับไม่เกิน 70 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และการลงทุนภาคเอกชนกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยในส่วนของภาคการลงทุนในปี 2550 นั้นแม้จะได้รับผลกระทบจากการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2550 นั้น เชื่อว่าทุกอย่างจะสามารถเดินไปตามที่คาดไว้ คือการลงทุนภาครัฐและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะมีสูงถึง 400,000 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะไม่น้อยกว่าการลงทุนในปี 2549 แต่อาจจะเพิ่มขึ้นถึง 2-5% ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะในปี 2550 มีโครงการเกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐที่จะต้องมีการลงทุนหลายโครงการ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงโครงการของรัฐวิสาหกิจ อาทิ โครงการขยายการลงทุนของปตท. ในการส่งท่อก๊าซ ซึ่งจะทำให้มีการกระจายการลงทุนเพิ่มขึ้น
“ในปี 2550 ยังมีเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุน โดยยังเชื่อว่าแม้การเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน แต่ก็เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปีนี้ และเงินงบประมาณก็จะออกสู่ระบบได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2550 ขณะที่ การทำงบประมาณขาดดุลในปี 2550 ต้องให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา สาธารณสุข การส่งเสริมการลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการจัดหาพลังงานทดแทน เพราะในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว จะต้องดูแลเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น”นายอำพนกล่าว
สศค.ย้ำเศรษฐกิจครึ่งปีโตแค่ 3-4%
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ”เวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค” ที่จังหวัดขอนแก่น ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมถึงปัจจัยทางการเมือง โดยคาดว่าไตรมาสที่ 3-4 จะขยายตัว 3.0-4.0% และทำให้เฉลี่ยทั้งปี 2549 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4.5% เท่ากับปีที่แล้ว
สำหรับปี 2550 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 3.5-4.5% เท่านั้น เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาการใช้จ่ายของภาครัฐที่การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2550 ล่าช้า ทำให้ช่วงเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณน้อย ดังนั้น ภาครัฐต้องเตรียมการเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตและภาคเอกชนจะลงทุนตาม และในปี 2551 – 2552 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นประมาณ 5.0-6.0%ต่อปี ตามการใช้จ่ายภาครัฐและภาคเอกชนที่คาดว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้น
"ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะต้องหาวิธีการว่าทำอย่างไรจึงจะให้มีการกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง เติบโตอย่างยั่งยืน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้อีก ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาภาคการเกษตรที่ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าภาคอื่น ภาคอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่จังหวัดเท่านั้น การแก้ไขปัญหาการโยกย้ายแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือ"นายนริศกล่าว
แบงก์พอใจศก.ไตรมาส2โต4.9%
ด้านคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีบี กล่าวว่า การประกาศของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ขยายตัวอยู่ที่ 4.9%นั้น ถือว่าจีดีพีในระดับดังกล่าวยังคงดีอยู่และยังส่งผลดีต่อการขยายตัวเศรษฐกิจดีอยู่ เพราะจะช่วยให้นักลงทุนมีความมั่นใจในการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในส่วนของการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังมีการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี และการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมายังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพคล่องของระบบ
|
|
|
|
|