แฟลตดินแดงโครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ใจกลางเมือง บนเนื้อที่ 127 ไร่ กำลังถูกปัดฝุ่นในการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง และกลายเป็นประเด็นที่กำลังถูกจับตามองถึงความเหมาะสมของการผลักดันโครงการ โดยเฉพาะการชงเรื่องแผนการแก้ไขแฟลตดินแดง จากนายวัฒนา เมืองสุข รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในวันที่ 5 ก.ย.นี้ หลังจากมติคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) ให้มีการรื้อย้ายผู้อยู่อาศัยในอาคารกลุ่มเสี่ยงออกจากพื้นที่ เพื่อทำการทุบรื้ออาคารและก่อสร้างใหม่ โดยขีดเส้นภายใน 7 วัน ให้กคช.หามาตรการในการแก้ไขปัญหาผู้อยู่อาศัยในโซนอันตราย
แต่จะว่าไปแล้ว ที่ดินแปลงดังกล่าวถือว่ามีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจอีกทำเลหนึ่ง เนื่องจากอยู่ใจกลางเมือง และสามารถรองรับการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ได้ ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดที่เข้ามาบริหารประเทศ พยายามจะเข้ามาพัฒนาโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะรัฐบาลในชุดปัจจุบัน มีแผนที่จะพัฒนาและฟื้นฟูโครงการที่อยู่อาศัยแฟลตดินแดงตามนโยบายการพัฒนาเมือง โดยมีการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นหน่วยงานหลักในการ ศึกษา เสนอแนวทางการพัฒนา และรูปแบบการลงทุนทั้งหมด
แต่บังเอิญด้วยความหนาแน่นของประชากรที่อาศัยอยู่ในแฟลตดินแดงถึง 40,000 ราย จากจำนวนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ทั้งหมด 6,000 หน่วย นั่นหมายความว่า ย่อมอาจมีผลต่อฐานเสียงในการเลือกตั้งไม่มากก็น้อย เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ต้องการอยู่ใกล้ที่ทำงาน และไม่ต้องการกระจายไปอยู่นอกเมืองซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป และประเด็นสำคัญคือความกังวลไม่สามารถกลับเข้ามาอยู่อาศัยในที่เดิมได้ แม้ว่ารัฐบาลจะรับปากว่าจะหาจุดที่อยู่อาศัยใหม่ให้ก็ตาม
" ข้อเสียก็คือ ในการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งแต่ละครั้ง จะมีการหยิบยกข้อต่อรองกับชาวชุมชนที่อยู่อาศัยในแฟลตดินแดงจะไม่มีการทุบและสร้างโครงการใหม่ หากได้รับเลือกตั้งให้เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ซึ่งก็ได้ผลแทบทุกครั้ง เพราะประชาชนไม่ต้องการย้ายออกจากที่อยู่อาศัยเดิม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ควรจะเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก" แหล่งข่าวในวงการอสังหาฯตั้งข้อสังเกต
ถึงกระนั้น การจัดเตรียมแผนก็เป็นเรื่องที่ต้องวางแนวทางไว้ก่อน หากทุกอย่าง"สุขงอม" ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วง2547 กคช.ได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)ให้เข้ามาดำเนินการศึกษา ตรวจสภาพแฟลตดินแดง และนำผลการศึกษาเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มี.ค.47 โดยมีการสรุปผลการศึกษาออกมาว่า มีโซนอันตรายในการอยู่อาศัย 2 โซน คืออาคาร1-8 จำนวน 640 หน่วย และอาคาร21-32 จำนวน 670หน่วย
ทั้งนี้ AIT แบ่งอาคารที่เป็นพื้นที่อันตรายในการอยู่อาศัยออกเป็น 4 โซน ประกอบด้วย 1.โซนพื้นที่สีแดง เป็นอาคารเสียหายมาก 2.อาคารพื้นที่สีส้มเป็นอาคารที่มีความเสียหาย 3.อาคารพื้นที่สีเหลืองมีความเสียหายปานกลาง และ4.อาคารพื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่ที่ไม่มีความเสียหาย (พิจารณาภาพประกอบ)
เปิดช่องเพิ่มตัวเลขคนซื้อบ้านเอื้อฯ
ขณะที่ นายสุรพล จันทร์น้อย รองผู้ว่าการ กคช. ชี้แจงว่า ได้กำหนด มาตรการแก้ไขปัญหา การรื้อย้ายผู้อยู่อาศัยแฟลตดินแดงในโซนอันตรายประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1.กลุ่มผู้ย้ายออกไปอย่างถาวร จะได้เงินค่าชดเชยหน่วยละ 250,000 บาทและค่าขนย้าย 5,000-10,000 บาท 2. กลุ่มผู้อยู่อาศัยต้องการจะย้ายออกไปแล้วกลับเข้ามาอยู่ใหม่หลังจากก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยใหม่เสร็จ ซึ่งจะได้ค่าขนย้าย 5,000-10,000 บาทต่อหน่วย และ 3.กลุ่มที่ต้องการย้ายออกไปอยู่อาศัยในบ้านเอื้ออาทรที่เตรียมไว้ โดยต้องการซื้อบ้านเอื้ออาทรในการอยู่อาศัยแทนการย้ายกลับเข้ามา ซึ่งในกลุ่มนี้จะได้รับเงินค่าชดเชยซึ่งสามารถนำไปซื้อบ้านเอื้ออาทรที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และสามารถผ่อนต่อกับธนาคารในส่วนที่เหลือ จำนวน 6 โครงการ รวม 1,700 หน่วย เช่น โครงการรังสิต คลอง1 และโครงการเพชรเกษม81 เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน นายวัฒนา เมืองสุข รักษาการกระทรวงฯ เสนอให้มีการย้ายผู้อยู่อาศัยทั้งหมดออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าอาจจะก่อให้เกิดอัตรายแก่ผู้อยู่อาศัยได้ ซึ่งส่วนทางกับมุมมองของนายฐิระวัตร กุลละวณิชย์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ระบุว่า สภาพทั่วไปของอาคารเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก ถึงเวลาต้องซ่อมแซม เพราะอาคารมีอายุ 30-40 ปี แต่ไม่ถึงกับเป็นอันตรายเสี่ยงว่าจะถล่ม ขอให้ผู้อยู่อาศัยสบายใจไม่ต้องวิตกนอนไม่ได้ เพราะดูแล้วฐานรากมั่นคง
จับตาเอื้อทุนการเมืองฮุบโครงการยักษ์
สำหรับรูปแบบของการพัฒนาโครงการใหม่นั้น นายวัฒนาระบุอย่างชัดเจน จะมีทั้งในส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัย และคอมเมอร์เชียล ศูนย์พาณิชย์กรรมต่างเพื่อเป็นการสร้างรายได้ไปด้วย โดยอาคารที่อยู่อาศัยจะมีขนาด50 ตารางเมตรขึ้นไป ราคาขายประมาณ 1 ล้านบาท ความสูง 20 ชั้นขึ้นไปในกรณีที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยมาก
ขณะที่ มีการประเมินว่าจะใช้งบในการก่อสร้างประมาณ 40,000 ล้านบาทจากเดิม 20,000-30,000 ล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนรายใหญ่เข้ามาดำเนินการก่อสร้าง ( ปัจจุบันบริษัทอิตาเลี่ยนไทยฯ เป็นบริษัทรับเหมาขนาดใหญ่ของไทยที่มีศักยภาพ มีเงินทุน และบุคลากรที่พร้อม) และขายในรูปแบบเช่าซื้อระยะยาว 30 ปี และจะให้สิทธิ์ผู้อยู่อาศัยเดิมก่อนประชาชนทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยงบการลงทุนจากรัฐบาล
ก่อนหน้านี้ ตามแผนแม่บทบาทของการพัฒนาโครงการดังกล่าว ในแผนประเมินงบประมาณการลงทุนในโครงการ ประมาณ 20,000 ล้านบาท แหล่งเงินทุนมีสองส่วนคือ งบประมาณจัดสรรจากภาครัฐบาล และการลงทุนของเอกชน ซึ่งอาจจะเป็นนักลงทุนต่างชาติ หรือในประเทศก็ได้
ที่สำคัญตามแผนแม่บท ยังมีการเสนอยกพื้นที่ให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน ทั้งในส่วนของที่อยู่อาศัยของผู้อยู่อาศัยเดิมและผู้อยู่อาศัยใหม่ รวมถึงพื้นที่พาณิชย์กรรม เพื่อเป็นการลดภาระการลงทุนของรัฐบาล เนื่องจากก่อนหน้านี้ ครม.ได้ให้งบประมาณส่วนแรก 800-900ล้านบาท ในการรื้อและสร้างอาคารทดแทนบริเวณประชาสงเคราะห์ เชื่อมต่อกับบึงมักกะสัน โดย กคช.ได้แบ่งเป็นงบค่าชดเชยกรณีที่ต้องย้ายที่อยู่ใหม่รายละ 2.5 แสนบาทและค่าขนย้ายอีก10,000 บาท ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยแสดงความต้องการย้ายออกประมาณ 1,000 ครอบครัว จากทั้งหมด6,000 ครอบครัว อย่างไรก็ตาม กคช.วางแผนพัฒนาและฟื้นฟูไว้ 3ระยะโดยใช้เวลา 9 ปีในการดำเนินการ
อย่างไรก็ตามแม้ว่า กคช.จะมีการออกมาตรการมารองรับการแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นแล้วก็ตาม แต่เรื่องดังกล่าวก็ยังต้องรอ มติครม.รักษาการว่า จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างไร เพราะในส่วนของ รมต. พม. เองก็ยังคงแบ่งรับแบ่งสู้ในเรื่องนี้อยู่ โดยให้เหตุผลว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นไปได้หรือไม่นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนผู้อยู่อาศัยในแฟลตดินแดง ซึ่งหากผู้อยู่อาศัยไม่ย้ายออกรัฐบาลก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้
|