ซีฮอร์ส ประกาศแตกพาร์เหลือหุ้นละ 1 บาท ก่อนจะเพิ่มทุนอีก 2.6 พันล้านหุ้น เสนอขายพีพีให้ผู้ถือหุ้นรายใหม่ 2 ราย ในราคาหุ้น 0.63 บาท ทำให้ผู้ถือหุ้นใหม่ "วรเจตน์ อินทามระ-สมโภชน์ อาหุนัย" ถือหุ้นรวมกันกว่า 95% พร้อมปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่รุกธุรกิจพลังงาน-ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไฮเทค มุ่งหวังในอนาคตจะสามารถร้างรายได้หลักแทนธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ จี้แจงเงื่อนไขภายในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ระบุอาจเข้าข่าย Backdoor Listing
นายชาตรี มหัทธนาดุลย์ กรรมการบริษัท ซีฮอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ SH เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 8/2549 มีมติเป็นเอกฉันท์การเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (ราคาพาร์) จากหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาท และเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 180 ล้านบาท เป็น 2,780 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 2,600 ล้านหุ้น มูลค่าค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท รวมทั้งสิ้น 2,600 ล้านบาท
โดยหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 2,600 ล้านหุ้น บริษัทจะเสนอขายในลักษณะเฉพาะเจาะจงให้กับนายวรเจตน์ อินทามระ จำนวน 2,179 ล้านหุ้น และนายสมโภชน์ อาหุนัย 421 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัท ในราคาหุ้นละ 0.63 บาท โดยคำนวณจากราคาส่วนลด 10% จากราคาปิดถัวเฉลี่ยย้อนหลัก 14 วันทำการติดต่อกัน คือตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม - 31 สิงหาคม 2549 เท่ากับหุ้น 7.00 บาท (ราคาพาร์ 10 บาท)
หลังจากการเพิ่มทุนครั้งนี้ นายวรเจตน์ อินทามระ และนายสมโภชน์ อาหุนัย จะถือหุ้นในสัดส่วน 78.38% และ15.14% ของทุนจดทะเบียน หรือรวมทั้งสิ้น 93.52% ของทุนจดทะเบียนรวม 2,780 ล้านบาท จากเดิมนายเกียรติศักดิ์ มหัทธนาดุลย์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมกับตระกูลมหัทธนาดุลย์ ที่ถือหุ้นรวมกันกว่า 110,341,800 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 61.30% ของทุนจดทะเบียน 180 ล้านบาท
"ผู้ถือหุ้นรายใหม่ทั้ง 2 รายไม่มีเงื่อนไขในการห้ามขาย (Silent period) และพร้อมจะทำคำเสนอซื้อ (Tender Offer) หากเข้าข่ายที่จะต้องทำคำเสนอเสนอซื้อ ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)"
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการบริษัทยังได้อนุมัติให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการประกอบธุรกิจ โดยเพิ่มธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรสูง เช่น ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจผลิต จำหน่าย และบริการเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง (High technology) ซึ่งจะดำเนินการควบคู่กับธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
"บริษัทเล็งเห็นธุรกิจใหม่ๆ มีโอกาสเติบโตและแนวโน้มที่ดีในอนาคต ตลอดจนสามารถสร้างรายได้และผลกำไรที่ดีให้กับบริษัท โดยในอนาตธุรกิจใหม่ที่บริษัทจะขยายนั้นอาจจะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัท ขณะที่ธุรกิจเกษตรและอาหารจะเป็นธุรกิจเสริมของบริษัทเท่านั้น"
สำหรับวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนดังกล่าว บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นเพิ่มทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจสู่ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจการผลิต จำหน่าย และบริการเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นการขยายฐานรายได้ อันจะส่งผลดีต่อกำไรสุทธิและผลตอบแทนเงินปันผลในอนาคต
จากการประกาศเพิ่มทุนและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการประกอบธุรกิจ บริษัทจำเป็นต้องแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิและเพิ่มเติมวัตถุประสงค์การดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับมติคณะกรรมการ โดยจะนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2549 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2 ตุลาคม 2549 และกำหนดปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิในการเข้าร่วมประชุมตั้งแต่วันที่ 18 กันยายนนี้เป็นต้นไป
ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้สั่งให้บริษัท ซีฮอร์ส จำกัด (มหาชน) ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมภายในวันที่ 6 กันยายนนี้ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นและการดำเนินธุรกิจอาจจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยกรณีการขยายสู่ธรกิจพลังงาน ธุรกิจผลิต จำหน่ายและบริการ เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จะต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงสร้างธุรกิจหลัก และธุรกิจรอง รูปแบบและวิธีการลงทุนในธุรกิจใหม่ และกรอบระยะเวลาการใช้เงินที่ได้จากการเพิ่มทุน กำหนดการรับชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุน และวิธีการชำระเงินเพิ่มทุน
ขณะเดียวกัน หากบริษัทได้มาซึ่งธุรกิจใหม่โดยการซื้อหรือขยายการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทอาจเข้าข่ายการเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยอ้อม (Backdoor Listing) และอาจต้องยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ใหม่
ส่วนการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ราย ให้บริษัทระบุถึงเหตุผลของการเลือกจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน พร้อมระบุประสบการณ์ทำงานของผู้ถือหุ้นใหม่ทั้ง 2 ราย ที่จะสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคต รวมทั้งเงื่อนไขอื่นนอกเหนือจากการไม่กำหนดเงื่อนไข Silent Period
พร้อมกันนี้ บริษัทจะต้องชี้แจงถึงกรอบการจัดทำคำเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้นทั่วไป โดยจะต้องระบุถึงราคา และกรอบระยะเวลาการทำเทนเดอร์ออฟเอร์ เนื่องจากการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบุคคลทั้ง 2 รายมีสัดส่วนถึง 93.52% เข้าข่ายต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั่วไป (Tender Offer) ตามข้อกำหนดของสำนักงาน กลต.
|