Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2537
"ธุรกิจไฮเทคฯ ผู้บุกเบิกแห่งเอเซีย"             
 

   
related stories

"บันไดสู่ไฮเทค"
"เทคโนโลยีแห่งอนาคตกาล"

   
search resources

Electronic Components




ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมอย่างนิปปอน เทเลกราฟ แอนด์ เทเลโฟน (เอ็นทีที) ต้องเสียเงิน 1 ล้านดอลลาร์ และเวลาอีก 4 ปีสำหรับการวิจัย และพัฒนาวัสดุที่มีขนาดเล็กมาก ๆ แค่ 2 ไมครอน หรือเท่ากับเศษ 1 ส่วน 50 ของความหนาของเส้นผมมนุษย์เท่านั้น ถ้าวางไว้บนฝ่ามือ ก็อาจจะคิดว่าเป็นผงธุลีหรือตัวไร

วัตถุชิ้นเล็กจิ๋วที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นนี้คือ "วาล์ว" ตัวหนึ่ง แต่ไม่ใช่วาล์วธรรมดา ภายในเวลา 10 ปี สิ้นควบคุมการปิดเปิดขนาดจิ๋วหรือไมโครวาล์วแบบนี้ มีโอกาสที่จะถูกนำไปใช้เป็นตัวควบคุมการปล่อยสารกัดโลหะในกระบวนการทำเซมิคอนดักเตอร์ หรือช่วยในการผลิตสารเคมีที่ต้องการความแม่นยำเที่ยงตรงของกระบวนการผลิต

"บางทีอาจจะใช้แทนลิ้นเปิดปิดเส้นเลือดที่พบในเส้นโลหิตฝอยของมนุษย์ด้วยซ้ำไป. คูวาโน ฮิโรคิ ให้ความเห็น เขาเป็นวิศวกรนักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าโครงการที่สถานปฏิบัติการวิจัยสหวิชาของเอ็นทีทีซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงโตเกียว

ความชำนาญพิเศษของคูวาโนคือ เรื่องเครื่องจักรกลขนาดไมโคร (MICRO MACHINARY) ซึ่งวันหนึ่งข้างหน้าวิทยาการแขนงนี้อาจจะพัฒนาจนสามารถสร้างหุ่นยนต์ที่มีขนาดเล็กมากเท่าตัวเชื้อแบคทีเรีย ลาดตระเวนไปตามกระแสโลหิตของมนุษย์ เพื่อค้นหาและทำลายเซลล์มะเร็ง

อย่างไรก็ดี ในประเทศเอเชียอื่น ๆ นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้ว เทคโนโลยีชนิดนี้ยังคงอยู่เกินเลยขีดขั้นที่จะนำมาวิจัยและพัฒนาด้วยเหตุผลเก่า ๆ อย่างเช่น ขาดเงิน ขาดกำลังคน รัฐบาลไม่ช่วย หรือกระทั่งขาดความรู้พื้นฐาน ตลอดจนวิธีการในการลงสนามแข่งขันระดับโลก

กระนั้นก็ตาม ยังมีบริษัทในภูมิภาคนี้ 2-3 แห่งซึ่งประสบความสำเร็จในด้านนี้เช่นกัน ผลงานของกิจการเหล่านี้อาจจะยังไม่เฉียบคมเท่าคู่แข่งทางตะวันตกที่มีขนาดใหญ่กว่าและร่ำรวยกว่า แต่ในแวดวงพื้นที่ซึ่งพวกเขากำลังจด ๆ จ้อง ๆ อยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีชีวภาพ หรืออิเล็กทรอนิกส์ด้านภาพ เป็นเสมือนฐานให้อุตสาหกรรมเอเชียสามารถก่อตัวขยายบทบาทขึ้นมาในอุตสาหกรรมไฮเทคแห่งอนาคตได้ อย่างไรก็ดีหากไม่ดำเนินการก้าวต่อ ๆ ไป เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านวิจัย และพัฒนาของภูมิภาคนี้แล้ว ในไม่ช้าก็อาจสายเกินไป ดังที่ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและพัฒนาเทคโนโลยีของไทยกล่าวว่า "เราจะต้องตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็จะจมหายไป"

กิจการยักษ์ใหญ่ด้านไฮเทคของภูมิภาคนี้รวมกันอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมที่ครอบคลุมญี่ปุ่น ไต้หวันและเกาหลีใต้ ในหมู่ 3 ชาตินี้ ไต้หวันมีลักษณะพิเศษกว่าเพื่อน

"เพราะไต้หวันขาดฐานทางการวิจัยและพัฒนา แต่ก็เป็นหนึ่งในจำนวนผู้ผลิตฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ซึ่งปรับตัวตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ดีที่สุดของโลก" ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีชาวญี่ปุ่นผู้หนึ่งกล่าว

ยกตัวอย่าง บริษัทเฟิร์สต์ อินเตอร์เนชั่นแนล คอมพิวเตอร์ (เอฟไอซี) ซึ่งเป็นกิจการของกลุ่มฟอร์โมซา พลาสติกส์ บริษัทนี้เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ผลิตแผงวงจรไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก ถึงแม้ยากจะเรียกได้ว่าเป็นเจ้าทางเทคโนโลยี แต่ก็สามารถผลิตแผงวงจรคุณภาพสูง ต้นทุนต่ำได้เดือนละ 200,000 ชิ้น ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้น 80% นับแต่เริ่มทำการผลิตสินค้าเหล่านี้ในปี 1983

ในความเป็นจริง เอฟไอซีได้กลายเป็นบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมแผงวงจรไฟฟ้าของโลกไปแล้ว ถึงขั้นที่บริษัทอินเทล ซึ่งเป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรมไมโครโปรเซสเซอร์ ก็ยังต้องรวมเอฟไอซี ไว้ในรายชื่อกลุ่มที่ได้รับคัดเลือกให้ทำการทดสอบชิพ "เพนเทียม" อันเป็นชิพไมโครโปรเซสเซอร์พลังสูงรุ่นล่าสุดของบริษัท ก่อนที่อินเทลจะเริ่มเปิดตัวสินค้านี้ในปีที่แล้ว

ศักยภาพในการผลิตของไต้หวันอาจช่วยให้ไต้หวันได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีชั้นสูงระดับแนวหน้าของเอเชียได้ แต่ยังต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะตีตื้นขึ้นมามีความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีเหมือนประเทศเกาหลีใต้

เกาหลีใต้มีจุดเด่นในเรื่องการพัฒนาชิปหน่วยความจำแบบ "ดีแรม" (DRAM - DYNAMIC RANDOM ACCESS MEMORY) จากผลการศึกษาของโนมูระ รีเสิร์ช ที่เปิดเผยเมื่อปีที่แล้วสรุปว่า "ญี่ปุ่นได้เสียตำแหน่งผู้นำในการเป็นผู้ผลิตดีแรม (มูลค่าธุรกิจทั่วโลก 20,000 ล้านดอลลาร์) ไปให้กับบริษัทของเกาหลีใต้แล้ว" นับเป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเกาหลีเลยทีเดียว โดยเฉพาะหากพิจารณาจากเหตุผลที่ว่า ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีส่วนใหญ่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น

ในบรรดาผู้ผลิตเซมิคินดักเตอร์ของเกาหลี ซัมซุง อีเล็กทรอนิกส์อยู่ในฐานะผู้นำมานานแล้ว

เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ในเอเชียด้วยกัน ซัมซุงจัดเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับเซียน ซัมซุงเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตชิปในปี 1978 ด้วยการซื้อกิจการร่วมทุนกับผู้ผลิตชิปจากสหรัฐฯ เพื่อใช้ในเครื่องรับโทรทัศน์สีของซัมซุง กิจการนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 1974

ปีที่แล้วซัมซุงประดิษฐ์ชิปดีแรมได้ 12 ล้านชิ้นต่อเดือน โดย 2 ใน 3 ของจำนวนที่ผลิตออกมานั้นเป็นชิปขนาด 4 เมกกะบิตที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมนี้ ซัมซุงยังได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางด้านงานวิจัย และพัฒนาของตนด้วยการเป็นผู้ผลิตชิปรายแรกของโลกที่ทดลองผลิตดีแรมขนาด 64 เมกกะบิตออกมาเป็นตัวอย่างขั้นต้นได้ ชิปแบบนี้มีประสิทธิภาพเหนือกว่าชิปรุ่น 16 เมกกะบิตซึ่งเป็นรุ่นที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเข้ามาแทนที่ชิป 4 เมกกะบิต

"ถ้าทุกอย่างไปได้สวย เราจะเริ่มส่งออกขายเป็นบางส่วนในปีหน้า" โฮ ควน ยุน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของแผนกอุปกรณ์หน่วยความจำของซัมซุงกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ยังไม่สามารถผลิตชิปได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เดือนละ 1 ล้านตัวขึ้นไป จนกว่าจะถึงปี 1997 เป็นอย่างเร็วที่สุด ซัมซุงก็ได้กระโจนเข้าสู่การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงอีกระดับหนึ่งแล้ว นั่นคือ การผลิต "OPTOELECTRONICS" หรือจอภาพสีแบบแบน ซึ่งเป็นจอภาพที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบโน้ตบุ๊ค จอภาพแบบนี้จะใช้ทรานซิสเตอร์ที่มีขนาดบางเท่าแผ่นฟิลม์ (ทีเอฟที) นับพันตัวที่ถูกประดิษฐ์มาเพื่อใช้สร้างภาพ โดยใช้วิธีควบคุมการเคลื่อนไหวของผลึกเหลวที่ถูกประกบด้วยแผ่นแก้วและแสงที่ส่องผ่านมาทางด้านหลัง

ความจริงการผลิตทีเอฟทีน่าจะเป็นเรื่องง่ายเหมือนปอกกล้วย สำหรับผู้ผลิตชิปหน่วยความจำเพราะกระบวนการออกแบบมีลักษณะเหมือนกับที่เคยใช้กับชิปหน่วยความจำรุ่นเก่า ซึ่งใช้ทรานซิสเตอร์ขนาดใหญ่กว่าทรานซิสเตอร์ที่ใช้ในดีแรม 64 เมกกะบิตถึง 20 เท่า

แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วกลับตรงกันข้าม

"คุณกำลังพูดถึงการเอาทรานซิสเตอร์ 1 ล้านตัวมาวางเรียงบนจอภาพที่มีขนาดตั้งแต่ 24-25 เซนติเมตร ถ้ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นแม้กับทรานซิสเตอร์เพียงนิดเดียวในระหว่างการผลิต ก็จะทำให้เกิดเป็นจุดเหมือนขี้แมลงวันบนจอภาพ ทำให้จอภาพนั้นใช้ไม่ได้ ต้องโยนทรานซิสเตอร์ทั้งหมดทิ้งไป แล้วกลับไปเริ่มใหม่ การพัฒนาจอภาพทีเอฟทีของซัมซุงซึ่งเริ่มเมื่อปี 1991 จึงเป็นงานที่ยากลำบากมาก" ลี ซุง โจน กรรมการผู้จัดการของซัมซุงซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโครงการผลิตทีเอฟที กล่าว

ในที่สุด เมื่อเวลาผ่านไป 12 เดือนพร้อมกับเงิน 100 ล้านดอลลาร์ ลีจึงได้ฤกษ์เริ่มทดลองจอภาพต้นแบบในฤดูใบไม้ผลิปี 1992 ตอนนั้นซัมซุงคาดว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ของบริษัทนี้ จะทำเงินได้ถึง 9,400 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2000 ทำให้ลี คุม ฮี ประธานบริษัทซัมซุงต้องลงมาดูการทดลองนี้ด้วยตัวเอง

"ปฏิกิริยาของเขานะหรือ?" ลีเล่าให้ฟัง "เขายักไหล่ แล้วบอกว่า ไม่เห็นมีความแตกต่างในเจ้าตัวอุปกรณ์ที่ต้องการใช้ทรานซิสเตอร์ในจำนวนที่เท่า ๆ กับชิปหน่วยความจำแบบเก่าทั้งหลายแหล่"

ซัมซุงไม่ได้เป็นยักษ์ใหญ่ไฮเทคเจ้าเดียวที่สาละวนอยู่กับจอภาพแบน มัตซุชิตะ อีเล็กทริก อินดัสตรี ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องอีเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่นก็กำลังพยายามประดิษฐ์โทรทัศน์ที่มีจอภาพแบบนี้เหมือนกัน โดยตั้งชื่อว่า "แฟลต วิชั่น" (FLAT VISION)

โทรทัศน์ตามแบบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้จะใช้เป็นหลอด "แคโตด" หรือปีนอิเล็กตรอนที่ใช้แม่เหล็กไฟฟ้าเป็นตัวยิงไปที่จอภาพที่ฉาบด้วยสารเรืองแสงด้วยความเร็ว 15,000 ครั้งต่อวินาที เพื่อสร้างภาพ เทคนิคดังกล่าวได้ใช้เป็นมาตรฐานสำหรับการผลิตจอภาพหลอดรังสีแคโตด (ซีอาร์ที) ปีละ 100 ล้านจอทั่วโลกในแต่ละปี สำหรับใช้กับโทรทัศน์และจอคอมพิวเตอร์ แต่ในทศวรรษที่ 1990 "ทีวีสีไม่ได้อยู่เฉพาะแค่ในบ้าน" ฟูจิโมริ โตชิมิตสุ ผู้จัดการทั่วไปของแผนกทดลองงานวิจัยด้านดทรทัศน์ของมัตซูชิตะในโอซากากล่าว "แต่จะติดตั้งอยู่ทั้งในสำนักงานหรือแม้แต่ในรถ"

กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในญี่ปุ่น ประเทศที่อิ่มตัวกับทีวีสี ผู้บริโภคตอนนี้กำลังให้ความสนใจอย่างมากกับโทรทัศน์จอขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้ตัวขนาดและจอของโทรทัศน์ต้องขยายใหญ่ขึ้นตาม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะจอภาพรังสีแคโตดมีข้อจำกัดอยู่ที่ระดับมุมที่จะใช้ยิงอีเล็กตรอน และยิ่งถ้าสร้างภาพขนาดใหญ่ขึ้นเท่าไร ระยะยิงของปืนอีเล็กตรอนจะต้องถอยห่างออกจากจอภาพด้านหน้าไปด้านหลังมากขึ้น ดังนั้น โทรทัศน์ขนาด 43 นิ้ว มีน้ำหนักถึง 140 กิโลกรัม หนา 63 เซนติเมตร เมื่อเอามาตั้งไว้ในบ้านคนญี่ปุ่นแล้วจึงคับเต็มห้อง

ทั้งหมดนั้นจึงเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมโทรทัศน์ขนาด 100 นิ้ว จึงไม่ใช่โทรทัศน์ "ที่แท้จริง" และเป็นเหตุผลให้มีการวางโครงการทำจอภาพที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องฉายภาพยนตร์ แต่ปัญหาก็คือ การแสดงความละเอียดของสียังไม่ดีพอ และระยะทำมุมยิงภาพที่มีขีดจำกัด แต่มัตซูชิตะกลับไปยึดความคิดเกี่ยวกับจอภาพสำหรับทีวีขนาดเล็กแทน เมื่อปีที่แล้วมัตซูชิตะได้เปิดตัว FLAT VISION TV ขนาด 14 นิ้วขึ้นเป็นครั้งแรก (จนถึงตอนนี้มีขายในญี่ปุ่นประเทศเดียวเท่านั้น) โดยมีความหนาเพียง 9.8 เซ็นติเมตรเท่านั้น

มัตซูชิตะเคยพัฒนาทีวีแบบนี้มาแล้วเมื่อปี 1985 โดยทำออกมาร่วมแสดงในงานวิทยาศาสตร์ที่จัดขึ้นที่ซึคูบา แต่เป็นทีวีที่ใช้ต้นทุนการผลิตสูงมาก

"แม้จะผลิตในสเกลที่ทำให้ต้นทุนต่ำมากที่สุดแล้ว ก็ยังต้องใช้ต้นทุนมากกว่า 2,000 ดอลลาร์ต่อเครื่อง" ชิโอทานิ โตโมกาสุ ผู้จัดการทั่วไปของกลุ่มพัฒนาวิศวกรรมมัตซูชิตะกล่าว "ราคาระดับนี้สู้ไม่ได้กับทีวีสีแบบเดิม"

เท่ากับว่าโครงการวิจัยดังกล่าวอาจจะต้องโดนระงับไว้ก่อน ทีมงานวิจัยซึ่งมีอยู่ 10 คนได้ถูกตัดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว อย่างไรก็ดีชิโอทานิยืนยันจะเดินหน้าต่อไป เขารายงานกับผู้บังคับบัญชาโดยตรงว่า "เราไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มขึ้นเลย สำหรับการใช้หัวคิด ขอให้เราได้ลองอีกครั้งหนึ่ง"

ชิโอทานิได้รับไฟเขียวให้เดินหน้าต่อ หลังจากใช้เวลาปรับปรุง แก้ไขอยู่หนึ่งปี มีการเปลี่ยนแบบไปมาถึง 500 แบบ ทีมงานวิศวกรรมของชิโอทานิก็สร้างทีวีต้นแบบขึ้นมาได้ เจ้านายของเขาสานงานต่อทันที โดยพาชิโอทานิพร้อมกับเครื่องต้นแบบไปแสดงให้ทานิอิ อิคิโอ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ของมัตซูชิตะได้เห็นกับตา อาคิโอชอบใจมาก แถมยังพูดด้วยว่า "ผมนึกว่าเราเลิกโครงการนี้ไปแล้วเสียอีก"

โชคดีที่พวกเขาไม่ได้เลิกโครงการ ทั้ง ๆ ที่ต้องทุ่มงบประมาณถึง 120 ล้านดอลลาร์ก็ตาม มัตซูชิตะคาดว่ายอดขายทีวีแฟลต วิชั่น คงจะพุ่งขึ้นเป็น 10 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2000 หลังจากคาดว่าจะเริ่มออกจอภาพแสดงผลที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบตั้งโต๊ะออกสู่ตลาดในปีนี้

แต่ซัมซุงและมัตซูชิตะต่างก็เป็นกลุ่มธุรกิจด้านสินค้าไฮเทคมีลักษณะพิเศษที่ต่างจากบริษัทไฮเทคส่วนใหญ่ในเอเชียด้วยกัน คือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีความพร้อมที่จะทุ่มทรัพยากรในทุกด้าน แต่ก็มีบริษัทขนาดเล็ก ๆ อีกจำนวนมาก ที่ประสบความสำเร็จจากการเลือกใช้เทคโนโลยี่ชั้นสูงในแขนงต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพของตัวเอง

บริษัท อูเม็กซ์ ดาต้า ซิสเต็ม ของไต้หวันเป็นตัวอย่างหนึ่ง บริษัทนี้เริ่มตั้งขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว หลังจาก เดวิด แวง ซึ่งเป็นวิศวกรด้านออกแบบอุตสาหกรรมฝีมือเยี่ยม กับเพื่อนร่วมงานอีก 4 คน ได้ลาออกจากมิโครเท็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทซัพพลายเออร์ไต้หวันที่บริการจัดส่งเครื่องอิมเมจ สแกนเนอร์ซึ่งเป็นเครื่องสแกนเอกสารและรูปภาพสำหรับป้อนให้กับคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง

ผู้ก่อตั้งทั้ง 5 เริ่มธุรกิจครั้งแรกด้วยเงินทุน 175,000 ดอลลาร์ และใช้เวลา 1 ปีเพื่อผลิตเครื่องสแกนภาพต้นแบบออกมา ปี 1993 ยูเม็กซ์ผลิตเครื่องสแกนภาพที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะคิดเป็นสัดส่วน 11% ของโลก ผลสำรวจของนิตยสารคอมพิวเตอร์ชั้นนำของสหรัฐฯ ได้จัดอันดับให้ยูเม็กซ์อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตเครื่องสแกนภาพกลุ่มเดียวกับยักษ์ใหญ่อย่างฮิวเล็ตต์ แพ็คการ์ด และชาร์ป

แวง ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ของยูเม็กซ์กล่าวว่า "เราภูมิใจอย่างยิ่ง ที่บริษัทเล็ก ๆ อย่างเราบรรลุถึงจุดนี้ได้ ด้วยฝีมือของวิศวกรที่ได้รับการศึกษาในไต้หวัน"

เทคโนโลยีที่ใช้กับเครื่องสแกนภาพนี้ ไม่ใช่เป็นของไต้หวัน ผู้ที่เป็นต้นคิดคือ "ซีร็อกซ์" เป็นผู้วางแนวคิดนี้ไว้เมื่อทศวรรษ 1970 แต่ชิ้นส่วนสำคัญที่อยู่ในเครื่องสแกนภาพที่ใช้ "อ่าน" ภาพด้วยระบบอีเล็กทรอนิก สามารถหาซื้อได้ในไต้หวันด้วยราคาเพียง 10 ดอลลาร์เท่านั้น ดังนั้นส่วนต่างที่เป็นกำไรของผู้ผลิตเครื่องสแกนเนอร์จึงสูงมาก เพราะเครื่องสแกนภาพที่ขายกันทั่วไปมีราคาอยู่ระหว่าง 1,000-3,000 ดอลลาร์ต่อเครื่อง ปีที่แล้วยูเม็กซ์มียอดขายเกือบ 60 ล้านดอลลาร์

หนึ่งปีก่อนที่ยูเม็กซ์จะบรรลุความสำเร็จ ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ในอินเดียได้ใช้วิธีการคล้าย ๆ กันนี้มาแก้ปัญหางานที่ต้องใช้ต้นทุนจำนวนมหาศาล นั่นคือการสร้างโปรแกรมเพื่อคาดการณ์การเกิดมรสุม

เรื่องนี้เริ่มขึ้นในปี 1986 ตอนนั้นสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอินเดียในเบงกาลอร์ต้องการสร้างแบบจำลองการเกิดมรสุมในพื้นที่แถบเอเชียใต้ เพื่อช่วยให้นักอุตุนิยมได้ทำนายปริมาณน้ำฝนในปีนั้นได้อย่างแม่นยำ การพยากรณ์อากาศที่แม่นยำสามารถช่วยรักษาชีวิตและทรัพย์สินได้ แต่คอมพิวเตอร์ของศูนย์กลับมีสมรรถนะเพียง 1 ใน 4 ของกำลังที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น

ทางออกอาจจะทำได้โดยการสั่งซื้อซูเปอร์คอมพิวเตอร์อย่างที่ผลิตโดยบริษัท เคลย์ รีเสิร์ช แห่งสหรัฐฯ แต่ก็มีข้อจำกัดกล่าวคือ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์มีราคาแพงมาก และมาตรการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ ที่เข้มงวดมาก ตอนนั้น เคลย์ขายเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในราคา 25 ล้านดอลลาร์ และทางวอชิงตันก็วางกรอบควบคุมการใช้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเครื่องไปใช้ในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์

คอมพิวเตอร์ของ "โฟลโซลเวอร์" คือทางเลือกของสถาบันฯ โฟลโซลเวอร์เป็นโครงการร่วมระหว่าง "เนชั่นแนล แอร์โรสเปซ ลาบอราทอรี" ซึ่งเป็นกิจการของรัฐ และ "ไวโปร ซิสเต็ม" เริ่มขึ้นในปี 1991 แนวทางของโฟลโซลเวอร์ต่างไปจากเครื่อง "ซูเปอร์" ของเคลย์ เพราะโฟลโซลเวอร์ใช้หน่วยประมวลผลแบบคู่ขนาน (PARALEEL PROCESSING)

เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันมักจะใช้วิธีประมวลผลแบบลำดับข้อมูล (SEQUENTIAL APPROACH) ซึ่งใช้ตัวโปรเซสเซอร์ความเร็วสูงเพียงตัวเดียวคำนวณข้อมูลจำนวนมาก ๆ ทีละตัว แต่เครื่องคอมพิวเตอร์แบบคู่ขนานซึ่งตอนนี้เป็นธุรกิจที่เติบโตมากในสหรัฐฯ ใช้วิธี "แยก" ปัญหาที่ป้อนให้คอมพิวเตอร์หาคำตอบ ออกเป็นชุดข้อมูลหลาย ๆ ชุด แล้วป้อนข้อมูลแต่ละชุดซึ่งมีขนาดเล็กลงผ่านชุดไมโครโปรเซสเซอร์ที่ใช้ในเครื่องพีซี อย่างเช่น ชิปรุ่น 486 ของอินเทล

จุดอ่อนของเจ้าเครื่องดังกล่าวก็คือ คอมพิวเตอร์รุ่นนี้ต้องการซอฟต์แวร์ชนิดพิเศษไว้จัดทำข้อมูลและแบ่งข้อมูลเป็นจำนวนเล็ก ๆ ให้โปรเซสเซอร์แต่ละตัว โชคยังดีที่อินเดียมีไพ่ใบเด็ดอยู่ที่ความสามารถในการพัฒนาซอฟต์แวร์ และเครื่องฟลอโซลเวอร์ซึ่งสามารถสร้างภาพลมมรสุมเป็นภาพ 3 มิติได้ด้วย ใช้ตัวโปรเซสเซอร์ของพีซีเพียง 5 ตัวเท่านั้น ทำให้ต้นทุนการพัฒนาฮาร์ดแวร์ไม่สูงมาก ได้มีการนำเอาตัวโปรเซสเซอร์ 3 รุ่นมาทดสอบเทียบเคียงประสิทธิภาพกับโปรเซสเซอร์ X-MP ของเครย์ ปรากฏว่าคอมพิวเตอร์ที่อินเดียพัฒนาขึ้นมาเองตัวนี้ใช้เวลา 8 วินาที ในการปฏิบัติการกับตัวชุดข้อมูลที่ป้อนเข้ามา ขณะที่โปรเซสเซอร์ของเครย์ใช้เวลาเพียง 3.25 วินาที ซึ่งนับว่าไม่เลวนักเพราะแทนที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายนับพันล้านดอลลาร์ ทางสถาบันกลับเสียต้นทุนพัฒนาขึ้นมาเองเพียง 98,000 ดอลลาร์

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทไทย ออร์คิด แลปที่นครปฐม ก็เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยี่ชั้นสูงหน้าใหม่อีกรายหนึ่งของภูมิภาคนี้ ขณะที่ห้องทดลองชีวเทคโนโลยีทุกแห่งในโลกต่างก็มีห้องควบคุมอุณหภูมิ และห้องฆ่าเชื้อพร้อมด้วยเคาเตอร์ที่ทำด้วยสเตนเลสสตีล และหลอดทดลอง แต่ที่นี่กลับเพาะชำต้นไม้ในขวดเหล้า จอห์นนี วอลเกอร์

แต่ความสำเร็จในไทย ออร์คิด แลปไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน ไพบูลย์ กาวินเลิศวัฒนาได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเมื่อปี 1989 เขาจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านการเพาะพันธุ์ไม้ และยังเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์การสหประชาชาติด้วย บริษัทของเขามีเจ้าหน้าที่อยู่ 45 คน และมีเรือนเพาะชำอยู่ในต่างจังหวัดหลายแห่ง ไทย ออร์คิด แลป ได้นำเอาเทคนิคซึ่งสามารถสร้างพันธุ์ไม้ขึ้นมาใหม่ได้จำนวนมากมายจากเยื่อของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งช่วยส่งเสริมให้การส่งออกกล้วยไม้ของไทยเพิ่มขึ้นจาก 60% ของตลาดโลกในปี 1980 มามีสัดส่วนเป็น 90% ในปี 1992

ความสำเร็จอันงดงามของธุรกิจเพาะปลูกกล้วยไม ้ส่งผลให้เกษตรกรในนครปฐมเปลี่ยนจากการเพาะปลูกองุ่น และผักมาปลูกดอกไม้กันทั้งหมด ไทย ออร์คิด แลป ช่วยให้เกษตรกรย่นระยะเวลาในการเพาะพันธุ์ไม้ 100,000 ตาได้จากต้น "แม่" ต้นเดียว ก่อนหน้านี้ต้องใช้เวลาถึง 20 ปีจึงจะสามารถเอาพันธุ์กล้วยไม้ใหม่ออกมาขายได้ แต่ตอนนี้กระบวนการดังกล่าวใช้เวลาเพียง 3-5 ปีเท่านั้น

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น บริษัทเริ่มขยายตัวจากการเพาะพันธุ์กล้วยไม้ เข้าไปยังพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ อาทิ หน่อไม้ฝรั่งและไม้สัก เมื่อปีที่แล้วไทยออร์คิด แลป ส่งออกกล้วยไปขายต่างประเทศถึง 1 ล้านหวี "ถ้าคุณไม่เชี่ยวชาญในเรื่องการเพาะเยื่อไม้แล้ว คุณก็ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้" ไพบูลย์เล่าให้ฟัง

ที่มาเลเซียมีอีกโครงการหนึ่งที่นำเอาชีวเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งก็ได้ให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจเช่นกัน วาย. บี. โมฮัมมัด เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทเวชภัณฑ์ เรมี โฮลดิ้ง เอสดีเอ็น บีเอชดี เขาได้เดินทางไปทั่วโลก เพื่อมองหาธุรกิจด้านเทคโนโลยีชั้นสูงที่น่าสนใจอยู่หลายปี แต่ก็หาไม่ได้ จึงเข้าไปติดต่อกับบริษัทมาเลเซีย เทคโนโลยี ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่ทำงานให้กับโครงการวิจัย โดยอาศัยเงินทุนจากรัฐบาล และเขาก็ได้พบคำตอบที่บ้านเกิดของเขาเอง นั่นคือ วัคซีนสำหรับสัตว์

นักวิจัยที่ยูนิเวอร์ซิตี้ เปอร์ทาเนียน มาเลเซียได้พัฒนาวัคซีนต้านความร้อนตัวใหม่สำหรับรักษาโลกนิวคาสเซิล ซึ่งเป็นไวรัสที่มีผลต่อระบบหายใจและระบบประสาทของไก่ ถ้าไก่ติดเชื้อตัวนี้แล้ว จะไม่มีโอกาสรอดได้เลย

เนื่องจากโครงการนี้ได้รับเงินช่วยเหลือจากทางรัฐบาล เอ็มทีดีซีจึงได้รับมอบหมายให้มาเข้าร่วมและให้คำแนะนำแก่เรมี

ผลก็คือ หลังจากเอ็มทีดีซี เข้าไปถือหุ้นในเรมีโฮลดิ้ง 10% เอ็มทีดีซีก็ได้ดึงเอาบริษัทจากออสเตรเลียคือ อาร์เธอร์ เวปสเตอร์ พีทีอี. จำกัด เข้ามาร่วม ทั้งนี้ ด้วยหวังให้ช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีในการทำวัคซีนเพิ่มเติม โดยจะได้รับหุ้น 30% เป็นผลตอบแทน

การนำวัคซีนกับวิศวกรรมด้านพันธุกรรมมาผสมผสานกันช่วยให้เรมีสามารถเจาะตลาดระดับรองได้ หมายถึง ไก่ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่ขยายตัวเร็วที่สุด เนื่องจากข้อห้ามทางศาสนา ที่ห้ามรับประทานเนื้อหมูและเนื้อวัว เฉพาะไก่ย่างที่ขายในมาเลเซียเท่านั้นก็มีมูลค่าปาเข้าไปถึง 500 ล้านดอลลาร์เข้าไปแล้ว และคาดว่าจะขยายตัวได้ปีละ 20%

ตัวเลขดังกล่าวแม้จะดูไม่สูงมาก แต่ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้น และถ้าเรมีตัดสินใจเข้าไปในธุรกิจยาที่อาศัยวิศวกรรมด้านชีวภาพอย่างเต็มตัว โอกาสเติบโตมีอยู่สูงมาก ยกตัวอย่างในญี่ปุ่น ตลาดเวชภัณฑ์ชีวภาพมีมูลค่ามากกว่า 3,700 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ดังนั้นโอกาสที่จะเข้าไปเจาะตลาดนี้จึงมีอยู่สูง ซึ่งทางบริษัทก็คาดว่าจะเริ่มทำการขายวัคซีนชุดแรกได้ในเดือนหน้า และบริษัทก็หวังด้วยว่าจะทำกำไรได้บ้างในปีนี้

ไม่ว่าจะเป็นวาลว์ขนาดจิ๋วโทรทัศน์โรงเพาะชำหรือไก่ ผลที่ได้จากนวตกรรมด้านเทคโนโลยีชั้นสูง มักจะให้ผลคุ้มค่ากับความเจ็บปวดที่ได้รับ บริษัทที่ได้อ้างถึงเหล่านี้ ต่างเริ่มเดินบนเส้นทางเพื่อก้าวข้ามธรณีประตูแห่งเทคโนโลยีชั้นสูงแล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us